ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน...โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี (BE Magazine)
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ
ภาพ : กฤตภาส สุทธิกิตติบุตร
จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่จำได้ว่าไปบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นทะเลปึกเตียน หาดเจ้าสำราญ และหาดชะอำ แต่พอศึกษาจริง ๆ และตั้งใจที่จะไปจังหวัดนี้อย่างจริงจัง ทำให้ฉันพบว่าเราพลาดสิ่งดี ๆ ไปหลายอย่าง โดยเฉพาะป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่ดีที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะโครงการฯ แหลมผักเบี้ยฯ ที่เราตั้งใจว่าจะไปให้เห็นป่าชายเลนที่แสนอุดมสมบูรณ์และทำความเข้าใจว่า ป่าชายเลน คือ สถานที่บำบัดน้ำเสียที่ดีที่สุด ก่อนที่น้ำนั้นจะไหลลงสู่ทะเลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ได้มีพระราชดำริขึ้นเพื่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง
4 ระบบบำบัดน้ำเสียให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ตามพระราชดำริแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
คุณอัญชลี วรรณพุก วิทยากรในโครงการฯ ได้อธิบายว่า ที่มีโครงการแห่งนี้เพราะสมัยก่อนที่นี่จะพบกับปัญหาน้ำเสียถึงขนาดใช้น้ำไม่ได้เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการแห่งนี้ขึ้นเพื่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีด้วยกันถึง 4 ระบบ คือ...
ระบบแรก คือ บ่อบำบัดน้ำเสีย เวลาที่มีน้ำเสียไหลมาแต่ละบ่อก็จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบน และเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับก่อนที่จะนำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ระบบที่สอง คือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ซึ่งให้พืชช่วยบำบัดนำเสียโดยการให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้าและหญ้าที่ดีที่สุดก็คือ หญ้าธูปฤาษี ที่ช่วยปล่อยออกซิเจนจากรากลงไปเติมน้ำให้กลายเป็นน้ำดีได้ และเมื่อครบ 90 วัน ก็จะตัดพืชออก พอตัดแล้วก็นำไปให้กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องสานเพื่อเพิ่มประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้
ระบบที่สาม คือ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม กลไกก็จะคล้ายกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่จะแตกต่างกันด้วยวิธีการ
ระบบที่สี่ คือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน โดยการให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดินและชาวบ้านจะไม่เข้ามายุ่ง เพราะเป็นพื้นที่ของงานวิจัยและเมื่อมีโครงการฯ เข้ามาชาวบ้านก็จะเริ่มอนุรักษ์โดยการไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ หรือว่าถ้าเขาจะปล่อยก็จะใช้ผ่านถังดักไขมัน หากบ้านไหนยังไม่มี ชาวบ้านจะมารับถังดักไขมันที่โรงการฯ ได้
ผักเบี้ยทะเล สัตว์นานาชนิด และป่าชายเลนที่แสนอุดมสมบูรณ์
ไฮไลท์สำคัญของการมาเยือนที่นี่ นอกจากจะได้รับความรู้เรื่องของการบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติแล้ว คุณอัญชลี ชี้ให้เราดูผักเบี้ยทะเลของจริงที่ขึ้นอยู่เต็มรอบ ๆ ป่าชายเลนรอบนอก
คุณอัญชลี บอกว่า สมัยก่อนที่ ผักเบี้ยทะเล ขึ้นเยอะมาก ก็เลยได้ชื่อว่า แหลมผักเบี้ย นั่นเอง จากนั้น คุณอัญชลี นำเราเดินเข้าไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนระยะทางประมาณ 850 เมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นโกงกางและต้นแสมน้อยใหญ่ ปลาตีนตัวเบ้อเริ่ม ปูแสม ปูก้ามด้าม นกนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกเด้าดิน นกเด้าลม นกยางเปียและอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่นี่ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น 1 ใน 10 แหล่งดูนกที่ดีที่สุดของประเทศ และมีแหลมทรายยาวประมาณ 3 กิโลเมตร กั้นระหว่างหาดโคลนกับหาดทราย ซึ่ง คุณอัญชลี บอกว่า ที่นี่คือ ทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยตอนบนเลยก็ว่าได้
เราเดินชมธรรมชาติกันเรื่อย ๆ บนสะพานไม้ที่ทอดยาวและขึ้นไปดู หอภูมิทัศนา ที่ทำให้เราเห็นว่าเรือนยอดของต้นโกงกางและต้นแสมได้เจริญเติบโต พร้อมทำหน้าที่ของมันได้แค่ไหนแล้ว สีเขียวของเรือนยอดต้นโกงกางตัดกับสีฟ้าอ่อน ๆ ของท้องฟ้า ลมเย็นเบา ๆ พัดผ่าน อยากให้ป่าชายเลนของบ้านเราในทุก ๆ ที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้บ้าง ระหว่างที่เราเดินลองฟังดี ๆ จะได้ยินเสียงเหมือนคนดีดนิ้วเป็นระยะ ๆ
คุณอัญชลี บอกว่านั่นคือเสียงของ "กุ้งดีดขัน" เวลาที่มันดีดตัวเพื่อเคลื่อนตัวเองอยู่บริเวณโคลนนั่นเอง ซึ่งเมื่อเดินผ่านต้นแสมว่าหากมาในช่วงที่ดอกแสมบาน ที่แห่งนี้จะหอมกลิ่นดอกแสมมาก
และแล้วเราก็เดินมาถึงปากทางของป่าชายเลน เจอเวิ้งทะเลโคลนที่มีชาวบ้านลงไปเก็บหอยแครง ซึ่งจะได้ราคาดี และหอยตลับตัวอ้วน หาปูทะเลเพื่อนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ขากลับสามารถแวะซื้อของที่ระลึกจากโครงการฯ หรืออุดหนุนงานสานจากหญ้าธูปฤาษีของกลุ่มแม่บ้านได้ที่ร้านจำหน่ายของที่ระลึกบริเวณหน้าโครงการฯ ได้ และมีสินค้าอื่น ๆ ให้เลือกซื้อ อาทิ เสื้อยืด หมวกสาน ผลไม้อบแห้งและโปสการ์ด คราวหน้าใครไปเพชรบุรีอย่าลืมแวะไปที่นี่นะคะ ความรู้และความสวยงามของธรรมชาติรอคุณอยู่ค่ะ
ข้อมูลเพิ่มเติม
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โทรศัพท์ 0 3244 1264-5 หรือ www.lerd.org ที่นี่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องการที่จะเข้ามาชมป่าชายเลน สามารถแจ้งยามหน้าโครงการฯ และเข้ามาชมได้เลย หากมาเป็นคณะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก