

กาฬสินธุ์ บนผืนดินอันอุดม (อ.ส.ท.)
ธาร เพียงใจ...เรื่อง
ธเนศ งามสม และ โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ
อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ ดูน่าชมราวโถงถ้ำขนาดใหญ่ ทุกคนดูเล็กจ้อยเมื่อก้าวเข้าไปภายในนั้น เราเดินตามแนวท่อและแสงไฟสีส้มนวล อากาศเย็นขึ้น เสียงน้ำไหลพึมทำในความเงียบสงัด ชั่วโมงต่อมาก็หลุดออกมาอีกปลายอุโมงค์ ทิวทัศน์ดูแปลกตา ราวกับโลกอีกใบ


เรามาเยือนกาฬสินธุ์ในช่วงรอยต่อฤดูกาล สายน้ำสะอาดใส ป่าเต็งรังเริ่มผลัดใบหลายหลากสี ที่สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าลำปาว ด้านทิศเหนือของอำเภอเมืองฯ ป่าเต็งรังกำลังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดง ขณะฝูงวัวแดงเริ่มออกหากินตามริมทะเลสาบลำปาว เมื่อฤดูฝนผ่านพ้นไป น้ำในทะเลสาบจะค่อย ๆ ลดระดับ เกิดเป็นชายหาดและทุ่งหญ้ากว้าง ซึ่งฝูงวัวแดงและผู้คนล้วนได้อาศัยพึ่งพาทั้งหญ้าอันอุดม น้ำเย็นใส และปูปลาเสมือนคลังอาหาร
ย้อนเวลากลับไป ด้วยผืนดินซึ่งร่วนปนทราย ทำให้ไม่อุ้มน้ำในฤดูฝน จึงมีการสร้างเขื่อนสูง 33 เมตร ยาว 7.8 กิโลเมตร กั้นลำน้ำปาวและห้วยยาง-สาขาย่อยของลำน้ำชี แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511 ในบริเวณเดียวกันด้านตะวันออก มีการจัดตั้งวนอุทยานเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าเนื้อที่ 1,420 ไร่ มีการนำวัวแดงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมาทดลองเลี้ยงในพื้นที่ธรรมชาติ ผลพลอยได้ ก็คือ ระบบนิเวศป่าเต็งรังค่อย ๆ ฟื้นคืน รวมถึงพืชพรรณและผักป่าก็กลับมาอุดมสมบูรณ์
ระหว่างที่เราไปเยือน เห็ดตับเต่าและเห็ดระโงกยังงอกงามตามผืนดิน ขณะในทะเลสาบ ปลาตะเพียนตัวโตก็ยังพอหาได้ ยามเย็นที่ทุ่งหญ้ากว้าง ผู้มาเยือนบ้างปูเสื่อนั่งหย่อนใจ บ้างทอดมองตะวันคล้อยลับขอบฟ้า กล่าวได้ว่าระหว่างสร้างเขื่อนลำปาวมีปัญหาหลากหลาย ด้วยขนาดโครงการค่อนข้างใหญ่ ทั้งการจัดการน้ำก็ยังไม่ได้ผลครบถ้วนนัก
2 ปีก่อน น้ำในเขื่อนสูงสุดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ของระดับกักเก็บ ส่วนปีนี้ในเวลาไล่เลี่ยกันมีราว 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทว่าก็นับเป็นปริมาณอันมีค่าสำหรับผู้คนรอบ ๆ พื้นที่
ยืนอยู่ริมทะเลสาบ ผมนึกถึงอ่างเก็บน้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่ซึ่งโอบล้อมไว้ด้วยภูไพร นึกถึงรอยยิ้มของใครหลาย ๆ คนที่นั่น


จากเขื่อนลำปาว เราเดินทางมาที่เขาวง อำเภอ "ห่างไกล" ของจังหวัดกาฬสินธุ์ 7 ปีที่แล้ว ผู้คนจำนวนหนึ่งร่วมใจสร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้น สำหรับภูมิประเทศซึ่งเป็นภูไพร การจะสร้างอุโมงค์ลอดเข้าไป "อาจ" ต้องใช้มากกว่าเงินทุนหรือเครื่องมือทันสมัย
"พระองค์ทำเพื่อเรา" ทับทิม เพาะชม ชาวผู้ไทยบ้านเขาวงเอ่ย น้ำเสียงภูมิใจ ยิ้มระบายบนใบหน้า เช่นเดียวกับชาวเขาวงคนอื่น ๆ อุโมงค์ผันน้ำนี้ไม่ต่างจาก "น้ำฟ้า" อันมีค่ายิ่งแก่นาไร่ ย้อนไปในอดีต อำเภอเขาวง คือ พื้นที่กันดารฝน ผืนดินร้อนแล้ง ช่วง พ.ศ. 2520 ขณะเกิดสงครามความขัดแย้งไปทั่วประเทศ เขาวงเป็นหนึ่งในพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แหงประเทศไทย (พคท.) ถูกจัดเป็นพื้นที่อันตราย แทบไม่มีใครมาเยี่ยมเยือน ทว่าไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงมองเห็นความทุกข์ยาก ความช่วยเหลือต่าง ๆ ก็มีมาถึงที่นี่
เริ่มจากการฟื้นฟูผืนดินและป่าไม้ พระองค์ทรงก่อตั้งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังในปี พ.ศ. 2535 รวมถึงขุดสระน้ำตามไร่นาเสมือน "แก้มลิง" ไว้ใช้ในยามแล้ง 3 ปีต่อมา พระราชทานพระราชดำริให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ซึ่งอยู่อีกฟากภูเขา มาเติมเต็มอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน เพื่อแบ่งปันน้ำที่เอ่อท้น-เหลือใช้
ด้วยพระวิริยะ อุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ความยาว 710 เมตร ก็ลอดใต้เทือกเขาวงจากจังหวัดมุกดาหาร มาเติมอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ในเขตอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

4 ปี หลังโครงการแล้วเสร็จ เรามาเยือนอุโมงค์อันเปรียบเสมือน "น้ำฟ้า" ของชาวเขาวง ปลายเดือนตุลาคม หุบเขาปูลาดด้วยทุ่งข้าวเหนียวเหลืองละมุนตา ตามแนวคันนามีน้ำไหลรินไม่ขาดสาย เราขึ้นไปเยือนเขาวง บนไหล่เขา ปรากฏอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ ดูน่าชมราวโถงถ้ำขนาดใหญ่ ทุกคนดูเล็กจ้อยเมื่อก้าวเข้าไปภายในนั้น
เราเดินตามแนวท่อและแสงไฟสีส้มนวล อากาศเย็นขึ้น เสียงน้ำไหลพึมพำในความเงียบสงัด ชั่วโมงต่อมาก็หลุดออกมาอีกปลายอุโมงค์ทิวทัศน์ดูแปลกตา ราวกับโลกอีกใบ ที่เขตจังหวัดมุกดาหาร เบื้องหน้าปรากฏภูสูงและป่าไม้ มีลำห้วยสายย่อมทอดออกมา แล้วหายลับลงใต้ภูเขาตรงหน้าของเรา
"ท่านทรงคิดได้อย่างไร" ใครบางเอ่ยคล้ายรำพึง...
ล่วงเย็นแล้ว ขณะเราเดินตามทางเล็ก ๆ กลับลงไป ป่าเต็งรังในช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูกาลดูน่าชม ไม้ป่ากำลังผลิบานดอก ทั้งฝ้ายป่าสีแดงสดใส เทียนน้อยสีชมพูอ่อนหวาน และกระเจียวขาว ซึ่งคนเขาวงบอกว่ากินกับน้ำพริกอร่อยนัก
"เราพอใจบ้านที่เรามี" น้าทับทิมเอ่ย ยิ้มสะอาดใสระบายใบหน้ากรำแดดฝน


"ผมเคยเร่ร่อนไปทำงานทั่ว เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปไหนไกลลูกเมียอีกแล้ว" วิเศษ คำไชโย หัวเรี่ยวหัวแรงแห่งบ้านเขาวง บอกกับผู้มาเยือนด้วยน้ำเสียงสบายใจ แต่ก่อน วิเศษ ก็เหมือนคนอื่น ๆ จำต้องห่างบ้านไปทุก ๆ หน้าแล้ง เพราะไม่มีน้ำปลูกพืชผลใด ๆ จนกระทั่งเกิดอุโมงค์ผันน้ำและได้เรียนรู้ชีวิตแห่งความพอดี
"เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด" พระอาจารย์มหาสุภาพ พุทธวิริโย บอกสอนโยมผู้ไทย
ในเพศสมณะ ผู้มาเยือนอาจรู้สึกบางอย่างที่พระสงฆ์เกี่ยวโยงกับทางโลก ทว่าเมื่อรับรู้ความเป็นมา ความรู้สึกศรัทธาก็เกิดขึ้นในใจเช่นเดียวกับชาวเขาวงทั้งหลาย ร่วมสิบปีแล้วที่ท่านดำเนินวัตรปฏิบัติเช่นนี้ เผยแพร่คำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสวงหาหนทางในการดำเนินชีวิตบนแนวทางแห่งความพอดี พึ่งพาตนเอง
"เดิมอาตมาก็คิดว่ากิจของสงฆ์มีเพียงเผยแผ่คำสอนในพุทธศาสนา แต่อยู่มาวันหนึ่งอาตมาเห็นโยมหลายคนหายไปจากหมู่บ้าน แล้วก็ทราบว่าเป็นเพราะไม่มีน้ำทำกิน จึงเริ่มคิดว่านี่ก็เป็นกิจของสงฆ์ด้วย"
จากที่เคยสนใจ "วิถีพอเพียง" ตั้งแต่เป็นเด็กหนุ่มในกรุงเทพฯ เมื่อมาบรรพชาที่กาฬสินธุ์แล้วพบเหตุดังกล่าว พระอาจารย์จึงทดลองทำด้วยการอาสาฟื้นฟูดินโยมยาย ซึ่งอาศัยอยู่ข้าง ๆ วัด ดินผืนนี้เรียกได้ว่า "ป่วยไข้" จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างอ้อยและมันสำปะหลังนานนับสิบปี ท่านใช้มูลสัตว์และใบไม้เป็นปุ๋ยชั้นดี ปลูกพืชเพิ่มความชุ่มชื้นอย่างกล้วย แล้วจึงตามด้วยพืชระยะสั้นอย่างผักสวนครัว
"เราเรียกว่าหลุมพอเพียงแสนสุข" พระอาจารย์อธิบายพลางยิ้มอารมณ์ดี หลุมพอเพียงที่กล่าว คือ เริ่มจากพื้นที่ขนาด 1x1 เมตร โดยปลูกพืชลงไปหลากหลาย ทั้งผักสวนครัว ไม้ผล และไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา ให้เนื้อไม้อันมีค่าในวันข้างหน้า จากหนึ่งหลุมแล้วค่อย ๆ ขยายออกไปจนเต็มผืนดินที่มี
ตะวันคล้อยแตะทิวเขา พระอาจารย์และโยมชาวผู้ไทยพาเราเดินชม "หลุมพอเพียง" ซึ่งอยู่รายรอบในไร่ของ น้าวงศ์เดช รอบบ้านร่มรื่นด้วยไม้นานา มีทั้งผักพื้นถิ่นอย่างผักหวาน กล้วย อ้อย มะม่วง สละ ที่สระน้ำยังเลี้ยงปลาและเป็ด ซึ่งเป็นคลังอาหารและรายได้ให้เก็บออมตลอดปี
"หลังจากลงมือทำกันมา 4 ปี เรารู้แล้วว่าจะเดินไปหนทางไหน" พระอาจารย์กล่าว ทุกวันนี้ในกลุ่มมีเงินหมุนเวียนหลายแสนบาท จากการขายพืชผักที่เหลือกินเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน มีการตั้งธนาคารกล้วย ธนาคารข้าว ธนาคารหมูหลุม ขณะไม้ใหญ่ก็ค่อย ๆ เติบใหญ่ เสมือนเงินฝากที่ดอกเบี้ยงอกงามขึ้นทุก ๆ ปี

ถึงวันนี้น่ายินดีที่ภาครัฐเข้าใจและหนุนช่วย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ก็ยินดีสนับสนุนงบประมาณและช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ
เย็นวันนั้นเราได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเขาวงจากสำรับกับข้าว ผักเต็มถาดนั้นเก็บมาจากรอบ ๆ ตัวเรา ปลานิล คือ ผลพลอยได้จากสระน้ำ อีกทั้งไข่ไก่ ข้าวเหนียวเขาวงอันเลื่องชื่อ และขนมแดกงา-ขนมพื้นบ้านรสหอมหวาน อิ่มเอมอาหาร เรานั่งพูดคุยเรื่องราวทั่วไป เรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวผู้ไทยนั้นทั้งเรียบง่าย อบอุ่น ละมุนละไม ขณะใครบางคนขับลำนำแว่วหวาน บทเพลงกังวานใส ทั้งเสียงหัวเราะและรอยยิ้มก็ระบายบนใบหน้าของเราทุก ๆ คน
สำหรับชีวิตที่เคยลำบากยากเข็ญ คงไม่มีความสุขใดจะมีความหมายเท่านี้อีกแล้ว ความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับคนรัก ได้ยิ้มและอิ่มเอมบนผืนดินถิ่นเกิดบนผืนดินอันอุดมด้วยน้ำพระราชหฤหัย

กราบนมัสการ
พระอาจารย์มหาสุภาพ พุทธวิริโย
ขอขอบคุณ






คู่มือนักเดินทาง




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 54 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2556