ช่างภาพเผยภาพ ปลาทะเลเปลี่ยนไป "เสียนิสัย" ทิ้งบ้านปะการัง มาหาอาหารที่ "มนุษย์ท่องเที่ยว" หยิบยื่นให้ ทำสมดุลธรรมชาติบิดเบี้ยว
เมื่อช่วงหน้าร้อนมาถึง ท้องทะเลไทย ก็จำต้องรับบทหนักรอต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากชาวไทยและต่างชาติที่แห่แหนกันไปสัมผัสบรรยากาศสวยงาม น้ำทะเลสีสวย กับฟ้าสีคราม งดงามเกินกว่าที่ผู้มาเยือนจะไม่เก็บภาพความประทับใจแชร์ออกไปให้โลกได้รู้...
หากแต่ ณ ปัจจุบันนี้ หรือเนิ่นนานมาแล้ว การถ่ายภาพโดยมีฉากหลังเป็นทะเลคงไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการได้แชะภาพสิ่งมีชีวิตในน้ำเพื่อการันตีว่า ทะเลไทยช่างสมบูรณ์และน่ามาเยือนสักครั้ง ซึ่งหนึ่งในตัวเอกบนผิวน้ำเห็นจะหนีไม่พ้นฝูงปลาลายสวย ๆ ที่กองทัพนักท่องเที่ยวมักจะหยิบยื่นเศษอาหาร ขนมปัง ฯลฯ เพื่อเป็นตัวล่อให้พวกมันจากบ้านมาหากินจนเข้าขั้น "เสียนิสัย"
ล่าสุด (10 มีนาคม 2558) ช่างภาพฝีมือดีได้แชร์ภาพผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว Shin Arunrugstichai Photography บอกเล่าสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของเจ้าปลาทะเล ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และนี่อาจเป็นปัจจัยเล็ก ๆ ที่ทำสมดุลทางธรรมชาติบิดเบี้ยว... ที่คุณหรือใครอาจไม่รู้ ไม่เข้าใจ มองข้าม หรือไม่ได้หยุดคิดสักนิดเลย
"ปลาเสียนิสัย
อ่าวเล็ก ๆ ทางทิศเหนือของเกาะเต่าที่เคยใช้ชีวิตมาร่วมหลายปี
พอได้มีโอกาสกลับไปครั้งนี้หลายอย่างก็เปลี่ยนไป
น้ำใสที่เคยใสสะอาดกลับกลายเป็นชาเขียวมัตฉะ
แนวปะการังที่เคยสดใสกลับมีสาหร่ายเติบโตปกคลุม
และฝูงปลาเล็กปลาน้อยที่เคยแหวกว่ายก็หาไม่มี
พอลองไปสำรวจแนวทรายน้ำตื้นก็ได้พบกับคำตอบ
ที่ทำให้ทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจในเวลาเดียวกัน
ปลาฝูงใหญ่มันมารวมตัวกันอยู่ที่ริมน้ำนี่เอง
ว่ายรุมรอคอยของกินไปทั่วจนบดบังมิดเฟรมสายตา
แปลกใจที่ว่าทำไมพฤติกรรมมันถึงแย่ลงได้จนถึงขนาดนี้
และก็คาดเดาว่าทำไมแนวปะการังของที่นี่ถึงเสื่อมลง
ทุกชีวิตต่างมีหน้าที่ในโลกพวกมัน
ปลาเหล่านี้ก็มีบทบาทของตัวเองในแนวปะการัง
แต่สมดุลก็บิดเบี้ยวไปด้วยการก้าวก่ายของมนุษย์เรา
การให้อาหารปลาของมนุษย์ได้ดึงดูดปลาออกจากบ้านของมัน
ปลาเลิกกินอาหารในธรรมชาติหันมากินของใหม่ที่หาง่ายกว่า
โครงสร้างของกลุ่มสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป
(http://www.ajol.info/index.php/wiojms/article/view/28482)
สารอาหาร กากขับถ่าย สารอินทรีย์ ที่มาจากบกลอยฟุ้งในน้ำ
สาหร่ายและแพลงค์ตอนก็ต่างใช้ประโยชน์จากธาตุอาหาร
เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วปกคลุมทับแนวปะการังให้เสื่อมโทรม
ซึ่งจะยิ่งรุนแรงหากไม่มีปลากินพืชอยู่ในแนวปะการังคอยควบคุม
(http://link.springer.com/article/10.1007/s003380050213#page-1)
แม้ว่าจะไม่ใช่เหตุผลเดียวในการเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
หรือมีงานวิจัยชิ้นหลักมาฟันธงได้อย่างชัดเจน
แต่ประเด็นเรื่องการให้อาหารปลานี่ไม่ใช่เรื่องใหม่
ออกข่าวกันมาก็หลายรอบ แต่ก็สงสัยว่ามันยังคงไม่พอ
ก็ไม่อยากว่ามันเป็นความผิดใครคนใดคนหนึ่ง
ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว หรือหน่วยงานใด ๆ
แต่มันคือความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน
ในการที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเราเอง
มีปากมีเสียงเท่าไรก็ใช้ไปเท่านั้น
มันก็คงจะเกิดผลสักวันไม่นานก็เร็ว
*ขอ Edit* เพิ่มเรื่อง Reference และ ประเด็นงานวิจัย เข้าไปครับ เนื่องจากมีคนสอบถามมา
งานวิจัยหลักที่พูดถึง fish feeding ก่อให้เกิด phase shifts โดยตรงนี่ยังไม่มีตีพิมพ์ครับ เป็นการอ้างจากงานต่างชิ้นเช่น
1. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จำนวน และชนิดปลา ในแนวปะการังจากการให้อาหารปลาของเรือท่องเที่ยว
2. ธาตุอาหาร การปกคลุมของสาหร่าย การเปลี่ยนสภาพแนวปะการัง และความสำคัญปลากินพืช
และยังไม่เคยมีการศึกษาในเมืองไทยก็แสดงให้เห็นจุดบอดทางข้อมูลชัดเจนในเรื่องนี้ครับ"
A school of damselfishes swims around in the shallow sandy slope waiting for discarded food as a result of previous conditioning by fish feeding activity which can be regularly observed despite the regulation and outcry from conservationists on the island of Koh Tao, Suratthani, Thailand.
Nikon D800E + Nikkor 16-35 + Nauticam NA-D800
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Shin Arunrugstichai Photography