แพร่ จักรยาน บ้านไม้ และทิศทางที่หัวใจคงทน (อสท)
เรื่อง : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพ : ธีระพงษ์ พลรักษ์
สำหรับใครสักคน ความหมายของคำว่าบ้านนั้นก้าวข้ามนิยามของสิ่งห่อหุ้มคลุมแดดบังฝน มันกว้างไกลไพศาล แม้ในความเป็นจริงพื้นที่ตรงนั้นจะหดแคบบีบอัดเพียงแมวดิ้นตาย โลกในเล็กของเมืองแห่งหนึ่งผสานรวมกันอยู่ด้วยเนื้อไม้และสิ่งที่เรียกว่าหัวใจ เดินทางผ่านวันเวลา ประวัติศาสตร์ และใบหน้าของการเปลี่ยนแปลง นี่คือ แพร่ เมืองสงบเงียบที่รายล้อมอยู่ด้วยขุนเขาและเรื่องราวของการทำไม้ ห้วงความทรงจำของคนรุ่นปู่ย่าชัดเจนอยู่ท่ามกลางเรื่องเล่าของคืนวัน ฝังแน่นอยู่ในเสาไม้ใหญ่โต หรือลายฉลุละเอียดลออตามส่วนประดับ
ถนนสี่ห้าเส้นขีดตัดและแบ่งซอยพื้นที่รูปคล้ายหอยสังข์ ให้กลายเป็นย่านบ้านเรือนและการเติบโต พระพุทธศาสนาหล่อหลอมขัดเกลาให้คนที่นี่มีหัวใจอันงดงาม อดีตที่ตกลับเลือนหายบางแง่มุมยังแฝงฝังอยู่ตามบ้านเรือนและหัวใจวิ่งเต้น
"เมืองในเมฆ" ค่อย ๆ ฉายชัดความหมายอันเก่าแก่คงทน เมืองที่ "เมฆ" หรือกำแพงเมืองโอบล้อมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาไว้ราวกับกำลังยื้อแย่งความทรงจำมาจากการเปลี่ยนแปลง เมื่อใครสักคนพยายามพาตัวเองมาหมุนวนอยู่กับมัน คำตอบของคืนวันก็ยิ่งเต็มชัด
เราถูกล้อมรอบด้วยกำแพงบางอย่าง การวนวิ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้รู้จักคำว่า "ทิศทาง" ตลอดสี่ห้าวันที่มาอยู่แพร่ จักรยานซิตี้ไบค์ 3 คัน ค่อย ๆ ลดทอนบรรยากาศแปลกหน้าเมื่อเราผ่านพ้นการปั่นเวียนทำความรู้จักเมืองแพร่ อากาศสดสะอาดยามสายผลักดันให้ชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่เช้า ผู้คนคึกคักจับจ่าย บนถนนเจริญเมือง ย่านบ้านทุ่งฉายชัดไปด้วยภาพเรียบง่ายตามแบบฉบับย่านการค้าโบราณ ตั้งแต่ต้นถนนเจริญเมืองที่แยกออกมาจากถนนยันตรกิจโกศล ความคึกคักของบ้านทุ่งไหลเลื่อนไปพร้อมกับภาพผสมผสานเก่าใหม่ ร้านขายเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬาภายใต้รูปทรงของห้องแถวไม้สีน้ำตาลสลับเหลืองสด ยังคงงดงามเมื่อเราแอบจักรยานไว้ที่ข้างฝา มันไม่เปลี่ยนไปจากสิบปีก่อนที่ผมมาถึงที่นี่
"แต่ก่อนตรงนี้มันก็เหมือนชื่อนั่นละ มีแต่ทุ่ง มีแต่นา ย่านการค้าอยู่ในเวียง แถบประตูชัยโน่น" ผมนึกภาพตาม ยายสมศรี วงศ์พระถาง ไม่ค่อยออก ที่เห็นคือความเติบโต ชุดตึกแถวโบราณผสมห้องแถวไม้ ร้านทองและเครื่องเงินเก่าแก่ รวมไปถึงผู้คนที่ปะปนรอยยิ้มยามเราสัมผัสสัมพันธ์
เราอยู่กันที่บ้านวงศ์พระถาง หลังแอบจักรยานแนบไว้กับฉางข้าวไม้สักสีสวย โลกของไม้ในอดีตก็ตกทอดเป็นความงามตรงหน้า ลวดลายขนมปังขิงฉลุละเอียดอ่อนอย่างที่มันเคยเป็นมาครั้งสร้างเรือนไม้หลังคาทรงมนิลาหลังนี้ขึ้นราวปี
พ.ศ. 2465 โดยเจ้าน้อยเสาร์ วงศ์พระถาง มันแอบอยู่ในซอยเล็ก ๆ บนถนนเจริญเมือง ซุกซ่อนวันเวลาและความงดงามไว้อย่างคงทนในเรือนไม้สีฟ้าอ่อน ตัดขอบด้วยสีน้ำตาลคลาสสิก
"ยายเองมาจากเมืองน่านโน่นละ แต่ก่อนเมืองแพร่เจริญมาก ทำไม้กันเป็นล่ำเป็นสัน พ่อค้าจากต่างถิ่นมาหากินกันเยอะ" ทุกวันนี้ยายสมศรี ซึ่งเป็นสะใภ้บ้านวงศ์พระถางยังอยู่บ้านคนเดียว เล่าถึงเจ้าน้อยอินสรวง วงศ์พระถาง ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สอง ดวงตาของหญิงชราเป็นประกายท่ามกลางน้ำเสียงเรียบ ๆ
การค้าไม้ของคหบดีเมืองแพร่และบริษัทที่มีสัมปทานทำไม้อย่างอีสต์เอเชียติกและบอมเบย์เบอร์มา ส่งผลให้เมืองแพร่เติบโตและตกสะท้อนเป็นความฟู่ฟ่าในเรื่องของสถาปัตยกรรม ไม่เพียงความงดงามและประวัติศาสตร์ หากยังต่อยอดให้ชีวิตคนแพร่แทบทุกระดับได้ผ่านการเติบโตงอกงาม
ขึ้นไปข้างบนบ้าน ห้องหับใหญ่โต เฟอร์นิเจอร์โบราณ รวมไปถึงรูปถ่ายที่ตกทอดวันเวลาของบ้านหลังหนึ่ง ยายชี้ให้ดูลายฉลุที่จั่ว เล่าว่ามันมาจากลายปักหมอนซึ่งผู้หญิงของบ้านนี้เคยปักหมอนส่งไปขายไกลถึงอุตรดิตถ์ หลายอย่างผ่านพ้นไปและวิ่งเต้นเรื่องราวอยู่งันเงียบในทุกส่วนประดับของบ้าน
ลัดเลาะออกจากอดีตในตรอกซอย เรายังไปได้ไม่ไกลนัก ปั่นเลียบไปถึงห้องแถวที่มีแนวอาเขตสวยหลังเดียวในเองแพร่ โค้งอาร์กตามบานหน้าต่างและเหนือขอบประตูดึงให้แวะดูร้านเอ. เอส. ฮารีซิงห์ ห้องแถวสไตล์โคโลเนียลที่หน้าร้านคือเรื่องราวผสมผสานผ่านการเป็นอยู่ คุณป้าเชื้อสายชาวอินเดียและข้าวของเครื่องใช้บูชาตามคติซิกข์ที่วางขาย ยิ่งเสริมเติมให้อาคารหลังนี้ดูงดงาม หัวเสาแบบโรมันและลายประดับแบบจีนทำให้หลายคนว่ากันว่า ห้องแถวงดงามหลังนี้เป็นอาคารชิโน-โปรตุกีสหลังเดียวในแพร่ และไม่ค่อยมีนักในภาคเหนือ
"แต่ก่อนที่นี่เป็นโรงแรมมิตรสำราญ เยื้อง ๆ กันนี่โรงหนังยอดฟ้า" คุณป้าเล่าผ่านครั้งก่อนที่เอ. เอส. ฮารีซิงห์จะตกทอดมาสู่รุ่นพ่อของเธอ ว่าแต่เดิมแถบนี้คือที่รวมผู้คนอันแสนคึกคัก ขยายต่อออกมาจากย่านเมืองด้านใน ถนนสายการค้าพาเราไปตรงสี่แยก หักซ้ายเลาะไปตามถนนร่องข้อบ้านไม้เรืองรายสะท้อนบุคลิกของเมือง ความคึกคักจางคลาย จังหวะการปั่นชะลอลงและโลกริมทางก็ยิ่งรื่นรมย์
บ้านพักรับรองของหลวงศรีนครานุกูล หยัดยืนขรึมขลังในรั้วไม้คร่ำคร่าสีครีมไข่ไก่ และกรอบหน้าต่างประตูสีน้ำตาลชวนมอง เรือนไม้สองชั้นทรงยุโรปผ่านพ้นตัวเองมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ว่ากันว่าที่นี่คือสภาพสะท้อนของการเชื่อมต่อจากระบบเจ้านายเมืองแพร่ สู่การขับเคลื่อนของคหบดีพ่อค้าพาณิชย์เชื้อสายจีน จากลวดลายฉลุไม้แบบขนมปังขิงในบ้านไม้ทรงยุโรป สู่การใช้การตกแต่งแบบเรขาคณิตที่นิยมกันในยุคต่อมา ลวดลายละเอียดอ่อนไม่เพียงฉายชัดอยู่ตรงหน้าจั่ว แต่ที่รั้วไม้สีน้ำตาลทึมยังฉลุลายเพื่อลดความกระด้างของรูปทรง แตกต่างจากรั้วของบ้านทั่วไปที่มักตัดเฉียงหรือทำเพียงหัวเสากลมน
ถนนเล็ก ๆ ราวตรอกซอยล้วนมากมายเรื่องราว ผู้คนเป็นมิตรเปี่ยมรอยยิ้มในนาทีที่เราพบหน้าและปั่นจักรยานเที่ยวอยู่ในเมืองแพร่มาได้หลายวัน เสียงทักทายเรียกให้แวะคุยมีค่าไม่แตกต่างจากคุณค่าของอาคารบ้านเรือนที่ตกทอดผ่านวันเวลา เลาะเข้าเลียบแนวกำแพงเมืองหรือที่คนแพร่เรียกมันว่า "เมฆ" เป็นบางช่วง ความสงบชัดเจนอยู่ตามโบราณสถานที่เคียงคู่กับการใช้ชีวิต จากร่องซ้อเราปั่นตัดเข้าสู่ถนนรอบเมือง เวียนไปมองความงามวิจิตรของบ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ อารมณ์ความรู้สึกคล้ายเด็กกะโปโลในอดีตปั่นจักรยานไปเมียงมองบ้านเศรษฐีแสนลึกลับ
ซุ้มประตูโค้งหน้าบ้านปิดกั้นความโอ่อ่าของเรือนขนมปังขิงแสนละเอียดอ่อนไว้ไม่มิด ความสมบูรณ์ของเรือนไม้สักทองสองชั้นฟู่ฟ่าด้วยลายฉลุที่หน้าจั่วและเชิงชายรอบบ้าน สะท้อนความฟูเฟื่องของยุคสัมปทานทำไม้ในอดีตของสังคมเจ้านายเมืองแพร่ เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยหนู) ได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญแต่งงานให้ธิดา คือ เจ้าสุธรรมาและเจ้าหนานตี (เจ้าหนานไชยวงศ์) ซึ่งมันงดงามและคงทนมาโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงบูรณะ ว่ากันว่าเรือนไม้หลังนี้พิเศษตรงที่มีห้องน้ำอยู่ด้านบนมาแต่โบราณ
หันหลังให้เรือนไม้สักอิ่มแสงสาย เราปั่นเลาะวนไปมาราวเล่นเกมแพ็กแมนในเขาวงกต เขต "ในเวียง" ของเมืองแพร่พาสองล้อเลาะไปตามเสน่ห์ของคุ้มไม้ ผ่านถนนคุ้มเดิม คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เกาะกุมประวัติศาสตร์หน้าสำคัญครั้งเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมื่อราว พ.ศ. 2445 ไว้ในความงดงามอาคารก่ออิฐถือปูนโอ่อ่าสีเขียวอมฟ้า ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้ายสง่างามในแดดสาย ใครสักคนเดินมองประตูหน้าต่างทั้ง 72 บาน แล้วยิ่งทึ่งในความละเอียดลออ
ปีกทั้งซ้ายและขวาเคยเป็นที่คุมขังทาสบริวารที่มีทั้งความผิดร้ายแรงและลหุโทษ และเมื่อเจ้าน้อยพิริยะเทพวงศ์ได้ออกจากเมืองแพร่ไปประทับที่เมืองหลวงพระบางหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว คุ้มหลังนี้ได้กลายเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่อยมา
ผ่านมานับร้อยปี อดีตหรือสิ่งที่เรียกว่าบาดแผลคล้ายจะตกลับไป เหลือเพียงร่องรอยความรุ่งเรืองของเมืองและสิ่งที่เรียกว่าความทรงจำ หลังปั่นเลาะเวียนผ่านย่านประตูชัย กาดเช้าเบาบางเหลือเพียงผู้คนที่มาหากินโจ๊กและข้าวต้มปลาเจ้าอร่อยที่ฝั่งตรงข้าม เราขึ้นมานั่งเล่นที่ส่วนหนึ่งของเมฆ หางนกยูงติดดอกแดงขับสีสดในเปลวแดดเต้นเร่า ใครสักคนนึกสนุกปั่นจักรยานเลาะไปตามแนวคันกำแพง โลกเบื้องล่างเคลื่อนไหวขนานแนวคูเมือง ห้วงยามเช่นนี้สำหรับคนรักแง่มุมโรแมนติกถือได้ว่าเป็นเวลาแสนมีค่า
บ้านขัติยะวราเด่นสง่าอยู่อีกไม่ไกล หลังเราปั่นผ่านเรือนจำ ถนนช่วงนี้เงียบสงบแทบทั้งวัน จอดจักรยานแนบรั้ว เพ่งมองลายฉลุขนมปังขิงของบ้านสีครีม น้ำตาล และเหลือง ขับเน้นบางจุดด้วยสีขาว ทรัพย์สินของเจ้าน้อยโข้และเจ้าอ่อน ขัติยะวรา ตระกูลหนึ่งในเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่สงบงามอยู่อย่างเป็นส่วนตัว ส่งมอบความร่มเย็นสู่ลูกหลาน และร้อยโยงคุณค่าของอดีตให้กับคนแพร่และใครสักคนที่มีโอกาสมายืนมอง
ลวดลายแสนละเอียดอ่อนตามหน้าจั่วและเหนือขอบหน้าต่างหลายแดดร้อนที่เรายืนท้า เพื่อนหยิบเทเลโฟโตขึ้นมาเพราะต้องการเห็นมันชัด ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นบ้านไม้เช่นนี้ในเมืองทำไม้อย่างแพร่ แต่ที่น่าอิ่มใจ คือ ท่ามกลางพื้นที่เล็ก ๆ เรากลับมีโลกของเรือนไม้ให้ซึมซับมากมาย เพียงปั่นจักรยานเที่ยวชมไม่ถึงครึ่งวัน
เวียนเป็นวงกลมเล็ก ๆ เมื่อลัดซ้ายผ่านถนนไชยบูรณ์ ผ่านวัดคู่บ้านคู่เมืองอย่างวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เราเลาะเข้าถนนคำลือ ราวกับนาทีตรงนั้นหยุดนิ่ง บ้านเรือนในวันธรรมดาแสนเงียบเชียบ ไล่เรียงตั้งแต่ห้องแถวไม้ที่มีบานเฟี้ยมเหยียดยาว หรือบ้านไม้แสนเรียบง่าย ทว่าคงทนและเก่าแก่ในเนื้อไม้และชีวิตด้านใน
เขตเมืองชั้นในอย่างย่านถนนคำลือเหมาะยิ่งสำหรับจักรยาน บ้านวงศ์บุรี หรือที่คนแพร่เรียกกันว่า "บ้านเจ้าแม่บัวถา" อันหมายถึงแม่เจ้าบัวถามหายศปัญญา อดีตชายาองค์แรกของเจ้าน้อยพิริยะเทพวงศ์ คงทนความสวยหวาน โอ่อ่าอยู่ด้านหลังรั้วสูงใหญ่ รอบด้านร่มรื่น ไม่เคยห่างหายผู้มาเยือน โลกแบบ "ชั้นสูง" และการใช้ชีวิตอย่างเจ้านายล้านนาถูกเปิดให้คนนอกได้รู้เห็นในยุคของเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ผู้สืบเชื้อสายจากอดีตเจ้าเมืองแพร่
อาคารก่ออิฐถือปูนสีชมพูอ่อนซึ่งสร้างโดยช่างจีนจากมณฑลกวางตุ้ง มีลวดลายฉลุไม้ประดับตัวบ้านอยู่บนหน้าจั่ว ช่องลม เชิงชาย ประตู หน้าต่าง เป็นต้นแบบของบ้านวงศ์พระถางและบ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ทั้งเครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารสำคัญอย่างเอกสารการซื้อขายทาส ทั้งหมดพาเราเพลินอยู่กับโลกอดีตอันแสนแปลกตาด้านใน
"ผมว่าย่านคำลือและเมืองแพร่เหมาะกับจักยาน" ในห้องแถวไม้เล็ก ๆ เยื้อง ๆ กับบ้านวงศ์บุรี กฤช วงศ์วรพันธ์ บอกกับผม หลังจากเราแอบจักรยานเพื่อดูงานดีไซน์และของที่ระลึกหลากหลายในร้าน Hhom ของเขา น่าทึ่งที่กราฟิกดีไซน์จากเมืองหลวงเลือกกลับบ้าน และปรับเปลี่ยนผสมผสานความเก่าใหม่เข้าด้วยกันบนถนนสายเงียบ ไม่เพียงเท่านั้นโครงการ "ปั่นเปลี่ยนเป้" ที่ชวนคนทุกรุ่นวัยออกมาปั่นจักรยาน เขาและเพื่อน ๆ ก็ดูจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดัน
"อย่างน้อยทำให้คนแพร่ได้ออกมาพบกันครับ คิดทำอะไรได้เป็นกลุ่มก้อน ช่วยกันปลูกฝัง ดูแล" คุยกันในบ่ายร้อนระอุ หลังแดดเบาจาง เราได้มิตรใหม่พาลัดเลาะไปทั่วเวียงเก่าเมืองแพร่ เชื่อมโยงออกจากถนนคำลือไปสู่การเลาะแนวเมฆความรื่นรมย์ฉาบคลุมหลังอานและรอยล้อ
พิพิธภัณฑ์ไม้สัก หรือ "โรงเรียนป่าไม้" ในคำคุ้นเรียกของคนแพร่แผ่อาณาเขตร่มรื่นครึ้มไม้เมื่อเราเข้ามาเยือน อาคารไม้สักยกพื้น รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 หลัง ฉายภาพอันแสนคึกคักในอดีต เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคสัมปทานไม้จากบริษัทอีสาต์เอเชียติก สู่การเป็นบ้านหลังแรกของนักเรียนป่าไม้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 พวกเขาเรียนเรื่องการจัดการบริหารทรัพยากรป่าไม้ เติบโตไปในทิศทางของการอนุรักษ์ หลังเมืองแพร่และรอบด้านสูญเสียทรัพยากรไปในยุคสัมปทานป่าไม้ก่อนหน้า
ภายในคือโลกแห่งความร่มรื่น กฤชพาเราเลาะเข้าไปในสวนป่า เรือนไม้บางหลังทับซ้อนแนวกำแพงเมือง เนินสูงเชื้อเชิญให้เราจอดจักรยาน และป่ายปีนขึ้นไปสัมผัสเนื้ออิฐแกร่งทนในระยะใกล้ มันราวกับแง่มุมของเมืองโบราณ ขรึมขลัง เปี่ยมบรรยากาศ
เลาะออกจากเมืองเพื่อไปเรียนรู้โลกแห่งไม้อีกหลายใบที่ซุกซ่อนอยู่ตามหมู่บ้านรายรอบเวียงแพร่ ถนนสายย่อยซอกซอนผ่านท้องนาเขียวชื่น หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เติบโตด้วยการทำไม้มาแต่โบราณ ลำน้ำยมเย็นตายามปั่นเลาะไปแนบใกล้ เรามาถึงบ้านเวียงทองในเขตอำเภอสูงเม่น ชีวิตธรรมดาเรียบง่ายดูจะชัดเจนอยู่ในบ้านไม้สักเก่าแก่ บางหลังน่าทึ่งในขนาดใหญ่โตของเสาและงานประดับตกแต่ง แม้ไม่วิจิตรอลังการเหมือนคุ้มเจ้านายในเมือง แต่ก็มากด้วยทิศทางและการสั่งสมตกทอด
"แต่ก่อนท่าน้ำมีแต่ซุงไหลมาพัก ยุคสัมปทานป่าน่ะ ชาวบ้านแถบนี้ก็ย่อยไม้กันไป" คืนวันเก่าก่อนสมัยที่ ชัย อรินทร์คำ ยังเด็ก เขาว่าเห็นคนรุ่นปู่ย่าหาเลี้ยงพวกเขาด้วยการรับจ้างทำไม้ต่อจากบริษัทหรือเจ้านายในเวียงที่รับสัมปทาน
"ผู้ชายบ้านนี้ทำไม้กันหมดละ เป็นกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ" เขาว่าถึงทักษะของคนทำไม้ ที่ต้องเข้าใจการแปรรูปไม้ดูวงปี หรือแม้แต่วันที่ทุกอย่างสับเปลี่ยนสู่การรับบ้านไม้เก่ามารื้อขาย วิชาช่างในอดีตก็ยังไม่มีใครอยากทิ้งร้างถอยหนี
หมู่บ้านเงียบสงบตามแบบฉบับของบ้านทุ่งแดนไกล ด้านนอกแถบติดถนนใหญ่คือจุดที่คนมาเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้หรือไม้เก่าแปรรูป มากไปด้วยบรรยากาศ แต่เมื่อเข้ามาสู่ในหมู่บ้าน ที่นี่คือโลกใบเล็กที่ขับเคลื่อนคนแพร่มาอย่างยาวนาน
"ผู้หญิงก็ทำงานเล็กงานน้อย" ป้าจินดา แก้วสะอาด จมอยู่กับงานฉลุลายเชิงชายที่เรียงรายรอการขัดผิว ลงยา กลิ่นไม้สักและความแกร่งทนของการงานคละคลุ้งในบ้านไม้แข็งแรง ป้าว่าผู้ชายมักอยู่กับงานย่อยไม้ ขนย้าย แปรรูปจากซุงให้เป็นไม้หน้าต่าง ๆ แต่กับงานละเอียดเล็ก ๆ น้อย ผู้หญิงดูจะเหมาะกว่า
"ไม่นับไปไร่ไปนานะ ผู้หญิงบ้านนี้ก็ทำโน่นทำนี่กับไม้นั่นละ ขัดลาย ตากแดด เก็บงาน" ดูเหมือนเมื่อพูดถึงไม้ คนที่นี่ไม่เคยมองว่ามันเป็นเรื่องที่ควรห่างหายถอยหนี
ภายในบ้านเวียงทอง แทบทุกหมู่บ้านล้วนคือที่ทางของคนทำไม้ จักรยานพาเราแวะเวียนไปตามคุ้มบ้าน หมู่ที่ 9 ทำวงกบ กรอบหน้าต่างขณะที่แถบริมน้ำยม อดีตของชายชรามักมาผ่อนคลายอยู่ที่ศาลาริมน้ำสะพานไม้สักโยงสลิงเชื่อมฝั่งอำเภอสูงเม่นกับอำเภอเมืองฯ เข้าด้วยกัน มอเตอร์ไซค์และจักรยานข้ามไปมาในแดดเย็น เรื่องเล่าของอดีตเมืองทำไม้มักแทรกปนอยู่ในดวงตาของคนบ้านเวียงทองรุ่นเก่า ๆ ในวงสนทนาเล็ก ๆ ริมน้ำ หรือลัดไล่เข้าไปถึงบ้านหลังใหญ่โตภายในหมู่บ้านของคนทำไม้
กฤชพาเราปั่นข้ามแม่น้ำยม สะพานสลิงโยกไหว มองไกลไปในเขตเขารายล้อม แม่น้ำย้อมแสงเย็นเป็นสีส้มทอง หลังลัดเลาะไปในถนนสายชายทุ่งเพื่อมุ่งกลับสู่เมืองแพร่ โลกของจักรยานและบ้านไม้ค่อย ๆ กลมกลืนเข้าหากัน กลับเข้าสู่ในเวียง ถนนสายเล็กสายน้อยคล้ายภาพร่างจิ๊กซอว์ที่ค่อย ๆ ประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ เราเวียนรอบกำแพงเมืองไปทั้ง 4ประตูเมือง ทั้งประตูมาร ประตูศรีชุม ประตูใหม่ จนมาสิ้นสุดที่ประตูชัย บ้านไม้โบราณหลังเล็กหลังน้อยที่อาจตกหล่น ไร้การรองรับจากสถาบันอื่นใด กลับฉายชัดเรื่องราวร่วมกับเรือนคหบดีใหญ่โต มันร้อยเชื่อมให้โลกหลากใบที่ขับเคลื่อนความเป็นเมืองไม้ของแพร่ให้ยิ่งสมบูรณ์คงทน
มิตรใหม่จากร้าน Hhom ขอตัวกลับบ้านที่แถบอำเภอร้องกวาง หลังจากนั้นยามเย็นในเมืองแพร่ก็กลับคืนสู่ภาพปัจจุบันอันดับเติบโตผสมผสานเก่าใหม่เข้าด้วยกัน เราปั่นจักรยานเก่า ๆ แทรกไปในยามค่ำ แถบแยกน้ำคือ ร้าน Ginger Bread Gallery สว่างไฟวามวาว งานศิลปะและกิจกรรมประเภท "สมัยใหม่" เล่าเรื่องอยู่ด้านใน ขณะที่ย่านอาหารกลางคืนแถบตลาดประตูชัยเริ่มคึกคัก
กลางห้วงโอบล้อมของภูเขา ดูเหมือนเมืองเล็ก ๆ ที่เติบโตมาด้วยไม้สักและผู้คนได้ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาด้วยกัน เก็บความรุ่งเรืองและเรื่องราวหนหลังไว้ในส่วนลึกที่สุด ไม่ฟูมฟายถึงสิ่งตกหล่นเปลี่ยนผ่าน และร่วมก้าวเดินไปตามจังหวะของเมืองที่ยังยินดีจะเฝ้ารอพวกเขาอยู่เสมอ
ขอขอบคุณ
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ สำหรับการประสานงานเบื้องต้น
- คุณชินวร ชมพูพันธ์ ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ สำหรับข้อมูลบางส่วน รวมถึงการทำงานอนุรักษ์อันแสนมีค่า
- คุณกฤช วงศ์วรพันธ์ สำหรับมิตรภาพ น้ำใจ คำแนะนำ และการร่วมปั่นในบ่ายวันหนึ่ง
คู่มือนักเดินทาง
มาปั่นจักรยานเที่ยวย่านเก่าเมืองแพร่ไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยพื้นที่ไม่ใหญ่โตจนเกินไป แหล่งท่องเที่ยวประเภทบ้านและห้องแถว ตลอดจนวัดวาอารามเรียงรายใกล้เคียงกัน ให้ได้ปั่นเที่ยวชมได้อย่างไม่เหนื่อยจนเกินไป
สารคดีเรื่องนี้แนะนำคุ้มบ้านไม้เก่าที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2555 ทั้งประเภทบ้านพักอาศัย อาคารสถาบัน และอาคารเพื่อการพาณิชย์ เลือกเสนอบางส่วนจาก 9 หลัง เพื่อให้เหมาะกับการปั่นเที่ยวในเขตเวียงเก่า และเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นจนกลายเป็นเส้นทางปั่นเที่ยวในเวียง โดยอาคารที่ได้รับรางวัลทั้งหมด คือ คุ้มวิชัยราชา (บ้านเจ้าโว้ง), บ้านเจ้าหนานไยวงศ์ (บ้านเจ้าหนานตี), บ้านวงศ์พระถาง (บ้านเจ้าอินสรวง), บ้านขัติยะวรา, บ้านศรีธิยศ, บ้านยายบุญมา คงสุข, อาคารมิชชันนารี, บ้านหลวงศรีนครนุกูล และอาคารเอ. เอส. ฮารีซิงห์
เริ่มปั่นจากถนนเจริญเมือง ดูบ้านวงศ์พระถางและอาคารเอ. เอส. ฮารีซิงห์ ลัดเลี้ยวซ้ายสู่ถนนร่องข้อ ทางขวามือคือบ้านหลวงศรีนครานุกูล เลาะไปวนออกถนนรอบเมือง เที่ยวบ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ ผ่านประตูชัยวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เลี้ยวซ้ายไปที่วงเวียน จากนั้นแยกซ้ายอีกทีที่ถนนคุ้มเดิม เที่ยวคุ้มเจ้าหลวง ลัดเลาะเข้าถนนคำลือ เที่ยวย่านเก่าและบ้านวงศ์บุรี วัดพระนอน ปั่นเลียบกำแพงเมือง เลาะเข้าไปเที่ยวโรงเรียนป่าไม้ ผ่านประตูมาร เลียบกำแพงไปผ่านวัดหลวงและวัดศรีชุม วนเลาะจนออกมาสู่ถนนบ้านใหม่ ต่อไปเที่ยววัดจอมสวรรค์ ย้อนกลับเข้าเขตเวียงเก่าทางถนนน้ำคือ แวะวัดสระบ่อแก้ว จากนั้นอ้อมไปเที่ยวบ้านขัติยะวรา แล้วไปชมวิวเมืองสวย ๆ บนกำแพงเมืองแถบประตูชัย
มีเวลาและเรี่ยวแรงพอ ปั่นออกไปนอกเมือง เที่ยวหมู่บ้านทำเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านเวียงทอง อำเภอสูงเม่น หรือเที่ยวบ้านทุ่งโฮ้ง ดูผ้าหม้อห้อมย้อมคราม ไปไหว้พระธาตุช่อแฮ สิ่งศักดิ์เคียงคู่ศรัทธาของคนเมืองแพร่ ควรมีเวลาราวครึ่งวัน
อิ่มอร่อย
มื้อเช้า : แนะนำร้านป้าป้องข้างซอยโรงเรียนพิริยาลัย ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวกั๊นจิ๊น ข้าวมัดมะเขือส้ม อาหารไทยใหญ่ราคาเบา ๆ รสชาติขนานดั้งเดิม หรือจะไปลองโจ๊กหมู โจ๊กปลา ข้าวต้มปลา ทีเด็ดตรงใส่ใบจิงจูฉ่าย ตรงข้ามตลาดเทศบาลประตูชัย ก็เป็นอีกทางเลือก
มื้อเที่ยง : ก๋วยเตี๋ยวลุงคง ห่อตอง ถนนรอบเมือง ซอย 11 โทรศัพท์ 0 5462 0909 และขนมจีนปั๋นใจ ถนนพระร่วง โทรศัพท์ 0 5462 0727
มื้อค่ำ : ย่านประตูชัยในยามค่ำคืน แหล่งของกินอร่อย ทั้งเย็นตาโฟเจ้าดัง หวานเย็นไอศกรีม ลูกชิ้นหมูปิ้ง ที่ตั้งอยู่เคียงข้างกัน คึกคักและมีชีวิตชีวา
นอนอุ่น
นอกจากโรงแรมที่พักมากมายทั้งในเขตเมืองเวียงเก่าและแถบรอบ เมืองแพร่ใกล้กำแพงเมืองแถบประตูมาร ถนนเชตวัน แนะนำเฮือนเชตวัน ที่พักสะอาด โมเดิร์น ราคาไม่แพง โทรศัพท์ 0 5452 4201
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1118 และ 0 5452 1127 และติดตามข่าวสารการปั่นจักรยานเที่ยวเมืองแพร่ได้ที่ เฟซบุ๊ก ปั่น.เปลี่ยน.แป้
หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 เวลา 15.07 น.
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมุลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 53 ฉบับที่ 12 กรกฎาคม 2556