ตลาดพลู ของกรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ตลาดพลู
ตลาดพลู


ตลาดพลูของกรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (มติชน)

คอลัมน์ : สยามประเทศไทย
โดย : สุจิตต์ วงษ์เทศ

          ตลาดพลู เป็นชื่อย่านหรือตำบลอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ (บางทีเรียกรวมๆ ว่า บางหลวง ชื่อเรียกปากคลอง) หมายถึงย่านตลาดขายพลูเคี้ยวกับหมาก, ปูน ต่อมาเจริญขึ้นเลยไม่ได้ขายพลูอย่างเดียว แต่เป็นย่านการค้าในคลองบางกอกใหญ่ เพราะมีเรือแพนาวาพาหนะขึ้นล่องไปมาสะดวกถึงปากคลองตลาดในกรุงเทพฯ

          แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือมีย่านการค้าใหญ่ของกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ต่อเนื่องกันอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ เรียกบริเวณบางหลวง เพราะเป็นเวิ้งน้ำกว้างขวางมากมาตั้งแต่ยังไม่มีวัดกัลยาณ์ฯ

          บางหลวงตรงนี้มีเรือนแพค้าขายจอดเรียงรายนับร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ ลำ (ตามเอกสารฝรั่งที่เข้ามากรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4-5) เทียบสมัยนี้ก็คล้ายๆ สีลม, เยาวราช, ราชวงศ์, ทรงวาด, เจริญกรุง, ฯลฯ พระยาตรังพรรณนาถึงเรือนแพไว้ใน นิราศฯในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ว่า...บางหลวงคลองน้ำวิ่ง อลวน ขนานขนัดแพพวนเหนี่ยว หน่วงฝั้น

          ตลาดพลูเป็นย่านขายพลูตั้งแต่เมื่อไร? ไม่มีหลักฐานตรงๆ แต่น่าเชื่อว่ามีมาแต่ยุคกรุงธนบุรีต่อเนื่องถึงยุคต้นกรุงเทพฯ เพราะบริเวณนี้เป็นชุมชนมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา

          คนปลูกพลูขายน่าจะเป็นเจ๊ก (หมายถึงคนจีนทางใต้ที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำ แยงซีทางกวางสี, กวางตุ้ง ไม่ใช่พวกฮั่นที่อยู่ทางเหนือบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห) ที่เคลื่อนย้ายเข้ามามากในรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศเมืองเพชรบุรี ว่า...ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูดูอักโข

          น่าจะหมายถึงเจ๊กเลี้ยงหมูย่านวัดหมู หรือวัดอัปสรสวรรค์ ตลาดพลู ต่อเนื่องกับย่านบางยี่เรือ, บางไส้ไก่


ตลาดพลู
(บน) คลองบางกอกใหญ่ บริเวณตลาดพลูจะเลี้ยวไปคลองด่านและคลองภาษีเจริญ (ล่าง) คลองบางกอกใหญ่ ทั้ง 2 รูปนี้พิมพ์อยู่ในหนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548)


          ผมเขียนเรื่องเจ๊กขายหมูปลูกพลูขายไว้ในหนังสือ แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2530) แล้วคัดข้อความเรื่องสวนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เล่าเรื่องสวนพลูกับตลาดพลู จะยกที่สำคัญมาดังนี้...

          "พลูค้างทองหลาง เป็นของเกิดมีมานานตามสวน ปลูกแล้วก็ทิ้งให้เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลาง เก็บใบเคี้ยวปนกับหมากเป็นใบเขียวมีรสเผ็ด

          ภายหลังมาไม่สู้ช้านานนัก พวกจีนชำนาญในการเพาะปลูกดีกว่าชาวเราที่ใช้ปุ๋ยรดที่ดินให้มีรสแรงขึ้น จึงได้คิดปลูกพลูให้เลื้อยขึ้นค้างต้นโปลง หาใช่ให้เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลางไม่ ได้เพาะปลูกในตำบลบางไส้ไก่และบางยี่เรือมาก ที่เหล่านั้นจึงเรียกว่าสวนพลู

          พลูค้างที่พวกจีนปลูกอาศัยอุดหนุนที่ดินด้วยปุ๋ยปลาเน่าเป็นต้น ต้นพลูเกิดงอกงามออกยอดแตกใบมีกำหนดวันทันเก็บขาย และสีพลูนั้นก็เหลืองมีรสไม่สู้เผ็ดผิดกับพลูค้างทองหลางมาก ขายได้ราคา

          ในสวนพลูบางไส้ไก่และบางยี่เรือนั้น ชาวสวนพลูเด็ดใบเก็บซ้อนกันเรียกว่าเรียง 8 ก้านเป็นเรียง 1 ไม่ว่าใบเล็กใบใหญ่ แล้วก็มัดเป็นกำบรรทุกเข่งหาบมาบ้าง บรรจุมาด้วยเรือเล็กบ้าง มาขึ้นที่ท่าในคลองบางกอกใหญ่เคียงกับวัดอินทาราม จันทาราม ราชคฤห์ เรียกตามสามัญว่าวัดบางยี่เรือทั้ง 3 หรือวัดบางยี่เรือไทย ยี่เรือมอญก็เรียก

          ท่าที่บรรทุกพลูลงมาจำหน่ายนั้นก็กลายเป็นตลาดพลูไป และที่บรรทุกมาจำหน่ายทางตอนล่างออกคลองดาวคะนองก็มีแต่น้อย"


ตลาดพลู


          ทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ที่ชื่อตลาดพลู

          "หลวงเมือง" เป็นชาวตลาดพลูแท้ๆ เขียนเล่าเรื่องไว้ในหนังสือชื่อตลาดพลู ผมคัดบางตอนมาให้อ่านเป็นตัวอย่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม (ฉบับวันนี้แล้ว)

          ประวัติศาสตร์สังคมอย่างนี้มีชีวิตชีวา ไม่แห้งตายซากอย่างประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชน, th.wikipedia.org และ voyagetravelmag.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตลาดพลู ของกรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:59:25 5,181 อ่าน
TOP
x close