x close

ไปส่องวาฬบรูด้า...ในทะเลอ่าวไทยตอนบน

วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ สายชล สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          หลายคนอาจไม่รู้ว่าทะเลในประเทศไทยของเรา สามารถยลโฉมความน่ารักน่าชังของเจ้า "วาฬบรูด้า" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ได้เหมือนกันนะ เพราะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าพื้นที่อ่าวไทยเป็นแหล่งอาศัยและศึกษาเกี่ยวกับวาฬบรูด้าแหล่งใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย โดยถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยไปแล้ว ซึ่งประเมินว่ามีจำนวนประชากรราว 35 ตัว...ว้าว!
 
          สำหรับ วาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ มีขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม พบกระจายพันธุ์ในท้องทะเลเขตอบอุ่นทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ในอ่าวไทย สามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบบ่อยที่ทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

          นั่นแน่! เริ่มอยากเห็นเจ้า "วาฬบรูด้า" แล้วใช่ไหมล่ะ ถ้าอย่างนั้นก็ตาม คุณ สายชล สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ไปสำรวจ "วาฬบรูด้า" ที่กำลังหากินอยู่แถว ๆ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านบันทึกการเดินทางและภาพสวย ๆ กันเลยดีกว่า

วาฬบรูด้า

          ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการศึกษาวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนบนอยู่เป็นประจำ เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2554) สองสายเองก็เคยได้รับการเชิญชวนให้ไปร่วมสังเกตการณ์และถ่ายภาพวาฬบรูด้า ที่วังตะบูน เขตจังหวัดเพชรบุรี มาแล้วหลายครั้ง...

          ท่านสามารถอ่านเรื่อง "ไปดูวาฬ...ที่บางตะบูน" ได้ที่

          - ไปดูวาฬ...ที่บางตะบูน

          - Bryde\'s Whale Watch @ Bangtaboon

วาฬบรูด้า

          เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สองสายได้รับการเชิญชวนจาก น้องตึก (ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล) หรือ น้องแม่หมูน้ำ ของพวกเราชาว SOS และ น้องหนึ่ง (สุรศักดิ์ ทองสุกดี) ผู้เชี่ยวชาญด้านวาฬบรูด้าและโลมาอิรวดี แห่งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ให้ออกไปร่วมสังเกตการณ์การสำรวจและร่วมถ่ายภาพวาฬบรูด้า ที่กำลังหากินอยู่แถว ๆ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

          คราวนี้เราจะใช้เรือเร็วของ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสองสายคุ้นเคยดี เพราะชาว SOS ได้เคยไปปลูกป่าชายเลนและทัศนศึกษาที่นี่มาแล้วเมื่อสองสามปีก่อน เมื่อไปถึงจุดที่จอดเรือ...น้องตึก น้องหนึ่ง และทีมงาน เตรียมพร้อมอยู่ที่ท่าเรือแล้ว

          เรือแล่นออกไปตามคลองที่มีไม้ชายเลนขึ้นหนาแน่นกว่าที่เคยได้เห็น จนเรือทะลุออกไปที่ชายทะเล ซึ่งบัดนี้มีไม้ไผ่ปักเรียงรายอยู่เป็นแถวเป็นแนว เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมทะเล และช่วยกักเก็บตะกอนเพื่อเพิ่มพื้นแผ่นดิน ซึ่งดูจะได้ผลดีเกินคาด

วาฬบรูด้า

          เช้าวันนั้น... ท้องฟ้าแจ่มใสและไร้ฝน ช่างผิดกับการสำรวจในหลาย ๆ วันที่ผ่านมา ที่เจอทั้งฝนทั้งลมอย่างหนัก จึงนับเป็นโชคดีของทีมงานและสองสายจริง ๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม แม้ลมจะอ่อนแต่ในยามน้ำลงต่ำมากเช่นขณะนั้น คลื่นหัวเดิ่งก็สูงเอาเรื่อง น้องแป๊ะ (ที่เคยทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยฯ สมุทรสาคร และสองสายเคยพบมาแล้วหลายครั้ง เมื่อครั้งได้มาปลูกป่าชายเลนในเขตมหาชัย) บังคับเรือเร็วของศูนย์อนุรักษ์ฯ ฟันคลื่นปัง ๆ ผ่านออกไปทางบริเวณหน้าที่ทำการศูนย์อนุรักษ์ฯ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากคลองนัก พลันก็เห็นเรืออวนรุนเล็ก ๆ กำลังลงรุนอวนอยู่ โดยไม่รู้ว่าบริเวณนี้ห้ามทำประมงอวนรุน สิ่งที่เราได้เห็นจึงเป็นการทำประมงผิดกฎหมายต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่แบบเต็มเปา

          เรือเร็วโฉบเข้าไปหาเรืออวนรุน น้องแป๊ะ และเจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ฯ ได้แจ้งให้ชาวประมงเรืออวนรุนที่มีอยู่ในเรือเพียงคนเดียว หยุดปฏิบัติการอันผ่าฝืนกฎหมาย และให้เคลื่อนย้ายเรือออกไปจากพื้นที่นี้โดยเร็ว เราเห็นชาวประมงพลัดถิ่นคนนั้น หน้าเหลือสองนิ้ว และเริ่มยกอวนรุนขึ้นมาอย่างเร็วรี่...ไม่ถูกจับปรับ และขังคุก ก็ถือเป็นบุญแล้วนะคะ

วาฬบรูด้า

          เรือเร็วเริ่มแล่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโคกขาม เป้าหมายคือ แท่นสกุณา หรือบางทีก็เรียกว่า Pilot ซึ่งเป็นแท่นที่ตั้งอยู่กลางทะเล ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางใต้ราว 18 กิโลเมตร

วาฬบรูด้า

          แต่เรือแล่นฟันคลื่นตูม ๆ ออกไปไม่ทันจะถึงเขตบางขุนเทียนดี ก็มีเสียงตะโกนบอกมาจากหัวเรือว่า "วาฬกำลังแทงปลา ที่ 12 นาฬิกา" พวกเราเริ่มขยับตัว เตรียมกล้องที่เก็บไว้ในกล่องกันน้ำ บางกล้องก็ติดเลนส์กระบอกยาว ๆ บางกล้องก็เป็นกล้องเล็ก ๆ ชนิดพกพาได้ พอเตรียมกล้องพร้อมแล้ว ต่างคนต่างก็แยกย้ายไปยืนตามมุมต่าง ๆ ของเรือ แล้วแต่ถนัดและมีที่ว่างพอ เมื่อแล่นไปใกล้จุดที่เห็นวาฬโผล่ขึ้นมา เรือก็เริ่มลดความเร็ว เสียงเรือที่ดังแสบแก้วหูพลันเบาลง จนพอจะพูดคุยกันได้โดยไม่ต้องตะโกน ไม่นานนักวาฬตัวเขื่องก็โผล่ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ เรือที่โคลงเคลงไปมาตามแรงคลื่นที่สูงราวครึ่งเมตร ทำให้ยากจะถ่ายภาพด้วยกล้องที่ติดเลนส์กระบอกยาว ๆ ได้

วาฬบรูด้า

          วาฬไม่ได้มีตัวเดียว แต่มีถึงสองสามตัว ว่ายวนเวียนไปมาเหมือนกำลังว่ายไล่เล่น หรือออกกำลังกายยามเช้า เสียงกล้องรัวลั่นอย่างกับปืนกล แข่งกับเสียงของน้องตึก น้องหนึ่ง น้องขาว และน้องตอง ที่ต่างเริ่มต้นพูดคุยกันว่าวาฬที่เห็นเป็นตัวไหน ชื่ออะไรกันแน่ โดยใช้ลักษณะของครีบหลังเป็นตัวบอก

วาฬบรูด้า

          น้องตึก บอกว่าหนึ่งในวาฬสองสามตัวที่เห็นนั้น เป็น "เจ้าบันเทิง" วาฬขี้เล่นที่สองสายเคยพบมาแล้วแถว ๆ บางตะบูน

วาฬบรูด้า

          วาฬที่เราได้เห็นเป็นวาฬพันธุ์บรูด้าล้วน ๆ วาฬมารวมตัวกันไกลจากบางตะบูนที่เราเคยได้เห็น เป็นเพราะแถวนี้มีปลากะตัก ซึ่งเป็นอาหารโปรดของวาฬมารวมตัวกันมากมาย บางวันที่คณะทำงานได้ออกสำรวจ สามารถพบวาฬสูงสุด 16-17 ตัว ในวันเดียว

          วาฬคู่หนึ่งว่ายวนเวียนไปมารอบ ๆ เรือเหมือนไล่จีบกัน....

วาฬบรูด้า

          วาฬพ่นน้ำฟู่ ๆ ได้ยินเสียงดังถนัดหู ตัวหนึ่งเฉียดเข้ามาใกล้หัวเรือและพ่นน้ำกระเด็นเป็นฝอย เล่นเอาพวกเราที่ยืนอยู่หัวเรือเร็วหลบกันไม่ทัน พากันเปียกปอนไปทั้งคนและกล้อง ตามปกติถ้าวาฬกินอาหารเต็มท้อง เวลาพ่นน้ำใกล้ ๆ เราอย่างนี้ จะมีกลิ่นเหมือนปลาเน่าโชยออกมาฉุย ๆ แต่นี่ไม่มีกลิ่น แสดงว่าวันนี้วาฬยังไม่ได้กินอาหารเช้า

วาฬบรูด้า

          เรือแล่นเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ เขตบางขุนเทียน เราเห็นกนางนวลสองสามตัว บินวนเวียนอยู่บนท้องฟ้า นั่นแสดงว่ามีวาฬกำลังหากินอยู่แถว ๆ นั้น และแล้ววาฬตัวหนึ่งก็โผล่หัวสูงขึ้นมางับปลากะตัก ซึ่งเราเรียกอาการนี้ของวาฬอีกอย่างหนึ่งว่า "แทงปลา"

วาฬบรูด้า

          แต่ความที่น้ำตื้นเพียง 5 เมตร วาฬตั้งตัวกินอาหารอยู่ได้เพียงแป๊บเดียวก็ลงไปนอนตะแคงงับปลากะตักกิน

วาฬบรูด้า

          กัปตันแป๊ะ ดับเครื่องเรือให้เราได้ถ่ายภาพน้องวาฬที่เริ่มโผล่ที่นั่นที่นี่ เราต้องแพนกล้องถ่ายภาพตามไปเรื่อย ๆ ผ่านไปพักเดียวเราก็ปวดเมื่อยแขนกันน่าดูเลยล่ะค่ะ

วาฬบรูด้า

          เรือที่เอียงซ้ายเอียงขวา กระดกหน้ากระดกหลัง ด้วยเหตุเพราะคลื่นสูง เป็นอุปสรรรคในการถ่ายภาพมากค่ะ การยืนบนเรือและถือกล้องหนัก ๆ ให้อยู่นิ่ง ๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง ฉะนั้น การจะให้กล้องจับโฟกัสให้ได้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยจังหวะและโชคต้องช่วยจริง ๆ

วาฬบรูด้า

          คลื่นเริ่มสูงขึ้นเป็นเมตรกว่า ๆ และใกล้จะเที่ยงแล้ว ทีมงานตัดสินใจนำเรือเข้าไปหลบคลื่นลมอยู่ข้างเรือลำใหญ่ ที่จอดนิ่งอยู่กลางทะเลที่มีความลึกเพียง 4-5 เมตร และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาราว 5 กิโลเมตร เพื่อพักรับประทานอาหารเที่ยงกัน อาหารคาวหวานที่เตรียมติดตัวมาลงเรือ ถูกนำมาจัดวาง ทุกคนลงมือรับประทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อย

วาฬบรูด้า

          รับประทานอาหารกันเสร็จสรรพ เราตั้งใจจะไปมองหาวาฬกันแถว ๆ แท่นสกุณา แต่คลื่นที่สูงมากกว่าเมตรทำให้เสี่ยงเกินไปที่จะแล่นเรือตัดคลื่นไปยังแท่นสกุณา ซึ่งอยู่ไกลออกไปกว่าสิบกิโลเมตร น้องแป๊ะ กัปตันเรือจึงตัดสินใจหันหัวเรือ กลับมาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงนี้เองที่เรามองเห็นภาพพาโนรามาของกรุงเทพเมืองฟ้าอมรได้ถนัดตา

วาฬบรูด้า

          เรือย้อนกลับไปทางบ้านขุนสมุทรจีน ที่อยู่ทางทิศตะวันตก แต่แล้วจู่ ๆ เราก็เห็นวาฬตัวหนึ่งขึ้นมาแทงปลาเหนือผิวน้ำ ไม่ห่างจากชายฝั่งเมืองพระประแดง ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเลยค่ะ

วาฬบรูด้า

          น้องวาฬขึ้นมาแทงปลาอยู่ครั้งละนาน ๆ แสดงว่าบริเวณนั้น น่าจะมีน้ำลึกกว่าบริเวณที่เรือลำใหญ่จอดอยู่ เมื่อเรือแล่นเข้าไปใกล้ เครื่องวัดความลึกบอกว่าแถว ๆ นั้นมีความลึกของน้ำราว 7-8 เมตร

วาฬบรูด้า

          น้องตึก บอกว่าวาฬตัวนี้ชื่อว่า "เจ้าสุขใจ" ท่าทางจะสุขใจสบายกายเต็มที่ เพราะเจ้าสุขใจแทงปลาหาอาหารเพลิดเพลินเจริญใจมาก ๆ ไม่สนใจเลยว่าตัวเองอยู่ใกล้ฝั่งเพียงใด น้ำทะเลแถวนั้นเป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่ และมีใครมาแอบดูตัวเองอยู่บ้าง



          น้องวาฬอ้าปากงับปลากะตักได้ครั้งละนาน ๆ อย่างนี้ แสดงว่าเขาแข็งแรงสมบูรณ์ มีอาหารให้กินเยอะแยะมากมาย และ น้ำก็น่าต้องลึกทีเดียวค่ะ

วาฬบรูด้า

          พอได้อาหารมากพอ ก็ขอกลืนกินอาหารสักหน่อยนะคะ

วาฬบรูด้า

          น้องสุขใจ ยังคงหากินอย่างไม่ทุกข์ไม่ร้อนต่อไปเรื่อย ๆ

วาฬบรูด้า

          น้องวาฬเริ่มว่ายหากินไปทางบ้านขุนสมุทรจีน เราก็แล่นเรือตามน้องวาฬไปเรื่อย ๆ

วาฬบรูด้า

          และนกนางนวลก็ยังตามน้องวาฬไปเรื่อย ๆ เช่นกัน

วาฬบรูด้า

          นกนางนวลกับวาฬบรูด้าในอ่าวไทย ดูจะเป็นของคู่กันนะคะ

วาฬบรูด้า

          บางตัวกล้าหาญชาญชัยขนาดบินเข้าไปขโมยปลากะตักในปากวาฬ

วาฬบรูด้า

          ได้เห็นวาฬบรูด้าและนกนางนวลอยู่ด้วยกันอย่างนี้ ทำให้สายชลคิดถึงลูกวาฬบรูด้านาม "อีเด็นน้อย" และนกนางนวลแกลบ ที่ชื่อ "เจ้าว่อน" ในหนังสือนิทานเรื่อง "อีเด็นน้อยกับทะเลแห่งความสุข" ของกรมทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เขียนเนื้อเรื่องโดย น้องตึก (ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล) และ น้องหนึ่ง (นายสุรศักดิ์ ทองสุกดี) วาดภาพโดย นางสาวนันทพร อัฉริยะศิลป์

วาฬบรูด้า

          แต่วันนี้..เรายังได้เห็นภาพวาฬบรูด้าและนกนางนวล ซึ่งอาศัยหากินอยู่ในทะเลแถวปากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ภาพที่เห็นล้วนเป็นภาพที่งดงามและน่าประทับใจยิ่งนัก สองสายจึงยังเชื่อว่า ณ ทะเลไทยที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แห่งนี้ ยังคงเป็น "ทะเลแห่งความสุข" ที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก วาฬบรูด้าและนกนางนวลจึงยังคงอาศัยหากินอยู่ด้วยกัน ไม่จำต้องไปแสวงหา "ทะเลแห่งความสุข" ที่ไหนอีก

วาฬบรูด้า

          แต่ถ้าวันใดก็ตาม...มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งหลายในท้องทะเลแห่งนี้ มิได้อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการโหมทำประมงแบบล้างผลาญ มีการทิ้งขยะ น้ำเสีย สารเคมี และสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเลต่อไป และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในวันนั้น...ทะเลไทยของเราก็จะกลายเป็น "ทะเลที่ไร้สุข" และเราคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นวาฬ รวมทั้งสรรพชีวิตทั้งหลายในท้องทะเลอีกต่อไป

วาฬบรูด้า

          รักทะเล...และช่วยกันรักษาทะเลไว้ให้สรรพชีวิตทั้งหลายในท้องทะเล ได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุข และเพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็นสรรพชีวิตเหล่านั้น ได้ต่อไปในอนาคตนะคะ

วาฬบรูด้า

          ขอขอบคุณ น้องตึก...น้องหนึ่ง...น้องขาว...น้องตอง แห่งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ที่ได้เชิญชวนสองสาย และขอบคุณทีมงานของ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 2 (มหาชัย) ที่ให้เรานั่งเรือเร็วไปร่วมสังเกตการณ์ และถ่ายภาพการสำรวจวาฬบรูด้าครั้งนี้ค่ะ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์ร่วมกับทีมงานอีก ในอนาคตอันใกล้นี้นะคะ

วาฬบรูด้า

         เรื่องการออกเรือไปชมวาฬในทะเล แล้วจะเป็นการรบกวนหรือเป็นอันตรายกับวาฬได้นั้น เป็นเรื่องที่ทางราชการและสองสายเองห่วงใยเสมอ อย่างที่สายชลได้กล่าวไว้ว่า การชมวาฬที่บ้านเรา ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดค่ะ...อย่างไรก็ตาม กัปตันเรือที่จะพาคนไปชมวาฬ ควรจะเป็นผู้มีประสบการณ์ ยิ่งนานเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เป็นผู้มีความระมัดระวังในการบังคับเรือ ไม่นำเรือเข้าใกล้วาฬมากจนเกินไป ไม่ไล่ตามวาฬกระชั้นชิด หรือตัดหน้าวาฬ ดับเครื่องเรือเมื่อวาฬมาอยู่ใกล้ ๆ และที่สำคัญ มีจิตสำนึก รักและเมตตาวาฬ ไม่เห็นการพาคนไปดูวาฬเป็นการค้า ที่จะต้องแข่งขันห้ำหั่นกัน จนทำให้เป็นอันตรายกับวาฬและผู้ที่นั่งเรือไปชมวาฬ...

วาฬบรูด้า

          สายชลก็ขอย้ำความคิดเห็นข้างต้นอีกครั้ง และขอแสดงความเห็นเพิ่มเติม เพื่อบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ทางราชการ จะต้องเข้ามาควบคุมดูแลการออกเรือไปชมวาฬให้เป็นกิจลักษณะและเข้มงวดกวดขัน โดยออกกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของวาฬเอง และของผู้ไปชมวาฬด้วย เหมือนที่ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายเขาปฏิบัติกันนะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    และ                        


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไปส่องวาฬบรูด้า...ในทะเลอ่าวไทยตอนบน อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2555 เวลา 15:51:19 5,966 อ่าน
TOP