x close

ตลาดเก่าสามชุก ทุกวันนี้เต็มไปด้วยสีสัน

 


สามชุก

 

ตลาดเก่าสามชุก ทุกวันนี้เต็มไปด้วยสีสัน  (อ.ส.ท.)

โดย  ปิยะฤทัย  ปิโยพีระพงศ์

          8 โมงเช้า ฉันเดินทางออกจากบ้านสวน ที่พักร่มรื่นในเขตอำเภอสามชุก ที่นอกจากบ้านพักแต่ละหลังจะเป็นส่วนตัวและให้อารมณ์สบายๆ เหมือนอยู่บ้านแล้ว อาหารยังอร่อยมากจนถึงขนาดเพื่อนร่วมทางบอกว่า "วันหลังขับรถมากินข้าวที่นี่กันเถอะ" เลยที่เดียว แม้ว่าบ้านสวนจะตั้งอยู่ลึกจากทางหลวงหมายเลข 340 เข้ามาในทุ่งนาค่อนข้างลึก แต่บรรยากาศและการต้อนรับอย่างอบอุ่นของคุณวารี ถึกเจริญ ผู้เป็นเจ้าบ้าน ก็ทำให้ระยะทางนั้นใกล้กว่าความเป็นจริง
 

     


          จากบ้านสวนไม่ถึง 15 นาที ฉันก็มาถึง สามชุก หรือ สามชุก ตลาดร้อยปี จังหวัดสุพรรณบุรี แม้วันนี้ไม่มีเรือจอดเรียงราย แต่ทั่วตลาดสามชุกก็พลุกพล่านด้วยผู้คนตลอด 5 ซอย ที่ตั้งขนานกันมีสารพันร้านรวงเปิดขายของ ส่วนมากเป็นข้าวของย้อนยุคสามชุกเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวแล้ว ณ วันนี้

 


สามชุก

 

 
          ต่ำจากป้าย "สามชุก ตลาดร้อยปี" มีผู้คนเดินขวักไขว่ในแสงสายของวัน แน่นอนว่าที่นั่งในร้านกาแฟท่าเรือส่งย่อมถูกจับจองด้วยสภากาแฟรุ่นเก๋าของสามชุก กับอีกบางโต๊ะตกเป็นของนักท่องเที่ยวต่างถิ่น นี่คือหนึ่งในร้านดังที่ใครมาถึงสามชุกแล้วมักไม่พลาด

          เมื่อโต๊ะยังไม่ว่าง ฉันจึงเดินเลยเข้าไปด้านในตามถนนเลียบนที ที่มีร้านค้าตั้งเรียงเป็นแถวทั้งซ้ายและขวา ร้านขายของกินที่ตั้งเรียงรายสองฝั่งล้วนชวนให้อยากหยิบเงินออกมาจ่าย ไม่ว่าจะเป็นทองม้วนงาดำ ปลาสลิดพี่จิต น้ำพริกแม่กิมลั้ง ฯลฯ

          มาถึงตลาดสามชุก สถานที่ที่ต้องแวะเข้าไปทำความรู้จักชุมชนนี้ก่อนที่อื่นใดคือ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งดัดแปลงห้องแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ของขุนจำนงฯ คหบดีชาวจีนในสมัยรัชการที่ 6 มาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างเปิดประตูบานพับทับซ้อนจนสุดขอบประตู เผยให้เห็นพื้นกระเบื้องลายคลาสสิก โต๊ะตัวใหญ่วางโมเดลตลาดสามชุกโดยมีกล่องกระจกครอบคลุมไว้ และภาพนิทรรศการเต็มผนัง ส่วนชั้น 2 นั้นเป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของขุนจำนงฯ และส่วนแสดงห้องนอนของคหบดีผู้มั่งคั่งของสามชุกสำหรับชั้น 3 เป็นส่วนของห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน

 


สามชุก
 

          ออกจากพิพิธภัณฑ์ฯ แล้วเดินต่อไปในซอย 2 ยิ่งสายบรรยากาศก็ยิ่งคึกคัก หันไปหันมาก็เจอโรงแรมอุดมโชค ซึ่งอีกไม่นานนี้จะเปิดให้เข้าพักรับบรรยากาศของตลาดร้อยปีกันแบบวันชนวัน ถัดไปอีกนิดเดียว ร้านมาหาสนุกคือสีสันสดใสที่ย้อยวัยวันให้คนอายุ 30 ขึ้นไป ได้อมยิ้มกับของเล่นสีฉูดฉาด ขณะเดียวกัน เด็กๆ ก็ให้ความสนใจกับของเล่นพลาสติกสารพัดสารพันอันละไม่กี่บาทในร้านนี้

 


สามชุก

 

          แค่ซอย 2 ซอยเดียวก็เดินเพลิน ไหนจะยังมีร้านขายข้าวของเครื่องใช้แบบเก่าที่เห็นแล้วคิดถึงวัยเด็ก เดินกันจนหิวมาถึงสุดซอยที่ตัดกับถนนมิตรสัมพันธ์ ก็เจอร้านยินดี ข้าวห่อใบบัว อยู่ตรงหัวมุมพอดี๊พอดี ห่อใบหัวที่ถูกมีดกรีดเปิดออกให้เห็นไข่แดงมันฉ่ำ แครอตส้มสด เม็ดบัวเหลืองนวล เห็นหอมสีน้ำตาลหม่น โปะอยู่บนข้านอบที่ส่งไอร้อนพร้อมกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย จึงไม่ต้องแปลกใจเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวยืนออรอซื้ออยู่หน้าร้านจนแน่นเอี้ยด

 


สามชุก

 

 

          ยังมีอีก 4 ซอยที่รวมชีวิตชีวาของตลาดเก่าสามชุกไว้อย่างน่าเที่ยว เดินกันได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ อย่างซอย 3 มีร้านฮกอันโอสถ ร้านขายยาแผนโบราณ และร้านศิลป์ธรรมชาติ ที่รับถ่ายรูปย้อนยุก ส่วนซอย 5 ไปแล้วต้องไม่พลาดร้านไพศาลสมบัติที่เต็มไปด้วยของเก่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ร้านพี่มนูญ ร้านทองมีชัยขายทองโบราณ พอเลยไปถึงซอย 5 ซึ่งเดิมเคยเป็นท่าถ่าน มีโรงตีเหล็ก ช.เจริญพานิช ที่น่าเดินไปดูบรรยากาศเก่า ๆ

          ยังไม่ทันได้เดินทั่วตลาด สายตาก็ปราดไปเห็นใบปลิวชวนล่องเรือเอี้ยมจุ๊น ชมบรรยากาศริมน้ำท่าจีน ฉันรีบชักชวนพรรคพวกไปลงเรือที่ท่าหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ราคาแค่คนละ 59 บาทเท่านั้นเอง

 

 


สามชุก


 
 

          วันนี้ ลุงมนูญ ขาววิเศษ กรรมการพัฒนาตลาดสามชุกมาเป็นไกด์ให้เรา ความช่างคุยช่างเล่าของลุงทำให้บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างริมน้ำที่ตั้งอยู่ของมันเฉยๆ กลับกลายเป็นมีชีวิตขึ้นมาในทันใด เพลินชมวิวและเพลินฟังลุงบรรยายจนผ่านวัดสามชุกมาได้สักพัก เรือก็หักหัวเข้าเทียบฝั่งไปนมัสการหลวงพ่อธรรมจักรและชม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสามชุกที่เราผ่านมา โดยวัดสามชุกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ.2498

          พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสามชุก มากมายด้วยข้าวของโบราณ ทว่าสิ่งที่เด่นที่สุดคือรอยพระพุทธบาทจำลองโบราณทำด้วยทองเหลือง ที่วันนี้ร่องรอยไม่ครบส่วน เพราะถูกโจรมือ (ไม่) ดีตัดรอยพระพุทธบาทบางส่วนออกไปขายเสียแล้ว

          กลับมาถึง ตลาดสามชุก ราวบ่ายกว่า ลุงมนูญยังมีเรี่ยวแรงเหลือเฟือ อาสาพาเราไปเที่ยววัดบ้านทึงและวัดบางแอก ตามที่คุณอรุณลักษณ์ อ่อนวิมล หนึ่งในคณะกรรมการพัฒนา ตลาดสามชุก แนะนำไว้



สามชุก


          วัดบ้านทึง เป็นวัดเก่าแก่ สร้างคู่กันมากับวัดสามชุกสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2020 โดยมีปูชนียสถานปรากฎอยู่มากมาย เช่น วิหารและหอไตร สร้างจากศิลาแลงรูปปั้นยักษ์เวสสุวรรณ ซึ่งอยู่พบอยู่ริมแม่น้ำ ทุกวันนี้ยกไปตั้งไว้หน้าวัด ส่วนในโบสถ์นั้นประดิษฐานพระประธานปางป่าเลไลยก์องค์ใหญ่

 

 


สามชุก


          ถัดจากวัดบ้านทึงไปตามทางหลวงหมายเลข 340 อีกไม่กี่กิโลเมตร ถือวัดบางแอก วัดสร้างสมัยอู่ทอง สิ่งที่หลงเหลือให้เห็นคือพระพุทธรูปในศาลาที่มีผู้คนศรัทธามากราบไหว้จนกลิ่นธูปควันเทียนอบอวล รวมทั้งมีพวงมาลัยเต็มล้นศาลาริมทางหลวง

 

 


สามชุก


          สามชุก วันนี้จึงไม่ได้มีเพียงตลาดร้อยปีให้ไปเที่ยว แต่ยังมีวัดวาอารามที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของสุพรรณบุรีผ่านโบราณวัตถุสถานและตำนาน เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ตามรอยเติบโตของบ้านเมือง


แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตลาดเก่าสามชุก ทุกวันนี้เต็มไปด้วยสีสัน อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:08:30 6,819 อ่าน
TOP