ชม ทะเลบัน ดินแดนดงดิบอันน่าทึ่ง

ทะเลบัน

ทะเลบัน

 ทะเลบัน

ทะเลบัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท., อุทยานแห่งชาติ

          บึงขนาดใหญ่แวดล้อมด้วยป่าดิบและภูเขาหินปูน ซึ่งมีสายหมอกอ่อน ๆ ห่มคลุมทุกเช้า สร้างบรรยากาศที่อาจดูน่ากลัว ยิ่งยามค่ำคืนทั่วทั้งดงดิบรอบหนองน้ำจะระงมด้วยเสียง "ว้าก ว้าก ว้าก ว้าก" ของจงโคร่งหรือเขียดว้าก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอันเป็นสัญลักษณ์ของผืนป่านี้ หากแท้ที่จริง "ทะเลบัน" จังหวัดสตูล ผืนป่าดิบที่ชื่อคือทะเลแห่งนี้ กลับเป็นดินแดนดงดิบอันน่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ และวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปเปิดประตูดูความอันซีนไทยแลนด์กัน...


ทะเลบัน
 
 ทะเลบัน

          ทะเลบัน เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินตั้งอยู่กลางหุบเขา ขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ เนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงมีต้นบากงขึ้นอยู่หนาแน่น และเป็นที่อยู่ของ เขียดว้าก โดย ทะเลบัน ตั้งอยู่ใน อุทยานแห่งชาติทะเลบัน พื้นที่ป่าทางด้านทิศใต้ของจังหวัดสตูล บริเวณชายแดนของประเทศกับรัฐเปอร์ลิส ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นพื้นที่ป่าที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ตลอดแนวชายแดน มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เล่าขานกันมาว่า พื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านวังประจัน บริเวณรอยต่อระหว่างเขามดแดง ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินปูนกับเขาจีนซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินแกรนิตได้เกิด ยุบตัวลงเกิดเป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ เรียกภาษาท้องถิ่นว่า "เลิดเรอบัน" และได้เพี้ยนเป็น "ทะเลบัน" ในเวลาต่อมา

          สำหรับ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ครอบคลุมพื้นที่ป่าหัวกะหมิง ป่ากุปัง ป่าปุโล้ต และป่าควนบ่อน้ำ ท้องที่ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน และตำบลเกตรี ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล รวมพื้นที่ 196 ตารางกิโลเมตร ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2523 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 20 ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มียอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ในเทือกเขาจีน สูงประมาณ 756 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

          ด้วยพื้นป่าดงดิบของ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จึงเป็นที่อยู่ของ ซาไก หรือ เงาะป่า เจ้าของสมญา "ราชันย์แห่งพงไพร" เผ่าพันธุ์มนุษย์ซึ่งสัมผัสและรู้จักผืนป่าทุกตารางนิ้ว ชำนาญการใช้พื้นป่าในการดำรงชีวิตและรู้จักใช้ประโยชน์จากพืชในลักษณะของยา รักษาโรค และอาหารเหนือเผ่าพันธุ์มนุษย์เผ่าใด ๆ การดำรงชีพจะอาศัยผลไม้พืชผักที่มีอยู่ในป่าเป็นอาหารไม่รู้จักการเพาะปลูก นิยมการล่าสัตว์โดยการใช้กระบอกตุดหรือบอเลาคู่กับลูกดอกอาบยางน่องหรือบิลา ชอบอาศัยอยู่ในป่าลึกมีอุปนิสัยชอบเร่ร่อนและรักสงบทำที่พักจากใบไม้ในป่า ที่พักเรียกว่าทับ เมื่อใบไม้ที่มาทำทับเหี่ยวก็จะเร่ร่อนหาแหล่งที่อยู่ใหม่ต่อไป

          โดยในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน มีซาไกอยู่กลุ่มเดียวมีสมาชิกจำนวน 9 คน ปัจจุบันวิธีชีวิตของ ซาไก ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากการได้ สัมผัสกับสังคมของคนเมืองมากขึ้นและส่วนหนึ่งจากการดำรงชีวิตในป่าเริ่มฝืด เคืองขึ้น เนื่องจากป่าถูกบุกรุกและถูกทำลาย อย่างไรก็ตาม ซาไก ก็ยังเป็นชนเผ่าดั้งเดิมเผ่าสุดท้ายที่มีอยู่ในป่าทะเลบัน


เขียดว้าก
 
เขียดว้าก


          และอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็รอันซีนของ ทะเลบัน ก็คือ หมาน้ำ หรือ เขียดว้าก (Rana glandulosa) สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเสน่ห์แห่งหนองน้ำทะเลบัน ควบคู่กับต้นบากง เขียดว้ากชอบอาศัยอยู่ตามป่าบากง รอบๆ หนองน้ำทะเลบัน ลำตัวสีเทาเข้ม มีแต้มจุดสีเทาเข้มถึงดำ หัวค่อนข้างแบนเรียบ ตัวผู้มีถุงขยายเสียงมองเห็นได้จากภายนอก 1 คู่ จะส่งเสียงร้องคล้ายเสียงลูกสุนัขในยามค่ำคืนที่สงบ นี่เองคือที่มาคำว่า "หมาน้ำ" และในฤดูผสมพันธุ์จะร้อง "ว้ากๆๆ"


ทะเลบัน
 
 ถ้ำลอดปูยู
 

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจนอกจาก ทะเลบัน ได้แก่...     

          ถ้ำลอดปูยู เป็นถ้ำลอดคล้ายถ้ำลอดของอุทยานแห่ง ชาติอ่าวพังงา อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณเขากายัง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สองฝั่งลำคลองเป็นป่าโกงกาง การเดินทางไปถ้ำลอดปูยูต้องลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสตูล ประมาณ 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 58 กิโลเมตร

          ถ้ำโตนดิน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1.5 กิโลเมตร ความลึกของถ้ำประมาณ 700 เมตร ภายในพบหินงอกหินย้อย มีลำธารไหลผ่าน ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ และยังมีเครื่องมือขุดแร่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลืออยู่

          ทุ่งหญ้าวังประ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ระหว่างภูเขาทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น สมเสร็จ เม่น กระจง ไก่ป่า ฯลฯ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร    

          น้ำตกยาโรย ต้นน้ำเกิดจากป่าหัวกะหมิง เทือกเขาจีน มีน้ำตก 9 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6.7 กิโลเมตร แยกเข้าไปอีก 700 เมตร ชั้นที่ 4 เป็นชั้นสูงสุด สายน้ำไหลเป็นทางยาว 20 เมตร ลงสู่แอ่งน้ำ ส่วนชั้นบนสุดเป็นชั้นที่งดงามที่สุด สายน้ำพุ่งเป็นสองสายตกลงมาจากผาหิน สูง 10 เมตร

          น้ำตกโตนปลิว ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาจีน เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติ มีน้ำไหลตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร แยกเข้าไปตามถนน ลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติ จำนวน 2 เส้น อยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร และ 600 เมตร ทางเดินป่า จำนวน 1 เส้น ได้แก่ เส้นทางที่ทำการอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ทบ.2 (น้ำตกยาโรย) ระยะทาง 14 กิโลเมตร    

          ในส่วนของที่พัก ภายในพื้นที่อุทยานฯ มีบ้านพักบริเวณที่ทำการ-บึงทะเลบัน ในราคา 600 - 2,200 บาท ต่อ คืน ขึ้นอยู่กับประเภทห้องพัก โดยนักท่องเที่ยวต้องสำรองที่พักล่วงหน้าที่ 0 2562 0760 สำหรับข้อมูลการติดต่อ อุทยานแห่งชาติทะเลลบัน โทรศัพท์ 0 7472 2736 สำนักงาน ททท. ภาคใต้ เขต 1 โทรศัพท์ 0 7423 1055





การเดินทาง

          จากตัวเมือง ใช้เส้นทางหมายเลข 406 (สตูล-รัตภูมิ) สู่ อำเภอควนโดน แยกเข้า ตำบลวังประจัน ตามถนนสายชายแดนไทย-มาเลเซีย หมายเลข 4184 ระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 39 กิโลเมตร




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  และ student.nu.ac.th
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชม ทะเลบัน ดินแดนดงดิบอันน่าทึ่ง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:05:07 5,303 อ่าน
TOP
x close