อย่าพลาดชม ฝนดาวตก เตือนดูในป่า ระวังไรกัด





สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด

          เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ แม้จะไม่ใช่รอบปีของการเกิดพายุ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่เราจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกในอัตราความชุกมากกว่าปีก่อน ๆ โดยอัตราการตกราว 100-500 ดวงต่อชั่วโมง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นฝนดาวตกตลอดทั้งชั่วโมง และจำนวนฝนดาวตกที่เห็นก็ไม่ได้เห็นมากถึง 500 ดวง ตัวอย่างเช่น อัตราการตกที่ 400 ดวงต่อชั่วโมง เราเห็นแค่ช่วงเวลา 15 นาที นั่นคือในช่วงชั่วโมงนั้น เราจะเห็นดาวตกประมาณ 100 ดวง ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว

          สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกสูงสุดในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืน  ให้หันหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นดาวตกลูกแรกคล้ายพุ่งขึ้นมาจากดิน  และหลังเวลา 03.00 น. ในการชมเราสามารถนอนหงายจะเห็นฝนดาวตกมาจากทุกทิศทางมาจากกลุ่มดาวสิงโต  ถ้าลูกใหญ่จะสวยมีควันที่เรียกว่า ไฟร์บอลล์ และจะเห็นเป็นรอยดาวตกทิ้งไว้เป็นทางด้วย

           ด้าน นพ.ไพ จิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูหนาว คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ เดินป่าหรือตั้งเต็นท์พักแรมในป่าเขา สัมผัสอากาศหนาว อีกทั้งในวันที่ 17-18 พ.ย. จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และวันที่ 13 ธ.ค. จะมีฝนดาวตกเจมินิดส์ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปพักแรมในป่าเขา เพื่อชมปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าว หากเข้าไปในเขตพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยของไรอ่อน และบังเอิญถูกไรอ่อนหรือไรแดง (Chigger) ที่มีเชื้อก่อโรคสครับ ไทฟัส กัด จะทำให้ป่วยเป็นโรคสครับ ไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ได้

         นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ต.ค. 52 มีผู้ป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 4,197 ราย เสียชีวิต 6 รายโดยภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด พบ 20 คนในประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ภาคใต้ 7 คนในประชากรแสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คนในประชากรแสนคน และภาคกลาง 2 คนในประชากรแสนคน

          นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขอแนะนำนักท่องเที่ยวเดินป่า หากจะกางเต๊นท์พักแรม ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนกับพื้นดินติดบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือที่หญ้าขึ้นรก เนื่องจากเป็นที่อาศัยของตัวไรอ่อน ในการป้องกันตัวไม่ให้ไรอ่อนกัด ขอให้แต่งตัวให้รัดกุมมิดชิด ใส่กางเกงขายาวเสื้อแขนยาวปิดคอ เหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่รองเท้าและสวมถุงเท้ายาวหุ้มปลายขากางเกงไว้ และทายากันแมลงตามแขนขาส่วนที่พ้นจากเสื้อผ้า เมื่อกลับจากการท่องเที่ยวพักแรมในป่า ขอให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และซักเสื้อผ้าที่ใช้มาแล้วให้สะอาด เพื่อกำจัดตัวไรที่อาจติดมากับเสื้อผ้า

         สำหรับโรคสครับไทฟัส เป็นโรคติดต่อในสัตว์ฟันแทะที่อยู่ในป่า เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia) ซึ่งอยู่ในตัวไรอ่อน ที่อาศัยอยู่ตามตัวของสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระจ้อน เมื่อตัวไรอ่อนดังกล่าวไปกัดคน มักจะเข้าไปกัดในบริเวณร่มผ้า และปล่อยเชื้อริกเกตเซียเข้าสู่คน หลังถูกกัดประมาณ 10 -12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีอาการปวดน่อง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีตับโต ม้ามโต โดยผู้ที่ถูกไรอ่อนกัดประมาณร้อยละ 30 - 40 จะมีแผลบุ๋มสีดำ ลักษณะคล้ายโดนบุหรี่จี้ แต่ไม่เจ็บ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ หลังมีไข้ประมาณ 4-5 วันบางรายจะมีผื่นนูนแดงตามตัว กระจายไปแขนขา ซึ่งจะหายไปใน 2-3 วัน บางรายอาจมีอาการทางปอด ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการสมอง คอแข็ง เสียชีวิตได้ ดังนั้น หาก มีอาการเหล่านี้หลังกลับออกจากเที่ยวป่า ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาโรคนี้หายขาด

          ด้าน นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแนะนำเบื้องต้นว่า ควรจะหาพื้นที่ท้องฟ้าโปร่งไม่มีเมฆบัง รวมทั้งห่างไกลจากบริเวณที่มีแสงสว่างมาก ๆ เพื่อจะทำให้การดูฝนดาวตกมีความชัดเจนมาก อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าในระยะ 2-3 วันนี้จะมีเมฆบางส่วนในบางพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการดูปรากฎการณ์ดาวลีโอนิดส์บ้าง แต่ก็เชื่อในหลายพื้นที่จะสามารถมองเห็นฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน สำหรับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ก็อาจจะมีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกได้ยากหน่อย เพราะนอกจากอาจจะมีเมฆมาบัง แล้วแสงนีออนจากไฟฟ้าในเมืองก็เป็นอุปสรรคสำคัญด้วย ทางที่ดีหากต้องการดูปรากฎการณ์นี้จริง ๆ คงจะต้องออกมาหาพื้นที่ไกลออกไปสักหน่อยเพื่อจะได้เห็นได้ชัดเจน
 
          ทั้งนี้ ฝนดาวตก เกิดจากดาวหางซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งที่ประกอบด้วยฝุ่นหินเกาะกลุ่มกันจำนวนมาก เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ก้อนน้ำแข็งจะเกิดการระเหิด ทิ้งแนวฝุ่นหินเป็นสายธารยาว เมื่อโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารดังกล่าวนี้ เศษฝุ่นหินจะเคลื่อนตัววิ่งเข้ามาในบรรยากาศของโลกด้วยความ เร็วสูง และเกิดการเสียดสีจนลุกไหม้ปรากฏเป็นขีดแสงสว่างให้เราเห็น ที่เราเรียกว่า "ฝนดาวตก" นั่นเอง สำหรับชื่อของฝนดาวตกลีโอนิดส์ มาจากการอ้างอิงกับแหล่งการเกิด คือกลุ่มดาวสิงโตนั่นเอง คือแม้เราจะเห็นฝนดาวตกในทิศทางต่างๆ กัน แต่เมื่อเราลองลากเส้นย้อนกลับไปยังแหล่งการเกิดแล้ว ฝนดาวตกทุกดวงจะมาจากกลุ่มดาวสิงโต
   

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย่าพลาดชม ฝนดาวตก เตือนดูในป่า ระวังไรกัด อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:08:33
TOP
x close