x close

น่าน...เมืองในหุบเขา

น่าน

           เที่ยวน่าน จังหวัดเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์ น่าไปเยือนเพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบ Slow Life ตามสไตล์ น่าน...เนิบ...เนิบ

          ... แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง ... นี่คือคำขวัญของจังหวัดเล็ก ๆที่ทอดตัวเรียบเสมอขนาบข้างไปกับขุนเขาสูงใหญ่ และยังคงมีกลิ่นอายของวันวานให้ย้อนไปคิดถึงอดีตที่หอมกรุ่นสีเขียวของต้นไม้และพืชป่ายังหาชมได้ทั่วทั้งเมืองวิถีชีวิตของผู้คนยังคงดำเนินไปพร้อม ๆ ความเจริญ ความสะดวกสบายที่เข้ามาแทนที่ ใช่แล้ว...เรากำลังพูดถึง "น่าน"จังหวัดที่ยังคงมีความงดงามให้ไปท่องเที่ยว ...และวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปสำรวจเมืองน่านกันค่ะใครพร้อมแล้วก็ตามเราเข้ามาเลย

          น่าน มีพื้นที่ 11,472,076 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 7 ล้านไร่เศษ อาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศใต้จดจังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตกจดจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย

          ความที่เป็นเมืองชายแดนแห่งล้านนาตะวันออก อันอุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลอมรวมจากเทือกเขาสูงถึงพื้นราบ ทำให้เสน่ห์ของเมืองน่านยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นท้องทะเลแห่งขุนเขา อีกทั้งสายลมหนาวและสายหมอกที่พัดผ่าน ทุ่งข้าวสีเขียวฉ่ำฝน หรือเหลืองทองพร้อมจะเก็บเกี่ยว ยังทำให้ผู้มาเยือนเก็บความประทับใจกลับไปด้วย ป้อมปราการธรรมชาติที่บดบังเมืองน่านจากคนต่างถิ่นก็คือ เทือกเขาผีปันน้ำ และ หลวงพระบาง โดยมีแม่น้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดของชาวน่าน คือ แม่น้ำน่าน มีต้นกำเนิดจากดอยขุนน้ำน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ

          ความเกี่ยวดองกันด้วยศรัทธาในพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติที่มีร่วมกันทำให้ชาวน่านมีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ งเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงแต่ยังคงตระหนักถึงความเป็นตัวเองอยู่เสมอ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

น่าน

ประวัติศาสตร์เมืองน่าน

          หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในบริเวณจังหวัดน่าน เช่น เครื่องมือหิน กลองสัมฤทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีศพสำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ เป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนนี้มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนสมัย ประวัติศาสตร์ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ขุนน่าน และ ขุนฟอง ได้นำผู้คนอพยพจากตอนบนของแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานยังที่ราบลุ่มตอนบนของแม่ น้ำน่าน ใกล้กับเทือกเขาดอยภูคา และในปี พ.ศ. 1902 เจ้าพระยาการเมืองย้ายเมืองไปยังเวียงภูเพียงแช่แห้งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ น่านซึ่งไม่ได้ใหญ่กว่าหรืออุดมสมบูรณ์กว่าเมืองปัวแต่ใกล้กับเมืองสุโข ทัยมากขึ้น

          ในปี พ.ศ. 1911 เจ้าพระยาผากองบุตรของเจ้าพระยาการเมืองได้ย้ายเมืองมายังฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นเมืองน่านในปัจจุบัน ตามศิลาจารึกหลักที่ 45 และ 46 ในปี พ.ศ. 1935 ปู่พระยา (เจ้าพระยาผากอง) และพระราชนัดดา (พระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย) ได้ให้คำสาบานที่จะช่วยเหลือกันและกันในยามสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างน่านและสุโขทัยได้ดำเนินมาจนกระทั่งสุโขทัยผนวกเข้ากับ อยุธยา ในปี พ.ศ. 1981

          เมืองน่านมีความสัมพันธ์ติดต่อค้าขายกับนครรัฐเล็กๆ รอบบ้าน เช่น หลวงพระบาง ล้านช้าง และสิบสองปันนา รัฐเหล่านี้มีความร่วมมือทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง ทำการค้าขายกันตามเส้นทางแม่น้ำโขงด้วยคาราวานเกวียน

          ก่อนหน้าที่น่านจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งชองล้านนาทั้งสองดินแดนมีความ สัมพันธ์กันผ่านการค้าวัวต่าง และเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแห่งพม่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2096-2101 เจ้าพระยาพลเทพรือชัย เจ้าเมืองน่านได้หลบหนีไปยังเมืองหลวงพระบาง และน่านตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจนกระทั่งสิ้นกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310

          ระหว่างปี พ.ศ. 2101-2317 น่านพยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากพม่าหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2246 ถือว่าเป็นช่วงเวลาทุกข์เข็ญ ผู้คนต้องหลบหนีสงครามเข้าป่า บางคนถูกจับเป็นเชลยในพม่า ทั้งเมืองและวัดถูกเผาทำลายลง ในปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าหลวงเมืองน่าน หันมาสวามิภักดิ์กรุงเทพฯ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1) เมื่อ พ.ศ. 2333 น่านเริ่มนโยบาย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" มีการอพยพ ชาวไทลื้อจำนวนมากกลับสู่เมืองน่าน

          ในสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสได้ก่อให้เกิด การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองล้านนา เพื่อรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 รัฐบาลกลางกรุงเทพฯได้แต่งตั้งข้าหลวงเข้ามาแทนคณะขุนนางผู้ช่วยเจ้า ผู้ครองนครในการบริหารกิจการบ้านเมือง หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส เมืองน่านจึงเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านติดกับเมืองหลวงพระ บางในลาว ซึ่งเป็นของฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเมืองน่านกับกรุงเทพฯดำเนินไปด้วยดี รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเพื่อตอบแทนคุณงามความดีที่น่านช่วยกรุงเทพฯ ในสงครามปราบกบฏที่เชียงตุง

          นครเมืองน่านกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 หลังจากเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าเมืองน่านองค์สุดท้ายถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. 2474 จึงยกเลิกระบบการปกครองโดยเจ้าผู้ครองนครนับแต่นั้นเป็นต้นมา

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

          ตราประจำจังหวัด : รูปพระธาตุแช่แห้งอยู่บนหลังโคอุศุภราช

          ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกเสี้ยวดอกขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bauhinia variegata)

          ต้นไม้ประจำจังหวัด : เสี้ยวดอกขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bauhinia variegata)

          คำขวัญประจำจังหวัด : แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง

น่าน

นอกจากนี้ "น่าน" ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ได้แก่...

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์

          ภูพยัคฆ์ เดิมชื่อ ภูผายักษ์ บนยอดภูเป็นหินผาสวยงาม มีสภาพเป็นป่าดิบและเป็นดงเสือ จึงได้ชื่อว่า ภูพยัคฆ์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร เคยเป็นที่ปลูกฝิ่นของราษฎรชาวไทยภูเขา ก่อนปี 2523 เคยเป็นสมรภูมิรบ ระหว่างทหารไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  ปัจจุบัน ภูพยัคฆ์ ได้เปลี่ยนจากสมรภูมิรบ แหล่งวางกับดักระเบิดเป็น สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ พัฒนาให้ราษฎรชายไทยภูเขามีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู พัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มี คุณภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างงานสร้างรายได้ให้ราษฎรในพื้นที่เป็นสถานีตัวอย่างในการขยาย ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชเมืองหนาว

          การเดินทาง มี 2 เส้นทางคือ เส้นทางแรก จากจังหวัดน่านไปทางอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ถึงภูพยัคฆ์ ระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร เส้นทางที่สอง จากจังหวัดน่าน ไปทางอำเภอบ่อเกลือ ถึงภูพยัคฆ์ระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร ภูพยัคฆ์ มีบ้านพักรับรอง พร้อมอุปกรณ์เครื่องนอน สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ 24 คน และมีสถานที่กางเต็นท์ และเต็นท์นอน 2 คน บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 20 หลัง มีอาหารบริการแต่จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ โทร. 0 5473 0330, 0 5473 0331 และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ โทร. 08 5868 8548 (คุณวิทยา ไพศาลศักดิ์) 0 5474 1639, 05471 0054, 08 3073 0557

ล่องแก่งลำน้ำว้า

          ล่องแก่งลำน้ำว้า ที่บ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพางห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 59 กิโลเมตร น้ำว้าเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ น้ำใสไหลตลอดปีมีทัศนียภาพสวยงาม สองฝั่งเขียวชอุ่มไปด้วยป่าไม้ โขดหิน เกาะแก่งที่สวยงามและแก่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือแก่งหลวง มีหาดทรายขาวเหมาะสำหรับตั้งแคมป์มีบริการนั่งช้างชมธรรมชาติ

          เส้นทางล่องแก่งลำน้ำว้าเดิมเป็นเส้นทางล่องไม้สัก ที่ถูกลักลอบตัดจากผืนป่าในเขตอำเภอแม่จริมและอำเภอเวียงสา ตลอดลำน้ำว้าไหลผ่านหุบเขา สองฝั่งเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนผ่านแก่งต่าง ๆ กว่า 22 แก่ง ซึ่งมีระดับความยากง่ายอยู่ที่ระดับ 3-5 (ระดับ 3 เป็นระดับปานกลาง ระดับ 4 เป็นระดับยาก ระดับ 5 เป็นระดับยากมาก) แก่งที่ใหญ่ที่สุดและยากที่สุด คือ แก่งหลวง บางจุดของลำน้ำเป็นหาดทรายที่สามารถจอดแพเพื่อให้ลงเล่นน้ำ บางแห่งเป็นจุดปางช้างสำหรับขึ้นช้างต่อไปที่บ้านหาดไร่ ช่วงเวลาที่ปริมาณน้ำขึ้นสูงสุดคือ เดือนสิงหาคม และช่วงที่ปริมาณน้ำน้อยที่สุดคือ เดือนเมษายน ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการล่องแก่งน้ำว้า คือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
 
          เส้นทางล่องน้ำว้ามี 2 เส้นทาง คือ ...

          เส้นทางล่องเรือยาง เริ่มจากบ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม สิ้นสุดที่บ้านหาดไร่ ตำบลส้านนาหนอง อำเภอเวียงสา รวมระยะทาง 19.2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง หากเริ่มลงแพที่หน้าที่ทำการอุทยานฯ จะเหลือระยะทาง 15 กิโลเมตร

          เส้นทางล่องแพไม้ไผ่ เริ่มจากบ้านน้ำว้าขึ้นที่บ้านน้ำปุ๊ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

ต้นดิกเดียม

ต้นดิกเดียม วัดปรางค์

          ต้นดิกเดียม ต้นไม้อะไรใครรู้ดูประหลาดผิดธรรมชาติ พันธุ์พฤกษาน่าฉงน แค่เห็นเป็นต้นไม้หันหลังให้แดดหันหน้า เข้าวัดก็แปลกเหลือหลายอยู่แล้ว แต่ใครจะเชื่อว่าต้นไม้ประหลาดต้นนี้เป็นต้นอารมณ์ขัน ใบไม้จะไหวสั่นทุกครั้ง ที่ถูกคนสัมผัส โดยสามารถไปชมได้ทุกวัน แต่ไม่ควรไปลูบคลำ เนื่องจากในประเทศไทยมีอยู่ต้นเดียว เจ้าอาวาสที่วัดท่านจะลูบให้ดู

          การเดินทาง จากจังหวัดน่านเดินทางด้วยทางหลวงหมายเลข 1080 และ 1256 สู่อำเภอปัว ก่อนถึงตัวอำเภอเล็กน้อยมีทางแยกซ้ายเข้าสู่วัดปราง ซึ่งเป็นที่ตั้งของต้นดิกเดียม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคเหนือ เขต 2 โทร. 0-5371-7433, 0-5374-4674-5

น่าน

น่าน

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

          อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "ป่าต้นน้ำ" ป่าดึกดำบรรพ์ปลายทางหิมาลัย ขุนเขาใต้ทะเล อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ประมาณ 1,680 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอ ได้แก่ ท่าวังผา ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง บ่อเกลือ สันติสุข และแม่จริม เทือกเขาดอยภูคาประกอบด้วยแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัย โดยมียอดภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดน่าน สูงถึง 1,980 เมตร

          ดอยภูคา เป็นต้นแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบในเขตอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ 195-205 ล้านปี จัดว่าอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย 

          สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่ ถ้ำผาแดง, ถ้ำผาผึ้ง เป็นถ้ำที่มีความสวยงามและยาวมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา (บ้านมณีพฤกษ์) อ.ทุ่งช้าง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม และยังมีน้ำตกและลำธารขนาดใหญ่ภายในถ้ำอีกด้วย, ถ้ำผาฆ้อง เป็นถ้ำขนาดกลางบริเวณปากถ้ำจะมีขนาดเล็ก ภายในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อย และลำธารไหลผ่าน แต่ช่วงฤดูฝนไม่สามารถเข้าชมได้ เนื่องจากอาจมีน้ำท่วมในถ้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร

น่าน

          น้ำตกต้นตอง เป็นน้ำตกหินปูนมี 3 ชั้น อยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา บนโตรกผามีพืชชุ่มน้ำ, น้ำตกศิลาเพชร น้ำตกลงมาจากหน้าผาหลายชั้นลดหลั่นกันไป เหมาะกับการเล่นน้ำ, น้ำตกภูฟ้า, น้ำตกตาดหลวง เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาพลวง, ล่องแก่งน้ำว้าตอนกลาง ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นเส้นทางล่องแก่งระดับ 3-5 ประมาณ 20 กว่าแก่ง เป็นสุดยอดแห่งความตื่นเต้นสนุกสนาน, ยอดดอยภูแว เป็นยอดดอยที่มีวามสูงจากระดับน้ำทะเล 1,837 เมตร มีลักษณะโดดเด่นเป็นทุ่งหญ้าบนดอย อีกทั้งยังมีลานหินและหน้าผาสูงชันอีกด้วย, สุสานหอย อายุประมาณ 218 ล้านปี และเส้นทางศึกษาธรรมชาติชมพูภูคา ซึ่งนับเป็นบ้านแห่งสุดท้ายของต้นชมพูภูคาพันธุ์ไม้หิมาลัย และเป็นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งในโลก จุดชมต้นชมพูภูคาที่เข้าถึงง่ายที่สุดจะอยู่ริมถนนห่างจากที่ทำการไป 5 กิโลเมตร

          ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว คือ ช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิ 15-27 องสาเซลเซียส และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนซึ่งมีอากาศเย็นสบาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โทร. 0 1224 0789, 0 5470 1000 ตู้ปณ. 8 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120

          การเดินทาง จากจังหวัดน่าน โดยทางรถยนต์ไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงอำเภอปัว ระยะทาง 60 กิโลเมตรแยกไปตามทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ระยะทาง 25 กิโลเมตร ผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสามารถใช้บริการ รถสองแถวสีน้ำเงินสายปัว-บ่อเกลือ ซึ่งผ่านหน้าอุทยานฯ วิ่งบริการระหว่างเวลา 07.30-14.00 น. ท่ารถอยู่บริเวณสามแยกปัว-บ่อเกลือ

วัดพระธาตุเบ็งสกัด

          วัดพระธาตุเบ็งสกัด ไปตามเส้นทาง 1256 ทางเข้าตรงข้าม โรงเรียนวรนคร เข้าไปประมาณ 200 เมตร และแยกซ้ายอีก 200 เมตร ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณหรือเมือง วรนครเพื่อให้เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรธรรมมาปกครอง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ว่าการอำเภอปัว

          องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1826 ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธา ของชุมชน วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า และจากบนเนินเขา หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีอยู่ที่หมู่บ้านเบื้องล่าง

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารเป็นทรงตะคุ่มแบบพื้นบ้านไทลื้อ หรือที่เรียกว่า “ทรงเตี้ยแจ้” พื้นเมือง มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้างบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศและโปรดให้นำพระแก้ว ซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ องค์พระประธานเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านบนฐานชุกชี และด้านหลังองค์พระประธานติดกระจกเงาตามความเชื่อของชาวไทลื้อ บานประตูไม้จำหลักเป็นศิลปะพื้นเมืองน่าน

วัดต้นแหลง


          ตั้งอยู่ในตัวเมืองปัว จากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 เมื่อเริ่มเข้าเขตตัวเมืองปัวให้สังเกตธนาคารกสิกรไทย สาขาอำเภอปัว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยก่อนถึงธนาคาร ขับตรงเข้าไปจนถึงวงเวียนให้เลี้ยวขวาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างประมาณปี พ.ศ. 2127 วิหารทรงตะคุ่มหลังคาลาดต่ำ ซ้อนกัน 3 ชั้น ลักษณะเดียวกับบ้านเรือนแบบเดิมของชาวไทลื้อแถบสิบสองปันนา ผนังเจาะช่องหน้าต่างเล็ก ๆ เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น ประตูทางเข้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อให้แสงแรกของวันสาดส่องมาต้ององค์พระประธาน และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาในวิหารมุ่งความสนใจไปที่องค์พระประธาน ทั้งยังก่อให้เกิดบรรยากาศสลัวสงบนิ่ง เหมาะกับการน้อมจิตสู่สมาธิ
      
น่าน

น่าน

บ่อเกลือสินเธาว์

          พื้นที่บนยอดเขาสูงเสียดเมฆอย่างอำเภอบ่อเกลือ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแหล่งเกลือที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เมืองน่านเป็นแหล่งเกลือขนาดใหญ่ ส่งเป็นสินค้าออกในภาคเหนือ โดย บ่อเกลือสินเธาว์ อยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน 80 กิโลเมตร ชาวอำเภอบ่อเกลือนอกจากจะมีอาชีพทำนาทำไร่แล้วยังมีอาชีพทำเกลือสินเธาว์ อีกด้วย โดยมีแหล่งเกลือสินเธาว์อยู่บนภูเขา (บ่อเกลือจะปิดช่วงเข้าพรรษาเพราะเป็นช่วงฤดูฝน)

          บ่อเกลือสำคัญในน่านมี 2 แห่ง คือบริเวณต้นน้ำว้า ซึ่งมีบ่อเกลือใหญ่ 2 บ่อ อีกแห่งคือบริเวณต้นน้ำน่าน มีบ่อใหญ่ 5 บ่อและมีบ่อเล็กบ่อน้อยอีกจำนวนมาก ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มแกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม จะตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก ก่อนจะนำน้ำเกลือมาต้มในกะทะใบบัวขนาดใหญ่เคี่ยวจนน้ำงวดแห้ง ใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน เกลือเมืองน่านไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเลจึงต้องมีการเติมสารไอโอดีนก่อน ถึงมือผู้บริโภค

          บ่อเกลือสินเธาว์ อยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน 80 กิโลเมตร ชาวอำเภอบ่อเกลือนอกจากจะมีอาชีพทำนาทำไร่แล้วยังมีอาชีพทำเกลือสินเธาว์อีกด้วย โดยมีแหล่งเกลือสินเธาว์อยู่บนภูเขา (บ่อเกลือจะปิดช่วงเข้าพรรษาเพราะเป็นช่วงฤดูฝน)
   
อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
   
          อุทยานแห่งชาติขุนน่าน หมายถึง ขุนเขา ลำน้ำ อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา และป่าผาแดง บริเวณท้องที่ตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ มีเนื้อที่ประมาณ 248.6 ตร.กม. หรือประมาณ 155,375 ไร่ มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกหลายแห่ง และมีจุดเด่นที่สวยงาม ที่สำคัญพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็ฯแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน มียอดดอยผีปันน้ำในเทือกเขาผีปันน้ำ ในต.ดงพญา เป็นดอยที่สูงที่สุด มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกติดต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สภาพภูมิอากาศโดยเฉลี่ยวอยู่ที่ 1-7  ํc ในฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนมีอุณหภูมิระหว่าง 22-28 ํc และฤดูฝนมีอุณหภูมิเฉลี่ยว 20-25 ํc

          จุดเด่นและแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกสะปัน, น้ำตกห้วยตี๋, น้ำตกบ้านเด่น, น้ำตกห้วยห้า มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีความงามตามธรรมชาติอย่างยิ่ง

          การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัวจากตัวเมืองน่าน ใช้เสันทางหลวงหมายเลข 1080 (น่าน-ทุ่งช้าง) ประมาณ 59 กิโลเมตร ถึงอ.ปัว แยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-ดอยภูคา-บ่อเกลือ) ประมาณ 46 กิโลเมตร ถึงทางแยกที่ อ.บ่อเกลือ เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทาง (บ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ) เป็นระยะทาง ประมาณ 6 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าที่ทำการชั่วคราว อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ระยะทางประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที รถประจำทาง จาก อ.เมืองน่าน นั่งรถสายน่าน-ปัว แล้วต่อรถสายปัว-บ่อเกลือ ลงที่อ.บ่อเกลือ แล้วต่อรถสายบ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ รถผ่านหน้าอุทยานแล้วเดินเท้าเข้าไปอีก 500 เมตร

          สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน หมู่ 5 ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000 โทร. 0 1960 5507 หมายเหตุ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในเขตอุทยานแห่งชาติระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม -30 กันยายน ของทุกปี

น่าน

เสาดินนาน้อย(ฮ่อมจ๊อม) และคอกเสือ

          เสาดินนาน้อย(ฮ่อมจ๊อม) และคอกเสือ อยู่ที่ตำบลเชียงของ ห่างจากตัวเมืองน่าน 60 กิโลเมตร จากอำเภอนาน้อยมีทางแยกไปตามเส้นทางหมายเลข 1083 ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นเสาดินที่มีลักษณะแปลกตาคล้าย "แพะเมืองผี" ที่จังหวัดแพร่ จากหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่าเสาดินนาน้อยเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในยุคเทอร์เชียรีตอนปลาย (late tertian) ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำและลมตามธรรมชาติ นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 30,000-10,000 ปีมาแล้ว เคยเป็นก้นทะเลมาก่อน และจากหลักฐานการค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคหินเก่า   



น่าน

น่าน

น่าน

วัดหนองบัว
   
          วัดหนองบัว ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา ไปตามเส้นทาง 1080 เลี้ยวซ้ายที่ กม.40 ข้ามสะพานแล้วเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร วัดหนองบัวเป็นวัดเก่าแก่ของหมู่บ้าน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดไทลื้อแห่ง นี้สร้างราว พ.ศ.2405 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4)

          ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์เล่าเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าเขียนโดย "ทิดบัวผัน" ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุ ชื่อนายเทพ ซึ่งเป็นทหารของเจ้าอนันตยศ (เจ้าเมืองน่านระหว่างปี พ.ศ. 2395-2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง นอกจากนั้นยังมีนายเทพและพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนจนเสร็จ และยังมีภาพของเรือกลไฟ และดาบปลายปืนซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลหรือผ้าซิ่นตีนจกที่ สวยงาม นับว่ามีคุณค่าทางศิลปะและความสมบูรณ์ของภาพใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน นอกจากภาพจิตรกรรมแล้วที่ฐานพระประธานยังประดิษฐานพระพุทธรูปล้านนาองค์ เล็กอยู่หลายองค์ และยังมีบุษบกสมัยล้านนาอยู่ด้วย

น่าน

 วัดพระธาตุแช่แห้ง

          วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง สร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 1897

          องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริ ภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน

          พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป "ชุธาตุ" หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัดพระธาตุแช่แห้งได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.

          การเดินทาง : วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 3 กิโลเมตร

น่าน

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
   
          วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก "วัดหลวง" หรือ "วัดหลวงกลางเวียง" สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือ น้ำพิพัฒน์สัตยา ตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091

          ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ "ค้ำ" องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืนปางประทานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางประทานอภัยที่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน

น่าน

น่าน

วัดภูมินทร์

          เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียงในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้น หลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็น "วัดภูมินทร์"

          จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ได้จำลองพระวิหารหลังนี้ไว้ด้วย

          สามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ "ฮูบแต้ม" ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทลื้อ พ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ "อยู่ข่วง" หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า "เอาคำ ไปป่องกั๋น" หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา "เป๊อะ" ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่

          ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกชานมีเรือนเล็ก ๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า "ร้านน้ำ" ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

 วัดพญาวัด


          ตั้งอยู่ที่บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนข้ามสะพานเข้าเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตรแต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นเขตศูนย์กลางเมืองน่านในสมัยที่ย้ายเมือง จากพระบรมธาตุแช่แห้งมาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน

          สถูปเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี มีลักษณะคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เป็นทรงซุ้มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยดังพบที่สถูปเจดีย์วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ยอดซุ้มก่ออิฐวงโค้งเป็นรูปแบบการก่อสร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่ามีการบูรณะในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่อิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ได้เข้ามาแทนที่ศิลปะสุโขทัยแล้ว

          ในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระเจ้าฝนแสนห่า" ซึ่งชาวเมืองน่านเคยนำมาแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนั้น ยังมีธรรมาสน์แกะสลัก ฝีมือช่างพื้นเมืองน่านที่เก่าที่สุดเท่าที่เคยพบ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24

วัดสวนตาล

          ตั้งอยู่ที่ถนนมหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัณฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ จากภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รูปเจดีย์วัดสวนตาลก่อนการบูรณะในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ (ตรงกับรัชกาลที่ 5) เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมองค์พระเจดีย์เป็นทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัยภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคือ "พระเจ้าทองทิพย์" ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1992 เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน

อนุสาวรีย์วีรกรรม พลเรือน ตำรวจ ทหาร และพิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง
   
          อนุสาวรีย์วีรกรรม พลเรือน ตำรวจ ทหาร และพิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง  สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้พลีชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดและวางพวงมาลา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2519 จึงถือเอาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลแก่วีรชน สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ทุ่งช้าง หลักกิโลเมตรที่ 84 และ พิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารให้ศึกษาหาความรู้

หมู่บ้านไทยลื้อหนองบัว
   
          หมู่บ้านไทยลื้อหนองบัวอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา จากตัวเมืองน่านใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1080 ระยะทาง 41 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอท่าวังผามีทางแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองที่สวยงาม เรียกว่า "ผ้าลายน้ำไหล" ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน นับเป็นหัตถกรรมที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย

วัดหนองแดง

          วัดหนองแดง อำเภอเชียงกลาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2330 โดยชาวไทลื้อร่วมกับไทพวน องค์พระประธานสร้างโดยครูบาสิทธิการ พระวิหารบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 และบูรณะต่อมาในปี พ.ศ. 2538 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539 ภายในวัดมีลานกว้างร่มรื่น ช่อฟ้าพระอุโบสถสลักรูปนกหัสดีลิงค์ (ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์) ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงจากสวรรค์ เชิงชายประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด ซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อ องค์พระประดิษฐานบนฐานชุกชี เรียกว่า "นาคบัลลังก์" จากความเชื่อที่ว่านาคเป็นเครื่องหมายแห่งความสง่างาม ความดี และเป็นอารักษ์แห่งพุทธศาสนา

          การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงที่ว่าการอำเภอเชียงกลาง เลยที่ว่าการอำเภอฯไป 2 กิโลเมตรจนถึงสี่แยกรัชดา และเห็นป้อมตำรวจบ้านรัชดาให้เลี้ยวซ้ายไป 1 กิโลเมตร

น่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน อยู่ที่ถนนผากอง ตรงข้ามกับวัดพระธาตุช้างค้ำ ใกล้กับวัดภูมินทร์ เป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น “หอคำ” ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2475 ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติน่าน

          ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย

          พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร 0 5471 0561, 0 5477 2777

น่าน

หอศิลป์ริมน่าน
   
          หอศิลป์ริมน่าน ก่อตั้งและดำเนินการโดยศิลปินชาวน่าน วินัย ปราบริปู ตั้งอยู่ที่ 122 หมู่ 2 ต.บ่อ ถนนสายน่าน-ท่าวังผา (กิโลเมตร 20) ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกติดแม่น้ำน่าน ในพื้นที่ประกอบด้วยสตูดิโอ บ้านพักรับรอง และอาคารหอศิลป์ ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น รวมพื้นที่ 13 ไร่ ผู้ก่อตั้งมีจุดมุ่งหมายที่จะรวบรวมผลงานศิลปะของศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีผล งานการสร้างสรรค์และรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่ยอมรับกัน โดยจัดนิทรรศการประจำปีในรูปแบบกึ่งถาวร ขณะนี้มีผลงานงานจิตรกรรมและประติมากรรมของผู้ก่อตั้ง ประมาณ 200 ชิ้น
    
          เปิดบริการ เวลา 09.00 น.- 17.00 น. ทุกวันพุธ-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดวันจันทร์-อังคาร รายละเอียดสอบถาม โทร.0 5479 8046 (เวลาปกติ), 0 1322 2912 หรือ www.nanartgallery.com

ตลาดชายแดนบ้านห้วยโก๋น

          ตลาดชายแดนบ้านห้วยโก๋น อยู่บริเวณด่านผ่านแดนบ้านห้วยโก๋น ด่านตรงข้ามคือเมืองน้ำเงิน แขวงไชยะบุรี สาธารณรัประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อยู่ห่างจากเมืองน่าน 138 กิโลเมตร ตลาดจะมีทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่เช้าถึงประมาณใกล้เที่ยง สินค้าที่เข้ามาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นผ้าทอลายน้ำไหล ฝีมือชาวไทลื้อ จากบ้านเมืองเงิน หงสา ของ สปป.ลาว นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ของป่า ลูกต๋าว เป็นต้น อนุญาตให้ประชาชนไทย-ลาว เข้าออกด่านนี้ทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ศึกษาขั้นตอนการผ่านแดนไทย-ลาว ในรายละเอียด

วัดมิ่งเมือง
   
          ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน มีความวิจิตรงดงามมาก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน และในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งยู่ในศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

อนุสรณ์สถานยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋นเก่า
   
          อนุสรณ์สถานยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋นเก่า เดิมเคยเป็นฐานปฏิบัติการของกองพันทหารราบที่ 3 ในบริเวณฐานปฏิบัติการยังคงรักษาสภาพเดิมไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา มีสนามเพลาะ แนวกับระเบิด คลังอาวุธ จุดที่ทหารไทยเสียชีวิตในบริเวณเดียวกับยุทธภูมิ ยังมีฐานสู้รบเหล่าผู้กล้า ฐานทหารเก่าที่บ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น เป็นสมรภูมิการสู้รบในอดีต เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2518 ผกค.ได้เข้าโจมตี ทำให้ทหารในสังกัดทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ฐานแห่งนี้ 69 นาย เสียชีวิต 17 นาย ฝ่าย ผกค. บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายทหารสามารถรักษาฐานปฏิบัติการแห่งนี้ไว้ได้ ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของลัทธิการปกครองที่แตก ต่างกัน ภายในฐานยังมีบริการบ้านพักแก่นักท่องเที่ยวติดต่อได้ที่กองพันทหารราบที่ 15 หรือ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานจู่โจม ค่ายสุริยะพงษ์ โทร. 0 5471 0321, 0 5471 3324

อุทยานแห่งชาติแม่จริม (ล่องแก่งลำน้ำว้า)

          อุทยานแห่งชาติแม่จริม (ล่องแก่งลำน้ำว้า)อยู่ ในเขตอำเภอแม่จริม ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 60 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 และ 1243 มีพื้นที่ 270,000 ไร่ หรือ 432 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำที่ไหลไปลงแม่น้ำน่านที่อำเภอเวียงสา เนื่องจากองค์ประกอบของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีสภาพป่าที่ยังคงสมบูรณ์ และมีน้ำว้าไหลผ่านทางทิศตะวันตกของพื้นที่เป็นระยะทางถึง 7.5 กิโลเมตร ทำให้มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ทั้งที่เป็นป่าไม้ วัฒนธรรม และลำน้ำ

          เหมาะสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ ล่องแก่งลำน้ำว้า โดยใช้แพยาง มีจุดเริ่มต้นบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่จริม ถึงจุดสิ้นสุด (ปางช้าง) ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง หรือสิ้นสุดที่บ้านหาดไร่ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางมีแก่งต่าง ๆ ให้ผจญภัยและเล่นน้ำ กว่า 10 แก่ง, ขับรถชมวิวเส้นทางบ้านน้ำพาง-บ้านร่มเกล้า ตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1259 (บ้านน้ำพาง-บ้านร่มเกล้า) ระยะทาง 25 กิโลเมตร ตัดตามสันเขาผ่านสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง สามารถจอดรถชมทิวทัศน์หุบเขาและหมู่บ้านทะเลหมอกยามเช้า ตลอดจนทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกดินได้หลายจุด

          เดินป่าตามลำน้ำแปง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เดินทางเลียบตามริมลำน้ำแปง, เดินป่าบ้านน้ำพาง-บ้านร่มเกล้า เป็นเส้นทางเดินสัญจรในอดีตของชาวบ้านร่มเกล้า ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ตามสันเขาผ่านสภาพป่าดงดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์, เดินป่า ปีนผาหน่อ ซึ่ง "ผาหน่อ" เป็นภูเขาหินปูน รูปแท่งเข็ม หรือหน่อไม้ มีความสูง 824 เมตร จากระดับน้ำทะเล สันนิษฐานว่าเกิดจากการยุบตัวของพื้นดินเชิงเขาบริเวณรอบ ๆ เป็นหน้าผาชันเกือบ 90 องศา เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินป่าและปีนเขา หากขึ้นถึงยอดเขาจุสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามได้รอบด้าน ในผาหน่อพบถ้ำที่เป็นที่อยู่ของ ค้างคาว และเลียงผา บริเวณหน้าผาพบภาพเขียนโบราณเป็นรูปเลขาคณิตและรูปคล้ายผู้หญิงตั้งครรภ์ ปรากฎอยู่ ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 6 ชั่วโมง
 
          เส้นทางศึกษาธรรมชาติ "ชบาป่า" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระดำเนินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ทรงพบดอกไม้ป่าสกุลเดียวกับชบา ดอกสีชมพูอมม่วงขนาด 2-3 เซ็นติเมตร พระราชทานนามว่า "ชบาป่า" (Urena lobata)ทางเดินมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร มีจุดชมวิวทิวทัศน์ของลำน้ำว้า และขุนเขาหลายจุด ใช้เวลาเดินประมาณ 1.5 ชั่วโมง
 
          อุทยานแห่งชาติแม่จริม มีบริการที่พัก ร้านอาหาร เต็นท์บริการสำหรับผู้ที่ต้องการค้างแรม สามารถติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่จริม 35 หมู่ 5 บ้านห้วยทรายมูล ต.น้ำปาย อ.แม่จริม จ. น่าน 55170 โทรศัพท์ 0 5473 0040-1

อุทยานแห่งชาตินันทบุรี
   
          อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอบ้านหลวง รวมทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาว-น้ำสวก และป่าสงวนแห่งชาติถ้ำพุเตย มีอุณหภูมิเฉลี่ย 8.4 องศาเซลเซียส สูงสุด 40.8 องศาเซลเซียส เป็นป่าผสมผลัดใบ ดิบแล้ง ดิบเขา มีไม้ประเภท สัก ประดู่ ตะแบก ฯลฯ และในเขตอุทยานฯ นี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่ามลาบรี หรือ ผีตองเหลืองสถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่ ดอยผาจิ ดอยวาว น้ำตกสันติสุข น้ำตกสองแคว น้ำตกห้วยพริก น้ำตกตาดฟ้าร้อง น้ำตกดอยหมอก และน้ำพุร้อน

หมู่บ้านประมงปากนาย
   
          ปากนาย เดิมเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำน่าน หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ หมู่บ้านปากนาย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ชาวบ้านปากนายประกอบอาชีพประมง มีแพร้านอาหารให้เลือกชิมปลาจากเขื่อน เช่น ปลากด ปลาบู่ ปลาคัง ปลาแรด ปลาทับทิม เป็นต้น และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง ในช่วงนอกฤดูฝน จะมีแพลากไปวัดปากนาย สามารถนั่งรับประทานอาหารบนเรือได้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และมีแพขานยนต์ข้ามฟากไปยังอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

          การเดินทาง อยู่ที่ตำบลนาทะนุง ห่างจากตัวจังหวัด 96 กิโลเมตร ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอำเภอนาน้อย จะมีทางแยกไปถึงอำเภอนาหมื่นราว 20 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1339 จะเป็นทางลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 25 กิโลเมตร จึงถึงบ้านปากนาย

ผาชู้ หรือ ผาเชิดชู

          ผาชู้ หรือ ผาเชิดชู บริเวณเชิงผาชู้เป็นจุดที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ในช่วงฤดูหนาวจะสามารถมองเห็นทะเลหมอกได้จากยอดผาชู้ และเมื่อหมอกจางจะมองเห็นลำน้ำน่านทอดตัวคดเคี้ยวอยู่ที่ปลายผืนป่า หากจะขึ้นไปชมต้องขึ้นแต่เช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ช่วงใกล้ขึ้นถึงยอดจะเป็นหินแหลมคม จึงต้องเตรียมรองเท้าผ้าใบที่ใส่กระชับไปด้วยเพื่อความสะดวกในการปีนป่าย ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ที่ประสงค์จะเดินขึ้นยอดผาชู้ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่อุทยานแห่ง ชาติศรีน่าน ตู้ ปณ.14 อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150

          ตามตำนานที่เล่ากันมาเกี่ยวกับผาชู้กล่าวว่า เจ้าเอื้องผึ้ง ซึ่งเป็นคู่รักกับ เจ้าจันทน์ผา จำใจต้องแต่งงานกับ เจ้าจ๋วง เจ้าเอื้องผึ้ง เสียใจที่ไม่ได้แต่งงานกับคนที่ตัวเองรักจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการ กระโดดจากหน้าผา เจ้าจันทน์ผา ตามมาพบว่า เจ้าเอื้องผึ้ง ได้กระโดดหน้าผาไปแล้ว จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายตามคนรักตกไปอยู่ใกล้กัน และ เจ้าจ๋วง ได้เห็นหญิงที่ตนรักกระโดดหน้าผาไปจึงรู้สึกเสียใจ และตัดสินใจกระโดดหน้าผาตามลงไปด้วย แต่กระเด็นห่างออกไป ด้วยความรักแท้ระหว่าง เจ้าเอื้องผึ้ง และ เจ้าจันทน์ผา ในชาติต่อมา เจ้าเอื้องผึ้ง จึงเกิดเป็นดอกกล้วยไม้เกาะอยู่ใต้ต้นจันทน์ผา และ เจ้าจ๋วง ก็เกิดเป็นต้นสน ณ จุดที่ตกไปนั้นเอง ("จ๋วง" เป็นภาษาเหนือแปลว่าต้นสน "เอื้องผึ้ง" แปลว่ากล้วยไม้) หน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "ผาชู้" นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

น่าน

อุทยานแห่งชาติศรีน่าน

          อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ประมาณ 583,750 ไร่ หรือ 934 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดน่าน ได้แก่ เวียงสา นาน้อย และนาหมื่น เทือกเขาสลับซับซ้อนที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ขนานกันทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออกแบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่ง ตะวันออก สองฝั่งแม่น้ำเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่านพบสัตว์ป่าหายากอยู่หลายชนิด เช่น นกยูง ซึ่งมีอยู่หลายฝูง เสือดาว เสือดำ หมีกวาง หมาป่า และหมาใน มีสัตว์ป่าหลายชนิดที่สำคัญ คือ ช้างป่า, วัวแดง, และกระทิง ซึ่งจะอพยพไปมาระหว่าง เขตติดต่อไทย-ลาว
 
          สถานที่น่าสนใจในอุทยาน ได้แก่ แก่งหลวงน้ำน่าน เกิดจากแนวหินน้อยใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในแม่น้ำน่านรวมทั้งโขดหินและ หน้าผา ยามหน้าน้ำจะมีเสียงน้ำไหลกระทบโขดหินดังกึกก้อง ยามหน้าแล้งจะมองเห็นแนวหิน โขดหินที่มีรูปร่างทรงหลากหลายอย่างสวยงาม จุดเด่นที่น่าสนใจ แนวหินน้อยใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในแม่น้ำน่าน ยามหน้าน้ำจะมีเสียงน้ำไหลกระทบโขดหินดังกึกก้อง ยามหน้าแล้งจะมองเห็นแนวหิน โขดหินที่มีรูปร่างทรงหลากหลายอย่างสวยงามและหาดทรายที่ขาวสะอาดเป็นบริเวณ กว้าง เหมาะสำหรับการมาท่องเที่ยวพักผ่อนและเล่นน้ำ แก่งหลวงอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 14 กิโลเมตร

          ดอยผาชู้ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีลักษณะเป็นโขดหินและหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่เขียวขจีหลายแสนไร่ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์และสายน้ำของแม่น้ำน่านทอดตัวไหลคดเคี้ยวสู่ทิศ ใต้ยาวหลายสิบกิโลเมตร ยามหน้าหนาวจะมีทะเลหมอกสีขาวตัดกับความเขียวขจีของป่าและแสงสีทองของดวง อาทิตย์ขึ้นยามเช้าอย่างสวยงามมาก และเป็นสถานที่เกิดตำนานรักสามเส้าที่ตัดสินความรักด้วยความตาย จุดเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่ ยอดผาชู้ เป็นสถานที่ตั้งสายธงชาติที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ต้องร้องเพลงชาติ 12 จบ กว่าจะเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา มีความยาวของสายธงชาติประมาณ 200 เมตร จากพื้นถึงยอดผาชู้ จุดชมวิว เป็นบริเวณกว้างอยู่ด้านหน้าของผาชู้ สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกในยามเช้า มองเห็นแม่น้ำน่านที่ไหลทอดตัวผ่านใจกลางอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร สวนหิน ที่เกิดจากธรรมชาติที่มีการจัดวางตัวอย่างสวยงาม
 
น่าน

          ดอยเสมอดาว บริเวณจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา เหมาะสำหรับการพักผ่อน ดูดาว ดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินในบริเวณเดียวกัน จุดนี้มีชื่อว่า "ดอยเสมอดาว" ผาหัวสิงห์ เป็นหน้าผามีรูปร่างเหมือนสิงโตนอนหมอบหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ 360 องศา และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง

          ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่านแม่น้ำทอดตัวผ่านกลางพื้นที่อุทยานฯ ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดยาวกว่า 60 กิโลเมตร สามารถล่องเรือ ล่องแพ ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำน่าน จะเห็นทิวทัศน์ เกาะแก่ง โขดหิน หาดทราย หน้าผา สภาพป่าที่เขียวขจีและสัตว์ป่านานาชนิดต่าง ๆ มากมาย มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ผาง่าม เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งโดดเด่นอยู่กลางป่าเขาที่เขียวขจี ผาขวาง เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งขวางอยู่กลางแม่น้ำน่าน สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สองฝั่งแม่น้ำน่าน ที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับระบบธรรมชาติวิทยา

          ปากนาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ห่างจากตัวอำเภอ 27 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 63 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน มีเส้นทางข้ามไปจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเพื่อแวะ ชมและพักค้างคืนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง

          เสาดินนาน้อยเกิดจากการกัดเซาะพังทะลายของดินเป็นบริเวณกว้างกว่า 20 ไร่ ลักษณะคล้ายแพะเมืองผีของจังหวัดแพร่ แต่มีความสวยกว่า และจะมีการพังทลายของดินเปลี่ยนแปลงรูปไปทุก ๆ ปี ผลกระทบต่อระบบนิเวศ คือ ตะกอนดินจะไหลลงสู่แม่น้ำลำธาร ทำให้เกิดการตื้นเขินได้

          คอกเสือ อยู่ห่างจากเสาดินนาน้อยประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นหลุมลึก ในสมัยก่อนชาวบ้านเล่าว่า ในบริเวณนี้มีเสืออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และจะมาขโมยเอาวัว ควาย และหมูของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้กินเป็นอาหาร ชาวบ้านจึงรวมกำลังไล่ต้อนเสือให้ตกลงไปในบ่อดินดังกล่าว แล้วใช้ก้อนหินและไม้แหลมขว้างและทิ่มแทงเสือจนตาย เขาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "คอกเสือ"
 
          การเดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านนครสวรรค์ พิษณุโลกถึงแพร่ จากแพร่ตามถนนยันตรกิจโกศล ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1026 จากอำเภอ เวียงสาไปอำเภอนาน้อย ระยะทางประมาณ 35 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามถนนสายนาน้อย -ปางไฮ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงเสาดิน และถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตู้ ปณ.14 อ.นาน้อย จ.น่าน 55150 โทร. 0 5470 1106 กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760

โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.) บ้านมณีพฤกษ์
   
          เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตร มีโครงการทดลองปลูกผลไม้เมืองหนาวสามารถไปแวะชมได้ นอกจากนั้นยังมีดอกเสี้ยวขาวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ต้นนางพญาเสือโคร่ง บริเวณโครงการเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง และ เผ่าลั๊วะ สิ่งที่น่าสนใจคือโครงการนี้ ตั้งอยู่บนเทือกดอยภูคาจึงพบต้นชมพูภูคาอยู่หลายกลุ่มแต่ต้นที่สมบูรณ์และ นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้อยู่ห่างจากศูนย์ฯ บริการนักท่องเที่ยว 3-4 กิโลเมตร รถเข้าถึงปากทาง จากนั้นต้องเดินเข้าไปอีกประมาณ 30 เมตร

วนอุทยานถ้ำผาตูบ
   
          วนอุทยานถ้ำผาตูบ อยู่ที่ตำบลผาสิงห์ ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 9-10 สามารถเข้าถึงได้ทุกฤดูกาลเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีพรรณไม้ที่ควรศึกษาและหาดูได้ยาก เช่น ต้นจันทร์ผา และเอื้องผึ้ง ซึ่งจะผลิดอกประมาณช่วงปลายฝน ทางเดินศึกษาธรรมชาติมีอยู่หลายเส้นทางด้วยกัน คือจะเริ่มจากเส้นทางเดินเท้าถึงถ้ำบ่อน้ำทิพย์ เส้นทางจากหน้าที่ทำการฯ ถึงจุดชมวิว และเส้นทางเดินรอบที่ทำการสถานที่น่าสนใจในวนอุทยานถ้ำผาตูบ ได้แก่ ถ้ำพระ ถ้ำบ่อน้ำทิพย์ ถ้ำขอน และถ้ำเจดีย์แก้ว

น่าน

วัดพระธาตุเขาน้อย


          วัดพระธาตุเขาน้อย องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2ร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ.2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกันจากวัดพระธาตุเขาน้อยสามารถมองเห็นทิวทัศน์ โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
       
แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก
   
          บริเวณบ้านบ่อสวกนี้ ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมือง น่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาเป็นลักษณะเฉพาะของตัว เอง คาดว่าเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาจากบ้านบ่อสวกคงจะเคยได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะได้ขุดพบตามแหล่งฝังศพของคนในสมัยก่อน โดยเฉพาะแถบเทือกเขาในเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดตาก และกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกเริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัย เจ้าพระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ.2071-2102) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของเมืองน่าน วิทยาการเตาเผาและเครื่องเคลือบเมืองน่านได้รับจากล้านนา เช่น จากกลุ่มสันกำแพง กลุ่มกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาใกล้นครเชียงใหม่

          เตาเผาแห่งนี้ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนอยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ 10 ตำบลบ่อสวก ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร แหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตาอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน 2 เตาได้รับการบูรณะ และก่อสร้างอาคารถาวรคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จ่ามนัสจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา

          การขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทำงานวิจัยทาง "โบราณคดีชุมชน" โดยการร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์กรเอกชน ส่วนราชการในท้องถิ่น และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความงอกงามทางความรู้และความเข้มแข็งของชุมชนไปพร้อมกัน ในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนโบราณคดีชุมชนบ้านบ่อสวก และนำเงินจากกองทุนเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การฟื้นฟูอาชีพเครื่องปั้นดินเผา การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน และการอบรมมัคคุเทศก์ชุมชน


น่าน

ข้อมูลการเดินทางของ "น่าน"

          รถยนต์

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลกและใช้ทางหลวงหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

          รถไฟ

          จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปลงที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ แล้วจึงต่อรถโดยสารประจำทางมาที่จังหวัดน่าน ระยะทาง 142 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020, 1690 www.railway.co.th

          รถโดยสารประจำทาง

          สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน ติดต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 0 2936 2852-66 หรือ www.transport.co.th และมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่บริการเดินรถไปจังหวัดน่าน ติดต่อ แพร่ทัวร์ โทร. 0 2245 2369, 0 2245 1697 และ 0 2936 3720 สมบัติทัวร์ โทร. 0 2936 2495-6 และ 0 5471 0122 เชิดชัยทัวร์ โทร. 0 5471 0362, 0 2936 0199 

          และนี่คือ "น่าน" จังหวัดหวัดเล็ก ๆ ที่ไม่ควรพลาดไปท่องเที่ยว...สักครั้งในชีวิต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Memories pink, คุณ Memories pink, ททท. , dnp.go.th



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น่าน...เมืองในหุบเขา อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2562 เวลา 14:34:29 319,081 อ่าน
TOP