x close

เกาะเสม็ด เรียนรู้จากอดีต อยู่กับปัจจุบัน และหวังเพื่ออนาคต

เกาะเสม็ด

เกาะเสม็ด เรียนรู้จากอดีต อยู่กับปัจจุบัน และหวังเพื่ออนาคต (อ.ส.ท.)

ปณต คูณสมบัติ...เรื่อง
ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

           เกาะเสม็ด เกาะที่ได้รับการขนานนามว่า "ปฐมบทแห่งการเที่ยวเกาะ" หนุ่มสาวส่วนใหญ่ถือเอาเกาะแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการ "เดินทาง" เพื่อเก็บประสบการณ์ท่องเที่ยวเกาะแก่งกลางทะเล ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง ทั้งการเดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เกาะอยู่ไม่ห่างจากฝั่ง เรือเมล์บริการด้วยค่าเรือไม่แพง รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลหลากหลายรสชาติ ทำให้เกาะเสม็ดเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ยามที่ทุกคนต้องการออกไปสัมผัสแสงแดดและไออุ่น

           ด้วยเหตุใดก็ตาม วันนี้เกาะเสม็ดมีเรื่องราวมากมายสับสนบนสื่อต่าง ๆ ทำให้นักเดินทางทั้งใหม่และเก่ากังวลที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมานอนอาบแดด นุ่งลม ห่มฟ้า เหมือนเช่นที่เคยเป็นมา แต่เรื่องราวต่อไปนี้ที่ได้เก็บมาเล่า เรียงร้อยมาฝาก คุณไม่คิดรังเกียจมิใช่หรือ ถ้าจะกลับไปเกาะเสม็ดอีกครั้ง เมื่อเวลาและสถานการณ์อำนวย

เกาะเสม็ด


           1. ณ ท่าเรือบ้านเพ-เกาะเสม็ด ระหว่างรอผู้โดยสารให้ครบตามจำนวนที่สามารถออกเรือให้ "คุ้ม" กับค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปในแต่ละเที่ยว มองออกไปจากฝั่ง เกาะลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยมห่างออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร ตั้งเด่นตระหง่านกลางผืนทะเลเหมือนรอให้ผู้คนมาพบ มาสัมผัสอีกครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อระลึกขึ้นมาคราใดล้วนมีแต่สิ่งดี ๆ ให้จดจำ

เกาะเสม็ด

           ลักษณะของเกาะเสม็ดมีสันเขากลางเกาะลาดลงชายฝั่งทั้งสองด้านชายฝั่ง ด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นโค้งอ่าวและมีหาดทรายมากกว่าสิบอ่าว ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นผาหินสูงขันไปตลอดตั้งแต่ทิศเหนือจรดใต้ ในเวลาเพียง 30 ปี เกาะเสม็ดที่เคยได้รับรายงานว่าเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของชาวประมงที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมฝั่งด้านทิศเหนือของเกาะประมาณ 40 ครอบครัว และไม่มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ กลับเปลี่ยนแปลงจากหน้ามืดเป็นหลังมือ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดปัญหาเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสภาพแวดล้อมที่ยากจะควบคุม อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นพื้นที่เกาะที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด สิ่งต่าง ๆ จึงยังคงได้รับการควบคุมอยู่บ้าง ไม่เสื่อมโทรมลงไปจนสิ้นเชิง

           บ่ายคล้อย เรือบรรทุกผู้โดยสารแล่นฝ่าเกลียวคลื่นในอัตราที่สม่ำเสมอ เกาะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเรือแล่นเข้าใกล้ มองเห็นรูปปั้นผีเสื้อสมุทรยืนท้าทายสายลมและแสงแดดอยู่บริเวณท่าเทียบเรือหน้าด่าน  ซึ่งเป็นดั่งประตูต้อนรับคนบนฝั่งที่ข้ามสู่เกาะตั้งแต่แรกเริ่ม คิวรถปิกอัพสีเขียวสดใส ด้านหลังดัดแปลงเป็นที่นั่งสองแถวข้างเหลือตรงกลางไว้วางสัมภาระ

           จอดเข้าคิวอยู่ต้นสะพาน ผมกำลังจะเอ่ยปากบอกจุดหมายกับคนขับ

           "เหมาไปเลยน้อง คนน้อยรอนาน" อุดมศักดิ์ ลิ้นจี่ คนขับตะโกนดังทันทีก่อนที่พวกเราจะเดินเข้าไปหาเสียอีก เกาะแห่งนี้ขับเคลื่อนได้จากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ทำให้ผู้คนที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมทางทะเล แม้แต่คิวรอบนเกาะที่มีรถถึง 60 คัน รับส่งนักท่องเที่ยวตั้งแต่อ่าววงเดือนถัดเรื่อยไปแถบอ่าวเทียน อ่าวหวาย และอ่าวกิ่ว วกกลับมาแถบด้านหน้าอย่างหาดทรายแก้ว อ่าวไผ่ อ่าวพุทรา อ่าวทับทิม หรืออ่าวช่อ ก็สะดุดล้มตาม ๆ กันคล้ายโดมิโน

           "นี่เป็นครั้งแรกของเสม็ดเลยนะที่เงียบขนาดนี้" เขากล่าวทิ้งท้าย

 
           2. บนพื้นหินลาด สุดด้านทิศใต้ของเกาะ แหลมเตย หาดหินสลับกับแหลมหินเล็ก ๆ ยื่นออกไปในทะเล มองคล้ายแหลมพรหมเทพที่ภูเก็ต แต่มีขนาดเล็กกว่า ฉากหลังเส้นขอบฟ้าไกลสุดลูกหูลูกตา ดวงอาทิตย์ทอแสงสุดท้ายฉาบผืนน้ำสะท้อนสู่ท้องฟ้าทองอร่าม จุดชมวิวที่เงียบสงบที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะจะมีเสียงก็แต่เสียงของธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์ความไพเราะ เพื่อให้ใครบางคนหลงใหลและคล้อยตามกับบรรยากาศยามเย็นเช่นนี้

เกาะเสม็ด

           พวกเรากลับขึ้นตามทางดินแดงบนเขา ผ่านอ่าวปะการังและอ่าวกะรัง โดยมีแหลมกุดคั่นกลาง สู่อ่าวกิ่วหน้านอก-กิ่วหน้าใน อ่าวแห่งเดียวของเกาะที่สามารถมองเห็นได้ทั้งจากฝั่งตะวันออกและตะวันตก ฝั่งตะวันออกเรียกว่าอ่าวกิ่วหน้านอก หาดทรายขาวเนียนละเอียดบรรยากาศริมหาดเงียบสงบ พืชริมน้ำอย่างต้นเทียนทะเลขึ้นร่มรื่นริมหาด ส่วนฝั่งตะวันตกคืออ่าวกิ่วหน้าใน หาดหินสลับผาหินสูงชัน เงียบสงบ ปลอดแดง สี เสียง แต่ความสงบเงียบไม่ใช่เสน่ห์เพียงอย่างเดียวของทั้งสองอ่าว หากแต่อยู่ที่รูปลักษณ์สัณฐานของบริเวณนี้ ผู้มาเยือนมีโอกาสชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล

           ถัดจากอ่าวหวาย ข้ามเนินเขาหรือเดินเลียบหาดมาจะพบอ่าวลุงดำ ซึ่งอยู่ในเวิ้งเดียวกับอ่าวเทียน อ่าวนี้เป็นหาดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมาช้านาน เนื่องจากมีบรรยากาศสงบ ริมหาดมีต้นไม้ร่มรื่น

เกาะเสม็ด

           ลุงดำเจ้าของอ่าวนี้เป็นผู้มีอัธยาศัยดีมาก เปิดบริการที่พักราคาถูกและโรแมนติก ด้วยบังกะโลในรูปแบบกระท่อมเล็ก ๆ ริมทะเล แวดล้อมด้วยไม้ผลใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของบรรดานกแก๊ก มุมมองสวย ๆ จากสะพานไม้ที่ทอดตัวออกไปนอกชายฝั่ง เป็นที่ใฝ่ฝันของบรรดาหนุ่มสาวในยุคย้อนไปราว 30-40 ปีก่อน ทว่าปัจจุบันอ่าวลุงดำและอ่าวเทียนเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทหรู บรรยากาศดี นักท่องเที่ยวต่างชาติมักเลือกมาพักกันที่นี่ ทว่ายังมีที่พักราคาย่อมเยา เน้นความเรียบง่ายและบรรยากาศสบาย ๆ สไตล์ลุงดำให้เลือกหลับฝันดีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงเมื่อมีที่ทางและการดูแล อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราต้องยอมรับและปรับตัว

           ความมืดโรยตัวปกคุลมผืนน้ำและผืนฟ้า แสงไฟดวงเล็ก ๆ ริมอ่าววงเดือน จุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวช่วงกลางของเกาะ ทอดยาวทั่วชายหาดโค้งเสี้ยวพระจันทร์ หน้าร้านค้า ร้านอาหาร ต่างโชว์ของกำนัลจากท้องทะเล หมึก กุ้ง หอย ปู ปลา ถูกจัดวางเชื้อชวนผู้คนให้เข้ามาชิมลิ้มรสในร้านของตน

เกาะเสม็ด

           "ทุกอย่างสะอาดและปลอดภัยค่ะ" พี่เนตรทิพย์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของอ่าววงเดือนเชิญชวน "ลองคิดดู อย่างปลากะพงเขาเลี้ยงในกระชัง กุ้งกับหมึกเอามาจากทางใต้ ส่วนหอย ปู ไปซื้อมาจากมหาชัยเลย พี่กล้ารับประกัน" เธอย้ำเพื่อความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะหลังจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวหลายคนไม่มั่นใจว่าอาหารทะเลจะปลอดภัย

           "พี่เข้าใจนะว่าลูกค้ากังวล ต้องการความเชื่อมั่น แต่อยากให้ลองมาดูให้เห็นกับตา ว่ามันเป็นอย่างไร" แววตาเธอจริงจังและต้องการการพิสูจน์ บรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเดินเลาะหาดทรายจากอ่าวใกล้เคียง บ้างมากินมื้อค่ำกัน บ้างมาดื่มพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างแดน และบ้างก็มานั่งเล่นเอนกายปล่อยราตรีและเสียงคลื่นให้เคล้าอยู่กับเสียงดนตรีบางเบา ก่อนที่จะแยกย้ายกลับไปหลับใหลเพื่อลืมตาเตรียมพบทะเลวันใหม่ที่สดใสเหมือนวันที่ผ่านมา

เกาะเสม็ด

เกาะเสม็ด

           รุ่งเช้าขณะพระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นน้ำ ฟ้ายามเช้าช่างเป็นใจลมทะเลพัดเฉื่อยแผ่วเบา ต้นหูกวางใหญ่แผ่ร่มเงาถึงบริเวณชายหาดที่พวกเราเฝ้ารอแสงวันใหม่ ไม่นานนักแดดยามเช้าช่างเย้ายวนใจฉาบทาทั่วคุ้งอ่าวช่อหรืออ่าวลุงหวังอีกครั้ง

           ท่าเทียบเรือสะพานไม้เสริมคอนกรีตทอดยาวออกไปในผืนทะเลเป็นเหมือนสัญลักษณ์ให้ผู้คนจดจำ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาถึงอ่าวช่อได้โดยไม่ต้องไปขึ้นที่หน้าด่าน สำหรับคนที่จะมาพักอ่าวต่าง ๆ ในส่วนท้ายเกาะสามารถขึ้นฝั่งได้ที่อ่าวนี้

           "ไปอ่าวที่มีสีสันบ้างดีกว่า" ช่างภาพชักชวนหลังเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นเสร็จสิ้น ทางฟากตะวันออกของเกาะเสม็ด อ่าวช่อถือเป็นจุดแบ่งระหว่างความสงบกับความพลุกพล่าน เริ่มตั้งแต่อ่าวนวลขึ้นไปจนถึงหน้าด่าน พวกเราเดินหน้าจากภาพเงียบ ๆ ของอ่าวช่อไปยังทะเลในอ่าวข้างหน้าซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่รอเราอยู่

           ถนนลัดเลาะไปตามสันเขาเข้าสู่โค้งเว้าอ่าวพุทราและอ่าวทับทิมเดิมทีทั้งสองหาดเป็นช่วงชายหาดเดียวกัน ชาวบ้านดั้งเดิมเรียกชื่อว่า หาดนอน สำหรับชื่ออ่าวพุทราและอ่าวทับทิมนั้นเรียกตามชื่อรีสอร์ท 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่คนละฝั่งของหาด หาดทิศเหนือเรียกว่าอ่าวพุทรา และหาดทิศใต้เรียกว่าอ่าวทับทิม

เกาะเสม็ด

           เดินเท้าตามหาดหินมาอีกนิดเข้าอ่าวไผ่ รูปปั้นพระอภัยมณีกับนางเงือกตั้งตระหง่านบนโขดหิน ที่พักริมหาดปลูกสลับซับซ้อนแทรกแซมไปกับร่มไม้ตามไหล่เขา น้ำลงเต็มที่ทำให้ชายหาดผืนเดียวทอดยาวถึงหาดทรายแก้ว บนผืนทะเลสีเขียว บานาน่าโบ๊ทสีสดใสกำลังกระโจนข้ามยอดคลื่นเสียงบิดคันเร่งของสกูตเตอร์แข่งกับเสียงกรี๊ดด้วยความสุขของคณะทัวร์จีน ขณะบนผืนทรายฝรั่งสวมบิกินี่หลากสีนอนอาบแดดจนผิวเธอนั้นเป็นสีแดง ใต้ร่มผ้าใบสีฟ้า แม่ค้าส้มตำหาบเร่โอดครวญให้ฟังระหว่างพวกเรารอมื้อกลางวันริมทะเลฝีมือเธอ

           "มันไม่ได้โดนทั้งเกาะ มันโดนฝั่งเดียว ฝั่งนี้ยังเที่ยวได้" เธอหมายถึงฝั่งตะวันออกของเกาะเสม็ดทั้ง 13อ่าว ไล่ตั้งแต่แหลมเตยขึ้นมาจากถึงหน้าด่าน เส้นทางที่พวกเราสัมผัสและได้เห็นกับตา รวมทั้งสีสันและมุมสงบของฝั่งตะวันออกนี้ ตรงกับคำพูดที่หญิงผู้หายใจอยู่ได้ด้วยอายทะเลแห่งนี้บอกกล่าวไว้

เกาะเสม็ด


           3. โดมิโนชิ้นแรก ๆ ที่สะดุดจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล คงหนีไม่พ้นชาวประมงท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามอ่าวกลางและอ่าวน้อยหน่า ทุกวันนี้ชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมกระจุกตัวเหลืออยู่เพียงที่เดียว คือ ทางตอนเหนือของเกาะ สุดปลายหาดทางเหนือเป็นแหลมน้อย มีศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ชาวประมงและชาวบ้านเกาะเสม็ดเคารพนับถือ ระหว่างทางมีบ้านเรือนชั้นเดียวเบียดชิดเรียงรายอยู่บนเส้นทาง เสียงค้อนกระทบไม้ตามจังหวะ ไม้เต็งถูกโค้งดัดเข้าลิ่มกับกระดูกงู เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างคล้ายเรือขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพาหนะเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านแถบนี้

เกาะเสม็ด

           เรือประมงกว่า 30 ลำบนเกาะ ล้วนมาจากฝีมือของ ชูชีพ รักษาแดน ชายวัยต้นชรา ทว่าร่างกายกำยำทะมัดทะแมงราวกับชายหนุ่ม "ปลามันเหม็นน้ำ มันก็ออกไปไกลเกาะ สู้นั่งต่อเรือดีกว่า"

           ขณะที่ระบบนิเวศอันเปราะบางยังต้องเฝ้ารอการวิเคราะห์และติดตามผลตามหลักทางวิชาการ สิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้คือการเร่งแผนฟื้นฟูผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การอัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงขอความร่วมมือจิตอาสาร่วมกิจกรรมทำความสะอาด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้น ก็คือ ทำอย่างไรที่จะเรียกความเชื่อมั่นในใจคนให้กลับมาอีกครั้งเหมือนอย่างที่เคยเป็น

เกาะเสม็ด

           "ช่วงนี้มันหน้าโลว์ซีซั่น รอดูหน้าไฮซีซั่นอีกที" ความหวังเล็ก ๆ ของชาวบ้านคนหนึ่ง จากน้ำเสียงและสายตาทำให้ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ถ้อยคำและความหมายของทะเลของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ทะเลสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของคนเราได้หลายอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหงา เศร้า ซึม สดชื่น หรือสนุกสนาน สำหรับผมยามล้าหรือเหนื่อยกับชีวิตในเมืองมาก ๆ จะคิดถึงทะเลอยู่เป็นระยะ ๆ บางครั้งนึกไปถึงรอยยิ้มเริงร่าของเด็ก ๆ ที่มีหาดทรายกว้างสุดตาเป็นสนามเด็กเล่น ทรายนุ่มเท้าเป็นที่เตะบอลของหนุ่ม ๆ เสียงเพลงเร็กเก้สนุก ๆ ที่ลอยลมมา ในอีกมุมหนึ่งทะเลอาจกำลังปลอบโยนคนทุกข์ใจอยู่ด้วยกัน ในความหลากหลายของผู้มาเยือน 

           ดูเหมือนว่าทะเลจะทำหน้าที่ที่เป็นมากกว่าธรรมชาติแสนสวย แล้วคุณล่ะ...ไม่ลองย้อนกลับไปหาถ้อยคำและความหมายของคำว่า "ทะเล" อีกสักครั้งหรือ ?

เกาะเสม็ด

เกาะเสม็ด


           หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้จัดทำขึ้นเมื่อวัน 27 สิงหาคม 2556 หนึ่งเดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

ขอขอบคุณ

           คุณอ๊อฟ คุณนุช ร้านเสื้อผ้านุชท่าเรือหน้าด่าน
           ป้าเบียน พึ่งกุศล วันเดอร์แลนด์รีสอร์ท
           คุณไก่ คุณโต๊ด มอเตอร์ไซค์เช่าอ่าวไผ่
           ธีดาสมุทร สัตยาพันธุ์ ทายาทรุ่น 2 อ่าวไผ่
           พ่อชาญ อาศรมสาธนา ศิลปินในตำนาน ผู้มีธรรมชาติเป็นวิญญาณและชีวิต สำหรับการอำนวยวามสะดวกในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้อย่างดียิ่ง

คู่มือนักเดินทาง

           การเดินทางไปท่องเที่ยวเกาะเสม็ดในปัจจุบันนับว่าสะดวกมาก ด้วยระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร คุณสามารถสัมผัสความสวยงามของชายหาดชาวเนียน น้ำทะเลสีฟ้าใสได้อย่างสบาย นอกจากนี้ เกาะเสม็ดยังพรั่งพร้อมด้วยที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมทางทะเลหลายรูปแบบ
 
การเดินทาง

           กรุงเทพฯ-บ้านเพ ขึ้นรถประจำทางที่สถานีขนส่งเอกมัยหรือหมอชิต ลงไปท่าเรือบ้านเพ จังหวัดระยอง รถปรับอากาศชั้น 1 ราคาประมาณ 125 บาท ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง

           การเดินทางไปเกาะเสม็ดไม่สามารถนำรถยนต์ข้ามไปได้ ต้องจอดรถฝากไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลตำบล ค่าจอดรถวันละ 60 บาท แล้วจึงนั่งเรือไปอีกต่อหนึ่ง

           ท่าเรือบ้านเพ-เกาะเสม็ด มีบริษัทเดินเรือเอกชนเปิดให้บริการอยู่ 3 เจ้า คือ ท่าเรือศรีเพ เป็นท่าที่เปิดมานานสุด, ท่าเรือนวลทิพย์ 1 และท่าเรือนวลทิพย์ 2 โดยแต่ละแห่งอยู่ห่างกันไม่มากนัก ค่าบริการตั้งแต่ 50-70 บาท ใช้เวลาเดินทางจากฝั่งถึงเกาะ 30-45 นาที

           เดินทางบนเกาะ มีรถโดยสาร (สองแถว) รอรับนักท่องเที่ยวที่หน้าด่านตลอดวัน ราคาตั้งแต่ 20-200 บาท ซึ่งรถสองแถวโดยสารนี้ต้องรอให้ผู้โดยสารเต็มคันรถก่อนจึงจะออก บางครั้งต้องนั่งรอเรือที่จะเข้ารอบต่อไป ถ้าไม่อยากรอสามารถเหมารถได้ในราคา 200-800 บาท หรือเลือกเช่าจักรยานปั่นไปเที่ยว ค่าเช่าวันละ 150-200 บาท มอเตอร์ไซค์ ค่าเช่าวันละ 300-400 บาท

           ถนนบนเกาะเสม็ดเป็นลูกรังค่อนข้างขรุขระและแคบมาก ขณะนั่งรถควรระมัดระวังตัวและสัมภาระจะกระแทกกับตัวรถได้ หรือถ้าเช่ามอเตอร์ไซค์ ผู้ให้เช่าส่วนใหญ่ใช้รถแบบครอบครัวทั่วไปมาดัดแปลงเป็นกึ่งวิบาก ต้องใช้ความชำนาญในการขับขี่พอสมควร หากเป็นอ่าวที่อยู่ไม่ห่างไกลกัน การเดินเท้าเป็นวิธีที่สะดวกกว่า

เที่ยวเสม็ด ณ ตอนนี้ไปอ่าวไหนดี

เกาะเสม็ด

           ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเสม็ดมีชายหาดอยู่มากกว่า 10 หาด เรียงตัวอยู่ตามอ่าวต่าง ๆ แต่ละอ่าวมีขนาดและลักษณะแตกต่างกันออกไป นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกเที่ยวหาดใดที่เข้ากับรสนิยมของตนมากที่สุด

           ถ้าต้องการบรรยากาศคึกคัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เลือกครบครัน ตกค่ำมีแสง สีเสียง อาหาร เครื่องดื่ม บรรยากาศตื่นตาตื่นใจ ควรเลือกหาดทรายแก้วหรืออ่าววงเดือน

           ถ้ารักบรรยากาศเงียบสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน มีความเป็นส่วนตัวสูง ควรเลือกอ่าวน้อยหน่า อ่าวกลาง อ่าวป่าช้า อ่าวลูกโยน อ่าวนวล อ่าวเทียน อ่าวลุงดำ อ่าวหวาย

           หรือถ้ารักการท่องเที่ยวแบบสองบรรยากาศ มีความคึกคักและสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่บ้าง แต่ก็พอหามุมสงบเป็นส่วนตัวได้ไม่ยากนัก ควรเลือกอ่าวไผ่ อ่าวพุทรา อ่าวทับทิม อ่าวช่อ

           ส่วนใครที่ต้องการชมบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม สามารถชมได้ที่อ่าวกิ่วหน้านอก-หน้าใน อ่าวปะการัง อ่าวกะรัง หรือแหลมเตย

ที่พักเกาะเสม็ด

           มีให้เลือกมากมายตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักหมื่น ดูรายละเอียดไดที่เว็บไซต์ kohsamed.org สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานระยอง โทรศัพท์ 0 3865 5420-3 Call Center 1672






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 54 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2556



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกาะเสม็ด เรียนรู้จากอดีต อยู่กับปัจจุบัน และหวังเพื่ออนาคต อัปเดตล่าสุด 1 มิถุนายน 2565 เวลา 14:05:18 5,738 อ่าน
TOP