x close

จีนจ่อสร้าง "สะพานกระจก" แห่งใหม่เชื่อม 2 หน้าผา ออกแบบให้ราวล่องหนได้

สะพานกระจก

          จีนผุดโปรเจคท์สุดน่าทึ่ง สร้าง "สะพานกระจก" เชื่อมระหว่าง 2 หน้าผาสูง เนรมิตให้เป็นจุดหยุดพักชมวิวแบบ 360 องศา แถมเตรียมสร้าง "โรงแรมริมผา" ไว้รองรับนักท่องเที่ยว งานนี้ใครกลัวความสูงคงต้องถอย

          โครงการสะพานชมวิวใหม่ล่าสุดในจางเจี๋ยเจี้ย มณฑลหูหนาน ประเทศจีน ที่กำลังจะสร้างในครั้งนี้ น่าจะถูกใจหลาย ๆ คนที่ชื่นชอบความท้าทายและอยากสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด สะพานชมวิวแห่งนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้พบกับประสบการณ์ชมทิวทัศน์เหนือทิวเขาสูงเสียดฟ้า แบบ 360 องศาแบบไร้สิ่งใดบดบัง
สะพานกระจก

          สะพานสุดล้ำแห่งนี้เป็นฝีมือการออกแบบของ มาร์ต็อง ดูปล็องติเยร์ สถาปนิกเชื้อสายฝรั่งเศส-เบลเยียม โดยจากการรายงานของสำนักข่าวเดอะเทเลกราฟเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 เผยว่า สะพานดังกล่าวจะเชื่อมระหว่างภูเขา 2 ลูกในอุทยานแห่งชาติจางเจี๋ยเจี้ย ซึ่งสูงจากพื้นประมาณ 300 เมตร ตัวสะพานมีลักษณะเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ใช้กระจกและสเตนเลสเงาวับเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง

          ตัวสะพานนั้นมี 2 ชั้น ทางเดินในชั้นบนจะปูด้วยแผ่นหินสีดำ มีการติดตั้งระบบฉีดน้ำไว้โดยรอบ โดยทุก ๆ 7 นาที สเปรย์ฉีดน้ำจะทำงานสร้างภาพราวม่านควัน เมื่อละอองน้ำกระทบกับแผ่นหิน จะทำให้แผ่นหินเงาวาวราวกระจกที่สามารถสะท้อนวิวทิวทัศน์โดยรอบได้

สะพานกระจก

          ส่วนชั้นล่างนั้นจะปูพื้นด้วยกระจก มีการเจาะรูเป็นวงกลมเอาไว้ให้แสงลอดผ่าน ใครก็ตามที่ขึ้นไปบนนั้นจะสามารถดื่มด่ำกับวิวอันงดงามได้แบบ 360 องศา ด้วยการออกแบบโครงสร้างทำให้สะพานดูราวจะล่องหน กลืนหายไปกับทิวทัศน์โดยรอบเมื่อมองจากที่ไกล ๆ และนอกจากสะพานสุดแจ่มนี้แล้ว ยังมีโครงการสร้างโรงแรมไว้รองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย โรงแรมดังกล่าวจะสร้างติดกับหน้าผา ด้านในมีห้องสวีทหรูหราและมีคาเฟ่ให้บริการอย่างครบครัน

          สำหรับโครงการเนรมิตสะพานและโรมแรมอันน่าตื่นตาตื่นใจนี้ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 5 ล้านยูโร หรือคิดเป็นไทยราว 187 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรายงานว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จเมื่อไร แต่น่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนได้อย่างมากเลยทีเดียว

สะพานกระจก

สะพานกระจก

ภาพจาก martinduplantier.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จีนจ่อสร้าง "สะพานกระจก" แห่งใหม่เชื่อม 2 หน้าผา ออกแบบให้ราวล่องหนได้ อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 16:20:46 21,014 อ่าน
TOP