x close

ขั้นตอนการขอพาสปอร์ตสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี

          แนะนำวิธีการเตรียมตัว เพื่อการทำพาสปอร์ตเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมเท่าไร ทำได้ที่ไหน เรามีคำตอบ
พาสปอร์ตสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี

          สำหรับคุณพ่อและคุณแม่ หลายครอบครัวที่กำลังวางแผนพาลูก ๆ ที่เป็นเด็กเล็ก ๆ ไปเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรก คงกังวลใจไม่น้อยเพราะต้องพาไปทำพาสปอร์ตเป็นครั้งแรก เพราะไม่รู้ว่าเด็กเล็ก ๆ จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ? วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำพาสปอร์ตสำหรับเด็ก ๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มาฝาก ส่วนจะมีขั้นตอนอย่างไร และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกันเลย

          + เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 20 ปี มีเอกสารสำคัญที่ต้องเตรียม ดังนี้...

          1. สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาสูติบัตรต้องได้รับการรับรองจากอำเภอหรือเขต หากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขตมาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง 

          2. บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาและมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครอง นำบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดามารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง หากชื่อหรือนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

          3. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ในกรณีที่ผู้ปกครองทั้งพ่อและแม่ไม่ได้เดินทางมาทำหนังสือเดินทางด้วย และหนังสือยินยอมนี้จะต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขต

          4. เอกสารอื่น ๆ ได้แก่ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ, เปลี่ยนนามสกุล, เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม, บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา เป็นต้น
 
          5. อัตราค่าธรรมเนียม ราคา 1,000 บาท (อัตราค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางเล่มด่วน 2,000 หรือ 3,000 บาท แล้วแต่กรณี)


          กรณีบิดาหรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดาไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมได้

          ให้บุคคลที่ไม่สามารถลงนามให้ความยินยอมฯ ต่อเจาหน้าที่ ทำหนังสือยินยอมผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศจากอำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงที่มีอายุการใช้งานของบิดา หรือมารดาที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ หรือหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงศุลไทยใหญ่ กรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศ

          *เฉพาะกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ที่บิดาและมารดา ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ให้ทำหนังสือมอบอำนาจจากอำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย กรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศ ให้บุคคลอื่น (ที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)) เป็นผู้พาผู้เยาว์มายื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางเพิ่มเติมจากหนังสือยินยอมฯ ข้างต้นพร้อมบัตรประชาชนฉบับจริงของผู้รับมอบอำนาจ

          กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสและผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา

          มารดาสามารถลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ ฝ่ายเดียวพร้อมกับบันทึกคําให้การรับรองการปกครองบุตร (ป.ค.14) ที่ออกโดยอําเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของมารดา         
          กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

         
ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับบุตรบุญธรรม

          กรณีบิดา-มารดาหย่า

          บิดาหรือมารดาที่ระบุให้เป็นผู้ใช้อํานาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียวในบันทึกการหย่า สามารถเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ฝ่ายเดียวพร้อมบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของบิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณี

          ส่วนกรณีที่บิดา-มารดาหย่ากัน แต่มีสิทธิ์ในการดูแลบุตรร่วมกัน ทั้งพ่อและแม่ก็ต้องเดินทางมาทำหนังสือเดินทางกับบุตรด้วย แต่ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาเซ็นยินยอมได้ ก็ต้องทำหนังสือยินยอมจากอําเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย กรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศมาด้วย

          กรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต

          ให้บิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตมาลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับใบมรณบัตรของอีกฝ่ายหนึ่ง และบัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณี

          กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติ มิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้

          บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ และบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง พร้อมสูติบัตรตัวจริง

          กรณีอื่น ๆ ที่จะต้องมีคําสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอํานาจปกครอง เช่น

          ก) กรณีบิดาและมารดาเสียชีวิต
          ข) กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรสและไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้
          ค) กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาโดยตลอดและไม่สามารถติดต่อมารดาได้

พาสปอร์ตสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี
         

          + ข้อควรปฏิบัติในวันมายื่นคำร้อง

          นำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการยื่นคำร้องกรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้หากเอกสารที่นำมาแสดงไม่ครบถ้วนจะต้องนำเอกสารดังกล่าวมาแสดงเพิ่มเติมในวันรับเล่ม ซึ่งจะทำให้การรับเล่มล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำมาแสดงเพิ่มเติมลงในระบบให้ครบถ้วน ซึ่งในขั้นตอนของการยื่นขอหนังสือเดินทางใหม่ มีดังนี้
 
          1. การตรวจสอบเอกสาร

          ตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นคําร้องขอทําหนังสือเดินทาง หากถูกต้องครบถ้วนจะแจกบัตรคิว และเรียกผู้ร้องเข้ารับบริการตามลําดับ

          2. การตรวจสอบเอกสาร
         
          เรียกผู้ร้องเข้ารับบริการตามคิว วัดส่วนสูง

          3. การพิจารณา

          เข้าบูธบริการ ตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นคําร้องขอทําหนังสือเดินทางอีกครั้ง ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลจากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เก็บข้อมูลชีวมาตร ได้แก่ รูปใบหน้า ลายนิ้วมือ 10 นิ้ว ลายมือผู้ถือหนังสือเดินทาง และทําสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายของผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

          4. ชำระค่าธรรมเนียม

          ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และค่าส่งไปรษณีย์แบบ EMS 40 บาท หรือแบบ PSP 60 บาท หากประสงค์ให้จัดส่งทางไปรษณีย์ รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม

          + ระยะเวลาการรับหนังสือเดินทาง

          หากยื่นคําร้องที่กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานหนังสือเดินทางฯ ศรีนครินทร์ สำนักงานหนังสือเดินทางฯ ปิ่นเกล้า และสำนักงานหนังสือเดินทางฯ มีนบุรี ผู้ร้องสามารถรับหนังสือเดินทางได้ภายใน 2 วันทําการไม่นับวันที่ยื่นคําร้อง รับทางไปรษณีย์ (EMS) หรือ รับทางไปรษณีย์ (PSP) 3-5 วันทำการ

          นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งเครื่องอ่านหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จำลอง เพื่อผู้ร้องสามารถทดสอบการผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานโดยอัตโนมัติไว้ 1 เครื่อง ที่กรมการกงสุล ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มารับเล่มด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ถือหนังสือเดินทางมีความคุ้นเคยกับการใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ และในกรณีจำเป็นสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทนหรือให้จัดส่งทางไปรษณีย์ (EMS) ได้

          ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ consular.go.th หรือสอบถามได้ที่กรมการกงสุล โทรศัพท์ 0 2572 8442
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
consular.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขั้นตอนการขอพาสปอร์ตสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2567 เวลา 15:04:25 335,643 อ่าน
TOP