x close

เกาะล้อขึ้นเหนือ ท่องเที่ยว ดอยตุง

ดอยตุง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก doitung , th.wikipedia , tourismchiangrai

          ถ้าเอ่ยชื่อ "เชียงราย" หลายคนคงคิดถึง "ดอยตุง" ... "แม่สาย" … "ภูชี้ฟ้า" ... "ดอยแม่สลอง" ... "ไร่แม่ฟ้าหลวง" และ "สามเหลี่ยมทองคำ" ฯลฯ แหม...ขึ้นชื่อว่า "เชียงราย" จังหวัดที่อยู่สูงที่สุดของประเทศไทย แถมอากาศยังเย็นสบายตลอดทั้งปี ก็ต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้ไปเยี่ยมชมและสัมผัส แต่วันนี้กระปุกดอทคอม จะพาเพื่อน ๆ ไปดอมดมความงามของดอกไม้แสนสวย ที่ชูช่อบานสะพรั่งสดใสไปทั่วทั้งดอย พร้อม ๆ กับไหว้พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงราย ใช่แล้ว...เราจะพาไปเที่ยว "ดอยตุง" กัน...

          เชียงราย อารยนครอายุกว่า 700 ปี มีมนต์เสน่ห์ล้ำลึกของวัฒนธรรมล้านนา กลมกลืนกันอยู่ในโอบล้อมของผืนป่า ที่เริ่มคืนความเขียวชะอุ่ม อยู่เหนือจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 45 กิโลเมตร ดอยตุง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทอดตัวยาวอยู่ทางด้านซ้ายของเส้นทางที่มุ่งไปอำเภอ แม่สาย

          ภายหลังเกิด โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชาวเขาและชาวพื้นราบในบริเวณรายรอบดอยตุง ยอดสูงสุดของดอยนางนอน พรมแดนไทย-พม่า

          แต่เดิม ดอยตุง เป็นเทือกเขาหัวโล้นที่ถูกชาวเขาตัดทำลายเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร จนกระทั่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ได้เสด็จมายัง "ดอยตุง" และทรงมีพระราชดำรัสว่า "ฉันจะปลูกป่าดอยตุง" หลังจากนั้นในปี 2530 รัฐบาลจึงได้เริ่มจัดทำ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้น โดยปลูกป่าคืนความสมบูรณ์ กลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้ดึงชาวเขาเข้ามาทำงานในโครงการปลูกป่าดอยตุง จนเปลี่ยนวิถีจากการปลูกและเสพฝิ่น ถางป่าตัดไม้ และทำไร่เลื่อนลอย หันมาทำเกษตร ปลูกพืชผักเมืองหนาว ทำไร่กาแฟและแมคคาเดเมีย สร้างผลงานเย็บปักถักทอที่เชื่อมต่อวัตถุดิบพื้นถิ่น และหัตถศิลป์พื้นเมืองสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันแบบสากล ในขณะที่กลุ่มชน 30 ชาติพันธุ์ ยังคงอาศัยอยู่อย่างสงบ ตามไหล่เขาและบนดอยสูง แนบแน่นอยู่กับประเพณีดั้งเดิมของตน โดยไม่ถูกวัฒนธรรมเมืองกลืนกิน

          แต่ก่อนนั้นเส้นทางขึ้นดอยตุงเป็นเส้นทางลอยฟ้า คือเมื่อนั่งรถบนถนน ดอยตุง แล้วมองลงมาก็จะเห็นวิวโล่ง ๆ ไม่มีต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ แต่ในปัจจุบันนี้ดอยตุงกลับคืนสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนั่งรถไปตามเส้นทางขึ้น ดอยตุง จะเห็นแต่ต้นไม้แน่นขนัด นั่นล้วนเป็นป่าปลูกทั้งสิ้น หลังจากโครงการปลูกป่าแล้วเสร็จจึงได้มีการสร้าง พระตำหนักดอยตุง และมีโครงการอีกหลาย ๆ โครงการตามมาเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น และจากเทือกเขาหัวโล้นกลับกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่สุดของเชียงราย แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยว ดอยตุง เป็นจำนวนมาก 

          แหล่งท่องเที่ยวบน ดอยตุง ที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชม ได้แก่...


พระธาตุดอยตุง


พระธาตุดอยตุง

          ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 ของทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง

          พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงในวันเพ็ญเดือน 3 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี พระธาตุดอยตุงถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

          คำไหว้บูชาพระบรมธาตุ

          นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรงมะหาคะมานะ มามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา








พระตำหนักดอยตุง 

          พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ ต.แม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บริเวณสันเขาของเทือกดอยนางนอน ระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ถือเป็นบ้านหลังแรกของ สมเด็จย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่เน้นความเรียบง่าย และการใช้ประโยชน์ มีลักษณะสถาปัตยกรรม แบบล้านนากับบ้านพื้นเมืองของสวิส สร้างบนไหล่เนิน มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา

          เป็นพระตำหนักสองชั้น และชั้นลอย ชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว และมีกาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหล ที่อ่อนช้อยโดยรอบ สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างบ้านปีกไม้ ศิลปะล้านนา กับชาเลต์แบบสวิส (Swiss Chalet) สามารถมองเห็นทิวท้ศน์เทือกเขาสลับซับซ้อน

          กลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์เพื่อผู้มาเยือนได้สักการะ เพดานดาวเป็นภาพระบบสุริยะและกลุ่มดวงดาวอยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่เคยปรากฎ ณ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 (วันพระราชสมภพ) รอบพระตำหนักประดับด้วยไม้ดอกนานาพันธุ์ สามารถชมห้องบรรทมและห้องทรงงานที่สะท้อนพระราชจริยวัตรอันงดงามเรียบง่าย และภายหลังการสวรรคตของสมเด็จย่า พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ ไว้เป็นอย่างดี




 


สวนแม่ฟ้าหลวง

          สวนแม่ฟ้าหลวง หรือ สวนดอยตุง เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวบนพื้นที่ 25 ไร่ อยู่ในแอ่งที่ราบด้านทิศเหนือของพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของหมู่บ้านอาข่าป่ากล้วย 62 ครอบครัว ในอดีตหมู่บ้านนี้เป็นเส้นทางผ่านที่สำคัญและเป็นที่พักของกองคาราวาน ที่ลำเลียงฝิ่น น้ำยาทำเฮโรอีน และอาวุธสงคราม ประกอบกับที่ตั้งมีลักษณะเป็นหุบลึกลงไป บ้านเรือนอยู่อย่างอัดแอ ไม่สามารถขยายและดูแลเรื่องความสะอาด ขยะ และน้ำเสียได้ ทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงขอให้หมู่บ้านย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ห่างจากที่เดิมราว 500เมตร แต่ตั้งอยู่บนเนินเขา กว้างขวาง และสวยงาม เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

          สำหรับสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวสร้าง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 ตามพระราชดำริของ สมเด็จย่า เพื่อให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสไปต่างประเทศได้เห็นไม้ดอกเมืองหนาวที่สวนแห่งนี้ ซึ่งได้รับการดูแลให้สวยงามตลอดทุกวันทั้งปี โดยดอกไม้จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล ภายในสวนถูกตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกดอกตลอดปี กลางสวนมีประติมากรรมเด็กยืนต่อตัวของ มิเซียม ยิบอินซอย โดย สมเด็จย่า พระราชทานชื่อว่าความต่อเนื่อง (continuity) สื่อถึงการทำงานจะสำเร็จได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากแปลงไม้ประทับกลางแจ้งแล้วยังมีโรงเรือนไม้ในร่ม จุดเด่นคือกล้วยไม้จำพวกรองเท้านารีชนิดต่าง ๆ ที่มีดอกสวยงามมาก ความภาพความสวยงามของสวนแม่ฟ้าหลวง




สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ดอยช้างมูบ

          สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ หรือ สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของเทือกดอยตุง ที่ระดับความสูง 1,520 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่เดิมบนดอยช้างมูบเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น ไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นจนเป็นเขาหัวโล้น เมื่อครั้งที่ สมเด็จย่า เสด็จมาพบแต่หญ้าปกคลุม จึงมีพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม ในปี พ.ศ. 2535 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สนองพระราชดำริสร้างสวนรุกขชาติพื้นที่ 250 ไร่ บนดอยช้างมูบ เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ที่เคยพบบนดอยช้างมูบ และเทือกดอยตุงขึ้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นเอาไว้ พร้อมกับปลูกสนสามใบเป็นไม้เบิกนำสร้างร่มเงา

          สำหรับ สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง เป็นที่รวมพันธุ์ไม้หายาก โดยเฉพาะกุหลาบพันปี (ไรโดนเดนดรอน) หลากสี หลายสายพันธุ์จากนานาประเทศ ในเอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ก็ได้นำมาปลูกจนผลิดอกงดงามกันที่นี่ จะยิ่งสวยงามมากในช่วงที่ดอกซากูระเมืองไทย หรือนางพญาเสือโคร่งบานในราวต้นเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ จนที่นี่กลายเป็นสวนป่าที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งช่วงที่เสี้ยวดอกขาวหรือชงโคขาวออกดอกบานสะพรั่งกระจ่างตา กล้วยไม้ป่าอย่างเอื้องตาหืน เอื้องเงิน ม่อนไข่ ผลิดอกอยู่ตามลำต้นและกิ่งไม้ใหญ่ นกพื้นเมืองและสัตว์ต่าง ๆ ที่พากันกลับสู่พนาไพร ภายหลังฟื้นฟูป่า ..

          ที่นี่สวนดอกไม้ที่รู้สึกได้ถึงความร่มรื่น ชุ่มชื้น สงบ ลึกลับ และมีเสน่ห์ มีต้นไม้ใหญ่รูปทรงสวย โตขึ้นไปเรื่อย ๆ กับกาลเวลา ให้เงาร่มเย็นในเวลากลางวัน และเล่นกับแสงเงาจากดวงดาวในเวลากลางคืน ให้ดอกออกผลที่บ่งบอกถึงฤดูกาล ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศเมืองเหนือ เงาไม้เขียวครึ้ม แสงแดดยามบ่าย ปุยเมฒขาวบนฟ้าสีคราม ทั้งหมดเป็นบรรยากาศของความอบอุ่นที่หาได้จากธรรมชาติ … สิ่งใกล้ตัวที่งดงาม

          ภายในบริเวณดอยมีพระสถูปช้างมูป เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนกองหินขนาดใหญ่ มีลักษณะเหมือนช้างหมอบอยู่ เป็นสถูปโบราณไม่ทราบประวัติที่แน่นอน แต่น่าจะมีอายุกว่า 100 ปี และยังมีต้นสนและต้นไม้ขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี ซึ่งขนย้ายขึ้นมาปลูกไว้ เนื่องจากการสร้างถนนสายเชียงราย-แม่สาย ซึ่งใช้ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและต้นน้ำอีกด้วย นอกจากนี้ เส้นทางในสวนรุกขชาติยังเดินตามไหล่เขาไปจนถึงระเบียงชมวิว มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลไปจนถึงชายแดนพม่าและลาว ไม่ไกลออกไปมีลำธารเล็ก ๆ มีน้ำไหลเย็นตลอดปี


ดอยตุง


หมายเหตุ

          การเข้าชม พระตำหนักดอยตุง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00 - 18.00 น. เก็บค่าเข้าชมพระตำหนัก คนละ 70 บาท

          การเข้าชม สวนแม่ฟ้าหลวง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06:30-18:00 น. เก็บค่าเข้าชมคนละ 80 บาท

          การเข้าชม หอพระราชประวัติ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08:00 – 17:00 สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปเก็บค่าเข้าชมคนละ 50 บาท ส่วนนักเรียน นักศึกษา พระภิกษุสงค์ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมฟรี

          การเข้าชม สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา เวลา 08:00-17:00 เปิดให้เข้าชมเวลา 7.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมท่านละ 50 บาท

          การเข้าชม สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา เวลา 08:00-17:00 เปิดให้เข้าชมเวลา 7.00 - 18.00 น. เก็บค่าเข้าชมคนละ 50 บาท

          ทั้งนี้ หากซื้อตั๋วรวมทั้ง 3 แห่ง คือ พระตำหนักดอยตุง พระตำหนักดอยตุง และหอพระราชประวัติ จะได้ราคา 150 บาท การเข้าชมจะมีเจ้าหน้าที่นำชมอธิบายความเป็นมาของพระตำหนัก ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โครงการพัฒนาดอยตุง อาคารเอนกประสงค์ พระตำหนักดอยตุง โทร. 0 5376 7015 - 7 หรือ http://www.doitung.org E-mail: tourism@doitung.org


การเดินทาง 

          ดอยตุง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 110 ไป 45 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปประมาณ 15 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถใช้บริการรถสองแถวสีม่วง บริเวณปากทาง รถออกตั้งแต่ 07.00 น. มีรถออกทุก 20 นาที


แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   chiangraifocus.com และ tourismchiangrai.com     

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกาะล้อขึ้นเหนือ ท่องเที่ยว ดอยตุง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:57:46 13,360 อ่าน
TOP