ชามตราไก่ ลำปาง Google Doodle ขึ้นโลโก้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 หลังได้รับการจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของลำปางตั้งแต่ปี 2556 ไปเที่ยวลำปางคราใด แล้วนึกอยากจะซื้อของฝากเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับมา สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะนึกถึงเป็นอย่างแรก ๆ ก็คือ ชามตราไก่ เซรามิกที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมานาน ทั้งยังลวดลายสวยงามและราคาย่อมเยา หากแต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากรู้ถึงที่มาและที่ไป ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จนครั้งหนึ่ง Google Doodle เลือกที่จะขึ้นโลโก้น่ารักของชามตราไก่ให้เราได้เห็นกัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 หากเปิดหน้า Google จะเจอเข้ากับโลโก้น่ารักที่เราเองก็คุ้นหน้าคุ้นตากับ “ชามตราไก่” พอเห็นอย่างนั้นเข้าก็เลยชวนให้สงสัยว่า “เอ๊ะ ! แล้วทำไมชามตราไก่ถึงไปปรากฏอยู่ได้นะ” เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า กูเกิล (Google) ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 9 ปี ของชามตราไก่ หลังได้รับการจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของลำปางตั้งแต่ปี 2556 ที่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์และสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง หากจะเล่าถึงประวัติชามตราไก่ เห็นทีว่าเริ่มต้นจากชาวจีน 2 คน คือ คุณอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน และคุณซิวกิม แซ่กวอก ทั้งคู่เคยมีประสบการณ์การทำโรงงานถ้วยชามที่จีนมาก่อนเดินทางมาประเทศไทย และได้ทำที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่จังหวัดเชียงใหม่ จนเจ้าของอยากจะทำชามขึ้นมาเป็นของตัวเอง เพราะขณะนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตเองได้ ต้องอาศัยการนำเข้า ทั้งคู่จึงได้เห็นโอกาสและค้นหาสถานที่ที่มีดินที่เหมาะสม จนพบว่าที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มีแร่ดินขาวเซเรมิกที่ดี เหมาะแก่การนำมาทำเครื่องปั้นดินเผา จนร่วมกันตั้งโรงงานเซรามิกที่ชื่อว่า “โรงงานถ้วยชามสามัคคี” นับเป็นโรงงานที่ทำถ้วยตราไก่ที่แรกในจังหวัดลำปาง เชื่อว่าแวบแรกที่เห็นชามตราไก่ ทุกคนเป็นต้องสะดุดตากับลวดลายรูปไก่ โดยตัวชามเป็นสีขาวล้วน และนำมาเขียนลวดลาย เผาสี และเคลือบ ก่อนนำมาจำหน่าย โดยเลือกวาดรูปไก่ เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์ถึงประเทศจีน ซึ่งมีรูปทรงแผนที่คล้ายกับรูปไก่ ชามตราไก่รุ่นแรก ๆ ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ลักษณะของไก่ ตัวหงอนจะเป็นสีแดง หางสีดำ ต้นกล้วยสีเขียวอ่อน ต้นหญ้าสีเขียว ดอกโบตั๋นสีชมพู-ม่วง ส่วนชามตราไก่รุ่นปัจจุบัน ลักษณะของไก่จะเป็นสีม่วงหรือชมพูม่วง หรือสีต่าง ๆ กัน หางสีน้ำเงิน เขียว ต้นกล้วยเขียวคล้ายดอกไม้ชมพู-ม่วง เขียนลวดลายตามใจ ไม่ค่อยมีแบบแผน รวมถึงเติมลวดลายอื่น ๆ ลงไปประดับเพื่อความสวยงาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โรงงานผลิตหลายโรงต้องปิดตัว รวมถึงคนรุ่นปัจจุบันหันไปใช้ถ้วยชามอย่างอื่น จึงมีผลทำให้ชามตราไก่อาจไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเหมือนแต่ก่อน ถึงอย่างนั้นก็มีกลุ่มคนที่ยังคงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ชามตราไก่ รวมตัวกันเป็นสมาคมชื่อว่า “สมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง” ในฐานะของเก่าหายากและควรค่าต่อการเก็บสะสม ทั้งนี้ รายละเอียดต่าง ๆ ของชามตราไก่อาจมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์อยู่ไม่เสื่อมคลาย สำหรับใครที่มาเที่ยวลำปาง แล้วอยากสัมผัสตำนานที่ยังมีลมหายใจของชามตราไก่ ลองแวะไปที่ พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี โดยสถานที่แห่งนี้จะรวบรวมเรื่องราวของชามตราไก่ ตลอดจนได้ลองปั้นชามไห่ การเคลือบ การตกแต่ง การเขียนลาย เรียกได้ว่ารู้ถึงรายละเอียดแต่ละขั้นตอน ว่ากว่าจะมาเป็นชามตราไก่สักใบ มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เหล่านี้น่าจะช่วยสร้างความตื่นตาตื่นใจ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเวิร์กช็อป ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิกในแบบของตัวเองได้อีกด้วย ที่อยู่ : ถนนวัดจองคำ พระบาท ซอย 1 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. บริการรอบนำชม : รอบเช้า เวลา 09.00-10.00 น. / เวลา 10.00-11.00 น. / เวลา 11.00-12.00 น. และรอบบ่าย : เวลา 13.00-14.00 น. / เวลา 14.00-15.00 น. / เวลา 15.00-16.00 น. / เวลา 16.00-17.00 น. โทรศัพท์ : 0-5482-1558-9 ต่อ 103, 06-1273-3344 เฟซบุ๊ก : มิวเซียมธนบดี สำหรับใครที่อยากซื้อหาชามตราไก่เป็นของที่ระลึก นอกจากจะตรงดิ่งไปยังแหล่งโรงงานแล้ว บริเวณริมถนนใหญ่ของตัวเมืองลำปาง หรือบริเวณจอดรถพระธาตุลำปางหลวง ก็มีชามตราไก่และบรรดาข้าวของเครื่องใช้เซรามิกต่าง ๆ ให้เลือกซื้อหา ทั้งนี้ ราคาขึ้นอยู่กับชนิด ฝีมือ และความเรียบร้อยของชิ้นงาน ใครพอใจชิ้นไหนก็เลือกซื้อเลือกหาได้ตามสะดวกกันเลย ความโด่งดังของชามตราไก่และเซรามิกเมืองลำปาง ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวที่ช่วยกระจายได้รายได้สู่ชุมชน มีทั้งหมู่บ้านและโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวเจาะลึกเข้าคลาสปั้นเซรามิกกับชาวบ้านในชุมชน เหล่านี้นับเป็นเสน่ห์อันน่าภาคภูมิใจตราบจนปัจจุบัน หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก มิวเซียมธนบดี, m-culture.go.th, เฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง
แสดงความคิดเห็น