x close

ท่องชุมชนพื้นบ้าน ล่องเรือชมอาทิตย์อัสดงเมืองตราด






ท่องชุมชนพื้นบ้าน ล่องเรือชมอาทิตย์อัสดงเมืองตราด (ไทยโพสต์)

          สุดทางบูรพา ณ ประเทศไทย คงไม่พ้น "จังหวัดตราด" เมืองฝน 8 แดด 4 แห่งภาคตะวันออก ที่มีภูมิอากาศคล้ายกับเจ้าตำรับอย่างจังหวัดระนอง คือ ใน 1 ปี จะมีฝนตกเสีย 8 เดือน ฉะนั้น การไปเยือนเมืองตราดเพื่อไปสัมผัสบรรยากาศ "ชุมชนอาสาพาเที่ยว" หรือ Community Based Tourism ที่กำลังฮอตฮิตกับการได้ดื่มด่ำวิถีชีวิต วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ในแบบเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่ยังคงกลิ่นอายธรรมชาติพื้นบ้านในครานี้ จึงขลุกขลักทุลักทุเลด้วยหยาดฝนที่กระหน่ำลงมาแบบไม่ขาดสาย

          แต่ใช่สายฝนจะทำให้ทริปของเราหยุดชะงัก จุดหมายปลายทางเยี่ยมชม ชุมชนบ้านห้วยแร้ง ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว และปิดทริปกันที่ ชุมชนบ้านสลักคอก ต้องหอบชีวิตเสี่ยงกับคลื่นลมนั่งเรือเฟอร์รีท่ามกลางพายุกระหน่ำ เป็นเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อข้ามฟากจากตราดสู่ "เกาะช้าง" แต่ด้วยความลือเลื่องของไฮไลต์สุดโรแมนติก "นั่งเรือมาดชมอาทิตย์อัสดง" ก็ท้าให้คนชอบเที่ยวไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา สัมผัสให้ลึกซึ้งถึงใจ ว่าบรรยากาศที่ผู้คนกล่าวขานจะหวานหยดและน่าประทับใจสักเพียงไหน



          มาถึงเมืองตราดทั้งที แถมฟ้าฝนไม่เป็นใจอย่างนี้ แวะไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อุ่นใจก่อนเดินทางท่องเที่ยว คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย ฉะนั้น เมื่อล้อหยุดหมุน ณ ศาลเจ้าพ่อเมืองตราด หลายคนจึงกรูเดินเข้าไปกราบไหว้องค์เจ้าพ่อหลักเมือง (เสี่ยอึ่งกง) ที่ชาวตราดให้ความเคารพศรัทธา โดยชั้นนอกของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยังเป็นที่ประดิษฐานของเสา 2 ต้น ต้นสูงคือเสาหลักเมือง ส่วนอีกต้นคือเสาศิวลึงค์ ซึ่งเสาทั้งคู่หากได้สักการะก็จะอยู่เย็นเป็นสุขเช่นกัน นอกเหนือเรื่องที่พึ่งทางใจแล้ว ศาลเจ้าพ่อเมืองตราดยังชวนมองด้วยสถาปัตยกรรมคล้ายพระราชวังจีนโบราณ ประดับประดาด้วยงานปั้นรูปมังกรแสนอ่อนช้อย สีสันถูกแต่งแต้มอย่างสดใส สร้างบรรยากาศสดชื่นในวันฟ้าหม่นได้เป็นอย่างดี

          เสร็จจากการสักการะ ศาลเจ้าพ่อเมืองตราด การเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าไปยัง ชุมชนบ้านห้วยแร้ง ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยวจนได้รับรางวัล Thailand Tourism Awards ในปี 2550 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระหว่างเดินทางเมฆฝนตัวดีก็ก่อตัวเทาทะมึน แล้วปล่อยสายฝนปรอยหยดลงมาทักทาย ทำให้การล่องเรือ PVC ชมวิถีคลองสามน้ำ (น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย) เพื่อเลยไปผจญภัยแก่งหินน้อยใหญ่ ถึง 18 แก่ง ณ ลำน้ำห้วยแร้ง ต้องพับโครงการเหลือเพียงการนั่งเรือชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งคลอง 

เกาะช้าง

          ล่องเรือเล่นจนเย็นย่ำ ตกค่ำจึงพักกันที่ โฮมสเตย์บ้านห้วยแร้ง หลังจากกลายมาเป็นคนกรุงมาเกือบ 10 ปี พอมาเจอการต้อนรับขับสู้ด้วยความจริงใจที่ชาวบ้านห้วยแร้งมอบให้แก่แขกผู้มาเยือน ความประทับใจก็บังเกิดขึ้นโดยพลัน ทั้งการพูดจาก็แสนอบอุ่น ข้าวปลาอาหารไม่มีขาดตกบกพร่อง ต่างขนทยอยมาให้ล้อมวงกินอย่างไม่หวาดไหว เด็ดสุดต้องยกให้ "ข้าวห่อกาบหมาก" ที่ทำให้ดูแบบจะจะไม่หวงสูตร ข้าวสวยร้อน ๆ ผัดกับน้ำพริกลงเรือ แนมด้วยไข่เค็มผ่าเสี้ยวมันสีม่วง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปลากรอบ สับปะรดตราดสีทองหวานฉ่ำ ตบท้ายด้วยแตงกวา วางบนใบตองห่อด้วยกาบหมากของดีในพื้นถิ่น ไม่ต้องอาศัยกล่องโฟมหรือถุงพลาสติกให้วุ่นวาย แถมรสชาติอร่อยลิ้นจนต้องขอเพิ่มเป็นห่อที่สอง

          ส่วนที่มาของ ข้าวห่อกาบหมาก คุณป้าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็ก ๆ ห่อปิ่นโตไปกินที่โรงเรียนแล้วชอบลืมทิ้งไว้จนหาย แม่ของป้าเลยบอกว่าขี้ลืมอย่างนี้ สงสัยต้องใช้กาบหมากห่อข้าวไปกินแล้วกระมัง วิถีการใช้กาบหมากห่อข้าวก็เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น ด้านที่หลับที่นอนก็จัดเตรียมพร้อมไว้อย่างเรียบง่ายสะอาดสะอ้าน ทุกอย่างเป็นกันเองเหมือนได้กลับมาอยู่บ้าน เมื่อ ต้องร่ำลายามรุ่งอรุณมาเยือนเพื่อไปกันต่อที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ได้แต่สัญญากับตัวเองว่า พักร้อนปีหน้าขอมาพักใจพักกายชาร์จไฟให้ชีวิตที่ชุมชนแห่งนี้อีกครั้งอย่างแน่นอน





          ยังไม่ถึงสิบโมงดี เราก็มาถึง ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ทางผ่านไปยังเกาะช้างที่หลายคนไม่อาจผ่านเลย เนื่องจากบ้านน้ำเชี่ยวมีของดีที่ทุกคนต้องแวะช็อปซื้อ ซึ่งก็คือ "เหละ" ภาษาพื้นถิ่นที่ใช้เรียก "งอบน้ำเชี่ยว" งานหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณผลิตจากใบจากราว 30-35 ใบ แล้วนำมาร้อยเรียงถักทอกลายเป็นหมวกมากคุณประโยชน์ ทั้งคณะจึงไม่พลาดขอลงเลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านคนละใบสองใบ โดยงอบน้ำเชี่ยวมีหลากแบบหลายทรงให้เลือกซื้อหา แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ดังเดิมสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย มีอยู่ 5 แบบ ได้แก่ ทรงกระทะคว่ำ ทรงกระดองเต่า ทรงกะโหลก ทรงยอดแหลม และทรงสมเด็จ จากนั้นเป็นการประยุกต์ให้กับเข้ายุคสมัย ทรงดอกไม้ก็มีให้เห็น





          นอกจาก "เหละ" แล้ว ที่บ้านน้ำเชี่ยวยังมีเส้นทางเดินทัศนศึกษาที่น่าสนใจ เริ่มจากการชม ที่มีอายุกว่า 200 ปี สร้างโดยชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือเป็นมัสยิดเก่าแก่แห่งแรกของภาคตะวันออก ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าว ต่อด้วยการเดินชมธรรมชาติในมัสยิดอัลกุบรอ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นนิเวศแห่งป่าน้ำเค็ม ทั้งปู ปลาตีน ลิง และนกจำนวนมาก ระหว่างการเดินทอดน่องบนสะพานไม้ที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แถมปลายทางยังมีหอดูนกสูงกว่า 12 เมตร ให้ขึ้นไปส่องดูอีกด้วย

          และแล้วก็มาถึงไฮไลต์อย่างที่เกริ่นไว้ ตกบ่ายเราอาศัยเรือเฟอร์รีข้ามฝากมายัง เกาะช้าง เพื่อเปิดประสบการณ์สุดโรแมนติก ด้วยการล่องเรือยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกที่ ชุมชนบ้านสลักคอก ชุมชนท่องเที่ยวทางเลือกสำหรับผู้คนที่ไม่นิยมแสงสี




          บ้านสลักคอก มีความสำคัญอย่างมากในทางนิเวศวิทยา เพราะเป็นที่ตั้งของป่าโกงกางและป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดบนเกาะช้าง ด้วยเนื้อที่กว่า 670 ไร่ การคงอยู่ของหรือเสื่อมโทรมของป่าชายเลนแห่งนี้  จึงมีผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และชุมชนรอบ ๆ เกาะ ทำให้กิจกรรมล่องเรือที่จัดขึ้นโดยชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกเป็นไปในแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ เรือที่เตรียมไว้เป็นแบบพายทั้งหมด และยังมีเรือมาดพายพาล่องทะเลกินดินเนอร์จิบไวน์ใต้แสงเทียนสำหรับคู่รักอีกด้วย

          ฝีพายเนิบนาบละมุนนุ่ม ที่ค่อย ๆ คัดท้ายพาเรือมาดขนาด 4 คนนั่ง ล่องไปยังปากอ่าวสลักคอก อารมณ์ที่ได้รู้สึกผ่อนคลายจนต้องเอนตัวพิงเก้าอี้ และปล่อยสายตาอ้อยอิ่งชมธรรมชาติสองข้างทาง จวบกระทั่งช่วงเรือล่องวกกลับสู่ท่าน้ำ ความโรแมนติกที่กล่าวขานก็เริ่มบังเกิดขึ้น ด้วยแสงอาทิตย์ยามอัสดงที่กำลังลาลับสาดสีส้มจางทาทับทั่วท้องฟ้า แต้มด้วยเงาภูเขากั้นกลางระหว่างฟากฟ้าและผืนน้ำ ยามเรือมาดแล่นผ่านฉากหลังสุดงดงาม  สอง มือจึงหยิบกล้องคู่ใจขอบันทึกภาพสุดประทับใจมาฝากไว้ให้ดูกัน และได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้มาเยือนบ้านสลักคอกอีกครั้ง เพื่อนั่งเรือมาดดูอาทิตย์อัสดงในแบบจิบไวน์ใต้แสงเทียนกับเคียงข้างกับ...คนรู้ใจ



          ดื่มด่ำกับบรรยากาศชวนฝันอย่างชื่นฉ่ำหัวใจ และแวะพักค้างที่เกาะช้าง 1 คืน ก่อนบ่ายหน้ากลับสู่เมืองกรุงอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็ยังมิวายถูกสายฝนแวะทักทายเกือบตลอดทางอีกเช่นเคย

          ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจท่องทริปเดินทางในแบบชุมชนอาสาพาเที่ยว ณ ชุมชนบ้านห้วยแร้ง และชุมชนบ้านสลักคอก ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.08-9247-9648, 08-1964-6441 ส่วนชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว โทร. 03-9532-2959, 08-4470-7717 หรือที่เว็บไซต์ ททท. http://thaitourismthailand.org และ call center 1672




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท.


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท่องชุมชนพื้นบ้าน ล่องเรือชมอาทิตย์อัสดงเมืองตราด อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:41:09 1,802 อ่าน
TOP