x close

งานบุญสุดยิ่งใหญ่ แห่นาคโหด จังหวัดชัยภูมิ

งานบุญที่ยิ่งใหญ่ แห่นาคโหด จังหวัดชัยภูมิ
ภาพจาก ททท.

        จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา ขอเชิญทุกท่านร่วมงานบุญที่ยิ่งใหญ่และงานแห่งพลังศรัทธา ประเพณีบุญเดือนหก "แห่นาคโหด" แห่งเดียวในโลก ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ บ้าน โนนเสลา-โนนทัน ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

        งานบุญแห่งพลังศรัทธามหามงคล ด้วยความเชื่อที่เป็นศิริมงคล งานบุญที่ยิ่งใหญ่ ชายชาตรีที่มีอายุครบ 20 ปี หรือผู้ที่ศรัทธาต่อร่มกาสาวพัสตร์ใต้ร่มฉัตรมงคล น้ำตาที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เต็มเปี่ยมด้วยปิติไมตรีของ บิดา มารดาและญาติมิตร กับชีวิตที่ผ่านพ้นมาและคราบชีวิตที่ปลงแล้ว...กว่าจะมาเป็น "พระ" ต้องผ่านการอุปสมบท (บวช) และแน่นอน...อุปสรรคที่ขวางกั้นต้องไม่ธรรมดา สิ่งเหล่านี้ผ่านการยอมรับของชุมชนและคนเมืองชัยภูมิ "แห่นาคโหด"
 
        สำหรับประเพณีแห่นาคโหดที่บ้านโนนเสลานี้ ถือเป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี โดยชาวบ้านจะร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มหรือบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ 20 ปี เพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ด้วยความตั้งใจที่จะบวชเอง ซึ่งจะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนสี่ โดยผู้เป็นบิดาจะพาบุตรชายไปฝากไว้กับเจ้าอาวาส ใน 2 วัดของหมู่บ้านโนนเสลา คือ วัดบุญถนอมพัฒนาราม (วัดนอก) และวัดตาแขก (วัดใน) เพื่อถือขัน 5 ประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ไปฝากตัวเป็นนาคปฏิบัติธรรมถือศีล 8 อยู่ที่วัด เรียนรู้บทสวดที่จะบวช และเรียนรู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น ก่อนถึงกำหนดวันบวชของประเพณี
         

        ทั้งนี้สำหรับงานบุญเดือนหกเริ่มต้นด้วยพิธีการตัดและโกนผมนาคตามพิธีบวชปกติ แต่ก่อนจะเข้าพิธีสู่ขวัญ นาคทุกคนจะต้องพากันออกจากวัดไปกราบศาลปู่ตาซึ่งเป็นศาลประจำหมู่บ้านกันก่อน เมื่อเสร็จแล้วนาคทุกคนค่อยกลับวัดเพื่อทำพิธีสู่ขวัญนาคต่อไป จากนี้ไปเป็นความเชื่อที่นับถือกันต่อมา ด้วยการแห่นาคจากบ้านตนเองไปรอบหมู่บ้าน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้านมาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่าโยนนาคอย่างรุนแรง ถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่า ผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ โดยผู้บวชจะต้องประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ หากใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช โดยจะเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางที่แห่รอบหมู่บ้านกว่า 3 กิโลเมตร ซึ่งตั้งแต่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดตกลงมาถูกดินเลยสักราย ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่สุด คือ ศีรษะแตกและแขนหลุดก็ตาม ศรัทธามหามงคลยังดำเนินต่อไปตามความเชื่อและความรู้สึกในเส้นทางศาสนา แม้จะแห่ด้วยความโหด แต่ด้วยความมุ่งมั่นตลอด 3-4 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง และรอบโบสถ์วัดอีก 3 รอบ ความศรัทธายังไม่เสื่อมคลาย
 
         สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นความเชื่อของชาวอีสานหล่อหลอมมาตั้งแต่ในอดีต เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจ และความตั้งมั่นของผู้บวชจึงมีการจัดประเพณีนี้ขึ้น อีกทั้งยังคงความเป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ควรค่าแก่การเรียนรู้และสืบทอดต่อไปอีกด้วย สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อำเภอภูเขียว โทรศัพท์ 0 4486 1000, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตูม โทรศัพท์ 0 4482 3627 หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สำนักงานนครราชสีมา เลขที่ 2102-2104 ถนนมิตรภาพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3666 และเว็บไซต์ tourismthailand.org/nakhonratchasima รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของงานผ่านทางเฟซบุ๊ก Tat Korat


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานบุญสุดยิ่งใหญ่ แห่นาคโหด จังหวัดชัยภูมิ อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2558 เวลา 16:14:03 2,777 อ่าน
TOP