x close

ภูกระดึง...ไปถึงก็รู้

ภูกระดึง

ภูกระดึง ไปถึงก็รู้ (อ.ส.ท.)

พระคุณ บุณยเนตร...เรื่อง
ธีระพงษ์ พลรักษ์, กานต์ อำนวยมงคลพร...ภาพ

          "รู้งี้นอนอยู่บ้านดีกว่า" "ถ้าเป็นแบบนี้พกเงินมาเพิ่มก็ดี" "ทำไมมันไกลงี้" และอีกหลายประโยคคอยหลอกหลอนอยู่ในหัวของผมซ้ำไปซ้ำมา ราวกับสมน้ำหน้าถึงความอ่อนแอ พานคิดไปกึงเมื่อวานที่ผมยังนั่งสบายพิมพ์เอกสารอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ตกเย็นก็กลับบ้านนอนห่มผ้าอุ่นสบายในห้องแอร์อยู่เลย...แล้วตอนนี้ผมอยู่ที่ไหนน่ะหรือ ? คำตอบก็คือ ภูกระดึง

          อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องมีการออกแรงก่อนถึงจะขึ้นไปได้ มันเป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนร่างกายอ่อนแอแบบผมไม่เคยคิดจะขึ้นไป แต่การที่มนุษย์เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่ไม่นึกว่าชีวิตนี้จะได้ทำ บางครั้งมันไม่ต้องการเหตุผลที่ดูดี อาจเป็นแค่ความเบื่อ ความบังเอิญ เพื่อนชวน อกหัก แก้บน หรือว่าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็อาจเป็นก้าวแรกที่จะนำชีวิตไปสู่เส้นทางใหม่ ๆ ในแบบที่เราเองก็คาดไม่ถึง

ภูกระดึง

          สำหรับผมมันเริ่มต้นจากภาพไม่กี่ภาพที่นั่งดูยามว่างทางอินเทอร์เน็ต ในภาพมีผู้คนมากมายกำลังเดินขึ้นภูกระดึง ทั้งผมสั้นเกรียน และหัวหงอกขาว เด็ก คนชรา ยังขึ้นไปไต้แล้วทำไมเราจะขึ้นไปไม่ได้ แค่นี้เองเหตุผลที่ผมต้องมาอยู่ตรงนี้

          บททดสอบแรกมากับอากาศที่หนาวเย็น ณ ที่พักตีนเขาบริเวณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน ที่นี่เราควรจะกลั้นใจอาบน้ำให้สะอาด เพราะมีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ ไม่มีใครรู้ว่าต่อไปจะอาบน้ำกันไหวหรือเปล่า เอาซะตรงนี้ให้คุ้มก่อนเลยครับ

ภูกระดึง

          เราตื่นกันแต่เช้ามืด แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเปิดขึ้นเขาเวลา 07.00-14.00 น. กระผมที่กลัวจะใช้เวลาเดินมากกว่าชาวบ้านทั่วไปเลย อยากเริ่มเดินขึ้นไปไว ๆ หน่อย จึงถามว่า "ขึ้นเช้ากว่านี้ไม่ได้เหรอครับ ทำไมต้องจำกัดเวลาด้วย\'\' พี่เขาก็ตอบมาว่า "มืด ๆ อันตราย มีช้างป่า ออกหากิน" ผมก็เข้าใจ แยกย้ายกลับไปเดินเล่นกินอาหารเช้า เข้าห้องน้ำกันให้เรียบร้อย จนได้เวลาก็พากันเดินไปที่จุดขึ้นเขา

          ถ้าเราจะขึ้นไปค้างคืนบนภูกระดึงก็จำเป็นต้องหอบของใช้ต่าง ๆ ติดตัวขึ้นไปด้วย แล้วเราจะไหวเหรอ ? เอาแค่ตัวเองให้รอดก็แย่แล้ว นี่ยังไม่ได้คิดถึงช่างภาพที่ต้องแบกกล้องขึ้นไป จะมีใครช่วยเราหอบข้าวของอันหนักอึ้งนี้ขึ้นไปข้างบน คำตอบ ก็คือ ลูกหาบนั่นเองครับ กิโลกรัมละ 30 บาทเท่านั้น ผมยกสัมภาระให้เป็นหน้าที่ลูกหาบจอมพลังทั้งหมด เหลือไว้แค่เสื้อกันหนาวติดตัว

          พร้อมเข้าเผชิญหน้ากับตำนานบทแรก ซำแฮก เส้นทางนั้นชันและเหนื่อย ให้ท่องในใจไว้ครับ "เราไม่ได้แข่งกับใคร ไม่ต้องรีบ" กลับผ่านได้โดยไม่ลำบากอย่างที่คิด พลางยิ้มเยาะอยู่ในใจ ที่ผู้ใหญ่เขาว่าขึ้นยากลำบากจนผัวเมียหย่ากันที่แท้ก็แค่นี้เอง "รู้งี้ไม่เก็บไปคิดมากให้เครียดหรอก" ผมมาซึ้งเอาทีหลังว่ามันเป็นการด่วนสรุปเกินไปในขณะที่เรี่ยวแรงขายังมีอยู่ โดยหารู้ไม่ว่านี่ยังแค่เริ่มต้นเท่านั้นไอ้หนู

ภูกระดึง

          เริ่มได้ใจเร่งเครื่องผ่านซำบอน ซำกกกอก ซำกอซาง บางจุดนั้นกว้าง มีหลายเส้นทางให้เราเลือกว่าจะขึ้นแบบไหน ผมถือคติ "เดินตามลูกหาบไม่มีหอบ" ก็ต้องเชื่อพี่ลูกหาบเขาแหละครับ เขาคงเดินมาจนพรุนหมดแล้ว ผมผ่านตรงนี้ไปไดโดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่หยุดพักตลอดทาง เพราะทุกซำจะมีเพิงขายข้าวปลาอาหารเครื่องดื่มอุดมสมบูรณ์ ราคาแพงกว่าข้างล่างเล็กน้อย ผมเดินมาเรื่อย ๆ จนสะดุดกับป้ายพร่านพรานแป ตรงอื่นเป็นซำหมด ทำไมตรงนี้ชื่อแปลกอยู่ที่เดียว พี่เจ้าหน้าที่ตรงจุดพักเล่าให้ฟังว่า ที่นี่พรานป่าในอดีตจะตั้งศาลเพียงตาทำพิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา ขอเข้าไปล่าสัตว์หาของป่าและให้กลับมาอย่างปลอดภัย

          ขึ้นถึงซำกกหว้าชักจะเริ่มร้อน เหงื่อเริ่มออก เสื้อกันหนาวที่เอาไว้ปกป้องเราจากความหนาวเย็น เริ่มกลายเป็นภาระและเกะกะ นึกในใจ "รู้งี้ถอดเสื้อให้ลูกหาบแบกก็ดี" ขึ้นมาถึงซำกกไผ่และผ่านไปโดยไม่หยุดพัก เพราะเริ่มรู้ตัวว่าทิ้งห่าง จากน้อง ๆ ช่างภาพในทีมไปมากแล้ว ซำนี้บางจุดจะมีทางแยกย่อยให้เรา คิดเล่น ๆ ว่าขึ้นทางไหนจะเหนื่อยน้อยกว่ากัน เส้นทางหนึ่งชันแต่ถึงไว อีกเส้นสบาย ๆ แต่ถึงช้า แน่นอนว่าผมเลือกข้อ 2

          กลั้นใจเดินขึ้นจนถึงซำกกโดน เรานั่งพักกินอาหารกลางวันกันที่นี่ ขณะกำลังอร่อยเหาะกับข้าวหมูกระเทียมไข่ยางมะตูมอยู่นั้น สายตาผมเหลือบไปเห็นลูกหาบ 2 คน กำลังหอบอะไรบางอย่างที่อยู่ในถุงดำขนาดใหญ่ กวาดตาไปเจอรองเท้าโผล่ออกมานอกถุงจึงรู้ว่าเป็นอะไร

          "คนเป็นลมน่ะมีเรื่อย ๆ" ป้าร้านตามสั่งพูดขึ้น ผมโล่งใจที่เหตุการณ์เมื่อกี้จบแค่เป็นลม ก็เลยถามเอาฮาว่า "แบบนี้ลูกหาบเขาคิดกี่ตังค์" ป้าร้านตามสั่งตอบทันที "3,000 บาท" คำตอบที่ได้กลับมาไม่ฮา แถมยังพาเครียด พวกเราหันมามองหน้ากัน มือไม้ผมเริ่มสำรวจกระเป๋าสตางค์ หนึ่งในช่างภาพของผมนั้นเอ่ยขึ้น "ถ้าผมเป็นลม ขอยาดมให้ผมพอ ผมฟื้นเองได้"

          หลังจากเติมพลังเรียบร้อยผมก็พร้อมสำหรับซำแคร่ ที่เป็นด่านสุดท้ายและที่ใจร้ายที่สุด ก็คือ บันได ถ้าเป็นที่อื่นคุณอาจจะดีใจเมื่อเห็นบันได แต่ไม่ใช่ที่นี่ เจ้าบันไดเหล็กนรกแสนชันนี้ สภาพไม่ต่างกับพาดบันไดลิงให้ไต่ขึ้นไป ถึงจะชันไปบ้าง แต่ถ้าอยู่ในสภาพปกติก็ไม่มีปัญหากับชายไทยใจสู้เช่นผมแน่นอน มาถึงขนาดนี้แล้วบันไดนี่คงสบายราวกับสวรรค์ แต่อนิจจา พอยกขาก้าวขึ้นก็ได้รับรู้ความจริงที่ว่า ช่วงล่างนั้นไม่ทำตามคำสั่งเสียแล้ว ความล้าของขานับตั้งแต่เดินผ่านซำแฮกเริ่มออกอาการ เมื่อการก้าวขากลายเป็นความยากลำบาก การใช้แขนจึงเข้ามาแทนที่ มือไม้คว้าเกาะราวบันไดวุ่นวายไปหมด สภาพตอนนี้เหมือนคนเป็นอัมพาตครึ่งล่าง การขึ้นบันไดเป็นไปอย่างลำบาก ในไม่ช้าก็มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเจอ แน่นอนว่าเราไม่ควรโชว์ความ "อ่อน" ให้ใครเห็น ยิ่งใส่เสื้อ อ.ส.ท. อยู่ซะด้วย เสียฟอร์มเกินไปครับ ผมรีบควักมือถือออกมาทำทีว่ากำลังถ่ายรูป พยายามเก็บอาการไว้ก่อน พอหายเหนื่อยก็ค่อย ๆ ขึ้นต่อไป ในใจเริ่มงอแง "จะถึงยังเนี้ย" "รู้งี้ไม่น่าเร่งเครื่องเดินขึ้นตรงช่วงซำบอนเลย" โชคดีหลังจากผ่านด่านบันไดนรกมาได้ไม่นาน ก็ถึงจุดสิ้นสุดการขึ้นภูกระดึงที่หลังแปบ

          นั่งพักหายใจ สภาพเหมือนคนขาดอากาศ ดูคนถ่ายภาพกับป้าย "ครั้งหนึ่งในชีวิตเราเป็นผู้พิชิตภูกระดึง" ซึ่งการนั่งดูภาพตามอินเทอร์เน็ต กับการที่เห็นป้ายนี้ด้วยตาอยู่ตรงหน้านี้ให้อารมณ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง มันไม่ใช่แค่ได้ถ่ายรูปกับป้าย แต่เป็นความรู้สึกที่อัดแน่นในร่างกายที่ได้ ไต่เต้าจนขึ้นมาอยู่ตรงนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนที่ได้ยืนหอบอ่านป้ายนี้บนหลังแปล้วนเข้าใจ

ภูกระดึง

          พิชิตมาหมดทุกซำแล้วก็เลยนึกสงสัยว่า คำว่า "ซำ" นี่มันมีความหมายไหม หรือว่าตั้งชื่อตามใคร ก็ได้คำตอบจากพี่เจ้าหน้าที่ใจดีว่า "ซำ" หมายถึง พื้นที่ที่มีนํ้าซับ หรือมีน้ำใต้ดินผุดขึ้นสู่ผิวดิน บริเวณซำจึงมีความชุ่มชื่นสูง ทำให้มีต้นไม้ขึ้นอยู่หลายชนิด ซำไหนมีต้นอะไรขึ้นอยู่เยอะก็เอามาตั้งเป็นชื่อ อย่างซำบอน ก็แสดงว่าแถวนั้นมีต้นบอนขึ้นเยอะ ซำกกโดน นั่นก็หมายถึงแถวนั้นมีต้นกระโดนขึ้นเยอะ ส่วนซำแฮกที่เป็นตำนานว่าเดินขึ้นกันจนเหนื่อยหอบแฮ่ก ๆ มาตั้งแต่รุ่นพ่อ มีความหมายว่า จุดที่มีน้ำซับจุดแรก ไม่ได้แปลว่าหอบแฮ่ก ๆ แต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่จะเหนื่อยกันตั้งแต่ก่อนถึงซำนี้แล้ว

          ถ้าถามผมว่าชอบซำไหน ก็ต้องบอกว่าซำแคร่เลยครับ แต่เป็นแคร่ไม้ไผ่นะ เห็นระหว่างทางเป็นไม่ได้ ต้องวิ่งไปนั่งพักทุกทีเลย ดูเหมือนว่าจะหายเหนื่อยแล้วเชียว ถ้าไม่ได้ยินคนพูดกันว่าต้องเดินอีก 3 กิโลฯ จึงจะถึงจุดกางเต็นท์ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง หรือใครอยากปั่นจักรยานไปอีกเส้นทางก็มีให้เช่าครับ คันละ 40 บาทเท่านั้น ระหว่างการเดินคุณจะได้พบกับพนักงานต้อนรับของที่นี่ ยืนต้นตระหง่านอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าสีคราม เขาเหล่านั้น คือ ต้นสนนั่นเองครับ เดินอย่างไม่ใจร้อนสักพักก็ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง เต็นท์เรียงราย กว้างขวาง ผมวางก้นลงบนม้านั่งที่ใกล้ที่สุด ยิ้มดีใจที่ถึงเสียที

          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ที่นี่ไม่ใช่โลตัส แต่มีครบทุกอย่าง ที่พัก อาหาร ยารักษาโรค เรารีบติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเช่าเครื่องนอน และหาอาหารเย็นกินกัน หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยความที่เหนื่อยล้ามาทั้งวัน พวกเราก็พักผ่อนเข้านอน

ภูกระดึง

          ค่ำคืนอันเย็นเยียบเหยียบมิดเข้าใกล้ 0 องศาฯ ถุงนอนที่ว่าอุ่นแน่ตอน 2 ทุ่ม แต่กลับย่ำแย่ตอนตี 3 ยามเมื่อความหนาวเข้าคุกคามถึงขีดสุด ผมและช่างภาพร่วมเต็นท์ตื่นขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย เพราะความเย็นได้ชอนไชทะลุถุงนอนเข้ามาจนเหมือนไม่เคยมีมันอยู่ ผมได้รู้ซึ่งทึ่งไปถึงไขกระดูก ได้แต่บ่น "รู้งี้จองบ้านไว้ก็ดี"

ภูกระดึง

          หลังจากพยายามนอนหลับอีกครั้งด้วยการใส่เสื้อทับหลาย ๆ ตัว แล้วหุ้มด้วยถุงนอนอีกชั้น ไม่นานประมาณตี 5 ก็มีเสียงประกาศรวมนักท่องเที่ยวไปที่ผานกแอ่น นำขบวนโดยเจ้าหน้าที่เพื่อไปดักรอพระอาทิตย์ที่จะขึ้นมาอวดโฉมหรืออาจไม่มีก็ได้ แล้วแต่ฟ้าดินจะเป็นใจ แต่ที่แน่ ๆ คือ อากาศหนาวเย็นจับขั้วหัวใจ ผมเดินท่ามกลางความมืดอยู่เกือบชั่วโมงก็มาถึง เรายืนนั่งตากลมหนาวอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง แม้วันนี้พระอาทิตย์จะไม่เป็นรูปเป็นร่างสวยงามตามโปสการ์ดที่เคยเห็น แต่ก็ยังมีโอกาสอีกหลายวัน ถือเป็นความท้าทายของช่างภาพ

ภูกระดึง

ภูกระดึง

          หลังจากเดินกลับมาจากผานกแอ่น บรรดาช่างภาพจอมขยันก็เริ่มถามหาของดีของที่นี่ทันที ซึ่งมันคือ "ใบเมเปิล" ใบเมเปิลสีแดงแช้ดตัดกับพื้นหลังที่เป็นน้ำตกสวยงามตามที่เห็นในโปสการ์ดต่าง ๆ จากการ สอบถามก็ได้ความว่ามัน คือ ภาพจากน้ำตกขุนพอง ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าปิด ซึ่งตอนนี้ปิดสมชื่อครับ เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าเพราะช่วงนี้มีช้างป่าออกหากิน ก็เป็นอันตกลงกันว่าเราอย่าไปรบกวนพวกพี่ช้างเขาดีกว่า แต่ไหน ๆ มาแล้วก็อยากได้ภาพใบเมเปิลแดงไปฝากที่บ้าน จะทำยังไง ? โชคดีที่ภูกระดึงมีอีกหลายน้ำตก เช่น น้ำตกถ้ำใหญ่ ไม่ไกลจากศูนย์ฯ ถ้าขยันเดินเข้าไปอีกหน่อยก็จะมีน้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบใหม่ หรือจะเอาง่ายกว่านั้น ไม่ต้องไปถึงป่าปิด ไม่ต้องยืนชิดหน้าผาที่ไหน ตรงแถว ๆ หลังบ้านพักในศูนย์ฯ นี่แหละครับ มีอยู่ต้นหนึ่งแดงแช้ดสุดใจ นับเป็นจุดถ่ายใบเมเปิลแดงแก้เขินยอดนิยม

ภูกระดึง

ภูกระดึง

ภูกระดึง

ภูกระดึง

ภูกระดึง

          ผมได้ค้นพบว่า "การพิชิตยอดภูกระดึง" แท้จริงแล้วมันเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าจะให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบต้องต่อด้วย "การเที่ยวภูกระดึง" จุดเด่นของที่นี่ ก็คือ ข้างบนมีอะไรให้ทำมากมาย หนึ่งในนั้น ก็คือ การเที่ยวหน้าผา ความสวยงามของหน้าผาสำหรับผม คือ การได้เห็นผืนดินและผืนฟ้ากว้างไกลสุดสายตา โดยมีทะเลหมอกคั่นไว้บาง ๆ มีสายลม สดชื่นเย็นสบายเป็นของแถม ถ้ามีเปลผูกสักหน่อยก็เรียบร้อยหลับลึกโดยไม่ต้องสืบ

          หน้าผาบนภูกระดึงมีหลายจุด ถ้าจะไปให้ครบนั้นใช้เวลามาก ใครเป็นคนเดินช้าด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ผมจึงใช้บริการเช่าจักรยานที่มีแห่งเดียวบนนี้ ร้าน Let\'s Go Biking จักรยานที่นี่ผ่านการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความขรุขระ และยังมีเบาะนั่งที่หนานุ่ม ผมเลือกเส้นทางจักรยานลานพระพุทธเมตตา-สระอโนดาต ต่อด้วยเส้นทางลัดไปผาเหยียบเมฆ มีจักรยานมาก็จริง แต่ผมจูงเป็นหลักนั่งพักตลอดทาง ชมทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่มีป่าสนเรียงรายอยู่ไกล ๆ

ภูกระดึง

ภูกระดึง

          หลังจากนั่งพักเฝ้าดูเมฆหมอกจนพอใจแล้วก็ได้เวลาเดินทางไปผาหล่มสัก ที่หลายคนยกให้เป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง มีจุดเด่นตรงก้อนหินแผ่นใหญ่ที่ยื่นออกจากหน้าผาขนานพื้นโลก ตัดกับต้นสนที่แทงสวน ตั้งฉากขึ้นไปบนท้องฟ้าพร้อมใบเขียวชอุ่มทั่วกิ่งก้าน กลายเป็นตำนานเล่าขานที่ดึงดูดนักเดินทางรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้มาเฝ้ารอชมอาทิตย์อัสดง ณ ที่แห่งนี้ พวกเราพยายามเล็งหามุมกล้องแปลกแหวกแนวก็ได้ค้นพบว่า มุมที่เขาถ่ายกันประจำตามอินเทอร์เน็ต โปสการ์ด ภาพถ่ายทั้งหลายแหล่นั่นแหละครับ เข้าท่าสุดแล้ว รู้ตัวอีกทีพระอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ความมืดเข้าครอบคลุม เหลือแต่เพียงไฟฉายและแสงดาว ทำให้ผมได้ค้นพบอีกหนึ่งสิ่งว่า หน้าผาบนภูกระดึงนั้นไม่ได้สวยงามแค่ยามมีแสงอาทิตย์เท่านั้น สำหรับคนที่พระอาทิตย์ลาลับก็กลับปุ๊บ น่าเสียดายครับ "รู้งี้น่าจะอยู่ต่อ"

          ปั่นจักรยานฝ่าความมืดและอากาศเยือกเย็นกลับถึงศูนย์ฯ มื้อเย็นของวันนี้ไม่มีอะไรที่จะเหมาะไปกว่าหมูกระทะภูกระดึง เห็นเองกับตายังทึ่ง ไม่รูว่าใครริเริ่มเอาขึ้นมาตอนไหน รู้เพียงว่าขายกันมากว่า 10 ปีแล้ว หลังจากอุ่นอร่อยกันเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาเข้านอน

          ในที่สุดก็มาถึงวันลงภูกระดึง ผมเลือกที่จะใช้เส้นทางปั่นจักรยาน ผ่านผาหมากดูกถึงหลังแป เหมือนเป็นการสั่งลาหน้าผาภูกระดึง ก็ยังมิวายเจอหลุมทรายต้องลงจูงเป็นระยะ จนในที่สุดก็มาถึงจุดลงเขา แม้คุณจะขึ้นภูกระดึงอย่างไม่ลำบาก แต่อย่าได้ดูถูกการ "ลงภูกระดึง" โดยเด็ดขาด ถ้าคุณประมาทมันจะเป็นการบั่นทอนช่วงล่างของคุณอย่างร้ายกาจ ไม่ต้องไปไหนไกล แค่บันไดเหล็กตอนลงซำแคร่ก็รู้เรื่อง อาการล้าตั้งแต่ตอนขึ้นภูกระดึงที่นึกว่าจบไปแล้วมันย้อนกลับขึ้นมาหมด ได้แต่คิดในใจ "รู้งี้กินยาแก้ปวดดักไว้ก่อนดีกว่า" ตอนขึ้นลำบากแค่ไหน สำหรับผมตอนลงลำบากกว่า เพราะขาแทบจะพิการตั้งแต่เริ่มเดินทาง มือถือถูกควักขึ้นมาทำท่ายืนเล็งอยู่บ่อยครั้ง ไมใช่เพื่อเก็บภาพ แต่เป็นการเก็บอาการ เมื่อเจอกับนักท่องเที่ยวที่เป็นเด็ก สตรี คนชรา แต่ก็ไม่วาย ระหว่างที่กำลังเดินกะเผลกอยู่นั้น ผมเหลือบเห็นลูกหาบหันมาส่งยิ้มให้ เหมือนจะเป็นลางบอกเหตุว่าผมอาจต้องเสีย 3,000 บาท

ภูกระดึง

ภูกระดึง

          แสงอาทิตย์เริ่มเลื่อนต่ำ ถ้าผมไปไม่ถึงก่อนมืดอาจจะต้องผจญกับช้างป่า ระยะทางเหลืออีก 2 ซำ ถ้ายังเดินโขยกเขยกด้วยความเร็วหอยทากแบบนี้อยู่ ไม่ดีแน่ เวลาไม่เหลือแล้ว เดชะบุญผมยังมีท่าไม้ตายอยู่ครับ คือ นั่งยองลงไปก่อน แล้วเอาแขนทั้ง 2 ข้างเท้าไปข้างหลัง แล้วเหยียดขาเล็งไปที่ตำแหน่งเบื้องล่างที่เราจะไป แล้วก็ไถลลงไปเลยครับ แค่นี้ขาเราก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอีกต่อไป เพราะเราใช้ก้นไถล แต่สภาพดูไม่ได้อย่างสิ้นเชิง แนะนำให้มองช้ายมองขวาก่อน ไม่มีใครค่อยทำ และเตรียมตอบคำถามเพื่อน ๆ ข้างล่างด้วยว่าทำไมฝุ่นเต็มหลัง ถ้าเป็นไปได้ให้ถอดเสื้อกันหนาวฝากลูกหาบช่วยแบกตั้งแต่แรกเลยดีกว่าครับ เพราะถ้าใครเสื้อผ้ารุงรังอาจจะพบกับ "ซำแควก" เกิดจากเสียงเสื้อขาด เป้าขาด ระวังให้ดีครับ

          ผมใช้เวลาตั่งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น เป็นนักท่องเที่ยวคนสุดท้ายของวันนั้นที่ลงจากภูกระดึง รับรองสถิติความช้าโดยพี่เจ้าหน้าที่และพี่ลูกหาบ เห็นหลักกิโลเมตรข้างล่างแล้วรู้สึกตื้นตันกว่าตอนเห็นป้ายพิชิตภูกระดึงข้างบนเสียอีก การเที่ยวครั้งนี้ถึงจะล้มลุกคลุกคลาน ง่อยเปลี้ย เสียฟอร์ม เสียกางเกงไปบ้าง แต่ก็สอนอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งการเตรียมตัว เตรียมเงิน การขึ้นเขา ลงเขา ได้เจอดอกไม้สวย ๆ ที่ไม่เคยเห็น ได้ปั่น (จูง) จักรยานทางวิบาก กลับถึงบ้านอย่างหมดสภาพ ดูจากสารรูป แน่นอนว่าต้องมีคนแซว "เป็นไงล่ะ ภูกระดึง รู้งี้นอนอยู่บานดีกว่าปะ ?"

          ผมยิ้มให้และตอบจากใจทันที "กระดึงน่ะเหรอ...รู้งี้ไปตั้งนานแล้ว"

   ขอขอบคุณ

          เจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน และศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง
          คุณเทิดศักดิ์ ศรีทองคำ, คุณพิกุล ชูสกุล และทีมงาน Let\'s Go Biking ทุกคน

   คู่มือนักเดินทาง

          อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีพื้นที่ประมาณ 348 ตารางกิโลเมตร หรือราว 217,576 ไร่ ที่ราบบนยอดภูมีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 37,500 ไร่ ความสูงเฉลี่ยราว 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สูงที่สุดสูงประมาณ 1,350  เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2505

ภูกระดึง

   การเดินทาง

          รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปได้ 3 เส้นทาง คือ

          1. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเขาทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          2. ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่น เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2019 ผ่านอำเภอภูผาม่าน และตำบลผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          3. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 201 ผ่าน จังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง หมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2

          รถโดยสารประจำทาง

          สายกรุงเทพฯ-เลย ลงรถที่ผานกเค้า จากนั้นต่อรถสองแถวเข้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          รถไฟ

          ขึ้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงนั่งถึงสถานีรถไฟขอนแก่น ต่อรถโดยสารสายขอนแก่น-เลย พอถึงอำเภอภูกระดึงแล้วต่อรถสองแถวเข้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

   ท่องเที่ยวบนกูกระดึง

          นักท่องเที่ยวที่จะพักค้างคืนบนยอดภูกระดึงควรวางแผนการเดินทางและสำรองที่พักล่วงหน้า เพราะแม้ที่พักบนภูกระดึงจะมีมากกว่าเมื่อก่อนก็จริง แต่ไม่เพียงพอในช่วงเทศกาลอยู่ดี ดังนั้น ถ้าเราอยากใช้บริการบ้านพักหรือเต็นท์ข้างบน ควรจองเสียแต่เนิ่น ๆ ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเปิดให้จองที่พักล่วงหน้าได้ 60 วัน จะจองทางเว็บไซต์ www.dnp.go.th หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2562 0760 ก็ได้ ค่าธรรมเนียมการเข้าชมอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท และเด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท และเด็ก 200 บาท ค่าจ้างลูกหาบ ราคากิโลกรัมละ 30 บาท




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 54 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูกระดึง...ไปถึงก็รู้ อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2565 เวลา 16:59:02 16,221 อ่าน
TOP