ทะเลน้อย
ทะเลน้อย
ทะเลน้อย
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ phatthalung.go.th
เฮ้อ! อากาศร้อน ๆ แบบนี้พาลทำให้ใจหงุดหงิด จะทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจไปซะทุกอย่าง ... แหม ๆ แบบนี้มันต้องคลายร้อนกันซะหน่อย และวันนี้กระปุกดอทคอมก็จะพาเพื่อน ๆ หลบลมร้อน ไปล่องทะเลกันซะหน่อย อะ ๆ แต่ไม่ใช่ทะเลธรรมดา เพราะเราจะไปเที่ยว ทะเลสาบ แถมยังนั่งเรือชมนกหลากพันธุ์ที่ ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง กันค่ะ ...
ทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืด ตั้งอยู่ใน ตำบลนางตุง และ ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มี คลองนางเรียม ยาว 2 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง ทะเลน้อย กับ ทะเลสาบสงขลา ทางฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชุมชนทะเลน้อยประมาณ 2,000 ครัวเรือน ทางฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ ฝั่งใต้ เป็นป่าพรุและพงหญ้า ซึ่ง ทะเลน้อย ได้รับการประกาศเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2518 แต่ประชาชนมักเรียกกันว่า "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย" ซึ่งนับเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทะเลน้อย
รอบ ๆ ทะเลน้อย บริเวณพรุควนขี้เสียน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 285,625 ไร่ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ส่วนที่เป็นพื้นน้ำ (ทะเลน้อย) ประมาณ 17,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของ ทะเลน้อย เป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบ ประกอบด้วย นาข้าว ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ตัวทะเลน้อยกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร มีพืชน้ำปกคลุม เช่น ผักตบชวา กง กระจูดหนู บัวต่าง ๆ และพืชลอยน้ำ ความลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร
ใน ทะเลน้อย มีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่แบ่งออกเป็น นกน้ำ 287 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6 ชนิด นกน้ำมีทั้งนกที่ประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกนางนวล นกกระเด็น นกกระสาแดง ฯลฯ ซึ่งนกจะชุกชุมมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มีจำนวนเป็นแสน ๆ ตัวที่เดียว
ทะเลน้อย มีอากาศดี มีทิวทัศน์งดงาม ขณะที่เดินผ่านสะพานเหมือนเดินอยู่เหนือทะเล ดอกบัวชูดอกสีขาว ม่วง แดง โอนเอนไปมาตามสายลม หากต้องการชมนกจำนวนมาก ๆ ควรลงเรือหางยาวออกชมในยามเย็น เป็นเวลาที่ฝูงนกพากันบินกลับรวงรัง ส่งเสียงร้องประสานกันเหมือนเสียงดนตรีธรรมชาติ มีเรือหางยาวจอดรอรับบริการในอัตราลำละ 200 บาท (พ.ศ. 2546) นั่งได้ 12 คน ไม่กำหนดเวลาลอยเรือท่องเที่ยวไปจนผู้ไปชมจุใจ
ทะเลน้อย
สิ่งที่น่าสนใจในการเที่ยวชม ทะเลน้อย
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงทะเลน้อยจะมองเห็นตัว ทะเลน้อย ได้ส่วนหนึ่ง หลังจากเดินเข้าไปภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย แต่ขอแนะนำว่านักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางมา ทะเลน้อย เป็นครั้งแรก ควรจะเข้าไปหาข้อมูลของพื้นที่ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อยู่ริมตลิ่งใกล้ ๆ กับประตูทางเข้าเขตฯ จากนั้นจึงเริ่มไปพักผ่อนที่ศาลาท่าเรือหรือลงเรือชมธรรมชาติ โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติของ ทะเลน้อย แบ่งออกเป็นหลายจุด จากที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเที่ยวชมได้ ดังนี้…
ทะเลน้อย
1. สะพานไม้รอบที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
สิ่งที่น่าสนใจตามทางเดินเท้าในบริเวณที่ทำการฯ มีดังนี้ นกอีโก้ง นกพริก นกอีล้ำ นกยางควาย จอกหูหนู บัวสาย ปลากระดี่ ปลาช่อน สำหรับต้นกระจูดที่ใช้สำหรับทำหัตถกรรม ทางเขตฯ ได้นำมาปลูกแสดงไว้ใกล้ ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ชมลักษณะดั้งเดิมของต้นกระจูด ก่อนนำไปผ่านขบวนการผลิต และระหว่างทางเดินจะพบผักตบชวาที่ถูกกั้นอยู่ในกรอบ หรืออาจพบนกอีโก้งหาอาหารกินอยู่ใกล้ ๆ กอผักตบชวา
ศาลากลางน้ำ เป็นจูดที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่นำอาหารกลางวันมารับประทาน ด้วยบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยความชุ่มฉ่ำของสายลมเย็นท่ามกลางกลุ่มบัวสาย และจอกหูหนู มีเสียงกบ เขียด ขับกล่อมพร้อมกับได้เห็นนกนานาพันธุ์ต่างสีต่างท่าทาง ต่างก็หากินอย่างอิสระ นับเป็นบรรยากาศที่หาได้ยากขึ้น ๆ ทุกวันหากท่านมีเวลามาก ขอแนะนำให้ท่านลงเรือไปชมความงามของทะเลน้อยในจุดอื่น ๆ บ้าง
2. หมู่บ้านทะเลน้อย
เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำประมงเป็นหลัก ปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่งเดินทางออกไปหางานทำในต่างถิ่น ชาวบ้านที่เหลือก็ยังทำนา ทำประมง ทำหัตถกรรม (เสื่อกระจูด) ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป แต่ที่น่าประทับใจก็คือท่านจะพบกับรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีของชาวบ้านที่มีต่อนักนักท่องเที่ยว
ของฝากจาก ทะเลน้อย คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูดที่เกิดจากฝีมือและความวิริยะอุตสาหะของแม่บ้านชาวทะเลน้อย ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ หมวก แผ่นรองจาน แผ่นรองแก้ว กระเป๋า ฯลฯ และของฝากที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของทะเลน้อยก็คือปลาดุกร้าที่อร่อยแบบสุดจะบรรยาย ต้นตำรับของปลาดุกร้าของแท้ต้องที่ทะเลน้อยเท่านั้น
ทะเลน้อย
3. ดงนกนางนวล
ในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน เมื่อเรือออกจากท่าได้ราว 150 เมตร ท่านจะพบฝูงนกนางนวลเกาะอยู่ตามหลักไม้ที่ปักไว้ตามทางเข้าออกของเรือ นกนางนวลที่พบบ่อยในทะเลน้อยมี 2 ชนิด คือ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว (Whitewinged Tern) และ นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered Tern) ท่านจะพบนกนางนวลแกลบเหล่านี้เกาะพักรวมกันตามไม้ที่ปักไว้ดังกล่าว นกทั้ง 2 ชนิดจะย้ายไปหาอาหารกินที่อื่นนอกช่วงเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้น
4. ดงบัวสาย
ผ่านจากนกนางนวลเรือจะพาท่านวนไปตามเข็มนาฬิกา จะผ่านไปในดงบัวสาย ดงบัวที่มีสีชมพูบ้านสะพรั่งในช่วงเวลา 08.00 น. เมื่อแดดร้อนแรงขึ้น บัวสายจะเริ่มหุบ และจะบานเต็มที่อีกครั้งหนึ่งในวันรุ่งขึ้น บัวสายเป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองที่แพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย ก้านใบสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ต้มกระทิ ผัดน้ำมัน หรือ ต้มจิ้มน้ำพริกได้ ในบริเวณดงบัวสายท่านอาจพบ นกยางกรอก นกอัญชันคิ้วขาว นกพริก หรือ นกอีแจว เดินหากินอยู่บนใบบัว
ทะเลน้อย
5. ดงนกเป็ดน้ำ
นกเป็ดน้ำเป็นนกมีปีก มันบินได้และเคลื่อนย้ายที่อยู่เสมอ ส่วนมากจะพบได้ตามดงกระจูดหนูที่ไม่หนาแน่น ตามดงบัวสาย หรือ บัวหลวง นกเป็ดน้ำที่พบได้ตลอดปี คือ นกเป็ดแดง และ เป็ดคับแค (ยกเว้นเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่นกเป็ดน้ำผลัดเปลี่ยนขนจะพบได้ยาก) ส่วน เป็ดลาย และเป็ดชนิดอื่น ๆ จะเป็นเป็ดที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย พบได้เฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมีนาคม ส่วนมากเราจะเข้าใกล้ฝูงนกเป็ดน้ำได้ไม่มากนัก นกจะบินหนีขึ้นพร้อม ๆ กันครั้งละเป็นพัน ๆ ตัว พร้อมกับเสียงกระพือปีกพรึบพรับเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ส่วนใหญ่คนขับเรือจะรู้ว่าจะพบนกเป็ดน้ำได้ที่ไหน
6. ดงกระจูดหนู
เป็นพืชน้ำที่พบได้มาก มักขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เป็นที่หลบภัยของนกและสัตว์น้ำ กระจูดหนูเป็นพืชที่มีลำต้นเปราะบาง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องใช้ การจับต้นกระจูดหนูควรระมัดระวัง ต้นเปราะและคมอาจบาดมือท่านได้ ต้นอ่อนของกระจูดหนูเป็นอาหารของนกอีโก้งและปลาบางชนิดที่ว่าง ๆ ในดงกระจูดหนู ท่านอาจพบเป็ดคับแค หรือสาหร่ายข้าวเหนียว พืชมีดอกไม่ใช่สาหร่ายแต่เราไปเรียกมันว่าสาหร่าย สาหร่ายข้าวเหนียวมีดอกเล็ก ๆ สีเหลือง เป็นพืชพิเศษชนิดหนึ่งที่สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก กินเป็นอาหารได้ โดยใช้กระเปาะเล็ก ๆ ที่มีอยู่มากมายใต้น้ำเป็นกับดักจับ ลองหยุดเรือแล้วพิจารณาดูลักษณะของกระเปาะดังกล่าว
7. ศาลานางเรียม
ตั้งอยู่ในบริเวณปากคลองนางเรียม เป็นศาลาที่ปลูกสร้างขึ้นกลางน้ำขนาดกลางรับน้ำหนักได้ราว 30 คน ศาลาน้ำเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมารับประทานอาหารกลางวัน ด้วยว่ามีบรรยากาศร่มรื่น ลมเย็นสบาย รอบ ๆ บริเวณศาลามีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น บัวหลวงที่อยู่ทางด้านทิศเหนือจะมีสีขาว ส่วนทางทิศใต้จะมีสีชมพู ทางทิศตะวันตกจะพบต้นเตยน้ำหลายต้นขึ้นรวมกลุ่มกันเป็นดงใหญ่ ในตอนใกล้ค่ำนกกระยางควายจะมาอาศัยนอนและถ่ายมูลทิ้งไว้เป็นหลักฐาน
ทะเลน้อย
8. คลองนางเรียม
เป็นคลองดั้งเดิม 1 ใน 3 คลองสำคัญ และเป็นคลองสุดท้ายที่ยังมีน้ำไหลสะดวกไม่ตื้นเขิน เช่น คลองดั้งเดิมอื่น ๆ แต่เดิมทะเลน้อยเคยมีจระเข้อาศัยอยู่ค่อนข้างชุกชุม และคลองนางเรียมก็เป็นคลองที่มีจระเข้ชุกชุมเช่นกัน เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันจระเข้เหลือเป็นเพียงตำนานให้เล่าขานกับเท่านั้น คลองนางเรียมมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ ไหลไปออกทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้คลองนี้เป็นทางสัญจรระหว่างทะเลน้อยกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมทะเล สองฝั่งคลองนางเรียมยังมีพันธุ์ไม้หลายชนิดปรากฏให้เห็น เช่น ต้นลำพู ต้นกุ่มน้ำ จิกพรุ เสม็ดขาว บัวสาย บัวลินจง
9. แหลมดิน
เมื่อจะพ้นคลองนางเรียมทางขวามือเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าสั้น ๆ ขึ้นเขียวขจี โดยเฉพาะในฤดูฝน ก่อนที่น้ำจะหลากท่วมราว 1-2 เดือน เมื่อพ้นคลองนางเรียมมาแล้วจะออกสู่ทะเลสาบ เราสามารถหาที่จอดเรือแล้วขึ้นฝั่งไปเดินบนดินได้ แหลมดินเป็นจุดดูนกน้ำและนกชายเลนได้เป็นอย่างดี มีนกเด่น ๆ เช่น นกตีนเทียน นกช้อนหอยขาว นกหัวโตหลังจุดสีทอง และ นกแอ่นทุ่งใหญ่ เป็นต้น ถ้าโชคดีอาจได้พบนกกาบบัว หรือ นกตะกรุม เดินหากินอยู่บ้างก็ได้
ทะเลน้อย
10. ดงบัวบา
จากแหลมดินคนขับเรือจะนำท่านเข้าสู่คลองบ้านกลางและกลับเข้าสู่ตัวทะเลน้อยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าท่านสังเกตสักนิด ขณะที่เรือแล่นผ่านดงกระจูดหนูหรือที่ว่าง ๆ ท่านอาจจะเห็นบัวชนิดหนึ่งที่ มีดอกสีขาวเล็ก ๆ มีเกสรสีเหลือง นั่นแหละ บัวบา หรือ ชบาน้ำ บัวที่แปลกไปจากบัวชนิดอื่นที่ท่านเคยรู้จักมา
11. ผืนน้ำกว้าง
หลังจากหาคำตอบจากบัวบาได้แล้วก็ถึงเวลาที่จะกลับที่ทำการฯ (ท่าเรือ) ทะเลน้อย ช่วงนี้จะเป็นผืนน้ำกว้างและค่อนข้างลึก (1-2 เมตร) ไม่ค่อยมีพืชน้ำ ถ้าดูให้ดีจะเห็นเป็ดผีว่ายน้ำดำผุดดำว่ายหาอาหารกินอยู่ไม่ไกลนัก ตามหลักไม้ที่มีผู้ปักทิ้งไว้มักจะพบนกกาน้ำเล็ก (ตัวสีดำ) เกาะกางปีกผึ่งแดดหลังจากดำน้ำหาปลากินจนอิ่มแล้ว
ทะเลน้อย
ข้อปฏิบัติในการเที่ยว ทะเลน้อย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทะเลน้อย ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการชมธรรมชาติ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของนักท่องเที่ยวย่อมนำมาซึ่งความปลอดภัย ความสะดวกและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของแหล่งท่องเที่ยวควรปฏิบัติตัว ดังนี้ …
1. ศึกษาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับนกน้ำและธรรมชาติของทะเลน้อยล่วงหน้า
2. ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของกรมป่าไม้
3. ลงเรือด้วยความระมัดระวัง และพยายามนั่งให้น้ำหนักของผู้โดยสารกระจายอยู่กลาง ๆ ลำเรือ ขณะเรือแล่นไม่ควรยื่นมือหรือเท้าออกไปนอกเรือ หรือทำให้เรือเสียการทรงตัว
4. ขยะทุกชิ้นควรนำกลับมาทิ้งในถังขยะบนฝั่ง ถ้าพบขยะกรุณาเก็บมาทิ้งด้วย
5. ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนขณะชมธรรมชาติ
6. ไม่เก็บดอกไม้ หรือ ทำลายพืชพันธุ์ตามธรรมชาติที่ปรากฏตามทางศึกษาธรรมชาติ
ทะเลน้อย
ติดต่อขอข้อมูลการท่องเที่ยว / ที่พัก
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โทร.0 7468 5230
สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย โทร.0 7468 5599
สำนักงาน ททท.ภาคใต้ เขต 2 โทร.0 7434 6514-6
บ้านพักตากอากาศ "พรมเงิน" ริมทะเลน้อย โทร.0 7468 5225, 0 7468 5330
บ้านพักในอุทยานกน้ำทะเลน้อย โทร.0 7468 5230
สวนพฤกษศาสตร์ ถนนสายลำปำ-ทะเลน้อย โทร.0 7461 4224
การเดินทาง
จากตัวเมืองพัทลุงใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4048 (พัทลุง-ควนขนุน) ประมาณ 32 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสายมีป้ายบอกตลอดทาง หรือทางรถไฟ ลงที่สถานีปากคลอง จากนั้นต่อรถโดยสารไปทะเลน้อย ประมาณ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านค้าสวัสดิการ บ้านพักรับรอง 5 หลัง และเรือนำเที่ยว 60 ลำ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 7468 5230
ทั้งนี้ วันที่ 15 มีนาคม - 15 เมษายน 2553 จะมีงานเทศกาลล่องเรือแลนกทะเลน้อย ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีกิจกรรมนั่งเรือหางยาวเที่ยวชมนก และพรรณไม้น้ำ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้าเกษตร และวิถีชีวิตชุมชน ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านนานาชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากกระจูด ปลาดุกร้า ฯลฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปลัดเทศบาลตำบลนางตุง โทร. 0 7468 5240 ททท. สำนักงานหาดใหญ่ โทร. 0 7423 1055 , 0 7423 8518
ขอขอบคุณข้อมูลจาก