x close

สมุทรสงคราม เยือนถิ่นพื้นบ้านไทยไม่ไกลกรุง


สมุทรสงคราม

 

สมุทรสงคราม เยือนถิ่นพื้นบ้านไทยไม่ไกลกรุง  (อสท.)

โดย : วิมล  อังสุนันทวิวัฒน์

          นอกจากวิถึชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้ว สมุทรสงครามยังมีสถานที่อันเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ตลอดจนศิลปกรรมอันล้ำค่าที่ซุกซ่อนอยู่ตามวัดวาอาราม รอคอยให้นักท่องเที่ยวที่รู้จักคุณค่าของความงามไปเยี่ยมชม

          แสงตะวันทอประกายเรื่อเรืองจับขอบฟ้าทีละน้อย กลิ่นอายสดชื่นยามเช้ากระจายไปทั่วบริเวณสองฝั่งน้ำอันนิ่งสงบมาตลอดราตรีมืดทะมึน ผู้คนตามบ้านเรือนที่แทรกตัวอยู่ในสวนรถครึ้มค่อย ๆ เริ่มกิจกรรมประจำไปตามจังหวะก้าวแรกแห่งวันอย่างเรียบง่าย นกนานาชนิดส่งเสียงร้องดังแว่วประสาน ปลุกให้ชีวิตที่ยังหลับใหลตื่นจากนิทราอันแสนสุข ขณะที่พระตามวัดต่างๆ พากันพายเรือออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ อันเป็นกิจวัตรที่เห็นกันจนเจนตาสำหรับชาวแม่กลอง ณ จังหวัดสมุทรสงคราม

         
วิถีชีวิตชาวน้ำเฉกเช่นนี้พร่าจางจากชาวเมืองหลวง ซึ่งเคยได้สมญานาม "เวนิสตะวันออก" ไปแสนนาน...นานพอที่จะให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความตื่นตะลึง...ฤๅความถวิลไห้อาลัยหวน...เมื่อได้สัมผัสบรรยากาศนั้นอีกคราภาพวันวานของเจ้าพระยาเลื่อนไหลฝากรอยไว้ในสายน้ำแม่กลอง ก่อนจะหลากล้นออกสู่ปากอ่าวทะเลใหญ่...

 

ชีวิตไทยกับสายน้ำ

 

          ยามเช้าบรรยากาศชื่นกำลังสบาย กิจกรรมท่องเที่ยวของเมืองแห่งสายน้ำหนีไม่พ้นที่จะต้องเสาะหาตลาดนัดทางน้ำ เมืองแม่กลองในอดีตเคยมีตลาดนัดทางน้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำบางน้อย ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ยังลอยเรือมาค้าขายสินค้า ซึ่งสืบทอดกันมาหลายชั่วคน เป็นตลาดของชาวบ้านจริงๆ ที่ไม่ได้จัดฉากไว้คอยท่านักท่องเที่ยวเท่านั้น ตลาดแห่งนี้คือ ตลาดน้ำท่าคา

 


สมุทรสงคราม

 

         คนที่พายเรือมาค้าขายส่วนใหญ่เป็นชาวสวนบ้านอยู่ริมคลอง หลายคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ตลาดนัดบนบกสะดวกสบายกว่ามาก เพราะถนนหนทางเข้าสู่เรือกสวนอย่างทั่วถึง ตลาดหลายแห่งเลิกนัดในน้ำ ไปขายบนบกกันหมด ยกเว้นที่นี่เพราะบ้านสวนแถวนี้พายเรือออกมาได้สะดวกดี

 

          ตลาดนัดที่นี่สวนใหญ่เป็นเรือพาย แม่ค้าหลายคนอายุร่วม ๆ ร้อยปีกันแล้ว บางคนก็พายเรือมาขายที่นี่ตั้งแต่สาวจนแก่คาตลาดกันไปเลย เพราะที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งทำมาหากินแล้ว ยังเปรียบเสมือนสถานที่นัดพบของชาวบ้านละแวกใกล้ไกล เดินทางมาพบปะสังสรรค์สนทนาสารทุกข์สุกดิบประสาคนรู้จักมักคุ้น บางนัดแม่ค้าพ่อค้าคนไหนหายหน้าไป ก็จะพายเรือไปมาถามไถ่กันให้วุ่น

 

          แม่ค้าพ่อค้าส่วนใหญ่นำสินค้าที่เป็นผลิตผลจากสวนมาขายเอง ไม่ต้องซื้อหาจากที่ไหน มีบ้างที่เป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดใช้ในชีวิตประจำวัน บางทีก็เอามาแลกเปลี่ยนกัน เช่นแม่ค้าขายขนมจะเอื้อนเอ่ยถามแม่ค้าขายหมากพลูอย่างรู้ใจว่า "เอาอย่างเคยใช่ไหม" แล้วรีบตัดใส่ห่อให้ แม่ค้าหมากก็จะบอกให้เลือกเอาหมากลูกที่ชอบใจแล้วตัดส่งให้ไม่รีรอ คนที่นี่ลอยเรือค้าขายถ้อยทีอาศัยอย่างยิ่ง ช่วยกันหยิบของ ช่วยกันส่งเงินทอน หากเห็นลูกค้ารีรอไม่ตัดสินใจซื้อ ก็จะโอภาปราศรัยไปเรื่อยๆ แนะนำสินค้าบ้าง บางทีก็รีบลดราคาโดยไม่ต้องต่อรอง

 

          หากอยากสัมผัสบรรยากาศชาวบ้านแบบนี้ ตลาดน้ำท่าคาอยู่ที่คลองพันลา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 325 จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 เลยทางแยกวัดเกาะแก้วไปเล็กน้อย จะมีทางแยกขวามือไปอีก 5 กิโลเมตรถึงตลาดน้ำ ก่อนถึงตลาดน้ำจะผ่านเตาตาหวาน เตาไทยเดิม เตาตาลผู้ใหญ่ฯ อุไร สองข้างทางเป็นสวนกล้วย สวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ ร่มรื่นมาก ตลาดนัดจะมีทุกวันขึ้นและวันแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ช่วงเวลา 06.00-11.00 น. วันเสาร์และอาทิตย์มีนัดเหมือนกัน แต่มีเรือไม่มากเท่าวันอื่นๆ

 

          หลังจากเที่ยวชมและซื้อสินค้าพื้นบ้านที่ตลาดน้ำแล้วสามารถและชมการผลิตน้ำตาล หรือภาพชีวิตชาวสวนมะพร้าวได้ ทั้งทางรถยนต์และล่องเรือพายเข้าไปชมถึงสวน เตาตาล คือสถานที่ทำน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญของคนที่นี่โดยเฉพาะบริเวณสองข้างทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-ดำเนินสะดวก) และเส้นทางสมุทรสงคราม-บางแพ ตำบลบางกระบือ และตำบลบางพรหม อำเภอบางคนที ช่วงเวลาที่มีการเคี่ยวน้ำตาล คือตอนเช้าประมาณ 08.30-12.00 น. ชาวบ้านจะออกไปเก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวที่มีกระป๋องรองรับเอาไว้มารวมกัน เคี่ยวในกระทะใบใหญ่จนแห้ง เมื่อชมการผลิตแล้วยังสามารถเที่ยวชมความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยรอบได้ เตาตาลที่นิยมเที่ยวชมคือเตาตาหวาน เตาตาลดี เตาทวี เตากาหลง และเตาไทยเดิม

 

ย้อนอดีตไฟสงครามใต้ผืนน้ำสงบ

 

          ใต้ร่มเงาไม้เขียวครึ้ม ผืนน้ำนิ่งใสไหลเรื่อย ๆ ไปตามลำคลอง จากภาพชีวิตชาวน้ำล่องเลาะไปเที่ยวชมความงามของวัดต่างๆ กันบ้าง ที่นี่มองไปทางไหนจะเห็นวัดเรียงรายอยู่ทั่วไป วัดเก่าแก่หลายแห่งมีตำนานน่าสนุกทีเดียว

 

          จากคำเล่าขานรุ่นสู่รุ่นเกี่ยวกับสภาพบ้านแตกเพราะไฟสงครามเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า จนกระทั่งถึงกาลสิ้นยุคความรุ่งเรืองของอาณาจักรแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนเหนือจวบจนถึงยุคดิจิตอลที่ผู้คนคงจินตนาการกันไม่ถูกว่าการสู้รบชนช้างฟันดาบบนหลังม้าเป็นอย่างไรถ้าไม่ได้ไปดูภาพยนตร์เรื่อง "บางระจัน" เมืองแม่กลองมีสถานที่หลายแห่งเป็นประจักษ์พยานให้คนรุ่นเราได้สัมผัสย้อนบรรยากาศการหนีพม่าของคนรุ่นทวด

 

          เริ่มจากที่ค่ายบางกุ้ง เป็นค่ายทหารเรือที่เกิดวีรกรรมโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนำพลร่วมกันขับไล่พม่า ที่แห่งนี้มีโบสถ์สมัยกรุงศรีอยุธยาปกคลุมด้วยต้นไทรรกครึ้มไปทั้งหลัง ภายในมีหลวงพ่อนิลมณี อันศักดิ์สิทธิ์เป็นพระประธาน ภายนอกประดิษฐานพระบรมรูปพระเจ้าตากสินมหาราช มีมะม่วงต้นใหญ่ 2 ต้น ดูแปลกตาตรงที่ลักษณะโค้งเข้าหากันคล้ายซุ้ม ตรงหน้าวัดมีคลองไหลผ่าน สามารถไปให้อาหารปลา นก และสุนัขที่มาชุมนุมกันได้

 

          แม้แต่วัดประจำจังหวัดยังมีประวัติการหนีภัยพม่า คือวัดเพชรสมุทรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อยู่ริมแม่กลอง สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองเดิมชื่อ "วัดศรีจำปา" ในปี พ.ศ.2307 พม่ายกทัพไปตีเพชรบุรี ชาวบ้านที่นั่นอพยพมาอยู่เหนือวัด แล้วเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแหลม" ตามชื่อบ้านเดิมของตนเอง ขณะนั้นวัดทรุดโทรมมาก เมื่อชาวบ้านพากันบูรณะเสร็จแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบ้านแหลม"

 


สมุทรสงคราม

 

          พระประธานของวัดมีตำนานเล่าว่าชาวบ้านแหลมมีอาชีพทำประมง ออกไปตีอวนในอ่าวแม่กลอง พบพระพุทธรูปติดอวนมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สร้างในสมัยสุโขทัยตอนกลาง ขนาดสูง 170 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลือง ข้อพระกรทำเป็นสองท่อนสวมได้ แต่บาตรหายไป จึงนำมาประดิษฐานไว้ เรียกกันว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" ซึ่งเป็นพระคู่เมือง ในเทศกาลตรุษจีน สงกรานต์ และสารทไทยจะจัดงานประจำปี

 

          ในปี พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร" นอกจากนี้ยังมีพิธภัณฑ์สงฆ์จัดแสดงพระพุทธรูปและพระเครื่องสมัยต่างๆ โบราณวัตถุ เครื่องลายคราม ธรรมาสน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ให้ชม

 

          หากอยากชื่นชมศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายแบบเต็มอิ่มควรแวะเวียนไปที่วัดบางกะพ้อม ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 325 ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายสมุทรสงคราม-บางแพ ถัดจากหลักกิโลเมตรที่ 38 เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 200 เมตร

 

          วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เล่ากันว่ามีคหบดีครอบครัวหนึ่งหนีพม่ามาแอบบังกระพ้อมอยู่ เมื่อรอดพ้นอันตรายจึงสร้างวัดขึ้น จุดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตชาวพุทธ เมื่อมีภัยได้อาศัยศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ พอพ้นภัยนิยมทำบุญใหม่ด้วยการสร้างวัด นอกจากจะเชื่อว่าได้กุศลแรงแล้ว ยังเป็นประจักษ์พยานสู่คนรุ่นหลังถึงเหตุการณ์สำคัญของชีวิต วัดนี้ได้รับการบูรณะต่อมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีวิหารรอยพระพุทธบาทจำลองซ้อนกันอยู่สวยงามมาก รอบพระพุทธบาทชั้นในทำด้วยแผ่นไม้มะเกลือขนาดใหญ่ฝังมุกลวดลายวิจิตร

 

          ผนังด้านในของวิหารเป็นจิตรกรรมฝาผนังนูนลายปูนปั้นศิลปะจีนปนไทย บรรยายภาพพระพุทธประวัติ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ภาพการทำสวนผลไม้และวิถีชีวิตชาวสมุทรสงครามงดงามดูมีชีวิตชีวามาก ที่นี่ภาพฝาผนังได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพดีพอสมควร

 

ถิ่นสำคัญบรรพกษัตริย์ไทย

 

          เมื่อพูดถึงอัมพวาแล้วไม่รู้จักอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดูจะเชยเอามากๆ เพราะสถานที่แห่งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดและชมงานช่วงเทศกาลในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีการถ่ายทอดแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์โดยตลอด สถานที่นี้จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ

 

          ที่นี่มีเนื้อที่ 11 ไร่ การเดินทางไปยังอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ถึงกิโลเมตรที่ 63 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 325 ผ่านจังหวัดสมุทรสงครามไปอีก 6กิโลเมตรก็ถึง ในอดีตเคยเข้าใจกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่เสด็จพระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 ภายในมีกลุ่มอาคารทรงไทย จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยรัตน์โกสินทร์ พื้นที่โดยรอบร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ไทยในวรรณคดี เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ มีร้านอาหารจำหน่ายผลิตผลพื้นเมืองและงานศิลปหัตถกรรม มีเรือนำเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในละแวกใกล้เคียง

 

          ณ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา เป็นบ้านเกิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชินีในรัชกาลที่ 1 (พระนามเดิม "นาค") พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระนามเดิม "ฉิม") และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 (พระนามเดิม "บุญรอด") สถานที่แห่งนี้จึงถือว่าเป็นถิ่นของราชินีกุล อันเป็นต้นสกุล ณ บางช้าง ชูโต แสงชูโต สวัสดิชูโต ภมรบุตร และวงศาโรจน์ เป็นต้น

 

          แต่เล่ากันว่าบ้านเดิมจริงๆ แล้วอยู่ที่วัดจุฬามณี เดินทางห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 325 สายสมุทรสงคราม-ดำเนินสะดวก ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นวัดโบราณริมคลองอัมพวา เดิมชื่อ "วัดแม่เจ้าทิพย์" ตามชื่อผู้ปฏิสังขรณ์วัด คือท่านเจ้าทิพย์ ท้าวแก้วผลึก (น้อย) นายตลาดบางช้าง ต้นราชินีกุล ณ บางช้าง เป็นผู้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง หลังวัดเป็นนิวาสสถานเดิมของครอบครัวท่านนั่นเอง

 

          ที่นี่มีศาลาการเปรียญเป็นเรือนไม้โบราณขนาดใหญ่และมีพระอุโบสถสร้างใหม่ประดับของมีค่า เช่น ช่อฟ้าประดับกระจกเบลเยียม หน้าต่างฝังมุก พื้นปูด้วยหินอ่อนหลากสีพระอุโบสถหลังนี้สร้างสมัยหลวงพ่อเนื่อง (พระครูโกวิทสมุทรคุณ) ที่ขึ้นชื่อด้านโชคลาภและการรักษาโรค โดยเฉพาะใบมะนาวเสกนำไปต้มกินช่วยให้หายป่วย ทำให้คลอดบุตรง่ายจึงมีคนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศเพื่อมาทำบุญที่นี่

 

          วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ละแวกเดียวกันคือ วัดอัมพวันเจติยาราม อยู่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 6 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 35 มีทางแยกซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร ติดกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระอารามหลวงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานโบราณวัตถุมากมาย วัดนี้มีเรื่องราวผูกพันกับพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์สร้างถวายแด่พระรูปสิริโสภาคมหานาคนารี (พระนามเดิม "สั้น") ซึ่งเป็นพระมารดา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระปรางค์สำหรับบรรจุพระอัฐิและพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็๗พระพุทธเลิศหล้าฯ ณ บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ซึ่งรัชกาลที่ ๒ เสด็จพระราชสมภพและทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารน้อย (พระที่นั่งทรงธรรม) พระวิหาร และกุฏิใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั้งหลัง ต่อมาปี พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสมณฑลราชบุรี ได้ทอดพระเนตรเห็นวัดทรุดโทรมมาก จึงพระราชทานเงินปฏิสังขรณ์และสร้างโรงธรรมขึ้นมาใหม่อีกหลังหนึ่ง และเมื่อปี พ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินต้น ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์และต้นจันทร์ไว้เป็นที่ระลึก

 

          ไม่ห่างกันนักเราสามารถเข้าเที่ยวชมวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือวัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่กลอง ตรงปากคลองประชาชมชื่นฝั่งตะวันตก เขตตำบลสระหลวง อำเภออัมพวา ตรงข้ามวัดอัมพวันเจติยาราม พระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สร้างกุฎิไม้สักทองถวายให้วัด มีเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ครั้งดำรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ตลอดจนมีโบราณวัตถุล้ำค่าเก็บรวมรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันโบสถ์ได้รื้อทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่

 

          สำหรับคนที่ชอบเที่ยวดูศิลปะตามวัด วัดใหญ่ๆ ที่นี่ส่วนมากจะมีการจัดแต่งสถานที่ไว้สะอาดตา แต่บางทีดูใหม่เกินกว่าอายุจริง แถมซ้ำบางแห่งซ่อมแซมปรับปรุงจนแทบมองไม่เห็นร่องรอยเดิม หากไปเยี่ยมชมควรเตรียมใจไว้เผื่อไม่เหมือนที่เคยอ่านเจอในแผ่นพับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเพราะวัดหลายแห่งแม้จะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีการจัดพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บและตั้งแสดงวัตถุโบราณไว้แล้วก็ตามแต่ยังคงอยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาสและคนในท้องถิ่น ตราใดได้คนรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ซ่อนแฝงอยู่ภายใต้ความเก่าคร่ำครึมาจัดการดูแล ก็จะทะนุบำรุงอย่างรู้ค่า คราใดเห็นความทันสมัยอลังการสำคัญกว่าอาจจะรื้อทิ้ง แล้วสร้างแซมของใหม่จนไม่เห็นเค้าเดิม การเข้าชมโบราณวัตถุที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ขึ้นอยู่กับนโยบายเจ้าอาวาสว่าช่วงนั้นพร้อมจะต้อนรับแขกหรือเปล่า

 

กาลเคลื่อนอดีตเลือนมลาย

         
ดูเหมือนการเที่ยววัดในแม่กลองแทบไม่ค่อยพบเห็นวัดที่ร้างผู้คน ไปเยี่ยมชมที่ไหนๆ ก็จะเห็นวัดเก่าแก่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจนใหม่เอี่ยมอ่อง ไม่รู้ว่าควรชื่นชมกับศรัทธาอันแรงกล้าของคนรุ่นใหม่ดี หรือควรแสดงความสลดใจต่อมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนที่สูญสิ้น

 

          วัดปากน้ำ มีพระแท่นอายุประมาณ 200 กว่าปีอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว แต่ในบริเวณเดียวกันมีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่นเดิมเคยมีงานทำบุญประจำทุกเดือน 4 เดี๋ยวนี้เลิกไปแล้วเพราะเจ้าอาวาสเปลี่ยนคน แต่ยังคงมีงานทำบุญประจำที่โบสถ์ช่วงเดือน 3 เท่านั้น

 

          รูปทรงของวิหารดูแปลกตาไม่ค่อยได้พบเห็นทั่วไปกรอบประตูและหน้าต่างมีลายปูนปั้นเขียนสีอ่อนช้อยงดงามคนแถวนั้นเล่าว่านักศึกษาหลายคณะชอบแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้กัน สภาพโดยทั่วไปเหมือนขาดการดูแล ภายในวัดยังมีต้นตะเคียนอายุ 250 ปี มีศาลเพียงตาตั้งอยู่ ได้รับการดูแลบริเวณโดยรอบอย่างดีผิดหูผิดตากว่าโบสถ์เก่าและพระแท่นหน้าวัด ดูจากของที่นำมาถวายคาดว่าน่าจะมีคนมาสักการะมากพอสมควร

 

          นอกจากนี้ยังมีวิหารอีกหลัง ภายในมีรอยพระพุทธบาทจำลอง 4 รอยซ้อนกันอยู่ รูปแบบเหมือนที่วัดบางกะพ้อม แต่กำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซม บริเวณใกล้ ๆ ท่าน้ำมีเรือนปูนโบราณทรงคล้ายๆ บ้านคหบดีชาวจีนในสมัยก่อนตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ มีเรื่องเล่าว่าคหบดีผู้เป็นเจ้าของเมื่อตอนใกล้ตายได้ยกบ้านถวายแก่วัด เพราะลูกหลานล้วนมั่งคั่งอยู่แล้วถัดออกมามองเห็นซากอาคารหักพังปรากฎภาพพระฉายอยู่บนผนัง ซึ่งเหลือเพียงฐานที่มีไหหลายใบฝังอยู่ในปูน วัดนี้มีพระจำพรรษาอยู่หลายรูป มีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบ บรรยากาศแบบชาวบ้าน แฝงความร่มรื่นสบายตา ดูขลังมากเมื่อมานั่งอยู่ริมน้ำหน้าท่าของวัดยามพระอาทิตย์โพล้เพล้

 

          ความเป็นเมืองเก่าที่มีวัดมากมาย ศิลปะแบบโบราณของวัดหลายแห่งถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย วัดใหญ่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่สะท้อนภาพนี้อย่างชัดเจน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะริมฝั่งแม่กลอง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองฯ เป็นวัดเก่าแก่สมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าผู้สร้างเป็นต้นสกุล "รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์" มีหลวงพ่อแก่นจันทน์เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูง 2.1 เมตร กว้าง 40 เซนติเมตร ปัจจุบันหายไปแล้ว ภายในมีโบราณวัตถุมากมาย เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรก

 

          นอกจากนี้หอระฆังหน้าวัดยังเก็บกลองใหญ่สัญลักษณ์ของจังหวัด ตามตำนานเล่าว่ากลองได้ลอยตามน้ำมา ชาวบ้านจึงนำมาไว้ที่นี่ ถัดหอกลองออกมามีโบสถ์เก่าถูกทิ้งร้างทรุดโทรม หน้าบันมีลวดลายเทพนพงดงาม อีกด้านเทพนพหลุดหายไปหมดแล้ว เลยออกมาหน่อยเป็นโบสถ์ใหม่หลังใหญ่ดูสวยงามอลังการ แต่เทียบค่าไม่เท่าสิ่งเก่าที่ค่อยๆ พังไป

 

          หากลองหัมาเปลี่ยนรสนิยมเป็นฝรั่งดูบ้างก็ต้องแวะเวียนไปชม วัดบางใหญ่ คนแถวนั้นบอกว่าฝรั่งชอบมาเที่ยวกันมาก บรรยากาศรอบวัดร่มรื่นสงบสะอาดตา ผิดกับวัดแบบที่คนไทยชอบไปสักการบูชาอธิษฐานขอพรกัน วัดแห่งนี้เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ 2 (ต้นสกุลวงศาโรจน์) ได้ทำการบูรณะขึ้นในปี พ.ศ.2357 ภายในมีโบสถ์ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย มีเจดีย์เหลี่ยมอยู่หน้าโบสถ์ กำแพงด้านหน้าโบสถ์มีภาพพระฉายงดงามโดดเด่น ตรงระเบียงคดมีจุดเด่นที่พระพุทธรูปตรงประตูทั้ง 4 ด้านทรงเครื่องดงาม แตกต่างจากพระพุทธรูปรอบระเบียงองค์อื่นๆ

 

          ที่วัดนี้คุณสามารถชื่นชมภาพเขียนฝีมือคนโบราณได้ที่ผนังหอไตร เป็นภาพพุทธประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับการสงคราม ที่กุฏิเจ้าอาวาสก็มีภาพฝาผนังเช่นกัน เป็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป ในหอไตรมีตู้พระธรรมลายรดน้ำเก่าๆ อยู่ แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ เห็นได้จากฝุ่นที่จับหนาบนพื้นกระดาน จิตรกรรมที่ฝาผนังมีคนนำสีและชอล์กไปเขียนไว้

 

          เยี่ยมชมวัดมาหลายแห่ง ทำให้เห็นภาพอดีตที่ฝากรอยไว้ค่อยๆ จางไปอย่างช้าๆ หากหันมาเที่ยวชมภาพชีวิตยุคโบราณของชาวบ้านกันบ้าง ดูจะมีลีลาอาการไม่ต่างกันเท่าไหร่ไม่เชื่อลองแวะไปที่ พิพิธภัณฑ์โอ่งและเครื่องปั้นดินเผาโบราณ "ตั้งเซียมฮะ" อยู่ข้างวัดเกาะแก้ว ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที สถานที่แห่งนี้เก็บรวบรวมเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้งานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านแถบนี้เมื่อ 100 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นโอ่ง ไห หม้อตาล เตาเชิงกรานสมัยอยุธยา หม้อข้าวหม้อแกงแบบอยุธยา ทั้งหมด 2,000 กว่าชิ้น ติดต่อขอเข้าชมที่โทรศัพท์ (034) 76-1098 เมื่อชมเครื่องปั้นดินเผาจนทั่วแล้ว ลองเดินชมบ้านละแวกนั้น จะได้สัมผัสบรรยากาศแบบร้านค้าเก่าๆ ริมแม่น้ำ ลมพัดเย็นสบาย สามารถเดินได้รอบเป็นเกาะทีเดียว

 

          ตรงข้างพิพิธภัณฑ์สังเกตให้ดีจะเห็นเสาธงเก่าๆ สีดำมะเมื่อมตั้งตระหง่านสูงมาก บนยอดมีรูปหงส์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ดูเก่าแต่ยังสมบูรณ์งดงาม คนแถวนั้นเล่าว่าสมัยกรุงแตกพม่าเคยบุกมาถึงจังหวัดสมุทรสงคราม เสาธงลักษณะนี้แหละเป็นหลักฐาน แต่เดิมตรงโคนเสาจะตั้งพระพุทธรูปไว้สักการบูขา ปัจจุบันไม่มีแล้ว วัดหลายแห่งในบริเวณบางคนทีมีเสาแบบนี้ทั้งนั้น คนเก่าคนแก่ยังทันได้เห็นกันแต่มาวันนี้เสาเหล่านั้นเหลือเพียงต้นเดียวที่นี่ ขณะที่คนไทยในครั้งนั้นส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันแถบอัมพวา

 

สิ่งใหม่ใต้แสงแห่งวันวาน

 

          ไม่ว่าจะเที่ยวไปยังมุมใดของเมืองแม่กลอง ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นวัด บางทีการมีวัดเรียงรายมากมายเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการแข่งขันกันสร้างสรรค์วัดให้โดดเด่น เพื่อดึงดูดศรัทธาจากประชาชนให้แห่แหนมาทำบุญ จังหวัดนี้จึงมีวัดประเภทหนึ่งเดียวในสยามอยู่หลายแห่ง

 

          ที่เห็นเด่นชัดก็คือ วัดบางแคน้อย อยู่ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา คุณหญิงจุ้ย  วาศาโรจน์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2411 เดิมเป็นพระอุโบสถไม้ ตั้งอยู่บนแพไม้ไผ่ ผูกไว้กับต้นโพธิ์ริมน้ำแม่กลอง เมื่อปี พ.ศ.2540 พระครูสมุทรนันทคุณ (แพร) ผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างพระอุโบสถไม้แกะสลักด้วยช่างฝีมือดีจากเพชรบุรี สร้างเลียนแบบของเก่าที่วัดกุดบางเค็ม เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พระประธานเป็นของเดิมอายุ 128 ปี พระอุโบสถใหม่ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จเพราะขาดเงินทุนเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำมีผลต่อการมาทำบุญของสาธุชนผู้มากศรัทธา

 

          จุดเด่นของลายแกะสลักมีอยู่หลายแห่ง แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือการใช้ไม้โมกมันฝังลงในเนื้อไม้สักด้วยวิธีการเดียวกับการฝังมุก ดูสวยไปอีกแบบ จิตรกรรมฝาผนังแกะสลักเรื่องราวพระเวสสันดรและพุทธประวัติ ที่ผ่านมาใช้ทุนสร้างไปถึง 21 ล้านกว่าบาทแล้ว

 

          อีกแห่งคือ วัดศรัทธาธรรม อยู่ตำบลบางจะเกร็ง ปากทางเข้าดอนหอยหลอด เป็นวัดมอญอายุกว่า 200 ปี เดิมทีพระอุโบสถหลังเก่าเป็นไม้อยู่บนแพลอยน้ำ ต่อมาในปี พ.ศ.2535 มีการสร้างพระอุโบสถใหม่เป็นไม้สักปิดทองฝังมุกทั้งหลัง จิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพพุทธประวัติและรามเกียรติ์ซึ่งก็ดูจะเข้าคู่กันดีกับโบสถ์ฝังไม้ มาเที่ยวทั้งทีคุ้มที่ได้เห็นช่างแกะสลักฝากฝีมืออวดกันเต็มที่เลย วัดนี้เดิมสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2341 จากครอบครัวมอญ 10 กว่าครัวเรือน ที่หนีสงครามกลางเมืองในพม่ามาอยู่นี่ แถบนั้นยังมีชาวมอญอาศัยอยู่ หากอยากกินกะละแมรสเลิศก็หาซื้อได้จากละแวกนี้

 

          วัดอินทราราม อยู่ตำบลเมืองใหม่ อำเภออัมพวา เป็นอีกแห่งที่พยายามรังสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น แม้จะเป็นวัดเก่าสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2300 ก็ตาม พระประธานคือหลวงพ่อโตอายุ 300 กว่าปี มีการสร้างโบสถ์หินอ่อน บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้สักแกะสลัก และยังมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนใหม่เป็นภาพพระเจ้าสิบชาติ ประเพณี 12 อย่างของพระเจ้าแผ่นดิน และข้อธรรมต่างๆ ภาพเขียนดูเรียบง่าย เพื่อให้ชาวพุทธรุ่นใหม่เข้าถึงรสพระธรรมได้ง่ายขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จมาทรงประเดิมลงสีภาพฝาผนังไว้เป็นปฐมฤกษ์ ภายในวัดมีศูนย์บำบัดยาเสพติดด้วยสมุนไพร หน้าวัดมีวังปลา บริเวณโดยรอบมีชุมชนริมน้ำแบบโบราณในคลองแควอ้อม สามารถเช่าเรือที่วัดเพื่อเที่ยวชมได้

 

          นอกจากวัดไทยแล้ว ที่นี่มีวัดในคริสต์ศาสนาเก่าแก่งดงามน่าเที่ยวชม คือโบสถ์แม่พระบังเกิด ตั้งอยู่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค (Gothic) รูปไม้กางเขนสร้างในปี พ.ศ.2439 ภายในตกแต่งด้วยงานจิตรกรรมกระจกสี (Stained glass) ภาพประวัติแม่พระและรูปปั้นนูนสูงประวัติพระเยซู ซึ่งนำเข้ามาจากอิตาลี บรรยากาศโดยรอบโบสถ์ตกแต่งไว้สวยงามเงียบสงบ หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องติดต่อล่วงหน้าที่โทรศัพท์ (034) 76-1347

 

          สถานที่ท่องเที่ยวล่าสุดของแม่กลอง คืออนุสรณสถานแฝดอิน-จัน อยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองฯ ห่างจาศาลากลางไปตามทางหลวงหมายเลข 3092 ประมาณ 3 กิโลเมตร

 

          "อิน-จัน" เป็นฝาแฝดตัวติดกัน (Siamese Twin) คู่แรกที่ชาวโลกรู้จัก มีอายุ 63 ปี เป็นต้นสกุล "บังเกอร์" ทั้งคู่เกิดที่บริเวณฝั่งแหลมใหญ่ของปากคลองแม่กลอง ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป ต่อมาได้เป็นนักแสดงในคณะมายากลและละครสัตว์ที่สหรัฐอเมริกาจนร่ำรวยและโด่งดังไปทั่วโลก ทางจังหวัดได้สร้างอนุสรณสถานเป็นรูปหล่อขนาดเท่าครึ่งของตัวจริง พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบป็นที่พักผ่อน ในบริเวณเดียวกันยังมีพิพิธภัณฑ์เรือ ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญของคนเมืองน้ำไว้ให้ชม แต่ความที่เพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ ทำให้ไม่สมบูรณ์นัก เพราะต้นไม้เล็กไม่ร่มรื่น ตอนกลางวันแดดร้อนแรงถึงขนาดคนบอกทางแก่เราพูดว่า

 

          "ทางไปอนุสรณ์ฯ อิน-จันนะเหรอ หาไม่ยากหรอกเลยจากตรงนี้ไปอีกนิดเดียว จะเห็นคนยืนตากแดดกันอยู่สองคนน่ะ ตรงนั้นแหละ"

 

          หากแดดกล้ามาก ๆ คุณสามารถหลบร้อนไปชมสวนดอกไม้สวยๆ ที่ออร์คิดฟาร์ม ตั้งอยู่ริมถนนบางแพ-สมุทรสงคราม อำเภออัมพวา เป็นสวนกล้วยไม้และผีเสื้อสดสวยช่วงเดือนกันยายนจะมีผีเสื้อให้เห็นมาก เพราะเป็นฤดูฝน ต้นกระเช้าที่ผีเสื้อชอบกินจะออกใบมากพอเป็นอาหารผีเสื้อได้ ที่นี่จำหน่ายของที่ระลึกและอาหาร

 


สมุทรสงคราม

 

          สิ่งที่สร้างสรรค์ไว้น่าเที่ยวชมของแม่กลองยังมีอีกหลายแห่งสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีความเป็นอยู่แบบไทยๆ บ้านดนตรีเป็นแหล่งที่ฝึกซ้อมเด็กๆ ให้สืบทอดภูมิปัญญาด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของบรรพบุรุษ เพราะเมืองนี้เคยเป็นแหล่งวัฒนธรรมทางดนตรีมาช้านาน หากนักท่องเที่ยวต้องการชมการแสดงสามารถติดต่อล่วงหน้าที่ โรงเรียนวัดบางนางลี่ใหญ่ ตรงวัดภุมิรินทร์กุฎีทอง

 

          หากต้องการชมวิธีการทำซอ ซื้อหาซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็แวะเวียนไปชมกันได้ที่บ้านพญาซอของคุณสมพร  เกตุแก้ว  อยู่ในเขตอำเภอบางคนที ไปไม่ไกลจากวัดอัมพวันเจติยาราม แต่เดิมหน้าบ้านเคยมีกะลาซอแขวนไว้เต็มไปหมด เดี๋ยวนี้เจ้าของเอาเก็บหมดแล้ว เพราะกะลาซอมีราคาแพงขึ้นมาก สอบถามรายละเอียดที่โทรศัพท์ (034) 76-1949

 

          ถ้าคุณรักสัตว์อยากรู้จักแมวไทย ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยง ของคนไทยมาแต่โบราณให้มากขึ้น บ้านแมวไทยของกำนัน ปรีชา พุคคะบุตร ประธานชมรมอนุรักษ์แมวไทยแห่งประเทศไทยพร้อมเปิดต้อนรับรอการมาเยือนทุกวัน กำนันปรีชาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมวไทยระดับแนวหน้าของวงการทีเดียว ติดต่อขอเข้าชมได้ที่โทรศัพท์ (034) 73-3284

 

          มาถึงอัมพวาหากต้องการของฝากดีๆ สักชิ้น ก็ต้องแวะไปที่บ้านเบญจรงค์ (ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์) ตั้งอยู่ริมถนนบางแพ-สมุทรสงคราม ตรงข้ามวัดจุฬามณี อำเภออัมพวา ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 35 ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์เลียนแบบศิลปะยุคสมัยรัชกาลที่ 2 ฝีมือประณีต สามารถเที่ยวชมการผลิตได้ ติดต่อที่โทรศัพท์ (034) 75-1322

 

          เห็นแม่กลองเป็นเมืองเล็ก ๆ แบบนี้ เล่นเอาเที่ยวกันจนเหนื่อย เพราะจำนวนแหล่งท่องเที่ยวไม่ได้เล็กตาม ถ้าคิดจะเที่ยวให้ทั่วจริงๆ สงสัยต้องปักหลักอยู่เป็นแรมเดือน ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งทั้งที่มีชื่อเสียงและแบบต้องซอกซอนลัดเลาะไปเที่ยวชม เส้นทางหลวงตัดใหม่ทำให้แม่กลองเป็นเมืองทางผ่านที่น่าแวะมาย้อนความหลังแบบไทยๆ ก่อนล่องเลยลงไปทางเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

 

สายน้ำงามไม่ไหลทวน

 

          แม่กลองเป็นเมืองที่สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งทางบกและทางน้ำ การล่องเรือชมสถานที่ต่างๆ เป็นเสน่ห์ของการเดินทางที่ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด เมื่อชาวคณะได้เคลื่อนพลกันลงเรือ เสียงเครื่องของเรือคำรามดังก้องไปทั่วท้องน้ำพาขบวนแหวกว่ายเป็นทางเข้าไปในสายน้ำที่เคยนิ่งสงบ มีเพียงระลอกคลื่นล้อไล่ราวแพรเนื้อดีพลิ้นตัว

 


สมุทรสงคราม

 

          ส่วนใหญ่เรือนำเที่ยวที่พาผู้คนแปลกถิ่นมาเยี่ยมชมธรรมชาติมักเป็นเรือติดเครื่องยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้เห็นทิวทัศน์โดยรอบได้ทั่วถึง บรรยากาศริมน้ำบริเวณป่าชายเลนสองฟากฝั่งรกครึ้มเขียวขจีไปด้วยป่าจาก ดงมะพร้าว สลับกับต้นลำพูเป็นระยะๆ เพราะมีน้ำกร่อย เหมือนภาพที่เห็นจากภาพยนตร์เรื่อง "นางนาก" ทั้งที่จริงแล้วพระโขนงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่มีน้ำกร่อยแม้แต่น้อย

 

          บางช่วงจะพบเห็นเรือนไม้หลังคาทรงไทยเก่าคร่ำคร่าแทรกตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ อากาศยามบ่ายอันร้อนแรงเป็นตัวการให้ผู้คนร้างไร้ตามถนนรนแคม แต่กลับมาแหวกว่ายไล่เล่นกันอยู่ริมท่า  โดยเฉพาะบ้านใกล้แม่น้ำลำคลองการเล่นน้ำดำผุดดำว่ายไม่ไกลฝั่งดูจะเป็นกิจกรรมสุดฮิตเพราะพบเห็นได้เกือบทุกท่าน้ำในสวนลึกเข้าไปเรื่อยๆ

 

          การเที่ยวทางน้ำสามารถไปได้รอบอัมพวา บางคนที ทะลุเข้าแม่กลอง เลยเรื่อยไปออกปากอ่าวได้ ช่วงที่สามารถเที่ยวทางน้ำได้สนุกคือช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม เพราะมีน้ำมาก ภาพชีวิตชาวน้ำของแม่กลองมีให้เห็นหลากหลายรูปแบบ เที่ยวอย่างไรก็ไม่ทั่ว เพราะมีคลองกว่า 300 สาย หากต้องการไปดูวิถีชีวิตชาวสวน บ้านเก่าๆ แบบโบราณแฝงตัวอยู่ในสวนร่มรื่น ดูนกนานาชนิดโผบินไปมาตามกิ่งไม้ริมคลอง สองข้างทางเป็นป่าจาก ต้องไปบริเวณคลองบางนางลี่

 

          จากตรงนี้เข้าสู่คลองประชาชมชื่น ลัดไปยังคลองวัดปทุมคันนาวาส ซึ่งผ่านวัดคู้ธรรมสถิตย์วราราม เข้าเขตอำเภอเมืองฯ จะพ้นทิวทัศน์ป่าจากไปออกปากอ่าว พบเห็นต้นลำพูเป็นระยะๆ เรื่อยไป หากมาในเวลากลางคืนจะเห็นหิ่งห้อย ซึ่งชอบเกาะต้นลำพูมาก ละแวกนี้เราจะเห็นชีวิตชาวประมงออกเรือหาปลา ทำโพงพางดักปลา และเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวอยู่ในกระชัง

 

          จุดนี้เองสามารถวกเรือกลับเข้าคลองอัมพวาได้คลองนี้มีวัดสำคัญคือวัดจุฬามณี ตรงเชิงสะพานหน้าวัดเคยขุดพบเรือโบราณ 2 ลำ และนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 1 ลำ คลองนี้เป็นคลองที่มีตำนานเกี่ยวกับรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี พอกรุงศรีฯ แตกได้หลบพม่าเข้ามาอยู่บ้านเดิมของครอบครัวคุณนาคผู้เป็นภรรยา ซึ่งต่อมาคือพระบรมราชินีของต้นราชวงศ์จักรี

 

          หากอยากล่องเรือชมย่านผู้ดีเก่า มีบ้านเรือนอาศัยอยู่หนาแน่น ชมวิถีชาวบ้านสวนริมคลอง ก็ต้องลัดเลาะออกไปยังคลองแควอ้อม แถบนั้นจะไปบ้านกำนันธวัช บุญพัด ที่หมู่บ้านปลายโพงพาง อำเภออัมพวา ซึ่งมีชุมชนบริการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ หรือไปล่องเรือพายในคลองแถบตลาดน้ำท่าคา สองฝั่งคลองจะเป็นบรรยากาศสวนมะพร้าวและสวนส้มร่มรื่นงดงามไปอีกแบบ

 


สมุทรสงคราม

 

          แต่ถ้าล่องเรือคืนเดือนมืดในคลองโคนละแวกเขายี่สารจะมีหิ่งห้อยสองข้างทางให้ชมเยอะมาก เพราะแถวนั้นค่อยข้างไกลแสงสีของเมือง รวมทั้งตามคลองต่างๆ ที่มืดๆ ก็มีหิ่งห้อยให้ชมอยู่ทั่วไป

 

          ถ้าอยากชมภาพพระพายเรือบิณฑบาตตอนเช้า เพื่อหวนระลึกถึงคืนวันเก่าๆ เมื่อกว่ากึ่งศตวรรษของบางกอก จะพบเห็นได้เยอะมากบริเวณคลองอัมพวา ละแวกตลาดอัมพวานั่นเอง

 

          ลำคลองที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ก็มีอยู่ไม่น้อยเพราะเมืองนี้เคยเป็นที่หลบภัยพม่าเมื่อครั้งสิ้นยุคกรุงศรีฯ ทั้งไพร่ข้าฯ ไปจนถึงเจ้านายต้นราชวงศ์จักรี ตำนานในยุคกู้ชาติก็อยู่ที่อัมพว่านี่เอง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้นมาที่นี่โดยเรือพระที่นั่งถึง 2 ครั้งแถบคลองวัดประดู่

 

          ก่อนจะเที่ยวทางน้ำควรตรวจสภาพน้ำขึ้น-ลงเพื่อเรือจะได้ไม่ไปเกยตื้นในบางช่วง และทิวทัศน์ช่วงน้ำขึ้นจะสวยงามกว่าตอนน้ำแห้ง สอบถามรายละเอียดได้ที่ อบต.บางจะเกร็ง โทรศัพท์ (034) 72-3749

 

          ความร่มครื้มเขียวสดของป่าจากแสม และโกงกางสองข้างทางที่พบเห็นอยู่นี้ รู้หรือไม่ว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวความงามที่เคยมีในอดีต จากพื้นที่ป่าชายเลนเดิมทั้งหมด 83,900 ไร่ ตลอดระยะแนวชายฝั่งทะเล 23 กิโลเมตร ในปี พ.ศ.2527 ทางการได้อนุญาตให้ประชาชนเข้าจับจองกรรมสิทธิ์ ป่าชายเลนเกือบทั้งหมดกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำอยู่ 5 ปี ก็เลิกไปเพราะเกิดมลภาวะ สัตว์ริมทะเลพลอยหายไปด้วย

 

          โชคดีที่นายวิธาน สุวรรณทัต ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น ได้จัดโครงการปลูกป่าชายเลนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ตามแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสอดคล้องกับนโยบายแก้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรสัตว์ทะเลปากอ่าว รวมทั้งสัตว์บกโดยเฉพาะนก หนู และลิงแสม ปัจจุบันมีป่าปลูกทดแทนแค่ 2,400 ไร่ หากทว่ายังคงความงามหลงเหลือให้เที่ยวชมในละแวกตำบลคลองโคนและตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมืองฯ

 

          ความงามใดในใต้หล้าหรือจะเทียบได้กับสิ่งที่ธรรมชาติเสกสรร แม้กระทั่งในยามที่โลกหมุนเข้าสู่มุมมืด เฉกเช่นภาพผืนฟ้าสีแดงเพลิงยามตะวันลับ เปล่งประกายลำแสงลอดผ่านหมู่เมฆ  ตัดกับสีดำทะมึนของกังหันที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางนาเกลือ สะท้อนสู่ริ้วน้ำที่พลิ้วอ่อน ๆ ด้วยแรงลม งดงามน่าประทับใจไม่ต่างจากภาพตะวันรอนที่ดอนหอยหลอดอันเลื่องชื่ของแม่กลอง กรณีการทำลายป่าชายเลนครั้งนั้นคงเป็นบทพิสูจน์อีกหนึ่งในหลายบทที่เป็นดุจดั่งภูมิปัญญาในมุมมืดของเหล่ามนุษย์ผู้ไม่ตระหนักถึงความไม่อาจเทียบเทียมธรรมชาติผู้ให้กำเนิด

 

          เมืองแม่กลองในวันนี้ยังพิสุทธิ์น่าสัมผัส หากทว่าหลายสิ่งค่อยๆ เสื่อมสลายไปกับการเลือกดำรงอยู่ในวิถีสมัยใหม่ของผู้เป็นเจ้าเรือน เมื่อถนนหนทางและสายไฟฟ้าทอดตัวซอกซอนอย่างทั่วถึง ภาพความเป็นเมืองพุทธศาสนาริมแม่น้ำลำคลองค่อยๆ พร่าเลือน ราวกับแสงหิ่งห้อยที่ต้องถอยห่างหายลับไปเมื่อเผชิญกับแสงไฟนีออน

 

การเดินทาง

 

          ทางรถยนต์  จากสามแยกบางปะแก้วไปตามถนนสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านสีแยกมหาชัย-นาเกลือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 64 มีทางแยกขวามือเข้าตัวเมืองสมุทรสงครามประมาณ 1 กิโลเมตร

 

 

          รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด บริการเดินรถกรุงเทพฯ-สมุทรสงครามทุกวัน จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ถนนบรมราชชนนี ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่โทรศัพท์ (02) 435-5031 (รถปรับอากาศ) และโทรศัพท์ (02) 435-5558 (รถธรรมดา)

 

          ทางรถไฟ มีรถดีเซลรางออกจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ทุกวัน สายวงเวียนใหญ่ (กรุงเทพฯ-มหาชัย) จังหวัดสมุทรสาคร (ระยะทาง 33.5 กิโลเมตร) แล้วข้ามเรือแม่น้ำท่าจีนไปต่อรถไฟที่สถานีบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสาคร (ระยะทาง 33.1 กิโลเมตร)  อีกทอดหนึ่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ โทรศัพท์ (02) 465-2017

 

          ทางน้ำ จังหวัดสมุทรสงครามมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านทั้ง 3 อำเภอ เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร ไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากอ่าวแม่กลองตามรายทางมีคลองแยกออกจากลำน้ำมากว่า 300 คลอง การคมนาคมในจังหวัดใช้เรือเป็นหลัก ได้แก่ เรือยนต์ เรือหางยาว เรือแจว เส้นทางน้ำมีดังนี้...

          1. จากจังหวัดสมุทรสงคราม-ราชบุรี ใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นทางคมนาคม 
          2. จากจังหวัดสมุทรสงคราม-อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้เส้นทางทะเลเป็นเส้นทางคมนาคม 
          3. จากสมุทรสงคราม-กรุงเทพฯ


          แต่เดิมนั้นขนส่งสินค้าโดยใช้ลำคลองเป็นหลัก เช่น คลองแม่กลอง คลองภาษีเจริญ ปัจจุบันใช้เรือเดินทะเลขนส่งสินค้าขึ้นตามแม่น้ำเจ้าพระยาทุกวัน หากประสงค์จะเดินทางขึ้นล่องกรุงเทพฯ-สมุทรสงครามตามลำคลองเพื่อชมบรรยากาศสองฟากฝั่งน้ำ สามารถทำได้ แต่ต้องว่าจ้างเรือกันเอง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งนานกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ที่ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมุทรสงคราม เยือนถิ่นพื้นบ้านไทยไม่ไกลกรุง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:58:02 3,738 อ่าน
TOP