จากเขาเหมนถึงรามโรม ชีวิต สายน้ำ และผืนป่าใกล้เมือง (อ.ส.ท.)
"เป้ใบเก่า รองเท้าคู่เดิม"...เรื่อง
นพดล กันบัว...ภาพ
หากจะพูดถึงสุดยอดเทือกเขาแดนใต้ นับเนื่องจากเทือกเขาหลวง ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงมากที่สุดในภาคใต้ ต่อเนื่องถึงเขานันและเขาเหมนซึ่งสูงเป็นอันดับสาม สิ่งหนึ่งที่ขุนเขาในพื้นที่ภาคใต้แตกต่างจากภาคอื่น ๆ เห็นจะเป็นการผสมผสานและอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลระหว่างคนกับป่า
นอกเหนือจากป่าจะเป็นผู้ให้กำเนิดสายน้ำ ยังเต็มไปด้วยสรรพชีวิตมากมายที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของคน คนกับป่าจึงเป็นหนึ่งเดียวที่ต้องพึ่งพา แต่งเติมการดำรงอยู่ของชีวิตซึ่งกันและกัน เราจึงพบเห็นภาพชุมชนเมืองรายล้อมผืนป่าอยู่ทั่วไปหมดในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งในรูปแบบสวนผลไม้ในอดีตและเกษตรแผนใหม่ บนกฎเกณฑ์ที่จะไม่มีการขยายเขตพื้นที่จากที่เป็นอยู่ ภายใต้บริบทร่วมกันว่าคนต้องไม่รุกป่าเพิ่มเติม ปล่อยให้ป่าดำรงอยู่ของมัน เพื่อฟอกอากาศให้บริสุทธิ์และสร้างสายน้ำให้เราได้ดื่มกิน อาจจะเป็นเพราะว่าพื้นที่ภาคใต้มีไม่มากนัก ภาพที่เห็นจึงเกิดขึ้นได้ แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลหลักเพียงอย่างเดียว หากชุมชนไม่เห็นความสำคัญของป่าก็ยากที่ป่าจะดำรงอยู่ได้
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ถือเป็นอุทยานฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนเมือง คือ ห่างจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ราว 8-9 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 64 ของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 128,125 ไร่ หรือ 205 ตารางกิโลเมตร คุณเทอดไทย ขวัญทอง ซึ่งเป็นหัวหน้าอุทยานฯ บอกกับผมว่า ในเขตพื้นที่อุทยานฯ ประกอบไปด้วยน้ำตกสำคัญหลายสาย ทั้งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับและยังไม่มี ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ น้ำตกโยง ซึ่งอยู่ในบริเวณทั้งตั้งที่ทำการอุทยานฯ สามารถจัดเก็บรายได้ถึงปีละ 2 ล้านบาททีเดียว บ่งบอกถึงปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เดินทางเข้าไปที่นั่น
อุทยานฯ น้ำตกโยงมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวตามแนวเหนือใต้ จากเขาเหมน เขาทง เขาวังหีบ เขาพระ เขารามโรม เขาปากแพร เขาปลายเปิด และเขาคูหา โดยมียอดเขาเหมน ซึ่งมีความสูง 1,235 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นยอดเขาที่มีความสูงสุดในพื้นที่ ขุนเขาและผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดสำคัญของลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำปากพนัง และลุ่มน้ำตรัง
เขาเหมนในตำนานเล่าขานตั้งแต่โบราณ เรียกว่า เขาพระสุเมรุ เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นถือเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของเมือง 12 นักษัตรที่มีความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู ชาวฮินดูและพราหมณ์นับถือพระศิวะ จึงเชื่อกันว่าเขาพระสุเมรุซึ่งมีเอกลักษณ์รูปทรงและมีความสูงแตกต่างจากภูเขาอื่น ๆ เป็นที่อยู่ของพระศิวะ แต่ชาวใต้มักนิยมเรียกชื่อสั้น ๆ จึงกลายเป็นเขาเมรุ หรือเขาเมนในปัจจุบัน ในอดีตพื้นที่แถบนี้มีข้างป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีการตั้งกรมช้างซ้าย กรมช้างขวา และกรมช้างกลางขึ้นมา เพื่อรวบรวมช้างป่าส่งไปให้สุโขทัยและอยุธยา กรมช้างกลางในอดีต วันนี้ก็คือพื้นที่อำเภอช้างกลางนั่นเอง
ด้วยความสูง 1,235 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ทำให้ยอดเขาเหมนมีสภาพอากาศหนาวเย็น และถูกสายหมอกในห้วงฤดูฝนพาดผ่านเกือบตลอดทั้งปี เขาเหมนมีรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมพีระมิด ปกคลุมด้วยผืนป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ผสมผสานไปกับเหล่าพรรณไม้อันหลากหลาย ไม่ต่างจากยอดเขาหลวง ไม่ว่าจะเป็นรองเท้านารีคางกบได้ มอส เฟิร์น บัวแฉก ลิ้นมังกร และที่ขาดไม่ได้ คือ มหาสดำ ราชาแห่งผืนป่าในเทพนิยาย
ในอดีตยอดเขาเหมนเคยเป็นที่จัดงาน “วิวาห์ในม่านเมฆ” ในช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก วาเลนไทน์ เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเทศกาลวันแห่งความรักที่คู่รักจะต้องลงทุนลงแรงมากกว่าเทศกาลในแห่งความรักในพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากต้องเดินเท้าขึ้นยอดเขาใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-6 ชั่วโมง โดยรูปแบบแล้วงานลักษณะนี้มีข้อจำกัด ไม่สามารถขยายในวงกว้างมากนัก แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคู่รักที่นิยมชมชอบกิจกรรมการเดินป่า ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน ผลสำเร็จของโครงการบางครั้งไม่อาจวัดกันที่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเท่านั้น หากแต่อยู่ที่ความประทับใจและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของความทรงจำที่ได้รับกลับไป
การเพิ่มทางเลือกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่ต้องถูกตีกรอบเพียงตัวเลขเม็ดเงินที่จะได้รับคืนกลับมาเพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดหาย คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจน้อยหากสังคมไทยในอนาคตจะกลายเป็นสังคมที่ใช้เงินเป็นตัวตั้งในการสร้างความสุขให้กับชีวิต จนลืมนึกไปว่าบางครั้งเงินก็ไม่สามารถซื้อความสุขทุกอย่างที่ชีวิตต้องการได้ ผมชื่อของผมอย่างนั้น
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าต้นน้ำ ทำให้ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงมีน้ำตกใหญ่น้อยกระจัดกระจายรอบพื้นที่ ในจำนวนน้ำตกเหล่านี้มีทั้งน้ำตกที่เส้นทางคมนาคมสะดวกสบาย เช่น น้ำตกโยง และน้ำตกที่เส้นทางคมนาคมยังลำบาก หรือแม้กระทั่งบางแห่งต้องเดินเท้าเข้าไประยะทางหลายกิโลเมตร น้ำตกทางใต้อาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่ตระการตาเหมือนน้ำตกตามภาคเหนือ ตามสภาพความลาดชันของภูมิประเทศ สิ่งที่น้ำตกทางใต้มีแต่ทางเหนือไม่มี คือ ปริมาณน้ำ น้ำตกในเขตพื้นที่ภาคใต้มีน้ำตลอดทั้งปี อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง แต่สายน้ำก็ไม่เคยแห้งขอดจากลำธาร ท่ามกลางความเขียวขจีของผืนป่า ด้วยเหตุผลที่ภาคใต้มีช่วงเวลาของฤดูฝนมากกว่าภาคอื่น ๆ นั่นเอง
ในจำนวนน้ำตกเหล่านี้ น้ำตกโยงซึ่งมีน้ำตกถึง 7 ชั้น เป็นน้ำตกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ รองรับมากกว่าน้ำตกอื่น ๆ นอกเหนือจากความร่มรื่นของลำธารที่สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดแนวน้ำตก อีกทั้งยังเป็นที่อาศัยของฝูงปลาเพียนจำนวนมาก ที่กลายเป็นเสน่ห์สำคัญให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาที่นี่เพื่อให้อาหารปลา ซึ่งอนุญาตให้ใช้เฉพาะผัก เช่น ถั่วฝักยาวและผักบุ้งเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นแนวคิดที่ดีน่าสนับสนุน เพราะก่อให้เกิดสารตกค้างน้อยกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ
น้ำตกคลองจัง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งการเดินทางค่อนข้างสะดวกสบาย อยู่ในบริเวณที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ตย. 1 (คลองจัง) ประกอบด้วยชั้นน้ำตกเพียง 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ซึ่งมีความสูงราว 15 เมตร เป็นชั้นที่มีความสวยที่สุด น้ำตกคลองจัง มีสภาพภูมิประเทศแตกต่างจากน้ำตกโยง ลำธารมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็คงความเป็นธรรมชาติ น้ำตกคลองจังอยู่ห่างจากน้ำตกโยงเพียง 10 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบสมบุกสมบันนิดหน่อย ผมแนะนำให้ไปน้ำตกปลิวครับ แม้ว่าสภาพเส้นทางจะไม่สะดวกนัก แต่รถยนต์ก็เข้าถึงชั้นล่างสุดของน้ำตกได้เช่นกัน
น้ำตกปลิวมีชั้นน้ำตกถึง 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความงดงามแตกต่างกันไป การเดินทางเข้าน้ำตกแต่ละชั้นต้องเดินเท้า ระยะทางไม่ไกลนัก ขึ้นอยู่กับว่าจะขึ้นไปถึงชั้นไหน น้ำตกชั้นที่ 3 เป็นชั้นที่มีความสวยงามที่สุด เนื่องจากสามารถมองเห็นชั้นน้ำตกต่าง ๆ ไหลลดหลั่นจากแนวผาขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยผืนป่าที่ยังคงความสมบูรณ์ท่ามกลางพรรณไม้ป่า เช่น บีโกเนียที่ขึ้นอยู่ตามแนวโขดหิน ที่นี่ถือเป็นน้ำตกอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงความเป็นธรรมชาติดิบ ๆ ยังไม่ถูกรบกวนจากสังคมภายนอกมากนัก การเดินทางไม่ลำบากจนเกินไป สามารถซึมซับกับลมหายใจของโลกธรรมชาติได้อย่างเต็มเปี่ยมทีเดียว
กว่า 200 ตารางกิโลเมตร ของแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ แวดล้อมด้วยชุมชนใหญ่น้อยมากมาย ชุมชนเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำสวนก่อนที่จะมีการประกาศจัดตั้งให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พวกเขาดำรงชีพด้วยการทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ลุงบุญสม แก้วขาว หนึ่งในกลุ่มคนชายขอบแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ บอกกับผมว่า พื้นเพเดิมเป็นคนปากพนัง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำสวนยางราว 30 ปีที่แล้ว บริเวณละแวกนี้อดีตเคยเป็นที่ตั้งเหมืองยิปซัมก่อนที่สัมปทานจะยกเลิกราวปี 2525-2526 ปัจจุบันมีพื้นที่ในครอบครอง ซึ่งกลายสภาพเป็นพื้นที่ สปก. ประมาณ 8 ไร่
เริ่มต้นจากการทำสวนยางก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาทำสวนผลไม้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา อาชีพทำสวนผลไม้แม้ว่าจะมีรายได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีความแน่นอน เพราะในแต่ละปีผลไม้แต่ละชนิดออกผลไม่เท่ากัน นอกเหนือจากกลไกราคาที่ไม่อาจคาดเดาได้ ปีนี้คาดว่าจะได้มังคุดราว 2 ตันเท่านั้น จากที่เคยได้มากสุดบางปีถึง 10 ตัน ขณะที่ราคามังคุดปีนี้เหลือกิโลกรัมละ 18 บาทเท่านั้น รายได้หลักจึงอยู่ที่ทุเรียน ซึ่งปีนี้คาดว่าน่าจะได้สัก 4-5 ตัน ปัจจุบันราคาทุเรียนตกที่กิโลกรัมละ 35 บาท ซึ่งก็พอที่จะได้ค่าใช้จ่ายคืนกลับมาได้บ้าง ชีวิตชาวสวนอาจไม่อาจสร้างความร่ำรวยให้เกิดขึ้นในฉับพลัน แต่ก็เป็นชีวิตที่มีความสุข สังเกตจากแววตาและสีหน้าของลุงบุญสมที่ผมสัมผัสได้
ผมถามลุงบุญสมว่าเบื่อชีวิตชาวสวนบ้างไหม แกบอกว่าไม่ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันก็อยู่กันเพียงสองคนกับภรรยา ลูก ๆ เรียนหนังสือในเมือง ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าลูกจะมารับช่วงชีวิตชาวสวนต่อหรือไม่
ลุงบุญสมคงเป็นหนึ่งในครอบครัวอีกหลายครอบครัวที่ตกอยู่ในช่วงรอยเปลี่ยนผ่านของชีวิตสู่รุ่นลูก ซึ่งกำลังถูกกระแสธารของโลกยุคดิจิตอลกัดกร่อนภาพชีวิตในอดีต ซึ่งแตกต่างจากโลกใหม่ที่สัมผัสอยู่อย่างสิ้นเชิง
ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า หากเราลืมอดีตที่เคยเป็นเราจะสร้างอนาคตที่สมบูรณ์ได้อย่างไร หากเราลบรอยเท้าทุกย่างก้าวที่ผ่านมาทิ้ง เราจะเดินกลับบ้านได้อย่างไร หากชีวิตมีปัญหาและหลงทาง มีคนเคยกล่าวว่า หากชีวิตมีปัญหาให้เรากลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ผมเชื่อว่ายังไม่มีจุดเริ่มต้นใดที่มีคุณค่าความสำคัญไปกว่าจุดเริ่มต้นที่เราก่อเกิดขึ้นมา นั่นเป็นเรื่องทางทฤษฎี ซึ่งมันตรงกันข้ามกับการปฏิบัติเสมอ ๆ
สายฝนที่ทิ้งช่วงมาต่อเนื่องคงเพิ่มโอกาสให้ผมในการเดินทางขึ้น เขารามโรม ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสอง รองจากยอดเขาเหมน ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสสัมผัสกับท้องทะเลกว้างไกลสุดสายตา เหมือนภาพถ่ายเขารามโรมที่เคยเห็นมา เขารามโรมสูงจากระดับทะเลปานกลางราว 985 เมตร เป็นยอดเขาที่มีถนนคอนกรีตขึ้นถึง แต่ว่าสภาพเส้นทางค่อนข้างชันและแคบ ต้องใช้รถที่กำลังเครื่องยนต์ค่อนข้างดี หรือรถที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่สำคัญผู้ขับควรเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการขับรถขึ้นเขาในระดับหนึ่ง
การขับรถในเส้นทางที่มีระดับความสูงชันค่อนข้างมาก ไม่ใช่ใคร ๆ หรือมือใหม่ป้ายแดงตามโครงการรถคันแรกก็ขับได้นะครับ เพราะต้องมีทักษะและการตัดสินใจที่ดีประกอบกันด้วย โดยเฉพาะช่วงลงเขา ซึ่งเราจะพบเห็นอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ถ้าไม่เคยเลยผมแนะนำว่าอย่าเสี่ยงดีกว่านะครับ แม้จะเป็นเส้นทางซีเมนต์ไม่กี่กิโลเมตรก็เถอะ เส้นทางขึ้นเขารามโรมได้รับอานิสงส์จากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ขึ้นมาบุกเบิกตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณ หลังจากนั้นทุกสถานีก็ได้รับอานิสงส์ใช้เส้นทางเพื่อขึ้นไปตั้งสถานีเช่นเดียวกัน เส้นทางขึ้นเขารามโรมถือเป็นเส้นทางที่สวยเส้นทางหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านคงมหาสดำก่อนถึงยอดสูงสุด
เขารามโรมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อยู่ในความดูแลของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ (ตย. 3) ถือเป็นยอดเขาที่ตั้งอยู่ใกล้เมือง อยู่ห่างจากอำเภอร่อนพิบูลย์เพียง 14 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เป็นป่าใกล้เมืองที่ยังความสมบูรณ์ในเรื่องธรรมชาติ จนอดแปลกใจไม่ได้ครับว่าทำไมผืนป่าใกล้เมืองแห่งนี้จึงดำรงสถานะอยู่ได้ นี่กระมังคือบทสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า คนสามารถอยู่กับป่าอย่างพึ่งพิงพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ หากเราสามารถสร้างระบบจัดการที่ดีได้
คุณประกรณ์ เจ้าหน้าที่ช่อง 7 ซึ่งถือเป็นผู้คร่ำหวอดเขารามโรมตั้งแต่รุ่นบุกเบิกได้เล่าให้ฟังว่า การขึ้นมาจัดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณเกิดขึ้นในสมัย คุณชาติเชื้อ กรรณสูตร และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ราวปี 2527 ใช้เวลาอยู่ 1 ปี จึงตัดถนนขึ้นมาสำเร็จ ในอดีตพื้นที่แถบนี้เคยเป็นพื้นที่สีชมพู หลังหกโมงเย็นแทบจะไม่มีการสัญจรไปมา มีลักษณะเป็นพื้นที่ปิด แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลงแต่ก็ใช้เวลาหลายปี ความมั่นใจในความปลอดภัยจึงคืนกลับมา
เหตุที่เลือกเขารามโรมเป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณ เพราะตำแหน่งที่ตั้งอยู่จุดกึ่งกลาง สามารถส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง หากบอกว่าการมีเส้นทางขึ้นยอดเขารามโรมถือเป็นปฐมบทของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของที่นี่ก็คงไม่ผิดนัก ด้วยข้อจำกัดเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในขณะนั้น ทำให้เขารามโรมเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในวงจำกัด จวบจนมีการสร้างบ้านพักและเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอุทยานฯ จากงบประมาณของโยธาธิการและผังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2547 แล้วเสร็จในปี 2549 เขารามโรมจึงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องน้ำ เนื่องจากบนยอดเขาไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่เลย ต้องพึ่งพาสายฝนในธรรมชาติเพียงอย่างเดียว
นอกจากเป็นที่ตั้งของสถานีถ่ายทอดสัญญาณแล้ว ในอีกมิติหนึ่งเขารามโรมแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ มันถูกปกคลุมด้วยผืนป่าอันหลากหลาย อุดมด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ภาคใต้ เราสามารถพบผืนป่ามหาสดำขนาดย่อม ๆ ระหว่างเส้นทางรถพบดงบัวแฉก นอกเหนือจากกล้วยไม้ป่าที่ออกดอกบานสะพรั่งในแต่ละห้วงฤดูกาล บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติสะพานปูนที่มีความยาว 480 เมตร แม้จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ค่อนข้างสั้น แต่ก็สามารถพบเห็นพันธุ์ไม้นานาชนิดไม่น้อยทีเดียว
ที่นี่จึงเป็นผืนป่าแบบผสมผสาน ปกคลุมด้วยสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ยอดเขาถูกกระแสลมแรงพาดผ่าน จนผืนป่าบนยอดเขามีลักษณะแคระแกร็น คุณประกรณ์บอกว่า กระแสลมบนเขารามโรมบางครั้งแรงถึง 127 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทีเดียว กระแสลมที่กระโขกแรงตลอดเวลาส่งผลให้สภาพอากาศบนรามโรมมักจะอยู่เหนือความคาดเดาเสมอ เราจึงพบกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันอย่างคาดไม่ถึง ในห้วงเวลา 1 วัน คุณประกรณ์เคยเห็นสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงถึง 3 ฤดู บางวันท้องฟ้าสีสันสดใส บางวันก็ปกคลุมด้วยม่านหมอกตลอดทั้งวัน แต่บางวันก็เกิดปรากฏการณ์ท้องทะเลหมอกเบื้องล่าง รายล้อมเขารามโรมอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ผมอาจโชคไม่ดีเหมือนคุณประกรณ์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนเกือบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจของรามโรมไปแล้ว แต่สิ่งที่ผมสัมผัสเบื้องหน้าก็มีความงดงามไม่น้อยเช่นเดียวกัน มันคือแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนกว้างไกลสุดสายตา ฝั่งตะวันตกมีเทือกเขาพนมเบญจา ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงสุดของเมืองกระบี่ และยอดเขาเหมน เยื้องมาทางทิศเหนือสามารถสัมผัสกับความอลังการของเทือกเขาหลวง ราชาแห่งเทือกเขาแดนใต้ ผืนป่าที่เปรียบเสมือนหลังคาของภาคใต้ ส่วนฝั่งตะวันออกจะพบกับแอ่งที่ราบและผืนป่าสลับกับเทือกเขาชายขอบขนาดเล็ก ๆ ต่อเนื่องจนถึงแหลมตะลุมพุก นี่คือยอดเขาที่สามารถเล่าขานเรื่องราวได้ตั้งแต่เหนือจรดได้ ตะวันออกจรดตะวันตก ตั้งแต่ยามดวงตะวันโผล่พ้นขอบทะเลจนถึงห้วงเวลาดวงตะวันลับขอบฟ้า
ภายใต้วิถีของผืนป่าสีเขียวที่โอบล้อมโดยรอบ นี่คือยอดเขาที่มีเรื่องราวร้อยเรียงให้ได้สัมผัส ตั้งแต่เช้าวันใหม่จนถึงเย็นย่ำพลันเส้นทางสุดท้ายของวันเลือนหายไปจากทิวเขา ก็ปรากฏแสงไฟยามค่ำคืนของชีวิตชาวทุ่งสงก่อเกิดขึ้นทดแทน ทุกชีวิตยังคงดำเนินของมันต่อไปภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ผมไม่รู้ว่าภายใต้แสงไฟยามค่ำคืนของทุ่งสงเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมรู้เพียงว่าคืนนี้บนยอดเขารามโรม มันนำมาซึ่งความเงียบสงบ ปราศจากสิ่งรบกวนจากโลกภายนอก ท่ามกลางกลิ่นอายของโลกธรรมชาติที่ไม่มีกลิ่นไอเสียรถยนต์มาเปรอะเปื้อน ระยะทางห่างกันแค่เอื้อม แต่โลกที่อยู่กลับต่างกันมากมาย ผมรู้อย่างนั้นจริง ๆ
คู่มือนักเดินทาง
การเดินทางไปน้ำตกโยง : จากอำเภอทุ่งสง ใช้ทางหลวงหมายเลข 403 (ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช) ผ่านตัวอำเภอทุ่งสง ถึงสถานบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ประมาณ 4 กิโลเมตร รวมระยะทางจากทุ่งสง ประมาณ 8 กิโลเมตร
การเดินทางไปเขารามโรม : จากอำเภอทุ่งสง ใช้ทางหลวงหมายเลข 403 (ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช) ประมาณ 22 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าอำเภอร่อนพิบูลย์ ผ่านบ้านสวนจันทร์ ถึงสี่แยกบ้านเถลิง จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายขึ้นเขารามโรม ระยะทางราว 9 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้นจากร่อนพิบูลย์ ประมาณ 14 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก
บนเขารามโรมมีบ้านพักอุทยานแห่งชาติให้บริการ 5 หลัง อัตราค่าให้บริการคืนละ 500 บาท หลังหนึ่งนอนได้ 2 คน มีห้องน้ำในตัว อาจจะนอนได้มากกว่านั้นหากเตรียมเครื่องนอนไปเอง นอกจากนี้ ยังมีลานตั้งแคมป์ขนาดเล็กให้บริการ พร้อมกับห้องน้ำส่วนกลาง (ต้องเตรียมเต็นท์ไปเอง)
สถานที่ติดต่อ
ติดต่อสอบถามและจองบ้านพักได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง หมู่ที่ 7 ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80110 โทรศัพท์ 0 7535 4967 อีเมล reserve@dnp.go.th หรือจองบ้านพักผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ dnp.go.th
ส่วนเรื่องอาหารและร้านสวัสดิการไม่มีให้บริการ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมอาหารไปเอง นอกจากไปเป็นหมู่คณะสามารถสั่งทำอาหารล่วงหน้าได้ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
หมายเหตุ
บนเขารามโรมไม่มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติ น้ำที่ใช้เป็นน้ำฝนที่เก็บกักไว้ในถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ กรุณาใช้น้ำอย่างประหยัด และเส้นทางขึ้นเขาค่อนข้างชันและแคบ ผู้ขับควรมีความชำนาญในการขับรถขึ้นเขาในระดับหนึ่ง และควรใช้รถที่มีกำลังเครื่องยนต์ค่อนข้างดีหรือรถที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
หนังสืออสท. ปีที่ 54 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2556