x close

ตะลุยเส้นทางธรรมชาติป่าพุเตย พิชิตยอดเขาเทวดาสูงที่สุดในสุพรรณบุรี


อุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี

          ในช่วงฤดูท่องเที่ยวในช่วงปลายปีแบบนี้ เชื่อว่าเพื่อน ๆ โดยเฉพาะคนรักกิจกรรมเดินป่าหลายคนยังคงมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเด็ด ๆ สำหรับวางแผนเดินทางไปเที่ยวในช่วงปลายปีกันอยู่ วันนี้กระปุกดอทคอมแวะมาปักมุกลายแทงให้เพื่อนเดินทางไปเที่ยวกันอีกแล้ว หลังจากที่เราได้มีโอกาสดี ๆ แวะไปเที่ยวที่ยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยเวลา 2 วัน 1 คืน กันที่ "อุทยานแห่งชาติพุเตย" จังหวัดสุพรรณบุรี กับเส้นทางเดินป่าสนุก ๆ ส่วนที่นี่จะความสวยงามทางธรรมชาติแบบไหนที่น่าสัมผัสบ้าง ตามไปตะลุยที่นี่พร้อม ๆ กันเลยจ้า

 
           ช่วงแรกเรามาสรุปรูปแบบทริปท่องเที่ยวที่นี่กันก่อน ซึ่งเริ่มจากการเดินทางเที่ยวป่า สู่ยอดเขาอุทยานแห่งชาติพุเตย ผ่านเส้นทางจากน้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ไปตามลำธาร สู่น้ำตกตะเพินคี่น้อย ก่อนเข้าพักผ่อนที่จุดกางเต็นท์ ส่วนในช่วงค่ำเมื่อท้องฟ้าเปิดก็สามารถนอนดูดาว และตื่นกันแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางไปชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่เขาเทวดา ยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรีจ้า อ๊ะ ๆ แต่ก่อนเราจะไปตะลุยท่องป่าพุเตยกัน เราต้องแวะมาทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติพลุเตยกันสักหน่อยดีกว่า ว่าที่นี่มีความเป็นมาอย่างไร มีสถานที่น่าสนใจอะไรบ้าง
 
           สำหรับ "อุทยานแห่งชาติพุเตย" หรือชื่อเดิมคือ "วนอุทยานแห่งชาติพุเตย" หรือ "วนอุทยานแห่งชาติพุกระทิง" ถือเป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำและป่าเขาห้วยพลู ซึ่งเป็นป่าครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ส่วนพื้นที่บริเวณที่สูงของที่นี่เรียกว่า "ยอดเขาเทวดา" มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 198,422 ไร่ หรือ 317.48 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย มีป่าสนสองใบธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และสวยงามเหมาะ ที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย



            ส่วนความเป็นมาของที่นี่นั้น เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ ป่าเขาห้วยพลู ท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเดิมเป็นวนอุทยานพุเตย, วนอุทยานพุกระทิง, วนอุทยานเตรียมการตะเพินคี่ ที่มีป่าไม้ที่ยังคงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นกรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 1224/2537 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 ให้นายพันเทพ อันตระกูล นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และจัดตั้งวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ จังหวัดสุพรรณบุรี และจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จากผลการสำรวจพบว่าประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา เกาะ และน้ำตก ที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป

             คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในท้องที่ตำบลองค์พระ ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลนิคมกระเสียว ตำบลวังยาว และตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 นับเป็น "อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 85 ของประเทศไทย"

              สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ประกอบด้วยเขาผาแดง, เขาพุเตย, เขาพุระกำ, เขาปลักหมู, เขาขโมย, เขาม่วงเฒ่า, เขาปะโลง และเขาห้วยพลู โดยมียอดเขาเทวดาสูงสุด มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ ลำตะเพิน, ห้วยเหล็กไหล, ห้วยองคต, ห้วยองค์พระ, ห้วยท่าเดื่อ และห้วยขมิ้น ซึ่งไหลลงเขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

              ส่วนอากาศของที่นี่โดยทั่วไปค่อนข้างร้อนในช่วงต้นปี และมีฝนตกชุกตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะมีปริมาณน้ำบริเวณน้ำตกไหลมากกว่าปกติ 

              นอกจากนี้ด้วยพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติพุเตย ที่ตั้งอยู่ภายในเขตภาคกลาง ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่มากนัก ทางอุทยานจึงมีแนวคิดในการสนับสนุนกิจกรรมการออกค่าย ด้วยการเปิดโอกาสในกลุ่มโรงเรียน, เยาวชน, นิสิต-นักศึกษา ได้เดินทางเข้ามาใช้สถานที่ในการทำกิจกรรม ร่วมไปกับการศึกษาผ่านห้องเรียนธรรมชาติ และเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืน รวมทั้งมีการสร้างฐานผจญภัยพิสูจน์พลังใจตามแบบฉบับการฝึกของทหารมาใช้ในการทำกิจกรรมอีกด้วย

              และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าพุเตยที่มีอยู่มาก ทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่าจำนวนมาก ซึ่งประกอบด้วยป่าสนสองใบธรรมชาติ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังผสมป่าดิบแล้ง พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เหียง, พลวง, แดง, ชิงชัน, ประดู่, มะค่าโมง, ไผ่ป่าต่าง ๆ และสนสองใบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าแอบซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสมบูรณ์ของสัตว์ป่าทั่วไปอีกด้วย







              ได้รู้จักกันอุทยานกันไปคร่าว ๆ แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาดีออกตะลุยตามลายแทงกันเลยจ้า ด้วยการเริ่มต้นเดินทางด้วนการนั่งรถการเดินทางของเราในช่วงแรกนั้นจะต้องขึ้นรถกระบะโฟร์วีล ไดรฟ์เพื่อไปยังจุดลง น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่  จากนั้นจะใช้เส้นทางการเดินเท้าเข้าป่าไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 3 ระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3-4 ชั่วโมง







              มีการแจกจ่ายอาหารที่ห่อด้วยใบตองวัสดุจากธรรมชาติ และน้ำดื่มกันก่อน เมื่อเสบียงพร้อม ก็ออกตะลุยกันได้เลยจ้า











              จุดเริ่มต้นเส้นทางเดินป่าสู่น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ มีระยะทางประมาณ 500 เมตร และจากจุดเริ่มต้นถึง น้ำตกตะเพินคี่น้อย มีระยะทาง 7 กิโลเมตร







              ออกเดินทางด้วยการเดิน ๆ และก็เดินหลบหลีกกิ่งไม้ กิ่งไผ่ ข้ามลำธารเล็กไปเรื่อย ๆ ใช้เวลา 20 นาทีโดยประมาณก็มาถึงบริเวณจุดชมน้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณขึ้นหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพสูง









              ช่วงเวลาท่องเที่ยวที่แนะนำ คือช่วงปลายผนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง ธันวาคม ของทุกปี







              จากนั้นเราก็ออกเดินทางกันต่อซึ่งบริเวณสองข้ามทางจะเต็มไปด้วยธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก เต็มไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่ โดยเฉพาะหนอน, แมงมุม และผีเสื้อนานาชนิด







              บางช่วงของการเดินทางมีบริเวณลาดชันมาก ๆ  จึงต้องมีการปีนปายพร้อมทั้งปีนน้ำตก ซึ่งต้องขอบอกว่าถ้าเดินบนน้ำตกรับรองว่าเดินแล้วไม่ลื่นแน่นอน เพราะเป็นน้ำผ่านภูเขาหินปูน แต่ถ้าเดินบริเวณโขดหินหรือดินชุ่ม ๆ ลื่นแน่นอนจ้า




              เดินได้สักพักใหญ่ ๆ เราก็ต้องแวะพักเติมพลังกันก่อน ด้วยเมนูข้าวเหนียว หมูทอดและน้ำพริก (รสชาตินี่อร่อยเป็นพิเศษกว่ามื้อไหน ๆ เลยก็ว่าได้จ้า)












              หลังจากท้องอิ่มแล้วเราก็ออกเกินทางกันต่อ เดินมาสักพักใหญ่ก็จะเจอกับต้นไม้ใหญ่ที่พอมีอายุมาก ๆ ก็จะโค่นล้มเป็นจุด ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะปล่อยให้เป็นธรรมชาติของต้นไม้ไม่มีการตัดหรือลักลอบไปทำประโยชน์อื่น ๆ













              และโค้งสุดท้ายก่อนเดินทางไปถึงบริเวณน้ำตกตะเพินคี่น้อย เราก็แวะแชะภาพน้ำตกสวย ๆ กันก่อน โดยน้ำตกตะเพินคี่น้อย ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่งดงาม สายน้ำไหลกระเซ็นเป็นละอองลงสู่โขดหินข้างล่าง น้ำตกแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของเด็กๆชาวกะเหรี่ยงที่พากันมาเล่นน้ำ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ สามารถเที่ยวชมน้ำตกตะเพินคี่น้อยได้ตลอดเวลา
















            ในที่สุดเราจะเดินมาถึงยังบริเวณจุดกางเต็นท์แล้ว พอออกจากป่ามาได้ไม่นานก็จะเจอกับ ทุ่งข้าวโพด และข้าวไร่ขนาดใหญ่ริมสองข้างทางเป็นทุ่งสีทอง ตัดกับท้องฟ้าสวยงามเกินคำบรรยายจริง ๆ เลยจ้า



            ส่วนนี่คืออาหารมื้อเย็นแสนอร่อยจ้า













            บริเวณลานกางเต็นท์ที่พัก ซึ่งที่นี่จะมีห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยว ๆ













            ตกดึกเราก็ยังไม่หลับไม่นอน เพราะจะแอบชมความสวยงามของหมู่ดาว ระยิบ ระยับ เต็มท้องฟ้าที่เปิดโล่งเลยจ้า



            เช้าวันต่อมา...เราตื่นกันตั้งแต่ตี 4 เพื่อออกเดินทางไปพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในสุพรรณบุรีอย่าง "ยอดเขาเทวดา" ซึ่งถือเป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง ในหมู่บ้านตะเพินคี่ที่บอกว่าถ้าขึ้นยอดเขาจะอายุยืน

            สำหรับการเดินทางในช่วงตีสี่นั้น สิ่งสำคัญที่หลายคนต้องเตรียมก็คือไฟฉาย และเตรียมร่างกายให้พร้อม และเนื่องจากความมืดบวกและความลาดชันของพื้นที่ทำไม่สามารถบันทึกภาพในช่วงมืดได้ ขาลงเราเลยแชะภาพเส้นทางมาให้ชมกัน (แอบตกใจเหมือนกันว่าเราขึ้นไปได้ไง ? )







            ระยะทางจากจุดเริ่มต้นเดินเขาขึ้นไปถึงยอดเขา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ถึงชันมาก บางช่วงมีการมัดเชือกสำหรับจับ และมีแต่เดินขึ้นอย่างเดียว เหนื่อยก็หยุดพัก และก็เดินต่อไปเรื่อย ๆ ระยะทางโดยรวม 800 เมตร (แต่ความรู้สึกเหมือน 8 กิโลเมตร)



            แอบเล่าเล็กน้อยว่าที่นี่จะมีประเพณีของชาวกระเหรี่ยงที่มีการแข่งขันวิ่งขึ้นยอดเขา ในทกปีซึ่งผู้ที่ทำได้เวลาได้ล่างสุดคือ 15 นาที ส่วนเราก็ทำเวลาได้ดีเช่นกันด้วยเวลาเกือบ 2 ชม. เท่านั้นเองจ้า ^^

            พอเดินทางมาถึงยอดก็รู้เลยว่าทำไม ? ที่นี่ถึงตั้งชื่อว่า เขาเทวดา เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความสวยงามของธรรมชาติที่ไร้การแต่งแต้มในตอนเช้า





            บริเวณยอดเขายังมีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย 










            ปิดท้ายทริปด้วยภาพความสวยงามของทะเลหมอก และแสงแรกของพระอาทิตย์ที่ยอดเขาเทวดา ยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรีจ้า

            เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสุดประทับใจที่ กระปุกดอทคอมขอมาแนะนำความรู้ พร้อมประสบการณ์สนุก ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้ลองแวะไปท่องเที่ยวกันจ้า ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ ที่อุทยานแห่งชาติพุเตย อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3544 6237, 08 1934 2240 หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3552 5867, 0 3552 5880, 0 3552 5863-4

            เคล็ดลับสำคัญ

            1. สำหรับการเดินป่านั้น การเตรียมพร้อมร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก

            2. เตรียมอุปกรณ์จำเป็นให้พร้อม โดยเฉพาะไฟฉาย อุปกรณ์กันฝน และรองเท้าที่สามารถเดินป่าลุยน้ำได้

            3. ห้ามเดินป่าด้วยตัวเองเด็ดขาด หากต้องการเดินป่าจะต้องมีการติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นผู้นำทาง

            อัตราค่าบริการต่าง ๆ ของอุทยานแห่งชาติพุเตย

            ค่าบริการ

           1. ค่าเข้าอุทยาน สำหรับผู้ใหญ่ ราคา 20 บาท, เด็ก ราคา 10 บาท และชาวต่างชาติ ราคา 100 บาท

           2. ค่ารถเข้าภายในอุทยาน รถจักรยาน ราคา 10 บาท, รถมอเตอร์ไซค์ ราคา 20 บาท, รถยนต์ 30 บาท และ รถยนต์เกิน 4 ล้อ ราคา 100 บาท     

           3. ค่าเช่าพื้นที่กางเต็นท์  30 บาท

           4. ค่าเช่าเต็นท์ ขนาดเล็กหลังละ 250 บาท, ขนาดใหญ่ ราคา 500 บาท และบ้านพักราคาหลังละ 500 บาท

           5. ค่าเช่าบ้านดิน ราคาหลังละ 500 บาท, บ้านเขาสน, บ้านลูกสน รองรับ 1-5 คน ราคาหลังละ 500 บาท (พัก 6 คนขึ้นไปราคาคนละ 100 บาท)

           ค่ากิจกรรม

           1. โป่งเทียม ราคา 900 บาท

           2. หนังสติ๊กปลูกต้นกล้า ราคา 500 บาท/ชุด

           3. ฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว) ราคา 1,000 บาท 

           4. แนวกันไฟ ราคา 600 บาท/แนว

           5. ปลูกต้นไม้ ต้นละ 50 บาท

           6. ค่าวิทยากรบรรยายฐานการเรียนรู้ ฐานละ 500 บาท

           7. ค่าเช่ารถยนต์ไปป่าสนสองใบและศาลเลาดาห์ ราคา 1,200 บาท

           8. ค่าเช่ารถไปลานกางเต็นท์หมู่บ้านตะเพินคี่ ราคา 2,000 บาท

           9. ค่าเครื่องเสียงงานภายใน ราคา 2,000 บาท, งานภายนอก ราคา 3,500 บาท

          10. ค่าอาหาร อย่างละ 30 บาท/คน/มื้อ (coffee break ราคา 25 บาท/คน, ค่าขนมหวาน+ผลไม้ ราคา 10 บาท/คน)
      
           การเดินทาง

           จากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) จนกระทั่งถึงทางแยกเข้าสู่อำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 733 มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองอำเภอด่านช้าง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

           จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เข้าสู่ตัวจังหวัดนครปฐม จากนั้นให้เลี้ยวขวาที่สามแยกมาลัยแมน เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 321 มุ่งหน้าสู่อำเภออู่ทอง ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร และจากอำเภออู่ทอง ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 เข้าสู่อำเภอด่านช้าง อีก 50 กิโลเมตร

            และจากอำเภอด่านช้างใช้เส้นทางสาย 333 (ด่านช้าง-บ้านไร่) ไปอีก 15 กิโลเมตร ก็จะพบทางแยกเข้าบ้านวังดิน เข้าไปที่บ้านป่าขีดอีก 15 กิโลเมตร (ทางลาดยาง) แล้วต่อด้วยทางลูกรัง จากบ้านป่าอีเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย อีก 3 กิโลเมตร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลุยเส้นทางธรรมชาติป่าพุเตย พิชิตยอดเขาเทวดาสูงที่สุดในสุพรรณบุรี อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 16:52:54 68,572 อ่าน
TOP