x close

ย้อนรำลึก อุโมงค์ขุนตาน – สะพานขาวเมืองลำพูน

 

สะพานทาชมภู


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณ คุณพรเลิศ ที่แนะนำเรื่องและภาพทางเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือ 100 ปีรถไฟไทย, หริปุญจัยดอทคอม ,  chiangmaiparamotor.com
 
          หลาย ๆ คนอาจไม่ทราบว่า เส้นทางของขบวนรถไฟสายเหนือที่มุ่งตรงสู่จังหวัดเชียงใหม่นั้น จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแอบซ่อนตัวอยู่ในกลางหุบเขาของจังหวัดลำพูนถึง 2 แห่ง นั่นคือ อุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และสะพานทาชมภู หรือ สะพานขาวชาวลำพูน

          ทั้งนี้ เมื่อขบวนรถไฟแล่นออกจากลำปางไม่นานนัก รถไฟก็จะลอดผ่านอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดของเส้นทางรถไฟในประเทศไทย  และเมื่อออกจากถ้ำขุนตาน ทางรถไฟจะคดเคี้ยวโค้งซ้ายโค้งขวา ลงจากเนินสูงรางเหล็กทอดผ่านท้องทุ่งนา มีขุนเขาทะมึนสีน้ำเงินเข้มเป็นฉากหลังบริเวณนี้ ก่อนที่ขบวนรถจะผ่านสะพานคอนกรีตรูปโค้งสีขาว ซึ่งหลายคนที่เห็นจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นภาพที่สวยงามมาก โดยภาพที่นักท่องเที่ยวนั่งรถไฟผ่านจะเห็นสะพานทาชมภู สะพานสีขาวที่ตั้งตระหง่าน อวดโฉมประชันความงามแข่งกับสีสันของธรรมชาติ 2 ข้างทาง… ว่าแต่อุโมงค์ขุนตาน  และสะพานทาชมภู สะพานขาวของชาวลำพูน สถานที่สวยงามทั้ง 2 แห่งมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันนี้เราจะพาไปย้อนอดีตกันค่ะ 

ทางรถไฟในสมัยอดีต
ทางรถไฟในสมัยอดีต

ทางรถไฟในสมัยอดีต
ทางรถไฟในสมัยอดีต



ระยะทางการเดินรถไฟของสะพานทาชมพู
ระยะทางการเดินรถไฟของสะพานทาชมภู


          อุโมงค์ขุนตาน เริ่มมีการก่อสร้างให้ปี พ.ศ. 2450 จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 11 ปี โดยอุโมงค์แห่งนี้เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงต้องการย่นระยะเวลาการเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมที่ใช้เวลาหลายวัน ทั้งขจัดอุปสรรคการเดินทางที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงเวลาของฤดูแล้งออกไป แต่ด้วยความที่การวางรางสร้างเส้นทางไปเชียงใหม่นั้น ยังมีอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่าง คือ เทือกเขาผีปันน้ำที่กั้นระหว่างลำปางกับลำพูน เป็นปราการธรรมชาติที่สูงชันยากที่จะทำทางรถไฟข้ามไปได้ จึงให้สร้างเป็นอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว และขุดอุโมงค์ลอดเท่านั้น และเมื่อสร้างเสร็จ ก็ให้ชื่อว่า อุโมงค์ขุนตาน

ภาพการเริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาน
ภาพการเริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาน


ภาพการเริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาน
ภาพการเริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาน


ภาพการเริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาน
ภาพการเริ่มขุดอุโมงค์ขุนตาน


          ซึ่งอุโมงค์ขุนตานเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยมีความยาวถึง 1,352.15 เมตร ซึ่งใครที่อยากเข้าไปเยี่ยมชมความอัศจรรย์ของอุโมงค์ขุนตานก็สามารถเดินลอดอุโมงค์ได้ เพียงแต่ต้องเช็คเวลาการเดินรถกับเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟเสียก่อนวางแผนเดินเข้าไป เพื่อความปลอดภัยเวลาเดินลอดอุโมงค์ ทั้งควรใส่รองเท้าประเภทหุ้มข้อ อย่าสวมรองเท้าแตะ เพราะว่าพื้นอุโมงค์มีสภาพชื้นแฉะเป็นบางช่วง มีธารน้ำไหลซึมผ้านผนังอุโมงค์ และควรมีไฟฉายขนาดใหญ่ ใช้กับถ่านขนาด D ติดตัวไปด้วย เผื่อส่องดูสัตว์ประเภทไม่มีขาที่อาจใช้เส้นทางเดียวกันกับเรา จะได้หลบหลีกไปคนละซีกอุโมงค์


การก่อสร้างสะพานทาชมภู
การก่อสร้างสะพานทาชมภู

การก่อสร้างสะพานทาชมภู
การก่อสร้างสะพานทาชมภู


การก่อสร้างสะพานทาชมภู
การก่อสร้างสะพานทาชมภู

การก่อสร้างสะพานทาชมภู
การก่อสร้างสะพานทาชมภู

สะพานทาชมภู
สะพานทาชมภูที่เสร็จสมบูรณ์ ในเมื่อปี 2463



          เมื่อเราได้รู้ที่มาที่ไปของอุโมงค์ขุนตานแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลามาทำความรู้จักสะพานทาชมภู หรือ "สะพานขาว" ตามที่ชาวเมืองลำพูนเรียกขานกัน ซึ่งสะพานทาชมภูนี้ เปรียบเสมือนเป็นน้องของอุโมงค์ขุนตาน เนื่องจากเกิดหลังจากที่สร้างอุโมงค์ขุนตานเสร็จได้ไม่นาน  ด้วยในปี พ.ศ.2462 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงรับสั่งให้ก่อสร้างสะพานบ้านทาชมภูต่อจากอุโมงค์รถไฟขุนตาน  เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้รถไฟสามารถข้ามผ่านลำน้ำแม่ทา เมื่อสะพานทาชมภู ตัดกับท้องทุ่งและขุนเขาสีเขียวของต้นไม้ จึงทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นเป็นสะพานคอนกรีตรูปโค้งครึ่งวงกลมคู่ทาสีขาวสวยงาม


สะพานทาชมภู

          อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีเรื่องเล่ากันว่า ทหารฝ่ายพันธมิตรต้องการจะทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางเดินรถไฟของทหารญี่ปุ่น หนึ่งในเป้าหมายนั้นมีสะพานขาวบ้านทาชมภูรวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันทาสีสะพานให้เป็นสีดำ เพื่ออำพรางตาจากทหารพันธมิตร ทำให้สะพานนี้รอดจากการโจมตีทางอากาศมาจนถึงทุกวันนี้

สะพานทาชมพู
สะพานทาชมภูในปัจจุบัน


สะพานทาชมพู
สะพานทาชมภูในปัจจุบัน


ตำแหน่งของสะพานทาชมภูทางดาวเทียม
ตำแหน่งของสะพานทาชมภูทางดาวเทียม


          ปัจจุบันนอกจาก สะพานทาชมภู จะเป็นทางรถไฟที่ทอดข้ามแม่น้ำแล้ว ยังใช้เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน กับเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกด้วย อีกทั้งสะพานแห่งนี้ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญจุดหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงทำให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ จึงไม่ควรพลาดที่จะหาโอกาสมาแวะชมความงดงามของสะพานทาชมภู

การเดินทาง

          รถยนต์ จากอำเภอแม่ทา ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 ไปทางอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือไปบ้านทาชมภู ให้เลี้ยวเข้าไปผ่าน โรงเรียนบ้านศรีทรายมูล วัดทาชมภู เลยบ้านสถานีไปประมาณ 1 กม. ถึงวัดทาชมภู ทางซ้ายมือ ขวามือเป็นเพิงขายของของชาวบ้าน ให้จอดรถไว้บริเวณนี้สะพานอยู่ด้านหน้า ห่างไปประมาณ 300 เมตร ต้องเดินเท้าเข้าไปตามทางรถไฟ

          รถรับจ้าง ขึ้นรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างจากอำเภอแม่ทา





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรำลึก อุโมงค์ขุนตาน – สะพานขาวเมืองลำพูน อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:04:44 10,722 อ่าน
TOP