สามร้อยยอด-กุยบุรี เส้นทางนี้ยังน่ามหัศจรรย์ (Lisa Guru)
ตามไปดูช้างป่าและกระทิงกุยบุรี ท่องป่าเข้าถ้ำที่สามร้อยยอด แล้วแวะชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่ไม่ไกลกัน
ท่องซาฟารีเมืองไทย
"…ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติ คือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า…"
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 นำมาสู่การจัดการปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า โดยอุทยานแห่งชาติกุยบุรีร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้นำไปสานต่อจนเกิดเป็น "กุยบุรีโมเดล" ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นพื้นที่จัดการปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกิดเป็นกิจกรรมชมช้างป่าและกระทิง ที่ทำให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถูกขนานนามว่าเป็น "ซาฟารีเมืองไทย" และถูกจัดเป็น 1 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวที่น่ามหัศจรรย์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่มีช้างป่าอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 230 ตัว รวมทั้งสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก เช่น เสือโคร่ง วัวแดง และสมเสร็จ ส่วนกระทิงมีไม่ต่ำกว่า 150 ตัว
สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการเข้าชม คือ ต้องใช้ความความเงียบสงบ เพราะช้างป่าเป็นสัตว์ขี้ตกใจ สำหรับจุดชมกระทิง ได้มีการสร้างอาคารถาวรไว้ แม้จะอยู่ห่างกันคนละเนินเขา แต่ก็มีกล้องส่องทางไกลเพื่อให้เรามองเห็นกระทิงชัดแจ๋ว วันนั้นโชคยังไม่เข้าข้างเราเต็มร้อยเพราะได้เห็นช้างป่าไม่มากนัก แต่กลับได้เห็นกระทิงฝูงใหญ่เกือบร้อยตัว แถมยังได้ยินเสียงช้างคำรามส่งท้ายก่อนออกจากป่าตอนพลบค่ำเหมือนจะกล่าวทักทายกันอีกต่างหาก
หมายเหตุ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อยู่ห่างจากอำเภอกุยบุรีประมาณ 30 กิโลเมตร การเข้าชมช้างป่าและกระทิงต้องติดต่อล่วงหน้าเพื่อจัดหารถกระบะนำชม ค่าเข้าชมประมาณ 700 บาทต่อหนึ่งคันรถ สอบถามรายละเอียดโทร. 032-646-292
ขึ้นเขาเข้าถ้ำพระยานคร
อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด อยู่ระหว่างอำเภอกุยบุรีและปราณบุรี มีพื้นที่กว้างขวางเป็นหมื่น ๆ ไร่ มีจุดให้เที่ยวชมหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งอาศัยของนกนานาชนิด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์จะมีนกให้ชมจำนวนมาก แล้วยังมีเส้นทางเดินศึกษาพันธุ์ไม้น้ำ เป็นสะพานไม้ยกระดับทอดตัวเป็นแนวยาวเข้าไปในทุ่ง ซึ่งเป็นจุดถ่ายรูปที่ใครไปใครมาก็ไม่เคยพลาดมุมนี้เช่นกัน อีกด้านของสามร้อยยอดมีจุดท่องเที่ยวชื่อดังอย่างหาดแหลมศาลาและถ้ำพระยานคร ซึ่งมีจุดเด่น คือ พลับพลาจตุรมุขหรือ "พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์" ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูความยิ่งใหญ่ของถ้ำพระยานคร แล้วชมลายพระหัตถ์ที่จารึกพระนามาภิไธยไว้บนแผ่นหิน นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีหินงอกหินย้อยรูปร่างต่าง ๆ ดูแปลกตา และสะพานหินมรณะที่น่าแวะถ่ายรูปอีกด้วย
หมายเหตุ : หากต้องการไปชมถ้ำพระยานคร สามารถเช่าเรือจากหมู่บ้านบางปูลำละ 400 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที เรือจะแวะชมเขาหัวกะโหลกและเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างทาง ก่อนมุ่งหน้าสู่หาดแหลมศาลาเพื่อเดินขึ้นถ้ำหรือจะเดินข้ามเขาเทียนระยะทางประมาณ 480 เมตร ก็ได้ จากชายหาดมีทางเดินขึ้นเขาไปยังถ้ำพระยานคร อุทยานมีบริการบ้านพักที่หาดแหลมศาลา สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โทร. 032-603-571
เที่ยวตามรอยพระราชดำริ ตามหามดลูกของทะเล
ยังมีอีกสองสถานที่ในเส้นทางนี้ที่น่าแวะ เริ่มจากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี เดิมทีเป็นนากุ้งร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก่อนถูกปรับสภาพดินและคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมมาปลูกตามโครงการพัฒนาปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้การฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งแห่งแรกของไทย
เจ้าหน้าที่บอกว่า ป่าชายเลนเปรียบเสมือนมดลูกของทะเล ฟังแล้วยังสงสัย กระทั่งพาเราเดินตามรอยเส้นทางรับเสด็จฯ ชมต้นโกงกางประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูก พาสำรวจชีวิตที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติ ทั้งต้นโกงกาง ลำพูน ตะบูน แสม นกกระยาง นกกินเปี้ยว ปูก้ามดาบ ปลาตีน ฯลฯ ขึ้นหอชะครามชมวิว 360 องศาของป่าชายเลนที่กว้างใหญ่ไปจรดปากแม่น้ำปราณบุรี เราจึงได้คำตอบว่า เพราะป่าชายเลนเป็นแหล่งกำเนิด แหล่งอาศัยและแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสรรพชีวิต จึงได้ชื่อเป็น "มดลูกของทะเล" นั่นเอง
เราปิดทริปกันที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อีกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อเป็นตัวอย่างในการทำเกษตรแบบผสมผสาน และเป็นแหล่งผลิตสินค้าจากสมุนไพรธรรมชาติแบรนด์ "ภัทรพัฒน์" ของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเลือกซื้อผลไม้ ผักสด รวมถึงผลิตภัณฑ์ของภัทรพัฒน์กลับบ้าน รับรองว่าสินค้าดี น่าใช้ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งนั้น
หมายเหตุ : ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีอยู่ที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.โทร. 032-622-255 สวนสมเด็จพระศรี-นครินทราบรมราชชนนีอยู่ที่ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สอบถามรายละเอียดโทร. 032-593-100
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก