รู้จัก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ ที่เที่ยวเพชรบูรณ์ อาณาจักรเก่าแก่กว่าพันปี เมืองมรดกโลกลำดับที่ 7 แห่งประเทศไทย ได้รับการรับรองจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการแล้ว เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับวงการท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะในตอนนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ เมืองโบราณ อายุราว 1,400 ปี ได้รับการพิจารณาและประกาศขึ้นทะเบียน ศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทย มีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7 แห่ง และนับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย จากนี้จะนับเป็นสถานที่หรือพื้นที่สำคัญที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งบริหารงานโดยองค์กร UNESCO อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ถูกเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกแบบ Serial Nomination โดยนับเอาพื้นที่ที่เป็นสามองค์ประกอบอันทรงคุณค่าและมีความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์ ซึ่งได้เข้าสู่บัญชี รายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปี พ.ศ. 2562 กระทั่งได้รับการพิจารณาและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทำให้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นเมืองมรดกโลกลำดับที่ 7 แห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวเยือน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเพชรบูรณ์ รวมถึงเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญและต้องลองไปชมด้วยตาตัวเองดูสักครั้ง จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามไปดูกันเลย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยทวารวดีที่ดีที่สุดของเมืองไทย โดยภายในยังคงไว้ซึ่งซากปรักหักพังและสิ่งปลูกสร้างของเมืองโบราณที่ยังคงสมบูรณ์ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชม โดยภายในจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เมืองในและเมืองนอก และมีกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่กว่า 2,800 กว่าไร่ นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ภายในบริเวณเมืองศรีเทพด้วย เมืองโบราณศรีเทพ ในอดีตเคยเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 9-18) ที่มาของชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า เมืองอภัยสาลี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงตั้งพระทัยจะสืบค้นหาเมืองศรีเทพที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ และได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกของภูเขาถมอรัตน์ ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้นมีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า เมืองศรีเทพ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำรวจพบว่า เมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ หรือ ไพศาลี เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 นับจากนั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2527 เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้ ส่วนแรก เป็นพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ หรือประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย แบ่งพื้นที่ภายในเป็น 2 เมืองที่นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกันที่พบในปัจจุบัน โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นเมืองรูปร่างเกือบกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง และมีโบราณสถานซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ 48 แห่ง อันมีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งมีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 70 สระ ในขณะที่เมืองนอกมีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง และมีโบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบูรณะทั้งหมดประมาณ 54 แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 30 แห่ง มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่กลางเมือง ส่วนที่สอง เป็นโบราณสถานที่อยู่นอกเมือง ซึ่งได้ขุดค้นสำรวจเกือบหมดแล้ว ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเช่นเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานปรางค์ฤาษีที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกันกับโบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ นอกจากนั้นบริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างไปทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ยังมีโบราณสถานที่ถ้ำเขาถมอรัตน์เป็นภาพสลักบนผนังถ้ำ เป็นรูปพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ สร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 อันมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับคติความเชื่อของผู้คนในเมืองโบราณศรีเทพในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย ที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวอำเภอศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปี ในระหว่างวันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3 (ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทย 2 หลัง อาคารด้านหน้าใช้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อศรีเทพ ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ สำหรับองค์เจ้าพ่อนั้นเดิมได้ใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ ต่อมาองค์เจ้าพ่อถูกโจรกรรมไป ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ตามจินตนาการและความเชื่อ เพื่อใช้เป็นรูปเคารพประจำศาลเจ้าพ่อศรีเทพสืบมาจนถึงปัจจุบัน สถาปัตยกรรมแบบศิลปะแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำจากทั้งสองสระนี้ไปใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 ด้วย เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า เขาคลัง แต่แท้จริงแล้วเขาคลังในคือสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อาจเป็นวิหารหรือสถูปขนาดใหญ่ มิใช่คลังเก็บสมบัติตามความเชื่อก็ได้ เป็นการก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับ เป็นศิลปะแบบทวารวดี มีลักษณะศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี จะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมือง ลักษณะทางผังเมืองจะคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่น ๆ ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียว และจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารวตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอุศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้น โดยเสริมด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระหว่างองค์ปรางค์ทั้งสองแห่งคือ ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพ จะมีกำแพงล้อมรอบ และมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร เป็นมหาสถูปในวัฒนธรรมทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขุดสำรวจเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2551 และบูรณะเสร็จในปี พ.ศ. 2555 มีลักษณะหลงเหลือเป็นสิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ 20 เมตร ใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลัก ๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร แต่ละทิศมีเจดีย์รายรอบเล็ก ๆ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลาง คล้ายบรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกนอกของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ เป็นที่ตั้งของถ้ำถมอรัตน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติโดยพบประติมากรรมสลักนูนต่ำ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานดอกบัว ปางแสดงธรรม พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปปางสมาธิ รวมทั้งหมด 11 องค์ ลักษณะของภาพแกะสลักนั้นคล้ายกับศิลปะเขมรแบบกำพงพระ คาดว่าสร้างตามคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีอายุไม่เกิน 2,000 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้างนั้นนับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถาน เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ สันนิษฐานว่าปรางค์ฤาษีน่าจะมีอายุเก่ากว่าหรือร่วมสมัยกับโบราณสถานปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง ที่ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากโบราณสถานหลักแล้ว ยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ทิศใต้ของเขาคลังใน พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง พบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงเห็นได้ว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ ประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สำเร็จ และทางทิศตะวันตกของเขาคลังนอกพบกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นกำแพงอิฐล้อม ซึ่งกำลังดำเนินการขุดค้น ณ ต้นปี 2565 เป็นต้น ด้วยคุณค่าความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีการพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว (พุทธศตวรรษที่ 9-10) เมื่อได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกโดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมเขมรโบราณ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงสมัยของเมืองโบราณศรีเทพแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณภายใน (Hinterland) ที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม มีการเลือกสรรพื้นที่ตั้งของชุมชนหรือเมืองที่สามารถควบคุมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้อาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าชัยภูมิที่ตั้งของเมืองเป็นจุดสำคัญในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการค้าของชุมชนบริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน และดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมศิลปากรตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปี 2562 และสำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการสมัยสามัญครั้งที่ 45 ในวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยในวันที่ 19 กันยายน 2566 ได้พิจารณาและประกาศขึ้นทะเบียน ศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7 แห่ง และ ศรีเทพ นับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกโลกทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม รับรองโดยองค์การยูเนสโก ทั้งสิ้น 6 แห่ง ดังนี้ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี เมืองโบราณศรีเทพ เพชรบูรณ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ผืนป่าแก่งกระจาน การเดินทางเข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน มีระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 240 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้โดยสะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทาง โดยรถยนต์ส่วนตัว : เดินทางตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (กรุงเทพฯ - สระบุรี - เพชรบูรณ์) แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2211 หน้าที่ว่าการอำเภอศรีเทพ อีกประมาณ 9 กิโลเมตรก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โดยรถโดยสารประจำทาง : มีทั้งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 1, รถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 และรถโดยสารประจำทางธรรมดา ขึ้นจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2 จตุจักร) ซึ่งวิ่งขึ้น-ล่องตลอดทั้งวัน ลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ (บ้านกลาง) และต่อรถรับจ้างเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ประชาชนชาวไทย คนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท ทั้งนี้ จะยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ สามเณร ในพระพุทธศาสนา หรือนักบวชในศาสนาอื่น, นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ในเครื่องแบบนักเรียน, นิสิตและนักศึกษารวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุมในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยประสานงานล่วงหน้า และแขกผู้มีเกียรติที่กรมศิลปากรหรืออุทยานประวัติศาสตร์เชิญหรือต้อนรับ ที่อยู่ : 208 หมู่ 13 ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ พิกัด : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โทรศัพท์ : 0-5692-1322 เฟซบุ๊ก : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ อีกหนึ่งที่เที่ยวเพชรบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แหล่งอารยธรรมทวารวดีที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมร อีกทั้งยังมีโบราณสถานเก่าแก่ที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงามเอาไว้มากมาย ใครกำลังมีแพลนไปเที่ยวเพชรบูรณ์ ก็อย่าลืมแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันนะ หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง +++ 20 ที่เที่ยวเพชรบูรณ์ เมืองสุดน่ารักที่ห้ามพลาด +++ 27 ที่เที่ยวเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ปักหมุดเช็กอิน ฟินกับบรรยากาศชวนสดชื่น +++ เที่ยวน้ำหนาว เพชรบูรณ์ พักผ่อนกับธรรมชาติ เพลินไปกับอากาศเย็น ๆ +++ ภูทับเบิก กับเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ สถานที่ท่องเที่ยวที่ไปได้ทุกฤดู +++ เที่ยวภูทับเบิกหน้าฝน กับ 9 เรื่องน่ารู้ ไว้ไปนอนห่มหมอก กอดดาวจนหนำใจ +++ โปรแกรมเที่ยวภูทับเบิก 3 วัน 2 คืน ชมวิวไร่กะหล่ำปลี พร้อมดื่มด่ำธรรมชาติ +++ 10 ร้านอาหารเพชรบูรณ์ อร่อยสะใจ กินจนต้องร้องขอชีวิต ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, กรมศิลปากร
แสดงความคิดเห็น