ทะเลตรัง-กระบี่
ทะเลตรัง-กระบี่
ทะเลตรัง-กระบี่
ทะเลตรัง-กระบี่ นอนในลอนคลื่น "ตื่น" กลางทะเล (อสท)
เรื่อง : จริยา ชูช่วย
ภาพ : นภดล กันบัว
ทั้งที่อยู่ใต้ฟ้า แต่ก็ไม่เคยเห็น "สายฝน" เต็มตาสักทีทั้งที่เคยนั่งเรือหางยาว แต่ไม่เคยรู้เรื่องราวและความศักดิ์สิทธิ์ทั้งที่เกิดใกล้เลตรัง แต่ไปคิดหวังว่าจะงามขนาดนี้ ทั้งที่ไม่ได้หลับ แต่เรากลับ "ตื่น" พร้อมกันกลางทะเล
1. เราออกเดินทางล่วงหน้า 2 เดือนก่อนที่อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับนี้จะอยู่ในมือท่าน ในห้วงยามที่คำนวณแล้วว่าทะเลตรังคลื่นลมสงบดี เราไม่ได้พลาด หากแต่สภาพอากาศในปีนี้หาความแน่นอนเรื่องฤดูกาลแทบไม่มีคืนก่อนขึ้นเรือ ฝนตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตา เป็นผลมาจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ขยายอิทธิพลจากฝั่งอ่าวไทยแผ่มาถึงฟากอันดามัน
ดีที่เช้าวันรุ่งขึ้นฟ้าฝนยังเป็นใจอยู่บ้าง คุณเอ ศักยะ ดำย่ำ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ เอ เกาะมุก มารอรับเราที่ท่าเรือควนตุ้งกู อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ใช้เวลาโดยสารเรือหางยาวราวครึ่งชั่วโมงก็เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือเกาะมุก
ครั้งนี้เราเลือกพักโฮมสเตย์ของชาวประมงเพราะอยากรับรู้เรื่องราวทะเลที่มองไม่เห็นผ่านหาดทราย สายลม และแสงแดด
บ้านบังแก่น แก่น หญ้าปรัง เป็นโฮมสเตย์หลังที่หมุนเวียนมารับแขกกลุ่มพวกเราพอดี บ้านกลางทะเลไม่มีลานจอดรถ มีแต่ท่าจอดเรือ ระเบียงบ้านยกพื้นรับลมทะเลทั้งวัน ก้มมองหอย ปู และนั่งดูกอหญ้าทะเลยามน้ำลงเพลินเชียว
ทะเลตรัง-กระบี่
ทะเลตรัง-กระบี่
เกาะมุกอยู่ในตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง ด้านตะวันออกเป็นหมู่บ้านชาวประมง มีทางคอนกรีตยาว 3 กิโลเมตร พอให้รถมอเตอร์ไซค์แบ่งกันวิ่งและคนแบ่งกันเดินได้ ส่วนด้านตะวันตกเป็นโขดผาสูง ชาวบ้านกว่าร้อยละ 95 เป็นชาวมุสลิม ทำมาหากินกับทะเล มีบ้างที่ทำสวนยางพารา แต่ครั้นถึงหน้าปลอดมรสุม ปลา หอย หมึก กุ้ง ไม่ชุมเท่าเดิม ชาวบ้านก็พลิกตัวหันมาต้อนรับแขกนักท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม
โฮมสเตย์ เอ เกาะมุก เริ่มต้นจากการเปิดบริการเรือนำเที่ยวรอบ เกาะมุก ก่อนจะขยายตัวไปถึงเรื่องที่พัก จัดหาอาหารการกิน และจัดการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ 11 หลัง มีทั้งบ้านกลางทะเล บ้านในสวน และบ้านโฮมสเตย์ส่วนตัวให้เลือกตามความชอบ มีเรือนำเที่ยวอีก 6 ลำ และที่สำคัญ ผ่านมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำปี 2552 เรียบร้อยแล้ว
รายการท่องเที่ยวที่จัดไว้ก็น่าสนใจไม่น้อย ทั้งเที่ยวหมู่เกาะทะเลตรังแบบวันเดียวจบ หรือจะไปค้างคืนแค้มปิ้งที่เกาะรอก ยิ่งถ้าใครชอบเรื่องวิถีชีวิตและธรรมชาติ ขอบอกว่าที่นี่เหมาะสมมาก
ตะวันไม่ใช่สัญญาณเริ่มวันใหม่ของคนเกาะมุก ทุกคนเริ่มต้นชีวิตก่อนตะวันอยู่หลายช่วงตัว เราเองก็ลองลุกขึ้นก่อนสว่างตามเจ้าบ้านไปกรีดยางพารา แล้วเช้าตรู่กระโดดขึ้นเรือไปก้อวนปู กู้ลอบหมึก ที่วางไว้เมื่อเย็นวาน
กลับมาท้องหิวพอดี นั่งสภาโกปี๊ จิบกาแฟ ชา กับปาท่องโก๋ขาเดียว แกล้มข้าวเหนียวสังขยา หรือจะชัดขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้แกล้มผักเหนาะเต็มโต๊ะกินแต่เช้าก็ไม่ว่ากัน แล้วลองเปิดใจเงี่ยหูฟัง จะได้ยินเรื่องราวรอบ เกาะมุกหมุนรอบตัวคุณ หรือเผลอ ๆ อาจได้ยินเรื่องราวของคุณหมุนรอบตัวเองแบบน่ารัก ๆ ก็เป็นได้
ยามสายเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน เวลาสำหรับคนที่นี่มีเหลือเฟือไม่ต้องซื้อหา มันเพียงพอสำหรับทำมาหากิน เที่ยวเล่น และพักผ่อนอย่างลงตัว
ลองย้ายตัวเองมานอนเปลญวนหน้าบ้าน หรือใครอยากไปปลูกป่าโกงกางก็แล้วแต่ชอบ ก่อนตะวันลับลองหาเวลาเดินชมวิถีชาวมุสลิม และชมธรรมชาติรอบเกาะ ตบท้ายวันด้วยมื้ออาหารสุดพิเศษฝีมือแม่ (ของแต่ละ) บ้าน อาหารทะเลสด ๆ รสจัดจ้าน ถึงเครื่องพริกแกง อร่อย อย่าบอกใคร
หากชอบไปนอนพักบ้านเพื่อน ไปเยือนบ้านญาติ และหลงใหลกลิ่นอายทะเล โฮมสเตย์ เอ เกาะมุก ยินดีต้อนรับ
ทะเลตรัง-กระบี่
ทะเลตรัง-กระบี่
2. เกาะมุกยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลาย มีอ่าว หาด และถ้ำรวมกว่า 10 จุด บางแห่งเงียบสงบ ไร้ผู้คน เป็นเพียงทางผ่านของนักท่องเที่ยวไปยังเกาะอื่น ๆ เช่น อ่าวนางเงือก หาดสบาย บางแห่งช่างครึกครื้นด้วยนักท่องเที่ยวหนาตาหลายสัญชาติ มีที่พักให้เลือกหลายแห่ง เช่น หาดฝรั่ง อ่าวกลาง บางแห่งเป็นจุดดำน้ำตื้น เช่น บริเวณหน้าถ้ำใหญ่ ถ้ำเสือ เป็นต้น บางถ้ำบางฟื้นที่เป็นเขตสัมปทานรังนก แม้จะได้รับการการันตีจากชาวประมงพื้นถิ่นถึงความสวยงาม แต่ยังไม่อนุญาตให้เข้าชม
ส่วนถ้ำที่เป็นที่รู้จักของเกาะมุก เรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ที่สำคัญของการเที่ยวทะเลตรัง และเคยถูกบรรจุเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นั่นคือถ้ำมรกต หรือถ้ำน้ำ ถ้ำใหญ่กลางทะเลที่นักท่องเที่ยวต้องรอช่วงน้ำลง แล้วค่อยลอยคอผ่านปากถ้ำ ระยะทางประมาณ 80 เมตร เข้าไปสัมผัสกับหาดทรายเล็ก ๆ และน้ำทะเลใสยามต้องแสงจากปากถ้ำ สะท้อนย้อมตัวถ้ำเป็นสีเขียวมรกตสมชื่อ
แว้บแรกที่เข้ามาถึงคล้ายถูกสะกดจิตให้ยืนนิ่งอยู่กลางปล่องภูเขาไฟบรรยากาศสดชื่นท่ามกลางวงล้อมป่าชายหาด มากมายพรรณไม้ ทั้งหูกวางทะเล เตยทะเล จิกทะเล และตรงผาหินปูนก็เต็มไปด้วยเถาวัลย์และจันทน์ผาขนาดใหญ่หลายต้น ได้อารมณ์เหมือนหลุดหลงเข้าสู่โลกดึกดำบรรพ์
เล่ากันว่าในอดีตถ้ำนี้เป็นที่อยู่ของนกนางแอ่น ทำให้ชาวบ้านเข้ามาเก็บรังนกนางแอ่นในถ้ำนี้จำนวนมาก ต่อมาได้กลายเป็นที่เก็บขุมทรัพย์ของโจรสลัด
"ปิ๊ด ปี๊ ปิ๊ด เฮ... ปิ๊ด ปี๊ ปิ๊ด เฮ..."
เสียงลอดผ่านปากถ้ำมาแต่ไกล เดาได้ถึงปริมาณคนจำนวนมากที่กำลังรวมพลังให้กำลังใจกันและกันเพื่อเร่งเดินทางให้ถึงจุดหมาย ฉันนั่งเงียบ ๆ กับเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนต่างชาติไม่กี่คน รอลุ้นดูต้นเสียงที่จะโผล่พ้นปากถ้ำอันมืดมิดในอีกอึดใจ
แล้วทัวร์กรุ๊ปใหญ่แถวยาวเหยียดกว่าร้อยชีวิตก็กอดคอลอยเข้ามาพร้อมความสนุกสนานเฮฮาตามแบบฉบับเพื่อนฝูง กิจกรรมถ่ายภาพของพวกเขาพาเราเพลินและแอบอมยิ้มอยู่ใกล้ ๆ กลุ่มนี้ผ่านไปกลุ่มใหม่เข้ามา บ้างว่ายน้ำกันมากลุ่มใหญ่ บ้างก็พายคายักเข้ามาสองคน
เงียบ สงบ สนุกสนาน ตามจังหวะของคน และมืด สว่าง ตามจังหวะของก้อนเมฆที่พาดผ่านปากน้ำ นั่งดูนาน ๆ ก็คล้ายละครเวทีนะ ต่างกันที่ละครเรื่องนี้ ไม่เคยเปลี่ยนฉาก เปลี่ยนแต่นักแสดง
ทะเลตรัง-กระบี่
3. "เรือคอนกรีตไอ้เท่มาสร้างรีสอร์ตงั้นแหละตัวดี เสร็จแล้วปล่อยลงเลเพ อีให้น้ำเลมันไม่ร้อนพรือเหลา ปูนโถกน้ำกะเดือดเป็นธรรมดามาโถกปะการังกะขาวแหม็ด" ความเข้าใจเท่าที่ตาเห็นที่ชาวประมงบางคนบอกเรา เมื่อสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของปะการังบริเวณเกาะเชือก ที่วันนี้มีทุ่นกั้นไม่ให้ลงดำน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ตัวกระตุ้นให้เกิดปะการังฟอกขาว
บางทีสิ่งที่ชาวประมงเห็นอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ จับต้องได้ แต่ลึกล้ำในรายละเอียดมากกว่าที่เรารับรู้ เพราะเราต่างมองข้ามรายละเอียด มองเพ่งตรงไปที่ปัจจัยใหญ่ รู้เพียงว่าสถานการณ์นี้เป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน
ด้วยข้อเท็จจริงที่รับรู้ว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอล นิโญ ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเล ซึ่งปกติอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นเป็น 31 องศาเซลเซียส เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งอุณหภูมิที่จัดว่ามีผลต่อการเกิดปะการังฟอกขาวคือ 30.1 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง คอยสร้างสีสันและปกป้องเนื้อเยื่อของสัตว์ ทั้งมีหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารให้ตัวเองและปะการังที่อาศัยอยู่หลุดออกจากปะการัง เมื่อสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลีปะการังจะค่อย ๆ ซีดขาวและตายในที่สุด
ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เรา "ทราบ" แต่ความจริงที่เผชิญอยู่ทำให้พวกเขา "รู้สึก"
เรานั่งเรือต่อไปยังเกาะม้า เกาะรูปร่างคล้ายหัวม้าโผล่ขึ้นมาจากทะเลไม่มีชายหาด เป็นเกาะสัมปทานรังนก และเป็นจุดดำน้ำตื้นที่สวยงาม มากด้วยปลาหลากชนิด โดยเฉพาะปลาสลิดหินหรือปลาลายเสือที่คุ้นชินกับพฤติกรรมรับแขกแปลกหน้าเอามาก ๆ
ทะเลตรัง-กระบี่
หากจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างของเกาะม้าที่เห็นได้ชัดกลับไม่ได้อยู่ใต้น้ำ แต่ปรากฏชัดอยู่ตามหน้าผา บังแก่นชี้ให้เราดูฝูงค้างคาว แม่ไก่นับพันตัวที่ออกมาห้อยหัวนอกถ้ำกลางวันแสก ๆ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบนเรือ
ถัดจากเกาะเชือกเป็นเกาะแหวน จุดดำน้ำลึกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของทะเลตรัง ใต้สมุทรมีประติมากรรมชุดลานสมุทรสุดที่รักและประติมากรรมรูปพะยูน ที่นี่ยังถือเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำลึกภาคสนามของคนตรังอีกด้วย
4. นั่งเรือต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 15 นาที ก็ถึงเกาะไหง แม้จะอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แต่หากเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวแล้วยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อเนื่องในทะเลตรัง
ชายหาดเกาะไหงยาวสุดลูกตา เรียงรายด้วยรีสอร์ตหลากหลายตลอดแนวชายหาดที่หันหน้าต้อนรับเรือนักท่องเที่ยว มีตั้งแต่รีสอร์ตระดับหลายดาวจนถึงกระทั่งเต็นท์แคมป์ ราคาไม่กี่ร้อยบาท มีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะบริเวณอ่าวทอง และมีแหลมเจ้าแม่กวนอิม อยู่ทางด้านทิศใต้ ยามเย็นนั่งมองพระอาทิตย์ตกจากมุมนี้ก็สวยดีไม่เบา
ทะเลตรัง-กระบี่
แล้วทริปทะเลตรังของวันนี้ก็มาจบลงที่เกาะกระดาน เกาะเรียวยาวราวแผ่นไม้ลอยเวิ้งว้างกลางทะเล แบนราบนิ่งเงียบ โยกตัวตามแรงคลื่นปริ่มอิ่มน้ำทว่าไม่เคยจม
เกาะกระดานถือเป็นเกาะที่มีชายหาดสวยที่สุดแห่งหนึ่งของหมู่เกาะทะเลตรัง น้ำทะเลสีฟ้าใสตัดกับสีน้ำเงินจัดอย่างชัดเจน ริมชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสน มีชิงช้าไม่ได้ต้นหูกวางทะเลเป็นจุดดึงดูดความสนใจ ที่ใครต่อใครอยากลองนั่งสักครั้ง ด้วยความงามนี้เอง ทำให้เกาะกระดานถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานวิวาห์ใต้สมุทร ตั้งแต่ปี 2539
พื้นที่เกาะกระดานถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านตะวันออก เป็นส่วนที่ตั้งองหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หน่วยที่ 3 (เกาะกระดาน) น้ำใสแจ๋ว เพียงแค่ว่ายออกไปไม่ไกลจากชายฝั่ง ก็สามารถดำดูปะการังน้ำตื้นได้ พื้นที่อีกส่วนจะเป็นของเอกชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของรีสอร์ตหลายเจ้า
ทะเลตรัง-กระบี่
ด้านทิศใต้มีอ่าวเมือง หรืออ่าวนางฟ้า หาดทรายยาว 800 เมตร มีรีสอร์ตเงียบ ๆ ซ่อนตัวอยู่ และหน้าชายหาดมีแนวปะการังแข็งค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนด้านทิศตะวันตกมีหาดอ่าวช่องลม สามารถเดินทะลุผ่านได้จากชายหาดด้านตะวันออก เป็นหาดเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ เต็มไปด้วยโขดหิน จากจุดนี้สามารถมองเห็นเกาะรอกได้ ฉันว่าเป็นอีกจุดที่เหมาะจะนั่งสบาย ๆ ชมพระอาทิตย์ตก
"แขบหลบกันดีหวา ลมมาแล้ว" ท่าทางนิ่งแต่จริงจังของบังแก่น ทำให้พวกเรารีบถอนตัวจากชายหาดแบบงง ๆ
แล้วก็ไม่ผิดจากสัญชาตญาณของชาวเล เราเผชิญหน้ากับคลื่นใหญ่เข้าอย่างจัง เพิ่งเข้าใจที่กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า "คลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กงดออกจากฝั่ง" ก็วันนี้เอง นั่งเรือเที่ยวนี้เสียวกว่านั่งเรือไวกิงที่ดรีมเวิลด์หลายเท่า
คลื่นลูกแล้วลูกเล่าโยนตัวพวกเราลอยสูงแล้วปล่อยทิ้งให้ตกกระทบหัวเรือตามมีตามเกิด ในขณะที่บางคนหลับตาเพื่อลดความตื่นเต้น บางคนเปลี่ยนความกลัวเป็นความมัน บางคนยังกรีดเสียงร้องด้วยความหวาดเสียว แต่บังแก่นชายผู้ถือหางเสือ เขากลับ "ตื่นรู้" อยู่ทุกขณะพาเรือหางยาวหลบหลีกลูกคลื่น ผ่อนหนักผ่อนเบาให้กลมกลืนกับจังหวะพลิ้วของคลื่น แลไม่อาจละสายตาจากลอนคลื่นได้แม้แต่วินาทีเดียว
สายฝนโปรยลงมาหนักขึ้น และหนักขึ้น บังแก่นนำเรือไปพักหลบหลังเกาะ เพราะประเมินแล้วว่าหากฝืนคลื่นลมต่อไป คงไม่ดีแน่ เป็นนาทีที่ได้หยุดนิ่งลอยลำกลางทะเล ยืนท้ายเรือมองสายฝนเต็มตาครั้งแรกในชีวิต แลปกนะทั้งที่อยู่ใต้ฟ้า แต่ก็เพิ่งเห็นสายฝนตกจากฟ้าดิ่งตรงถึงทะเลเต็มตาก็คราวนี้ สวยเหลือเชื่อ
5. "เอ้ย...เหี้ยจริง ๆ"
"แบบนี้ไม่ใช่เหี้ย...เขาเรียกว่าแลนครับ" หาใช่บทสนทนาอันหยาบคาบของฉันกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรอกนะ
หากแต่เป็นคำอุทยานแรกเมื่อได้สัมผัสกับความสมบูรณ์ของธรรมชาติบนเกาะรอกในวินาทีที่เจอเพื่อนรักสัตว์ป่าอย่างตะกวด หรือแลนในภาษาถิ่นแบบไม่ทันตั้งตัว ขอบอกว่ามันใหญ่และเป็นมิตรเอามาก ๆ
เกาะรอกอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ใช้เวลานั่งเรือหางยาวจากเกาะมุกประมาณ 2 ชั่วโมง ประกอบด้วย 2 เกาะ คือ เกาะรอกนอกและเกาะรอกใน มีร่องน้ำระหว่างสองเกาะ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำตื้น
เกาะรอกนอกเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลต. 1 (เกาะรอก) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา สภาพโดยทั่วไปร่มรื่นด้วยป่าชายหาด มีที่พักทั้งแบบบ้านพักและเต็นท์ ตอนนี้ในส่วนของบ้านพักปิดปรับปรุง ยังไม่มีกำหนดการแล้วเสร็จ แล้วเต็นท์มีให้เลือกหลายขนาด ราคาตั้งแต่ 400-1,200 บาท มีร้านค้าสวัสดิการ ห้องน้ำห้องส้วมพร้อม
จากภาพฝรั่งนอนเย้ยแดดเต็มหาดตรงอ่าวม่านไทร หน้าหน่วยพิทักษ์ฯ ในตอนกลางวันกลายเป็นภาพความเงียบสงบในตอนเย็น ช่วงเวลานี้อยากให้ลองเอาเท้าสัมผัสทรายที่นี่สักครั้ง เดินไปเรื่อย ๆ จากอ่าวม่านไทรยาวไปถึงหาดทะลุ มันเป็นสัมผัสที่แสนนุ่ม บางเบา จนได้ยินเสียงชิก ชิก ของเม็ดทรายทุกครั้งที่ย่ำเหยียบ น่าอัศจรรย์ใจดีจัง
ยามเย็นหากยังมีแรงเหลือ อยากให้ลองขึ้นไปบนจุดชมวิวของเกาะรอกนอก มีบันไดขึ้นถึงจุดสูงสุด ใช้เวลาเดินแบบรวดเดียวจบประมาณ 20 นาที
ข้างบนนั้นฉันพบความงาม มันเป็นความงามที่เกิดจากความนิ่งความว่างเปล่า มองลงมาข้างล่างเห็นเรือยอตช์ ลำที่รู้สึกว่าใหญ่นักหนา เมื่อครั้งมองจากระนาบเดียวกัน ตอนนี้ดูเหมือนเป็นจิงโจ้น้ำตัวเล็ก ๆ ที่วิ่งทวนกระแสน้ำวนอยู่ในทะเลใหญ่ ป่วยการที่จะหยิ่งทะนง
เมื่ออาทิตย์ลับฟ้า โปรดใช้ความระมีดระวังในการเดนิลงจากจุดชมวิว เพราะระยะห่างระหว่างขั้นบันไดสูงเกินมาตรฐานความยาวของขาคนไทยอยู่โข ทางที่ดีค่อย ๆ ลง และอย่าลืมไฟฉายเป็นอันขาด
ทะเลตรัง-กระบี่
เกาะรอกยังมีปูเสฉวนเดินโชว์โซซัดโซเซ และแลนตัวใหญ่เท่าจระเข้รอทักทาย...
ตลอดระยะเวลาสี่ห้าวัน ที่ฉันหลับ ๆ ตื่น ๆ กลางทะเลตรัง ทะเลกระบี่
ฉันพบว่าชีวิตที่แวดล้อมด้วยทะเลไม่เคยหลับใหล
ชาวเล...ตื่นรู้ทุกวินาทีที่ถือหางเสือ
ชาวเล...ตื่นก่อนน้ำลง ยืดโยงเวลาไว้กับธรรมชาติมากกว่ากลไก
ทะเล...ตื่นรับทุกชีวิตอย่างราบเรียบ แม้เมื่อวานจะเกรี้ยวกราดเพียงใด
ส่วนทะเลตรัง-กระบี่ ... ตื่นรับนักท่องเที่ยวด้วยความยินดีเสมอ
อีกคืนที่ฉันอยากตื่นอยู่กลางทะเลแห่งนี้ เพราะกลัวการจากลายามลืมตาจะมาถึงเร็วเกินไป
ทะเลตรัง-กระบี่
ขอขอบคุณ
ททท. สำนักงานตรัง
ที่เอ ศักยะ ดำย่ำ / ครอบครัวบังแก่น หญ้าปรัง / สมาชิกโฮมสเตย์ เอ เกาะมุก
พี่ชายนายท้ายเรือ ที่พาเราดิ่งตรง 3 ชั่วโมงรวดจากเกาะรอกสู่แผ่นดินใหญ่ และมิตรชาวตรังทุกคนที่มีส่วนช่วยให้สารคดีเรื่องนี้ลุล่วงด้วยดี
คู่มือนักเดินทาง
หมู่เกาะทะเลตรัง ที่นำเสนอในเรื่องนี้ บางเกาะอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เช่น เกาะมุก เกาะแหวน เกาะกระดาน เกาะเชือก และแม้บางเกาะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เช่น เกาะม้า เกาะไหง เกาะรอก แต่หากนับเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกัน สามารถเดินทางได้สะดวกจากจังหวัดตรัง และนับรวมเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหมู่เกาะทะเลตรังได้
การเดินทาง
รถยนต์ แนะนำให้เลือกเส้นทางสายใหม่ที่ไม่ต้องผ่านจังหวัดพังงาและกระบี่ระยะทางรวมประมาณ 828 กิโลเมตร คือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดชุมพร ไปถึงจังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อถึงทางแยกเข้าเมืองชุมพร ให้ขับไปตามทางหลวงหมายเลข 41 ไปทางจังหวัดสุราษฏร์ธานี ขับไปจนถึงอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 403 จะผ่านอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และกลับมาใช้ทางหาลวงหมายเลข 4 เพื่อเข้าตัวเมืองตรังอีกครั้ง
รถไฟ มีเส้นทางรถไฟไปถึงตัวเมืองตรัง ส่วนรถไฟท้องถิ่นจะไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟกันตัง ถือเป็นจังหวัดเดียวในแถบอันดามันที่สัญจรโดยรถไฟได้ จากหัวลำโพงถึงจังหวัดตรังใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง ได้บรรยากาศเรื่อย ๆ สบาย ๆ ชมบรรยากาศสองข้างทางเพลินดี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 1690 เว็บไซต์ http://www.transport.co.th/
รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายใต้ (บรมราชนนี) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 เว็บไซต์ http://www.transport.co.th/
เครื่องบิน มีสายการบิน 3 สายการบิน ได้แก่
การบินไทย โทรศัพท์ 0 2356 1111 เว็บไซต์ http://www.thaiairways.co.th/
สายการบินนกแอร์ โทรศัพท์ 1318 เว็บไซต์ http://www.nokair.com/
สายการบินโอเรียนท์ไทย โทรศัพท์ 1126 เว็บไซต์ http://www.orient-thai.com/
เมื่อถึงตัวเมืองตรังจะแวะเที่ยวแวะนอนในจังหวัดตรังสักหนึ่งคืน แล้วค่อยเดินทางต่อไปยังท่าเรือก็ได้ ท่าเรือที่เป็นที่นิยมในการเดินทางท่องทะเลตรังคือท่าเรือปากเมง อยู่ในอำเภอสิเกา ห่างจากตัวเมืองฯ 38 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทะเลตรัง มีแพ็กเกจทัวร์ของหลายบริษัทจำหน่าย อีกที่คือท่าเรือควนตุ้งกู อำเภอกันตัง มีเรือโดยสารและเรือเหมาะลำไปยังเกาะมุก
แต่หากอยากลองสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมง ซึมซับความงามของชาวบ้านเกาะมุก นอนพักที่อบอุ่น เที่ยวทะเลตรังในแบบที่คุณสามารถออกแบบการเดินทางได้ด้วยตัวเองที่สำคัญ ราคามิตรภาพ แนะนำให้ติดต่อกลุ่มโฮมสเตย์ เอ เกาะมุก โทรศัพท์ 08 0647 0905 อีเมล sakaya_a@hotmail.com หรือติดต่อ ททท. สำนักงานตรัง โทรศัพท์ 0 7521 5867, 0 7521 1058 อีเมล tattrang@tat.or.th
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
หนังสือ อสท ปีที่ 51 ฉบับที่ 8 มีนาคม 2554