เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์
กทพ. ประกาศเปิดให้เอกชนประมูลที่ดิน พัฒนาที่ริมเจ้าพระยาคล้ายเอเชียทีคเป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่ที่สำคัญ พร้อมพัฒนา 5 พื้นที่สำคัญใน กทม.
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ใต้เขตทางด่วน อยู่ระหว่างร่างกรอบข้อกำหนด (TOR) โครงการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณสะพานแขวน ติดแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่กว่า 20 ไร่ เพื่อประกาศหาเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนระยะยาว 30 ปี โดยจะพิจารณาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ คาดว่าจะออกประกาศได้ในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นเปิดประมูลให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาโครงการเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556
โดยแหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิดการพัฒนาโครงการจะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส หรือผสมผสานการพัฒนารูปแบบ ที่หลากหลายเช่น ที่อยู่อาศัยในลักษณะโรงแรมระดับ 3-5 ดาว พื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นแหล่งช้อปปิ้งในรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์ จุดชมวิวริมแม่น้ำ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งแนวคิดโมเดลที่เห็นชัดที่สุด น่าจะเป็นแนวคิดที่คล้ายกับโครงการเอเชียทีคที่พัฒนาจนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวและแหล่งช้อปปิ้ง รวมถึงจะเป็นโมเดลเดียวกับในฮ่องกงและออสเตรเลีย ด้านเงินลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับแนวคิดการพัฒนาโครงการของเอกชนที่จะเสนอประมูลสัมปทานเข้ามาด้วย รวมถึงรายได้การพัฒนาพื้นที่ ซึ่ง กทพ.จะได้รับตลอด 30 ปีด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะแปลงตรงสะพานแขวนที่เป็นไฮไลท์แล้ว กทพ. ยังมีอีกแปลงที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำรายละเอียดโครงการ คือ บริเวณทำเลอโศกติดสำนักงานใหญ่ของบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล มีพื้นที่ 50 ไร่ เตรียมมาประมูลหาเอกชนมาพัฒนาเช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างปี 2556
ในขณะที่แปลงอื่น ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนให้ กทพ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเสนอให้จัดทำโครงการนำร่อง 5 แห่ง ขณะนี้มีกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือขอใช้พื้นที่เพื่อพัฒนา โครงการตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้เป็นสถานที่จัดทำโครงการส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) และเสริมสร้างสุขภาพพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก
ทั้งนี้ ทั้ง 2 กระทรวงขอใช้พื้นที่ ได้แก่
1. บริเวณสุขุมวิทช่วงเพลินจิต ประมาณ 7,245 ตารางวา โดยกระทรวงสาธารณสุขขอใช้พื้นที่ 5 ปี พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก เช่น ลานกีฬา สนามเด็กเล่น ลานออกกำลังกาย ห้องสมุด ศูนย์เรียนรู้ การฝึกอาชีพ
2. บริเวณถนนสีลม พื้นที่ 1,606 ตารางวา ตั้งแต่ถนนสีลมถึงสุรวงศ์ ทางกระทรวงมหาดไทยขอใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์แสดงสินค้าโอท็อป โดยจะยกระดับเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม
3. บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 108,946 ตารางวา เริ่มต้นจากซอยศูนย์วิจัยจนถึงถนนรามอินทรา ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขจะขอใช้พื้นที่นำมาพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่แสดงสินค้าโอท็อป เหมือนกับที่ดินบริเวณเพลินจิต
4. บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ซอยศาสนา
5. บริเวณทางเข้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติของทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกตะวันออก)
โดยปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนขอใช้พื้นที่ แต่มีแนวโน้มว่า กทพ. จะนำที่ดินบริเวณดังกล่าวมาประมูลหาเอกชนมาพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดหารายได้เพิ่มต่อไป ปัจจุบัน กทพ. มีรายได้จากค่าเช่าการพัฒนาพื้นที่ใต้เขตทางเฉลี่ยประมาณ 140 ล้านบาท/ปี
สำหรับแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ใต้ทางด่วน ตามที่ กทพ. ได้ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาและจัดทำแผนแม่บท นำร่อง 5 แห่ง มีข้อเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาให้ บริเวณถนนสีลม พัฒนาเป็นแบบผสมผสาน เช่น ทางเท้า สวนพักผ่อน ลานโล่งสาธารณะ ลานกีฬาชุมชน และเพื่อธุรกิจ เช่น ตลาดชุมชน ตลาดอาหาร ตลาดสินค้า มอลล์เล็ก ๆ ที่จอดรถ ศูนย์บริการรถขนส่ง ที่จอดรถและร้านค้าขนาดเล็ก ลานจอดรถในระยะสั้นและระยะยาว
ในส่วนของบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ซอย ศาสนา เน้นการขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก เพราะเป็นศูนย์รวมคมนาคม เช่น ศูนย์รถตู้ จะมีโถงพักรอผู้โดยสาร ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องน้ำ ร้านค้าเครื่องดื่ม และพื้นที่สวน พื้นที่พาณิชยกรรม เน้นขายอาหารและสินค้า ในขณะที่บริเวณ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม มีแนวคิดการพัฒนา เช่น ศูนย์กีฬา ลานกิจกรรมและส่วนบริการ ลานจอดรถ ตลาดนัดสวนหย่อม และ บริเวณทางเข้าด่านจตุโชติ เสนอให้ทำเป็นจุดพักรถ ภายในจะมีสถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ลานจอดรถ จุดซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ที่ครบครันด้านบริการ รวมถึงเป็นจุดรองรับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ด้วย เนื่องจากอยู่ในเส้นทางที่เข้าออกเมืองได้สะดวก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก