ประเทศไทย ศูนย์กลางเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง (อ.ส.ท.)
ไม่มี พ.ศ. 2558 กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ มีพันธสัญญาจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC-ASEAN Economic Community) ในการนี้เสาหลัก AEC ในด้านการท่องเที่ยว และการบินพาณิชย์ ประเทศไทยเราได้รับเกียรติให้เป็นประเทศริเริ่มในการดำเนินการต่าง ๆ หลายหลาก และภาครัฐไทยก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาค เนื่องจากความพร้อมในหลายประการ โดยเฉพาะสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เสมือนตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของภูมิภาคพอดี
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนแนวคิดของการรัฐ และเพื่อให้คนไทยเราได้รู้จักเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ อนุสาร อ.ส.ท. จึงตั้งใจนำเสนอประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถยนต์ในอาเซียน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาและสามารถนำไปใช้เดินทางท่องเที่ยวได้เอง และแนะนำต่อไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคเอาเซียนของเราได้ต่อไป
เส้นทางเชื่อมโยงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เมืองเชียงของ เส้นทาง R3A
เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เชียงของ-ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-อุดมไชย-หลวงพระบาง และเชียงของ-ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อตน-เชียงรุ่ง
อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คือ เมืองชายแดนฝั่งไทยที่สะพานมิตรภาพไทย-สาว แห่งที่ 4 สร้างเสร็จเรียบร้อย จากสะพานแห่งนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงเส้นทาง R3A ซึ่งเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมต่อไปยังเมืองเชียงรุ่ง เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผ่านเมืองหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นเมืองทางแยก สามารถแล่นขึ้นเหนือสู่ สปช. จีน และแล่นลงใต้ผ่านเมืองไชย แขวงอุดมไชย ไปยังเมืองหลวงพระบางได้ในที่สุด
รายละเอียดของเส้นทาง R3A
ระยะทาง เชียงของ-หลวงพระบาง 300 กิโลเมตร เชียงของ-เชียงรุ่ง 400 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ เชียงของ-ห้วงทราย-หลวงน้ำทา-อุดมไทย-หลวงพระบาง เชียงของ-ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเตน-เชียงรุ่ง
ด่านพรมแดน ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ด่านบ่อเตน-โมฮัน
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ประเทศไทย เมืองเชียงของ เชียงแสน สามเหลี่ยมทองคำ ภูชี้ฟ้า ผาตั้ง และ สปป. ลาว เมืองสิง สุวรรณโคมคำ เมืองต้นผึ้ง
เลย เส้นทางหมายเลข 4 ท่าลี่-หลวงพระบาง
เส้นทางตามรอยอองรี มูโอต์ (Henri Mouhot)
ในอดีตกรุงเทพมหานคร คือ ศูนย์กลางแห่งระบบประเทศราชพระเกียรติและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์สยามแผ่ไพศาล ทำให้ผู้ปกครองดินแดนรอบข้างต่าง ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาเป็นไมตรี ดังนั้น บรรดานักสำรวจฝรั่งต่างชาติ หมอสอนศาสนา พ่อค้าวาณิช จึงต่างมุ่งเข้ามาใช้กรุงเทพฯ เป็นสถานีสำคัญในการเดินทางออกไปในภูมิภาค นักเดินทางเหล่านี้ต่างเข้ามาพบปะ ศึกษา เรียนรู้เส้นทางระหว่างกัน แม้กระทั่ง อองรี มูโอต์ นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์ก็มิใช่ข้อยกเว้น เส้นทางการเดินทางของเขาเป็นการประมวลเส้นทางโบราณผนวกเข้ากับเส้นทางสำรวจของหมอสอนศาสนาหลาย ๆ ท่าน จนเป็นเส้นทางของอองรี มูโอต์ เชื่อมต่อกรุงเทพมหานคร และหลวงเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและหลวงพระบาง เป็นเส้นทางที่สั้น ง่าย และตัดตรงที่สุดในบรรดาเส้นทางเชื่อมต่อสองเมืองนี้หลากหลายเส้นทาง
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 4
ระยะทาง จากเมืองไทย ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 ต่อด้วย ทางหลวงหมายเลข 2115 และเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4 สปป. ลาว
เมืองสำคัญ เลย-ท่าลี่-ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แม่น้ำเหือง-เมืองแก่นท้าว-ปากลาย-ไชยะบุรี-หลวงพระบาง
ด่านพรมแดน ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แม่น้ำเหือง
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ประเทศไทย เมืองเชียงคาน ภูหลวง ภูกระดึง อุทยานแห่งชาตินาแห้ว และ สปป. ลาว เมืองปากลาย เทศกาลบุญช้างไชยะบุรี เทศกาลบุญกองข้าว เมืองเพียง
หนองคาย เส้นทางหมายเลข 13 เหนือ
(หนองคาย-หลวงพระบาง) เส้นทางประวัติศาสตร์ สยาม-ล้านช้าง
เป็นเส้นทางเชื่อมโยงไทย-ลาว ที่สำคัญที่สุด ที่ควรเริ่มเดินทางเป็นอันดับแรก โดยเชื่อมเส้นทางถนนมิตรภาพ จากกรุงเทพฯ ประเทศไทยกับเส้นทางหมายเลข 13 เหนือ ผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองวังเวียง สู่เมืองหลวงพระบาง เชื่อมทั้งนครหลวงปัจจุบันของ สปป. ลาว และอดีตราชธานีแห่งล้านช้าง คือ เมืองหลวงพระบาง เข้าด้วยกัน โดยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
บนเส้นทางสู่เมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์สำคัญหลายเมืองบนเส้นทาง เช่น หนองคาย โพนฮง กาสี วังเวียง พูคูน กิ่วขะจ้ำ และหลวงพระบาง เป็นเส้นทางที่นับได้ว่าครบเครื่องด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะสำหรับการเชื่อมโยงสองประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเข้าด้วยกัน การเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางนี้สามารถทำได้หลากหลาย ทั้งการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวรถ โดยสารสาธารณะ ตลอดจนการเดินทางโดยเครื่องบิน
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 13 เหนือ
ระยะทาง จากหนองคายถึงหลวงพระบางประมาณ 300 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ หนองคาย เวียงจันทน์ โพนฮง กาสี วังเวียง พูคูน กิ่วขะจ้ำ และหลวงพระบาง
ด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง สปป. ลาว เมืองวังเวียง เขื่อนน้ำงึม ท่าง่อน
อุบลราชธานี เส้นทางหมายเลข 13 ใต้
เที่ยวแผ่นดินสี่พันดอน
ลาวภาคใต้สิ้นสุดที่แขวงจำปาสัก จังหวัดอุบลราชธานี มีเส้นทางหมายเลข 217 (อุบลราชธานีช่องเม็ก) ข้ามพรมแดนไทย-ลาว ไปเชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข 13 ใต้ ที่เมืองปากเซ และนำพาต่อไปยังแผ่นดินสี่พันดอน ตรงที่แม่น้ำโขงแปรสภาพเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายเหลือคณานับ ก่อเกิดเป็นน้ำตกมหัศจรรย์อย่างคอนพะเพ็งและหลี่ผี
ไม่เพียงเท่านั้น อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขงยังเป็นเขาใหญ่แห่งจำปาสัก คือ ที่ราบสูงบอละเวน ที่เป็นทั้งดินแดนแห่งน้ำตกสวยงาม แหล่งผลิตกาแฟระดับโลก แหล่งท่องเที่ยวผจญภัยหลากหลายประเภท อีกทั้งยังเป็นดินแทนแห่งชาวชาติพันธุ์ลาวเทิงหลากหลาย ไม่เพียงเท่านั้น ราชธานีเก่าแก่เมืองจำปาสัก ยังเป็นดินแดนต้นราก อาณาจักรขอม ปราสาทวัดพู คือ เทวสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งขอมเจนละที่แผ่ขยายไล่เลาะแนวพนมดงรักไปทางตะวันตก จนรุ่งเรืองกลายเป็นอารยธรรมขอมอันยิ่งใหญ่ต่อมาที่นครวัด นครธม
ทั้งหมดนี้แหละที่ทำให้ตัวเลข นักท่องเที่ยวของลาวภาคใต้ติดอันดับสูงสุดของประเทศ สปป. ลาว มาแล้วหลายปีติดต่อกัน
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 13 ใต้
ระยะทาง ประมาณ 150 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ ประเทศไทย อุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร โขงเจียม และ สปป. ลาว ปากเซ จำปาสัก ดอนโขง ปากซอง
ด่านพรมแดน ด่านช่องเม็ก
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ประเทศไทย อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และ สปป. ลาว น้ำตกผาส่วม พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า และน้ำตกสวย อีกมากกมายในแขวงเซกอง
เส้นทางเชื่อมโยงสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
มุกดาหาร เส้นทางหมายเลข 9
มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-กวางจี เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก
จากประเทศไทยจะไปเวียดนามจำเป็นต้องผ่าน สปป. ลาว และต้องข้ามแม่น้ำโขง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขตนั้นเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ยาวที่สุด ปลายสะพานทั้งสองด้าน ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย กำหนดให้เป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก เชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ปลายสะพานด้าน สปป. ลาว
ต่อไปเป็นเส้นทางหมายเลข 9 ลากผ่านไปตรงคอคอดแคบ ๆ ของทุ่งราบสะหวันนะเขตแล้วจึงผ่านเข้าสู่เขตช่องเขา ทะลุไปออกด่านพรมแดนแดนสะหวัน ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร เข้าสู่ประเทศเวียดนามที่เมืองกวางจี แล้วจึงเลี้ยวขวาเชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 1 ของเวียดนาม ลากผ่านเมืองมรดกโลก เมืองเว้ อดีตราชธานีในราชวงศ์เหวียนของเวียดนาม แล้วจึงไปสุดทางที่เมืองดานัง อันเป็นเมืองท่าเรือสำคัญของเวียดนาม
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 9
ระยะทาง ใน สปป. ลาว ประมาณ 200 กิโลเมตร ในเวียดนามประมาณ 100 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ มุกดาหาร-ไกสอนพมวิหาน-อุทุมพอน-เมืองพินเซโปน-ดองฮา-กวางจี-เว้-ดานัง
ด่านพรมแดน ด่านสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2 ด่านแดนสะหวัน ด่านลาวบาว
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง สปป. ลาว พระธาตุอิงฮัง เวียดนาม เมืองเว้ เมืองฮอยอัน หมีเซิน
นครพนม เส้นทางหมายเลข 13 ใต้
เส้นทางหมายเลข 8 สปป. ลาว-เส้นทางหมายเลข 1 เวียดนาม เส้นทางโฮจิมินห์รำลึก
ประเทศไทยเป็นดินแดนอพยพของผู้ตกทุกข์ได้ยากชาวเวียดนามมานานนักหนา ชาวเวียดนามแถบ ตอนกลางประเทศ เมืองวินห์ เมืองฮาตินห์ เดินทางหนีร้อนมาพึ่งเย็นในเมืองไทยมาแล้วนับร้อยปี จวบจนกระทั่งปัจจุบันชาวเวียดนามที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็จะมาจากดินแดนแถบนี้ และในบรรดาทั้งหมด ชายหนุ่มจากเมืองวินห์คนหนึ่ง ชื่อ เหวียนอายกว๊อก หรือโฮจิมินห์ ก็เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างเงียบเชียบ และขบวนการสร้างชาติเวียดนามใหม่จึงมีส่วนก่อร่างขึ้นที่เมืองนครพนมของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-ท่าแขก) คือ สะพานมิตรภาพที่ออกแบบอย่างสวยงามมาก อาจเป็นเพราะสะพานแห่งนี้ใช้เงินทุนก่อสร้างสะพานส่วนใหญ่จากฝ่ายไทย ข้ามสะพานมิตรภาพไปแล้วเส้นทางจะนำต่อไปพบเส้นทางหมายเลข 13 ใต้ แล่นขึ้นเหนือไปจนถึงทางแยก เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 8 แล่นผ่านเมืองคำเกิด เมืองหลักซาว ดินแดนของชาวผู้ไทย ไทยดำ แล้วเข้าสู่ด่านพรมแดน ด่านน้ำพาว-เกาแจว เป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 300 กิโลเมตร จึงถึงเมืองวินห์ เมืองชายฝั่งทะเลบ้านเกิดของท่านประธานโฮจิมินห์
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 13 ใต้-เส้นทางหมายเลข 8 สปป. ลาว-เส้นทางหมายเลข 1 เวียดนาม
ระยะทาง ประมาณ 300 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ นครพนม-ท่าแขก
ด่านพรมแดน ด่านสะพานมิตรภาพ 3 ด่านน้ำพาว ด่านเกาแจว
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ประเทศไทย พระธาตุพนม พระธาตุเรณู, สปป. ลาว พระธาตุศรีโคตรบูรณ์ หินหนามหน่อ ถ้ำกองลอ และ เวียดนาม ชายฝั่งทะเลเมืองฮาติงห์
เส้นทางเชื่อมโยงสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
แม่สอด เส้นทางหมายเลข 85-เส้นทางหมายเลข 8-เส้นทางหมายเลข 1 เส้นทางหมายเลข 4
แม่สอด เส้นทางคาราวานรถยนต์ปฐมฤกษ์ เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเก่า ยานพาหนะใหม่
ทีม Explorer Caravan ในนามบริษัท Nature Travel เป็นรายแรกที่บุกเบิกจัดทำคาราวานขับรถยนต์เข้าไปท่องเที่ยวในพม่า โดยท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเดิมซึ่งทางการพม่าเปิดให้ท่องเที่ยวมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่เข้าด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี ไปเมืองกอกะเร็ก เมืองพะอันง์ รัฐกะเหรี่ยง เที่ยวพระธาตุอินทร์แขวน ขึ้นไปเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ แล้วไปรัฐฉาน เมืองตองยี ทะเลสาบอินเล เลี้ยวกลับแล้วไปต่อเมืองมัณฑะเลย์ พุกาม แล้วกลับลงมาย่างกุ้ง เมืองหงสาวดี แล้วลงใต้กลับมาเข้าประเทศไทยที่ด่านแม่สอดอีกครั้ง
การจัดทำคาราวานรถยนต์ คราวนี้ส่งผลให้บริษัทท่องเที่ยวอื่น ๆ เริ่มจัดทริปขับรถยนต์ตามไป ทำให้ในวันนี้มีบริษัทท่องเที่ยวที่สามารถจัดคาราวานรถยนต์ท่องเที่ยวในพม่าได้แล้วหลายบริษัท
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 85-เส้นทางหมายเลข 8-เส้นทางหมายเลข 1 เส้นทางหมายเลข 4
ระยะทาง ประมาณ 1,000 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ แม่สอด เมียวดี สะเทิม ไจ้ก์โถ่ เนปิดอว์ ตองยี ตองดู หงสาวดี
ด่านพรมแดน แม่สอด-เมียวดี
แม่สาย เส้นทางหมายเลข 4
เส้นทางเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก
เมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอกของรัฐฉานตะวันออก เมืองนี้เคยเปิดกว้างให้ท่องเที่ยวได้อย่างเสรี แต่แล้วก็กลับปิดไปอีกครั้ง มาจนปัจจุบันทางการพม่าอนุญาตให้หลายบริษัทในเมืองเชียงราย สามารถจัดทริปพานักท่องเที่ยวไทยเข้าไปท่องเที่ยวได้ โดยคณะต้องมีมัคคุเทศก์พม่านำไปเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เดินทางด้วยตัวเองอย่างอิสระโดยเด็ดขาด
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 4 (แม่สาย-เชียงตุง)
ระยะทาง ประมาณ 200 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ แม่สาย ท่าขี้เหล็ก เมืองพยาก เชียงตุง
ด่านพรมแดน แม่สาย ท่าขี้เหล็ก
เส้นทางเชื่อมโยงราชอาณาจักรกัมพูชา
อรัญประเทศ เส้นทางหมายเลข 5 เส้นทางหมายเลข 6
เส้นทางนครวัด นครธม สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
กลุ่มโบราณสถานขอมในสมัยบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 นครวัด นครธม แห่งเมืองเสียมเรียบได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่คนไทยเราสามารถขับรถไปถึงได้ โดยผ่านด่านพรมแดนอรัญประเทศ เมืองปอยเปต และเมืองศรีโสภณ เป็นระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร เส้นทางเป็นทางลาดยางที่จะต้องมีการซ่อมแซมอยู่ตลอด เนื่องจากทางถูกน้ำท่วมสม่ำเสมอทุกปี
ในปัจจุบันทางการกัมพูชาได้เปิดแหล่งท่องเที่ยวประเภทเดียวกันนี้ขึ้นอีกหลายแห่ง สามารถเดินทางไปกลับจากเมืองเสียมเรียบได้ภายในวันเดียว เช่น ปราสาทบันทายฉมาร์ ปราสาทบึงมาลา เป็นต้น และถ้าขับรถเข้าด่านมาแล้วก็สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 5 แล่นลงใต้ผ่านเมืองพระตะบองและโพธิสัตว์ไปจนถึงเมืองพนมเปญได้เลย
ปัจจุบันมีการเปิดบริการรถโดยสารสาธารณะจากสถานีกรุงเทพฯ มาถึงทั้งเมืองเสียมเรียบ และเมืองพนมเปญแล้ว โดยใช้เวลาเดินทางทุกวัน ประมาณครึ่งวันเท่านั้น
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 5 และเส้นทางหมายเลข 6
ระยะทาง ประมาณ 200 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ อรัญประเทศ ศรีโสภณ พระตะบอง โพธิสัตว์ กำปงชะนัง พนมเปญ
ด่านพรมแดน อรัญประเทศ-ปอยเปต
ตราด เส้นทางหมายเลข 18-เส้นทางหมายเลข 3
เส้นทางท่องทะเลกัมพูชา
หมู่เกาะทะเลตราดของประเทศไทยนั้นสวยงามอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน เกาะกงของกัมพูชาก็ตั้งอยู่ตรงหน้า จึงเป็นสิ่งที่คนไทยใคร ๆ ก็สงสัยว่าเกาะข้างหน้านั้นจะสวยงามสักขนาดไหน ดังนั้น พลันที่เส้นทางด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก-จามเยียมเปิดขึ้น และเริ่มอนุญาตให้คนไทยขับรถผ่านแดนเข้าไปได้ จึงมีรถยนต์จากประเทศไทยขับเข้าไปท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลด้านนี้ของกัมพูชาได้อย่างสวยงาม
เส้นทางหมายเลข 18 จะนำพาไปเยี่ยมเยือนอำเภอเกาะกงที่นักท่องเที่ยวต้องข้ามไปชมตัวอำเภอบนเกาะด้วยพาหนะท้องถิ่น แล้วเส้นทางจะพาไปชมอ่าวกัมปงโสม แล้วต่อไปถึงเมืองกัมปอด บนเส้นทางหมายเลข 3 จากนั้นเส้นทางจึงหักเลี้ยวขึ้นไปจนสุดทางที่เมืองพนมเปญอีกครั้งหนึ่ง
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข 18 และเส้นทางหมายเลข 3
ระยะทาง ประมาณ 200 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ ตราด เกาะกง กัมปงโสม กัมปอด ตร๊าก พนมเปญ
ด่านพรมแดน บ้านหาดเล็ก-จามเยียม
เส้นทางเชื่อมโยงสหพันธรัฐมาเลเซีย
หาดใหญ่ เส้นทาง E1 เส้นทางเลียบทะเลตะวันตก
จากด่านสะเดา เมืองหาดใหญ่สามารถขับรถบนเส้นทางไฮเวย์สวยงาม ผ่านปาดังเบซาร์ อลอร์สตาร์ แล้วข้ามฝั่งไปสู่เมืองเกาะเก่าแก่เกาะปีนัง จากนั้นก็เลาะลงใต้ผ่านไปจนถึงเมืองหลวงของสหพันธรัฐมาเลเซีย คือ กัวลาลัมเปอร์ แล้วลงใต้ต่อไปอีกจนกระทั่งถึงเมืองเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง คือ เมืองมะละกา นอกจากนั้น เส้นทางสายปีนังเบตงก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งซึ่งคนไทยเรานิยมเดินทางผ่านเข้าไปแล้วออกมาอีกครั้งอย่างปลอดภัย
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข E1
ระยะทาง ประมาณ 200 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ หาดใหญ่ สะเดา ปาดังเบซาร์ อลอร์สตาร์ ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ มะละกา
ด่านพรมแดน ด่านสะเดา-เบตง
สุไหงโก-ลก เส้นทางหมายเลข AH18
เส้นทางเลียบทะเลจีนใต้
จากสุไหงโก-ลก เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลจีนใต้ ผ่านโกตาบารู กัวลาตรังกานู ดุนกุน ไปจนถึงกวนตันแล้วหักเลี้ยวขวา ตรงไปก็จะนำไปสู่นครหลวงของมาเลเซีย คือ กัวลาลัมเปอร์ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงสามารถขับรถท่องเที่ยวเป็นวงกลมได้จากสุไหงโก-ลก เลียบทะเลจีนใต้ แล้ววกเข้ากัวลาลัมเปอร์เลี้ยวกลับขึ้นเลาะทะเลฝั่งตะวันตกมาจนถึงด่านสะเดา จังหวัดสงขลา
รายละเอียดของเส้นทางหมายเลข AH18 และเส้นทางหมายเลข E1
ระยะทาง ประมาณ 500 กิโลเมตร
เมืองสำคัญ โกตาบารู กัวลาตรังกานู ดุนกุน กวนตัน กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง อลอร์สตาร์ ปาดังเบซาร์
ด่านพรมแดน ด่านสุไหงโก-ลก ด่านสะเดา
ข้อมูลจำเป็นสำหรับการเดินทาง
รถยนต์ไทยเข้าได้หรือไม่ได้
โดยรอบประเทศไทย ปัจจุบันที่เพียงลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่สามารถนำรถยนต์ข้ามแดนไปขับท่องเที่ยวด้วยตนเองอย่างอิสระ
สำหรับเวียดนาม ไม่อนุญาตให้รถยนต์จากประเทศไทยเข้าประเทศ แต่ยอมให้รถยนต์จาก สปป. ลาวเข้าได้
ทุกประเทศจะยอมให้เข้าได้ ถ้าเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบคาราวานรถยนต์ และบริษัทที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบคาราวานรถยนต์วันนี้ก็มีอยู่แล้วหลากหลายบริษัทด้วยกัน
วิ่งซ้ายหรือวิ่งขวา
ประเทศที่ขับรถชิดซ้าย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนประเทศที่ขับรถชิดขวา ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า
วีซ่า
ประเทศเมียนมาร์เป็นประเทศเดียวเท่านั้นในภูมิภาค ที่นักเดินทางจะต้องมีวีซ่าผ่านแดน
เอกสารสำคัญ
เอกสารที่ต้องเตรียมไปในการเดินทางไปขับรถในกลุ่มประเทศอาเซียน มีดังนี้
1. หนังสือเดินทางตัวจริง มีอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน พร้อมสำเนา
2. ใบขับขี่รถยนต์รุ่นใหม่แบบสมาร์ทการ์ด พร้อมสำเนา
3. หนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ (สำหรับ สปป. ลาว)
4. ทะเบียนรถและหน้าต่อทะเบียน พร้อมสำเนา
รถยนต์โดยสารระหว่างประเทศ
ประเทศไทยมีรถโดยสารสังกัด บริษัทขนส่ง จำกัด เดินรถในเส้นทางระหว่างประเทศสายต่าง ๆ ดังนี้
1. กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์
2. กรุงเทพฯ-ปากเซ
3. กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ
4. กรุงเทพฯ-พนมเปญ
5. อุดรธานี-วังเวียง
6. ขอนแก่น-เวียงจันทน์
7. อุดรธานี-เวียงจันทน์
8. หนองคาย-เวียงจันทน์
9. อุบลราชธานี-ปากเซ
10. มุกดาหาร-สะหวันนะเขต
11. นครพนม-ท่าแขก
จากนครหลวงเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบาง มีรถโดยสารระหว่างประเทศไทยถึงหลายเมืองในเวียดนาม และ สปช. จีน การเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียนโดยรถโดยสาร หากมีการเตรียมข้อมูลเป็นอย่างดี ก็สามารถท่องเที่ยวได้อย่างเชื่อมโยง
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
อ.ส.ท.เล่มเล็ก เดือนพฤศจิกายน 2556