x close

ปล่อยโคมลอยอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น



ปล่อยโคมลอยอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ปล่อยโคมลอยอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น วิธีลอยโคมลอยที่ปลอดภัย ไม่ให้เดือดร้อน

            เป็นประเด็นที่พูดถึงและกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างมากเลยทีเดียว สำหรับกรณี "โคมลอย" ซึ่งนิยมปล่อยในช่วงเทศกาลกฐิน ลอยกระทง และปีใหม่ ทั้งนี้เพราะการปล่อยโคมลอยนั้นเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดอยู่บ่อยครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านเรือนประชาชน บ้างก็ไฟไหม้บ้านวอดวาย บ้างก็ไปติดกับเสาไฟฟ้าทำให้ไฟดับ.. จากการลอยโคมก็กลายเป็นการลอยเคราะห์เสียอย่างนั้น

            นอกจากนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากลอยโคมลอย..จากแสงจากไฟที่ลอยละล่องอยู่บนฟากฟ้า ก็กลายมาเป็นขยะที่ตกไม่เลือกที่ จนกลายเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวให้กับชาวบ้านในบริเวณนั้น เพราะนอกจากจะต้องระวังลูกไฟลอยฟ้าที่จะตกลงมาแล้ว ยังต้องคอยมาเก็บขยะที่ไม่ได้เป็นก่อไว้อีก

            แต่ทั้งนี้ การลอยโคมดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปเสียแล้ว แถมยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการลอยโคมด้วยว่า เป็นการบูชาพระบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นการลอยเคราะห์ออกไปเพื่อให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม.. ส่วนเรื่องขยะนั้นก็มีการจัดทีมเก็บชิ้นส่วนของโคมลอยและกลุ่มอาสาสมัครที่สมัครใจมาเก็บให้อยู่เป็นประจำ

            ส่วนวันนี้เราก็เลยขอนำวิธีลอยโคมลอยอย่างปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม มาฝากกัน..

ปล่อยโคมลอยอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น

ลักษณะของโคมลอยตามมาตรฐาน

            1. โคมลอยที่ปล่อยต้องมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร และทำจากวัสดุธรรมชาติ

            2. โคมลอย ส่วนที่เป็นตัวโคม ต้องทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษ ส่วนตัวโครงของโคมทำจากไม้ไผ่ และต้องไม่ติดอุปกรณ์หรือวัสดุตกแต่งใด ๆ ที่มีคุณสมบัติติดไฟหรือเกิดประกายไฟลุกไหม้ได้ง่ายไว้กับโคมลอย

            3. ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน ซึ่งใช้สำหรับจุดไฟให้อากาศร้อนบรรจุในตัวโคม เพื่อให้โคมยกตัวลอยตัวสู่อากาศเองได้ 

            4. การยึดติดเชื้อเพลิงกับตัวโคม ให้ยึดติดด้วยเชือกทนไฟ เชือก หรือลวดอ่อน เบอร์ 24 เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร จำนวน 2 เส้น แต่ละเส้นความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร

            5. โคมลอยขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต้องไม่เกิน 90 เซนติเมตร ความสูงต้องไม่เกิน 140 เซนติเมตร น้ำหนักเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที สำหรับโคมลอยที่มีขนาดลดลงให้เป็นไปตามส่วนของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ความสูง น้ำหนักเชื้อเพลิง และระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง

การปล่อยโคมลอยอย่างปลอดภัย

            ควรปล่อยโคมลอยในสถานที่โล่งไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ และปล่อยในช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้สังเกตว่าที่นั้น ๆ ไม่มีสายไฟฟ้าอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือหากมีต้องแน่ใจว่าเมื่อปล่อยโคมลอยแล้วจะไม่ลอยไปแตะถูกสายไฟฟ้าได้

            ควรหลีกเลี่ยงการใช้โคมลอยที่มีโครงเป็นโลหะ และหากพบเห็นโคมลอย ลอยไปแตะหรือเกี่ยวพันกับสายหรือเสาไฟฟ้า ต้องรีบแจ้งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใกล้บ้านทราบโดยด่วน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, ท่าอากาศยานเชียงใหม่



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปล่อยโคมลอยอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 19:00:17 6,819 อ่าน
TOP