ป่าชายเลนบางปู ปอดเล็ก ๆ ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง (ไทยโพสต์)
เรื่อง : บุษบา ศิวะสมบูรณ์
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก bangpunature.com
เมื่อเราขึ้นไปบน หอดูนกของศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ก็เห็นผืนป่าสีเขียวแผ่ออกไปกว้างไกล ตรงขอบฟ้าลิบ ๆ นั้นเห็นเป็นตึกรามบ้านช่องห้างสรรพสินค้า มีลมโชยมาเย็น ๆ ชื่นใจบรรเทาความร้อนจากแสงแดดแผดจ้าไปได้
แต่สิ่งที่เรานึกว่ามันกว้างใหญ่แล้ว กลับกลายเป็นส่วนเสี้ยวเดียวของสิ่งที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้เท่านั้น เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ซึ่งพาเราไปชมพื้นที่บอกว่า เมื่อก่อนป่าชายเลนแห่งบางปูกว้างใหญ่กว่านี้มากนัก กินพื้นที่ไปถึงราว ๆ ถนนสายบางนา-บางปะกงเลยทีเดียว ตอนนี้ป่าชายเลนบางปูนั้นเหลือแค่ 600 กว่าไร่เท่านั้น และมีท่าทีว่าจะหดหายต่อไปอีกในอนาคตหากไม่รักษาไว้ ทั้งจากการรุกรานของสิ่งก่อสร้างของมนุษย์และจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าฝั่ง
ศูนย์แห่งนี้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 และอยู่ในความดูแลของ กรมพลาธิการทหารบก ที่ร่วมมือกับ องค์กร WWF ประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงานจัดการบริหารพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเป็นนากุ้งมาก่อน รวมทั้งจัดโปรแกรมเรียนรู้ต่าง ๆ สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหวงแหนป่าชายเลนขึ้นมา และช่วยหันมาอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเหล่านี้เอาไว้
ในเส้นทางเดินชมป่าชายเลน เราได้เห็นพื้นที่ได้เป็นหลายแบบ ที่ทั้งบึงน้ำที่มีนกนางนวลและนกทะเลชนิดอื่น ๆ มาหากินกันเต็มไปหมด เวลานกเหล่านี้บินขึ้นพร้อม ๆ กันทีเดียวเป็นภาพที่น่าดูยิ่งนัก ทางศูนย์ฯ ได้จัดสร้างที่ซุ่มดูนกไว้หลายจุดด้วยกัน จากทางลาดซีเมนต์ของรอบนอกเขตเดินชม เราก็ตัดเข้าไปตรงกลางของป่าชายเลน โดยเดินบนสะพานไม้เล็ก ๆ ที่ต่อเนื่องกันคดเคี้ยวหลายกิโลเมตร อากาศจากร้อนจัดก็เปลี่ยนเป็นเย็นชื่นใจทันทีเมื่อเข้าเขตนี้ เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูต้นโกงกางที่แทงรากขึ้นมาหายใจเบียดกันแน่นเต็มไปหมดที่พื้น ป่าเขียวขจีทำให้หัวใจเราสดชื่น หายใจได้เต็มปอด เพราะพวกมันทำหน้าที่เหมือนเครื่องฟอกอากาศชั้นดีจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่โลก
แต่เราก็รื่นรมย์ได้ไม่นาน เพราะในระหว่างต้นโกงกางก็เห็นมีขวดพลาสติกนานาชนิดติดค้างอยู่ไม่น้อย เจ้าหน้าที่บอกว่านี่คือสิ่งที่แม่น้ำพัดพามา มันมาจากบ้านเรือนผู้คนมาตามน้ำแล้วก็ออกไปไม่ได้ และกว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว
เจ้าหน้าที่ยังเล่าด้วยว่า ที่ศูนย์ฯ มีโครงกระดูกของ วาฬบรูด้า ที่เข้ามาเกยตื้นที่นี่หลายปีแล้วอยู่ ตอนที่ผ่าท้องออกมาเพื่อดูสาเหตุการตายของมัน ก็พบถุงพลาสติกจำนวนมากมายอัดแน่นอยู่ในท้องของมัน นักวิชาการคาดว่ามันคงคิดว่าเป็นแมงกะพรุนแล้วกินเข้าไปจนเกิดเป็นพิษขึ้น
ระหว่างเดินอยู่เจ้าหน้าที่ก็บอกให้เราลดเสียงลงเงี่ยหูฟังเสียงบางอย่าง คล้าย ๆ กับคนดีดนิ้วเป็นจังหวะ เขาบอกว่านั่นคือเสียงกุ้งดีดขัน แต่เรามองไม่เห็นตัวว่าอยู่ที่ใด เพราะมันมีขนาดเล็กและลำตัวใส แต่มีก้ามใหญ่ซึ่งสามารถทำก้ามกระทบกันเกิดเสียงปัง ๆ ขึ้นได้ และยิ่งเอาไปใส่ไว้ในขันโลหะเสียงก็จะดังกังวานมากขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อนี้
ปลาที่พบเห็นได้บ่อยมาก ก็คือ ปลาตีน ซึ่งมีหลายชนิด ตัวโตสุดเรียกว่า ปลากระจัง มันจะมีเส้นยาวพาดที่ข้างตัว ถ้าเส้นเป็นสีดำแปลว่ามันกำลังอารมณ์ดี ถ้าเปลี่ยนเป็นสีแสดงว่ามันกำลังโมโห เจ้าพวกนี้หวงถิ่นมาก โดยเฉพาะตัวผู้ ถ้าตัวอื่นรุกล้ำเข้ามามันจะต้องวิ่งไล่ไปทันที
พืชที่ขึ้นนอกจากโกงกาง แล้วก็ยังมี มะแว้ง โพธิ์ทะเล และชะคราม เจ้าหน้าที่บอกให้เราลองหยิบใบมาลองเลียดู ก็ได้รสเค็มปะแล่ม ซึ่งเขาก็บอกว่าพืชไม่ชอบความเค็ม แต่พืชที่อยู่ป่าชายเลนซึ่งมีน้ำกร่อยจะมีความสามารถในการคายเกลือออกมาโดยเฉพาะทางใบ พืชหลายชนิดนำไปทำเป็นยาและเป็นอาหารได้
เมื่อออกจากป่าโกงกางเราก็เจอกับหาดของบางปู ซึ่งทางศูนย์ฯ กำลังพยายามปลูก ต้นลำพู เอาไว้ตรงชายน้ำ ลำพูนี่แหละที่เป็นด่านหน้าของป่าชายเลนของไทยอย่างแท้จริง ไม้ยืนต้นที่แข็งแรงสามารถทานแรงน้ำ แรงลม และเกาะดินเหนียวแน่นไปในคราวเดียวกันจะช่วยซับแรงต่าง ๆ ที่เข้าไปถึงป่าชายเลนด้านใน ซึ่งประกอบด้วยไม้ที่เล็กลงไปอย่าง โกงกาง แสม
ทริปของเราสิ้นสุดลงตรงที่มันเริ่มต้น ก็คือ อาคารที่ตั้งของศูนย์ฯ แม้จะเหงื่ออาบกาย แต่ในใจรู้สึกดีมากที่ได้มาที่นี่ในวันนี้ สิ่งที่เราพบเห็นทำให้สรุปได้ว่า ที่นี่คือสวรรค์ของทั้งสัตว์และพืชมากมายหลายชนิด ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย และประการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือเป็นปอดที่ฟอกอากาศโลกให้บริสุทธิ์ และก็รู้สึกหวงแหนผูกพันกับป่าชายเลนมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ 7 Greens ของ ททท. ที่ตราตรึงอยู่ในจิตใจของเราตลอดมา
เมื่อพูดถึงบางปู หลายคนอาจจะนึกถึง นกนางนวล ที่บินฉวัดเฉวียนไปมา และภาพพระอาทิตย์ตกเหนือน้ำทะเลที่สุดโรแมนติก แต่คราวหน้าถ้าท่านคิดไปเยือนบางปูอีกครั้ง ลองเข้าเยี่ยมโลกเล็ก ๆ อันงดงามแห่งป่าชายเลน แล้วจะได้ความประทับใจอันไม่ลืมเลือนออกมา