ท่องเที่ยวชมวาฬและโลมาในอ่าวตัว ก
ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของเมืองไทย คือ “การชมวาฬ” ซึ่งต่อยอดมาจากการออกเรือไปดูนกน้ำ-นกทะเลในบริเวณอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่ข่าวคราวของวาฬบรูด้าแพร่กระจายออกไปตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลมายังชายฝั่งเพชรบุรี หวังจะชื่นชมยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทย กลายเป็นปรากฏการณ์บรูด้าฟีเว่อร์ อันที่จริงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชมโลมาในประเทศไทยมมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนัก เช่น โลมาอิรวดี ที่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โลมาหลังโหนกหรือโลมาสีชมพู ที่อ่าวขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับการท่องเที่ยวชมวาฬในเมืองไทยถือเป็นเรื่องใหม่ หลาย ๆ คนอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยก็มีวาฬ โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ซึ่งเป็นแหล่งที่พบวาฬบรูด้าเป็นประจำ ไม่น่าเชื่อว่าห่างจากชายฝั่งกรุงเทพมหานครเพียงไม่ที่กิโลเมตร เราก็สามารถพบวาฬบรูด้าด้วยยาวกว่าสิบเมตรแหวกว่ายหากิน เรียกว่าแทบจะติดหลังบ้านคนกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ วาฬบรูด้ามีความน่าสนใจในตัวของมันเองจากเรื่องขนาดอันใหญ่โตมโหฬาร แต่คนส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้พบ หากไปออกทะเลโอกาสพบเจอก็ต้องถือว่าง่าย ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวชมวาฬในต่างประเทศ
ลักษณะของอ่าวไทยตอนใน (อ่าวตัว ก)
อ่าวไทยตอนในมีลักษณะชายฝั่งคล้ายตัวอักษร ก ไก่ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยมีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และยังมีแม่น้ำสายเล็ก ๆ อีก 2 สาย คือ แม่น้ำบางตะบูนและแม่น้ำเพชรบุรี ดินตะกอนและธาตุอาหารจากแผ่นดินที่ไหลลงมาสะสมในบริเวณปากแม่น้ำ ทำให้อ่าวไทยตอนในมีลักษณะเป็นหาดเลนกว้างใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์มาก อินทรีสารที่ปนมากับดินเลนเป็นแหล่งอาหารของสัตว์หน้าดิน และสัตว์น้ำต่าง ๆ บริเวณปากแม่น้ำยังมีป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน อ่าวไทยตอนในจึงอุดมสมบูรณ์ด้วยกุ้งหอยปูปลานานาชนิด รวมทั้งยังมีนกอีกมากมาย ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพที่อาศัยหากินบนหาดเลนป่าชายเลน รวมถึงกลางทะเล ทางด้านเศรษฐกิจอ่าวไทยตอนในถือเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะปลาทู
วาฬและโลมาในอ่าวตัว ก
โดยความเป็นจริงแล้ว “วาฬ” และ “โลมา” ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลลักษณะรูปร่างคล้ายปลาขนาดใหญ่ คนไทยจึงเรียกกันติดปากว่า “ปลาวาฬ” และ “ปลาโลมา” อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกคงไม่ใช่เรื่องถูกผิด ในเมื่อเราใช้สื่อสารความหมายถึงสัตว์ชนิดเดียวกัน ในประเทศไทยพบวาฬและโลมาทั้งหมด 27 ชนิด โดยพบทางด้านทะเลอันดามันซึ่งเป็นทะเลเปิดได้มากชนิดกว่าทางด้านอ่าวไทย สำหรับชนิดที่พบบ่อย ๆ มักเป็นชนิดที่อาศัยหากินอยู่ใกล้ชายฝั่งหรือเกาะต่าง ๆ เช่น โลมาอิรวดี (Irrawaddy Dolphin) โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless Porpoise) โลมาปากขวด (Indo-Pacific Bottlenose Dolphin) และวาฬบรูด้า (Bryde’s Mhale)
สำหรับวาฬบรูด้าพระเอกร่างยักษ์แห่งอ่าวไทย เป็นวาฬชนิดไม่มีฟัน ลำตัวยาว 10-15 เมตร น้ำหนัก 12-20 ตัน รูปร่างค่อนข้างเพรียว ลำตัวด้านบนสีเทาดำอมน้ำเงิน ผิวหนังเรียบ ครีบหลังเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมโค้งตำแหน่งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตามแนวราบ และมีรอยเว้าตรงกลาง ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน รูหายใจ 2 ช่อง ลักษณะเดียวกับรูจมูกคน มีดวงตาเล็กมากเมื่อเทียบกับลำตัวขนาดมโหฬาร ตาอยู่ใกล้มุมปากบนด้านล่างของปากลงมาถึงท้องเป็นสีขาวอมชมพู มีร่องใต้คาง 40-70 ร่อง กินอาหารโดยอ้าปากฮุบเหยื่อ โดยการกรองผ่านซี่กรอง อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็ก รวมทั้งแพลงก์ตอน เคย และหมึก
การชมวาฬและโลมา
การล่องเรือชมวาฬแบบไทย ๆ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่อยากเห็นตัวเป็น ๆ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วย นมขนาดใหญ่ผู้ใช้ชีวิตลึกลับอยู่กลางทะเล แต่คงใช่ใครจะทำอะไรก็ได้ตามใจ เพราะวาฬบรูด้าถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยต้องมีการวางกฎระเบียบ รวมถึงนำรูปแบบการท่องเที่ยวชมวาฬจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ด้วย ดังนั้น หลังจากปรากฏการณ์บรูด้าฟีเว่อร์ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้เข้าไปจัดอบรมให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเจ้าของเรือและนักท่องเที่ยวในการชมวาฬบรูด้า เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นการท่องเที่ยวในเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยไม่เป็นการรบกวนวิถีชีวิตของวาฬจนเกินไป เนื่องจากวาฬและโลมาใช้เสียงในการสื่อสาร เลี้ยงดูลูก ระบุแหล่งอาหาร และเพื่อการผสมพันธุ์ ดังนั้น เสียงเครื่องยนต์และท่าทีในการเข้าหาของเรือจึงมีผลต่อความหวาดระแวงของวาฬ ปัจจุบันเกิดเสียงดังจากกิจกรรมของมนุษย์หลาย ๆ อย่าง เช่น การท่องเที่ยวการประมง เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ การชุดเจาะน้ำมัน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในบริเวณที่อยู่ของวาฬ จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการจับคู่ผสมพันธุ์
การชมวาฬและโลมาโดยทางเรือจึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการชมอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการรบกวนวิถีชีวิตของวาฬและโลมา อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บจากการเฉี่ยวชนของเรือ รวมทั้งผลกระทบจากเรื่องเสียงด้วย
ช่วงเวลาสำหรับการชมวาฬและโลมา
วาฬบรูด้าพบอาศัยหากินวนเวียนอยู่ในอ่าวไทยตลอดทั้งปี การออกเรือไปกลางทะเลจึงมีโอกาสพบพวกเขาได้เสมอ ขึ้นอยู่กับอาหารและสภาพอากาศ แต่ช่วงปลายฤดูฝนประมาณสิงหาคม-ตุลาคม มีโอกาสพบตัวได้ค่อนข้างสูงและพบหลายตัว เพราะเมื่อถึงฤดูฝน น้ำเหนือที่ชะล้างจะพาธาตุอาหารจากแผ่นดินไหลลงมาสู่ทะเล ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเบียด” เกิดเป็นปรากฏการณ์สะพรั่งของแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารอย่างดีของบรรดาปลาเล็ก ปลาน้อย ฝูงปลาต่าง ๆ จึงเข้ามาอาศัยหากินบริเวณใกล้ปากแม่น้ำเป็นจำนวนมาก เช่น ปลากะตักแก้ว ปลากะตักควาย ปลาทู และเคย ซึ่งวาฬบรูด้าเองก็จะติดตามฝูงปลาเล็ก ๆ เหล่านี้เข้ามาเพื่อกินเป็นอาหารด้วย การพบวาฬบรูด้าใกล้ชายฝั่งจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับชาวประมง เพราะนั่นหมายความว่าพวกปลากะตักและปลาทูไม่ผิดนัด
การเตรียมตัวและอุปกรณ์สำหรับการชมวาฬ
การออกเรือไปชมวาฬบรูด้าต้องใช้เวลาเดินทางนาน ต้องอยู่กันบนเรือเกือบทั้งวัน การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็นเวลานาน ๆ และเผชิญกับสภาพลมฟ้าอากาศที่เอาแน่นอนไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจชมวาฬและโลมาทางเรือควรเตรียมพร้อมเบื้องต้น ดังนี้
เสื้อผ้า ควรเป็นเสื้อแขนยาวใส่สบาย สำหรับกันแดด กันลม บางช่วงอาจต้องมีเสื้อกันฝน ร่ม หรือถุงกันน้ำไปด้วย เพราะอากาศกลางทะเลบางทีก็คาดเดายาก สำหรับกางเกงควรเป็นกางเกงขายาว แต่ถ้าไม่กลัวแดดหรือผิวเสียจะใส่ขาสั้นก็ไม่ว่ากัน
หมวก สำหรับกันแดดจะเป็นหมวกแก๊ปหรือหมวกปีกกว้างก็ได้แล้วแต่ชอบ
แว่นตากันแดด กลางทะเลแดดจ้ามากและลมแรง แว่นกันแดดช่วยในการมองหาวาฬได้สบายตามากขึ้น
รองเท้า ควรเป็นรองเท้าที่พื้นไม่ลื่น สวมกระชับ สะดวกตอนขึ้นลงหรือเดินไปมาบนเรือ ควรเป็นแบบกันน้ำหรือแห้งง่าย ไม่ควรเป็นรองเท้าผ้าใบเพราะเปียกแล้วแห้งยาก
ครีมกันแดด บางทีดูวาฬท่ามกลางแดดจนเพลิน ผิวอาจไหม้โดยไม่รู้ตัว
ยาแก้เมาเรือ คลื่นลมทะเลเอาแน่นอนไม่ได้ หากเมาเรือคงดูวาฬไม่สนุกแน่
อาหารและเครื่องดื่ม ควรเตรียมอาหารกลางวัน น้ำ และของขบเคี้ยวไปกินบนเรือด้วย
กล้องส่องทางไกล ช่วยในการมองหาวาฬจากระยะไกล
กล้องถ่ายภาพ สำหรับเก็บบันทึกความทรงจำ บรรยากาศการท่องเที่ยว และพฤติกรรมน่าสนใจของวาฬ
ข้อควรปฏิบัติในการชมวาฬและโลมา
สำหรับคนที่อยากไปชมวาฬและโลมา นอกจากอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ต้องนำไปด้วยให้มาก ๆ คือ จิตสำนึก นักท่องเที่ยวและคนเรือควรเข้าใจว่าการชมพฤติกรรมตามธรรมชาติของวาฬต้องมีระยะห่างที่พอเหมาะ สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในการเข้าใกล้บริเวณที่พบวาฬและโลมา คือ
1. ความเร็วเรือและระยะห่าง : เมื่อเข้าใกล้วาฬในระยะ 400 เมตร ควรลดความเร็วเรือให้ต่ำกว่า 7 นอต และใช้ความเร็วไม่เกิน 4 นอต ในระยะ 100-300 เมตร จากตัววาฬ ไม่ควรเข้าใกล้วาฬต่ำกว่า 100 เมตร (กรณีเป็นคู่แม่ลูกควรมากกว่า 200 เมตร) และ 50 เมตร สำหรับโลมา ยกเว้นกรณีที่วาฬหรือโลมาว่ายเข้ามาใกล้เรือเอง และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความเร็วเรือแบบกะทันหัน
2. จำนวนเรือ : ไม่ควรเกิน 3 ลำ ในบริเวณชมวาฬและโลมาจุดเดียวกัน และไม่ควรใช้สกูตเตอร์ในการชมวาฬ เพราะจะเกิดเสียงใต้น้ำดังเป็นการรบกวนวาฬ
3. ทิศทางและท่าที : การเข้าใกล้วาฬและโลมาควรเข้าทางด้านข้างหรือเฉียง ๆ ไม่เข้าทางด้านหัวหรือหาง ไม่เร่งความเร็วเรือเพื่อไล่กวดวาฬ หรือใช้เรือไล่ต้อนล้อมวาฬ หากวาฬว่ายเข้ามาใกล้เรือ ควรชะลอความเร็ว เดินเครื่องเบา หรือดับเครื่องยนต์ ลอยลำสังเกตพฤติกรรม หากวาฬว่ายน้ำอย่างรวดเร็วออกจากตำแหน่งที่สังเกตก็ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ติดตามในทันที เพราะจะทำให้วาฬตื่นตกใจ
4. ไม่ให้อาหาร : โดยเฉพาะโลมาซึ่งค่อนข้างจะคุ้นกับคนมากกว่าวาฬ เพราะจะทำให้สูญเสียสัญชาตญาณธรรมชาติและการระวังภัย อีกทั้งอาหารอาจนำพาเชื้อโรคมาสู่วาฬ
. ไม่ควรว่ายน้ำหรือดำน้ำเล่นกับวาฬและโลมา : อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสัตว์บาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงการสัมผัสตัววาฬและโลมาอาจติดเชื้อโรคที่ติดต่อจากคนสู่สัตว์หรือสัตว์สู่คน
การสังเกตพฤติกรรมของวาฬและโลมา
การชมวาฬและโลมาให้สนุกสนานและได้ความรู้ นักท่องเที่ยวควรศึกษาชนิดและทำความรู้จักวาฬและโลมาที่คาดว่าจะพบ จดจำลักษณะเด่น พฤติกรรมเด่น ๆ ของแต่ละชนิดเป็นการบ้านมาก่อน
โลมาที่พบในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นโลมาอิรวดี ส่วนโลมาหลังโหนกและโลมาหัวบาตรหลังเรียบจะพบยาก ต้องโชคดีจริง ๆ นิสัยของโลมาอิรวดีชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่บางทีก็พบคราวะหลายสิบตัว โดยมักพบหากินใกล้ชายฝั่งมากกว่าวาฬ ทั้งฝูงจะช่วยกันว่ายน้ำไล่ต้อนฝูงปลากินเป็นอาหาร ปกติเวลาว่ายน้ำและโผล่ขึ้นมาหายใจจะสังเกตได้ยาก เพราะครีบหลังมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็มักพบในระยะใกล้กว่าวาฬ และกระโดดเหนือผิวน้ำให้เห็นบ่อย ๆ
สำหรับพฤติกรรมของวาฬที่พบประจำ คือ การว่ายน้ำไปมาสลับกับการโผล่ขึ้นหายใจ โดยจะเห็นส่วนหัวเรี่ยผิวน้ำขึ้นมาก่อน แล้วพ่นลมหายใจออกมาเสียงดังฟีด พร้อมกับพ่นน้ำเป็นละอองฝอย ก่อนจะโค้งตัวมุดลงน้ำเผยให้เห็นส่วนของหลังและครีบหลัง โดยปกติหางจะไม่โผล่พ้นน้ำ แต่บางตัวอาจสะบัดหางตีน้ำบ้าง อาจจะเป็นพฤติกรรมวาฬไล่ต้อนปลาก็ได้ สิ่งที่เราเห็นขณะวาฬว่ายน้ำจะหลอกตามาก ดูเหมือนตัวมันไม่ใหญ่นัก แต่จริง ๆ แล้วลำตัวมหึมาของมันถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ หลังจากว่ายน้ำไล่ต้อนฝูงปลามารวมกันแล้ว วาฬบรูด้าจะขึ้นเสยเหยื่อเหนือน้ำเพื่อกินอาหาร เราสังเกตติดตามวาฬได้จากทิศทางการว่ายน้ำ แต่สำหรับการโผล่ขึ้นมากินเหยื่อแต่ละครั้งอาจคาดเดาตำแหน่งได้ยาก ภาพการขึ้นกินเหยื่อถือเป็นท่ามาตรฐานที่นักท่องเที่ยวชมวาฬทุกคนหวังจะได้ชม วาฬจะค่อย ๆ โผล่หัวพ้นผิวน้ำตั้งฉากขึ้นมาก่อน โดยปากบนและปากล่างยังคงแนบสนิทกัน จากนั้นมันจะอ้าปากออกโดยการทิ้งปากล่างลงมา บางตัวทิ้งแรงกระแทกผิวน้ำกระจาย อ้าปากว้างเกือบเป็นมุมฉาก ขากรรไกรล่างจะทำหน้าที่คล้ายสวิงขนาดยักษ์ ภายในปากจะมีปลาเล็ก ๆ นับร้อยนับพันที่พยายามดิ้นรนหนีความตาย ดูราวกับน้ำกำลังเดือดพล่าน ไม่กี่อึดใจก็หุบขากรรไกรล่างเชยคางสีชมพูขึ้น พร้อมไล่น้ำออกจากปากผ่านซี่กรอง ปลาเล็กปลาน้อยจะถูกกรองเอาไว้และกลืนลงคอ ก่อนที่วาฬบรูด้าจะค่อย ๆ จมตัวกลับลงสู่ท้องทะเลอย่างนุ่มนวล หลังจากลงสู่ใต้ผิวน้ำแล้วไม่กี่วินาที วาฬจึงโผล่ส่วนหัวขึ้นมาอีกครั้งก่อนพ่นลมหายใจออกแล้วจึงว่ายน้ำต่อ
บางครั้งวาฬมีการกินอาหารใต้ผิวน้ำด้วย หรืออาจใช้ปากไล่ซ้อนไปตามผิวน้ำแบบตะแคงกิน โดยเฉพาะในบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่งเพียงไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งวาฬไม่สามารถทำตัวตรงตั้งฉากได้ โดยปกติวาฬมักออกหากินเพียงตัวเดียว ได้พบการรวมตัวเป็นฝูงใหญ่ ๆ วาฬที่ว่ายน้ำและหากินเคียงคู่กันโดยส่วนใหญ่เป็นคู่แม่ลูก สังเกตได้จากขนาดที่ต่างกันชัดเจน วาฬแม่ลูกจะอยู่ด้วยกันราว 2-3 ปี แต่บางครั้งพบว่าวาฬที่พบคู่กันอาจเป็นเพียงเพื่อนร่วมหากิน หรือกำลงจับคู่ผสมพันธุ์กันก็เป็นได้ ซึ่งขนาดตัวจะไม่แตกต่างกันมากนัก บางครั้งอาจพบวาฬ 3-4 ตัว ช่วยกันว่ายต้อนฝูงปลาด้วยกันหากินร่วมกันในระยะสั้น ๆ ก่อนแยกย้ายกันไป
อีกพฤติกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งนักชมวาฬล้วนอยากมีโอกาสได้เห็นกับตาสักครั้ง คือ การกระโดด (Breaching) ในทางวิชาการสันนิษฐานว่า การกระโดดของวาฬน่าจะเป็นพฤติกรรมที่แสดงความคึกคะนอง ร่าเริง สนุกสนาน ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นวาฬวัยรุ่นหรือเด็กน้อยที่ยังหากินกับแม่ เข้าใจว่าตัวยังเล็ก น้ำหนักไม่มาก แต่ก็พบวาฬตัวเต็มวัย น้ำหนักตัวเกือบ 20 ตัน ก็กระโดดตัวลอยได้เหมือนกัน ลองนึกภาพตามว่ามันจะต้องใช้พละกำลังมหาศาลเพียงใด
ผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากการท่องเที่ยวชมวาฬ คือ มีโอกาสพบฝูงนกนางนวลแกลบคอยบินโฉบจับปลาตัวเล็กตัวน้อยเวลาวาฬแหวกว่ายผ่าน และจะยิ่งกรูกันลงมาเมื่อวาฬขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อกินเหยื่อ ถือเป็นช่วงวินาทีทองที่นกจะต้องรีบฉวยลงโฉบจับปลาอย่างรวดเร็ว ปลาบางตัวอาจกระโดดหนีตายจากปากมหึมาของวาฬมาได้ แต่กลับไม่รอดพ้นปากเล็ก ๆ ของนกนางนวลแกลบ นกบางตัวกล้าหาญถึงกับโฉบลงจับปลาในปากวาฬเลยด้วยซ้ำ หากวาฬโผล่ขึ้นกินอาหารในบริเวณนั้นหายตัว พอตัวนี้ผลุบลงน้ำไปก็มีอีกตัวโผล่ตรงโน้น ฝูงนกก็จะโยกย้ายบินตามกันไปเป็นพรวนดูวาฬก็เพลิน ดูนกก็สนุก เป็นพฤติกรรมที่เอื้ออาทรกันระหว่างชีวิตที่อยู่ใต้น้ำกับชีวิตที่บินอยู่บนท้องฟ้า การอยู่เหนือผิวน้ำจากมุมสูง นกจะเห็นการเคลื่อนที่ของวาฬใต้น้ำได้ดีกว่าคนที่มองจากระดับผิวน้ำ บริเวณที่มีปลาลูกเหยื่อเยอะวาฬขึ้นกินบ่อยครั้ง นกในบริเวณนั้นจะหนาแน่นมาก ฝูงนกจึงกลายเป็นหมายอย่างหนึ่งสำหรับการค้นหาวาฬบรูด้า
การระบุตัววาฬ (Photo-ID)
การสำรวจและจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยภาพถ่าย (Photo-ID) ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบันประเมินประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทยโดยจำแนกและตั้งชื่อให้แล้วทั้งหมด 40 ตัว ลักษณะเด่นที่ใช้ในการจำแนก ได้แก่ ลักษณะรูปร่างและแผลของครีบหลัง ลักษณะรองลงไปอื่น ๆ ได้แก่ รอยแผลบริเวณลำตัว รอยแผลบริเวณหัวลายบริเวณขอบปาก จุดหรือเส้นสีเข้มบนเพดานปาก และรอยแหว่งของครีบหาง เป็นต้น การตั้งชื่อวาฬก็เพื่อให้สามารถจดจำลักษณะเฉพาะของแต่ละตัวได้ง่าย และเนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านนับถือเป็นปลาเจ้า ดังนั้น การตั้งชื่อวาฬบรูด้าจึงคำนึงถึงการเลือกชื่อที่มีความหมายดี เรียกง่าย และไม่ยาวเกินไปรวมทั้งพยายามตั้งชื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการพบวาฬตัวนั้น ๆ ครั้งแรก เช่น ชื่อสถานที่หรือเดือนที่พบ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติตั้งชื่อวาฬจากผู้บริหารของหน่วยงานและผู้ร่วมงานอนุรักษ์วาฬอีกด้วย
การจำแนกเพศวาฬบรูด้าจากลักษณะภายนอกทำได้ยากมาก หากเห็นช่องเพศด้านท้องจะทราบว่าเป็นเพศเมียก็เฉพาะตัวที่กำลังเลี้ยงลูกอยู่ ส่วนตัวที่หากินเพียงลำพังจะไม่สามารถระบุเพศได้ ตัวที่รู้แน่ชัดว่าเป็นเพศเมียจะเรียกว่า "แม่+ชื่อ" ส่วนตัวลูกและตัวเดี่ยว ๆ ที่ไม่สารถระบุเพศได้จะเรียกว่า "เจ้า+ชื่อ" เช่น "แม่สาคร" มีลูกที่เจออยู่ด้วยกันตัวแรกชื่อว่า "เจ้าท่าจีน" ตอนนี้เจ้าท่าจีนแยกจากแม่ออกไปหากินด้วยตัวเองแล้ว ส่วนลูกตัวล่าสุดของแม่สาครชื่อว่า "เจ้าท่าฉลอม"
วาฬแต่ละตัวก็จะมีนิสัยและพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น "เจ้าจ๊ะเอ๋" ชอบอ้าปากงับปลาหลายครั้งก่อนจมตัวลง "เจ้าเมษา" ค่อนข้างซ่าเหมือนนักเลงโต ชอบป่วนวาฬตัวอื่นไปทั่ว "เจ้าบันเทิง" มักเข้ามาใกล้เรือสำรวจบ่อย ๆ เสมือนมาสร้างความบันเทิงให้กับทีมสำรวจ...การรู้จักชื่อวาฬที่พบเป็นอรรถรสอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวชมวาฬ การจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยภาพถ่ายยังเป็นบทพิสูจน์ว่าทะเลอ่าวไทยของเราอุดมสมบูรณ์เพียงใด เมื่อพบวาฬจำนวนมากแวะเวียนเข้ามาหาอาหารและใช้เป็นแหล่งเลี้ยงดูลูกวาฬเกิดใหม่ เราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์ทะเลให้มีความสมดุลตามระบบนิเวศ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของวาฬไทยสืบไป
การพบวาฬและโลมาหากินตามปกติใกล้ชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นการติดตามอาหารเข้ามา อย่างไรก็ตาม การพบตัวอาจเป็นลักษณะของการพลัดหลงหรือเจ็บป่วยได้เหมือนกัน ซึ่งหากพบลักษณะดังกล่าวควรรีบแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ รวมถึงการพบวาฬหรือโลมาติดเครื่องมือประมงด้วย เพื่อจะได้เข้าทำการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวาฬและโลมา รวมทั้งส่งรายงานการพบตัวหรือพฤติกรรมที่น่าสนใจของวาฬและโลมาทั้งที่มีชีวิตและซากเกยตื้นได้ที่
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เว็บไซต์ www.dmcr.go.th
กลุ่ม Thai Whales เว็บไซต์ www.thaiwhales.org
Thai Bryde’s Whale เว็บไซต์ www.facebook.com/groups/527085600713982
แหล่งชมวาฬและโลมาในอ่าวตัว ก
ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (โลมาอิรวดีและโลมาหลังโหนก) ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ปลาเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ออกเรือไปจนถึงอ่าวศิลา จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่พบหากินบริเวณเสาหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่
การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 3 (บางนา-ตราด) ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ผ่านโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้วให้กลับรถแล้วชิดซ้ายเพื่อออกทางคู่ขนานเลี้ยวซ้ายเข้าเทศบาลตำบลท่าข้าม เมื่อพบวงเวียน (มีรูปปั้นโลมาให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเทศบาลท่าข้าม 2 ไปจนสุดทางที่ท่าเรือหมู่ 1 ทั้งนี้ ติดต่อเช่าเรือที่ อบต. ท่าข้ามโทรศัพท์ 0 3857 3411-2 ต่อ 121
ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ ปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม (โลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก และวาฬบรูด้า) ตามชายฝั่งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน จนถึงปากแม่น้ำแม่กลอง มีร้านอาหารทะเลหลายร้านที่เปิดบริการพานักท่องเที่ยวชมโลมา ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดเล็กพาชมโลมาอิรวดีตามแนวชายฝั่ง หากจะออกไปดูวาฬบรูด้าต้องออกจากฝั่งไปไกลและต้องเป็นเรือขนาดใหญ่ จุดที่พบวาฬบรูด้าบ่อย ๆ คือ บริเวณหน้าวัดกระซ้าขาวและหน้าวัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร
ปากแม่น้ำบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี (โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า) นอกจากออกเรือชมวาฬแล้ว อ่าวบางตะบูนยังเป็นแหล่งอาศัยหากินของนกหลายชนิด เช่น นกกาน้ำใหญ่ นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ และนกนางนวลขนาดใหญ่หลายชนิด เรือที่นี่รับนักท่องเที่ยวดูนก ตกปลา และชมวาฬ มีความสะดวกสบายตามสมควร
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนพระราม 2 ผ่าน จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม จนถึงกิโลเมตรที่ 72 จึงออกทางคู่ขนานตรงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. คลองโคน เลยปั๊มมาเล็กน้อยจะพบทางแยกเป็นเส้นทางลัดไปชะอำ (ทางหลวงหมายเลข 4012) ให้เลี้ยวซ้ายและขับไปตามเส้นทางหลักที่มีป้ายบอกไปชะอำจนกระทั่งถึงบ้านบางตะบูน ท่าเรืออยู่ข้างสะพานข้ามแม่น้ำบางตะบูน ติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุณจำรูญ พงษ์พิทักษ์ โทรศัพท์ 0 3258 1233 และคุณทิพย์เนตร สุขเจริญ 08 9796 5506
แหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี (โลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก และวาฬบรูด้า) บางช่วงเวลาวาฬบรูด้าจะมาหากินใกล้แหลมผักเบี้ย เรือทางด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงดัดแปลง
การเดินทางใช้เส้นทางลัดไปชะอำเช่นเดียวกันทางไปบ้านบางตะบูน แต่เลยไปทางอำเภอบ้านแหลม ตามป้ายบอกไปชะอำจนถึงท่าเรือแหลมผักเบี้ย หรือใช้ถนนพระราม 2 ต่อถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดเพชรบุรีแล้วใช้ทางหลวงหายเลข 3177 มุ่งไปทางหาดเจ้าสำราญ ก่อนถึงหาดเจ้าสำราญจะพบสี่แยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4028 ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จนถึงท่าเรือแหลผักเบี้ย ทั้งนี้ ติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุณมนู อรัญพันธ์ ประธานชมรมวาฬบรูด้าแหลมผักเบี้ย โทรศัพท์ 08 1865 4939
ตอนนี้หลายคนรับรู้แล้วว่าอ่าวไทยตอนบนพบวาฬบรูด้าวนเวียนหากินอยู่ตลอดทั้งปี และอาจกล่าวแบบไม่เกินจริงได้ว่า อ่าวตัว ก เป็นแหล่งชมวาฬบรูด้าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ชาวต่างชาติยังต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูที่เมืองไทย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวชมวาฬและโลมายังเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา แต่สามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนได้ แรงกระเพื่อมของกระแสชมวาฬจะเป็นแรงกระตุ้นให้บรรดาผู้คนตามชายฝั่งรู้จักรักษาสภาพของน้ำและทรัพยากรทางทะเลให้ดีอยู่เสมอ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน นักท่องเที่ยวได้ความประทับใจ คนถ่ายภาพได้ภาพชาวบ้านมีรายได้เสริม นักวิจัยได้ข้อมูล และวาฬบรูด้าก็ยังเข้ามาหากินในอ่าวไทยให้พวกเราได้เห็นกันตลอดไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เล่มเล็ก เดือนเมษายน 2557