x close

เล่นลม ชมเล เที่ยวเท่ภูเก็ต

ภูเก็ต



เล่นลม ชมเล เที่ยวเท่ภูเก็ต (อ.ส.ท.)

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง

นคเรศ ธีระคำศรี...ภาพ

         ผืนร่มเรียวโค้งราวจันทร์เลี้ยวคว่ำหน้าเคลื่อนปราดเปรียวอยู่ใต้ฟ้าสีสดสวย บางทีลอยสูงลิบลิ่วเหนือหัว บางจังหวะก็ผลุบต่ำลงมาเคลื่อนขนานกับแนวหน้าผาเขาแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกังหันลมขนาดใหญ่ไม่ไกลจากแหลมพรหมเทพ ปลายแหลมทางใต้สุดของจังหวัดที่มีสมญานามว่าไข่มุกอันดามัน

ภูเก็ต

ภูเก็ต

         ก่อนฟ้าจะเปิดทาง แรงลมพัดพอดี เรานั่งมองผืนทะเล ที่มีคลื่นขาวโพลนไล่ระลอกเข้าสู่ฝั่งชายหาดยะนุ้ยมานานกว่า 2 ชั่วโมง ลมทะเลพัดผ่านใบไม้เสียงดังกรูกราว ดูเหมือนว่าน่าจะดีสำหรับกิจกรรมที่เรารอเวลาลงมือ

         "ลมแรงเกินไป ยังขึ้นบินไม่ได้ครับ" คุณกิ๊ก ปริญญา คงสมุทร นักบินร่มร่อนมือดีอันดับต้น ๆ ของภูเก็ต บอกกล่าวด้วยท่าทีสบาย ๆ ไม่ทุกข์ร้อนกับแรงลมกราดเกรี้ยว และหมู่เมฆสีหม่นทึมที่ห่มคลุมบริเวณนี้ราวกับไม่ยอมจะจากไป เล่นร่มร่อนต้องรอลม...กฎหลักของกิจกรรมนี้ไม่เคยถูกละเลย แม้แต่กับนักบินฝีมือดีที่สุดของโลก

ภูเก็ต


         หลังจาก 3 ชั่วโมงผ่านพ้น การรอคอยก็ไม่สูญเปล่า เมื่อลมลดแรงกระโชก คุณกิ๊กออกไปบินทดสอบสภาพอากาศและแรงลมเป็นคนแรกของไซต์บินนี้ ตามที่เรียกกันว่า Wind Dummy ก่อนกลับมาบอกว่าพร้อมพาเราบินไปพบมุมมองใหม่ ณ ปลายเกาะภูเก็ตแล้ว จาก ร่มร่อน หรือ พาราไกลดิง (Paragliding) ที่ลอยลมเพียงลำพัง ในเวลาไม่ถึงชั่วโมงร่มร่อนอีกตัวที่นักบินรีบบึ่งมอเตอร์ไซค์ขึ้นเขามาบิน ก็ทะยานรับลมออกไปละล่องร่วมฟ้า เป็นบรรยากาศของการเดินทางและการพักผ่อนแสนรื่นรมย์

         ไร้เครื่องยนต์ ทว่ามีแรงลมปะทะหน้าเขา (Lift Band) ที่ยกขึ้นแล้วพัดเข้าสู่เซลล์เรียงรายบนผืนร่มไปสร้างแรงขับเคลื่อนจากธรรมชาติ อีกทั้งยังมีลมใต้ปีกยกร่มเรียวให้ลอยสูง เมื่อนักบินพาราไกลดิงพาตัวเองเข้าไปหามวลอากาศร้อน (Thermal) ที่อวลขึ้นจากผิวน้ำ ทั้งสองลมเสริมกันทำให้พาหนะไร้มลพิษร่อนไปมาได้อย่างน่าชม นั่งแหงนหน้ามองร่มร่อนที่แล่นเลียบแนวผาไปทางซ้ายทีขวาทีอย่างเพลินใจ ดูไปแล้วเหมือนง่ายดาย แค่ขยับสายร่มนิด ๆ หน่อย ๆ ให้ผืนร่มดักรับลมพอดีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง กว่านักบินจะพาตัวเองผ่านพ้นเนินผาสูงออกไปลอยลมอย่างอิสระน่าอิจฉาเช่นนี้ พวกเขาต้องฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงชนิดอาบเหงื่อต่างน้ำกันเลยทีเดียว

         ไม่เพียงเรียนรู้เรื่องการควบคุมร่ม นักบินพาราไกลดิงยังต้องรู้จักบังคับควบคุมใจ เมื่อไม่มีลม เมื่อลมพัดกราดเกรี้ยว เมื่ออากาศไม่เป็นใจ แม้มั่นใจเพียงใดว่า "เอาอยู่" แต่ก็ควรสงบนิ่งและเฝ้ารอ

         "มีคำฝรั่งบอกไว้ว่า "Hungry to fly better than hungry to land. กระหายที่จะบินดีกว่า กระหายที่จะลง" ซึ่งผมก็ว่าจริง" หมออู๊ด หรือ ทันตแพทย์ประเสริฐ เทพละออง ประธานชมรมร่มร่อนภูเก็ต ที่มาร่วมบินในเย็นนี้เอ่ยขึ้น ขณะจัดแจงเตรียมร่มออกบิน

         "ทั้งนี้ ความกระหายที่จะบินของคุณต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่เหมาะสมด้วยนะครับ ถ้าฝืนขึ้นไปทั้ง ๆ ที่ลมไม่ดี คราวนี้ล่ะ กระหายที่จะลงแน่ ดีไม่ดีเจ็บตัวอีกต่างหาก"

         ทว่าในเวลานี้สำหรับผู้ที่อยากจะบินนั้น แทบไม่ต้องนึกถึงความอยากจะลงเลย เพราะแสงอุ่นละมุนยามใกล้เย็นทาบทาผืนทะเลเป็นประกายระยิบ ผนวกกับกระแสลมที่ยังคงพัดต่อเนื่องพอเหมาะ สังเกตได้จากถุงลม (Wind Sock) ข้างกังหันใหญ่ที่ขณะนี้รับลมจนพองฟูพรูพลิ้วตั้งฉากกับแนวหน้าผา บ่งบอกให้รู้ว่านี้คือเวลาของพาราไกลดิงอย่างแท้จริง

ภูเก็ต

ภูเก็ต

ภูเก็ต

         เย็นย่ำตะวันรอน บนจุดชมวิวกังหันลมซึ่งตั้งอยู่บนเขาแดง คลาคล่ำไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมารอชมตะวันลับฟ้า ทุกคนแหงนหน้าดูพาราไกลดิงที่แล่นฉิวผ่านไปมาระหว่างที่ดวงอาทิตย์ประดับฟ้าส่องแสงอ่อนอยู่เหนือเส้นขอบทะเล บางคนถึงกับเดินมาไถ่ถามนักบินว่า ถ้าอยากจะร่วมบินซ้อนไปด้วยแบบที่เห็นใครบางคนกำลังทำอยู่ตอนนี้จะได้ไหม

         "เรื่องการบินไปด้วยกันแบบแทนเด็มนี่...ถ้าอากาศเหมาะ ลมดี ก็ทำได้ไม่ยากครับ" หมออู๊ดบอกเมื่อฉันถามเหมือนคนอื่น ๆ "ตอนนี้นักบินพาราไกลดิงในภูเก็ตที่มีร่มแทนเด็มมีผมกับกิ๊ก ถ้านักท่องเที่ยวอยากบินไปด้วย ติดต่อล่วงหน้าก็ดี จะได้นัดช่วงเวลาบินกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูสภาพอากาศในวันที่จะบินอีกทีนะครับ"

         ระหว่างนั้นเสียงเฮฮากิ๊วก๊าวจากกลุ่มเราก็ดังขึ้น หันกลับไปมอง เห็นร่มร่อนตัวที่คุณกิ๊กพากิ๊ก น้องนักเขียนในกองบรรณาธิการ อ.ส.ท. ขึ้นไปบินแบบสองที่นั่ง หรือ แทนเด็ม (Tandem) กำลังลดระดับลงแล่นเรียดเฉียดยอดไม้เตี้ยอย่างเร็วรี่

         "ไม่ต้องกลัวครับ กิ๊กเค้ารู้จักต้นไม้แถวนี้ดี เคยใช้เป็นเบรกมาแล้วเรียบร้อย" หมออู๊ดพูดพร้อมหัวเราะ "พูดกันตามตรง ไซต์บินเขาแดงนี่ถือว่ายากสำหรับนักบินมือใหม่ และแม้จะเป็นนักบินที่มีประสบการณ์สูงก็นับว่าไม่ง่ายนัก เพราะลมเปลี่ยนทิศบ่อยครั้ง รวมทั้งมีลมกดร่มในบางครั้ง บินร่มร่อนที่นี่จึงต้องรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดีด้วย"

ภูเก็ต

ภูเก็ต

         นอกจากเรื่องลมแปรปรวนไวไม่ต่างจากอารมณ์ของคนวัยทองแล้ว ความยากของไซต์บินเขาแดง ซึ่งสูงเพียง 80 เมตร ยังอยู่ที่พื้นที่ร่อนลงจอด (Landing) อีกด้วย เพราะหากประสบการณ์น้อยก็มีโอกาสที่จะต้องแล่นลงฉุกเฉินกลางทะเลเมื่อลมเปลี่ยนทิศฉับพลัน "ถ้าเป็นไปได้ เลือกลงที่ต้นไม้ดีกว่าลงทะเลครับ" หมออู๊ดส่งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะเช่นเคย

         แรกเริ่มร่อนลม : ประเสริฐ เทพละออง ประธานชมรมร่มร่อนภูเก็ต

         แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเล่นพาราไกลดิงเกิดขึ้นที่เขาแดงนี่ล่ะครับ ประมาณ 7 ปีก่อน ผมกับภรรยามาเที่ยวจุดชมวิวกังหันลม แล้วเห็นคนเยอรมันเล่นร่มร่อนอยู่ ก็ถามเค้าว่าเรียนมาจากไหน ยังไง จากนั้นจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้รู้ว่าในเมืองไทยมีการสอนพาราไกลดิงด้วย ซึ่งครูสอนคือ คุณนรินทร์ โล่ทอง อยู่ที่ระยอง จากภูเก็ตผมต้องไปเรียนที่ระยอง 2 - 3 ครั้ง เพราะอากาศไม่ดี จนกระทั่งจบหลักสูตรขั้นต้น ออกบินได้ด้วยตัวเอง และสอบได้ใบอนุญาตสมควรเดินทางทางอากาศโดยการใช้อากาศยานเบาพิเศษเพื่อการกีฬา เป็นการการันตีว่าเราผ่านทฤษฎีและการปฏิบัติที่สามารถบังคับควบคุมร่มได้แล้ว

         ครั้งแรกที่ออกบิน มันมีส่วนผสมของความตื่นเต้น น่ากลัว หวาดเสียว ปน ๆ กันไป ช่วงหลัง ๆ ไม่น่ากลัวแล้ว แต่ความตื่นเต้นยังมีทุกครั้ง สำหรับผมขั้นตอนยากสุดของการเล่นร่มร่อนอยู่ในช่วงการฝึกฝน ทั้งกระบวนการ และแม้จะเรียนจบแล้ว นักบินที่ดีเก่งขนาดไหนก็ต้องฝึกฝน เพื่อให้บินได้ปลอดภัยยิ่งขึ้นบินได้ในสถานการณ์ที่คับขัน และต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจด้วย เพราะความมั่นใจเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหา ทุกครั้งที่เราออกบินต้องมั่นใจในสภาพอากาศรวมทั้งมั่นใจตัวเองด้วยว่าสามารถเอาอยู่

ภูเก็ต

         แรกเริ่มร่อนลม : ปริญญา คงสมุทร เลขาธิการชมรมร่มร่อนภูเก็ต

         แรก ๆ ก็กล้า ๆ กลัว ๆ แต่อาศัยว่าผมใช้เวลาฝึกตั้งร่ม คอนโทรลร่มอยู่ที่หน้าหาดยะนุ้ยนาน 2 – 3 ปีก่อนออกบินจริง ทำให้มีประสบการณ์ภาคพื้นดินมากพอ ผมฝึกแม้กระทั่งตอนกลางคืน หลับตาตั้งร่ม ดึงร่มจนรู้สึกว่าร่มเป็นเหมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของเรา ตอนลองบินก็ที่หาดยะนุ้ยนี่ละครับ ด้วยความที่มันเป็นที่แคบ มีอุปสรรคบีบเราเยอะ เท่ากับเป็นการบังคับเราว่าต้องทำให้ได้ แต่การบินครั้งแรกนั่นผมจบด้วยการตกน้ำ (ยิ้ม) จากนั้นผมจึงไปเรียนพาราไกลดิงกับ คุณนรินทร์ โล่ห์ทอง พร้อมหมออู๊ด ทำให้ได้เรียนรู้อย่างถูกต้องจริงจัง และกลับมาฝึกฝนบ่อย ๆ

         เวลาออกบิน แน่นอนว่าเรามองไม่เห็นกระแสลม แต่เราใช้ความรู้สึกรับสัมผัสได้ ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะดีก็ด้วยประสบการณ์ ประสบการณ์จะสอนเรา และอย่าลืมว่าต้องมีสติด้วย ตั้งแต่วันที่หัดตั้งร่มจนถึงวันนี้ก็ 8 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นคนกลัวความสูง ถึงตอนนี้ก็ยังกลัว แต่พอขึ้นพาราไกลดิงกลับไม่กลัว ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร อาจเป็นเพราะว่าเรารู้จักร่ม รู้จักตัวเองก็ได้ครับ

         ตะวันใกล้ลับฟ้าเต็มที แต่คุณกิ๊กยังคงเพลินใจกับการร่อนลมโดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางคู่ไปด้วย ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมง เขาขึ้นลงรับส่งนักท่องเที่ยว 4 คน ราวกับไม่เหน็ดเหนื่อย

         "ไม่เหนื่อยหรอกครับ ผมชอบบิน อาทิตย์ไหนลมดี ผมก็บินแทบทุกวัน วันหนึ่งขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ต่ำกว่า 4 เที่ยว" นักบินจอมอึดบอกเล่าขณะนั่งพักสบาย ๆ บนเนินลาดชัน ซึ่งด้านหลังคือถนนสายเล็กที่ทอดยาวมาสุดปลายทางที่ศาลาชมวิว "ภูเขาสูงทางด้านขวาของเราก็มีจุดเทคออฟออกบินนะ" เขาชี้ขึ้นไปที่แนวเขาใหม่กว่าเขาแดง ซึ่งตั้งอยู่เบื้องหลังหาดในทาน "นักบินพาราไกลดิงเรียกจุดนั้นว่าแบล็กร็อค เพราะมีก้อนหินดำตั้งอยู่"

         "ชื่อทางการของเขาลูกนั้นคือ ควนคีรีมนูญ แต่ชาวบ้านเรียกว่าเขาแดง รวม ๆ ไปกับเขาลูกนี้ ยอดสูงสุดของแบล็กร็อคอยู่ที่ประมาณ 250 เมตรครับ" หมออู๊ดช่วยเสริม

         พื้นที่แถบนี้มีระดับความสูงไม่มากนัก โดยเฉพาะหากเทียบกับทางยุโรป ซึ่งนักบินไปเทคออฟออกจากหน้าผาสูงเป็นพัน ๆ เมตร แล้วร่อนลมออกไปโดยปล่อยให้ร่มสูญเสียความสูงลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็บินเข้าไปหามวลอากาศร้อนเพื่อให้ยกร่มขึ้น จึงมีเวลาในการบินค่อนข้างยาวนาน

ภูเก็ต

         "ทิศทางการเคลื่อนของลมต่างจากน้ำ คือ น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ แต่ลมพัดขึ้นสู่ที่สูง" นักบินแห่งภูเก็ตให้ข้อมูลเรื่อย ๆ เหมือนสายลมที่พัดพรู ณ ยามนี้

         "เพราะภูเขาเราไม่สูง จึงต้องอาศัยลมปะทะหน้าเขาในการซ้อนส่งให้ร่มลอย แล้วขับเคลื่อนด้วยแรงลมที่พัดเข้าไปกักอยู่ในเซลล์ร่ม บางคราวเราก็บินออกไปหาเทอร์มอล หรือมวลอากาศร้อน ซึ่งเปรียบไปก็คล้ายกับไอร้อนที่พุ่งขึ้นจากพวยกา

         เทอร์มอลนี่ถือเป็นแรงยกร่มอีกแบบนึงนอกเหนือจากลมหน้าเขา" การบินเข้าไปหามวลอากาศร้อนนับเป็นเรื่องสนุกอย่างหนึ่งของพาราไกลเดอร์ เพราะมันมีอยู่ในแต่ละจุดเพียงประมาณ 20 นาที ก่อนจางคลายไป ทำให้นักบินต้องร่อนร่มหาเทอร์มอลอื่น ๆ ต่อถ้าหากยังสนุกการบินเก็บระยะทาง

         "มีขึ้นย่อมมีลง" เป็นเรื่องจริงแท้สำหรับทุกสิ่ง และเห็นได้ชัดสำหรับการเล่นร่มร่อน ก่อนลมอ่อนแรงหรือโหมกระโชกหนักหน่วง ย่อมมีสัญญาณบ่งบอกให้รู้ นักบินที่ไม่ประมาทจะค่อย ๆ ลดความสูงเพื่อกลับลงสู่พื้นเบื้องล่างอย่างนิ่มนวล เพราะเขาตระหนักอยู่เสมอว่า การหลงเพลินอยู่บนความสูงโดยทะนงตนเกินพอดี อาจทำให้บาดเจ็บหรือสูญเสียอย่างไม่อาจเรียกกลับคืน

         "ต้องเข้าใจก่อนว่ามีแรงอะไรมากกระทำกับเรา อย่าไปฝืนดึงดัน เพราะยังมีวันพรุ่งนี้ให้เราบิน" ประธานชมรมร่มร่อนภูเก็ตปิดท้ายอย่าง "ชัด" และ "จริง"

ภูเก็ต

ภูเก็ต

         สายวันเสาร์ปลายเดือนกันยายน คลื่นลูกโตที่ถาโถมโหมสู่หาดกะตะไม่ได้เคลื่อนครืนครั่นมาเพียงลำพัง บนแนวคลื่นขาวฟ่องที่ไล่ลิ่วเร็วรี่นั้น มีนักเซิร์ฟหลากเพศหลายวัยผ่านพลิ้วมาด้วยลีลาน่าดู เพราะช่วงปลายฝนเช่นนี้ คือห้วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเล่นเซิร์ฟบอร์ดหรือกระดานโต้คลื่นในภูเก็ต อีกทั้งวันนี้ยังพิเศษด้วยกิจกรรม Girls Go Surfing Day ที่ Rip Curl แบรนด์ดังของชาวเซิร์ฟจัดขึ้นเพื่อพาสาว ๆ มาสนุกกับการเรียนรู้วิธีได้คลื่น บริเวณโค้งหาดกะตะจึงคึกคักด้วยผู้คนมากมาย ทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำ อาบแดด และแน่นอน...นักเล่นเซิร์ฟที่มีทั้งระดับมืออาชีพลงมาจนถึงมือใหม่หัดโต้

         จะว่าไปแล้ว ชายหาดทางฝั่งตะวันตกของภูเก็ตส่วนใหญ่ล้วนมีระลอกคลื่นสูงในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อันเป็นช่วงรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ความสูงของคลื่นตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป นับว่าเหมาะสำหรับการเซิร์ฟแบบชิล ๆ แต่หาดที่เพียบพร้อมที่สุดสำหรับการเล่นเซิร์ฟบอร์ตก็คือ หาดกะตะ เพราะมีร้านให้บริการเช่ากระดานโต้คลื่นและบริการสอนพร้อมสรรพ

ภูเก็ต

         ใกล้เที่ยงวันนี้ ฉันทำตัวเป็นไทยมุงยืนปะปนกับฝรั่ง ดูวิธีนอนบนกระดานโต้คลื่น วิธียันตัวเองขึ้นจากบอร์ดในท่ายกตัวโชว์กล้ามปีกและไหล่ แล้วเปลี่ยนจากนอนขึ้นมายงโย่ยงหยกเตรียมยืนโต้คลื่น ฯลฯ ไปพร้อมกับสาว ๆ Rip Curl ที่ฝึกปฏิบัติอยู่บนหาดทรายจนถึงเวลาที่พวกเธอลงไปเล่นจริงในทะเล หันหลังให้ถนนสายเล็กที่คึกคักด้วยรถรา ทอดสายตาสู่ท้องทะเลที่มีระลอกคลื่นหัวแตกขาวโพลนไล่รี่ไม่รู้จบ บนฟองคลื่นกระเซ็นซ่านั้นมากมายด้วยนักเซิร์ฟต่างเพศต่างวัย ส่วนริมหาดก็มีผู้คนเดินถือกระดานโต้คลื่นผ่านไปอย่างเท่ ๆ ถ้าเป็นบอร์ดยาวตั้งแต่ 9 ฟุตขึ้นไป และมีปลายมน คาดคะเนได้ว่าคนถือยังเป็นมือใหม่ ส่วนคนที่กอดบอร์ดสั้น ยาวไม่เกิน 7 ฟุต ปลายแหลมเพรียวดูโฉบเฉี่ยว นั่นเป็นเหล่านักเซิร์ฟที่มีชั่วโมงโต้คลี่นมายาวนาน

         ปลายกันยายน แม้ลมแรงจนเกิดคลื่นโถมไม่เหมาะกับการเล่นน้ำ ทว่าเมื่อมีกิจกรรมท่องเที่ยวมาเติมสีสันให้กับหาดทรายโค้งยาวที่โอบผืนทะเลสีมรกต กะตะในช่วงฤดูฝน (ที่หน่วยงานท่องเที่ยวเห็นควรเรียกว่า Green Season มากกว่า) จึงมีนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่เน้นเรื่องแดดสวย ทะเลใส คลื่นลมนิ่งสงบ มาพักผ่อนไม่น้อยหน้าฤดูอื่น ๆ เหมือนกัน

         "ไปลองเล่นเซิร์ฟบอร์ดกันไหม" อัน ณรงศักดิ์ โภชนา หนุ่มแอดเวนเจอร์ผู้มากพลังเอ่ยปากชักชวน หลังจากเรารอลมเล่นร่มร่อนอยู่บนเขาแดงมาเกือบทั้งวันนั่นเอง...เราจึงพากันมาท้าแดดท้าลมอยู่ริมหาดในหาน ซึ่งไม่มากมายด้วยนักท่องเที่ยวเช่นหาดกะตะ แต่ก็เล่นเซิร์ฟได้ดีไม่แพ้กัน เสียอยู่ตรงที่ค่าเช่ากระดานโต้คลื่นที่หาดนี้แพงกว่าหาดกะตะถึงเท่าตัว แต่เมื่อนึกถึงข้อดีที่ไม่ต้องคอยหลบนักเซิร์ฟมากมาย ฉันคิดว่าราคานี้ก็ซื้อความสบายใจได้อย่างคุ้มค่า

ภูเก็ต

ภูเก็ต

         หลังจากจัดท่านอนคว่ำ ทำท่าว่ายน้ำรอรับลูกคลื่น โผตัวขึ้นนั่งย่อ-ยอง หลังตรง หันปลายเท้าตั้งฉากกับกระดาน แล้วยืนขึ้นในท่วงท่าเท่ที่สุดบนพื้นทราย จนครูฝึกเห็นควรว่าลงไปโต้คลื่นสูงเมตรสองเมตรได้แล้ว จึงบอกให้เรารัดสายข้อเท้ายืดโยงกระดานก่อนเดินอาด ๆ ฝ่าริ้วคลื่นน้อย ๆ ออกห่างจากชายฝั่งไปราว 10 เมตร เพื่อผจญคลื่นลูกใหญ่กว่าระหว่างเดินออกไป คลื่นลูกโตก็ชัดตูม ๆ ใส่ตัวหลายคลื่นสูงท่วมหัว แถมยังดูน่าระทึกเพราะแตกฟองขาวพล่านมาแต่ไกล

         "ถ้าเห็นคลื่นหัวแตกลูกใหญ่มาลิ่ว ๆ เตรียมดำน้ำหลบใต้คลื่นเลยครับ ให้มันผ่านไปก่อนแล้วค่อยโผล่ขึ้นมา" การ์ดร่างใหญ่ผิวเข้มแนะนำเมื่อเห็นฉันหันหลังเกร็งตัวสู้คลื่นหัวแตกแล้วเซแซด ๆ ปลิวตามคลื่นไปหลายครั้ง

         ห่างจากฝั่งไกลพอดู แต่ระดับน้ำสูงเทียมอก เท้ายังเหยียบหยัดพื้นทราย สร้างความอุ่นใจให้นักเรียนใหม่ได้เป็นอย่างดี ฉันนอนคว่ำอยู่บนบอร์ดจนได้ยินเสียงดังปลุกใจ "เอ้า! คลื่นมาแล้ว เตรียมว่ายไป!!!" จังหวะนั้นบอกได้เลยว่ารู้สึกถึงการเคลื่อนผ่านอย่างเร็วรี่ของคลื่นแรงใต้แผ่นกระดาน หลังจากจ้วงซ้าย-ขวา-ซ้าย-ขวาตื้น ๆ แล้วก็รีบลุกขึ้นในท่าย่อตัว แต่จังหวะไม่พอดีกับคลื่นที่ซัดสาด อีกทั้งยังยืนไม่สมดุลอีกด้วย

         แน่นอน...ฉันหล่นตูม อ้าปากรับน้ำเค็มเข้าไปหลายอึก กระดานลอยเท้งเต้งอยู่บนผิวน้ำโดยมีสายยืดโยงจากข้อเท้ารั้งไว้ไม่ให้ลอยหาย ดึงมันกลับมา ก่อนพยายามกลับไปทำตามขั้นตอนเดิมอีก 2 - 3 ครั้ง และครั้งสุดท้ายนั่นเองที่โผพรวดยืนขึ้นได้หน่อยหนึ่ง แล้วคลื่นใหญ่ก็พุ่งผ่านใต้บอร์ดส่งกระดานตรงลิ่วเกือบถึงฝั่ง

         ณ จุดนั้น ฉันเข้าใจแล้วว่าการเล่นเซิร์ฟบอร์ดสนุกอย่างไร แม้ไม่ลึกซึ้งจับใจเหมือนเช่นนักเล่นกระดานโต้คลื่นตัวจริง ที่ได้สัมผัสรับรู้อารมณ์ของการจับคลื่น การทะยานไปลิ่ว ๆ การทรงตัวมั่นคงอยู่บนคลื่นแรง การพลิกพลิ้วเคลื่อนผ่านฟองคลื่น ฯลฯ แต่บนบอร์ดยาว 9 ฟุต ประสบการณ์ดี ๆ ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นแล้ว

         คู่มือนักเดินทาง

         พาราไกลดิง

         ไซส์บินพาราไกลดิงชมวิวทะเลสวยในภูเก็ตอยู่ที่บริเวณจุดชมวิวกังหันลม ใกล้แหลมพรหมเทพ อำเภอเมือง และบริเวณควนคีรีมนูญ ใกล้หาดในหาน ซึ่งชาวร่มร่อนเรียกกันว่า แบล็กร็อค (Black Rock) เป็นเส้นทางบินที่ยากสำหรับมือใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์การบินไม่มากนัก เพราะกระแสลมไม่แน่นอน มีลมกดร่มเป็นบางช่วง จึงควรบินกับนักบินในพื้นที่ซึ่งมีประสบการณ์และรู้จักลมในบริเวณนี้เป็นอย่างดี

         ทริปบินแทนเด็มชมวิวทะเลหาดในหาน-ยะนุ้ย-แหลมพรหมเทพมี 2 ช่วง คือ ช่วงสาย เวลา 10.00 – 12.00 น. บินใต้ฟ้าใส แดดแจ่ม มองเห็นผืนทะเลเป็นสีน้ำเงินแจ่มจัดสวยงาม และช่วงเย็น เวลา 15.00 – 18.00 น. รอชมดวงตะวันลับขอบฟ้าท่ามกลางสายลมเย็นสบาย ราคา 3,000 บาท ต่อคน (ใช้เวลาบินประมาณคนละ 15 นาที) ราคานี้รวมบริการรถรับ-ส่ง (จากหาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน หาดราไวย์) อาหาร 1 มื้อ เครื่องดื่ม (Soft Drink) ไกด์ผู้ชำนาญการบินพาราไกลดิง และค่าประกันอุบัติเหตุ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทันตแพทย์ประเสริฐ เทพละออง โทรศัพท์ 08 9474 5635 เว็บไซต์ www.phuketparagliding.com คุณปริญญา คงสมุทร โทรศัพท์ 08 1535 3528 คุณณรงศักดิ์ โภชนา โทรศัพท์ 08 9474 4776

         เตรียมตัวบินแทนเด็ม : สวมกางเกงขายาว เสื้อแขนยาว รองเท้าหุ้มข้อ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหากลมพัดดึงร่มขณะขึ้นและลง ครีมกันแดด แว่นตากันแดด กล้องถ่ายรูป

         เซิร์ฟบอร์ด

         ภูเก็ตมีหาดที่เหมาะกับการเล่นเซิร์ฟบอร์ดหลายแห่ง เช่น หาดกะตะ หาดป่าตอง หาดในหาน หาดกะหลิม ฯลฯ สำหรับหาดที่มีร้านบริการสอนและให้เช่ากระดานโต้คลื่นครบครัน คือ หาดกะตะ ค่าเช่าเซิร์ฟบอร์ด ชั่วโมงละ 150 บาท ครึ่งวัน (5 - 6 ชั่วโมง) 400 บาท เต็มวัน 600 บาท ค่าเรียน ชั่วโมงละ 1,000 บาท สำหรับที่หาดในหาน ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่านเท่าที่หาดกะตะ มีร้านให้เช่าอุปกรณ์ไม่กี่ร้าน ค่าเช่าเซิร์ฟบอร์ด ชั่วโมงละ 300 บาท

         ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับการเล่นเซิร์ฟบอร์ด คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แต่ในช่วงต้นพฤศจิกายนก็ยังมีโอกาสที่จะหัดเล่นเซิร์ฟแบบเบา ๆ ได้
         กิน-นอนในย่านเมืองเก่า

         ย่านเก่าภูเก็ตมากมายของกินพื้นเมืองอร่อย ๆ เช่น หมี่หุ้น, โลบะ, โอ้เอ๋ว (โอ๊ะเอ๋ว) ปากซอยสุ่นอุทิศ ถนนเยาวราช, ขนมจีนป้ามัย ขนมจีนแม่ติ่ง ถนนสตูล, โรตีบังหมัด ถนนถลาง, โรตีแกง สี่แยกแถวน้ำ ฯลฯ

ภูเก็ต

         ร้านกาแฟน่ารักมีให้เลือกนั่งหลายร้าน เช่น โกปี้เตี่ยม ถนนถลาง, ครัวขนม ถนนดีบุก, Café Y Te ถนนพังงา, โกปี๊ เดอ ภูเก็ต ถนนภูเก็ต เป็นต้น

ภูเก็ตภูเก็ต

         สัมผัสบรรยากาศของบ้านเรือนสไตล์โคโลเนียลกับที่พักที่ดัดแปลงจากบ้านดั้งเดิมเป็นเกสต์เฮาส์น่านอน เช่น 99 Oldtown Boutique Guesthouse ถนนถลาง, Phuket 346 Guesthouse ซอยรมณีย์ ถนนถลาง, Ai Phuket Hostel ถนนเยาวราช ฯลฯ


         ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ด ถนนกลาง อำเภอเมืองฯ โทรศัพท์ 0 7621 1036 และ 0 7621 2213





 





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2555





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล่นลม ชมเล เที่ยวเท่ภูเก็ต อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2555 เวลา 15:27:09 7,479 อ่าน
TOP