เที่ยวเมืองแร่ธาตุ เที่ยวเมืองพังงา

 




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก อุทยานแห่งชาติ

          "แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูพาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร" โอ้ว้าว... คำขวัญประจำจังหวัดแสนไพเราะแบบนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าต้องเป็นเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์แน่นอน... นั่นก็คือ "พังงา" จังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเรานี่เอง 

 



          พังงา เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่ 4,170.895 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 788 กิโลเมตร ชื่อของจังหวัดพังงานั้น เดิมน่าจะเรียกว่า "เมืองภูงา" ตามชื่อเขางาหรือเขาพังงา ซึ่งอยู่ในตัวเมืองพังงาในปัจจุบัน เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงเรียกกันว่า "เมืองภูงา" เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้ แต่เหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จึงมีฝรั่งมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และฝรั่งเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง "พังงา" เพราะแต่เดิมฝรั่งเขียนเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่า "ภูงา" หรือจะอ่านว่า "พังงา" หรือ "พังกา" ก็ได้


          สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดพังงานั้นมีมากมาย ดังนี้

          "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์" เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย - พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก) ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 เป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม มีปลาสีสันต่าง ๆ มากมาย เป็นแหล่งสำหรับเหมาะชมปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะเกาะตอรินลา 


           สำหรับบริเวณที่เหมาะจะดำน้ำลึก คือ กองหินริเชลิว อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายพันธุ์ ปะการังสีสวย และเป็นจุดที่มีโอกาสพบฉลามวาฬ ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลมาว่ายให้เห็นอยู่เสมอ (สุดยอด!!) ช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางท่องเที่ยวคือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุม ฝนตกชุก คลื่นลมแรง


          ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โทร.0-7649-1378


          "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน" อยู่ตำบลเกาะพระทอง ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 คำว่า "สิมิลัน" เป็นภาษายาวีหรือมลายู แปลว่า "เก้า" หรือ "หมู่เกาะเก้า" หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยัน เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน) เกาะปายู เกาะหัวกระโหลก ( เกาะบอน) เกาะสิมิลัน และเกาะบางู


          ทั้งนี้ ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยงเพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำ ที่ยังคงความสมบูรณ์ของท้องทะเล สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีปะการังที่มีสีสันสวยงามหลากชนิด ปลาหลากสีสันและหายากเช่น กระเบนราหู ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาไหลมอนเร่ ปลาการ์ตูน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ซึ่งทางอุทยานฯ จะประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี


          อย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน โทร. 0-7642-1365


          "อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง" อำเภอท้ายเหมือง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ไร่ แยกออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุอยู่ในช่วง 60 – 140 ล้านปี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีพันธุ์ไม้ เช่น ไม้ยาง ตะเคียนทอง กระบาก เฟิร์น หวาย ไผ่ มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูง 622 เมตร และหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ชายหาดฝั่งตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกติดป่าชายเลนและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ อีเห็น กวางป่า ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา ส่วนในทะเลและชายหาดจะพบ ปลากระเบน ปลากระบอก ปลาบิน ปลาดาว และปะการังกลุ่มเล็ก (โห... แต่ล่ะอย่างน่าดูทั้งนั้นเลย)


          "ถ้ำพุงช้าง" อยู่ภายในบริเวณวัดประจิมเขต หลังศาลากลางจังหวัด ถนนเพชรเกษม อำเภอเมือง เป็นถ้ำใหญ่ที่อยู่ใจกลางเขาช้าง บริเวณที่เรียกว่า "พุงช้าง" เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างความยิ่งใหญ่ของหินงอกหินย้อยให้ประทับใจตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น การเที่ยวถ้ำพุงช้าง ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย นักท่องเที่ยวจะต้องเดินลุยน้ำ นั่งแพ และนั่งเรือแคนนู เพื่อเข้าไปชมหินงอกหินย้อยที่เป็นฝีมือธรรมชาติ หินงอกหินย้อยมีลักษณะของช้างหลากรูปแบบที่แปลกตาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหินงอกหินย้อยรูปช้างร้อยๆ เชือกเดินตามกันเป็นวงรอบ หินงอกรูปช้างนั่งอยู่ใต้ฉัตรภายในถ้ำ บันไดสีทองเกิดจากหินงอกอันวิจิตร ยิ่งเมื่อถูกแสงไฟจะเป็นประกายสวยงามมาก ทั้งนี้ การเดินเที่ยวถ้ำพุงช้างใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง



          "อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา" มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โทร.0-7641-1136, 0-7641-2188


          "อุทยานแห่งชาติศรีพังงา" อยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานมสาว มีเนื้อที่ 153,800 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีป่าไม้สมบูรณ์เป็นประเภทป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะเคียนทอง ปาล์มสกุลต่างๆ กระพ้อหนู ชายผ้าสีดา กล้วยไม้ เช่น รองเท้านารี เอื้องเงินหลวง และยังสามารถพบสัตว์ป่าและนกต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา วัวแดง เก้ง เสือ นกเงือก นกเขียวคราม นกชนหิน ปลาพลวง กบทูด เป็นต้น อุทยานฯ จะมีฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ฝนตกเกือบตลอดปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2531 และได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ


          "ชายทะเลเขาหลัก" ห่างจากอำเภอตะกั่วป่า 32 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางชายทะเลที่กำลังเป็นที่นิยมอีกแห่งหนึ่ง บริเวณชายหาดเขาหลักมีหาดทรายกว้างและหินก้อนเล็กใหญ่เรียงรายอยู่มากมาย บรรยากาศน่านั่งพักผ่อน สามารถเล่นน้ำได้ ยามเย็นจะมีชาวบ้านมานั่งชมพระอาทิตย์ตก นอกจากนั้น ยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่ง ที่มีการจัดรูปแบบของที่พักสวนสวยกลมกลืนกับบรรยากาศชายทะเล เงียบสงบ ร่มรื่นด้วยต้นสน ต้นมะพร้าวริมชายหาด สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติที่ไม่ได้ปรุงแต่งด้วยสีสันที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ ฝั่งตรงข้ามทางเข้าอุทยานเขาหลักมีศาลเจ้าพ่อเขาหลัก ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านในละแวกนั้นตั้งอยู่ 



          "วนอุทยานน้ำตกรามัญ" อยู่ตำบลกระโสม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาโตนดิน มีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ วนอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เหตุที่มาของชื่อน้ำตกรามัญ คือ เมื่อสงครามเก้าทัพ ได้มีชาวมอญกลุ่มหนึ่งหนีทัพพม่าขึ้นไปตั้งชุมชนตรงชั้นบนสุดของน้ำตกแห่งนี้ ชาวบ้านจึงรียกว่า "น้ำตกรามัญ" บริเวณต้นน้ำมีลักษณะเป็นเทือกเขาเรียงรายติดต่อกัน สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เป็นป่าดงดิบ วนอุทยานฯ ในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวประกอบด้วยธารน้ำขนาดกลางไหลจากป่าต้นน้ำผ่านหุบเขา และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกชั้นต่างๆ หลายชั้น 


          นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ตะพาบน้ำ ปลาซิว ปลาพรวงหิน ปลาเสือ วนอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วย นอกเหนือจากน้ำตกรามัญ ยังมีน้ำตกอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น โตนใต้ เป็นน้ำตกชั้นล่างสุด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตีนล่าง โตนขอนปัก มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดกลาง มีความลึกพอสมควร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ โตนไอ้จุ่น มีลักษณะเหมือนชั้นที่ 2 สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี โตนกลาง เป็นชั้นที่มีธารน้ำตกสูงพอสมควร มีความสวยงาม และเหมาะสำหรับเล่นน้ำใต้ธารน้ำตก โตนหินราว เป็นชั้นน้ำตกที่มีความลึกมาก โตนสาวงาม เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่มีความสวยงามเช่นกัน (ว้าว...)


          อย่างไรก็ตาม ที่จังหวัดพังงายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย หากคุณต้องการพักผ่อนในแบบบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ร่มรื่นและสงบ จังหวัดพังงาน่าจะเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น่าไปท่องเที่ยวสุด ๆ เลยนะคะ

ข้อมูลการเดินทาง

          รถยนต์ 

          สามารถใช้ได้สองเส้นทางได้แก่...


          เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา รวมระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง


          เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และจากจังหวัดชุมพรให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดเข้าสู่ตัวเมืองพังงา


          รถไฟ


          การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สถานีพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร.1690, 0-2223-7010, 0-2223-7020


          รถโดยสารประจำทาง


          บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางทั้งแบบปรับอากาศและธรรมดา กรุงเทพฯ - พังงา บริการทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2435-1199 (รถปรับอากาศ) โทร.0-2434-5557-8 (รถธรรมดา) สถานีพังงา ถนนเพชรเกษม (หลังธนาคารหลวงไทย) โทร.0-7641-2300, 0-7641-2014


          เครื่องบิน 


          การเดินทางไปพังงาทางเครื่องบิน นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเที่ยวบินไปลงที่จังหวัดภูเก็ต จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร หรือเที่ยวบินไปลงจังหวัดระนอง จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงา โดยใช้เวลาเดินทางต่อประมาณ 3 ชั่วโมง


          ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดพังงาเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพังงา  ศาลากลางจังหวัดพังงา  โทร.0-7641-2071 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวเมืองแร่ธาตุ เที่ยวเมืองพังงา อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:11:17 4,793 อ่าน
TOP
x close