เขาคิชฌกูฏ 2566 ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี มีขึ้นระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 21 มีนาคม 2566 ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ หรือที่ใคร ๆ เรียกกันจนติดปากว่า "เขาคิชฌกูฏ" มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้แก่ น้ำตกกระทิง, น้ำตกคลองช้างเซ, ยอดเขาพระบาท และที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษนั้น เห็นจะเป็นการนมัสการ "รอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ" หรือ "พระบาทพลวง" นั่นเอง
โดยประชาชนจะนิยมไปนมัสการรอยพระบาทพลวงเป็นจำนวนมากเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง ทั้งกลางวันและกลางคืน ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของเขาคิชฌกูฏก็ได้จัดงานนมัสการพระบาทพลวงเป็นประจำทุกปีในช่วงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 อีกด้วย และในปี 2566 ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ประจำปี 2566 โดยข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี KhaoKhitchakut National Park (เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565) ระบุว่างานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 21 มีนาคม 2566 ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
ภาพจาก isarescheewin / Shutterstock.com
ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏมีอยู่ว่า นายติ่งและคณะได้ขึ้นบนเขาเพื่อไปหาไม้กฤษณามาขาย และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้าง ระหว่างนั้นเพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ รุ่งขึ้นก็มีงานปิดรอยพระพุทธบาทจำลอง นายติ่งซื้อทองไปปิดแล้วจึงพูดว่าแถวบ้านตนก็มีรอยแบบนี้เช่นเดียวกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดรับทราบ เจ้าอาวาสจึงเรียกนายติ่งเข้าไปสอบถาม พร้อมกับส่งคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็พบว่าเป็นความจริง และเมื่อตรวจดูบริเวณรอบ ๆ ก็พบกับสิ่งประหลาดมหัศจรรย์อีกหลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้ร้อยกว่าคน บนยอดเขาสูงสุด กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร
ภาพจาก iDear Studio / Shutterstock.com
ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกว่า "หินลูกพระบาท" ตั้งขึ้นมาอย่างน่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉย ๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดออกมาได้ และยังมีหินอีกลูกอยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น ในก้อนหินตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่ารอยเท้าพญามาร เพียงแหงนหน้าขึ้นไปจะมองเห็นได้ทันที สูงประมาณ 15 เมตร
ต่อจากนั้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากหินลูกนี้ไปเพียง 15 วา มีหินลูกข้างบนเป็นลานและมองเห็นรอยรถหรือรอยเกวียน เมื่อยืนบนหินลูกนั้นมองลงไปทางทิศเหนือจะเห็นถ้ำเต่า หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทจะเห็นถ้ำช้าง และถ้ามองจากรอยพระพุทธบาทขึ้นไป จะเห็นหินก้อนหนึ่งมีรูปลักษณะคล้ายช้างจริง เลยจากช้างไปสูงสุดนั้นเรียกกันว่าห้างฝรั่ง เพราะฝรั่งได้ขึ้นไปตั้งห้างส่องกล้องเพื่อทำแผนที่ มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังมีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกว่าถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งข้างบนถ้ำมีลักษณะคล้าย ๆ เรือสำเภา และยังมีอีกถ้ำหนึ่งใต้พระบาทนี้เรียกว่าถ้ำตาฤาษี
ภาพจาก Nuk2013 / Shutterstock.com
โดยการจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏเป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญสูง และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก...ในอดีตจะเป็นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขา แต่ในปัจจุบันมีรถบริการให้ประชาชน ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ภาพจาก isarescheewin / Shutterstock.com
ส่วนกิจกรรมในงานกราบสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ทิวทัศน์บนยอดเขาคิชฌกูฏหรือเขาพระบาทเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ที่นำมาผูกกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาท หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ บนยอดเขาพระบาทซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน
ภาพจาก isarescheewin / Shutterstock.com
ภาพจาก isarescheewin / Shutterstock.com
ซึ่งในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง
พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาจะเดินทางขึ้นเขาไปแสวงบุญเป็นจำนวนมาก
เพราะนอกจากจะได้นมัสการพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แล้ว
ยังจะได้ชมความงดงามแปลกอัศจรรย์ของหินลูกพระบาท ก้อนหินกลมใหญ่ริมหน้าผา
และได้รับความสดชื่นจากบรรยากาศบนยอดเขาคิชฌกูฏ
นอกจากนี้ผู้ที่ถึงวัดพลวงตอนเย็น
สามารถพักค้างคืนเพื่อเริ่มขึ้นยอดเขาในตอนเช้าได้
โดยทางวัดมีที่พักและที่อาบน้ำไว้รองรับคนได้จำนวนมากภาพจาก อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ
การเดินทางไปเขาคิชกูฏจันทบุรี
หากมาตามถนนสุขุมวิท ถึงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี (สี่แยกเขาไร่ยา) ให้เลี้ยวลงถนนทางน้ำตกกระทิง หรือถนนบำราศนราดูร จากทางแยกเขาไร่ยา ไปถึงน้ำตกกระทิงประมาณ 20 กิโลเมตร เลยวัดกะทิงไป 400 เมตร ถึงแยกขวามือไปวัดพลวง เป็นถนนลูกรังระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อถึงวัดพลวงจะเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นไปยังยอดเขา มีรถรับจ้างรับไปส่งถึงจุดที่ใกล้ที่สุด และเดินเท้าต่ออีกประมาณ 40 นาที
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : thai.tourismthailand.org, chanthaburi.go.th, เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี KhaoKhitchakut National Park, เฟซบุ๊ก วัดพลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี, เฟซบุ๊ก เขาพระบาทพลวง จันทบุรี, larndham.net , larndham.net และ วัดอินทาราม