ปั่นเที่ยวทริปสีเขียว เช้าไป-เย็นกลับ Slow Traveling แอบอิงธรรมชาติ @ บ้านบางพลับ (ททท.)
กองส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเส้นทางปั่นอีกหนึ่งเส้นทาง "บ้านบางพลับ" จังหวัดสมุทรสงคราม เอาใจนักปั่นรักธรรมชาติ
Slow Traveling เทรนด์ท่องเที่ยวที่กำลังเป็นกระแสนิยมทั่วโลก กับการเดินทางแบบไม่เร่งรีบ เน้นความเย็นสบายและเน้นเรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแปลกใหม่เชิงลึกของความงดงามในแต่ละสถานที่ ซึ่งประเทศไทยเรายังครองแชมป์ที่ 1 และตอบโจทย์ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก ให้มีโอกาสเข้าถึงธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่น และเปิดกว้างกับประสบการณ์แปลกใหม่อย่างแท้จริง อีกทั้งชุ่มฉ่ำเย็นใจกับวันหยุดแสนสบายด้วย Real Life Real Ride คอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคำตอบของการเที่ยวระยะชุ่มฉ่ำด้วยการท่องเที่ยวโดยใช้ "จักรยาน" เป็นพาหนะนำพานักท่องเที่ยวเกาะกระแสโลก
นายวันชัย เรืองอุดม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ในการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ และเพื่อสร้างให้ประเทศไทยถือเป็น The Best Bicycle Destination in Asia เนื่องจากประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามเหมาะสำหรับการปั่นจักรยานท่องเที่ยวหลายเส้นทาง ทริปนี้ก็เลยจะขอนำเที่ยวแบบเชิงเกษตรแม้ว่าจะใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่านิด ๆ จากกรุงเทพฯ ไปถึงจังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นทริปสั้น ๆ ที่เที่ยวแบบเช้าไป-เย็นกลับได้ แต่ก็รับรองได้ว่าเป็นทริปที่พอจะทำให้ได้หายใจเอาออกซิเจนเข้าปอดได้มากทีเดียว ทริปนี้กำลังจะเดินทางพาท่านไปที่บ้านบางพลับ จังหวัดสมุทรสงคราม
เมืองสมุทรสงครามเป็นจังหวัดหนึ่งที่ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรผลไม้ที่มีชื่อเสียงชนิดมีรางวัลการันตี ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่และมะพร้าว บางท่านอาจจะแปลกใจเพราะเคยได้ยินมาว่าแหล่งปลูกมะพร้าวที่ขึ้นชื่อยังคงเป็นเกาะสมุย แต่ทำไมในทริปนี้จะกล่าวถึงมะพร้าวที่บ้านบางพลับ เพราะมะพร้าวที่บ้านบางพลับปลูกไว้ทำน้ำตาลปึกเพื่อนำมาเป็นส่วนผสมของขนมไทย นอกจากนั้นยังมีศิลปินซอ ผู้ประดิษฐ์ซอจากกะลามะพร้าวที่ต้องเลือกกะลาจากมะพร้าวที่ปลูกที่บ้านบางพลับเท่านั้น จึงจะทำให้เสียงซอฟังดูไพเราะ ยังไม่หมดเท่านั้นกะลามะพร้าวยังถูกออกแบบไปทำหุ่นเชิด และถ้ามะพร้าวออกลูกเยอะเกินไปก็จะนำมะพร้าวไปเผาทำเป็นถ่านผลไม้เอาไว้ดูดความชื้นในตู้เย็นและในตู้เสื้อผ้า เรียกได้ว่าทริปนี้มีครบทั้งรส กลิ่น เสียง สัมผัสเลยทีเดียว
ก่อนจะเริ่มปั่นจักรยานเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ต้องเริ่มต้นด้วยซักซ้อมเส้นทาง เรียนรู้สัญญาณมือเพื่อความปลอดภัย จุดรับจักรยาน คือ ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านบางพลับ เมื่อได้จักรยานก็ไม่รอช้า เริ่มตั้งขบวนเพื่อจะลัดเลาะไปตามถนนในหมู่บ้าน ออกจากศูนย์การเรียนรู้ จุดแรกเป็นสวนส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ของ อาจารย์สมทรง แสงตะวัน จุดเด่นของส้มโอที่นี่เป็นส้มโอปลอดสารพิษ บำรุงด้วยขี้แดดนาเกลือ แทนการฉีดสารเคมี รสชาติอร่อย หวานกำลังดี นี่แหละผลไม้ขึ้นชื่อพร้อมรางวัลการันตีสามปีซ้อน
จุดที่ 2 เป็นการชมสวนมะพร้าวที่ไม่ใช่สวนมะพร้าวธรรมดา เพราะเป็นสวนมะพร้าวของอาจารย์สมทรงอีกเช่นกัน มะพร้าวที่นี่ถูกเลี้ยงดูอย่างดี เอาไว้ทำน้ำตาลปึกซึ่งนำไปเป็นเป็นส่วนผสมขอขนมไทย ๆ หลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นขนมไทยที่มีไส้ ขนมต้ม ข้าวเหนียวแดง ข้าวแต๋น หรือขนมนางเล็ด หรือจะใช้เป็นน้ำเชื่อมทานกับกล้วยเชื่อม มันเชื่อมก็จะทำให้รสชาติเข้มข้นกว่าน้ำตาลทรายธรรมดา เรียกว่าเป็นขวัญใจของเซียนทำขนมไทยก็ว่าได้
จุดที่ 3 คราวนี้ถึงคิวของมิวสิค สมาชิกทริปนี้ก็ตั้งขบวนเป็นทัพใหญ่จักรยานกันอีก เพื่อไปจุดหมายต่อไปที่บ้านของ อาจารย์สมพร เกตุแก้ว หรือที่บ้านพญาซอ ช่างซออู้ อาจารย์สมพรได้เสาะหาชนิดของกะลามะพร้าวที่นำไปทำซอแล้วเสียงของซอจะออกมาไพเราะที่สุด จึงมาพบว่ากะลามะพร้าวที่ลงตัวกับการทำซออู้ที่สุดต้องเป็นมะพร้าวที่ปลูกที่บ้านบางพลับเท่านั้น ไม่เพียงแต่เลือกกะลามะพร้าวที่จะนำมาทำซออู้เท่านั้น ซออู้ของอาจารย์สมพรจะถูกนำมาแกะสลักเป็นลายต่าง ๆ อาทิ ลายพุดตาน ลายตามปีนักษัตรซึ่งหาดูได้ยาก
และด้วยความที่เป็นสายเลือดนักประดิษฐ์ อาจารย์สมพรได้นำกะลามะพร้าวหุ่นเชิดเป็นลายสัตว์ต่าง ๆ ลายการ์ตูนน่ารัก ๆ และให้เด็กนักเรียนมาหัดเชิด เป็นการฝึกให้เด็กนักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การแสดงหุ่นเชิดของคณะนักเรียนนี้เรียกรอยยิ้มและเสียงปรบมือได้จากนักปั่นหัวใจสีเขียวได้พักใหญ่ ก่อนจากลาปั่นไปจุดหมายต่อไปก็ต้องชักรูปกับนักเชิดหุ่นตัวน้อยตามพิธี
ก่อนจากบ้านพญาซอก็ได้เติมพลังกันด้วยมะพร้าวน้ำหอม ดื่มแล้วเย็นชื่นใจที่เจ้าของบ้านแต่ละบ้านเตรียมไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทีมนักปั่นตั้งขบวนอีกครั้งเพื่อไปชมการเผาถ่านผลไม้เป็นจุดที่ 4 เมื่อผลไม้ออกผลมามาก ทานไม่ทัน ขายไม่ได้ราคาก็มีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากผลไม้ได้อีก โดยที่ไม่ต้องทิ้งให้เปล่าประโยชน์ จึงนำผลไม้มาเผาเป็นถ่านผลไม้ ใช้ประโยชน์ในการดูดกลิ่นอับชื้นในตู้เย็นและตู้เสื้อผ้า ดูแปลกตาดีสำหรับคนกรุง ก่อนปั่นออกมาซื้อถ่านผลไม้ติดมือมาเป็นของฝากเพื่อน ๆ ให้ทายกันได้ว่าลูกดำ ๆ นี่อะไรเอ่ย เฉลยก็คือถ่านผลไม้ ที่สามารถนำเอามะพร้าว น้อยหน้า และผลไม้ชนิดอื่น ๆ มาเผา ยามที่มีผลผลิตมากเกินความต้องการ
ปั่นต่อไปยังจุดที่ 5 จุดสุดท้ายก่อนจะกลับกรุงเทพฯ เป็นบ้านที่ทำผลไม้กลับชาติ พอเห็นคำว่าผลไม้กลับชาติในตารางการเดินทาง ก็เกิดเครื่องหมายคำถามมาจากกรุงเทพฯ เลยทีเดียว ว่าทำไมผลไม้จึงกลับชาติได้ บ้านหลังนี้ภูมิปัญญาเด็ด ๆ 2 อย่าง อย่างแรกเป็นการทำผลไม้กลับชาติซึ่งเอาพืชผักรสฝาดขมในสวนหลังบ้านอย่างพริก บอระเพ็ด มะระขี้นก ตะลิงปลิง ลูกมะนาว ผลส้มโออ่อน มะละกอ ลูกตำลึง ฯลฯ มาแช่อิ่มให้ทานกันง่ายขึ้น จนกลายมาเป็นของดีขึ้นชื่อของสมุทรสงครามไปแล้ว ขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นผลไม้กลับชาตินี้ สถาพร ตะวันขึ้น เผยว่า ใช้เวลาทำกว่า 1 เดือน อย่างบอระเพ็ดต้องลอกเหยื่อหุ้มชั้นนอกและไส้ในออกให้หมด ตัดบอระเพ็ดเป็นท่อนเล็ก ๆ จากนั้นแช่น้ำเกลือ 15 วัน (เปลี่ยนน้ำเกลือทุก 1 คืน) ถัดมาแช่น้ำปูนใสเพิ่มความกรอบ 1 คืน และแช่น้ำเชื่อมอีก 15 วันก็ได้บอระเพ็ดแช่อิ่ม หวานกรอบอร่อย และยังคงไว้ซึ่งสรรพคุณทางยาอีกด้วย
ผลไม้กลับชาติ
อย่างที่ 2 เป็นการทำขนมสัมปันนีสูตรไม่ใช้แป้ง แต่นำกล้วยน้ำว้ามาบดเป็นผง และได้นำผงกล้วยน้ำว้ามาเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำขนมสัมปันนี คราวนี้ขอมีส่วนร่วมโดยการกวนและห่อใบตอง นำมาเป็นของฝากเพื่อน ๆ ที่เป็นของฝากแบบแฮนด์ เมด บาย ฮาร์ทเลยทีเดียว สำหรับขนมสัมปันนีสูตรผงกล้วยน้ำว้า หรือสูตรไร้แป้ง เป็นความภูมิในของชาวบ้านบางพลับ ไม่ว่าจะทำทานกันในหลายตำบล แต่ชาวบางพลับก็ภูมิใจกับสูตรขนมสัมปันนีสูตรผงกล้วยน้ำว้า เพราะที่นี่เป็นเจ้าของสูตรฉบับออริจินัล ถ้ามาบ้านบางพลับอย่าลืมมาแวะชิม ผลไม้กลับชาติและขนมสัมปันนีสูตรกล้วยน้ำว้าจากต้นตำรับมองดูนาฬิกาได้เป็นเวลาบ่ายสามโมงกว่า ๆ ต้องตั้งขบวนไปยังศูนย์การเรียนรู้เพื่อคืนจักรยาน นับว่าเป็นหนึ่งวันที่คุ้มค่าจริง ๆ ทริปนี้ได้ทั้งรส กลิ่น เสียง สัมผัส ประโยชน์ของการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน เป็นการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองไทยแบบวิถีชีวิตชุมชน พร้อมไปกับการสัมผัสวัฒนธรรมประเพณี เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ค้นหาเสน่ห์ของผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ผู้มาเยือนนั้นได้เห็นวิถีความเป็นอยู่อันเรียบง่าย คนรุ่นใหม่สัมผัสชีวิตที่พอเพียง การเปิดชุมชนนั้นได้ประโยชน์ทั้งผู้มาเยือนและคนในท้องถิ่นที่จะได้เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ หลากหลายมุมมองจากนักท่องเที่ยว
สมุทรสงครามไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มาก ลองจัดสรรวันว่างมาเที่ยวมาสัมผัสรูปแบบการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งเป็นการท่องเที่ยวแบบเชิงเกษตรและเป็นการท่องเที่ยวบนจักรยาน บรรยากาศบ้านสวน และการต้อนรับที่อบอุ่นจากบ้านชาวบางพลับ จะไม่ลืมเลือนไปจากความทรงจำของคุณเลย สนใจสัมผัสบรรยากาศเรียบง่ายและวิถีชาวสวน ชาวบ้านบางพลับ จังหวัดสมุทรสงคราม สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ 1672 สายด่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
แผนที่เส้นทางจักรยาน ณ ชุมชนบ้านบางพลับ จังหวัดสมุทรสงคราม