Jungle Man...เรื่อง
หัสชัย บุญเมือง, สุทธา สถาปิตานนท์, พงษ์ระวี แสงแข และยศวัฒน์ เกษมถิรกุล...ภาพ
เมื่อแม่น้ำไหลผ่านลงมาจากยอดดอยสูงสู่ดินแดนเบื้องล่าง ความอุดมสมบูรณ์จากทั้งผืนดินและแผ่นน้ำก็ทำให้ผู้คนได้เริ่มต้นชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งกว่าที่กลุ่มชนตามหุบดอยขุนห้วยอันห่างไกลจะรวมกันเป็นชุมชน เป็นเมือง และร่วมกันสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม จนมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะไปสัมผัสความงดงาม รอยยิ้ม แววตาของผู้คนพื้นเมืองที่เป็นเสมือนผู้ตั้งถิ่นฐาน และเป็นผู้คนยุคแรกของแผ่นดินนี้ที่หยั่งราก ฝังรก ไว้ในแผ่นดินอันงดงาม...
เรื่องราวของชีวิตและลมหายใจของผู้คนบนแผ่นดินน่าน ได้รับการค้นพบจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์กว่าหมื่นปี ซึ่งทอดเนื่องมาอย่างยาวนาน จากโถงถ้ำริมน้ำสู่บนดอยสูงสุดก้อนเมฆ ความเลื่อนไหลและเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยังได้รับการสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล ทว่าเราอาจมองไม่เห็นหรือไม่รู้จัก และยังไม่เข้าใจก็มากมาย โดยในคราวนี้เราได้เสาะหาชนเผ่าบนภูเขาสูงที่ยังคงรักษาจารีตประเพณี รวมทั้งวิถีชีวิตไว้ได้อย่างเหนียวแน่น บนสันดอยแสนไกลที่ใคร ๆ ต่างรู้จักกันว่าที่นั่นมีชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะอาศัยอยู่ ทว่าไม่มีใครเข้าไปค้นหาเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างจริงจัง เราใช้เวลาดั้นด้นเก็บข้อมูลอยู่หลายครั้งในหนึ่งปี ทำให้มีข้อมูลต่าง ๆ พอที่จะทำให้คุณรู้จักตัวตนที่แสนงดงามของพวกเขามากขึ้น...ลัวะดอกแดงแห่งบ้านป่ากำ
ลัวะป่ากำ อัญมณีแห่งขุนเขาลี้ลับ
"หมู่บ้านป่ากำอยู่ที่นี่มานานแล้ว ตั้งแต่ปู่ของปู่ของปู่โน่นล่ะ สองร้อยกว่าปีแล้วเท่าที่มีคนเฒ่าเล่าให้ฟัง แรกเริ่มที่นี่มีกัน 4 หลัง แล้วขยายมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ ตอนนี้มีทั้ง 23 หลัง เราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ละหลังอยู่กัน 16-20 คน" ดวง ใจปิง ชายวัยต้นห้าสิบ พูดภาษาไทยสำเนียงคำเมือง บอกกับเราขณะที่สายหมอกเริ่มจางไปจากยอดเขาเหนือหมู่บ้าน
"พวกเราเป็นชาวลัวะ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็เรียกลัวะ เราเรียกตัวเองอย่างนี้ ในน่านมีลัวะ 2 กลุ่ม แบบเราเรียกลัวะดอกแดง เพราะมีงานกินดอกแดง ตอนเก็บข้าวเสร็จใหม่ ๆ ส่วนอีกกลุ่มเรียกลัวะสะโหลดหลวง ตามประเพณีสะโหลดหลวงของเขา ภาษาพูดก็ไม่เหมือนกันนะ อย่างกินข้าวเราพูดว่าปองจ๊ะ อีกกลุ่มเรียกปงอชา" คำ ใจปิง ผู้ใหญ่บ้าน บอกกับเราถึงชื่อเรียกตัวเองและความแตกต่างของลัวะในจังหวัดน่าน ซึ่งตรงกับข้อมูลที่นักวิชาการได้ทำการศึกษามาอย่างยาวนาน
โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่กล่าวว่า ลัวะเมืองน่านนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลัวะมัลรหรือลัวะสะโหลด และกลุ่มลัวะดอกแดงหรือลัวะปรัย ทว่าคำว่า ปรัย คนในหมู่บ้านป่ากำไม่เคยได้ยิน หรือทราบว่าหมายถึงอะไร
"แม้ว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป แต่แทบทุกสิ่งในหมู่บ้านเราไม่เปลี่ยน เราอยู่กับฮีต ความเชื่อ และผีบรรพบุรุษ ผีป่า ผีน้ำ ที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้าน สิ่งที่คนในหมู่บ้านยอมให้คนภายนอกเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลง ก็คือ ความรู้โรงเรียนและสุขอนามัย" ดวง ใจปิง เล่าถึงความเชื่อของพวกเขา ก่อนจะบอกว่าถึงเวลาที่จะไปทำพิธีสำคัญของหมู่บ้านในวันนี้
พิธีปลูกแฮก...ความหมายของแผ่นดิน
แสงแดดยามบ่ายของฤดูยังคงฉายฉาน และเมฆทางด้านตะวันตกก็กำลังลอยขึ้นจากขุนเขาสูง ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอกสีน้ำเงินและผ้าโพกหัวสีแดงมีพู่เล็ก ๆ ห้อย กับดวงตาสีน้ำตาลสะท้อนประกายแสงยามได้พูดคุยกัน สิ่งงดงามของแผ่นดินนี้อาจจะไม่ใช่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความงดงามที่พร้อมจะดูแลทุกอย่างให้สอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติอย่างกลมกลืน
พิธีปลูกแฮก หรือแรกนาของชาวลัวะ จะทำกันเมื่อข้าวแข็งแรงดีและงอกขึ้นมาสักคืบ โดยหมอฮีต (หมอผีประจำหมู่บ้าน) จะทำพิธีก่อนว่าเจ้าที่ต้องการอะไร จะได้เลือกสัตว์ชนิดนั้น ๆ มาเซ่นสังเวยได้ถูกต้อง เพื่อให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ โดยครั้งนี้ผู้ทำพิธีได้เตรียมไก่ขาว 3 ตัว หมูดำ 1 ตัว ไข่ต้ม 2 ฟอง และตะแหลว เพื่อป้องกันผีไม่ดีเข้ามาทำลายผลิตผล
เมื่อพ่อหมอที่มาประกอบพิธีเริ่มต้นขอเจ้าที่เรียบร้อย ก็จัดการฆ่าไก่ขาว เอาเลือดเซ่นผีเจ้าไร่ ผีนา แบ่งเป็น 3 จุด คือ บนสุดของเขตนา ตรงกลาง และล่างสุด มีการทำเป็นศาลเพียงตาสำหรับวางเครื่องเซ่นไหว้ ทั้งไข่ไก่ที่เพิ่งสังเวยและเหล้า จนสุดท้ายทำพิธีฆ่าหมู เพื่อเอาเลือดเซ่นผี เอาเครื่องใน และส่วนต่าง ๆ มาเซ่นไหว้ตรงศาลเพียงตา เมื่อกล่าวคำขอขมาเป็นภาษาลัวะเรียบร้อย พิธีก็เสร็จแบบง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไก่ หมู ก็นำไปแบ่งกันกินในหมู่บ้าน เป็นความงดงามของชาวบ้านป่ากำที่ยังคงรักษาประเพณีและพิธีกรรมอันงดงาม แต่แฝงความขรึมขลังเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ความหมายที่ซ่อนเร้นพิธีกรรมนั้น คงจะบอกเราได้แต่เพียงว่าการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ควรต้องเอาใจใส่ เคารพ และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม หรือต้นไม้ใบหญ้า ต่างก็ได้รับความเคารพในวิถีชีวิต หลายคนมองเห็นภาพชุดนี้อาจจะบอกว่าเป็นสิ่งที่โหดร้าย ป่าเถื่อน หรือไม่มีความเจริญ แต่สิ่งที่เรียกว่าเจริญนั้นวัดกันด้วยสิ่งใดเล่า ความงดงามของวิถีชีวิต หรือวัตถุที่เรามองเห็นว่าเป็นของดีเลิศในโลก เราคงไม่อาจวัดความป่าเถื่อนได้ด้วยการกระทำตามความเชื่อของแต่ละชนเผ่า ของทุกอย่างหรือทุกชีวิตที่เสียไปมิได้เสียไปเปล่า ๆ แต่ได้นำไปกินและแบ่งปันกันในหมู่บ้าน หาได้ทิ้งขว้างอย่างที่เราเห็นในร้านอาหารหรู ๆ จนแทบกล่าวได้ว่าแต่ละมื้อของอาหารในเมืองใหญ่สามารถเลี้ยงนักเรียนชนบทได้ทั้งโรงเรียน
รูดข้าว...งานเก็บเกี่ยวจากหัวใจ
ผืนดินยังหมาดน้ำ ความหนาวคืบคลานปกคลุมทุกตารางนิ้ว จากวันปลูกแฮกถัดมาอีกราว 4 เดือน ผมก็ได้กลับไปเยือนบ้านป่ากำอีกครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้เรื่องราวของการเก็บข้าวไร่ที่มีวิธีการสุดเก่าแก่ ไม่มีเครื่องทุ่นแรงใด ๆ มีเพียงสมาชิกในครอบครัวที่มาช่วยกันทุกวัน จนกว่าข้าวในไร่จะหมดเหลือแต่ตอซัง และปล่อยให้เวลาย่อยสลายไร่ข้าวเหล่านี้จนกว่าจะถึงฤดูกาลเพาะปลูกอีกครั้ง
แสงเช้ายังไม่ส่องมาถึงหุบเขาแสนไกล อากาศยังคงหนาวเย็น เราตื่นขึ้นมาแต่เข้าตรู่เพื่อตามครอบครัวของ ไสว ใจปิง ออกไปไร่ข้าว อาจจะไม่ได้ไกลสำหรับพวกเขา แต่คงไม่ใกล้สำหรับเราในการเดินเท้าไปยังไร่ข้าวบนไหล่เขาแห่งนั้น
"เดินไปเหนือหมู่บ้านไม่นาน ไม่ทันเหนื่อยก็ถึงแล้วครับ" สำเนียงพูดภาษาแบบคนเหนือแต่ไม่ชัดถ้อยชัดคำนักของไสว ทว่าสื่อสารกันเข้าใจ บอกกับเราก่อนจะพาเดินขึ้นเนินช้า ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เมื่อพ้นเขตหมู่บ้านก็ตัดขึ้นสู่สันเขาด้วยเส้นทางลัด นัยว่าหากเดินทางราบจะไกลและนาน ผมหยุดหอบอยู่หลายรอบ เช้า ๆ ต้องออกกำลังขนาดนี้นับว่าไม่เบา แต่คนบ้านนี้เดินไปยิ้มไปสบายมาก
จนราว 45 นาที เราก็มาถึงสันเขาสูงสุด มองไปทางด้านตะวันออก ไร่ข้าวกำลังออกรวงเหลืองอร่าม บางส่วนที่เก็บเรียบร้อยแล้วก็นำมาตากไว้บนลานไม้ไผ่ที่ทำไว้อย่างดี ปักด้วยตะแหลวและดอกหงอนไก่ทุกมุม เดินลงมาเรื่อย ๆ จนถึงกระท่อมพักกลางไร่ ครอบครัวของไสวกำลังจะกินข้าวเข้าพอดี มีเพียงอุ๊บเขียดที่นำมาตำใส่พริก เกลือ แล้วไปแขวนไว้บนไฟจนสุกดีก็นำมากินกับข้าว
"บางทีเด็ก ๆ ยิงนก หาปลามาได้ ก็พอได้กิน ผักในไร่พอกิน" แม่เฒ่าบอกกับเราเมื่อถามว่าปกติมีกับข้าวอะไรบ้าง ท้องฟ้าสีครามของสายวันนี้สดใส ทะเลหมอกในหุบเขาเบื้องหน้ายังไม่จางหายไป น้ำค้างยังเกาะพราวบนใบข้าว ทั้งครอบครัวเอาชะลอมเล็ก ๆ ที่สานด้วยไม้ไผ่ไว้อย่างดี ขนาดบรรจุพอประมาณ ร้อยด้วยเชือกแข็งแรง แล้วแขวนคอคนละใบ ก่อนจะเดินเข้าสู่ไร่ข้าวที่รวงสุกเหลืองอร่าม จากนั้นก็เอามือคว้ารวงข้าวแล้วรูดจากล่างขึ้นบน ทำกันอย่างแคล่วคล่องทีละรวงทีละรวง ไม่มีเม็ดไหนไม่ผ่านมือพวกเขา และแทบไม่มีเม็ดไหนร่วงทิ้งลงดิน
"แต่ละไร่ใช้เวลาราว 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าได้ข้าวมากน้อยแค่ไหน เราไม่เคยเกี่ยวหรือใช้วิธีอื่น ๆ เราใช้แบบนี้กันมาตั้งแต่จำความได้" พ่อของไสวผู้เป็นเสมือนหัวหน้าครอบครัว บอกกับเราระหว่างที่มือและสายตาไม่เคยละจากข้าวเต็มรวง
"รูดข้าวเสร็จ เราก็ตากไว้จนแห้ง แล้วก็ทยอยขนกลับบ้าน กินกันแทบจะไม่พอปี บางทีฝนน้อย หรือพวกหนู แมลงเยอะ ก็ไม่ได้ข้าวเหมือนกัน แต่เราก็อยู่กันแบบนี้ ทำกันแบบนี้มาเนิ่นนาน" พ่อของไสวยังคงให้คำตอบกับเราเมื่อถามว่ารูดข้าวเสร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อไป และในแต่ละปีข้าวที่ได้พอกินหรือไม่
ชาวลัวะป่ากำไม่ได้รีบไปไหน การทำงานทุกด้านไม่เร่งร้อน ชีวิตหมุนเวียนไปตามฤดูกาล เหมือนสายลมแห่งขุนเขาที่พัดพลิ้วในยามร้อน และเป็นเสมือนแสงเช้าอันอบอุ่นในฤดูหนาว ชีวิตง่าย ๆ งดงามที่เปี่ยมด้วยยิ้มบาง ๆ ซึ่งเอียงอายอยู่ภายในดวงตาและจิตใจที่แสนสะอาด
ดอกแดง...ขอบคุณแผ่นดินรับขวัญกลับบ้าน
ในช่วงปลายปีหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวไร่เรียบร้อย ก็จะมีประเพณีสำคัญของชาวลัวะบ้านป่ากำ นั่นคือ งานกินดอกแดง หรือประเพณีเฉลิมฉลองข้าวใหม่นั่นเอง ถือว่าเป็นงานสำคัญที่ทุกคนในหมู่บ้านจะได้ร่วมกันทำกิจกรรม เสมือนการพักผ่อนไปในตัว เพราะงดการทำงานทุกอย่าง ผมได้รับการติดต่อมาจาก คำ ใจปิง ผู้ใหญ่บ้านป่ากำ ที่เดินลงมาโทรศัพท์บอกว่าหมอฮีตได้กำหนดวันจัดงานกินดอกแดงอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนผมจะพลาดไม่ได้เลย เพราะเฝ้าติดตามกิจกรรมของพี่น้องลัวะป่ากำอย่างใกล้ชิดมาตลอดทั้งปี
ลมหนาวเริ่มพัดแรงขึ้นตามช่วงความกดอากาศที่ลงมาปกคลุม ควันไฟจากครัวฟืนลอยอ้อยอิ่งขึ้นมาเหนือหลังคามุงแฝกหนา คลอเคลียอยู่นานกว่าจะจางหายไป ความมืดเริ่มปกคลุมหมู่บ้านเล็ก ๆ เหนือสันเขาสูงแห่งนี้ ไฟฟ้าเพียงดวงเดียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แสงวอมแวมผ่านช่องเล็ก ๆ ของบ้านแต่ละหลัง ผมเดินไปยังโรงเรียนชั้นประถมที่ดั้นด้นขึ้นมาเปิดสอนกันถึงบนดอยห่างไกล ที่วันนี้คณะครูยังคงจัดห้องโถงอเนกประสงค์ให้เราได้ใช้เป็นที่นอนเช่นเดิม
เช้าตรู่ของวันอันหนาวเหน็บ ผมเดินตามครอบครัวของ ดวง ใจปิง ไปยังไร่ข้าวที่กำลังจะไปทำพิธีตอกแดง
"พิธีดอกแดงก็หมายถึงการที่เราเอาดอกไม้สีแดง ก็คือ ต้นหงอนไก่ ที่เราเอาเมล็ดผสมไว้ในข้าวเปลือก แล้วหว่านพร้อมกัน พอข้าวสุก หงอนไก่ก็ผลิดอกเหมือนกัน พอถึงเวลาก็นำดอกไม้มาใช้ในพิธีกรรมสำคัญนี่แหละ การทำพิธีดอกแดงก็เหมือนกับมารับขวัญข้าว มาบอกผีบรรพบุรุษผีป่า ผีดิน ผีฟ้า ให้ได้รู้ว่าเราเอาขวัญกลับบ้านแล้วนะ โดยให้แม่บ้านมานำดอกไม้ ข้าวสุก น้ำ และไข่ ไปบอกกล่าวตามจุดต่าง ๆ ของไร่ และใช้สวิงช้อนขวัญทุกมุมไร่ ส่วนผู้ชายก็ต้องไปเรียกขวัญกลับคืนมาในทุกมุมที่ได้ทำพิธีตอนปลูกแฮก โดยจะไม่มาที่ไร่นี้อีกแล้ว และทุกอย่างต้องเอากลับบ้านทั้งหมดในวันนี้ เพียงเท่านี้ก็เท่ากับเสร็จพิธี" ดวง ใจปิง ยืนอธิบายให้เราฟัง พร้อมกับที่ภรรยาของเขากำลังจัดเตรียมของเช่นไหว้ ทุกอย่างที่ได้เห็นหลังจากเวลานี้ช่างเรียบง่าย งดงาม และเป็นมิตรกับธรรมชาติยิ่งนัก
"ปีหน้าเราก็ไปใช้ไร่ใหม่ คนอื่นก็อาจจะวนมาใช้ไร่นี้ เวียนกันไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ทุกคนในหมู่บ้านเป็นเจ้าของร่วมกัน ตรงที่ใช้เป็นไร่ข้าวก็ใช้เป็นไร่ข้าว ตรงไหนปลูกหญ้าไว้ทำแฝกก็ช่วยกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปกิน ตรงไหนเป็นป่าสาธารณะก็ช่วยกันดูแล ชีวิตของคนลัวะป่ากำเป็นแบบนี้" ภรรยาของดวง ใจปิง บอกกับเราขณะที่เก็บของกลับเข้าหมู่บ้าน
มองอย่างคนนอกที่ได้เห็นพิธีกรรมแสนสำคัญของชาวลัวะ ในความคิดนั้นคงจะดูน่าสนใจ มหัศจรรย์ หรือยิ่งใหญ่เหมือนคนพื้นราบ หรือด้อยกว่าก็ไม่มาก แต่เมื่อได้มาเห็นแล้วผมหลงรักความเรียบง่าย รักความเข้าใจธรรมชาติ รักความอ่อนน้อมถ่อมตนที่มีต่อธรรมชาติ และผมรักทุกอย่างที่พวกเขาเป็น ไม่ได้หวังว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่หลายร้อยปีที่ผ่านมาทุกคนอยู่ได้ดี มีความสุข เพราะอยู่ด้วยจารีต ฮีต และความเชื่อ ที่หลอมรวมกันจนเป็นวันนี้ ดินแดนที่เร้นลับและห่างไกล ทว่าแจ่มใสและเบิกบานในทุกฤดูกาล
ดอกโหด...ความรื่นเริงที่เรียบง่าย
"งานนี้มีเพียงปีละครั้ง และไม่มีเครื่องเล่นอย่างอื่น มีแต่ดอกโหดนี่แหละที่เราเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เอาไม้ไผ่มาตัดให้มีขนาดต่าง ๆ กันจากนั้นนำมันมารวมไว้ แล้วเจาะรูด้านล่าง ก่อนจะเอาดินเหนียวโปะเพื่อทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะ ในยามที่ลมผ่านรูเหล่านั้น วิธีเล่นไม่บอกดีกว่ารอช่วงบ่าย ๆ ไปเล่นด้วยกัน" หนุ่มในวงบอกกับพวกเราขณะเข้าไปถามถึงรายละเอียดของดอกโหด สำหรับท่านที่นึกไม่ออกว่าดอกโหดมีลักษณะเป็นอย่างไร ก็ให้นักถึงโหวด เครื่องดนตรีเล็ก ๆ ที่เป่าลมทำให้เกิดเสียงของทางอีสาน เพราะมีลักษณะเหมือนกันอย่างยิ่ง
นอกจากกลุ่มผู้ชายที่กำลังทำดอกโหดแล้ว วันนี้พี่น้องผู้หญิงทุกคนทุกบ้านต่างนำของมายังบ้านหมอฮีต เพื่อให้เกิดเป็นบุญกุศลและทำตามพิธีกรรมโบราณ ที่ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปสังเกตการณ์ ของที่นำมาเป็นข้าวหลาม ข้าวสุก มันเผา หมาก พลู เหล้า น้ำ ที่สำคัญมีใครอยากเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวบนบ้านหมอฮีต นัยว่าจะทำให้ผิดผี หรือเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น ความลับของพิธีกรรมและความเชื่อบางอย่าง เราคงทำได้แค่มองห่าง ๆ ด้วยความเต็มใจว่าวิถีของเขาเป็นอย่างนี้ เราเข้ามาร่วมได้เพียงแค่นี้ก็พอแล้ว
ท้องฟ้าในฤดูหนาวช่างงดงามเป็นสีน้ำเงินใส ผืนป่าสีเขียวสด กับหลังคามุงแฝกอย่างหนาของหมู่บ้านป่ากำที่ทอดตัวลงมาจากสันเขา ดูไปมีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ไม่กลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เชื่อว่าคงมีการปรับปรุงต่อไป เพื่อรักษาอัตลักษณ์อันโดดเด่นของบ้าน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของบ้านลัวะอันเก่าแก่ มีเพียงทางเข้าเล็ก ๆ กับบ้านใต้ถุนสูง หลังคาคลุมลงมาถึงพื้นดินเกือบทุกด้าน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้เข้าไปอยู่ในยามฝนตกหรืออากาศหนาวจัด รวมทั้งป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าที่จะเข้ามากินสัตว์เลี้ยง ส่วนด้านบนบ้านนั้นแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอย่างเด็ดขาด อย่างดีก็ขึ้นไปสนทนาได้ที่ระเบียงบ้านเท่านั้น
จวบจนบ่ายแก่ ๆ คณะเล่นลูกโหดก็ช่วยกันขนอุปกรณ์การเล่นมาบนลานบ้าน ซึ่งประกอบไปด้วยไม้ไผ่ยาว ๆ เชือกยาวราว 1 เมตร ผูกกับปลายไม้และมัดอีกด้านไว้ด้วยสลักเล็ก ๆ เพื่อเอาไปเกี่ยวไว้กับลูกโหดเมื่อถึงเวลาเล่นจะนำลูกโหดที่ติดดอกโหดไว้เป็นหางยาว ๆ มาผูกติดกับปลายไม้ไผ่ จากนั้นจะเขวี้ยงออกไปรอบ ๆ หมู่บ้าน และในขณะที่ลูกโหดอยู่ในอากาศนั้น จะเกิดเสียง "โหด โหด โหด" ตามที่พี่น้องชาวลัวะได้ยิน ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง และใครทำให้ดอกโหดไปไกลที่สุดก็ได้รับเสียงปรบมือ การเล่นนี้จะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น เป็นความบันเทิงเดียวที่หมู่บ้านอนุญาตให้สมาชิกได้สนุกสนาน
"การเล่นดอกโหดก็เป็นการไล่ความโชคร้ายออกไปจากหมู่บ้าน เอาแต่สิ่งดี ๆ เก็บเอาไว้ และบอกให้รู้ว่าวันนี้เป็นวันกินดอกแดงของพวกเราที่สืบทอดกันมานานแสนนาน" ผู้เฒ่าบางคนพูดกับผม ขณะที่หนุ่ม ๆ กำลังสนุกกับการทำให้ลูกโหดมีเสียงดังและไปได้ไกล
ใช่...สำหรับคนเมืองมันอาจจะไม่สนุกหรือเร้าใจมากนัก แต่นี่เป็นความเชื่อ ประเพณีที่แสนงดงามของคนบนดอยอันแสนไกลแห่งนี้
ห้องเรียนภูเขา ความรู้เพื่อรักษาตัวตน
การได้มาเยือนหมู่บ้านลัวะป่ากำ สิ่งที่เราเห็นมีเพียงการศึกษา ประปา ภูเขา และพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น ที่เป็นของภายนอกที่เข้ามาในหมู่บ้าน เพราะพวกเขาไม่เปิดรับสิ่งอื่นใดมากไปกว่านี้ เพราะหลายคนคิดว่ามีความรู้ย่อมจะนำมาซึ่งสิ่งดี ๆ ในชีวิต ไม่มีใครหลอก หรือเอาเปรียบพวกเขาได้ ทว่าไม่ง่ายเลยในการจะให้นักเรียนบนดอยแสนไกลลงไปเรียนหนังสือข้างล่าง ซึ่งบางประโยคของคนป่ากำทำให้ที่นี่มีโรงเรียนเล็ก ๆ หรือจะเรียกให้ถูกต้องคงต้องบอกว่าเป็นเพียงห้องเรียนหนึ่งเท่านั้นของโรงเรียนบ้านสว้า
"หากจะให้เด็ก ๆ ลงไปเรียนข้างล่าง คงต้องเอาเชือกมาผูกขาแล้วลากลงไปเรียน" ผู้ปกครองของเด็กบางคนบอกกับ ปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า หากอยากให้ลูก ๆ ไปเรียนต้องใช้วิธีนั้นเพียงอย่างเดียว ทว่าการศึกษาไม่ได้เริ่มต้นด้วยการบังคับ เพราะเมื่อไม่ลงมาเรียนข้างล่าง เราก็เอาความรู้ขึ้นไปให้นักเรียนบนนั้นเลย
"เราสอนให้เขาเรียนหนังสือจริง แต่เราไม่ได้แค่สอนให้อ่านออกเขียนได้ หรือสอนให้ทำข้อสอบถูกทั้งหมด แต่เราสอนให้เขามีชีวิตที่ดี สอนให้เขาเติบโต และสอนให้เขารู้จักความงดงามของวิถีชีวิต เพื่อจะได้รักษาเอกลักษณ์ของชาวลัวะป่ากำเอาไว้ เราพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก และสิ่งที่เราพยายามปรับก็เป็นเรื่องของเกษตรกรรม ที่แค่เปลี่ยนบางอย่างก็ใช้กับที่นี่ได้เป็นอย่างดี คนบ้านนี้จะได้มีข้าวกินกันพอปี" อาจารย์ปกรณ์กล่าวกับผมเมื่อได้นั่งคุยกันถึงหลักสูตรที่นำมาใช้สอนเด็กนักเรียนบนดอยว่ามีการปรับเปลี่ยนอย่างไร
ข้าวไร่และอาหารสำคัญกับคนบนนี้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ดังนั้น ครูที่นี่จึงไม่ใช่แค่สอนนักเรียน แต่สอนการใช้ชีวิตให้กับคนในหมู่บ้านด้วย
"ฤดูฝนขึ้นมาลำบากมาก มีเพียงรถมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ ต้องบรรทุกข้าวสาร อาหาร ขึ้นมาจากข้างล่าง กับทางเละ ๆ มันไม่ง่ายเลยหากไม่มีใจ ครูดวง ขาเหล็ก และครูน้อย หรือ ฤทธิชัย ศรีธรรมนัญกุล ทุ่มเทให้กับเด็ก ๆ ป่ากำอย่างมาก จนผมต้องยอมรับว่าครูสองคนนี้ไม่ใช่แค่สอนได้สอนเก่ง แต่ทุ่มทั้งชีวิตเลย" อาจารย์ปกรณ์พูดพร้อมกับแนะนำครู 2 คนที่สอนทุกชั้นปีให้เราได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง สำหรับเราซึ่งมาเพียงปีละไม่กี่ครั้ง แต่พวกเขาอยู่ตลอดปี ยิ่งในฤดูฝนความลำบากทวีคูณ แต่ก็หาได้มีความย่อท้อไม่ แม้เงินเดือนจะเท่ากับคนอื่น ๆ มีสอนในที่สบาย ๆ
"พวกเราใช้เวลานานพอควรที่จะสอนให้เด็ก ๆ มีระเบียบวินัย มีความมุ่งมั่น และตั้งใจเรียน วันนี้หลายคนนับว่ามีความรู้ ความสามารถ เอาตัวรอดได้ในสังคม และช่วยครอบครัวได้เป็นอย่างดี พวกผมดีใจที่ได้ทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้มีความรู้ที่จะดูแลตัวเองและวัฒนธรรมของพวกเขา" ดวง ขาเหล็ก ครูตัวเล็กแต่ใจใหญ่ บอกกับผมเมื่อแสงสุดท้ายเริ่มหายไปจากท้องฟ้า แต่เรายังคงนั่งคุยกันในอีกหลายเรื่อง หลายประเด็น จนสุดท้ายสรุปได้ว่า ชาวลัวะบ้านป่ากำอยู่ที่นี่มานานแล้ว และจะอยู่ที่นี่ต่อไปด้วยความงดงามทางด้านวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน
คืนนี้ผมยังไม่หลับ แม้ว่าจะดึกและอากาศหนาว แสงดาวระยิบระยับอยู่ด้านนอก ทางช้างเผือกยังทอดข้ามผืนฟ้า หิ่งห้อยกะพริบแสงอยู่ในราวป่าเสียงแมลงกลางคืนกรีดร้อง น้ำค้างตกลงมาเบา ๆ ให้พอรับรู้ถึงความเชื่อ เช้าพรุ่งนี้เราก็จะออกจากหมู่บ้านป่ากำกันแล้ว ในหลายครั้งที่มาเยือน เราเห็นความลำบากของการเดินทาง เห็นความมีน้ำใจของชาวบ้านที่เดินลงไปช่วยขนสัมภาระของเราขึ้นมา ได้พบกับมิตรสหายที่หัวใจกว้างใหญ่ดุจท้องฟ้า ความงามเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเรามองไม่เห็นกันและกัน...ความงดงามของผู้คนที่ดำเนินชีวิตเรียบง่าย อิงอยู่กับธรรมชาติ ความเชื่อในผี ที่หมายถึงสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติ และหลอมรวมกันเป็นจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ทำให้คนเล็ก ๆ แห่งผืนป่าดิบดอยสูงมีความงดงามในหัวใจมานานเนิ่น และวันข้างหน้าแม้โลกจะเปลี่ยนไปสักเพียงใด เชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าประเพณีอันดีงามและเข้มแข็ง จะเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาไม่ต้องต่อสู้กับความเร่งร้อนของโลกที่หมุนเร็วเกินกว่าจะไล่ทัน
ขอขอบคุณ
คุณคำ ใจปิง คุณดวง ใจปิง และชาวบ้านป่ากำทุกท่านที่สละเวลาตอบคำถาม พาไปไร่
คุณปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ คุณดวง ขาเหล็ก และคุณฤทธิชัย ศรีธรรมนัญกุล
คู่มือนักเดินทาง
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ตามด้วย ทางหลวงหมายเลข 32 (เอเชีย) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา-อ่างทอง-สิงห์บุรี-ชัยนาท-นครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 117 ผ่านจังหวัดพิจิตร-พิษณุโลก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ตรงไปจนถึงแยกเด่นชัย จังหวัดแพร่ แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวง หมายเลข 101 มุ่งหน้าสู่จังหวัดน่าน จากตัวเมืองน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1169 จนถึงอำเภอสันติสุข จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2081 มุ่งหน้าสู่อำเภอบ่อเกลือ จากบ่อเกลือไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร โรงเรียนบ้านสว้าอยู่ด้านซ้าย และเดินเท้าต่อไปยังบ้านป่ากำอีก 5 กิโลเมตร
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
หนังสืออสท. ปีที่ 53 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2556