x close

ตรัง เมืองหมูย่างรสเลิศ เสน่ห์หาดทรายงาม

ถ้ำมรกต

ตรัง

ตรัง

ตรัง

ตรัง

ตรัง

ตรัง

ตรัง

ตรัง

 
          คำขวัญ...เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกสีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา

          สำหรับผู้ที่หลงใหลบรรยากาศของหาดทราย ชายทะเล กลุ่มเกาะ และอาหารอร่อยแล้ว ไม่มีใครไม่คิดถึง "ตรัง" หรือ "เมืองทับเที่ยง" เมืองท่าค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต และเติบโตต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน โดยสั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตกทอดไว้ในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี

          และอย่างที่รู้กันว่า ตรัง เป็นดินแดนแรกที่มีการนำต้นยางพารามาปลูก ทุกวันนี้ยางพาราคือพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ทำรายได้เลี้ยงชีพผู้คนมาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเท่านั้น ความอุดมสมบูรณ์ของตรังยังรวมถึงผืนป่า แหล่งน้ำ และถ้ำน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหาดทราย ชายทะเล และหมู่เกาะเลย

          การไปเยือน จังหวัดตรัง จึงนับว่าได้ท่องเที่ยวครบทุก รสชาติ ทั้งดินแดนประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ธรรมชาติ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมและพอเพียงในแต่ละที่ที่คุณไป

          จังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 4,941 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเล็กเนินน้อยสลับกับที่ราบ ทำให้สันนิษฐานกันว่าชื่อตรัง มาจากคำว่า "ตรังคะ" ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่าลูกคลื่น ตามสภาพพื้นที่ของจังหวัดตรัง ขณะที่อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งบอกว่า ตรังมาจาก "ตรังเค" ภาษามลายู แปลว่า "รุ่งอรุณ" หรือ "สว่างแล้ว" เพราะสมัยก่อน เรือสินค้าจากมลายูจะแล่นมาถึง "ตรัง" ตอนสว่างพอดี



          ความเป็นมาของ เมืองตรัง นั้น เริ่มต้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพบหลักฐานคือจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบอกไว้ว่า ตรัง เป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช และหลักฐานอื่น ๆ ที่พบในเวลาต่อมา ทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยของวิวัฒนาการเมืองตรังได้เป็น 3 ช่วง คือ

          1. สมัยตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี (พ.ศ. 2354-2436) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบหลักฐานจากทำเนียบกรมการเมืองตรังว่า พระอุไภยธานี ผู้ว่าราชการเมืองตรังคนแรก ได้สร้างหลักเมืองไว้ที่ควนธานี (อยู่ในอำเภอกันตังในปัจจุบัน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ 8 กิโลเมตร)

          2. สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ. 2436-2458) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคนี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ท่านเห็นว่าที่ตั้งเมืองเดิมคือควนธานีนั้นอยู่ห่างจากฝั่งทะเลมาก จึงกราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่ตำบลกันตัง เพราะที่นี่เป็นชุมชนใหญ่ มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นเจ้าเมืองนี้เองที่ตรังได้รับ การพัฒนาไปอย่างมาก เช่น มีการนำต้นยางพาราจากมลายูมาปลูกเป็นครั้งแรก มีการตัดถนนจากตรังไปพัทลุง สร้างท่าเรือเพื่อรองรับการค้าขายกับต่างชาติ ฯลฯ นับเป็นยุครุ่งเรืองอย่างยิ่งเลยทีเดียว

          3. สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ. 2458 จนถึงปัจจุบัน) ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองกันตังมีพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยจากอริราชศัตรู อีกทั้งมีการระบาดของไข้อหิวาตกโรค จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังในปัจจุบันนั่นเอง

เกาะมุก

ตรัง

สถานที่ท่องเที่ยว ที่ไม่ควรพลาด

          สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลเขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ไปตามทางหลวงสายตรัง-พัทลุง อยู่ห่างจากตัวเมืองตรัง 21 กิโลเมตร สถานที่แห่งนี้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่และน้ำตกต่าง ๆ วันเปิดทำการทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม
   
          พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนค่ายพิทักษ์ ตำบลกันตัง อยู่ห่างจากเทศบาลกันตังประมาณ 200 เมตร เป็นที่ตั้งของสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ “จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง” หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เปิดทำการทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม

          ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง เป็นต้นยางรุ่นแรกที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ

          เขาปินะ ภูเขาลูกนี้ภายในกลวงจนถึงยอดเขา มีลักษณะคล้ายกะทะคว่ำ ตรงเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดปินะ มีบันไดขึ้นไปชมถ้ำ ซึ่งมีอยู่หลายชั้นและชมทิวทัศน์รอบ ๆ เขาได้ บริเวณทางเข้าถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่
   
ถ้ำมรกต

          เกาะมุก-ถ้ำมรกต ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของเกาะ นับเป็นจุดเด่นที่สุดในทะเลตรังลักษณะของเกาะทางด้านทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นโขดหน้าผาหินสูงตระหง่านหันหน้าออกสู่ทะเล นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเกาะมุกสามารถลงเรือจากท่าเรือปากเมง อำเภอสิเกา ใช้เวลาเดินทาง 40 นาทีค่าเช่าเรือเหมาลำราคาประมาณ 1,500 บาท/วันหรือนั่งเรือโดยสารขึ้นที่ท่าเรือกวนตุงกู ค่าเรือคนละ 40 บาทใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

          สวนสาธารณะควนตำหนักจันทน์ ตั้งอยู่ที่อำเภอกันตัง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลกันตัง ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 24 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่

          วนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง อยู่ในท้องที่บ้านควนแคง หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหวาง ป่าควนแคง และป่าน้ำราบ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549

          หาดยาว ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลิบง เป็นหาดทรายยาวต่อจากโขดเขารูปกระโดงฉลามขึ้นมาทางด้านเหนือ มีสนทะเลขึ้นเป็นแนวดูสวยงาม มีชายหาดกว้างเหมาะจะเข้าค่ายพักแรม และมีบริการที่พักของเอกชน จากตัวเมืองตรังโดยรถตู้ปรับอากาศสาย ตรัง-หาดยาว ค่าโดยสารคนละ 40 บาท
   
          เกาะลิบง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอกันตัง ตั้งอยู่ที่ตำบลลิบง ทะเลตรัง มีพื้นที่ 25,000 ไร่ รอบ ๆ เกาะเต็มไปด้วยหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของ "พะยูน" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังจะสูญพันธุ์ การเดินทางนักท่องเที่ยวต้องไปลงเรือที่ท่าเรือกันตัง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
   
เกาะกระดาน

          เกาะกระดาน อยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะมุกและเกาะลิบง เป็นเกาะที่สวยแห่งหนึ่งของทะเลตรัง อยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะมุกและเกาะลิบง มีเนื้อที่ 600 ไร่

หาดเจ้าไหม

          อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตั้งอยู่ที่หาดฉางหลาง ห่างจากตัวเมือง 27 กิโลเมตร ตามเส้นทางสาย 4046 ระยะทาง 40 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบชายหาดอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งที่อยู่บนฝั่งและอยู่ในทะเล ประเภทถ้ำ บ่อน้ำร้อน ชายหาด และแหล่งดำน้ำดูปะการัง เป็นต้น

          แต่เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ช่วงระหว่าเดือนกรกฎาคม - กันยายน มีฝนตกชุก คลื่นลมแรง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวประจำปี บริเวณถ้ำมรกต เกาะกระดาน เกาะเชือก และเกาะแหวน ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน ของทุกปี สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่บนฝั่ง สามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติตลอดทั้งปี โดยมีแหล่งท่องเที่ยว เช่น บ่อน้ำร้อนควนแคง, เกาะกระดาน, เกาะเชือก, เกาะมุกต์, ถ้ำเจ้าไหม, หาดเจ้าไหม, หาดฉางหลาง, หาดปากเมง และหาดหยงหลิง-หาดสั้น 

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคลองลำชาน ตั้งอยู่ในตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด เป็นที่อยู่อาศัยของนกเป็ดน้ำนกเป็ดแดงจำนวนมาก รอบ ๆ จะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่สงบเงียบเหมาะสำหรับการนั่งพัก ผ่อน พร้อมทั้งมีศาลาริมน้ำสำหรับไว้นั่งชมนก

          ประติมากรรมใต้น้ำในทะเลตรัง เป็นทางเลือกใหม่ของแหล่งท่องเที่ยวในทะเลตรัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดทำปะการังเทียมใต้น้ำซึ่งออกแบบเป็นประ ติมากรรมรูป "พะยูน" เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่น

          จังหวัดตรัง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ งาม ๆ อีกเพียบ รอให้คุณไปสัมผัสนะคะ

ตรัง

ทิปส์

           - หากจะเข้าถ้ำเขากอบ ต้องมั่นใจว่าตัวเองไม่เป็นคนกลัวที่แคบ เพราะปลายทางก่อนออกจากถ้ำนั้น เป็นโพรงแคบมาก ขนาดแค่เรือพาย 1 ลำ ลอดผ่านพอดี

          - ทุกครั้งที่เข้าถ้ำ อย่าแตะต้องหยดน้ำตรงปลายหินย้อย เพราะไขมันจากนิ้วมือจะทำให้หินย้อยไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้

          - หากจะไปเที่ยวถ้ำ ทางที่ดีควรมีไฟฉายคาดศีรษะที่กันน้ำติดตัวไปด้วย ถึงแม้ผู้ประกอบการจะมีไฟฉายให้ แต่การมีเป็นของตัวเองจะสะดวกกว่า และสามารถใช้ได้ในหลายกรณี

          - ก่อนลงดำน้ำ ควรทาแชมพูที่ด้านในของหน้ากากดำน้ำ จากนั้นนำหน้ากากดำน้ำไปแกว่ง ๆ ในน้ำทะเล แล้วค่อยสวม วิธีนี้เป็นการเคลือบฟิล์มที่หน้ากากดำน้ำ ทำให้ไม่เป็นฝ้ามัว

          - เตรียมกระเป๋ากันน้ำหรือถุงกันน้ำไปด้วยทุกครั้งเมื่อไปเที่ยวทะเล โดยเฉพาะเวลาพายคายัค เพื่อป้องกันของมีค่าเสียหายเมื่อโดนน้ำเป็นเวลานาน

          - เมื่อไปเที่ยวทะเล อย่าลืมนำโลชั่นกันแดด ค่า SPF สูง ๆ หมวก แว่นกันแดดไปด้วย

ตรัง

การเดินทาง

          ตรังอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 828 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดตรังได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน การเดินทางไปตรัง

          โดยรถไฟ : มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปถึงสถานีตรังทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 www.railway.co.th

          โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ไปตรังได้ 2 เส้นทาง คือ

          1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี ทุ่งสง แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 403 สู่อำเภอห้วยยอด จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงตรัง ระยะทางประมาณ 828 กิโลเมตร

          2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จนถึงจังหวัดชุมพร แล้วแยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง ระยะทางประมาณ 1,020 กิโลเมตร

          โดยรถประจำทาง : มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ตรัง ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ทรัพย์ไพศาลทัวร์ โทร. 0 2884 9584 ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

          โดยเครื่องบิน : สายการบินที่ให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ตรัง คือ นกแอร์ โทร. 1318, 0 2900 9955 www.nokair.com

          การเดินทางภายในตรัง : ในตัวเมืองตรังมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบ ทั้งรถตุ๊กตุ๊กหน้ากบ รถสองแถว รถโดยสารประจำทาง ฯลฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งตรัง โทร. 0 7521 5718

          นอกจากเส้นทางบนบก การเดินทางทางเรือก็เป็นอีกเส้นทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว เพราะตรังเป็นเสมือนศูนย์กลางเดินทางไปท่องเที่ยวในหมู่เกาะต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีน่านน้ำต่อเนื่องกัน หลายท่าเรือของตรังมีเรือโดยสารให้บริการไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ท่าเรือปากเมง ท่าเรือหาดยาว เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรัง เมืองหมูย่างรสเลิศ เสน่ห์หาดทรายงาม อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2559 เวลา 09:10:40 76,568 อ่าน
TOP