x close

บางกะเจ้า...ปั่นตามทางกลางกระเพาะหมู

บางกะเจ้า



บางกะเจ้า ปั่นตามทาง กลางกระเพาะหมู (อ.ส.ท.)

จริยา ชูช่วย...เรื่อง
นภดล กันบัว ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

           ในวันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับปากจะเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำเป็นแนวขวางให้ชาวจักรยานสัญจรได้สะดวกขึ้น

           ในวันที่วัยรุ่นกลับมาฮิตพาหนะสองล้อขับเคลื่อนแรงขา ทั้งฟิกซ์เกียร์ รถพับเมาน์เทนไบท์ ฯลฯ และปั่นกันหลายแก๊งจนเกลื่อนเมือง

           ในวันที่ฉันเริ่มเห็นรอยหน้าเปื้อนยิ้มของเพื่อนผู้อุทิศแรงกายแรงใจ รณรงค์การให้จักรยานในชีวิตประจำวันมาแสนนาน

           ในวันที่หลายคนหลุดจากมายาคติ "จักรยานคนจน" ได้เสียที

           ในวันที่จักรยานกลับมาเป็นพาหนะที่มีตัวตน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความฮิป อิน เท่ และแนวไปเสียแล้ว

           หรืออะไรก็แล้วแต่ ต่างคือนิมิตหมายอันดีของกระแสสองล้อที่กลับมากระเพื่อมอีกครั้ง

           ในโมงยามไล่เลี่ยกันนี้

           ฉันข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาพาตัวเองมานั่งอยู่บนอานตามหลังรอยจักรยานไร้เบรกของชายผมขาว คุณอัมพร อ่วมเจริญ ที่เราเรียกจนติดปากว่า "พ่อเล็ก" คนดั้งเดิมผู้ช่ำชองพื้นที่บางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ดินแดนคล้ายเกาะที่หน้าตากลับไปคล้ายกับกระเพาะหมู ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยายาวคดโค้งไปมากกว่า 18 กิโลเมตร และยังได้รับยกย่องให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia จากนิตยสารไทม์สในปี พ.ศ. 2549 มาแล้ว


       ปั่นเส้นสวน (1)

           เช้าวันทำงาน ณ ท่าเรือบางกะเจ้า หรือที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันในชื่อท่าเรือกำนันขาวขวักไขว่ด้วยผู้คนที่รอข้ามฟาก หมายไปใช้แรงงานและฝากแรงสมองยังฝั่งเมืองหลวง ในทางกลับกัน เช้าวันหยุดเรากลับเห็นคนต่างถิ่นและต่างชาติเบนเข็มขนจักรยานขึ้นเรือข้ามฟากมาปั่นเติมพลังชีวิตฝั่งบางกะเจ้า

           เราจากความโกลาหลของห้าแยก ณ ระนอง เขตคลองเตย มาไม่ถึง 10 นาที เผลอแป๊บเดียวได้มาสูดลมหายใจเต็มอิ่มในดินแดนที่ได้รับการขนานนามให้เป็นปอดของกรุงเทพมหานครเสียแล้ว

บางกะเจ้า

           จากท่าเรือบางกะเจ้าปั่นเรื่อยไปตามถนนราษฎร์รังสรรค์ หรือก็คือเส้นเดียวกับถนนเพชรหึงษ์ ซอย 33 นั่นแหละ ออกแรงปั่นไม่นานเราเลี้ยวซ้ายตามป้ายเข้าพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ที่นี่ช่วยให้ฉันกลับมาชั่งตวงวัดและหาจุดยืนระหว่างการอนุรักษ์กับการยอมรับความจริงที่เคยดำเนินอยู่ในอดีตมากขึ้น

           การเลี้ยงปลากัดเป็นกิจกรรมยามว่างหลังการเก็บเกี่ยวของคนไทยแต่เก่าก่อน สะท้อนนิสัยสู้ไม่ถอย ยอมตายในสนามรบ และต้องการความสง่างามแม้ยามศึกของคนไทยสมัยก่อน ผ่านท่วงท่าการต่อสู้ของปลากัดได้เป็นอย่างดี

บางกะเจ้า

บางกะเจ้า

           ภายในพื้นที่ 40 ไร่ ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่สมความตั้งใจของคุณพระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์ ผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการอนุรักษ์ต้นไม้ดั้งเดิมทุกต้นไว้ นักท่องเที่ยวสองล้ออย่างเราเริ่มทำความรู้จักปลากัดกันที่อาคารรักรู้ มีการฉายภาพและปูพื้นเรื่องปลากัดผ่านนิทรรศการและวีดิทัศน์เริ่มตั้งแต่ชนิดของปลากัด พัฒนาการในช่วงวัยต่าง ๆ ชื่อเรียกลีลาการต่อสู้ ฯลฯ ส่วนด้านล่างจัดแสดงปลากัดชนิดต่าง ๆ เช่น ปลากัดจีน ปลากัดหางสามเหลี่ยม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกปลากัดหางมงกุฎ ฯลฯ

           คุณฝนทิพย์ ถนอมพงษ์พันธ์ ผู้บริหารรุ่น 2 แอบกระซิบว่า ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตอนนี้คือปลากัดหม้อ หรือปลาลูกหม้อ เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงไว้ใช้กัดแข่งขัน ซึ่งน่าจะถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาโดยนักเลงปลา ในช่วงปี พ.ศ. 2430 โดยไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่อาศัยตามรูปูมาเลี้ยง พอถึงฤดูฝนก็นำไปกัดแข่งกัน ตัวไหนกัดเก่งก็เลี้ยงไว้ข้ามปี แล้วหากปลาป่าตัวเมียมาผสมอีก ปลาชุดแรกจากการผสมนี้เรียกว่าปลาสังกะสี ซึ่งกัดเก่ง ทน ตัวที่สวยงามก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เมื่อผสมชุดต่อไปออกมา ชุดนี้แหละที่เรียกว่าปลาลูกหม้อ

           อาคารถัดมาเป็นหอโลกหอธรรม เรือนไทยสองหลังเชื่อต่อกัน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาไว้ตรงกลางส่วนเชื่อม ส่วนบริเวณด้านขวาและด้านซ้ายของอาคาร มีรูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใต้ถุนอาคารจัดแสดงอุปกรณ์จับปลาพื้นบ้าน และแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หาได้ในเขตแม่น้ำของบางกะเจ้า เช่น ปลาแรด ปลากราย ปลาตะเพียน ปลากระทิง เป็นต้น

           เดินต่อไปยังเส้นทางเขียวรังสรรค์ ทางเดินปูนคดโค้งหลบต้นไม้ใหญ่อ่างนอบน้อมเลียบไปตามลำประโดง มีนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเรื่องราวของพื้นที่บางกะเจ้าและอำเภอพระประแดงจัดแสดงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

บางกะเจ้า

           เรียกว่ามาที่นี่นอกจากได้ซึมซับธรรมชาติ และได้ย้อนวัยหวานแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ชีวิตจากปลานักสู้ตัวน้อยว่าการต่อสู้ให้ชนะขาด ใช่จะใช้เฉพาะพลังกำลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต้องอาศัยลีลาและชั้นเชิงอันแยบยล และจงจำไว้ว่า ถ้าหากคิดจะเป็นนักสู้ จงอย่ากลัวที่จะตายในสนามรบ

       ปั่นเส้นสวน (2)

           กลับสู่ถนนเพชรหึงษ์ ซอย 33 เส้นเดิมแดดอ่อน ๆ กับทางร่มรื่นไม่ได้ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย ขบวนจักรยานมาหยุดหน้าสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ศรีนครเขื่อนขันธ์ บ้างเรียกว่าสวนกลาง บ้างก็เรียกสั้น ๆ ว่าสวนศรี สวนสาธารณะขนาดใหญ่กว่า 148 ไร่ ใจกลางกระเพาะหมู เป็นจุดหมายสำคัญของเส้นทางปั่นจักรยานบางกะเจ้าที่ทุกบริษัททัวร์บรรจุไว้ในโปรแกรม จึงไม่แปลกที่สวนแห่งนี้จะคลาคล่ำด้วยนักปั่นหลายชาติ โดยเฉพาะชาวเนเธอร์แลนด์ เจ้าของดินแดนจักรยานที่ยังตั้งใจมาปั่นถึงที่นี่

บางกะเจ้า

           แม้สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ทางเดินศึกษาธรรมชาติ หอดูนก จะผุพังตามเวลาและแทบใช้การไม่ได้ แต่ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และความร่มรื่นจัดอยู่ในระดับดีเยี่ยม ใครที่หวังมาดูนกก็เรียกว่าเพลินได้ทั้งวัน เช่นนั้นแล้วสิ่งก่อสร้างนอกเหนือธรรมชาติจึงอยู่นอกเหนือความสนใจ

           ออกจากสวนกลาง เราปั่นไม่เร็วไม่ช้า ตามจังหวะชมวิวเหมายปั่นรวดเดียวไปยังปากซอยเพชรหึงษ์ 33 เลย แต่พ่อเล็กบอกว่าช้าก่อน ในซอยนี้ยังมีอะไรแอบซ่อนและน่าชมอีกมาก ไม่เชื่อลองตัดสินใจเลี้ยวเข้าไปในทางปูนเล็ก ๆ สักซอยดูสิ

           ว่าแล้วพ่อเล็กก็ชวนเราเลี้ยวซ้ายเข้าซอยราษฎร์รังสรรค์ 12 ที่เป็นทางปูนเล็ก ๆ พาเราเลียบด้านข้างของสวนศรี ผ่านป่าจากและบ้านเรือน รถพ่อไร้เบรก แต่ขาของพ่อก็ทำหน้าที่เป็นเบรกได้ดี เมื่อพบจุดน่าสนใจ ปั่นจนไปโผล่อีกทีที่หลังวัดราษฎร์รังสรรค์ หรือวัดใหญ่ตาอิน ซึ่งตั้งอยู่เกือบ ๆ ถึงต้นซอยเพชรหึงษ์ 33 จุดน่าสนใจของวัด คือ วิหารหลวงพ่อใหญ่นิมิตรสัมกโท ภายในประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย จุดเด่นคือพระพุทธรูปองค์นี้ สวมแว่นสายตากรอบกลม

           ออกจากวัดราษฎร์รังสรรค์แล้ว พ่อเล็กยังฟิตจัดพาเราข้ามถนนลัดเลาะเข้าทางปูนแคบ ๆ อีกฝั่ง ที่ซอยราษฎร์รังสรรค์ 7 ลัดเลาะผ่านชุมชนบ้านใหญ่ ข้ามคลองขวาง คลองบางกะเจ้ามาโผล่ที่วัดบางกะเจ้านอก เราแวะมาสักการะอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือวัดบางกะเจ้านอก เชื่อมต่อกับท่าเรือช่องนนทรีของฟากกรุงเทพฯ

           ขณะกำลังยืนมองเรือเล็กแล่นมาส่งคน พี่คนหนึ่งบอกว่า "ลองหันไปดูด้านฝั่งขวามือโน่นสิ เห็นตึกย่านสีลมเพียบเลย นี่มันนิวยอร์กเมืองไทยชัด ๆ" ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าวิวนี้เหมือนนิวยอร์กประมาณไหน รู้แต่ว่าเมื่อได้ถอยออกมามองเมืองจากมุมไม่ไกลมากนัก ภาพและความรู้สึกมันช่างสวยและแตกต่างกับตอนที่เราเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากทีเดียว

           ปั่นมาไม่ไกลถึงวัดบางกะเจ้ากลาง ที่เริ่มมีหลายคนสงสัยว่าทำไมวัดที่ติดถนนใหญ่มากกว่าถึงเรียกว่าวัดกลาง หรือวัดใน ส่วนวัดที่อยู่ไกลออกไปริมน้ำเรียกว่าวัดนอก ก็เพราะในอดีตเรายึดเส้นทางทางน้ำเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมสัญจร จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมวัดที่มีคำว่านอกต่อท้าย ถึงได้อยู่เสียชิดติดแม่น้ำเกือบทุกวัด

           จากวัดบางกะเจ้ากลาง เราเข้าซอยเล็ก ๆ เลียบวัดมาเรื่อย ๆ จนมาออกซอยราษฎร์รังสรรค์ 5 อีกจนได้ เรียกว่าไม่น่าจะเข้าทางเล็ก ๆ เส้นไหนก็ปั่นเพลินไปได้เรื่อย ๆ ไม่หายไปไหน ถึงคราวจะหลงก็มีชาวบ้านตะโกนบอกทางให้ตลอด จะมีที่ต้องระวังบ้างก็เรื่องทางลื่นยามฝนตก และระวังหมาดุเท่านั้นเอง

       ปั่นทางธรรม

           เช้าอีกวันที่ยังวนเวียนอยู่กลางกระเพาะหมู แต่คราวนี้ยกพลพรรคไปตั้งต้นกันที่วัดบางกระสอบ ซอยเพชรหึงษ์ 18 ตำบลบางกระสอบ วัดเก่าแก่กว่า 180 ปี ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เล่ากันว่าสร้างโดยสองผัวเมีย คือนายดวงและนางทรัพย์ ที่ขุดพบตุ่มสมบัติ และได้บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างวัด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าวัดใหม่ตาดวงยายทรัพย์ บ้างก็ว่าตุ่มสมบัตินี้ยังคงอยู่ในวัด ไม่รู้จะใช่สาเหตุที่ฉันเห็นรอยขุดอยู่รอบ ๆ วิหารพระพุทธรัตนโภคะ (หลวงพ่อดวงมีทรัพย์) วิหารเก่าแก่ และรอยขุดรอบ ๆ ซากเจดีย์เก่าหรือเปล่า นอกจากนี้วัดบางกระสอบยังมีพระเครื่องดัง คือ หลวงพ่อเชย หนึ่งในเบญจภาคีของพระปิดตา

           ทางปูนเล็ก ๆ ข้างวัด สามารถปั่นจักรยานเชื่อมไปถึงวัดป่าเกดได้ แต่วันนี้เราเปลี่ยนบรรยากาศมาปั่นไปตามถนนใหญ่ดูบ้าง ก่อนออกสู่ถนนเพชรหึงษ์ อย่าลืมเงยหน้าดูตรงซุ้มประตูวัดจะเห็นภาพปูนปั้นจำลองพระปิดตาที่ว่านี้

บางกะเจ้า

           จุดหมายต่อไปอยู่ที่วัดป่าเกด ซอยเพชรหึงษ์ 16 เมื่อกลับมาปั่นบนถนนใหญ่อาจต้องเพิ่มสติขึ้นอีกนิด เนื่องจากมีรถสัญจรขวักไขว่ทั้งวัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ที่รถน้อยใหญ่ต่างมุ่งหน้าไปสู่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

           วัดป่าเกด เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ความงดงามของอุโบสถสะกดสายตาชาวสองล้อได้อยู่หมัด ตั้งแต่ปีกนก รวงผึ้ง คันทวยไม้แกะสลักประดับกระจกสี มีเครื่องถ้วยกระเบื้องตกแต่งหน้าอุโบสถ ไล่ไปจนถึงหน้าบันไม้ แกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณอยู่กลางลวดลายเครือเถาอันวิจิตร ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังรูปชาดก ไตรภูมิ เทพชุมนุมและมารผจญ แต่เสียดายอยู่ว่าภาพวาดเลือนไปมาก อาจด้วยจากความขึ้น เพราะรอบ ๆ อุโบสถมีน้ำขังตลอดเวลา บวกกับความชื้นของพื้นหินอ่อนยิ่งเร่งให้ภาพเลือนเร็วขึ้น

           ถัดมาที่ซอยเพชรหึงษ์ 14 เป็นทางเข้าวัดจากแดง วัดที่มีพระสงฆ์คับคั่งมากที่สุดในย่านนี้ เนื่องจากเป็นสถานที่ศึกษาภาษาบาลี เพื่อพระไตรปิฎก และเป็นแหล่งศึกษาพระอภิธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป มีหลวงพ่อหิน พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่เห็นคนมาสักการะไม่ขาดสาย และมีงานนมัสการหลวงพ่อหิน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ของทุกปี นอกจากนี้ เวลา 17.00 - 18.30 นาฬิกาของทุกวัน จะมีกิจกรรมทำวัตรเย็นในวิหารหลวงพ่อหิน

บางกะเจ้า

บางกะเจ้า

           ทางเดินไปริมแม่น้ำร่มรื่นช่วยคลายเหนื่อยได้มาก ก่อนถึงริมน้ำจะเห็นธัมเมกขสถูปจำลอง จำลองสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และพระธาตุสมันมหาปัฏฐานเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหน้าเจดีย์มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งนำเมล็ดพันธุ์มาจากสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย

           เส้นทางปั่นวันนี้เรียกว่าเป็นเส้นทางสายธรรมะ หรือสายวัดเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าหากปั่นข้ามคลองลัดโพธิ์ไปยังฝั่งพระประแดงจะพบวัดที่น่าสนใจอีกมาก เช่น วัดทรงธรรมวรวิหาร สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 2 พระอารามหลวงชั้นโท สร้างเพื่อเป็นที่ยืดเหนี่ยวจิตใจให้ชาวมอญที่อพยพมาจากปทุมธานี

           ไม่ไกลกันนักคือวัดโปรดเกศเชษฐาราม เดิมชื่อวัดปากคอลง เป็นอารามหลวงชั้นศรีสร้างในรัชกาลที่ 2 อยู่ริมคลองลัดหลวง มีการผสมผสานศิลปะจีนเข้าไปในหลายด่วน เช่น มีเก๋งจีนรอบพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับถ้วยชามจากเมืองจีน นอกจากนี้ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ ลงรักปิดทอง ยาว 6 วา 2 ศอก ซึ่งถือเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ

           ปั่นข้ามสะพานไปยังฝั่งตรงข้ามคือวัดไพซอนต์พลเสพย์ สร้างในรัชกาลที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ เมื่อครั้งเป็นแม่กองสร้างนครเขื่อนขันธ์และป้อมเพชรหึงษ์ ลักษณะการสร้างคล้ายกับวัดโปรดเกศเชษฐาราม

           แม้เส้นทางปั่นจักรยานเส้นนี้จะเน้นชมวัดเสพศิลป์ อิ่มธรรม ไปสักหน่อย แต่ก็ไม่มีชาวสองล้อคนไหนบ่นเบื่อเลย เพราะแต่ละวัดมีเอกลักษณ์ความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป หากไม่ได้มานั่งอยู่บนอานจักรยาน สาบานได้ว่าฉันก็จะข้ามของดี ๆ ในวัดแถบนี้ไปอีกเช่นเคย

       ปั่นชมวิถี

           วันนี้กะไว้ว่าจะลองปั่นเข้าไปในแหล่งชุมชนแบบสบาย ๆ แวะรายทางไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มต้นกันที่วัดบางน้ำผึ้งนอก ปั่นเลาะข้างวัดไปตามทางปูนเล็ก ๆ ผ่านป่าจากเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน Bangkok Tree House รีสอร์ตใหม่อิงแอบธรรมชาติ จนไปหยุดที่ศาลาวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้งโฮมสเตย์ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้พบกับคุณอาภรณ์ พานทอง รองประธานโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง ผู้บุกเบิกการทำโฮมสเตย์ของบางน้ำผึ้ง ฉันแทบไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จหรือถามหามาตรฐานอะไรมากมายของกลุ่มโฮมสเตย์ที่นี่ เพราะรับรู้ได้จากจำนวนคนที่หมุนเวียนมาพักผ่อน ดูงานไม่ขาดสายตลอด 8 ปี นอกเสียจากจะชวนคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศรอบบ้าน

บางกะเจ้า

           "เมื่อก่อนไม่มีโรงงาน ไม่มีโรงไฟฟ้า ไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน เชื่อไหมน้ำหน้าบ้านใสเหมือนตาตั๊กแตนเลย ตอนนั้นมีพวกปูสี ปลากระบอก ปลาน้ำเค็ม เข้ามาเวลาน้ำขึ้นเต็มไปหมดสมบูรณ์มาก"

           "พอมีโรงไฟฟ้า เขาปล่อยน้ำร้อนลงแม่น้ำ ปลากระบอกก็ว่ายทวนน้ำขึ้นมาไม่ได้ โรงงานบ้านเรือนข้างบนก็ปล่อยน้ำเสียลงมา เราอยู่ตรงนี้พยายามปลูกต้นไม้ให้มากที่สุด และช่วยกันดูแลน้ำ ให้สมที่ได้รับยกย่องให้เป็นปอดของคนเมือง แต่สิ่งที่พวกเราได้รับคืออะไร" ฉันไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามทิ้งท้ายนี้ว่าอย่างไร

บางกะเจ้า

           จับจักรยานปั่นลัดเลาะทางปูนและป่าจากต่อไป จนถึงสวนป่าชุมชน แล้วไปบรรจบกับซอยเพชรหึงษ์ 26 ซึ่งเป็นด้านหลังของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

           เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์มาเยือน โฉมหน้าของตลาดน้ำบางน้ำผึ้งที่เงียบสงัดแห่งนี้ ก็กลับคับคั่วด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ที่มาจับจ่ายและหมายฝากท้องกับอาหารอร่อย มีสินค้าท้องถิ่นของคนบางกะเจ้าหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น น้ำฟักข้าว สมุนไพรพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง แก้โรคภูมิแพ้ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์ล้างจานสูตรรักษ์โลกของกลุ่มบางน้ำผึ้งพอเพียง แส้ปัดที่นอนทำจากทางต้นจาก ผลิตภัณฑ์จากกาบหมากของร้านปั้นแต่ง เช่น สังเหวียน สำหรับรองหม้อกันร้อน พัดกาบหมาก เนียน ใช้สำหรับปาดอาหาร เป็นต้น

บางกะเจ้า

           ออกจากตลาดมาทางด้านหลัง เราปั่นลอดซุ้มหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว มาแวะที่บ้านธูปหอมสมุนไพร แต่ไหงกลับเห็นฝรั่งหนุ่ม 2 คน จับตะหลิวทำไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ท่าทางเก้ ๆ กัง ๆ มารู้อีกทีที่นี่นอกจากจะสอนทำธูปหอมไล่ยุงแล้ว ยังเปิดบริการนำเที่ยวโดยจักรยาน และรับกลุ่มทัวร์จักรยานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาทำกิจกรรมสนุกได้ทั้งวัน เรียกว่าอยู่บ้านธูปหอมสมุนไพร 1 วัน ได้วิชาความรู้กลับไปประกอบอาชีพได้เลย ทั้งสอนทำอาหารไทย ทำผ้ามัดย้อม ปั้นดอกไม้จากดิน ทำหมอน ฯลฯ แอบกระซิบว่าเป็นการให้ความรู้และอิ่มท้องในราคามิตรภาพเป็นที่สุด

       เย็นย่ำ

           เราค่อย ๆ เข็นจักรยานขึ้นเนินเพื่อแยกย้ายกันกลับ บางคนพับเก็บจักรยานคันจิ๋วใส่ไปในท้ายรถ บางคนก็ปั่นลงเรือ แล้วปั่นต่อเข้าเมืองไปเลย

           ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าคนอ่านจะอยากมาปั่นจักรยานในกระเพาะหมูแห่งนี้กันมากขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ หลังกลับจากทำสารคดีเรื่องนี้ ฉันทราบข่าวว่าพ่อเล็กเตรียมถอยจักรยานคันใหม่ให้ลูกสาว และชวนเออกไปรู้จักบ้านตัวเองโดยปั่นตามรอยล้อจักรยานไร้เบรกของพ่อคันเดิม

           นมัสการ

           พระสุรพงษ์  บุญญสิทธิ์ วัดจากแดง

           ขอขอบคุณ

           ครอบครัวอ่วมเจริญ

           ครอบครัวใหญ่ที่เอื้อเฟื้อทั้งที่พัก

           แรงกาย แรงใจ  และข้อมูลบางกะเจ้า

           ทีมงานจักรยานพับ คุณเอ คุณวี

           น้าบอมม์  น้องแอนนา คุณซาน

           กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้งโฮมสเตย์

           ร้าน one fine day bicycle เฟซบุ๊ก One Fine Day

           ร้าน Bird Bike Shop ปากซอยอินทามระ 29

           โทรศัพท์  08 3304 0497, 08 9231 6407

           และชาวบ้านบางกะเจ้า ตลอดสองข้างทางปั่น

           ที่เป็นมิตร อบอุ่น และช่วยให้สารคดีเรื่องนี้ลุล่วงด้วยดี

           คู่มือนักเดินทาง

บางกะเจ้า


           นักปั่นทั้งหลายสามารถนำจักรยานลงเรือได้ที่ท่าเรือคลองเตยนอก ซึ่งจะมีเรือข้ามไม่ยังท่าเรือบางกะเจ้า (ท่าเรือกำนันขาว) และทำเรือเพชรหึงษ์ (ใกล้วัดบางกอบัว) หากข้ามจากท่าเรือช่องนนทรี จะขึ้นฝั่งบางกะเจ้าที่ท่าเรือวัดบางกะเจ้านอก และหากข้ามจากท่าเรือวัดบางนานอก จะสามารถข้ามไปยังท่าเรือวัดบางน้ำผึ้งนอกและท่าเรือตาเลื่อนได้

           มีบริการทั้งเรือขนาดเล็กคล้ายเรือหางยาวที่ต้องขนจักรยานลงไปในเรือเลย หรือเรือแท็กซี่ลำใหญ่ขึ้นมานิด ที่จะต้องเข็นจักรยานวางไว้ตรงหัวเรือส่วนคนปั่นก็ยืนจับจักรยานไว้ ราคาเรือข้ามฟากของจักรยานรวมคนปั่นอยู่ที่ประมาณ 10-50 บาท แต่อาจขึ้นได้ครั้งละไม่เกิน 3-4 คัน หากเป็นเรือเช่าเหมาทั้งลำสอบถามราคาได้ที่ท่าเรือ หรือหากเป็นจักรยานพับเล็ก ๆ จำใส่ท้ายรถ ขับไปตามทางพิเศษเฉลิมมหานคร ลงที่ถนนสุขสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายสู่ถนนนครเขื่อนขันธ์ แล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนเพชรหึงษ์อีกที คราวนี้พอใจจะเริ่มปั่นจากจุดใดก่อนก็ได้ ซึ่งสามารถปั่นเชื่อต่อกันได้เกือบทั้งหมด

       อยากปั่นในกระเพาะหมู่ หมูต้องทำอย่างไรบ้าง

           มีจักรยานส่วนตัวก็ปั่นมาได้ ไม่มีก็มาเช่าได้

           พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมร่างกายให้พร้อม แต่ไม่จำเป็นต้องฟิตจัดขนาดจะลงแข่งตูร์ เดอ ฟรองช์

           สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ระบายอากาศได้ดี ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมมากมาย ก็ปั่นได้ไม่ต้องอายใคร

           เตรียมอุปกรณ์กันแดด กันฝนพร้อมทุกสถานการณ์ และอย่าลืมติดกระบอกน้ำส่วนตัวติดไว้บ้าง

           บางช่วงสุนัขดุ (มักมีป้ายเตือนติดไว้ หรือไม่ก็จะได้ยินเสียงเห่านำมาก่อน) ให้ชะลอรถ สบตา แล้วพูดจากันดี ๆ (ข้อนี้แล้วแต่ดวง)

           ทางปูนเล็ก ๆ ที่ลัดเลาะร่องสวน บางช่วงมีราวกั้นสองข้าง บางช่วงมีราวกั้นด้านเดียว และบางช่วงไม่มีราวกั้น แต่หากทรงตัวได้ดีแล้วก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ทางเล็ก ๆ นี้หากเป็นช่วงฝนตก จะมีตะไคร่ขึ้น ควรปั่นด้วยความระมัดระวัง

           มีคนถามว่าต้องมีหมวกกันน็อกหรือไม่ เอาเป็นว่าถ้ามี ใส่ไว้ก็ดีแต่ปกติชาวบ้านแถบนี้เขาก็ปั่นกันโดยปราศจากหมวกกันน็อก (ข้อนี้แล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคล) ส่วนตามกฎหมาย ไม่มีกฎหมายจักรยานข้อใดกำหนดให้ต้องสวมหมวกน็อกเมื่อเริ่มปั่น

           ข้อนี้สำคัญมาก หากพร้อมแล้ว อย่ารอช้า กระโดดขึ้นอาน แล้วปั่นท่องกระเพาะหมูเลย

บางกะเจ้า

        ไม่มีจักรยานกับเขา  เราจะเช่าที่ไหนปั่น

           สามารถเช่าได้ที่ท่าเรือบางกะเจ้า (ท่าเรือกำนันขาว) ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ศรีนครเขื่อนขันธ์ บ้านธูปหอมสมุนไพรโฮมสเตย์บางน้ำผึ้ง โดยมากราคาเช่าจักรยานจะอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อชั่วโมง หรือ 100 บาท ต่อวัน มีหลายแบบหลายไซส์ให้เลือก

        จักรยานเสียในกระเพาะหมู จะซ่อมที่ไหน

           ร้านซ่อมจักรยานพี่หมึก ปากซอยวัดบางขมิ้น เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 18.00 นาฬิกา โทรศัพท์ 0 2816 4670

           ร้านซ่อมจักรยานพี่ตู่ อยู่ในชมรมวิ่ง-จักรยานนครเขื่อนขันธ์ มีบริการนำคนขี่จักรยานที่ประสบอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล โทรศัพท์ 08 7329 6021

           ร้านซ่อมจักรยานลุงจุ่น เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 - 16.00 นาฬิกา โทรศัพท์ 0 2815 0573

           ศึกษาไว้ก่อนไปกระเพาะหมู

           พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย

           เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-17.00 นาฬิกา

           โทรศัพท์ 0 2815 0147, 0 2461 3710 เว็บไซต์ www.fightingfishgallery.com

           ไม่เก็บค่าเข้าชม รับบริจาคตามศรัทธา

           ภายในมีส่วนของโรงแรมปัญญ์ธารา และมีสถานที่จัดเลี้ยง ประชุมสัมมนาบริการ

           สวนสาธารณะ และสวนพฤกษศาสตร์ศรีนครเขื่อนขันธ์

           เปิดทุกวัน โทรศัพท์ 0 2461 0972
           ด้านหน้าสวนมีบริการให้เช่าจักรยาน ชั่วโมงละ 50 บาท ทั้งวัน 100 บาท

           โฮมสเดย์บางน้ำผึ้ง

           ราคา 400 บาท ต่อคน ต่อคืน (รวมอาหารเย็น อาหารเช้า และอาหารสำหรับใส่บาตร) หากต้องการนั่งเรือชมวิถีชีวิตรอบ ๆ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ราคา 50 บาท ต่อคน ขั้นต่ำ 10 คน และมีบริการให้เช่าจักรยาน

           หากต้องการศึกษาดูงาน และเข้าร่วมกิจกรรมฐานต่าง ๆ เช่น ฐานเรียนรู้การจัดการสถาบันการเงิน ฐานแพทย์แผนไทย สวนสมุนไพรนวดแผนไทย ฐานกลุ่มพอเพียง ทำผลิตภัณฑ์จากพืชผลการเกษตร เช่น สบู่ฟักข้าว ฐานโฮมสเดย์ฐานตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ฯลฯ สอบถามรายละเอียด และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ คุณมะลิ พูนสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้งโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 08 1347 3997 หรือคุณอาภรณ์ พานทอง รองประธานฯ โทรศัพท์ 08 9807 2501

บางกะเจ้า

           บ้านธูปหอมสมุนไพร

           ซอยเพชรหึงษ์ 52 เปิดบริการทุกวัน มีบริการให้เช่าจักรยาน และมีไกด์บริการ หากต้องการร่วมอบรมวิชาชีพ  เช่น ทำผ้ามัดย้อม ทำธูปหอมไล่ยุง ปั้นดอกไม้จากดิน ฯลฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2815 0729, 08 6569 1650

           ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

           เปิดบริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00 นาฬิกา จนถึงเย็น แต่ควรไปแต่เช้า เพราะช่วงบ่ายของจะเริ่มหมด โทรศัพท์ 0 2819 6762

           แวะพัก แวะกิน กลางถิ่นกระเพาะหมู

           ร้านข้าวหมกไก่บังมัด

           ตั้งอยู่ก่อนซอยเพชรหึงษ์ 20/1 ขายข้าวหมกไก่ ข้าวไก่ทอด ซุปไก่ ซุปเนื้อ ซุปหางวัว ขายตั้งแต่เช้า หมดประมาณเที่ยง

           ร้านแป๊ะเฮง 2

           ตั้งอยู่ตรงข้าม อบต. บางยอ ขายข้าว หน้าเป็ด ก๋วยเตี๋ยวเป็ด เครื่องในเป็ด

           ร้านกาแฟสวนไม้เอก

           ตั้งอยู่ถัดจากซอยเพชรหึงษ์ 10 จำหน่าย ชา กาแฟ และเครื่องดื่มปั่นทุกชนิด รสชาติเข้มข้น

           ร้านก๋วยเตี๋ยวสวนบ้านโปร่ง

           ตรงเกาะกลางปากซอยเพชรหึงษ์ 33 ขาย ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำและอาหารตามสั่ง

           ครัวลูกจันทร์

           อยู่ในซอยเพชรหึงษ์ 33 ก่อนถึงสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ จำหน่ายอาหารตามสั่งทุกชนิดและมีบริการซ่อมรถจักรยาน โทรศัพท์ 08 1254 1536

           บ้านจันทร์หอม

           อยู่ถัดจากซอยเพชรหึงษ์ 25 บริการนวดร่างกาย คลายเส้น สำหรับนักปั่นสองล้อ


บางกะเจ้า








 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บางกะเจ้า...ปั่นตามทางกลางกระเพาะหมู อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2555 เวลา 11:56:39 19,943 อ่าน
TOP