x close

ริมทะเลเรียงร้อยตัวตน ขนอม สิชล ท่าศาลา

ขนอม นครศรีธรรมราช

ขนอม นครศรีธรรมราช

ขนอม นครศรีธรรมราช

ขนอม นครศรีธรรมราช

ขนอม นครศรีธรรมราช


ริมทะเลเรียงร้อยตัวตน ขนอม สิชล ท่าศาลา (อ.ส.ท.)

เรื่อง : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพ : สาธิต บัวเทศ

          แดดสายฉายภาพหนทางสายนั้น และชักพาให้เราจมตัวเองไปกับมันไปในเวลาไม่กี่วัน มันเชื้อเชิญให้ใครสักคนลดความเร็วลง เปิดตามองผืนทะเลสีฟ้าอันเงียบสงบ เรียบง่าย แสนงดงามที่เลียบขนาน รู้จักคุณค่าในรอยยิ้มและไมตรีของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งนั้น บางนาทีมันพาเราไต่เลาะขึ้นสันเขา เพียงเพื่อจะพบว่าความกว้างใหญ่ของทะเลหาใช่เรื่องต้องมากำหนดหลักแคว้นเขตแดน

          ขณะบางคราวก็กลับสอบแคบดิ่งลงสู่หมู่บ้านชาวประมงอันแสนเรียบง่ายเมื่อฝ้ามอง ทว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดแห่งชีวิต ที่พวกเขาผูกโยงมันไว้กับธรรมชาติและชะตากรรม ริมทะเลอ่าวไทย ระหว่างถนนสองสามเส้นที่เชื่อมโยง จากอำเภอขนอม ลากผ่านสิชล เลียบสู่ท่าศาลา และจบสิ้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ใครบางคนอาจค้นพบที่ทางแห่งความสงบและเพียงพอจะเหยียบยืนบนแผ่นดินเล็ก ๆ ริมทะเล มากไปกว่านั้น มันอาจบ่งบอกเราว่าทุกแผ่นผืนดินล้วนสะท้อนตัวตนของมันลงในแววตาของผู้ที่มีชีวิตอยู่แนบชิดอย่างยากจะแยกออก

ขนอม นครศรีธรรมราช

         1. เราทิ้งอำเภอดอนสักในเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานีไว้เมื่อปลายสาย เมื่อเริ่มเข้าเขตนครศรีธรรมราช แม้จะเป็นผืนทะเลเดียวกัน แต่ก็ปลุกให้เพื่อนร่วมทางฟื้นจากหลับใหล เมื่อรู้ว่าจุดหมายที่เราต่างตั้งมั่นเริ่มดำเนินเรื่องราว

          จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ซึ่งทอดยาวมุ่งลงได้ เราเลือกเลาะซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4142 ถนนสายเล็กผ่านพาเลียบเลาะสวนมะพร้าวและสวนปาล์ม ทะเลที่ใฝ่ฝันซุกซ่อนตัวตนอยู่หลัง หลืบเขาหัวข้าง ว่ากันว่าความสงบเงียบของทะเลขนอมไม่เพียงแต่เป็นแหล่งหย่อนใจของที่น้องแถบถิ่นสุราษฎร์ฯ-นครฯ หากแต่ยังเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแถบสแกนดิเนเวีย ที่หนีหนาวจากยุโรป และหลบหลีกความแออัดแถบสมุยและพะงัน มาซุกซ่อนตัวตนในเมืองริมทะเลแห่งนี้

ขนอม นครศรีธรรมราช

          วิวสวนมะพร้าวและทะเลยามสายวิบวับ เมื่อเราเลือกขึ้นไปเยือนเจดีย์ปะการังเขาธาตุ วัดจันทน์ธาตุทาราม ลมเย็นชื่นโบกโบยเหนือความสูงราว 85 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ขุนเขาและเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา ศิลปะสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 19-22 สะท้อนความเป็นเมืองเก่าแก่ของขนอมไว้ในเจดีย์ก่ออิฐและประกอบรอบนอกด้วยหินปะการัง ที่ว่ากันว่าถอดรูปแบบมาจากพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

ขนอม นครศรีธรรมราช

          ลมเย็นรื่นและแดดสาฉายภาพผืนฟ้าเข้มคราม เราลงจากเขาธาตุบ่ายหัวรถมุ่งผ่านแนวป่าชายเลนที่ครึ้มแน่น ความสมบูรณ์ชัดเจนของทะเลขนอมเด่นชัดเมื่อถนนเล็ก ๆ ไปสุดทางที่อ่าวเตล็ด เรือประมงเล็กก่ายเกยอยู่ในหาดเลน โอบล้อมด้วยขุนเขารอบด้าน ยามใกล้เที่ยงไร้นักท่องเที่ยว เหลือเพียงเวลาน้ำขึ้นที่จะซัดพาชีวิตประมงตรงหน้าออกสู่ทะเลในโมงยามถัดไป พื้นที่อ่าวเล็ก ๆ เหนือสุดของทะเลขนอมแห่งนี้ เคยเป็นที่ประทับหลบลมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จมานมัสการพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จากที่แต่เติมเรียกกันว่าอ่าวเสด็จ ผ่านคืนวันและการเปลี่ยนผ่านกลายเป็นชื่ออ่าวเตล็ดเช่นทุกวันนี้

ขนอม นครศรีธรรมราช

          ทางเล็ก ๆ ในโอบอ้อมขุนเขายังคงพาเราไปรู้จักแง่งามของทะเลขนอม ไม่ไกลจากอ่าวเตล็ด เมื่อลัดเลาะมาสุดทาง แหลมพับผ้าปรากฏแนวผาหินสูงใหญ่ยื่นลงไปจรดผืนทะเล แหลมหินสะท้อนพื้นผิวเป็นชั้น ๆ คล้ายผืนผ้าพับทบทับซ้อน รอบด้านครึ้มร่มด้วยแมกไม้ ใครบางคนจ้องมองแล้วนึกถึงภาพวาดสีน้ำชั้นดี เรายังแทรกตัวเองไปในความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนและผืนทะเลขนอมในตอนต้น อ่าวท้องเนียนซ่อนแนวหาดกว้างใหญ่ไว้ในระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูง ว่ากันว่ายามน้ำลดจะแผ่ผืนกว้างใหญ่ ไม่แตกต่างจากหาดท้องทรายที่วางตัวใกล้กันอยู่ทางทิศเหนือ แนวโค้งของมันแสนสงบ ประดับด้วยทิวมะพร้าวและโขดหินหลายรูปทรงเป็นจากหลัง

ขนอม นครศรีธรรมราช

          ความเงียบสงบของถนนสายเลียบหาดขนอมเต็มไปด้วยบรรยากาศของเรียกสวนและผืนทะเล เพื่อนร่วมทางเปรยว่าคล้ายเราอยู่บนเกาะสักแห่งที่ไม่ใช่ฝั่งแผ่นดิน ภาพเช่นนั้นชัดเจนจนมาถึงหาดท้องโหนด หลังเสียบหัวรถไว้ตรงปลายถนน ตรงหัวอ่าวปรากฏแนวหินเสียดตั้งพร้อมผ้าแพรสักการะ โลกตรงหน้าเงียบรื่น ผืนทะเลเป็นที่หย่อนใจของพรานเบ็ดสามสี่คน ซึ่งเมื่อเราไต่ลัดเนินเขาเตี้ย ๆ ขึ้นไปอีกราว 100 เมตร อ่าวดินสอฉายภาพของหาดชุมชนอันเด่นชัด ฤดูมรสุมเช่นนี้เรือประมงเล็กมักซอนซบอยู่ตามชายหาด และการตกปลาดูเหมือนจะเป็นทิศทางเลี้ยงชีพสำหรับคนทะเลที่ถูกจองจำอยู่แต่บนฝั่ง

          หากไม่นับการเติบโตด้วยการเป็นอ่าวประมงแต่ดั้งเดิมของทะเลขนอม หลายคนว่ามันดำเนินไปด้วยกระแสแห่งการท่องเที่ยว สิบกว่าปีที่ผ่านมา ทะเลขนอมเปิดตัวเองออกสู่การรับรู้ของคนภายนอก ทั้งความงดงามของผืนทะเล รูปแบบชีวิตสงบง่าย หรือแม้กระทั่งทรัพยากรสัตว์น้ำอันน่าทึ่งก็ต่างมีส่วนดึงดูดให้ขนอมกลายเป็นที่รู้จักและเป็นจุดหมายของผู้คนหลากหลาย

ขนอม นครศรีธรรมราช

          หลังมื้อเที่ยงอันแสนเรียบง่ายในความคึกคักที่บ้านท้องเนียน ตลาดชุมชนตรงปากน้ำขนอมเปี่ยมไปด้วยสีสันระหว่างรอยต่อของชุมชนชาวบ้าน และหาดสวยงามที่ทอดยาวลงใต้ ลูกเรือประมงต่างชาติเดินปะปนอยู่กับผู้คนในท้องถิ่น ในตลาดนัดเต็มไปด้วยของกินจากทะเลและอาหารปักษ์ได้รสดั้งเดิม

          หาดแขวงเภาทอดตัวเป็นสันโค้งเหยียดยาวและไม่เคยร้างไร้ผู้คนเมื่อเราไปถึง ร้านอาหารทะเลเรียบง่ายที่เป็นเพิงชั้นเดียวคลาคล่ำนักท่องเที่ยวพื้นถิ่น สะพานปลาตรงปลายทางซีเมนต์ คือ ต้นทางแรกแห่งวัตถุดิบสดใหม่ เรามองภาพตรงหน้าผ่านอากาศสดและลมทะเลแกว่งไกว ฝรั่งสามสี่คนพามอเตอร์ไซค์คันเล็กแวะมาเยี่ยมเยือน ที่นี่อาจเป็นหาดเริ่มต้นที่ฉายภาพการท่องเที่ยวของทะเลขนอมอันแจ่มชัด

          ทางเดินตรงต้นอ่าวแขวงเภาพาเราไต่สวนความสูงและทางสอบแคบ เราผ่านหาดท้องชิงและมองมันจากมุมสูง เหนือแนวสวนมะพร้าวเหยียดขยาย คือ ภาพทะเลสีเทอร์คอยซ์ที่เจิดจรัสแดดบ่าย ลัดเลาะไปจนสุดเขตเขาไล่เรียงมองแนวหาดท้องกรวด ซึ่งปรากฏเป็นภาพทางตาอันงดงาม ทะเลมีตัวตนเด่นชัดและยิ่งใหญ่เมื่อเราเลือกมองมันอยู่อย่างเคารพ สุดทางดิน คือ หน่วยที่ทำการร้างของอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ บ้านพักและอาคารสำนักงานอยู่ในขั้นตอนโยกย้ายและเปลี่ยนที่ตั้ง เรามองภาพกว้างตรงหน้าที่นักเดินทางรุ่นพี่เคยมาแรมนอน มันคือแนวสวนมะพร้าวผืนกว้างที่หันหน้าลงสู่ทะเลขนอม และพร้อมจะแปรเป็นสีส้มทองเมื่อตะวันยามเช้ามาเยือน นึกถึงภาพแสนสวยใบนั้นที่เราเองทำได้เพียงจินตนาการ

          "สำหรับผม ขนอมเป็นเหมือน Hidden Paradise ครับ" อาจเป็นอย่างที่ เฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ แห่งบ้านศิวิไลซ์ รีสอร์ท บอกกับผมในบ่ายแดดอุ่นที่หาดหน้าด่าน หาดทรายสีน้ำตาลอ่อนทอดยาวไปลิบตา ผืนทะเลประปรายไปด้วยผู้คนและการพักผ่อน ไล่เรียงไปตามหาดหน้าด่าน คือ รีสอร์ททั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่โต ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากเมืองประมงสู่ภาพจำของการท่องเที่ยวในขนอม เราผ่อนคลายอยู่ที่ตรงเก้าอี้ริมชายหาดหน้าด่าน นั่งมองบ้านศิวิไลซ์ฯ ที่วางตัวด้วยรูปทรงโมเดิร์นสีขาว ฝรั่งที่พักแบบลองเทอมทักทายเหล่าพนักงานลูกหลานขนอมราวพี่น้องญาติมิตร

          "ผมเองมาถึงขนอมในยุคแรกเริ่มครับ เราคิดก่อนว่าจะเริ่มต้นกับที่นี่อย่างไร พอหัวค่ำลองไปนั่งริมหาด มองดวงจันทร์ค่อย ๆ โผล่พ้นน้ำเปลี่ยนท้องฟ้าเป็นสี Deep Blue คลื่นเบา ๆ ค่อยแตะฟอง เลยรู้สึกได้ว่ามันเป็นเช่นนี้จริง ๆ" ลุงเฉลิมเกียรติว่าเสน่ห์ของที่นี่ไม่เพียงแต่ทะเลอันสดสะอาด ผู้คนก็ไม่แตกต่าง

          "คุณน่าจะได้เห็นนะ เมื่อผ่านมา ทั้งคนประมง ชาวบ้าน ชาวสวนเต็มไปด้วยรอยยิ้ม" เขาว่าขนอม คือ Fresh Destination ไม่เพียงแต่ในสายตาของฝรั่ง แต่กับชายจากเมืองประตูที่ราบสูงอย่างเขา ที่นี่เป็นเช่นนั้น

          หาดหน้าด่านทอดยาวเหยียดไกล ถัดลึกลงไปในทะเล คือ จุดดำน้ำลึกชั้นดีที่เต็มไปด้วยมวลปะการังและสัตว์ทะเลนานาชนิด อย่างกองหินร้านเป็ดร้านไก่ เกาะวังใน และมีจุดดำสนอร์เกิลอย่างเกาะวังนอกและเกาะราบ เช่นนั้นเองทุกรีสอร์ทต่างก็มีธรรมชาติของทะเลขนอมเป็นจุดดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยือน

          "เราพยายามส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมครับ อย่างรีสอร์ทเราเน้นเรื่อง Green ที่สัมผัสได้จริง" เฉลิมเกียรติ เล่าถึงคอนเซ็ปต์หลักของบ้านศิวิไลซ์ฯ คือ Smiling Earth ซึ่งต่อยอดออกมาเป็นการชักชวนให้แขกประหยัดไฟ ลดการเปลี่ยนผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์เครื่องนอน หรือทำความสะอาดห้อง

          "เรามีคะแนนและการใช้ไฟคิดเป็นยูนิตครับ แล้วคิดเป็นส่วนคืนเงินให้ผู้พัก" เขาเล่าด้วยแววตามสนุกสนาน ว่าบ้านศิวิไลซ์ฯ ชวนให้ลูกค้าใช้ไฟไม่เกิน 15 ยูนิต หากต่ำกว่าทางรีสอร์ทจะคิดเป็นส่วนต่างแล้วคูณ 3 ให้เป็นส่วนลดราคา "มันไม่เพียงดีกับเราหรอกครับ เด็ก ๆ ก็ไม่ต้องเหนื่อย ลดการใช้ผงซักฟอก น้ำ ที่สำคัญ มันคือการใส่ใจในแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย" นาทีเช่นนั้นชายชราตรงหน้ามองไปที่ทะเลผืนเดิมที่เขาหลงรักมัน ยามจันทร์นวลแตะขอบน้ำและเปลี่ยนผืนฟ้าให้เป็นสีบลู

          ลัดเลาะผ่านหาดหน้าด่าน ไล่เลยไปตามถนนสายเล็กที่เต็มไปด้วยรีสอร์ท ร้านกาแฟ และบาร์ริมทะเลสู่หาดในเพลา ทะเลเบื้องซ้ายอิ่มแดดบ่ายจนต้องหยุดรถลงไปเดินเล่นเป็นระยะ บางช่วงถนนยกตัวขึ้นไปบนเขาสูง รีสอร์ทหรูที่หัวเขาอย่างราชาคีรี รีสอร์ท แอนด์ สปา ซ่อนมุมหาดในเพลาอันกระจ่างตาไว้ในนั้น

          ผ่านพ้นรายล้อมแหล่งที่พักมากมายสไตล์ เราสวนความชันขึ้นมาสู่อ่าวท้ายสุดในเขตทะเลขนอม ดิ่งตรงลงสู่ความเงียบสงบอันจริงแท้ของอ่าวท้องหยี รีสอร์ทเรียบง่ายของชาวบ้านเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งพี่น้อง คุณป้าเชื้อเชิญให้นั่งดูทะเลตรงศาลาด้านหน้า พร้อมกาแฟร้อนขณะช่างภาพเพลินไปกับแนวหินที่วางตัวอย่างไร้ระเบียบที่โค้งอ่าว แต่เต็มไปด้วยแง่มุมทางศิลปะเมื่อประกอบอยู่กับผืนทะเลและทิวมะพร้าว

ขนอม นครศรีธรรมราช

          ทางดินตรงโค้งทางลงอ่าวท้องหยีเกรดไถไว้อย่างพอให้รถจิ๊ปคันเล็กสวนขึ้นไปได้ และเมื่อใช้โฟร์โลว์ขึ้นไปถึง เราเองก็ได้พบว่า บรรยากาศร้างไร้ที่ที่ทำการร้างของอุทยานฯ หาดขนอมฯ เหนืออ่าวท้องชิงในยามสายนั้น มีที่มาอยู่ตรงท้ายสุดของโขดเขาแห่งทะเลขนอมตรงหน้า

          "ตรงนั้นพอหน้าฝนเกิดแลนด์สไลด์บ่อยครับ เลยต้องย้ายมาสร้างที่นี่" หัวหน้าสัญญา สังวังเลา แห่งอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ เล่าถึงที่มาของสิ่งปลูกสร้างตรงหน้าท่ามกลางป่าร่มครึ้มบนโขดเขา แลนด์สเคปต่าง ๆ กำลังเร่งปรับปรุง อาคารสำนักงาน ที่พัก ขึ้นเค้าโครงสร้างพร้อม ๆ กับหยาดเหงื่อของคนงาน

          "พื้นที่รับผิดชอบส่วนใหญ่เราอยู่ที่เกาะกลางทะเลครับ ตรงนี้เรือเข้าออกได้ง่ายกว่า "ระหว่างเดินผ่านเส้นทางเล็กไปสู่จุดชมวิวที่ผาหิน หัวหน้าเล่าว่าพื้นที่ราว 197,000 ไร่ ในเขตรับผิดชอบนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดนานา ทั้งการกันพื้นที่ป่าออกจากการหากิน การดูแลทรัพยากรน้ำ และการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน "เรามาทีหลังครับ แต่มาเพื่อให้พวกเขาอยู่กันอย่างยืนยาว" วิวกระจ่างตาของอ่าวท้องหยีต่อเนื่องถึงหาดในเพลาตรงจุดชมวิว คือ ความงดงามที่ไม่เพียงแต่คนนอกเท่านั้นที่มองเห็น แต่สำหรับคนที่ทำหน้าที่ดูแลอนุรักษ์ เขาเองก็คงอยากเห็นภาพเช่นนี้เคียงคู่ทะเลขนอมไปเนิ่นนาน

ขนอม นครศรีธรรมราช

          ฟ้ายามเย็นส่งต่อสีส้มแดงเหนือทิวมะพร้าว เรากลับมาผ่านค่ำคืนที่หาดหน้าด่าน ลมทะเลกวัดไกว บางนาทีผมนึกถึงฉากผ่านแห่งทะเลขนอมที่สัมผัสมาเกือบทั้งวัน ทะเลสีฟ้าสด หาดทรายนวดละมุน หรือรอยยิ้มของผู้อยู่กับมัน สิ่งใดกันแน่ขับเคลื่อนให้มันดำรงคงอยู่ หากไม่ใช่ตัวตนและหัวใจของคนที่นี่ คนที่มีทะเลเป็นเบ้าหลอมอันแกร่งทน

         2. ขุนเขาที่วางตัวกั้นขวางบีบบังคับให้เราต้องย้อนเข้าสู่ตัวเมืองขนอมผ่านพ้นอีกกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อที่จะเข้าสู่อำเภอสิชล ว่ากันว่ามีทางป่าระดับยากที่ต้องเป็นผู้เจนทางเท่านั้นจึงจะควบโฟร์วีลลัดเลาะมาได้ รอบด้านเรียงรายด้วยสวนมะพร้าวและแนวเขาราวภาพเหมือนระหว่างสองอำเภอแห่งนี้ เมื่อตัดสินใจเลือกใช้หนทางสายเล็กเช่นเดิม

          มันเป็นยามบ่ายที่กระจ่างตาขณะเรามุ่งหน้าสู่เขาพลายดำ จุดชมมุมสูงกว่าทุกหาดที่เคยผ่านมา ทะเลในเขตอำเภอสิชลเบื้องหน้า คือ ภาพทางตาที่น่าจดจำ ถนนดำเล็ก ๆ สายนี้พาเราดิ่งลงไปสิ้นสุดที่เขาพลายดำ ซึ่งด้านบน คือ โลกของการเรียนรู้ด้านความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว์ป่าบนภูเขา เป็นที่ตั้งของสถานีอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาพลายดำ ไม่ไกลกันมีค่ายลูกเสือที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของผืนป่าและท้องทะเลวางตัวอยู่อย่างกลมกลืน

          เราลงมาสัมผัสหาดกว้างไกลของอ่าวท้องยางร่วมกับนักท่องเที่ยวเจ้าถิ่น ภูมิทัศน์ที่ปรับแต่งอย่างงดงาม อาคารที่พักและร้านอาหารเนืองแน่นผู้คน ไม่แตกต่างไปจากท้องทะเลที่ทอดยาวรองรับการหย่อนใจ เรานั่งมองคู่แต่งงานที่ใช้ทะเลเป็นฉากถ่ายรูป แว่วเสียงเริงร่าของเด็ก ๆ ขณะที่รอยยิ้มของผู้ใหญ่ด้านบนนั้นแสนงดงาม ข้ามย้อนแนวเขาสูงมุ่งเข้าตัวเมืองสิชล ระหว่างทางที่หินงามรางทัด เพื่อนร่วมทางสงสัยในชื่อและชวนลงเพื่อไปเห็นหมู่หินเรียงซ้อนอยู่ริมทะเล กางกั้นจนเกิดเวิ้งอ่าวเล็ก ๆ ที่เรียงรายไปด้วยเรือประมงหลังกลับจากการหากินชายฝั่ง มันก่อเกิดแพกุ้งและหมึกขนาดเล็กเบื้องหลังแนวหินกองโต คุณป้าเจ้าของเชื้อเชิญให้นั่งดูพวกเขาขึ้นอวนด้วยไมตรี เรือเล็กหลายเฉดสีรอคิว เพื่อจะรุนลำเรือขึ้นก่ายเกยชายหาด ขณะแม่ค้าสักคนต่างจับจองและเฝ้ารอความสดในลำเรือกันอย่างสนุกสนาน ถ้อยคำไถ่ถามทุกข์สุข วิพากษ์ การเมืองที่เมืองกรุง ล้วนล่องลอยในสายลมบ่าย

สิชล

          จากริมทะเลเราเข้าสู่เมืองลิชล ถนนเลียบเลาะข้ามฝั่งแม่น้ำสิชลไปสู่ความร่มรื่นของทิวมะพร้าวและสวนปาล์ม บ้านทุ่งใสวางตัวเองอยู่อีกฟากฝั่งตรงข้ามเมือง หมู่บ้านชาวประมงแสนเก่าแก่แห่งนี้เงียบเชียบยามมรสุมเริ่มตั้งฤดู งานซ่อมลอบ อวน ชัดเจนอยู่ตามลานดินหน้าบ้าน ขณะที่ในทะเลเหลือเพียงความงดงามของเกลียวคลื่นสีสดใสของท้องฟ้า

          "แต่ก่อนสิชลคือเมืองประมงใหญ่โต เรือสำเภา เรือประมง ไม่เคยว่างแถวปากน้ำ" เหนือมุมสูงตรงศาลพ่อขุนทะเล เรานั่งมองภาพตรงหน้า และจินตนาการถึงถ้อยคำที่ประมงชราแห่งบ้านทุ่งใสบอกเล่า มันมองเห็นความเติบโตได้ไม่ยาก แม่น้ำสิชลพาตัวเองมาบรรจบกับผืนทะเลกว้าง เรือประมงใหญ่เล็กเรียงรายที่ปากน้ำ อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ตระหง่านตั้งเป็นที่เคารพของคนเรือ การพบกันของทะเล ผืนฝั่ง และคนในภูเขา ชัดเจนอยู่แถบตลาดและย่านเก่าที่ถูกระบายด้วยแสงบ่ายเป็นภาพงดงาม

          เลาะลึกลงไปในตัวเมือง เลียบแม่น้ำที่บ้านสะพานน้ำแดง หมู่บ้านประมงดั้งเดิมของสิชลแน่นขนัดด้วยคานเรือ และเหล่าชายกำยำผิวแดงด้วยแดดลม หลังการอนแรม ยามบ่าย คือ ห้วงยามแห่งการผ่อนพัก ตามบ้านไม้ชั้นเดียวเก่าแก่สีน้ำตาลขรึม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่แห่งนี้เต็มไปด้วยภาพการพักผ่อน ชายหนุ่มประคบประหงมนกกรงหัวจุกที่หน้าบ้าน ขณะเด็ก ๆ วิ่งไล่ตามถนนเล็ก ๆ ที่ทอดลงสู่ริมแม่น้ำบนคานเรือ เรือประมงลำใหญ่ขึ้นคานนิ่งสนิท รอการตอกหมันยาชันเตรียมสู่ฤดูกาลหาปลาที่จะมาถึง

          "สิชลเป็นทั้งเมืองประมงและเมืองท่องเที่ยวมานานครับ" ข้ามหัวเขามาสู่แนวหาดสิชล หนุ่มรุ่นใหม่แห่งสิชล คาบาน่า บีช รีสอร์ท อย่าง เบญจภพ เบญจธรรมธร เล่าภาพที่เขาเคยคุ้นมาแต่เด็กในยามบ่ายริม หาดหินงาม รีสอร์ทของเขาปรับเปลี่ยนจากยุคตายาย รุ่นพ่อแม่ มาสู่วันที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของคนยุคเขา "คนโบราณเขาเรียกที่นี่กันว่า "หัวหินสิชล" ครับ อย่างชื่อนั่นละ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนแถบนี้" เรานั่งมองรีสอร์ทของเขาที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของคนรุ่นใหม่ ทั้งการตกแต่ง เสียงเพลง รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าบรรยากาศ มันเคล้าไปกับภาพทะเลตรงหน้าที่ไม่มีวันหลับใหล

          "ประสานสุขรีสอร์ทนี่มีมาตั้งแต่สมัยคุณยายครับ ผมเองแยกออกมาทำให้ที่นี่เป็นที่ทางของคนสิชลรุ่นใหม่ ๆ เอากีฬาทางน้ำอย่างเซิร์ฟ เอาดนตรี ศิลปะ มารวมกันไว้ อยากให้เด็กสิชลรุ่นใหม่ ๆ รักบ้านเกิด รักทะเล"คลื่นลมในช่วงมรสุมดึงดูดให้เบญจภพหลงใหลกีฬาทางน้ำ เขาว่าแม้ที่นี่ไม่เฟื่องฟูเหมือนภูเก็ตหรือบางแสน แต่สำหรับคนหลงรักการเล่นเซิร์ฟ มันมีที่ทางแน่นอน

          เราใช้ยามบ่ายใกล้เย็นไปกับหาดสิชลที่ทอดยาวลิ่วลงทางใต้ เลาะผ่านความสวยงามของหาดปิติ ขณะที่บางนาที ย่านประมงพื้นบ้านที่หาดปลายทอนก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เสียงพูดคุยผ่อนคลายหลังจากกลับจากทะเลเมื่อยามเช้าทำให้ชีวิตประมงนั้นเปี่ยมสีสัน ยามค่ำเมืองสิชลสลายตัวตนลงสู่ความเงียบสงบ ร้านรวงเริ่มปิดเงียบ ในทะเลวิบวับแสงไฟจากเรือประมงเล็ก ขณะที่ย่านตลาด ร้านปรีชาเลิศรส คือ ปลายทางแห่งค่ำคืน แกงส้มปลากะพงรสเลิศ ชิ้นปลาอินทรีทอด รวมไปถึงอาหารทะเลของ "ลุงปรี" ที่คนสิชลคุ้นเคย บ่งย้ำกับคนผ่านทางว่า เมืองประมงอันเป็นบ้านของพวกเขานั้นแสนอุดมเพียงใด เป็นความอุดมสมบูรณ์ที่วางรากและก่อเกิดชีวิตในเมืองเล็ก ๆ ริมทะเลอย่างสิชล ผสมผสานอยู่ในอาหารเลิศรส อาคารไม้เหยียดยาว รวมไปถึงชีวิตที่ผูกตัวเองอยู่ในเรือหาปลาและคลื่นลมกลางทะเล

         3. ถนนสายนั้นราบเรียบและทอดตัวแนบเคียงผืนทะเล หญิงสาวในฮิญาบมิดชิดจ่อมจมอยู่ในการงานกลางแดดจัด ลานกว้างเคียงหาดทรายนั้นแผนเรียงไปด้วยกุ้งสีอมส้มที่รอแดดแผดเผาให้แห้ง

          "แบ่งเอาไปกินมั่งไหม" ในไมตรีแสนจริงใจที่มีให้ เราทำได้เพียงขอบคุณและจรจากไปเลียบทะเลเช่นเคย ลึกเข้ามาจากฝั่งทะเล เราอยู่ที่บ้านท่าสูง อำเภอท่าศาลา ปลายทางใกล้เข้ามาทุกขณะ บ้านเรือนของพี่น้องมุสลิมซึ่งเป็นประชากรราว 90 เปอร์เซ็นต์ของอำเภอท่าศาลา แดนดินริมทะเลใกล้ตัวเมืองนครศรีธรรมราช เต็มไปด้วยความเชื่อแรงศรัทธาในพระเจ้า เสียงอาซานในยามบ่าย และการงานที่หลายคนหากมาเยือนล้วนต้องนั่งลงและทำความเข้าใจ นอกจากทะเลที่เป็นเหมือนทิศทางหลักของการหากิน ตามหมู่บ้าน เช่น บ้านของอะหมัด เราะหมาน คือ ที่ทางของงานฝีมืออันมีค่าอย่างการทำกรงนกอันตกทอดมาแต่รุ่นพ่อ

ขนอม นครศรีธรรมราช

          "หัวใจของกรงอยู่ที่ไม้" อะหมัด ในวัยที่เป็นพี่ชายของผมนั่งนิ่งราวกับชิ้นไม้ตรงหน้า คือ สิ่งที่ต้องใส่หัวใจและสมาธิไม่แตกต่างไปจากการภาวนา กรงนกกรงหัวจุกที่เรียงรายริมทางหลวงหมายเลข 401 ในท้องที่อำเภอท่าศาลา โดยเฉพาะแถบบ้านในถุ้ง ล้วนมีที่มาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่เคียงใกล้ โดยเฉพาะที่บ้านท่าสูงอย่างที่อะหมัดเติบโต ไม่เพียงแต่การดิ้นรนต่อสู้กับการหากิน หากแต่การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังอยู่ในสายเลือดของคนใต้ โดยเฉพาะผู้ชาย

          "จากรุ่นพ่อที่ทำเป็นคนแรก ๆ ในนครฯ ส่วนใหญ่กรงนกทางใต้จะมีมากแบบ ทางยะลา ปัตตานี นราธิวาสโน่นก็แตกต่างครับ" อะหมัดพูดถึง ดล เราะหมาน ผู้เป็นพ่อที่พร่ำสอนและฝึกฝนทักษะเชิงช่างให้เขาจนช่ำชอง

          ตามหมู่บ้านกระจายกันไปตามชิ้นส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นกรงนก บางหลังเหลาส่วนซี่กรง ขณะที่คนเจนจัดมักจดจ่อในขั้นตอนฉลุลาย กรงนกของนครศรีธรรมราชนั้นมีเอกลักษณ์อยู่ที่การลงน้ำมันทากรงจนเป็นมันวาว เราเดินตามอะหมัดไปตามบ้านหลายหลัง หลายขั้นตอนการทำฉายชัดอยู่ตรงหน้า อะหมัดว่าไม้คือ หัวใจหลักของกรงนก โดยเฉพาะส่วนโครงสร้าง มีทั้งไม้หายากอย่างไม้ประดู่ชิงชัน ไม้หลุมพอ ไม้ตะเคียน หากเป็นกรงนกที่ราคาย่อมเยาลงมา อาจเป็นไม้ยางพารา ไม้สะเดา ไม้ขนุน "แต่ไม้ที่ทำซี่กรง ไผ่สีสุกดีที่สุด"

ขนอม นครศรีธรรมราช

          บางนาทีการได้เห็นดวงตาของหนุ่ม ๆ จดจ่ออยู่กับชิ้นงานเนื้อไม้ มันส่งทอดความมุ่งมั่นบางชนิดออกมา ไม่แตกต่างจากที่เด็กหนุ่มเฝ้ามองเฒ่าชราสักคนฟูมฟักนกกรงหัวจุก คอยเช็ดหน้า ฟังเสียงในปลายบ่าย "คงเป็นสายเลือดกระมังครับ" อะหมัดว่าบางอย่างก็เป็นมากกว่ามรดกและการงาน

          จากบ้านท่าสูงเรามุ่งสู่หาดทรายแก้ว ที่นั่นไม่แตกต่างจากหาดท่องเที่ยวท้องถิ่นของผู้คนบนเส้นทางสาย 401 คือ เต็มไปด้วยภาพแห่งการผ่อนคลายท่ามกลางบรรยากาศสงบเงียบ ไร้ซึ่งสิ่งเร่งเร้าให้คนอยู่ห่างจากทะเล ภาพยามบ่ายจึงตกสะท้อนอยู่เพียงร้านอาหารเล็ก ๆ เคียงคู่หาด และผู้คนที่มานั่งมองทะเลเปี่ยมลมและเดินจากไป ไม่ไกลกันที่ พิพิธภัณฑ์หาดทรายแก้ว ใครบางคนอาจเพลิดเพลินในข้าวของที่จัดแสดง ซึ่งส่วนใหญ่ คือ สิ่งที่ค้นพบจากใต้สมุทร จากเรืออับปางทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ล่วงเลยไปถึงช่องแคบมะละกา ทั้งเครื่องถ้วยโบราณ หีบเหล็ก หรือแม้แต่เครื่องใช้ของเก่าแก่มากมายที่คนหลงรักโลกแห่งอดีตอาจได้เพลิดเพลินในยามบ่ายริมทะเล

          เราออกจากหาดทรายแก้วในปลายบ่าย เมื่อไปถึงบ้านในกุ้ง สีสันของผู้คนที่นี่คล้ายเรียงรายอยู่ริมทาง "ถ้าเป็นช่วงใกล้มีนาคม-เมษายนนะ คนเล่นว่าวเต็มริมทะเลยาวไปตั้งแต่บ้านในถุ้งถึงบ้านสระบัวเลยล่ะ สวยมาก" เราพบกับ กอเฉม อะสาร ท่ามกลางว่าววงเดือน ว่าวพื้นเมืองถิ่นได้อีกหลายชนิดที่เรียงรายในเพิงไม้หลังเล็ก สีสันและรูปทรงของมันโดดเด่นจนหลายคนเลือกจะลงจากรถ และลงมาสัมผัสมันด้วยสองมือ ทักษะโบราณของคนมุสลิมทั้งการละเล่น วิธีคิด ศิลปะ และความเชื่อเรื่องศาสนาตกทอดอยู่ในการละเล่นอันแสนเก่าแก่

ขนอม นครศรีธรรมราช

          "ว่าววงเดือนนั้นถอดแบบมาจากรูปจันทร์เสี้ยวและดวงดาวที่เป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม" กอเฉมเอียงว่าวให้เราจินตนาการออก เขาเรียกมันว่าว่างบุหลัน อันหมายถึงดวงจันทร์ ซึ่งเป็นงานฝีมืออันสืบทอดมาแต่คนรุ่นปู่ย่า "มุสลิมไปอยู่ไหน ว่าวบุหลัน ว่าวเขาควาย ว่าวนก ก็ตามไปด้วย โดยเฉพาะลวดลายนี่ล่ะ" ลายเครือเถา ลายดอกไม้ ลายต้นไม้ คือ ลวดลายทางมลายูที่สืบสานมาเคียงคู่กับว่าวโบราณ

          กอเฉมเล่ากลางลมบ่าย หากเห็นคนเล่นว่าวที่นี่ มันบอกได้หลายอย่าง "ถ้าเล่นกันเยอะนะ แปลว่าทะเลมีมรสุม ไม่ออกหาปลากันแล้ว คนที่นี่เขาเรียกว่าทะเลร้อน ส่วนข้าวในนาก็เกี่ยวเสร็จแล้ว มันบอกห้วงเวลา และเลยไปถึงสะท้อนช่วงการทำมาหากิน"

          ต่อหน้าว่าววงเดือนตัวใหญ่โตที่ติดแอกหรือสะนู อันเป็นเอกลักษณ์ให้เกิดเสียงยามผ่านลม เราเองทึ่งไปกับโยงใยชีวิตที่ผูกติดอยู่กับว่าวแสนสวยอย่างนึกไม่ถึง

ขนอม นครศรีธรรมราช

          ลมบ่ายผลักพาให้ทางหลวงหมายเลข 401 ยิ่งรื่นรมย์ยามเราเคลื่อนจากมา ผ่านหาดซันไรส์ หรือหาดด่านภาษีอันแสนงดงาม หมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ตั้งอยู่แนบใกล้ ภาพทะเลไร้การปรุงแต่ง ฉายชัดอยู่ด้วยชีวิตอันจริงแท้ ทางสายเล็กเลาะลงไปสู่หาดสระบัว ผ่านป่าชายเลนครึ้มแน่นจนแทบมองไม่เห็นแนวทะเล ความสมบูรณ์ของแผ่นดินโบราณส่งต่อและหล่อหลอมให้ผู้คน ณ ตำบลนี้อยู่กันมาอย่างยั่งยืนยาวนาน

          หาดสระบัวเปลี่ยนภาพทางตาจากหาดท่องเที่ยวตามรายทาง สู่หาดชุมชนที่ชัดเจนด้วยงานประมงและหมู่บ้านเล็ก ๆ แสนเก่าแก่ มันสะท้อนถึงตัวตนของผู้คนสักประเภท ที่ไม่ว่าวันเวลาจะก้าวเดินเหนี่ยวนำพวกเขาไปเช่นไร ทิศทางของบรรพบุรุษนั้นแสนแจ่มชัดคงทน

ขนอม นครศรีธรรมราช

          จากทะเลสวยสงบในอำเภอขนอม ลากผ่านโลกแห่งการประมงโบราณที่สิชล และเวียนวนในรอยยิ้มแห่งการงานและชีวิตผู้คนที่ท่าศาลา ระยะทางราว 100 กิโลเมตร อาจแสนสั้น ที่ใครสักคนเลือกผ่านมันไปด้วย ความเร็วและเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากทว่ายังมีความงามบางชนิด ห้วงยามอีกบางนาที หรือแง่มุมชีวิตอันเปี่ยมด้วยเสน่ห์อันแสนจริงแท้ ที่เรียงรายโอบคลุมอยู่อย่างไร้การฟูมฟายร้องเรียก เป็นตัวตนอันชัดเจนงดงาม ไม่เคยตกหล่นไปกับความเร็ว และวันเวลา และการเข้าถึงนั้นอาจจำเป็นต้องใช้หัวใจประเภทเดียวกันเพื่อทำความรู้จัก สัมผัส และใฝ่ฟัง

ขอขอบคุณ

        ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช และการประสานงานอันเยี่ยมยอด

        คุณเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ ทุกคนที่บ้านศิวิไลซ์ รีสอร์ท สำหรับการดูแลและข้อมูล

        คุณเบญจภพ เบญจธรรมธร และสิชล คาบาน่า บีช รีสอร์ท สำหรับการต้อนรับอันอบอุ่น

        วิชุดา ชาญณรงค์ สำหรับข้อมูลเบื้องต้น มิตรภาพ และความเป็นพี่น้อง

ขนอม นครศรีธรรมราช


คู่มือนักเดินทาง

          เส้นทางเที่ยวเลาะชายหาดนครศรีธรรมราช จากอำเภอขอนม สู่อำเภอลิชล อำเภอทำศาลาเป็นการท่องเที่ยวอันเรียบง่าย งดงามเต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ และวัฒนธรรมอันหลากหลาย

ขนอม นครศรีธรรมราช

การเดินทาง

          จากสุราษฎร์ธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 401 ผ่านอำเภอดอนสัก จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4142 วิ่งไปจนสุด ผ่านท่าเรือเฟอร์รี่ แยกขวาเลาะตามเส้นทางไปจนเข้าเขตอำเภอขนอม (สายใน) แวะเที่ยวอ่าวเตล็ด หินพับผ้า หาดท้องทราย อ่าวท้องเนียน หาดแขวงเภา หาดท้องชิง หาดท้องกรวด จนมาถึงตัวอำเภอขนอม ผ่านวงเวียนปลาโลมา แยกซ้ายเข้าไปเที่ยวหาดคอเขา หาดหน้าด่าน หาดในเพลา ยาวไปจนสุดทะเลขนอมที่หาดท้องหยี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 401 มุ่งหน้าไปเที่ยวอำเภอสิชล แวะชมโบราณสถานเขาคาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก่อนแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4232 แล้ว แยกวายอีกครั้ง กลับไปเยือนหินงามรางทัด เขาพลายดำ และหาดท้องยาง

          จากเขาพลายดำ เลียบเลาะชายหาดบ้านทุ่งใส ผ่านตัวเมืองสิชลปากน้ำสิชล สู่หาดหินงาม หาดปิติ หาดปลายทอน ไปสิ้นสุดทะเลสิชลที่หาดเสาเภา

          กลับสู่ทางหลวงหมายเลข 401 อีกครั้ง ออกจากสิชล มุ่งหน้าอำเภอท่าศาลา แวะเที่ยวพิพิธภัณฑ์หาดทรายแก้ว แวะดูย่านทำกรงนกที่บ้านท่าสูง เลยไปถึงย่านการขายกรงนกและว่าววงเดือนแถบบ้านในถุ้งและบ้านสระบัว แยกซ้ายเข้าไปเที่ยวหาดซันไรซ์ หรือหาดด่านภาษี ก่อนใช้ทางหลวง หมายเลข 401 มุ่งหน้าเข้าเมืองนครศรีธรรมราช

ขนอม นครศรีธรรมราช

นอนริมทะเล

          บ้านศิวิไลซ์ รีสอร์ท บ้านพักสไตล์โมเดิร์น สวยงาม สะดวกสบาย น่าสนใจด้วยคอนเซ็ปต์ Smiling Earth เลขที่ 54 หมู่ 2 หาดหน้าด่าน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7552 8889 และ 08 7264 7447, 08 1978 3950 เว็บไซต์ www.baancivilize.com

          สิชล คาบาน่า บีช รีสอร์ท ที่พักสงบงาม ณ หาดหินงาม ตกแต่งเก๋ไก๋ บรรยากาศดี ห้องพักมีดีไซน์ เหมาะสำหรับคนรักดนตรีและกีฬาทางน้ำ เลขที่ 625 หมู่ 3 ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7553 6055 และ 08 9144 4447 เว็บไซต์ www.sichoncabana.com

อร่อยดั้งเดิม

          ร้านเคียงทะเลซีฟู้ด (หาดแขวงเภา) สด อร่อย ราคาไม่แพง เป็นที่นิยมของคนท้องถิ่นในอำเภอขนอม โทรศัพท์ 08 9875 4865 และ 08 7273 0523

          ร้านปรีชาเลิศรส ถนนศุภโชควัฒนา อำเภอสิชล อาหารตามสั่งเจ้าดังของลิชล ห้ามพลาดแกงส้มกบ ปลาอินทรีทอดน้ำปลา กบทอดกระเทียม โทรศัพท์ 0 7553 6282




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


ปีที่ 54 ฉบับที่ 8 มีนาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ริมทะเลเรียงร้อยตัวตน ขนอม สิชล ท่าศาลา อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2566 เวลา 17:44:10 28,404 อ่าน
TOP