x close

สะพานมอญ สังขละบุรี ย้อนรำลึกประวัติก่อนสะพานมอญพัง


สะพานมอญ

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ song13 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม , เฟซบุ๊ก คุณ 13maysa

          สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อใน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ต้องกลายเป็นเพียงความทรงจำไปในพริบตา หลังถูกน้ำป่าซัดถล่มอย่างหนัก ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 จนสะพานไม้ที่ขึ้นชื่อว่ายาวที่สุดในประเทศไทย ถึงกับขาดกลางและพังทลายลงท่ามกลางความเศร้าใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว

          และเพื่อเป็นการรำลึกถึงความสวยงามน่าประทับใจของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ เราจึงมีภาพสวย ๆ ของ "สะพานมอญ" เมื่อครั้งยังเป็นสะพานไม้ยาว ที่มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างอยากไปชมให้เห็นกับตาดูสักครั้ง มาฝากกัน ซึ่งภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้โดย คุณ song13 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ลองไปชมภาพเหล่านี้ และร่วมส่งกำลังใจให้ชาวบ้านไปพร้อม ๆ กันนะคะ
 
13maysa : รำลึกถึงสะพานมอญ สังขละบุรี

          ทราบข่าวไม่กี่วันที่ผ่านมาฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำป่าไหลหลาก สะเทือนใจกับภาพข่าวตอนนี้มาก เลยมารำลึกครับ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไปแทบทุกปี เป็นห่วงชาวบ้านละแวกนั้นมาก สมบัติมีแค่บ้าน กับข้าวกรอกหม้อไปแต่ละมื้อ น้ำหลากล้นท่วมจนทำให้สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ต้องขาดลง ขอให้กำลังใจชาวบ้านที่น่ารักและขอให้บุญบารมีที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ โปรดดลบันดาลให้ชาวบ้านรอดพ้นกับพิบัติครั้งนี้และขอให้สะพานมอญกลับมาสวยงามดังเดิม

          เพื่อน ๆ ท่านใดที่ต้องการช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมกันในการบูรณะ ซ่อมแซม สะพานมอญ ที่สังขละบุรี ในขณะนี้ บริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ วัดวังก์วิเวการาม (วัดหลวงพ่ออุตตมะ) และที่ตู้รับบริจาคบริเวณเชิงสะพานไม้ทั้งสองฝั่ง หรือท่านใดที่ไม่ได้สะดวกเดินทางไป สามารถโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสังขละบุรี ชื่อบัญชี "วัดวังก์วิเวการาม (สะพานไม้)" เลขที่บัญชี 679 216755 4

          ภาพรวบรวมจากหลากหลายปี สีภาพและการตกแต่งภาพมาจากกล้องหลายชนิด ภาพอาจสะดุดบ้าง ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

สะพานมอญ

          1. ภาพแรก สะพานมอญ ปี พ.ศ. 2548
 
สะพานมอญ

          2. สะพานมอญ ปี พ.ศ. 2549
 
สะพานมอญ

          3. สะพานมอญ ปี พ.ศ.2550

          ก่อนเทศกาลสงกรานต์ จะมีนักท่องเที่ยวมาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเพิ่มไม้ไผ่เพื่อให้โครงสร้างของสะพานแข็งแรง โดยไม่มีค่าแรง เป็นการลงขัน ลงแรงจากหมู่บ้านชาวมอญ ผมไปช่วยแบกไม้ไผ่ 3 วัน ไม้ไผ่ทุกลำผูกด้วยเชือกที่รวมกับเศษผ้าจีวรพระ ศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวมอญที่มีมาช้านานในสังขละบุรี
 
สะพานมอญ

          4. สะพานมอญ ปี พ.ศ.2551
 
สะพานมอญ

          5. ปี พ.ศ. 2553 สะพานมอญเริ่มผุกร่อนไปมาก ได้มีการซ่อมแซมใหม่อีกครั้งโดยการนำไม้มาเสริมใหม่ตลอดแนวสะพาน โดยกลุ่มช่างไม้เดิม ซ่อมแซมด้วยเครื่องมือเก่าไม่ทันสมัยเอาเสียเลย ผมเดินทางไปถ่าย คุณลุงต้องซ่อมแซมสะพานทั้งวันทั้งคืน แม้สายฝนจะตกลงมาทั้งวัน เพราะต้องให้แล้วเสร็จก่อนน้ำหลากจะมา
 
สะพานมอญ

          6. สะพานมอญ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลก
 
สะพานมอญ

          7. วัดวังก์วิเวการาม เป็นวัดจำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เสน่ห์อย่างหนึ่งที่นำนักท่องเที่ยวไปอย่างมากมาย
 
สะพานมอญ

          8. แม่ชีมอญ ห่มผ้าสีชมพู มักจะเดินทางข้ามประเทศพม่า มาจากทางด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อมาขอรับบริจาคจากนักท่องเที่ยว สีสันอย่างหนึ่งบนสะพานมอญที่หลายคนอยากจะเจอ เสียงสวดให้พรที่คล้ายเสียงเพลงไพเราะมาก
 
สะพานมอญ

สะพานมอญ

          9. สีสันอีกอย่างของสะพานมอญคือ เด็กน้อยที่ยามเลิกเรียนยามเย็นชวนกันมากระโดดน้ำลงจากสะพานมอญที่สูงมาก อย่างสนุกสนาน ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีของความแกร่งกล้าของลูกชายแห่งสายน้ำซองกาเลีย
 
สะพานมอญ

          10. หน้าน้ำหลากในฤดูฝน แพบ้านของชาวมอญใหญ่น้อยที่อยู่บนเนินดินตื้นเขินมาเป็นเวลานาน ต้องซ่อมแซมกันทุกปี ด้วยการลงขัน ลงแรงกันจากเพื่อนบ้าน
 
สะพานมอญ

          11. ครั้งหนึ่งผมคิดคอนเซ็ปต์ให้กับการถ่ายภาพ โดยการเดินตามทางของนักเรียนที่เป็นชาวมอญ ทำให้พบว่าบ้านที่อยู่สุดแม่น้ำที่ไกลจากโรงเรียนมาก จะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อเตรียมตัวไปโรงเรียน
 
สะพานมอญ

          12. เมื่อแต่งตัวเสร็จต้องเดินอ้อมภูเขา ผ่านป่ารก มารอเรือรับ-ส่งประจำวัน หากวันไหนมาช้าเรือก็จะไม่รอ
 
สะพานมอญ

          13. ผมชอบเด็ก ๆ ชาวมอญมาก ใสซื่อและว่ายน้ำเก่งมาก
 
สะพานมอญ

          14. ถึงแม้จะเป็นเด็กผู้หญิงก็ตาม
 
สะพานมอญ

          15. สะพานมอญ เส้นเลือดใหญ่ของชาวมอญที่เลี้ยงชีพทำมาหากินริมแม่น้ำซองกาเลียมาช้านาน
 
สะพานมอญ

          16. ความผูกพันจากผู้เดินทางอันไกลโพ้นที่หลงใหลเสน่ห์ของสะพานมอญแห่งนี้ ยามไปเยี่ยมหาก็จะอยู่กันจนค่ำมืดดึกดื่น ชมวิถีชีวิตยามอาทิตย์ลับขอบฟ้า
 
สะพานมอญ

          17. เด็ก ๆ เมื่อกลับจากโรงเรียนก็ต้องออกหาปลาสำหรับอาหารมื้อเย็น
 
สะพานมอญ

          18. ตกเย็นก็อาบน้ำในแม่น้ำข้างบ้านก่อนเข้านอน
 
สะพานมอญ

          19. เรามาชมวิถีชีวิตของชาวมอญ ณ สังขละบุรี กันบ้างว่าเขาอยู่กิน และทำมาหากินอะไรกัน
 
สะพานมอญ

          20. ชาวมอญมักจะตื่นเช้ามาก เพื่อจัดแจงหุงต้มอาหาร รอพระทำบุญ ทุกวันจะมีการใส่บาตรที่เนืองแน่น อย่างวิถีชาวพุทธ เพราะความศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะที่สร้างวัด สร้างหมู่บ้าน สร้างสะพาน ทำให้ชาวมอญมีอยู่และมีกินจนตราบทุกวันนี้
 
สะพานมอญ

          21. ทุกวันพระทุกคนก็จะไปสวดภาวนา ทำบุญ ณ วัดใหญ่ บ้างนั่งสมาธิ บ้างสวดภาวนาอย่างตั้งใจและนานมาก
 
สะพานมอญ

          22. ด้วยดอกไม้ที่ตนเองปลูกไว้ริมรั้ว ร้อยกับไม้ไผ่ เพื่อไปถวายพระ
 
สะพานมอญ

          23. เพราะชุมชนชาวมอญ จะมีเด็ก ๆ และคนแก่อยู่มาก หนุ่มสาวเดินทางไปหางานทำในเมืองกันเกือบหมด ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและพอเพียงทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่อายุยืนกันมาก
 
สะพานมอญ

          24. ยามว่างของผู้สูงอายุ ก็มักจะออกไปหาตกปลาเพื่อทำเป็นอาหารในแต่ละวัน
 
สะพานมอญ

          25. ปลูกพืชผักสวนครัว รอบ ๆ บ้าน ไว้ทำอาหารเอง
 
สะพานมอญ

          26. บ้างก็ขายดอกไม้ สำหรับคนที่จะไปไหว้พระ
 
สะพานมอญ

          27. บ้างก็เปิดร้านค้าเล็ก ๆ ขายอาหารที่ชาวมอญทานแบบชาวบ้าน ขนมจีนน้ำยาป่า นักท่องเที่ยวมักจะชอบทานอาหารของคนพื้นบ้าน เพื่อลิ้มรสความเป็นชาวมอญอย่างใกล้ชิด
 
สะพานมอญ

          28. คุณลุงก็ตัดไม้ไผ่ ลงเรือเตรียมพร้อม
 
สะพานมอญ

          29. คุณป้าก็นำไม้ไผ่มาเผาข้าวหลาม สำหรับไว้ขายให้นักท่องเที่ยวในราคาที่ไม่แพง
 
สะพานมอญ

          30. บางคนก็เผาถ่านไว้ขายให้กับร้านค้าเล็ก ๆ เป็นรายได้เสริมยามว่าง ทำจำนวนไม่มาก
 
สะพานมอญ

          31. การดำรงชีวิตบนสายน้ำซองกาเลียของชาวมอญ มีมาช้านาน การซ่อมแซมเรือที่ตกทอดมารุ่นต่อรุ่นนับสิบ ๆ ปี คือวิถีชีวิตของชาวประมงส่วนใหญ่
 
สะพานมอญ

          32. บ้านไม่มีกลอน เปิดแอร์ให้ไหลผ่านซอกแคร่ไม้ไผ่ตลอดวันตลอดคืน ไม่มีทรัพย์สินมีค่ามากมาย บ้านที่ดูโทรมและรกรุงรังด้วยเครื่องมือทำกิน แต่เต็มไปด้วยความสุข เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องแข่งขันกับใคร
 
สะพานมอญ

          33. ดูดยาเส้นปล่อยอารมณ์ไปกับลมและสายน้ำ
 
สะพานมอญ

          34. เด็กหนุ่มที่อายุครบ 20 ปี หลังจากออกไปทำงานก็จะกลับมาท่องสวดมนต์ เพื่อเตรียมตัวอุปสมบท ชาวสังขละรู้ดีว่า หากจะเป็นศิษย์หลวงพ่ออุตตมะ ต้องผ่านการเรียนก่อนบวช และต้องสม่ำเสมอ จีวรทางวัดมีให้ฟรี ไม้เรียวไว้เคาะหัวยามแอบหลับ วิถีพุทธแบบนี้นับวันเริ่มจางหายไปจากบ้านเรามาก
 
สะพานมอญ

          35. เด็กหลายคนร่ำเรียนจนจบเพราะข้าวก้นบาตร
 
สะพานมอญ

          36. การบวชเรียนเป็นพระ เป็นสิ่งสง่างาม
 
สะพานมอญ

          37. พุทธศาสนาที่มีให้ร่ำเรียนมาช้านาน เช่น เจดีย์พุทธคยา อันยิ่งใหญ่
 
สะพานมอญ

          38. เด็กที่อายุไม่ครบ 20 ก็เริ่มจากบวชเณร
 
สะพานมอญ

          39. ความศรัทธาที่ถูกถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่น ขอให้ดำรงต่อไป
 
สะพานมอญ

          40. สุดท้ายนี้ ผมช่างภาพในนาม 13maysa ผู้ได้เดินทางไปสะพานมอญมาหลายต่อหลายครั้งในรอบ 7-8 ปี และจะพยายามไม่ทำตัวเป็นอย่างนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีชาวมอญ ไม่เป็นนักท่องเที่ยวที่แสวงหาแต่การไปเสพความสุขส่วนตัวเพียงอย่างเดียว อยากให้ทุกคนร่วมซึมซับวิถีชาวมอญและดำรงให้มีต่อไปแบบนี้
 
          มีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปพักแพเดิม ๆ ไปสวัสดีทักทายชาวบ้านเสมือนเป็นญาติไปแล้ว เด็ก ๆ หลายคนเติบใหญ่มีครอบครัว เราเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น ผมเห็นสะพานเก่าที่โค้งเบี้ยวถูกดัดแปลงให้ตรง เริ่มมีรีสอร์ทหรูหราปลูกสร้างบนเนินเขา ชาวบ้านเริ่มมีรถหรู ติดจานดาวเทียม เหน็บไอโฟน แม้สังขละจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ก็ยังคงมีเสน่ห์เสมอ
 
          ท้ายนี้ขอให้สะพานมอญอันเป็นที่หวนให้คิดถึงเมื่อยามพังลง ขอให้กลับคืนมาเหมือนเดิมเถิด ขอให้ผู้คนเล็งเห็นวิถีชาวมอญอันน่ารัก ร่วมแรงร่วมใจกันเข้าช่วยเหลือ พวกเขาลำบากจริง ๆ เงินทองคงมีไม่มาก .. ด้วยจิตแห่งศรัทธาในชาวสังขละบุรี




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สะพานมอญ สังขละบุรี ย้อนรำลึกประวัติก่อนสะพานมอญพัง อัปเดตล่าสุด 27 สิงหาคม 2556 เวลา 15:19:11 18,630 อ่าน
TOP