x close

ความจริง ความงาม จากสามจังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้


ความจริง ความงาม จากสามจังหวัดชายแดนใต้ (อสท.)

ธเนศ งามสม...เรื่องและภาพ

          ผมไม่ได้มาเยือนเบตงนานหลายปีแล้ว เมืองชายแดนแห่งนี้แทบไม่เปลี่ยนเลย มีเพียงตึกสูง 25 ชั้น ที่ผุดขึ้นมาใหม่ ทว่า ในยามเช้าก็เลือนหายอยู่ในม่านหมอก

          เบตง เป็นอำเภอหนึ่งของ จังหวัดยะลา อยู่ปลายสุดด้ามขวานจดประเทศมาเลเซีย ด้วยภูมิประเทศเป็นทิวเขาอากาศจึงเย็นสบาย ภาพหมอกห่มเมืองจึงปรากฏตลอดปี ขณะใช้เวลา 1 วัน 1 คืนในเบตง ผมพบหลายสิ่งที่ทำให้เมืองเล็ก ๆ เมืองนี้ดูสงบ งดงาม หนึ่งในนั้นคือ "ความรัก"


3 จังหวัดชายแดนใต้


          ย้อนกลับไปเมื่อ 2 วันก่อน ผมเดินทางร่วมกับเพื่อน ๆ สื่อมวลชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จัดขึ้นเพื่อดูความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

          เช้าวันที่ 27 กันยายน เราเดินทางมาถึงนราธิวาส เยี่ยมชม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองฯ ช่วงที่เราไปเยือน ไม้หลายชนิดกำลังออกผล ขณะใครบางคนชิมลองกองหวานหอม เป็นความจริงที่สิ่งต่าง ๆ ในศูนย์ฯ เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนที่นี่เมื่อ พ.ศ. 2524 จากผืนดินซึ่งเปรี้ยว ปลูกพืชใด ๆ ไม่ได้เลย วันนี้บนพื้นที่ 1,740 ไร่ อุดมด้วยพืชผักและผลไม้ อีกทั้งการงานต่าง ๆ ที่ช่วยให้พี่น้องมุสลิมมีชีวิตที่ดีขึ้น

          "พิกุลทองมีโครงการทดลองกว่า 200 เรื่อง แล้วแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้" คุณสุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวกับสื่อมวลชน


3 จังหวัดชายแดนใต้


          เช่นเดียวกับโรงสีพิกุลทองที่บ้านปูยู ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ ที่เราไปเยือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร อำเภอสุไหงโก-ลกและอำเภอตากใบเมื่อ พ.ศ.2517 ทรงทราบถึงปัญหาจากชาวนา จึงมีพระราชดำริให้สร้างระบบชลประทาน แก้ปัญหาเรื่องน้ำ และดินเปรี้ยว จากผืนดินรกร้าง วันนี้ทั้ง 2 อำเภอสามารถปลูกข้าวได้ พระองค์พระราชทานโรงสีข้างตั้งแต่ พ.ศ. 2528
         
          "เดี๋ยวนี้เรามีข้าวพันธุ์หอมกระดังงา สังข์หยด ชัยนาท ซีบูกันตัง เล็บนก" ป้าแดง ทองสืบ บอกน้ำเสียงภูมิใจ


3 จังหวัดชายแดนใต้


          จากบ้านปูยู เราเดินทางไป ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร หรือ พรุโต๊ะแดง ที่อำเภอสุไหงโก-ลก บนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติซึ่งทอดเข้าไปในพรุ ผมรับรู้ได้ว่าป่าผืนนี้สำคัญต่อคนท้องถิ่นเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นไม้ยืนต้น ผัก ปลา น้ำ หรือสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วย ในห้องรับรอง เด็ก และผู้ใหญ่ร้องเพลงต้อนรับผู้มาเยือนบทเพลงไพเราะกินใจ ใบหน้าทุกคนอาบด้วยรอยยิ้ม รอยยิ้มภูมิใจในบ้านเกิดของตน
         
          วันที่ 28 กันยายน เราเดินทางไปปัตตานี พื้นที่ซึ่งถูกเผยแพร่แต่ข่าวร้าย ที่ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง พลโทพิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 นำชมการงานอีกด้านของทหาร ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่มีพี่น้องมุสลิมมารับฟันปลอมหลายสิบคน แม่ทัพภาคที่ 4 ทักทายทุกคนอย่างคุ้นเคย


3 จังหวัดชายแดนใต้


          จากหน่วยแพทย์ฯ เราเข้าไปชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง พลโทพิเชษฐ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่คนท้องถิ่น ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง บนเนื้อที่ 80 ไร่ อุดมด้วยไม้ผลและพืชผักต่าง ๆ พื้นที่ว่างก็เลี้ยงปลาดุก ไก่เบตง วัวเนื้อ สำหรับปุ๋ย ยา อาหารสัตว์นั้นไม่ต้องซื้อ เพราะทำได้เอง ทั้งยังปลอดจากสารพิษร้าย

          "ลุงรักทหาร เพราะรู้ว่าเขามาดี" อาหะมะ กาเสาะ บอกเสียงดังชัด แม้ร่างกายจะอยู่ในวัยชรา

          13.32 น. เราเดินทางไปอำเภอเบตง จังหวัดยะลา บนเส้นทางอันคดโค้ง-ทอดขึ้นลงภูเขา ทิวทัศน์ชวนรื่นรมย์ทะเลสาบบางลางสีหยก ป่าฝนอุดมสมบูรณ์หลายปีก่อน ผมเคยเดินทางโดยทางสายนี้ ยังจำได้ถึงรสลองกองตันหยงมัส น้ำตกธารโตอันร่มรื่น ทว่า ด้วยเหตุผลบางอย่าง เราจำต้องผ่านเลย...


3 จังหวัดชายแดนใต้


          เช้าวันที่ 29 กันยายน เบตงต้อนรับผู้มาเยือนด้วยสายหมอกขาวอากาศเย็นชื่น ในตลาดสด ผู้คนแวะมาซื้อหาอาหาร สะตอฝักอวบ ทุเรียนเนื้อเหลืองนวล ตามร้านกาแฟมีผู้คนหนาตา รอยยิ้มปรากฏทุกมุมถนน พร้อมกับเอ่ยเชื้อเชิญให้ชิมชารสดี ติ่มซำกรุ่นหอม

          จากตัวอำเภอ เราไปชมบ่อน้ำพุร้อนที่ตำบลตาเนาะแมเราะ ไปเยือนโครงการไม้ดอกเมืองหนาว หมู่บ้านปิยะมิตร อากาศเย็นสบาย หุบเขาเนื้อที่ 60 ไร่ ถูกจัดแบ่งเป็นงานวิจัยและงานท่องเที่ยว ในโรงเรือนมีการทดลองปลูกไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัสซัลเวีย กุหลาบ หน้าวัว กล้วยไม้มากหลาย ขณะลานกว้างก็ปูลาดด้วยไม้ ดอกหลากสี อย่างเสี้ยนฝรั่ง แอสเตอร์จีน ดาวเรือง


3 จังหวัดชายแดนใต้


          ที่ศาลาบนไหล่เขา มองลงไปจะเห็นพื้นที่โครงการฯ ได้ทั่ว ศาลานี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สบายบรมราชกุมารี มักใช้ขณะเสด็จมาทรงงาน จากพระราชดำรัสของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2539 เดิมที่เป็นหุบเขาห่างไกล วันนี้หมู่บ้านปิยะมิตร 2 กลายเป็นบ้านอันอบอุ่นของใครหลาย ๆ คน กลายเป็นสถานที่อันงดงาม ท่ามกลางทิวเขาและสายหมอกหนาวเย็น

          คืนวันสุดท้าย ผมเดินชมเมืองเบตง ที่วงเวียนหอนาฬิกา ผู้คนออกมานั่งพักผ่อนพูดคุย นกแอ่นกินลมเกาะเรียงรายตามสายไฟ มันคือนกนักเดินทาง ที่ใดปลอดภัยมันจะแวะพัก

          "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยะลาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2502 ต่อมาก็มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น 48 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านแหล่งน้ำ สังคม การเกษตร สาธารณสุข" คุณกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บอกเล่า...นี่คือความจริงที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงปฏิบัติมาเนิ่นนาน ผืนดินไทยคือบ้านของพระองค์


3 จังหวัดชายแดนใต้

          ที่วงเวียนหอนาฬิกา ผมหยุดพูดคุยกับครอบครัวหนึ่ง ใครบางคนเอ่ยว่า "เรารักบ้านเกิด" เป็นถ้อยคำสั้น ๆ นึกย้อนกลับไป ผมไม่ได้มาเยือนเบตงนานหลายปีแล้ว เมืองชายแดนแห่งนี้แทบไม่เปลี่ยนเลย ผู้คนยังเปี่ยมไมตรี บ้านเมืองสงบสุข งดงาม

          ผมรู้ว่าเพราะสิ่งใด




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความจริง ความงาม จากสามจังหวัดชายแดนใต้ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:58:15 2,913 อ่าน
TOP