ทางสายกลางที่หมู่เกาะสุรินทร์
เชษฐา นุ้ยเล็ก...เรื่อง
อภินันท์ บัวหภักดี และ ต่อพงษ์ วงษ์เสถียรชัย...ภาพ
"นี่มันไม่ใช่เกาะสุรินทร์ มันเกาะตาชัยหรือไม่ก็สิมิลันชัด ๆ" เป็นประโยคอุทานดังลั่นของ พี่สตางค์ หัวเรือใหญ่ของบริษัทท่องเที่ยว Love Andaman เมื่อเท้าได้สัมผัสกับพื้นทรายขาวสะอาด เม็ดทรายละเอียดป่นเป็นแป้ง น้ำทะเลใสแจ๋วเป็นสีฟ้าสีน้ำเงิน และหาดทรายยุบยวบด้วยน้ำหนักเท้าคนเหยียบลึกลงไปหลายนิ้ว
บริเวณหาดทรายเล็ก ๆ ของอ่างช่องขาด หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
"โอ้โฮ ที่ตรงนี้อย่างกับไม่เคยโดนเท้าใครเหยียบมาก่อน ทรายทับถมกันเองตามธรรมชาตินุ่มนิ่มไปหมด" พี่สตางค์บอกต่อมาอย่างตกตะลึงพรึงเพริด...
"แน่นอนครับ" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ คุณพงศ์พยัคฆ์ ศรียา พูดตอบแล้วเสริมว่า "จริง ๆ ภาพที่ใครต่อใครนึกถึงหมู่เกาะสุรินทร์คงเป็นภาพอ่าวช่องขาด เกาะที่มีเขารูปสามเหลี่ยมเขียว ๆ น้ำทะเลสีเขียว ๆ ทรายสีเหลือง ๆ อมแดง อ่าวช่องขาดเป็นชัยภูมิหลบลมแรงได้ดี ทางอุทยานฯ จึงใช้เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ แต่ที่จริงตรงนั้นไม่ใช่จุดที่หาดทรายสวยงามสักเท่าไร จริง ๆ หมู่เกาะสุรินทร์เรามีหาดทรายขาว ๆ น้ำทะเลใส ๆ เป็นสีฟ้าสีน้ำเงินสะอาด ๆ สวยงามอยู่จำนวนมาก มากกว่าสิมิลันและตาชัยรวมกันเสียอีก"
หาดทรายแก้ว ด้านหน้าที่ทำการอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นที่จอดเรือท่องเที่ยวประจำ
ด้านหน้าที่ทำการอุทยานฯ เรือหางยาวท่องเที่ยวจอดลอยลำตามปกติ หาดทรายสีออกนวลแดง
"นั่นสิ มาหมู่เกาะสุรินทร์ทีไรผมก็นึกถึงได้แค่หาดทรายหยาบ ๆ สีออกแดง ๆ ที่เล่นน้ำสบาย ๆ ก็ไม่มี มีแต่ช่องเรือผ่าน ไปทางไหนเรือก็จอดเต็มไปหมด มาที่นี่ถ้าไม่ออกไปสน็อกเกิลดูปะการังน้ำตื้นก็ไม่มีอะไรทำแล้ว เมื่อก่อนที่ปะการังยังไม่ฟอกขาวก็สวยงามดีมาก คุ้มค่า มีความสุขมาก แต่มาวันนี้ปะการังน้ำตื้นเสียหายไปหมดจากเหตุการณ์สาหร่ายระบาดและปะการังฟอกขาวหมด ทั้งอ่าวช่องขาด อ่าวแม่ยาย อ่าวผักกาด มาที่นี่ก็แทบจะไม่มีอะไรที่คุ้มค่ากับการต้องเดินทางไกลมาเลย" คุณสตางค์เอ่ยต่อ
บริเวณอ่าวสุเทพ ด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ มองเห็นกลุ่มปะการังน้ำตื้นเรียงรายสวยงาม
"ครับ เป็นอย่างนั้นครับ" ท่านหัวหน้าอุทยานฯ พูดต่ออย่างใจเย็น "หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเกาะห้าเกาะด้วยกันครับ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ได้ เกาะตอรินลา เกาะปาจุมบา และเกาะสตอร์ก เป็นหมู่เกาะสุดท้ายทางทิศตะวันตกสุดของประเทศไทย อยู่ติด ๆ กับหมู่เกาะมะริดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จะเดินทางจากหมู่เกาะสุรินทร์ไปเกาะคริสดีของเมียนมาร์ ยังใกล้กว่าไปเกาะตาชัยของไทยเราเองเสียอีก และจุดที่สำคัญมากอีกจุดหนึ่งของหมู่เกาะสุรินทร์ ก็คือ ที่กองหินใต้น้ำ กองหินริเชลิว ซึ่งนับเป็นจุดดำน้ำลึกแบบสกูบาที่สวยงามและมีชื่อเสียงโดดเด่นอย่างยิ่งของประเทศไทย
ทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสีฟ้าใสที่หาดแห่งหนึ่งของเกาะสุรินทร์เหนือ ที่ดูอย่างไรก็ไม่ใช่ภาพลักษณ์เดิม ๆ ของเกาะสุรินทร์ในอดีต
ชายหาดแห่งเดิม มองเข้ามาจากทะเลด้านนอก
ชื่อของหมู่เกาะสุรินทร์ถูกตั้งขึ้นโดย พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เทศาเมืองภูเก็ตในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ในยุคนั้นถือว่าเป็นคนมีความคิดทันสมัย ได้ล่องเรือทางทะเลมาไกลจากภูเก็ตมากจนมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้ และเห็นว่าเป็นพื้นที่สวยงามจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไปในอนาคต จึงตั้งชื่อหมู่เกาะแห่งนี้ว่าหมู่เกาะสุรินทร์ ส่วนชื่อของกองหินใต้น้ำ คือ กองหินริเชลิว ตั้งขึ้นตามชื่อเดิมของแม่ทัพเรือไทยคนแรกซึ่งเป็นชาวเดนมาร์ก เชื้อชาติฝรั่งเศส คือ พลเอก พระยาชลยุทธโยธิน หรือ Andreas du Plessis de Richelieu หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าริเชลิวนั่นแหละ
นายพลท่านนี้นอกจากจะเป็นแม่ทัพเรือสมัยใหม่คนแรกของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทรถรางสยาม บริษัทไฟฟ้าสยาม ตลอดจนเปิดเดินรถไฟสายแรกของประเทศไทย คือ ขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการอีกด้วย" ท่านหัวหน้าอุทยานฯ สรุปให้พวกเราฟัง
หนุ่มสาวนักท่องเที่ยวฝรั่งจากเดนมาร์ก มีความสุขกับการได้ขึ้นมาชมหาดทรายขาวสะอาด
เหตุการณ์สาหร่ายขยายตัวผิดปกติ ดาวมงกุฎหนามที่กินปะการังกระจายตัวกว้างขวาง และเหตุการณ์ปะการังฟอกขาว เป็นสามเหตุการณ์ที่ทยอยถลมพื้นที่ปะการังน้ำตื้นของหมู่เกาะสุรินทร์อย่างหนักติดต่อกันนานนับสิบปี จนเดี๋ยวนี้พื้นที่ชมปะการังน้ำตื้นที่ครั้งหนึ่งเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของหมู่เกาะสุรินทร์ ปะการังพากันทยอยตายและหักพังไปอย่างมากมาย จนเดี๋ยวนี้บรรดาอ่าวเลื่องชื่อของการดำน้ำตื้นชมปะการังของหมู่เกาะสุรินทร์ กลับกลายเป็นสุสานปะการังที่เงียบเชียบไร้ชีวิตไปแล้ว และเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมากค่อย ๆ หดหายไปจากพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์เป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้คงมีแต่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้อัพเดทสถานการณ์ปะการังน้ำตื้นเหล่านี้เท่านั้น ที่พากันเดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่
หนุ่มสาวนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีความสุขกับการชมปะการังน้ำตื้น มองเห็นชายหาดขาวสวย
"ครับ ในส่วนอนุสาร อ.ส.ท. เราซึ่งมีสถานะเป็นสื่อมวลชน ครั้งหนึ่งเราสัมผัสได้ถึงความเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลอย่างเข้มข้นของที่นี่ จนทำให้เราไม่เห็นประโยชน์ที่จะมาเล่าเรื่องที่นี่ให้ใครฟัง เพราะสภาพความเคร่งครัด นักท่องเที่ยวเดินทางมาแล้วแต่พื้นที่หลายแห่งกลับถูกหวงห้าม เข้าไปท่องเที่ยวไม่ได้ เราจึงเลิกแตะต้อง ดังนั้นจึงแทบไม่มีข่าวคราวของเกาะแห่งนี้นำเสนอใน อ.ส.ท. มาแล้วเป็นเวลานานหลายปี" ผมเล่าให้ท่านหัวหน้าอุทยานฯ ฟัง
"นั่นแหละครับ ที่นี่จึงขาดการกล่าวถึง ขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำให้ใคร ๆ ก็ไม่มา เมื่อมาเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวกันระหว่างเกาะสิมิลัน เกาะตาชัย กับหมู่เกาะสุรินทร์ จำนวนนักท่องเที่ยววันเดียวของทั้งเกาะสิมิลันและเกาะตาชัยก็มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งเดือนของหมู่เกาะสุรินทร์ตั้งเยอะแล้ว ยิ่งถ้านึกถึงจำนวนเงินที่นำส่งเข้าคลัง ที่นี่ก็ยิ่งมีปัญหา" พี่สตางค์กล่าวต่อ "เมื่อเงินเข้าไม่มี การพัฒนาพื้นที่เกาะก็น่าจะมีปัญหา ไม่ทำเงินแล้วจะไปเรียกร้องเงินสำหรับการพัฒนาได้อย่างไร อะไร ๆ สำหรับที่นี่ก็คงจะยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ในโอกาสต่อ ๆ ไป"
"นั่นแหละครับ คือสาเหตุที่หมู่เกาะสุรินทร์เราจึงยินดีต้อนรับทั้งอนุสาร อ.ส.ท. และทาง Love Andaman เป็นอย่างยิ่ง เราเห็นผลงานที่โดดเด่นของท่าน และคิดว่าท่านคงจะช่วยเหลือหมู่เกาะแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี" ท่านหัวหน้าอุทยานฯ บอก "ช่วงที่ผ่านมาหมู่เกาะสุรินทร์อาจจะตึงไปหน่อยในเรื่องการดูแลรักษาธรรมชาติ จนสื่อต่าง ๆ อาจจะเมินหน้าหนี เราจึงไม่มีข่าวคราวออกไป เราอาจจะเคยหย่อนยานไปในอดีต ทำให้เกิดสภาวะการกระจายตัวมากเกินไปของสาหร่ายและดาวมงกุฎหนาม และอาจจะโชคไม่ดีที่เจอสภาวะโลกร้อน น้ำทะเลร้อน จึงทำให้ปะการังน้ำตื้นที่เป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของเราเสียหายไปหมด" ท่านหัวหน้าอุทยานฯ บอกปิดท้าย
ปูเสฉวนมีอยู่มากมายบนชายหาดสะอาด
"ต่อไปนี้ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เราจะเดินสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเปิดตัวอุทยานฯ ของเราขึ้นอีกครั้งอย่างรอบคอบและระมัดระวัง และอยากจะขอความร่วมมือ อ.ส.ท. และ Love Andaman ให้ช่วยชี้แนะเป็นที่ปรึกษา ตอนนี้เราไปชมอุทยานฯ ของเรากันเลย เห็นภาพกว้าง ๆ แล้วจะได้มาช่วยกันติดต่อไป"
ครับ ทั้งหมดนั้นคือสรุปบทสนทนายาว ๆ ให้ออกมาสั้น ๆ ระหว่างเรา 3 คน ท่านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ คุณสตางค์ หัวเรือใหญ่ของบริษัท Love Andaman และอนุสาร อ.ส.ท. ของเรา จากนี้ไปภาระหน้าที่ของทั้ง 3 คน ที่จะร่วมมือกันต่อไป ก็คือ การที่จะต้องคิดว่าจะทำงานอย่างไรที่จะเพิ่มการเดินทางของบรรดานักท่องเที่ยวไทยไปยังหมู่เกาะสุรินทร์ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะต้องหาทางระแวดระวังป้องกันไม่ให้การท่องเที่ยวไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติของหมู่เกาะอันเคร่งครัดแห่งนี้ การจอดเรือท่องเที่ยว การเล่นน้ำชมปะการัง การกำจัดขยะมลภาวะ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหาะสมกับ Carrying Capacity หรือความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่จะต้องคำนึงถึงอย่างเป็นพิเศษ
"ตอนนี้ไม่ต้องคิดถึงเลยครับ เรื่อง CC หรือ Carrying Capacity ผมอ่านมาหมดแล้ว ที่นี่มี CC อยู่ประมาณ 150 คน ต่อวัน แต่จริง ๆ มีนักท่องเที่ยวอยู่แค่วันละไม่เกิน 25 คน ยังเหลืออีกเยอะ เพิ่มเป็นสักร้อยหนึ่งก็เพิ่มตั้งสี่เท่า ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ ตราบใดที่ทางอุทยานฯ ยังนิ่งเฉยอยู่เช่นนี้ ขอเสนอให้ทางอุทยานฯ เปิดชายหาดสวย ๆ ขึ้นสักแห่งหนึ่ง มีตั้งหลายแห่ง เพราะหาดที่เปิดกว้างอย่างอ่าวช่องขาดกับอ่าวไม้งามนั้น ที่เล่นน้ำไม่มี ทรายก็ไม่ขาว ไม่น่าท่องเที่ยวด้วยประการทั้งปวง นิสัยท่องเที่ยวทะเลของคนไทยเราวันนี้ เน้นที่การได้ถ่ายภาพสวย ๆ ไปส่งผ่านมัลติมีเดียต่าง ๆ และการได้ลงเล่นน้ำสนุกสนานมากกว่า" พี่สตางค์กล่าวทิ้งท้ายมาอีกรอบ
นักท่องเที่ยวสาวจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีความสุขกับหาดทรายขาวสะอาด
ขบวนของเราท่องเที่ยวไปยังแหล่งดำน้ำตื้นมามายหลายแห่งของหมู่เกาะสุรินทร์ เราพบว่าบางแห่งก็มีปะการังเพิ่งเกิดใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีสภาพหักพังไปแล้ว เราแนะนำให้ทางอุทยานฯ สำรวจอย่างละเอียดหาจุดที่จะสามารถเรียกจุดเด่นอันลือเลื่องของหมู่เกาะสุรินทร์ คือการเป็นแหล่งดำน้ำตื้นชมปะการังที่สวยงามที่สุดของประเทศให้กลับคืนมา
ระหว่างทางเราพบเรือของทางอุทยานฯ นำพานักท่องเที่ยวฝรั่งออกมาดำน้ำตื้นชมปะการัง เจอกันฝรั่งเหล่านั้นก็ทำท่าแบบมือยักไหล่ So so ดูแล้วคงไม่ประทับใจสักเท่าไร
ไม้ใหญ่ริมหาดทอดตัวสวยงามตามธรรมชาติ บนหาดทรายขาวสวยอีกแห่งหนึ่งของเกาะสุรินทร์ใต้
เราแวะขึ้นเที่ยวชมชายหาดหลายแห่ง พบว่าหาดทรายใหญ่น้อยจำนวนมากของหมู่เกาะสุรินทร์ ทั้งสุรินทร์เหนือและสุรินทร์ใต้ ซึ่งจำนวนมากขาวสะอาด เม็ดทรายละเอียดป่นเป็นแป้ง น้ำทะเลใสแจ๋วเป็นสีฟ้า สีน้ำเงิน ต้นไม้ใหญ่ขึ้นร่มครึ้มพี่สตางค์อดไม่ได้ที่จะลงไปนอนนิ่งสบาย ๆ อยู่ใต้ร่มไม้บนชายหาดที่ลมพัดเย็นสบาย
"นี่มันสิมิลันหรือตาชัยสมัยที่ผมเพิ่งไปเหยียบครั้งแรกชัด ๆ มันไม่ใช่เกาะสุรินทร์ แต่มันยิ่งกว่าสิมิลันและตาชัยเสียอีก" ที่สตางค์ออกอาการดีใจมีความสุขสนุกสนาน
แทบทุกหาดที่เราได้แวะเวียนขึ้นไปเยี่ยมเยือน จำนวนหาดทรายสวย ๆ มีมากกว่าเกาะตาชัยและสิมิลันรวมกันจริง ๆ ข้อเสนอของเราสองคนต่อทางอุทยานฯ ก็คือ เปิดชายหาดใหม่ที่สวยงามอย่างที่เราเห็นขึ้นอีกสักแห่งควบคุมการจอดเรือ ขยะ และมลภาวะต่าง ๆ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม และมีโครงการพัฒนาที่ดี เราเชื่อว่าเพียงแค่นี้ ด้วยศักยภาพอันเหลือเฟือของหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะแห่งนี้จะได้มีโอกาสกระจายนักท่องเที่ยวออกมาจากส่วนที่ล้นของเกะตาชัยและสิมิลันลงมา และตัวเลขนักท่องเที่ยวของที่นี่ก็จะดีขึ้นอย่างมากมายผิดหูผิดตาเลยทีเดียว
"ทางเราเริ่มนำพานักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ได้สักสองเดือนแล้วครับ" คุณสตางค์เล่าต่อระหว่างทาง
เหล่าปะการังน้ำตื้นที่ยังมีชีวิตจำนวนไม่มากนัก
ความเพลิดเพลินของนักท่องเที่ยวที่เหมือนอยู่ในโลกเพียงสองคน
มองใกล้ ๆ เหล่าปะการังน้ำตื้นที่มีชีวิต
และสิ่งที่ Love Andaman และใคร ๆ เพิ่งประจักษ์กันวันนี้ ก็คือ จริง ๆ แล้วด้วยความก้าวหน้าของเครื่องยนต์กลไกเรือเร็วในปัจจุบัน วันนี้หากลากเส้นตรงจากทับละมุและเดินทางมาด้วยเรือที่แล่นเร็วมาก เราก็สามารถจะมาถึงหมู่เกาะสุรินทร์ได้เพียง 1 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้น แตกต่างจากเวลาเดินทางไปเกาะสิมิลันและตาชัยหน่อยเดียวเอง ดังนั้นเราจึงมีความเชื่อว่าหากทางอุทยานฯ มีการอำนวยความสะดวกมากขึ้นกว่านี้ เปิดชายหาดสวย ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำพักผ่อนสักแห่งให้นักท่องเที่ยวมีที่กระโดด มีที่ถ่ายรูปโหลดขึ้นโลกออนไลน์แจ่ม ๆ ได้ทันที มั่นใจได้เลยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าหมู่เกาะสุรินทร์จะต้องสดใสอย่างแน่นอน" คุณสตางค์ปิดท้ายตอนจบ และปิดท้ายก่อนลาจาก
อนาคตของหมู่เกาะสุรินทร์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะตึงเครียดครัดเคร่งเช่นแต่ก่อน หรือเปิดกว้างสำหรับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ อ.ส.ท. หรือ Love Andaman หากอยู่ที่การคิดและตัดสินใจของทางอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ รวมไปถึงหน่วยงานระดับสูงภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เราทั้งสองหน่วยเล็ก ๆ นี้เพียงเดินทางไปเป็นอาคันตุกะตามคำเชื้อเชิญและอนุญาตของทางอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์เท่านั้น
หมู่บ้านมอแกนที่เกาะสุรินทร์ใต้
คู่มือนักเดินทาง
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตั้งชื่อตามพระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เทศาเมืองภูเก็ต เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน อยู่ติดกับชายแดนไทย-เมียนมาร์ พื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ ร้อยละ 76 ของพื้นที่เป็นทะเล ส่วนที่เหลือเป็นแผ่นดิน ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรีนลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) เกาะรี (เกาะสตอร์ท) และมี 1 กองหินปริ่มน้ำ คือ กองหินริเชลิว ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งบนบกและในทะเล มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าชายหาด และป่าชายเลนมาบรรจบกับแนวปะการัง แนวปะการังมีความสมบูรณ์เหมาะสำหรับชมปะการังน้ำตื้น โดยกองหินริเชลิวเหมาะสำหรับดำน้ำลึก เป็นแหล่งสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล พบปลาหลายชนิด หอยมือเสือ ปูเสฉวน มีโอกาสพบฉลามวาฬ และบนบกพบกระแตผีชายหาด นกชาปีไหน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น บ่างและลิง เป็นต้น
เด็ก ๆ ชาวมอแกนวันนี้ได้รับการดูแลด้านการศึกษาอย่างเหมาะสม
แม่บ้านมอแกนผัดหน้าสวยงามด้วยแป้งทานาคาพม่า
หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเกาะที่วางตัวอยู่ในกลุ่มอ่าวขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นที่บังคลื่นลมได้ดีในทั้งสองฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน จึงเป็นแหล่งกำเนิดแนวปะการังน้ำตื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านชาวเลเผ่ามอแกน ที่ยังดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมประมาณ 200 คน ปัจจุบันได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่เกาะสุรินทร์ได้ขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว และบางส่วนทำงานเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ
ช่วงเวลาที่เหมาะกับการ่องเที่ยว คือ เดือนพฤศจิกายน-เมษายน
เสามอแกน ศิลปะสวยงามของชาวมอแกน ถูกวาดประดับเสาของโรงอาหารอุทยานฯ ด้านอ่าวไม้งาม
ติดต่อบริษัททัวร์ท่องเที่ยว
บริษัท Love Andaman บริษัทท่องเทียวแบบวันเดย์ทริป นำเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือสปีดโบ๊ทไปยังเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันเหนือ ได้แก่ เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย เกาะไม้ท่อน และหมู่เกาะสุรินทร์ สนใจร่วมเดินทางติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 7648 6095-6 เว็บไซต์ www.loveandaman.com
นอกจากนี้ยังมีบริษัทนำเที่ยวอื่น ๆ ที่บริการท่องเที่ยวไปยังหมู่เกาะสุรินทร์เช่นเดียวกันอีกหลายบริษัท เป็นบริษัทที่ออกจากท่าเรือทับละมุ คือ บริษัทเม็ดทรายทัวร์ บริษัทอันดามัน ซีซัน แทรเวล และบริษัทที่ออกจากท่าเรือคุระบุรี คือ บริษัทคุระบุรี กรีนวิว บริษัทชาบีน่า เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 82150 โทรศัพท์ 0 7647 2145-6 อีเมล mukosurin_np@hotmail.com
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 55 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558