อันซีนจังหวัดช้างกลัว ลุยถ้ำ-พิชิตเจมส์บอนด์ (ไทยโพสต์)
สรณะ รายงาน
ช่วงมรสุมนี้หลายคนอาจจะหวั่นใจไม่กล้าไปเที่ยว โดยเฉพาะใน "จังหวัดพังงา" เพราะมีแต่ข่าวน้ำท่วม ฝนตกหนัก คลื่นลมแรงในบริเวณชายทะเล เกาะต่าง ๆ และน้ำทะเลไม่สวย อย่างชายหาดเขาหลัก โรงแรมต่าง ๆ ติดธงเตือนภัยนักท่องเที่ยวให้ใช้ความระมัดระวังหากจะเล่นน้ำอีกด้วย แต่ใช่ว่าฤดูกาลนี้นักเที่ยวจะหมดหวังไปเลยทีเดียว หากตรวจสอบและค้นคว้าข้อมูลให้ดี จังหวัดแห่งนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ดินฟ้าอากาศไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
มีโอกาสไปพังงาช่วงหยุดยาว 4 วัน ช่วงวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาที่ผ่านมา (22-23 กรกฎาคม 2556) พร้อมคำแนะนำว่าลองไปสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติป่าชายเลน ณ อ่าวพังงา พายแคนู ถ้ำลอด ชมเขาพิงกัน เกาะตะปู และชมสนามฟุตบอลเกาะปันหยี ปิดท้ายด้วยชมอันซีนเข้าถ้ำพุงช้าง รับรองจะได้รับความสนุกแปลกใหม่แน่นอน ส่วนสาเหตุที่บอกว่าบริเวณนี้ไม่ต้องกลัวพายุฝน เนื่องจากถูกโอบล้อมไปด้วยป่าชายเลนและภูเขาต่าง ๆ พายุแรง ๆ ก็กลายเป็นเบา แม้กระทั่งคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับพื้นที่นี้เท่าใดนัก
สำหรับ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีพื้นที่ป่าชายเลนกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าโดยรวมทั้งจังหวัด 190,265 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.17 ของเนื้อที่ป่าชายเลนทั้งประเทศ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฯ, อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จุดเด่นคือมีภูเขามากมายหลายลูก เป็นเขาหินปูนหน้าตาแปลก ๆ การเดินทางมาเที่ยวอ่าวพังงานั้นมาได้หลายทาง เพราะจะสามารถขึ้นเรือได้จากหลายที่ หลายท่าเรือ ทั้งภูเก็ตหรือพังงา
แต่เราไปขึ้นที่ท่าเรืออุทยานอ่าวพังงา โดยจะมีชาวบ้านคอยโบกรถเรียกนักท่องเที่ยวกันอยู่หลายเจ้า ส่วนมากก็เป็นชาวบ้านแถวนั้นทำกันเอง รูปแบบก็คือจะเช่าเรือหางยาวเป็นลำไป ไปได้ลำละหลายคน ไปกันเยอะ ๆ ก็จะคุ้มหน่อยเพราะได้ตัวหาร อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมชาวบ้านให้มีงานทำ กระจายรายได้ออกไป ไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะนายทุน หลังจากนั่งเรือเรียบร้อยก็จะออกเดินทาง โดยแล่นไปเรื่อย ๆ ให้เราได้ชื่นชมกับธรรมชาติ ชมเกาะต่าง ๆ ในอ่าวพังงา ไกด์ก็มาคอยอธิบายข้อมูลต่าง ๆ และแนะนำให้รู้ว่าเกาะไหนชื่ออะไร ความเป็นมาอย่างไร พร้อมตอบคำถามแก่นักท่องเที่ยวที่ช่างสงสัย
จุดแรกที่เห็นคือ เขาหมาจู อยู่ระหว่างทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี เป็นภูเขาหิน มีลักษณะคล้ายรูปสุนัขกำลังหมอบ เห็นส่วนหัว ลำตัว และหาง จากนั้นก็ไปนั่งเรือยางบริเวณ ถ้ำลอด โดยเราเป็นคนนั่งและมีคนพายที่ชำนาญมาก โดยจะลอดถ้ำใหญ่และถ้ำเล็กถ้ำน้อยนับสิบถ้ำ ยอมรับเลยว่าธรรมชาติได้สร้างสิ่งที่สวยงามมาก ได้พบหินปูนรูปร่างแปลกตาสวยงามยิ่งนัก บางจุดเป็นสถานที่ต่ำมาก ต้องนอนแนบกับเรือโดยมีหินอยู่ปลายจมูก อย่างไรก็ตาม เที่ยวจุดนั้นไม่ต้องกลัวกระหายน้ำ เพราะมีชาวบ้านพายเรือมาขายน้ำมะพร้าวสด ๆ หวาน ๆ ถึงที่เลย
หลังจากได้ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างจุใจ ก็นั่งเรือไปที่ เขาพิงกัน เพื่อไปชม เขาตะปู หรือ "เกาะเจมส์บอนด์" ที่โด่งดังระดับโลก เพราะภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์เคยมาถ่ายทำเอาไว้นานมาแล้ว ใครมาบริเวณนี้จะต้องยืนถ่ายรูปโดยมีเขาตะปูเป็นฉากหลังทุกคน บางคนไม่เข้าท่า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ว่ายน้ำไปใกล้ ๆ หารู้ว่าเป็นบริเวณที่อันตราย เนื่องจากหินส่วนที่จมอยู่ใต้ทะเลได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะเป็นเวลานานนับล้านปี จึงสึกกร่อนและมีขนาดเล็กกว่าส่วนบน และไม่ทราบว่าอาจล้มลงมาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่รับผิดชอบต้องติดป้ายเตือนเอาไว้ด้วย หรือสั่งห้ามเข้าใกล้ป้องกันเหตุไม่คาดฝัน
ส่วน เขาพิงกัน เป็นภูเขาที่มีลักษณะพิเศษแปลกตาแตกต่างจากภูเขาอื่นใดทั้งสิ้น โดยมีลักษณะเป็นภูเขาสองลูกที่แนบยึดติดกัน เป็นแนวเส้นตรงจากยอดเขาสู่ตีนเขา ผู้คนที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเขาพิงกันต่างพากันสันนิษฐานว่า ในอดีตกาลคาดว่าจะเป็นภูเขาลูกเดียวกัน แต่ได้ถูกฟ้าผ่าหรือสายฟ้าฟาดอย่างประณีต จนแยกภูเขาดังกล่าวออกเป็นสองลูกที่แนบชิดติดกันหรือพิงกัน หรืออาจเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ภูเขาดังกล่าวเกิดรอยร้าวหรือปริแยกเป็นสองส่วน ที่มีลักษณะคล้ายถูกของมีคมตัดเป็นเส้นตรงจากยอดเขาสู่ตีนเขา แต่ยังไม่ได้ถูกแยกออกจากกัน กลับถูกปล่อยให้ยังคงแนบชิดติดกัน จนถูกเรียกว่าเขาพิงกัน
จากนั้นนั่งเรือย้อนกลับไป เกาะปันหยี เกาะเล็ก ๆ ที่โด่งดังจากโฆษณาของธนาคารแห่งนี้ ที่มีทีมฟุตบอลบนเกาะกลางน้ำ เกาะแห่งนี้มีบ้านเรือน 300 หลังคา มีประชากรประมาณ 4,000 คน สามารถเข้าไปศึกษาและสัมผัสชีวิตของคนที่นี้ โดยมีศูนย์กลางหมู่บ้านและศาสนา บ้านเรือน ร้านค้า และโรงเรียนตั้งอยู่ในน้ำ โดยมีทางเดินเชื่อมถึงกันด้วยสะพานไม้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสะพานปูนในปัจจุบัน เวลาน้ำขึ้น "หมู่บ้านปันหยี" จึงแลดูเหมือนหมู่บ้านลอยน้ำ แต่พอน้ำลงจะเห็นว่าบ้านนับร้อยหลังนั้นตั้งอยู่บนเสาที่ปักในเลนมาตั้งแต่อดีต
ด้านทิศตะวันออกของเกาะปันหยีจะมีร้านค้าเรียงรายตลอดสองทางเดิน แต่หากต้องการเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ก็ต้องเดินเลยย่านการค้าไปทางทิศตะวันตก และจะได้พบเห็นศาลาประชาคม สภากาแฟ ร้านค้าสำหรับชาวบ้าน ร้านตัดผม โรงเรียน และมัสยิด ที่อยู่คู่กับชุมชนกลางทะเลมาตั้งแต่อดีต สถานที่แห่งนี้ถือเป็นจุดสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดพังงากันมาก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการมาสัมผัสวิถีชีวิต อีกทั้งทัวร์ต่าง ๆ ก็มักจะพานักท่องเที่ยวมาทานอาหารกลางวันกันที่นี่ ซึ่งไม่แน่ว่าอนาคตอาจทำให้วิถีชีวิตของคนที่นี่เปลี่ยนไปหรือไม่
จากนั้นเรากลับเข้าท่าเรือที่อุทยานฯ และนั่งรถไปไม่ไกลเพื่อไปปิดท้ายด้วยอันซีนจังหวัดพังงาที่หลายคนอาจไม่รู้จัก นั่นคือ ถ้ำพุงช้าง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพังงา หลังศาลากลางจังหวัด ก่อนเข้าตัวตลาดพังงา เมื่อเข้าไปในถ้ำพบค้างคาวห้อยหัวลงมาให้การต้อนรับ ภายในถ้ำมีความงดงามและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติของหินงอกหินย้อยที่มีสภาพที่สมบูรณ์ มีสายน้ำไหลผ่านกลางถ้ำ แสดงให้เห็นถึงการไหลเวียนและการถ่ายเทของอากาศตลอดเวลา มีทั้งช่วงน้ำลึกและช่วงน้ำตื้น
การเที่ยวถ้ำพุงช้างนั้นนักท่องเที่ยวต้องผจญภัยนิดหน่อย เพราะจะต้องเดินลุยน้ำ นั่งแพ และนั่งเรือแคนู เพื่อเข้าไปชมหินงอกหินย้อยที่เป็นฝีมือธรรมชาติ หยดน้ำที่หยดจากติ่งปลายของหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟฉายของเราก็เกิดประกายเหมือนประกายเพชร หินงอกหินย้อยมีลักษณะของรูปคนตกปลา รูปแป๊ะยิ้ม รูปปลา โดยเฉพาะช้างหลากรูปแบบที่แปลกตาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหินงอกหินย้อยรูปช้างร้อย ๆ เชือกเดินตามกันเป็นวงรอบ หินงอกรูปช้างนั่งอยู่ใต้ฉัตรภายในถ้ำ บันไดสีทองเกิดจากหินงอกอันวิจิตร ยิ่งเมื่อถูกแสงไฟจะเป็นประกายสวยงามมาก การเที่ยวถ้ำพุงช้างใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เราไม่สามารถเก็บภาพมาฝากผู้อ่านได้ เนื่องจากไกด์ท้องถิ่นไม่อนุญาตให้นำกล้องเข้าไป เพราะเกรงว่าแฟลชกล้องจะทำให้หินตาย รวมทั้งยังกำชับนักท่องเที่ยวเมื่อเข้าไปแล้วอย่าไปจับหิน เพราะไขมันจากมือเราจะไปหยุดการเจริญเติบโตของหิน โดยไกด์ได้อธิบายว่าหินบางชิ้นยาวแค่ 3 เซนติเมตร ใช้เวลานานถึง 80 ปีเลยทีเดียว คำเตือนของไกด์ท้องถิ่นนั้นถือเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว ยังให้ความรู้ให้พวกเขาเหล่านั้นไปช่วยบอกต่อ หรือหากไปเที่ยวถ้ำอื่น ๆ ก็จะสามารถเที่ยวเป็นและไม่สร้างภาระให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย ตรงกับแนวคิด 7 Greens ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เป็นอย่างยิ่ง
หลังจากดื่มด่ำความมหัศจรรย์ดังที่กล่าวมา รู้สึกว่าเราโชคดีที่เกิดบนแผ่นดินไทยที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามรองรับพวกเราได้ทุกฤดูกาล ดังนั้น นอกจากมาเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความสุขกลับไปแล้ว จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเพื่อให้ความงามเหล่านี้อยู่กับเราไปอีกยาวนาน
ผู้สนใจไปท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. โทรศัพท์ 1672 หรือ thai.tourismthailand.org
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์ และ dnp.go.th