x close

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต


เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

จริยา ชูช่วย...เรื่อง 
นภดล กันบัว, ชณัฐ แก่นจันทร์ และปณต คูณสมบัติ...ภาพ

          หลังกลับจากดอยเชียงดาว ฉันก็รู้สึกว่าที่นี่ไม่น่าใช่ที่ทางของมนุษย์เช่นเรา เราต่างมีเหตุผลของการมาเยือน บ้างก็อ้างเหตุผลสุดโก้ว่าไปเติมพลังให้ชีวิต บ้างก็อ้างว่ากำลังเจ็บนิด ๆ จึงมาให้ธรรมชาติบำบัด หรือเหตุผลอื่นใด จะทางวิทยาศาสตร์หรือจิตวิญญาณก็สุดแล้วแต่

          กลางพฤศจิกายน หมอกปกคลุมแผ่วเบา ละอองเย็นพัดผ่าน พอให้หน้าฉ่ำชื่น ละลายความเหนื่อยล้าจากการไต่ระดับความสูงได้บ้าง เท้าสัมผัสกับหินปูนแหลมคม บางขณะก็ง่อกแง่ก ราวทุกย่างก้าวไร้ความจริงแน่แก้ขุนเขากำลังทดสอบสติแห่งคน ระหว่างทางที่พยายามปีนป่าย มุ่งหน้าขึ้นไปแสวงหาแสงแรกของวันใหม่ เราได้เหยียบย่ำสิ่งใดไปบ้างก็ยากจะหยั่งรู้ ทันทีที่แสงส้มระเรื่ออาบไล้ สวนดอกไม้ที่ปลายฟ้าก็ปรากฏขึ้นตรงหน้าอย่างมหัศจรรย์ โอบด้วยฉากหลังแบบพานอรามาของดอยหลวงเชียงดาว ดอยพีระมิด ดอยหนอก ดอยสามพี่น้อง และดอยกิ่วลมใต้ ผู้มีสายตาเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติจะถูกสะกดให้หยุดนิ่งชั่วขณะ

          "ไม่เห็นมีอะไรเลย สวยก็สวยอยู่หรอก สวยเพราะเหนื่อยไง" ใครบางคนพูดออกมาเช่นนี้ ก่อนเปล่งวาจาโหวกเหวก นำเรื่องข้างล่างมาสาดเสียเทเสียไว้บนนี้ ราวกับว่าข้าคือเจ้าแห่งขุนเขา แล้วรีบลาลันกิ่วลมเหนือ ดั่งเสร็จสิ้นพิธีกรรมรับแสงอรุณและชมทะเลหมอก ปิดฉากการมาเยือนดอยเชียงดาวไว้เพียงเท่านี้

          น่าเสียดายที่อุตส่าห์ดุ่มเดินขึ้นมาถึงเดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แต่หาได้ทันรู้จักตัวตน และหนทางอื่นใด ก็หันหลังจากลาไปอย่างนำเสียดาย เหลือไว้เพียงรอยเท้าบนดอกไม้ และน้ำตาแห่งขุนเขา

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

 เมื่อมองข้าม...ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง

          หลายคนคงคุ้นกับข้อมูลที่ว่า "ยอดดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,225 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ถือเป็นยอดเขาสูงอันดับ 3 ของประเทศ รองจากดอยอินทนนท์ (2,565 เมตร) และดอยฟ้าห่มปก (2,288 เมตร) แต่เป็นเทือกเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศ เอาให้ชัดเข้าไปอีก ดอยหลวงเชียงดาว คือยอดเขาสูงสุดที่ต้องใช้เท้าเดินขึ้นไปนั่นเอง" ไม่รู้จะด้วยเหตุผลของระดับความสูงนี่หรือเปล่า ที่ทำให้ดอยหลวงเชียงดาวกลายเป็นแหล่งล่าแต้มของเหล่านักท่องเที่ยวผู้พิชิต

          ถึงกระนั้น ระดับความสูงก็ใช่จะเป็นเหตุผลเลวร้ายท้าทายเหล่าผู้พิชิตเพียงอย่างเดียว หากมองในแง่ดีแล้ว ยังเป็นตัวคัดกรองประเภทนักท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยคนที่ชอบทำความสะดวกสบาย และไม่ปรารถนาการเดินทางไกล ก็อาจจะต้องถอดใจไปเสียแต่แรก เพราะระยะทาง 8,500 เมตร จากหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) และระยะทางแสนชันปางตาย 6,500 เมตร จากบ้านนาเลาใหม่ (ปางวัว) ก็ถือว่ายาวไกลและเหน็ดเหนื่อยไม่ใช่น้อย และยิ่งถ้าหากจุดหมายคือการพิชิตยอดดอยหลวงเชียงดาว จนลืมไฮไลต์ระหว่างทางเดินแล้วละก็ ความเหนื่อยจะยิ่งทบทวีขึ้นอีกเป็นหลายเท่า

          กว่า 33 ปี ที่ดอยเชียงดาวถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว กินอาณาบริเวณ 325,625 ไร่ ทำให้ประจักษ์ชัดว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อสงวนและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของทั้งสัตว์ป่าและพรรณพืช เรื่องพัฒนาการท่องเที่ยวไม่ถือเป็นวัตถุประสงค์หลัก และจำกัดขอบเขตมากในพื้นที่เหล่านี้

          อนุสาร อ.ส.ท. เองได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับดอยเชียงดาวไปแล้ว ในต่างมุมต่างวาระนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเรื่องกวางผา ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไก่ฟ้าหางลายขวาง ดอกไม้ พืชพันธุ์ และเรื่องรอบ ๆ ดอยเชียงดาว แต่ถึงกระนั้น ฉันก็ว่าเรื่องดอยเชียงดาวเล่าอย่างไรก็ไม่หมด เพราะเชียงดาวไม่ใช่ดอยสูงโดดเดี่ยว แต่เป็นดอยที่แวดล้อมด้วยมิติความเชื่อสังคม ความงาม พืชพันธุ์ และสัตว์ป่าทับซ้อนกันไปหมด

          ยอมรับว่าครั้งนี้ผู้เขียนลำบากใจไม่น้อยที่จะนำเสนอภาพสวยงาม และเรื่องราวน่าสนใจ แล้วตบท้ายว่าอย่าไปเลย ยิ่งจะดูเป็นเรื่องขัดแย้ง และเกรงจะเข้าตำรายิ่งห้ามยิ่งยุ จึงทำหน้าที่ได้ดีที่สุดในฐานะผู้ส่งสารให้ผู้อ่านดื่มด่ำกับเรื่องราว และอยากสัมผัสดอยเชียงดาวในแง่มุมลึกซึ้ง นอบน้อม และทะนุถนอมมากขึ้น เพราะหากสิ้นธรรมชาติแม้เพียงเล็กน้อยแล้ว เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวมหาศาลเพียงใด ก็ยากจะพลิกฟื้นตำนานให้กลับมีชีวิตได้

          อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วกับเรื่องราวของสมิงเชียงดาว ผีเสื้อสวยบนดอยเชียงดาว ที่กลายเป็นตำนานมากว่า 20 ปี (หมายเหตุ ผู้เขียนจะใช้คำว่า "ดอยเชียงดาว" เมื่อพูดถึงเทือกดอยเชียงดาวทั้งหมด ที่ประกอบด้วยดอยบริวารต่าง ๆ โดยรอบ

          และจะใช้คำว่า "ดอยหลวงเชียงดาว" เฉพาะความหมายที่พูดถึงยอดดอยสูงสุดของเทือกดอยเชียงดาวเท่านั้น) 

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

  ระหว่างทาง...จากสัณฐานถึงทางดาว (1) 

          ขณะที่รถกำลังวิ่งเข้าสู่อำเภอเชียงดาว ฉันไม่ลืมทอดสายตาไปทางซ้ายมือ แล้วแหงนจนสุดคอไปประจันหน้ากับเทือกเขาใหญ่ทะมึน ที่บางมุมตั้งฉากสูงชันเสียจนไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดคนโบราณจึงบอกว่าดอยแห่งนี้คือเมืองลับแล เป็นที่สิงสถิตของเทพอารักษ์ ไม่มีใครกล้าขึ้น ไปรบกวน หรือหากขึ้นไปแล้วก็จะไม่ได้กลับลงมา

          ครั้งนี้เรามีโอกาสติดตาม ครูเบิร์ท ประสงค์ แสงงาม ประธานกลุ่มรักษ์ล้านนา เพื่อเรียนรู้ดอยหลวงเชียงดาวในมิติด้านความเชื่อ และโชคดีที่ได้เต้ ณัฐวุฒิ อุดมศิริพงษ์ และระพินทร์ สุรวัช คงตระกูล สองหนุ่มนักพฤกษศาสตร์ คอยบอกเล่าเรื่องราวดอกไม้พรรณเชียงดาวอย่างเพลิดเพลิน ตามชื่อฉบับ "ดอยสูง ดอกไม้สวย" ของอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับนี้

          หลังจัดการเรื่องเอกสารขออนุญาต จ่ายค่าธรรมเนียม และตรวจเซ็กจำนวนขณะที่จะนำขึ้นไปข้างบนกับทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเรียบร้อยแล้ว เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงดาว ไปที่หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) ด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เต้บอกว่าแม้ระยะทางจะไกลกว่าขึ้นจากปางวัว แต่มีอะไรให้ดูเต็มไปหมด ปกติใช้เวลาเดินจากจุดนี้ถึงอ่างสลุง (สถานที่พักแรม) ประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

          ที่หน่วยพิทักษ์ฯ เด่นหญ้าขัด ยามนี้ต้นพญาเสือโคร่งกำลังละใบ รอการผลิบานของชากุระเมืองไทยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ส่วนใครที่ชอบส่องนกก็มักใช้ที่นี่เป็นจุดอ้างแรม ตามความเชื่อของล้านนาก่อนจะก้าวล้ำสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ครูเบิร์ทไม่ลืมทำพิธีหับปากสัตว์ บูชาเจ้าที่ประตูป่า เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปตามวิสัยของผู้ไปเยือนที่ดี เราเริ่มออกเดินทางพลางใช้มือแหวกหญ้าที่สูงรกชัฏท่วมหัว เพราะลูกหาบบอกว่าปีนี้คนขึ้นน้อย

          ด้วยเทือกดอยเชียงดาวเป็นเขาหินปูน มีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า ทำให้เหมือนทุกก้าวที่เราเดินมีดอยลูกแล้วลูกเล่าเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา เดินมาไม่ไกลเราก็พบกับดอกเทียนสันติสุขสีชมพูหวาน ก่อนเห็นกระดูกไก่น้อย ชูดอกม่วงมีขนอ่อนรำไร น่าทะนุถนอมยามต้องแสง เดินต่อไปจนพบกับยอดดอยสูงชะลูดตรงหน้า มีเสียงถามจากข้างหลังว่า นี่ใช่ดอยที่เราจะไปหรือเปล่า

          "เปล่า นี่มันดอยหลวงน้อย เป็นประตูสู่เกือกม้า ส่งสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่อ้อมกอดเทือกดอกเชียงดาวอย่างจริงจังแล้วนะ" ฉันหันมาตอบหลังจากที่ปีที่แล้วเป็นคนถามคำถามนี้ เราเดินเรื่อย และหยุดนานเมื่อเจอพรรณไม้แปลกตาที่ต้องการคำอธิบายและอยากบันทึกความทรงจำ ดอกขี้ครอก โคลงเคลง มหากาฬน้อย อังกาบ มีให้เห็นตลอดสองข้างทาง จนมาหยุดตรงป่าสนเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,451 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ชาวเหนือเรียกว่าป่าเกี๊ยะ เป็นป่าสนสามใบ จากจุดนี้หากมองไปซ้ายจะเห็นวิวดอยเจดีย์แป้นยอดป้านอย่างชัดเจน ยามนี้ป่าสนที่ต้นสูงตระหง่าน กลับดูอ่อนหวานขึ้นมาถนัดตาเมื่อมีช่อดอกไม้วงศ์ถั่วสีม่วงเบ่งบานเต็มพื้นที่

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

 ระหว่างทาง...จากสัณฐานถึงทางดาว (2) 

          "ครอบครัวเทียนนกแก้ว!!!" ฉันอุทานขึ้นเล็กน้อยหลังพบว่าปีนี้ เทียนนกแก้ออกดอกสะพรั่งทั้งต้น ต้นละตั้งแต่ 2-7 ดอก บินกันให้ว่อนราวนัดกันท่องไพร "ระวังต้นช้างร้องนะ ขนหนามเล็ก ๆ บนใบนั่นแหละ ขนาดช้างไปโดนยังร้องเลย ที่ไหนมีเทียนนกแก้วมักจะมีต้นนี้" เพื่อนร่วมทางอีกคนร้องทัก ดูจะเป็นการสร้างภาวะสมดุลของธรรมชาติที่กำหนดให้ของสวยงามต้องมีเกราะกำบัง เราเดินต่อไปยังดงไผ่ โดยหมายไว้เป็นที่กินข้าวกลางวัน ข้าวห่อแบบบ่าเก่า ห่อใบตองถูกควักออกมาจากเป้ของแต่ละคน ยิ่งได้กินข้าวหลามเจ้าอร่อยจากตลาดเชียงดาวเพิ่มด้วยแล้ว อร่อยจนลืมเมื่อยเลยทีเดียว

          เดินต่อจนถึงแยกที่บรรจบกับทางขึ้นจากปากวัว พบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่วัยมัธยมของชมรมรักป่า หลากหลายโรงเรียน ที่อาจารย์พาขึ้นมาศึกษาธรรมชาติ ต้องยอมรับละว่าพวกเธอเก่งมากที่ขึ้นทางปางวัวได้สำเร็จ พร้อมสัมภาระเต็มหลัง แต่เห็นหน้าน้อง ๆ แล้ว แอบสงสัยอยู่เหมือนกันว่าลงกลับไปเมื่อไหร่ ชมรมนี้คงมีสมาชิกลดลงเป็นแน่ เราผลัดกันแซงผลัดกันตามไปตลอด จนในที่สุดต้องปล่อยให้น้อง ๆ นำหน้าไปก่อน

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

          เมื่อเราเดินมาเคียงคู่กับดอยสามพี่น้อง ทางขวามือ ที่ชวนให้หยุดจินตนาการตามหินรูปต่าง ๆ บนหน้าผาก มีค้อเชียงดาว ชูคอเด่นตระหง่านเป็นพระเอกบนยอดสูง ก่อนจะเดินต่อไปพบกับต้นชมพูพาน ที่ปล่อยดอกให้ร่วงเกลื่อนต้น ในที่สุดกลับมาเจอน้อย ๆ กลุ่มเดิมอีกครั้ง ที่กำลังการเต็นท์ค้างคืนที่คงน้อย 1 ใน 4 จุดที่ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ อนุญาตให้พักแรมได้ ส่วนเราไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สู่เนินหมาก๊าน ความเหน็ดเหนื่อยขนาดหมายังก๊าน ("ก๊าน" เป็นภาษาเหนือหมายถึงยอมแพ้) บวกกับอากาศที่เริ่มเย็นและเบาบางลง เล่นเอาหอบได้เหมือนกัน

          ด้วยเหตุจากพรรณไม้ระหว่างทางงามตื่นตา เราจึงใช้เวลาแต่ละจุดอย่างเต็มที่จนลืมเวลา ณ ตอนนี้ล่วงไป 7 ชั่วโมง เกินมาตรฐานคนปกติเสียแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงจุดหมาย "ถึงฟอสซิลหอยแล้ว" ฉันจำหินก้อนนี้ได้แม่น เพราะมันคือรูปธรรมที่ทำให้ฉันเชื่ออย่างสนิทใจว่า ดอยเชียงดาว คือดินแดนในท้องทะเลมาก่อน เกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลและซากสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูน เมื่อเนิ่นนานราว 230 – 250 ล้านปี ในยุคที่ชื่อไม่คุ้นหูคนปกติว่ายุคเพอร์เมียน (Permian) ตอนปลายมหายุคพาลีโอโซอิก จนเมื่อหินปูนเหล่านั้นถูกแรงบีบอัดและเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกครั้งรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งรุนแรงหลังสุดในยุคเทอร์เทียรี ทำให้พื้นที่บางส่วนเกยขึ้น ยกตัวเป็นภูเขา แอ่งที่ราบ และหุบเขาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

          พระอาทิตย์ส่งสัญญาณจะลาลับ ให้เราหันหลังกลับไปมองแสงสุดท้ายของวัน เราปล่อยค่ำนั่งชมอาทิตย์ลับหลังดอยสามพี่น้อง เคียงข้างกอฟองหินเหลืองดอกน้อยที่แทรกผ่านหินขึ้นมาอย่างสงบ ความหนาวเริ่มแทรกผ่านผิวหนังเมื่อถึงดงเย็น ป่าทึบ ช่วงสุดท้ายก่อนถึงอ่างสลุง ค่ำคืนนิ้วสนทนาเริ่มขึ้นย่างแผ่วเบาและเนิ่นนาน แสงเทียนมอดลง ฉันออกไปยืนตรงทุ่งโล่ง หมายเจอดาวตกชัด ๆ สักดวง ที่นี่สูงเพียงดาวสมชื่อเสียจริง และเพิ่งรู้สึกว่าดาวไม่ได้อยู่ไกลเกินคว้าก็วันนี้ เต้บอกให้พวกเราหลับตาลง 10 วินาที แล้วค่อย ๆ ลืมตา เงยขึ้นฟ้าไปทางยอดดอยหลวงเชียงดาว ฉันพบคราบน้ำนมเป็นทางยาวเปื้อนฟ้าชัดเจน ใส่แล้ว... "ทางช้างเผือก" (Milky Way)

 สวนดอกไม้ที่ปลายฟ้า (1) 

          ตีห้า...ทุกคนพร้อมในชุดกันหนาวเต็มสูตร ฉวยไฟฉายและไม่ลืมหยิบเสื้อกันฝน เพราะไม่มีใครเดาใจอากาศบนนี้ได้แน่ แปรปรวนผันผวนยากคาดเดา ก่อนเฉลี่ยสัมภาระกันรับผิดชอบ ในความมืดเช่นนี้เราทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากเดินตามรอยเท้าคนข้างหน้าไปเรื่อย ๆ โดยไม่ลังเล จุดหมายคือ กิ่วลมเหนือ เรากำลังเดินทางไปหลงเสน่ห์เชียงดาวอย่างเต็มใจ ในอีกแง่หนึ่ง "แง่งามของพรรณไม้" ด้วยความพิเศษกว่าที่อื่น ๆ ที่นอกจากจะมีป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาแล้ว ดอยเชียงดาวยังมีสังคมพืชป่าละเมาะเขาสูง (ป่ากึ่งอัลไพน์) ซึ่งมีที่เดียวในเมืองไทยอีกด้วย

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

          หากลากยาวขึ้นไปจะเห็นว่าดอยเชียงดาวเป็นเทือกเขาต่อเนื่องกับเทือกเขาหิมาลัย ดินแดนที่เต็มไปด้วยสังคมพืชอัลไพน์ ไร้ไม้ใหญ่หยัดยืน ซึ่งพบได้เฉพาะเทือกเขาสูงมากกว่า 3,000 เมตร จากระดับทะเลาปานกลางขึ้นไป ต้องมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี และถูกหิมะปกคลุมในฤดูหนาว

          ส่วนดอยเชียงดาวนั้นอยู่ปลายสุดของเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก เป็นธรรมดาที่พืชพันธุ์จะเดินทางไกลมาถึงดินแดนปลายสุด ไม่ว่าทางน้ำหรือทางลม จนเกิดเป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ขึ้น มีไม้ยืนต้นพุ่มเตี้ยและไม้พุ่มที่สามารถขึ้นบนเขาหินปูนที่มีหน้าดินตื้น ๆ ไม่สมบูรณ์ได้ ที่สำคัญคืองดงามแปลกตาไปด้วยดอกไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะพืชเฉพาะถิ่นที่ผ่านการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดมานับล้านปี และมีแห่งเดียวที่เชียงดาว

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

          สังเกตได้ว่าจะมีคำว่า "เชียงดาว" ต่อท้ายชื่อ เช่น กุหลาบขาวเชียงดาว เอื้องศรีเชียงดาว เทียนเชียงดาว ค้อเชียงดาว หรีดเชียงดาว ชมพูเชียงดาว ศรีเชียงดาว ฯลฯ และพันธุ์ไม้หายากอีกหลายชนิด แม้เส้นทางขึ้นกิ่วลมเหนือจะระยะสั้น แต่เรากลับใช้เวลานานเช่นเคยกับการทักทายพวกเขาอย่างสุภาพ ขาวปั้น กลมกลึงน่าเฝ้ามอง ดูเผิน ๆ เหมือนข้าวปั้นฟูๆ แบบญี่ปุ่น สะเภาลม คล้ายหลอดสีแดงห้อยย้อยต้อนรับเหยื่อจง อาหารเลิศรสของกวางผาก็ชูหน้าอ้าอวดพวกเรา กุหลาบขาวเชียงดาว ดอกตูมรอการผลิบานเต็มต้นยามเดือนแห่งความรักมาถึง ฟ้าคราม ดอกเล็กรวมกลุ่มสีครามเด่น บัวดำ กลีบบางสีทองแรกแย้ม หญ้าดอกลาย แตกพุ่มกอเต็มยอดกิ่วลมเหนือ เพลิดเพลินเสียจนไม่อยากถอนตัวไปไหน

 สวนดอกไม้ที่ปลายฟ้า (2)

          อีกภารกิจที่ทางกลุ่มรักษ์ล้านนาตั้งใจทำในการเดินทางครั้งนี้ คือการปักป้ายชื่อสื่อความหมายพรรณไม้ต่าง ๆ เนื่องจากนางต้นแสนบอบบางและมีขนาดเล็กมาก จนถ้าหากไม่สังเกตให้ดีก็จะเลยผ่าน มิหนำซ้ำจะเหยียบย่ำเสียจนตายคาเท้า การปลูกจิตสำนึกผ่านองค์ความรู้อย่างเพลิดเพลิน จึงนับได้ว่าเป็นวิธีปลูกฝังการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างแยบคายและไม่ฝืน

          ก่อนลากิ่วลมเหนือ เพื่อมุ่งหน้าสู่กิ่วลมใต้ ผ่านจุดที่ในอดีตเกือบจะกลายเป็นที่ตั้งของสถานีกระเช้าไฟฟ้า พลันชวนให้ฉุกคิดว่าหากตอนนี้มีคนนับแสนต่อปีขึ้นมายืนบนนี้ แล้วพรรณไม้เหล่านี้จะไปยืนอยู่ตรงไหนกัน เพราะเขาหินปูนไมได้มีที่ราบมากมายให้ก่อสร้างสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ได้เลย ที่สำคัญเขาหินปูนยังเปล่ากลวง ไม่เหมาะกับการขุดเจาะทำอะไรทั้งนั้น ยิ่งพานให้กลุ้มใจไปใหญ่ถ้าต้องคิดว่าคนเหล่านี้จะขึ้นมาดื่ม กิน ทิ้ง ถ่าย กันตรงไหน นี่ยังไม่พักพูดถึงเรื่องลบหลู่และทำลายสิ้นซึ่งความเชื่อของบรรพบุรุษที่ละเอียดอ่อนอีกมาก โชคดีแค่ไหนที่วันนี้ฉันยังมีโอกาสได้เหน็ดเหนื่อยกับการขึ้นดอยเชียงดาว

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

          ระหว่างทางไปกิ่วลมใต้ ฉันเฝ้ามองหาดอกไม้ตามคำแนะนำของนักพฤกษศาสตร์ เพื่อหมายช่วยปักป้ายสื่อความหมาย และทวนชื่อดอกไม้ไปด้วยในตัว ทั้งเอื้องน้ำต้นเชียงดาว เจอราเนียมเชียงดาว ราชาวดีหิ่งหาย นางจอย สุวรรณนภา น้ำนมเชียงดาว หรีดเชียงดาว แสงแดง แล้วหลุดเข้าสู่ป่าดึกดำบรรพ์ หรือป่าใส่เสื้อ บนต้นก่อมีเอื้องตาเหิน ออกดอกสะพรั่ง ต่อเมื่อมาถึงทางเดินไปปลายกิ่วลมใต้ ชมพูเชียงดาว เรียงแถวต้อนรับ ทุกก้าวที่เดินยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง

          ว่ากันว่าตรงกิ่วลมใต้เป็นสวนดอกไม้ของ เจ้าหลวงคำแดง เทพอารักษ์ใหญ่ของล้านนา เพราะพิจารณาแล้วว่าสวนดอกไม้งามที่อยู่สุดปลายฟ้าเช่นนี้ ยากจะมีมนุษย์ไหนปั้นแต่งและดูแลได้ ปลายกิ่วยังแสงกล้า ซ้ายมือมองลงมาคือที่ราบของอำเภอเชียงดาวสุดลูกตา ขวามือยังคงเป็นหุบเขาในวังวนของเกือกม้าข้างเดิม พี่เบิร์ทกระซิบบอกให้ทุกคนนิ่งเงียบ หากโชคดีอาจเจอกวางผาหรือม้าเทวดา 1 ในสัตว์สงวน 15 ชนิด ที่ตอนนี้เหลือให้เห็นเพียง 3 ที่ในประเทศเท่านั้น คือ ที่ดอยม่อนจอง ดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาว การรอคอยสิ้นสุดลงพร้อมการจากลาของตะวัน ต่อให้ไม่เห็นม้าเทวดา หากแต่ถ้ายังรับรู้ว่ามี ก็เพียงพอแล้ว 

เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

 เรื่องเล่าจบตำนานคืนหวานเชียงดาว

          หลังอาทิตย์ลับ เราเดินกลับอ่างสลุงเส้นทางเดิม แม้รู้ว่าใกล้ถึงที่พักเข้าไปทุกที แต่มีบางช่วงที่เรากลับหลง หลงแบบไม่นาหลง จนมาหยุด ณ จุดหนึ่ง "ไม่แน่ใจ ดับไฟฉาย แล้วมองนั่นไว้ พี่จะไปตามพี่เบิร์ท" พี่ระพินทร์ เอ่ยบอกฉันและเพื่อนอีกคน

          "ใช่แล้ว! ธาตุแอ่ว เมื่อครู่เห็นไฟดวงใหญ่ดวงเดียว แล้วค่อย ๆ มีดวงอื่นมารวม จนเป็นรัศมียืดยาวสีต่าง ๆ ใช่ไหม" พี่เบิร์ทถาม ทำเอาฉันและเพื่อนขนลุกซู่ เมื่อคำถามของพี่เบิร์ทกับปรากฏการณ์ตรงหน้าคือสิ่งเดียวกัน ทุกคนสงบนิ่งมองดูการเคลื่อนไหวแบบลอยล่องราวดวงไฟกำลังชวนกันท่องเที่ยวชมบางอย่าง ก่อนลอยหายลับเข้าป่าไปต่อหน้าต่อตา ณ ตอนนั้นไม่มีใครกล้าเอากล้องในมือขึ้นบันทึกภาพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม 

          เหตุการณ์นี้กลายเป็นปฐมบทของบทสนทนาค่ำคืนนี้ พี่เบิร์ทเริ่มเล่าตำนานเจ้าหลวงคำแดง ประมุขเทพอารักษ์ที่ชาวล้านนานับถือเป็นผู้ดูแลรักษาของวิเศษในถ้ำเชียงดาว เช่น ต้นไม้ทองคำ ช้างเอราวัณ ดาบวิเศษหรือดาบศรีกัญชัย อาหารทิพย์ ม้าวิเศษ ซึ่งพระเจ้าทรงธรรมจะใช้ของเหล่านี้ปราบมนุษย์อธรรมในอนาคต โดยให้เจ้าหลวงคำแดง และบริวาร 10,000 ตน เป็นผู้รักษาของวิเศษในถ้ำเชียงดาว และดูแลดอยเชียงดาวแห่งนี้ โดยมีชายาชื่อนางจอมเทวี หรือนางอินเหลา ดูแลดอยนาง เคียงข้างกันอยู่ทางทิศเหนือของดอยหลวงเชียงดาว เชื่อกันว่าทุกวันพระ เจ้าหลวงคำแดงจะนัดประชุมผีทุกตนในเชียงใหม่และชุมนุมกันที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ สอดคล้องกับที่คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ทุกวันพระจะได้ยินเสียงสวดมนต์ก้องดังมาจากดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้เช่นเดียวกัน

          "โชคดีที่วันนี้ยังห่างจากวันพระ"

          บางตำนานบอกว่าเจ้าหลวงคำแดงเป็นบุตรเจ้าเมืองพะเยา ครั้นเมื่อบิดาส่งให้มารักษาเมืองชายแดน เกิดเจอกับสาวงามระหว่างทาง จึงเฝ้าติดตาม แต่ไม่พบ พบเพียงกวางทองตัวหนึ่ง จึงหมายจะจับกวางทองนั้น เมื่อถึงหน้าถ้ำเชียงดาว กวางทองได้กลายร่างเป็นคนวิ่งเข้าถ้ำไป เจ้าหลวงคำแดงจึงวิ่งตามเข้าไปแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย จึงเชื่อว่าพระองค์ยังคงสถิตอยู่ที่นั่น

          ไม่ว่ามีเหตุการณ์สำคัญใดในเมืองเชียงใหม่หรือดินแดนล้านนา เช่น บูชาเสาอินทขีล พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองต้องให้คนมาบอกกล่าวเจ้าหลวงคำแดงที่ถ้ำเชียงดาว หรือที่หอเจ้าหลวงคำแดง บ้านแก่งปันเต๊า อำเภอเชียงดาว เป็นอันดับแรกในฐานะปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา และแทบทุกหมู่บ้านในล้านนาจะมีหออารักษ์เจ้าหลวงคำแดงตรงใจกลางหมู่บ้าน

          เรื่องราวความเชื่อมากมายพรั่งพรู เช่นนี้เองที่ช่วยห่อหุ้มดอยเชียงดาวไว้ให้เราได้รู้จัก หากมากับกลุ่มรักษ์ล้านนา ฉันจะหลับตาไปพร้อมกับเสียงกล่อมจากเพลง "เดือนเต็มดวงที่ดอยหลวงเชียงดาว" ทุกครั้งไป

          "...หื้อเฮาร่วมแสงใจ    ณ ดอยผาฟ้าจรดแดน
          ฮ่วมศรัทธาผองเฮา        สว่างสดใสไปทั่วแคว้น
          ณ เมืองแมนแดนสรวง     ดวงดาวบ่ลาลับล่วง
          ฮวมหัวใจหื้อเต็มดวง     ฮวมหัวใจหื้อเต็มดวง"

          เช้าแห่งการอำลา เราไต่ความสูงขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวอีกครั้ง เพื่อเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นครั้งสุดท้าย วันนี้ฟ้าปิดสนิท มีเสียงแว่วว่า “เมื่อวานฟ้ายังเปิดอยู่เลย ต้องมีใครทำผิดขีดแน่ ๆ ฟ้าจึงปิดเช่นนี้” ไม่รู้เท็จจริงเป็นเช่นไร แต่เราเชื่อและจากลาดอยเชียงดาวอย่างสงบ ไร้ความโอหังอย่างผู้พิชิต และปล่อยให้เจ้าของที่พักผ่อนต่อไป

 คู่มือนักเดินทาง

          ดอยหลวงเชียงดาว อยู่ในพื้นที่ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง ตำบลเมืองงาย ตำบลเมืองคอง ตำบลเชียงดาว และตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูง 2,225 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ถือเป็นยอดเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศ และเป็นแหล่งที่อยู่ของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายาก เพราะฉะนั้น การเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวจึงต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อจะได้สัมผัสความงามในขุนเขาแห่งตำนานอย่างลึกซึ้ง

          ดอยหลวงเชียงดาว เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม หากมีเวลาควรเดินทางไปถึงก่อนขึ้นดอย 1 วัน เพื่อเที่ยวชม และศึกษาแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น ถ้ำเชียงดาว วัดถ้ำผาปล่อง

 การเดินทาง

          รถยนต์ : จากตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถไปอำเภอเชียงดาวได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง เข้าสู่อำเภอเชียงดาว ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวอำเภอเชียงดาว ขับไปจนเจอโรงแรมเชียงใหม่อินน์ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางถ้ำเชียงดาว ตรงไปประมาณ 3 กิโลเมตร เจอทางแยกซ้ายมือไปหมู่บ้านยางปู่โต๊ะ เข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งตั้งอยู่ทางขวามือ

          รถโดยสารประจำทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถโดยสามารถเชียงใหม่-ฝาง (รถสีส้ม) และเชียงใหม่-พร้าว (รถสีแดง) โดยขึ้นที่สถานีขนส่งช้างเผือก มีรถออกทุกครึ่งชั่วโมง ค่าโดยสาร 40 บาท เมื่อถึงตัวเมืองเชียงดาวแล้วสามารถเหมารถไปส่งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และเหมาต่อไปถึงจุดเริ่มต้นเดินขึ้นดอยเชียงดาวได้ราคาไป-กลับ ประมาณ 1,800 บาท 

          ปัจจุบันอนุญาตให้ขึ้น-ลงได้ 2 ทาง คือ ทางหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) และทางบ้านนาเลาใหม่ (ปางวัว) ซึ่งทางเดินหญ้าขัด ระยะทางนั่งรถไปถึงหน่วยฯ และระยะทางเดินเท้าไกลกว่า แต่เดินได้ง่ายกว่า ส่วนทางปางวัว นั่งรถใกล้ ระยะทางเดินใกล้กว่า แต่ทางค่อนข้างลาดชัน

 รู้เอาไว้ก่อนไปดอยเชียงดาว

          ให้ทำเรื่องขออนุญาต ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หรือสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ล่วงหน้า 15 วัน จากนั้นก่อนขึ้นดอยให้นำหนังสือขออนุญาตไปยื่นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และจ่ายค่าธรรมเนียมการขึ้นคนคนละ 20 บาท ค่ากางเต็นท์หลังละ 50 บาท ต่อคืนค่ารถคันละ 60 บาท ค่าลูกหาบวันละ 350 – 400 บาท ต่อคนค่าคนนำทางวันละ 500 บาท ต่อคน ค่ามัดจำขยะ 200 บาท จะได้รับคืนหากนำขยะมาคืนครบจำนวนที่แจ้ง

          ให้เดินตามเส้นทางที่กำหนด และพักแรมได้เฉพาะจุดที่อนุญาต 4 จุดเท่านั้น คือ บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) ดงน้อย อ่างสลุง และดงไม้หก เนื่องจากดอยเชียงดาวอยู่ในระดับสูง ระยะทางเดินค่อนข้างไกล และอากาศแปรปรวนบ่อย จึงควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรง

          ห้ามนำเครื่องมือล่าสัตว์ วัตถุระเบิด ยาพิษ สัตว์เลี้ยง โฟม และขวดแก้ว (ยกเว้นสิ่งของนั้นบรรจุในภาชนะขวดแก้ว) ขึ้นไป และหากนำสิ่งใดขึ้นไปจะด้วยจำเป็นหรือไม่ก็ตาม ให้นำกลับลงมาให้หมด แม้กระทั่งกระดาษชำระที่หลายคนมองว่าย่อยสลายเองได้ แต่กว่าจะถึงเวลานั้นมันก็อุจาดตาไม่ใช่น้อย และให้แยกประเภทขยะเพื่อง่ายต่อการกำจัดปลายทาง และตรวจสอบจำนวน

          เตรียมอุปกรณ์กันหนาว (อุณหภูมิเฉลี่ย 19.92 องศาเซลเซียส แต่บางช่วงอาจลดลงถึงติดลบ) และเตรียมอุปกรณ์กันฝน (แม้จะไม่ใช่ช่วงหน้าฝน แต่ละอองหมอกค่อนข้างแรง) ไฟฉาย ยารักษาโรค

          ติดต่อสอบถามได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โทรศัพท์ 0 5345 5802, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2561 4836 หรือถ้าหากต้องการเดินศึกษาธรรมชิตดอยเชียงดาวกับกลุ่มรักษ์ล้านนา ทางกลุ่มจะจัดขึ้นดอยเชียงดาวทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ดูรายละเอียดที่ เฟซบุ๊ก ชื่อรักษ์ล้านนา : Raklanna อีเมล์ raklanna.cm@gmail.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เชียงดาว ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17:06:36 8,589 อ่าน
TOP