x close

เคลียร์ชัด ๆ ดร.ธรณ์ แจง ทำทุ่นเส้นผมซับน้ำมันได้จริงหรือ ?



น้ำมันรั่วเกาะเสม็ด


เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

           กลายเป็นประเด็นที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจและส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับทราบข่าวว่า มีการบริจาคเส้นผมเพื่อนำไปทำทุ่นดูดซับน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง โดยชาวเน็ตจำนวนมากสนใจที่จะช่วยเหลือทะเลไทยในภาวะวิกฤติเช่นนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อสงสัยว่า การทำทุ่นเส้นผม หรือที่เรียกว่า บูม ดักคราบน้ำมันนั้น ใช้ได้ผลจริงหรือไม่

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้โพสต์ข้อมูลผ่าน เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน เพื่อช่วยอธิบายให้เข้าใจบูมเส้นผมกันมากขึ้น ซึ่งข้อความมีดังนี้





          คำถามเรื่องเส้นผมช่วยชาติ เป็นคำถามที่ทุกคนสงสัยและพยายามสอบถามผม ผมจึงลองปริกษากับพี่ ๆ ในห้องประชุมที่มีผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน ได้คำตอบดังนี้ครับ

          1. เส้นผมใส่ถุงแล้วนำไปซับคราบน้ำมันได้ไหม ? คำตอบคือได้ครับ ได้เช่นเดียวกับกระดาษซับน้ำมัน ฟองน้ำ หรือแม้กระทั่งกากมะพร้าว

          2. เส้นผมมีผลกระทบหรือเปล่า ? หากนำใส่ถุง นำไปซับน้ำมัน นำไปกำจัดอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยเท้งเต้งเป็นขยะ ถุงเส้นผมก็เหมือนกับกระดาษซับน้ำมันที่ถูกนำไปทิ้งอย่างเหมาะสม เหมือนกับวัสดุอีกนานาชนิดที่นำไปใช้ในการซับน้ำมันได้ แต่ถ้าไม่ทิ้ง ก็กลายเป็นขยะในทะเลแน่นอน เช่นเดียวกับวัสดุอื่น ๆ ถ้าไม่ทิ้งก็เป็นขยะเช่นกัน

          3. ที่น่าถามคือเราจะนำเส้นผมดังกล่าวไปใช้ที่ไหน ? หากอยากไปใช้ที่อ่าวพร้าว ก็คงต้องติดต่อกับหน่วยงานในพื้นที่ ว่าจะเป็นอย่างไร ผมตอบไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่ตอบได้ว่าก็เหมือนถามเขาว่า จะส่งฟองน้ำไปซับน้ำมันได้ไหม

          4. สำหรับการใช้ในบริเวณอื่น คงต้องยอมรับว่าคราบน้ำมันส่วนหนึ่งรวมกันอยู่ที่อ่าวพร้าว อีกส่วนกระจายเป็นฟิลม์บาง ๆ ลอยเลยเกาะเสม็ดไปแล้ว เข้าสู่อ่าวบ้านเพ ไล่ไปตามชายหาดสู่แหลมแม่พิมพ์ การป้องกันฟิล์มน้ำมันเหล่านั้นคงทำยาก เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ น้ำมันกระจายออกเป็นฟิล์ม เราจะไปกั้นที่ไหน ในเมื่อน้ำมันกระจายออกจากช่องเสม็ดไปแล้ว สำหรับอ่าวพร้าว ก็คงต้องพูดคุยกับคนที่นั่นว่าจะช่วยได้ไหม

          5. สำหรับอาสาสมัครที่อยากช่วยทะเล ช่วยคนระยอง นักวิทยาศาสตร์ประชุมกันแล้ว สิ่งที่ทุกคนช่วยได้ คือการติดตามก้อนน้ำมันดินที่อาจแพร่กระจายอยู่ตามชายหาดยาวเหยียดจากบ้านเพไปถึงแกลง ชายหาดยาว 20-30 กิโลเมตร ฟิล์มน้ำมันเหล่านั้น จะผสมกับทราย อาจเกิดเป็นก้อนน้ำมันดินเหล่านั้นออกจากหาด

          ก้อนน้ำมันดินมีน้ำมันเหลวดำอยู่ด้านใน กลิ่นอี๋แหยะ เหยียบแล้วเละติดเท้าเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น การไปช่วยกันเก็บ ย่อมเป็นการช่วยโดยตรง ถ่ายภาพไว้ ตรวจสอบจุดให้ชัดเจน เก็บไว้เป็นหลักฐาน หากมีเยอะก็ถ่ายภาพโดยรวมไว้ บันทึกวันที่ให้ชัดเจน ส่งหลักฐานไปที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดี๋ยวคงมีข้อมูลชัดเจนตรงส่วนนี้ แต่อย่าไปจับนะครับ ใช้ไม้จิ้มหรือใช้ถุงมือจับครับ

          นั่นคือบางส่วนที่พอบอกได้ตอนนี้ แต่ถ้าอยากบริจาค คนมีใจอยากช่วยทะเล อยากช่วยคนอื่น เป็นเรื่องดีที่ไม่อาจห้ามครับ











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคลียร์ชัด ๆ ดร.ธรณ์ แจง ทำทุ่นเส้นผมซับน้ำมันได้จริงหรือ ? โพสต์เมื่อ 30 กรกฎาคม 2556 เวลา 18:59:14 2,275 อ่าน
TOP