x close

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย



อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ( อ.ส.ท.)

          ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๕ ไร่ ชื่อ "พิมาย" น่าจะมาจากคำว่า "วิมาย" หรือ "วิมายปุระ" ที่ปรากฏในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิมาย และยังปรากฎชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนสถาน

          ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ต่างจากปราสาทหินอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอม ซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้

          จากหลักฐานศิลาจารึก และศิลปะการก่อสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงจะเริ่มสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ รูปแบบทางศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นแบบบาปวน ซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น โดยมีลักษณะของศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปนอยู่บ้างและมาต่อเติมอีกครั้งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรขอม  ปราสาทหินแห่งนี้สร้างเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานมาโดยตลอด เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

โบราณสถานที่น่าสนใจ

          สะพานนาคราช เมื่อเข้าไปเยื่ยมชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นส่วนแรก จะเห็นสะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตูด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน   ซึ่งเป็นส่วนหน้าของปราสาท
ซุ้มประตู   และกำแพงชั้นนอกของปราสาทถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตู หรือที่เรียกว่าโคปุระของกำแพงปราสาท   ด้านทิศใต้ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท และมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก ๓ ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก


         
          ซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน (ระเบียงคด) ซุ้มประตูและกำแพงชั้นในแตกต่างจากกำแพงชั้นนอก คือก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันคล้ายเป็นทางเดิน มีหลังคาคลุม อันเป็นลักษณะที่เรียกว่าระเบียงคด
         
          ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคด เป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้องค์ปรางค์สูง ๒๘ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองยาวด้านละ ๒๒ เมตร ปรางค์ประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์

          ปรางค์พรหมทัต ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธานเยื้องไปทางซ้าย สร้างด้วยศิลาแลง มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้าง ๑๔.๕๐  เมตร สูง ๑๕ เมตร สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

          ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ทางด้านขวา สร้างด้วยหินทรายสีแดง กว้าง ๑๑.๔๐ เมตร สูป ๑๕ เมตร มีมุขยื่นออกไปเป็นทางเข้าทั้ง ๔ ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะ ตอนกรรณะล่าหมูป่า

          อุทยานประวัติศาสตร์พิมายเปิดอย่างเป็นทางการเมื่องวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน  เปิดให้เข้าชมทุกวัน  เวลา ๐๗.๓๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๔๐ บาท มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยานำชมสถานที่ฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๔๔๔๗ ๑๕๖๘

          การเดินทาง จากตัวเมืองนครราชสีมาใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ถึงทางแยกตลาดแค เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๖ ประมาณ ๑๐ กิโลโเมตร

แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ

 


ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:58:39 8,132 อ่าน
TOP