เรื่องมันเกิดอยู่ว่า...
เพื่อน : หยุดยาว 3 วัน ไปเที่ยวไหน
ผม : ไปราชบุรี
เพื่อน : ไปทำอะไร ไปธุระเหรอ
ผม : ไปเที่ยว
เพื่อน : ไปเที่ยวสวนผึ้งเหรอ
ผม : เปล่า ไปเที่ยวราชบุรีนี่แหละ
เพื่อน : ราชบุรีมีอะไรให้เที่ยวอะ
หากพูดถึงราชบุรี หลายคนคงคิดว่าเมืองราชบุรีเป็นเพียงเมืองผ่าน หรือไม่เมื่อนึกถึงราชบุรีก็จะนึกถึงสวนผึ้งเป็นลำดับแรก แต่จริง ๆ แล้วราชบุรีมีอะไรที่น่าสนใจหลายอย่างเลย อยากรู้ว่าราชบุรีมีอะไรน่าสนใจ ตามผมมาเลยครับ
ผมออกเดินทางจากลพบุรี ผ่านสิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และตรงเข้าเขตจังหวัดราชบุรี โดยจุดหมายแรกของผมอยู่ที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวกครับ
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก อยู่ในอำเภอดำเนินสะดวก เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งได้ขุดคลองดำเนินสะดวกขึ้นตามพระราชดำริของ ร.5 ด้วยทรงเห็นว่าการคมนาคมในพื้นที่ไม่มีถนนที่เชื่อมกับอำเภออื่น ๆ โดยคลองนี้จะเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง ใช้เวลาขุดคลองประมาณ 2 ปีครับ
ผมไม่ได้มาที่ตลาดน้ำแห่งนี้นานมากแล้ว ภาพครั้งล่าสุดที่ผมจำได้คือเรือพายลำน้อยใหญ่ ที่มีทั้งเรือของพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงเรือของนักท่องเที่ยว มีการซื้อขายกันในคลองดำเนินสะดวก การจราจรภายในคลองตอนนั้นถือว่ายังคล่องตัวอยู่บ้าง จากนั้นคนขับเรือจะพาผมล่องไปตามคลองสายเล็ก ๆ เพื่อไปชมวิถีชีวิตของชาวบ้านละแวกนั้น ไปดูการขึ้นต้นมะพร้าว การทำน้ำตาลมะพร้าวครับ
ปัจจุบันสภาพการจราจรในคลองดำเนินสะดวกถือว่าติดขัดเอามาก ๆ เนื่องมาจากปริมาณของนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้นทุก ๆ วัน สำหรับสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายก็จะมีขายทั้งในเรือและบนฝั่ง มีตั้งแต่ของที่ระลึกจนถึงของทานจริงทานเล่นเลย มีทั้งข้าวหมูแดง หมูกรอบ กวยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแห้ง ปลาหมึกย่าง กุ้งเผา ขนมจีบ ข้าวเม่าทอด ผลไม้นานาชนิดครับ ตลาดน้ำแห่งนี้เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. เรื่อยไปจนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ครับ
ผมได้มีโอกาสคุยกับแม่ค้าที่เดินขายของที่ระลึก ก็เลยถามว่านักท่องเที่ยวเยอะแบบนี้ทุกวันหรือไม่ แม่ค้าบอกว่านักท่องเที่ยวมีทุกวัน แต่จะเยอะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และถ้าหากผมชอบเดินชมบรรยากาศตลาดน้ำเดิม ๆ แบบนักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่าน ให้เดินไปจนสุดตลาดน้ำดำเนินสะดวก จะมองเห็นสะพานข้ามไปยังตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ได้ยินดังนั้นแล้วผมเลยเดินข้ามฝั่งไปยังตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักครับ
ผมมาฝากท้องที่ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ได้ก๋วยเตี๋ยวต้มยำไข่ เย็นตาโฟ รสชาติดีแบบไม่ต้องปรุงเลย นอกจากนี้ยังมีก๋วยเตี๋ยวต้มส้มด้วย แต่ผมไม่ได้ชิมครับ สำหรับตลาดเหล่าตั๊กลักเปิดตลาดเฉพาะช่วงเช้าวันเสาร์และวันอาทิตย์ครับ
จากตลาดน้ำดำเนินสะดวกผมมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองราชบุรี ระหว่างทางแอบเห็นป้ายบอกทางมาที่วัดนักบุญอันตน โคกมดตะนอย เลยจัดการแวะเข้ามาเยี่ยมชมครับ
เมื่อเลี้ยวรถเข้ามาภายในบริเวณวัดมองแทบไม่เห็นโบสถ์เลยครับ เพราะด้านหน้าของโบสถ์มีการติดตั้งเต็นท์ถาวรขนาดใหญ่บดบังทัศนวิสัยของโบสถ์ซะหมด ถ้าหากอยากชมด้านนอกของตัวโบสถ์คงต้องมามองด้านข้างเอาครับ
ผมไม่มีข้อมูลของวัดนี้เลย พยายามหาจาก Google ก็ไม่มีรายละเอียดที่บอกเล่าเรื่องราวหรือความสำคัญของที่นี่เลย รู้แต่เพียงว่าเมื่อที่นี่มีงานคริสต์ศาสนิกชนจะมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
จากวัดนักบุญอันตน โคกมดตะนอย ผมมุ่งหน้าสู่อำเภอวัดเพลง เพื่อไปชมความงามของโบสถ์คริสต์อีก 1 แห่งที่วัดพระคริสตหฤทัย วัดเพลง ครับ
โบสถ์ทรงกะทัดรัด ขนาดไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป สีม่วงอ่อน แต่งแต้มด้วยลวดลายปูนปั้นสีขาวอย่างอ่อนช้อย สะกดสายตาของผมให้เดินสำรวจไปรอบ ๆ ตัวโบสถ์อย่างไม่ละสายตา
ตรงประตูโบสถ์มีป้ายบอกไว้ว่า ที่นี่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม ประจำปี 2549 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยครับ
โบสถ์แห่งนี้ตกแต่งตามสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค ตามซุ้มประตูและหน้าต่างจะใช้กระจกสีตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม มีการวาดภาพฝาผนังด้านหลังพระแท่นสวยงามมาก ๆ ครับ ลักษณะโครงสร้างจะเป็นแบบผนังรับน้ำหนักถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาเข็มไม้ ผนังก่ออิฐฉาบปูน
ผมว่าวัดพระคริสตหฤทัยสวยงามไม่แพ้โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมลที่จันทบุรีเลยครับ โบสถ์แห่งนี้โดดเด่นในเรื่องการใช้กระจกสีเข้ามาตกแต่งตามซุ้มประตูหน้าต่าง และเพิ่มความมีเสน่ห์ด้วยลวดลายบนผนังโบสถ์ด้านนอก ใครที่ผ่านมาทางอำเภอวัดเพลง ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดโบสถ์คริสต์แห่งนี้นะครับ รับรองว่าถ้าได้เข้ามาเยี่ยมชมแล้วจะต้องประทับใจอย่างแน่นอนครับ
หากใครชอบเที่ยวชมโบสถ์ หลังจากเที่ยวชมที่วัดพระคริสตหฤทัยแล้ว ยังสามารถไปชมโบสถ์บางนกแขวกได้อีกนะครับ แต่ผมเพิ่งไปเที่ยวที่บางนกแขวกมาเลยตัดโปรแกรมนี้ออกไปครับ
ออกจากวัดพระคริสตหฤทัยแล้วผมผ่านเข้าตัวเมืองและมุ่งหน้าสู่เส้นทางที่จะไปอำเภอจอมบึง แต่ขอแวะเติมพลังกันสักเล็กน้อย ด้วยร้านไก่ย่างวิเชียรบุรีข้างทาง ก่อนที่ผมจะไปผจญภัยกันต่อที่ถ้ำเขาบินครับ
ถ้ำเขาบินเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายในถ้ำเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย ถ้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางค่อนข้างชัดเจนเลยครับ
จากลานจอดรถเราต้องเดินเท้าต่อกันสักประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงปากถ้ำ บริเวณปากถ้ำจะมีจุดชำระค่าเข้าชม เสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท ที่นี่จะมีไกด์พื้นที่ไว้คอยบริการด้วย แต่ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำมาเรียบร้อยแล้ว เลยไม่ได้ใช้บริการครับ
ระหว่างที่ผมกำลังเดินเข้าไปในถ้ำ มองเห็นนักท่องเที่ยวเดินสวนออกมาจากปากถ้ำ แต่ละคนเหงื่อไหลไคลย้อยกันเป็นแถว เพียงแค่ยืนอยู่บริเวณปากถ้ำผมก็รับรู้ถึงความร้อนที่อยู่ภายในถ้ำแล้วครับ
ภายในถ้ำเขาบินประกอบด้วย 8 ห้องใหญ่ ๆ แต่ละห้องก็จะมีชื่อเรียกขานตามลักษณะของหินงอกหินย้อยที่เกิดขึ้นครับ
สภาพทางเดินในถ้ำถือว่าไม่ลำบาก แต่ต้องระวังความลื่นจากน้ำที่หยดลงมาจากผนังถ้ำกันสักเล็กน้อย ความสว่างในตัวถ้ำถือว่าไม่มืดมาก สามารถชมหินงอกหินย้อยได้ตลอดเส้นทางครับ
ห้องที่ 2 ชื่อศิวะสถาน ตามข้อมูลบอกว่าผู้ที่ได้เข้ามาสัมผัสกับเสาหินที่เปรียบเสมือนเสาหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ประจำถ้ำ ผู้นั้นจะได้รับความสุขสมหวัง คิดการใดจะสำเร็จสมอารมณ์หมาย อาการเจ็บไข้จะหายไปในทันใด โชคลาภที่คอยมานานก็จะได้รับในทันที จุดนี้ผมไม่เห็นด้วยกับคำโฆษณาชวนเชื่อให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสหินเลยครับ โดยปกติการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เราไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างด้วยซ้ำ ยิ่งเป็นหินงอกหินย้อยภายในถ้ำด้วยแล้ว ไม่ควรจะใช้มือสัมผัสอย่างยิ่ง อาจจะทำให้หินก้อนนั้นเป็นรอยดำ หรือที่แย่ไปกว่านั้นหินงอกหินย้อยอาจตายได้ (เมื่อหินโดนมือสัมผัสหินก้อนนั้นอาจจะหยุดการงอกหรือย้อยได้)
ห้องที่ 3 ชื่อธารอโนดาต หินย้อยภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายธารน้ำตกหินปูนที่หลั่งไหลมาสู่ผู้มาเยือน ที่ผนังถ้ำจะมีฟองหิน มีสวนหินย้อยคล้ายปะการังใต้ทะเล
ห้องที่ 4 ชื่อสกุณชาติคูหา ที่ผนังถ้ำจะมีลักษณะคล้ายนกกางปีก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้พบเห็นจะเป็นผู้ที่มีสายตาที่กว้างไกลดุจดังพญาอินทรีครับ
ห้องที่ 5 ชื่อเทวสภาสโมสรสถาน ภายในห้องนี้มีเสาหินขนาดใหญ่หลายร้อยต้น ด้านหลังของเสาหินมีหินที่มีลักษณะเป็นธารน้ำตกเกิดใหม่ เชื่อว่าที่นี่เป็นสถานที่ชุมนุมของเหล่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตในถ้ำ ผู้ที่เข้ามาถึงที่ห้องนี้ภายภาคหน้าจะมีความเจริญ ไม่มีทุกข์ จะมีสมองที่สดใสครับ
ห้องที่ 6 ชื่อกินนรทัศนา หรือกินนรีทัศนา ผนังของห้องนี้จะเป็นสีขาว เชื่อกันว่าผู้ที่พบเห็นจะมีอายุยืนยาวและได้รับการยกย่องเชิดชู ในห้องนี้ยังมีหินรูปเต่าและบ่อน้ำแร่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยแห้ง ใช้เป็นน้ำสาบานและน้ำมนต์ของพระชื่อดังครับ
ห้องที่ 7 ชื่อพฤกษาหิมพานต์ ผู้ค้นพบจินตนาการหินงอกที่ราบเรียบประดุจค้างคาวกางปีก ผมพยายามมองก็ไม่เห็นว่าจะมีส่วนไหนที่มีลักษณะคล้ายค้างคาวเลยครับ ส่วนอีกด้านหนึ่งของห้องนี้จะเป็นสวนหิน มีต้นไม้เป็นรูปหินย้อยและเสาหินมากมาย เชื่อกันว่าผู้ที่เดินทางมาถึงห้องนี้จะมีบ้านเรือนที่สุขสดชื่นระรื่นใจ เป็นที่รักและพึ่งพาของลูกหลานครับ
มาปิดท้ายที่ห้องที่ 8 ชื่ออุทยานทวยเทพ เชื่อว่าเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของถ้ำ นักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้เพราะเชื่อว่าจะมีความโชคดีเป็นศรีสุข หมดทุกข์หมดโศกหมดโรคหมดภัยครับ
สำหรับการเดินภายในถ้ำแนะนำให้เดินไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ อย่าเดินออกนอกเส้นทางนะครับ เพราะจะพาลให้หลงได้ อากาศภายในถ้ำร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก ไม่ต่างอะไรกับห้องอบซาวน่าเลย เสื้อผมชุ่มไปด้วยเหงื่อ เมื่อเดินออกมาถึงปากถ้ำต้องขอหยุดพักสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดซะก่อน ไม่อย่างนั้นมีหวังเป็นลมแน่ครับ
ผมว่าหินงอกหินย้อยภายในถ้ำก็สวยใช้ได้เลยครับ แต่เสียที่การประดับไฟบางจุดยังไม่ประณีตเท่าที่ควร คือมีการเอาไฟมาตั้งโด่เด่เลย ดูขัดตาเป็นอย่างมาก ถ้าหากหลบมุมเอาหลอดไฟซ่อนไฟไว้ตามซอกหิน จะทำให้ถ้ำน่าสนใจมากยิ่งขึ้นครับ
ก่อนเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปผมคงต้องเปลี่ยนเสื้อ เพราะเสื้อที่ใส่อยู่ ณ ตอนนั้นเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ หากใส่เสื้อเปียกแบบนี้ขึ้นรถ เบาะรถก็คงจะชุ่มเหงื่อด้วยเช่นกัน
ผมใช้เส้นทางมุ่งหน้ากลับมายังตัวเมืองราชบุรีอีกครั้ง และแวะชมอุทยานหินเขางูก่อนเข้าตัวเมืองครับ
เดิมอุทยานหินเขางูเป็นแหล่งระเบิดหินและย่อยหินที่สำคัญของไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาภาครัฐและประชาชนได้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิประเทศ จึงมีการยกเลิกสัมปทานการระเบิดและย่อยหินลง จนกลายเป็นเหมืองร้าง มีสภาพทรุดโทรม ภายหลังจังหวัดราชบุรีจึงมาพัฒนาเขางูให้เป็นสวนสาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวครับ
จากที่ผมได้ขับรถตระเวนรอบ ๆ เขางู เห็นเลยว่าที่นี่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จึงปล่อยให้รกไปด้วยวัชพืชมากมาย ที่นี่ยังมีฝูงลิงเป็นจำนวนมาก ใครที่ผ่านมาผ่านไปแถวนั้นสามารถเอาอาหารไปให้ลิงได้นะครับ
ผมมาปิดทริปของวันที่โรงงานเซรามิก เถ้าฮ่งไถ่
โรงงานแห่งนี้เปิดกิจการมาเกือบ 80 ปีแล้ว ผลิตงานเครื่องปั้นดินเผาอย่างโอ่งมังกรและผลิตภัณฑ์เซรามิกมากมาย ปัจจุบันมีการปรับรูปแบบให้ดูร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น มีการใส่สีสันให้ดูโดดเด่น เตะตา สินค้าที่ผลิตออกมามีตั้งแต่กระถาง แจกัน โอ่ง ชุดเก้าอี้ โต๊ะ ตุ๊กตาประดับสวนครับ
บริเวณด้านหน้าเป็นลานสนามหญ้า มีร้านกาแฟที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องสีฉูดฉาดรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ใครร้อนก็เข้าไปพักตากแอร์ในร้านกาแฟ ส่วนใครที่ชอบถ่ายรูปที่นี่ก็มีมุมให้โพสท่าเก๋ ๆ ถ่ายภาพอวดเพื่อน ๆ หลายจุดเลยทีเดียวครับ
ถัดจากสนามหญ้าเข้าไปจะเป็นโรงงานผลิตเซรามิก นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมกระบวนการผลิตด้านในได้ สำหรับด้านหน้าโรงงานจะมีผลิตภัณฑ์ที่แล้วเสร็จรอการจำหน่าย ใครถูกใจชิ้นไหนสามารถเลือกช้อปปิ้งไปไว้ที่บ้านได้ครับ สนนราคาเริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นกันเลยทีเดียว
วันนี้เที่ยวกันจนหมดแรงครับ ผมมาหมดแรงตั้งแต่ออกจากถ้ำเขาบินแล้ว ตอนนี้ขอเข้าที่พักก่อนดีกว่า ผมเลือก SPACE59 เป็นที่พักสำหรับคืนนี้ การเข้าพักครั้งนี้ผมจองที่พักผ่าน Agoda เบ็ดเสร็จค่าเสียหายต่อห้อง รวมภาษีโรงแรมและเซอร์วิสชาร์จแล้ว ราคาอยู่ที่ 800 บาทต่อห้องครับ
โรงแรมค่อนข้างใหม่เลยทีเดียว ด้านหน้ามีพื้นที่โล่งสำหรับจอดรถได้ประมาณ 20 คัน หากมีแขกเข้าพักเยอะ สามารถมาจอดที่ด้านนอกของโรงแรมได้อีกไม่เกิน 10 คันครับ
รูปแบบการตกแต่งโรงแรมออกแนวอาร์ตครับ โดนใจผมซะจริง ๆ
บริเวณ Lobby มีพื้นที่ให้แขกได้นั่งพักผ่อนระหว่างรอ Check in/Check out รวมถึงนั่งจิบกาแฟด้วยครับ
หลังจาก Check in เรียบร้อยแล้ว ผมลองสอบถามราคาห้องพักสำหรับผู้ Walk in ดู เมื่อได้ยินคำตอบแล้วเจ็บใจมาก เพราะราคา Walk in อยู่ที่ 750 บาท ถูกกว่าจองผ่าน Agoda 50 บาทเลย ถ้าหากใครสนใจเข้าพักที่นี่ ผมแนะนำว่าให้โทรจองกับทางโรงแรมโดยตรงดีกว่านะครับ (032-315559)
ติดกับ Lobby จะเป็นประตูเพื่อไปยังลิฟต์และบันได มีหมีน้อยตัวใหญ่ยืนรอต้อนรับอยู่ที่ประตูครับ
เมื่อเปิดประตูเข้าไปด้านซ้ายมือจะเป็นมุมกาแฟ ที่นี่ไม่มีบริการอาหารเช้านะครับ แต่จะมีมุมกาแฟให้บริการตลอดทั้งวัน สำหรับตอนเช้าจะมีขนมปังไว้บริการฟรีด้วยครับ
ลิฟต์จะอยู่ฝั่งตรงข้ามของมุมกาแฟ สำหรับใครที่อยากออกกำลังสามารถเดินขึ้นบันไดพร้อมกับชมพื้นที่ของแต่ละชั้นซึ่งมีการออกแบบที่ไม่เหมือนกันด้วยครับ
ผมพักที่ชั้น 6 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดครับ
เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 6 มีพื้นที่สำหรับให้นั่งเล่นด้วยครับ
มาดูในส่วนของห้องพักกันบ้างครับ ห้องพักที่นี่จะมี 2 Type คือ Superior และ Duplex รวมแล้ว 59 ห้องครับ
สำหรับห้องน้ำจะอยู่ด้านในสุดของห้องพัก แยกส่วนเปียกส่วนแห้งด้วยบานกระจก มีฝักบัว 2 แบบ และมีสายฉีดชำระให้พร้อมครับ
จากในห้องสามารถเดินออกไปสูดอากาศรวมถึงชมวิวที่ระเบียงหลังห้องได้ด้วยครับ
ทางโรงแรมได้จัดเตรียมหมอนแบบแน่น (Firm Pillow) ไดร์เป่าผม ปลั๊กพ่วง ที่ชาร์ตแบบไอโฟน รวมถึงจักรยาน ไว้คอยบริการที่ส่วนกลางด้วย หากลูกค้ามีความประสงค์ที่จะใช้สามารถติดต่อที่ Lobby ได้เลยครับ ให้บริการแบบใครยืมก่อนได้ก่อนครับ (First come, First serve)
ผมไปถึงช่วงที่พระอาทิตย์กำลังตก ฟ้ากำลังเปลี่ยนสี เลยขอปักหลักเก็บภาพแสงสุดท้ายที่ระเบียงหลังห้องพักซะเลยครับ
หลังพักผ่อนจนหายเหนื่อยแล้ว ผมเลยออกไปหาอาหารค่ำทานกันที่ตลาดโต้รุ่งหอนาฬิการิมน้ำแม่กลองครับ
ร้านค้าภายในตลาดโต้รุ่งมีเยอะมาก ๆ แถมด้านนอกยังทำเป็นถนนคนเดินอีกด้วย
บริเวณริมน้ำแม่กลองติดกับตลาดโต้รุ่ง เมื่อเดินลงบันไดมาจะมีหมอนวดบริการนวดคอ นวดเท้า เต็มไปหมดเลย สนนราคาค่านวด 120 บาทต่อชั่วโมงครับ
อีกหนึ่งมุมอาร์ตที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลองครับ
หลังจากอิ่มหนำกันแล้วขอกลับไปพักผ่อนเอาแรงเพื่อลุยต่อในวันต่อไปครับ
เช้าวันใหม่หลังจากทานอาหารว่างเป็นขนมปัง-โอวัลตินของทางโรงแรมแล้ว ก็เตรียมเดินทางกันต่อครับ
จุดหมายแรกของผมในวันที่ 2 อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีครับ
อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัย ร.6 เดิมเคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดมาก่อน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปี 2526 ด้านในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับราชบุรีในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะพื้นบ้าน แต่เนื่องจากผมมีเวลาค่อนข้างจำกัด เลยไม่ได้เข้าไปชมด้านใน ได้แต่เก็บบรรยากาศภายนอกเท่านั้นครับ
ผมมาต่อที่ หอศิลป์ Tao Hong Tai : d Kunst (คำว่า Kunst เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่าศิลปะ) ซึ่งก็อยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั่นเองครับ
เดิมที่นี่เป็นบ้านไทยทรงมะนิลา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลาย ร.5 ถือว่าเป็นบ้านเก่าแก่ของราชบุรีครับ ปัจจุบันทางเถ้าฮงไถ่ได้เข้ามาบูรณะเพื่อทำเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยและได้อุทิศให้เป็นสถานที่ทางการศึกษาและความรู้ทางศิลปะแก่ชุมชน ภายในหอศิลป์แห่งนี้แบ่งเป็น 3 ชั้น
บันไดที่อยู่ด้านนอกจะพาเราขึ้นมาที่ชั้น 2 ภายในมีมุมให้นั่งพักผ่อน นั่งอ่านหนังสือ หรือนั่งพูดคุยได้ตามอัธยาศัย โดยจะมีร้านกาแฟเล็ก ๆ ไว้ให้บริการด้วย
ด้านข้างก็ยังมีอีก 1 ห้อง ให้นั่งพักผ่อนได้ตามอัธยาศัยครับ
ชั้นบนเป็นแกลลอรี่แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปิน ที่จะสลับสับเปลี่ยนมาจัดแสดงให้ชมกันเรื่อย ๆ ช่วงที่ผมไปเป็น Theme ชุดผ้าปักครับ
สำหรับชั้นล่างสุดจัดทำเป็นห้องสมุดครับ
หอศิลป์แห่งนี้อยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง อยู่ข้าง ๆ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ว่าง ๆ แวะไปนั่งเล่นชิล ๆ ได้นะครับ
จากนั้นผมรีบมุ่งหน้าสู่อำเภอโพธาราม เพื่อจะไปชมการแสดงเชิดหนังใหญ่ที่วัดขนอน ซึ่งจะเริ่มแสดงในเวลา 11.00 น. ครับ
จุดสำคัญในวัดขนอนมี 3 จุด จุดแรกคือวิหารครับ อยู่บริเวณด้านหน้าของวัด
จุดที่สองคือโรงมหรสพหนังใหญ่วัดขนอน ซึ่งในวันเสาร์จะมีการแสดงเชิดหนังใหญ่ในเวลา 10.00 น. และวันอาทิตย์แสดงเวลา 11.00 น. จัดแสดงวันละ 1 รอบเท่านั้นครับ
หนังใหญ่ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตรกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์การละครที่เคลื่อนไหวอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดเรื่องราวและอรรถรสในการชม
ก่อนการแสดงผมได้ยินเสียงพิธีไหว้ครูอยู่ด้านหลังจอหนัง จากนั้นวงดนตรีปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงขณะทำพิธี เรียกพิธีเบิกหน้าพระ จากนั้นจะมีพิธีกรออกมาเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ครับ
สำหรับการแสดงในวันนั้น แสดงเรื่องรามเกียรติ์ เสียงดนตรีที่เร้าใจ เพลงเชิดและบทเจรจาที่ฟังแล้วเพลิดเพลิน รวมถึงท่าเชิดที่อ่อนช้อย โดยเฉพาะท่าขึ้นลอย ทำให้เวลา 45 นาที ผ่านไปอย่างรวดเร็ว การแสดงหนังใหญ่นั้นชมฟรี ไม่มีการเรียกร้องค่าโชว์แต่อย่างใด แต่ที่ด้านหลังของโรงมหรสพจะมีตู้สำหรับบริจาคช่วยฟื้นฟูการแสดงหนังใหญ่ ผมว่าถ้าหากได้ไปนั่งชมแล้ว เงิน 100 บาท ไม่มากเลยสำหรับการมานั่งชมอะไรดี ๆ ที่หาดูได้ยากแบบนี้ครับ
และจุดสำคัญจุดสุดท้ายของวัดขนอนที่พลาดไม่ได้คือพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของโรงมหรสพครับ
มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพอดีครับ
รูปหล่อของท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ผู้ที่ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังครับ
มีของเก่าจัดแสดงไว้มากมาย
สมุดข่อย ทำจากเปลือกของต้นข่อย นำมาทำเป็นแผ่นกระดาษ ใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะเป็นแผ่นยาวแผ่นเดียวพับกลับไปกลับมาเป็นชั้นให้เป็นเล่ม ชั้นหนึ่งเรียกว่า “เผนิก” (ผะ- เหนิก) ใน 1 เล่มมีประมาณ 20-40 เผนิก ครับ
ภาพพระบฏ คำว่า บฏ มาจากภาษาบาลีว่า ปฏ (ปะ-ฏะ) หมายถึงแผ่นผ้า ภาพพระบฏจึงมีความหมายว่ารูปของพระพุทธเจ้าหรือเรื่องของพระพุทธเจ้าที่เขียนบนผืนผ้าด้วยสีฝุ่นครับ
เสาหงส์ ถือเป็นเอกลักษณ์ของวัดมอญ ที่วัดมอญต้องมีเสาหงส์เพราะคนมอญเชื่อว่าหงส์นั้นเกี่ยวข้องกับตำนานการเกิดเมืองหงสาวดี อันเป็นเมืองหลวงที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งของอาณาจักรมอญก่อนจะสิ้นแผ่นดินให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2300 ครับ
เรือนหลังนี้เป็นที่จัดแสดงของตัวหนัง ที่ทยอยเริ่มสร้างขึ้นในสมัย ร.5 โดยหลวงปู่กล่อม โดยท่านได้ชักชวนช่างร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนังทั้งหมด 313 ตัว
ตัวหนังใหญ่ส่วนมากทำจากหนังโค นำมาฉลุเป็นภาพตามตัวละครในเนื้อเรื่อง ตัวหนังที่มีความสำคัญคือ หนังเจ้าหรือหนังครู จะเป็นตัวหนังที่ใช้ในการไหว้ครูมี 3 ตัว คือพระฤๅษี พระอิศวร และพระนารายณ์ การทำหนังเจ้าจะใช้หนังโคที่ตายท้องกลม หรือถูกเสือกัดตาย หรือถูกฟ้าผ่าตาย แต่ถ้าหากหาไม่ได้ก็จะใช้หนังเสือหรือหนังหมีแทน โดยผู้สร้างจะต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปด เขียนและลงสีให้เสร็จภายในวันเดียว สำหรับหนังอื่น ๆ จะใช้หนังโคครับ
ตัวหนังแต่ละตัวที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จะนำมานาบกับตู้ไฟ ทำให้ตัวหนังมีสีสันสดใส ตอนที่เดินดูตัวหนังในพิพิธภัณฑ์ผมยังแอบนึกสงสัยอยู่ในใจว่า ตัวหนังแต่ละตัวมีอายุมายาวนานมาก แต่ทำไมที่นำมาโชว์เหมือนหนังที่ทำขึ้นใหม่เลย แล้วก็มีน้อง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นไกด์มาเฉลยคำตอบให้ผมครับ น้องปิดไฟที่อยู่ด้านหลังของตัวหนัง ทำให้ผมมองเห็นถึงความเก่าของตัวหนังอย่างชัดเจน
ตัวหนังนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระรามตัวนี้ ใช้หนังวัวถึง 4 ตัว มีความสูง 3.15 เมตร ใช้เวลาทำเพียง 2 วัน ถือเป็นตัวหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเห็นคุณค่าการแสดงหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบทำหนังใหญ่ทั้งหมด และได้นำขึ้นถวายสมเด็จพระเทพฯ และท่านก็ทรงพระราชทานให้ทางวัดขนอนนำมาใช้ในการแสดงต่อไป ลองสังเกตหนังตัวนี้ดี ๆ นะครับ มีลายพระหัตถ์ของท่านด้วยครับ
ลานระเบียงที่ยื่นออกมาจากส่วนของพิพิธภัณฑ์ มีต้นจัน-อินแผ่กิ่งก้านสาขา ให้ความร่มรื่นเป็นอย่างมากครับ ผมไม่แน่ใจว่าลานตรงนี้คือที่ใช้ฝึกเชิดหนังใหญ่ด้วยหรือเปล่า เพราะเท่าที่เคยดูผ่านตาทางรายการทีวี จะใช้จุดนี้เป็นจุดสอนเชิดหนังใหญ่ครับ
คณะกรรมการจากยูเนสโกประกาศให้ “การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน” ได้รับรางวัลจากยูเนสโก และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรมด้วยนะครับ น่าภูมิใจแทนวัดขนอนมาก ๆ ใครที่มาเที่ยวราชบุรี ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดการมาเที่ยวชมที่วัดขนอนนะครับ และควรวางแผนดี ๆ ให้มาตรงเวลาที่มีการแสดงด้วยจะคุ้มค่ามาก ๆ ครับ
กว่าจะออกจากวัดขนอนก็เกือบบ่ายแล้ว ผมมาหามื้อเที่ยงทานกันในตลาดเก่าโพธาราม ได้ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ และราดหน้าครับ
พักผ่อนกันจนหายเหนื่อยแล้วก็มุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไป นั่นคือวัดคงคาราม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดเก่ามากนักครับ
วัดคงคารามเป็นวัดมอญ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรี สร้างโดยพระยามอญ วัดแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองในช่วง ร.4 ได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นและทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคงคารามคือพระอุโบสถหลังนี้ครับ จะมีเจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์รายรอบ เป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง 7 ครับ
ประตูอุโบสถด้านหน้าทำจากไม้สลัก ลวดลายอ่อนช้อย มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนอยู่เป็นซุ้มประตูดูเก่ามาก ๆ ครับ
ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุไม่ต่ำกว่า 250 ปี เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ภาพอดีตของพระพุทธเจ้าที่ประทับบนบัลลังก์ ภาพพระพุทธประวัติและพระพุทธชาดก ภาพเขียนเหล่านี้เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จิตรกรรมฝาผนังแบบนี้หาชมได้ยากในปัจจุบัน เห็นว่าเหล่าบรรดาผู้ศึกษาในจิตรกรรมต้องมาศึกษา คัดลอกต้นฉบับกันที่นี่เป็นอันดับแรก ๆ เลยครับ
จริง ๆ แล้วผมยังมีโปรแกรมที่โพธารามอีก 1 โปรแกรม นั่นคือวัดถ้ำน้ำ แต่จากการคำนวณเวลาคร่าว ๆ แล้ว ถ้าหากไปที่ถ้ำน้ำ ผมจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง แต่เนื่องจากเวลามีจำกัดเลยต้องตัดโปรแกรมถ้ำน้ำออก และมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม มุ่งสู่ที่พักที่ผมจองไว้นั่นก็คือ กมลธารา อพาร์ทเม้นท์ครับ
กมลธารา อพาร์ทเม้นท์ ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังสนามจันทร์ ริมสระบัวครับ การเข้าพักครั้งนี้ผมจองที่พักผ่าน Agoda อีกเช่นเคย เบ็ดเสร็จค่าเสียหายต่อห้องรวมภาษีโรงแรมและเซอร์วิสชาร์จแล้ว ราคาอยู่ที่ 800 บาทต่อห้องครับ และเพราะความอยากรู้อีกเช่นเคยเลยถามราคา Walk in ดู ปรากฏว่าราคา Walk in ถูกกว่าจองผ่าน Agoda 50 บาทอีกแล้วครับ (ที่นี่ไม่มีบริการอาหารเช้าและไม่มีบริการกาแฟฟรีครับ)
ภายในห้องพักกว้างขวางพอใช้ มีตู้เย็น ทีวี ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องปรับอากาศ และ Free Wi-Fi ไว้ให้ด้วยครับ
หลังจากพักผ่อนกันจนหายเหนื่อยแล้ว ผมมุ่งหน้าสู่องค์พระปฐมเจดีย์ครับ
องค์พระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมา ร.4 ขณะผนวชได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ ทรงเห็นเป็นเจดีย์ยอดปรางค์สูง 42 วา เมื่อทรงลาผนวช ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ สูง 120 เมตร 45 เซนติเมตร พร้อมสร้างวิหารคดและระเบียงโดยรอบ แต่งานยังไม่ทันแล้วเสร็จท่านก็สวรรคต จากนั้น ร.5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆังและประดับกระเบื้องจนสำเร็จ ต่อมา ร.6 ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพเจดีย์องค์เดิมและภาพต่าง ๆ ไว้ที่ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ครับ
พระร่วงโรจนฤทธิ์มีชื่อเต็มว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม มีพระอุทรพลุ้ยออกมา ห่มจีวรบางคลุมแนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือมีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือราว 12 ศอก 4 นิ้ว ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไปครับ
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ มีวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าครับ
มีพระพุทธรูปปางพระไสยาสน์ไว้ให้สักการบูชาด้วยครับ
ที่กำแพงแก้ว มีตุ๊กตาจีนตั้งอยู่บริเวณทางเข้าเป็นระยะ ๆ
บรรยากาศยามพลบค่ำครับ งามไปอีกแบบเหมือนกัน
ผมหาทานมื้อค่ำบริเวณตลาดโต้รุ่งหน้าองค์พระครับ มีร้านค้ามาตั้งมากมาย แต่ละร้านก็มีลูกค้ามาอุดหนุนกันอย่างคับคั่ง มื้อนี้ผมอยากทานหอยทอด ก็เลยไปเดินสำรวจมา เห็นมีหอยทอดถึง 3 ร้าน เลยไปถามพ่อค้าแม่ค้าร้านอื่น ๆ ว่าหอยทอดร้านไหนอร่อย พ่อค้าแม่ค้าก็แนะนำว่าร้านนี้อร่อย ผมก็เลยไปรอสั่ง ปรากฏว่าคิวสั่งหอยทอดยาวมาก ๆๆๆ ครับ พ่อค้าหอยทอดบอกว่าถ้ารอไหวก็รอ เพราะตอนนี้ยังมี Order ค้างอยู่อีกประมาณ 30 จาน ผมเองจะไปนั่งรอที่โต๊ะก็ไม่มีโต๊ะให้นั่งรออีก เลยต้องถอยทัพไปหาหอยทอดร้านอื่นทานแทนครับ
ผมแอบนึกในใจว่าคนนครปฐมเขาไม่ทำอาหารเย็นทานกันเหรอ ถึงได้มาพึ่งอาหารจากตลาดโต้รุ่งกันมากมายขนาดนี้ ผมเองก็ยังไม่อิ่มท้องแต่จะให้รอคิวทานต่อคงไม่ไหว เลยขับรถตระเวนหาของทานไปเรื่อย ท้ายสุดไปได้อาหารญี่ปุ่นข้างทางครับ หลังจากนั้นกลับที่พักเพื่อพักผ่อนครับ
ช่วงค่ำด้านหน้าที่พักของผมบริเวณสระบัว มีร้านอาหารเล็ก ๆ เปิดตัวกันอยู่โดยรอบ มีการเล่นดนตรีสดด้วย ผมเลยมานั่งกินบรรยากาศ ฟังเพลงกันสักเล็กน้อยก่อนขึ้นพักผ่อนครับ
เช้าวันสุดท้ายผมมีโปรแกรมเที่ยวอินละครมาเฟียเลือดมังกร “เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์” กับสถานที่สไตล์เมืองจีนในบ้านเรา ที่วัดสามพรานครับ
วัดแห่งนี้เป็นที่นิยมของผู้แสวงหาความสงบในจิตใจมาปฏิบัติธรรมบวชชีพราหมณ์ เมื่อก้าวเข้ามาในวัดนี้รู้สึกถึงความร่มเย็นของเหล่าพรรณไม้น้อยใหญ่ ทุก ๆ จุดแฝงแง่คิด สติเตือนใจให้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้เป็นอย่างดี เช่น ทางเดินจะมีลักษณะคล้าย ๆ กระเบื้องที่ทำเป็นรอยเท้า จะมีแถวละ 8 คู่ เตือนสติว่าเราต้องมีมรรค หรือหนทางถึงความดับทุกข์ มรรคมีองค์แปด คือความเห็นที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้อง เจรจาที่ถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้อง การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ความเพียรที่ถูกต้อง การมีสติที่ถูกต้อง และการมีสมาธิที่ถูกต้องครับ
และสิ่งที่ผมตามรอยมาที่นี่คือ ความอลังการของมังกรขนาดยักษ์ที่พันอยู่รอบตึกสีแดงสูงตระหง่าน 17 ชั้น ที่รู้จักกันในชื่อ “กุฏิร้อยแปดเกจิอาจารย์ มังกรตะกายฟ้า เสาหลักปักค้ำฟ้า” หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “มังกรพันหลัก” ภายในตัวมังกรจะมีทางเดินขึ้นไปบนอาคารรวมระยะทาง 300 เมตร แต่เหมือนทางวัดไม่อนุญาตให้ขึ้นไปด้านบน แต่สามารถเดินชมที่ชั้นล่างได้ครับ
ออกจากสามพรานผมมุ่งหน้าสู่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อไปหาบรรยากาศย้อนยุคเดินที่ตลาดเก้าห้อง 100 ปีครับ ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งนี้ตลาดเก่าแห่งนี้มีการปรับปรุงในส่วนภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำท่าจีน แต่สภาพบ้านเรือนเก่าบางจุดเริ่มผุพัง ทรุดโทรมลงไปมากเลยครับ
ตลาดเก่าเก้าห้องจะมีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ปลูกติดต่อกันเรียงเป็นแถวยาว หันหน้าเข้าหากัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณ หรือแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นเมื่อประมาณต้นรัชสมัย ร.5 เรือนไม้ในอดีตใช้เป็นที่ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชุมชนไทย-จีน
มีคุณป้าคนหนึ่งพาผมเดินไปยังริมแม่น้ำท่าจีน แล้วชี้ให้ผมดูบ้านเรือนไทยโบราณที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วบอกว่าบ้านหลังนั้นคือที่มาของคำว่า “เก้าห้อง” ซึ่งลักษณะการสร้างจะยึดแนวความยาวของบ้าน โดยมีเสาบ้านเรียงอยู่ 10 แถว แนวเสา 2 แนวจะถือว่าเป็น 1 ช่องเสา หรือ 1 ห้อง บ้านที่มีแนวเสา 10 แถว จึงเรียกว่าบ้านมี 9 ช่องเสา หรือ บ้าน 9 ห้องครับ เสียดายที่ผมลืมถ่ายภาพบ้านหลังนั้นมาให้ชม
มาถึงตลาดเก้าห้องแล้ว ถ้าใครชอบทานขนมเปี๊ยะสูตรโบราณขอแนะนำว่าไม่ควรพลาดร้านตั้งกุ้ยกี่ครับ ที่นี่มีขนมเปี๊ยะหลายไส้ให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไส้ถั่วดำ ถั่วแดง ฟัก และไส้ฟักผสมถั่ว ราคามีให้เลือกตั้งแต่ 5 บาท 10 บาท 25 บาท 50 บาท และ 100 บาท ขอบอกว่าไส้นั้นอัดแน่นจริง ๆ ผมว่าคุณภาพเกินราคา ที่สำคัญมาถึงที่นี่แล้วได้ขนมทำเสร็จใหม่ ๆ กลับไปทานอย่างแน่นอนเพราะทางร้านทำใหม่ทุกวัน นอกจากขนมเปี๊ยะแล้วที่นี่ยังมีขนมโบราณอีกหลายชนิดเลย อย่างขนมบัวหิมะ ขนมปลา ขนมหน้าแตก ขนมลูกเต๋า ขนมโก๋อ่อน ขายกันแพ็กละ 10 บาทเท่านั้น เสียดายที่วันนั้นผมซื้อมาน้อย แอบหวังไว้ลึก ๆ ว่า สักวันจะต้องกลับไปหาซื้อทานอีกสักครั้งครับ
ผมชอบตลาดแห่งนี้นะครับ คนไม่พลุกพล่าน แถมเป็นตลาดของคนพื้นที่จริง ๆ ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและค้าขาย ไม่ใช่นายทุนจากต่างจังหวัดมาเพื่อมาตั้งร้านขายของเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ อยากให้เพื่อน ๆ มาเที่ยวกันเยอะ ๆ ครับ
ด้านขวามือจะเป็นชุมชนของตลาดเก้าห้อง มองเห็นหอดูโจรด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่กาลเวลาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนที่นี่ได้ครับ
จากตลาดเก้าห้องผมมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสุพรรณบุรี เพื่อมาล้างตาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งผมเพิ่งมาตอนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 ตอนนั้นทางวัดกำลังบูรณะพระปรางค์ประธานอยู่พอดี และทริปนั้นผมก็พลาดเห็นอีกหนึ่งจุดสำคัญของวัดแห่งนี้ คือ วิหารแฝดครับ
วันนี้พระปรางค์ประธานบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ
และนี่คือวิหารแฝด ซึ่งอยู่ติดกับพระปรางค์ประธาน ได้รับการบูรณะใหม่เช่นกัน ไม่หลงเหลือความขลังอีกเลยครับ วิหารเดิมเก่าแก่มาก การสร้างวิหาร 2 หลังนี้ใช้เสาต้นเดียวกัน 1 ต้น หันหน้าเข้าหากัน ด้านในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย วันที่ผมไปวิหารปิดพอดีครับ
และนี่คือภาพวิหารแฝดก่อนบูรณะครับ CR : ตามภาพครับ
ผมมุ่งหน้าสู่อำเภอสามชุก ก่อนจะถึงแยกสามชุกสักประมาณ 2 กิโลเมตร จะมีร้าน “กุ้งเป็น” อยู่ด้านซ้ายมือ ผมแวะเติมพลังที่นี่ก่อนที่จะลุยเที่ยวกันต่อครับ
ชื่อร้าน “กุ้งเป็น” ก็พอจะบอกเป็นนัย ๆ ว่าร้านนี้เด่นอาหารประเภทอะไรนะครับ กุ้งที่นี่จะขายกันเป็นกิโลกรัม มีขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ แล้วแต่ความพึงพอใจของลูกค้า เมื่อเลือกขนาดกุ้งได้ตามต้องการแล้ว ทีนี้ก็แล้วแต่ว่าเราอยากทานเมนูอะไร ไม่ว่าจะเป็นกุ้งเผาหรือต้มยำกุ้งก็สั่งได้ตามใจชอบครับ
อีกเมนูหนึ่งที่อยากแนะนำคืออาหารประเภทปลาครับ มื้อนี้ผมเลือกเป็นปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม ขอบอกว่ากระเทียมที่นี่มาแบบถึงใจจริง ๆ ทางร้านจะนำกระเทียมมาชุบแป้งแล้วนำมาทอด หน้าตาของกระเทียมทอดดูไม่ต่างอะไรกับกากหมูทอดเลยครับ
ผมปิดท้ายด้วยยำตำลึงกรอบ ตำลึงทอดมาเป็นแพ มีกุ้งตัวเล็ก ๆ ทอดแล้วนำมาโรยหน้าบนตำลึง เสิร์ฟพร้อมน้ำยำ เมนูนี้ไม่ค่อยโดนใจผมสักเท่าไร ผมว่าน้ำยำมันใสไป หากเปลี่ยนจากกุ้งทอดเป็นกุ้งลวกพร้อมใส่มะม่วงดิบและหมูสับลงไปในน้ำยำสักนิดหน่อย ผมว่าจะทำให้เมนูนี้น่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิมครับ
หลังอาหารทางร้านจะมีแตงโมมาเสิร์ฟให้ฟรีครับ ผมว่าร้านนี้ใช้ได้เลย รสชาติอาหารถือว่าโอเค ราคาอาหารก็ไม่แพงครับ
หนังท้องก็ตึงแล้วยังไม่ทันที่หนังตาจะหย่อน ผมก็แวะเที่ยวที่ตลาดสามชุกสักหน่อยครับ
ตลาดสามชุก เป็นตลาดเก่าแก่ที่ได้รับประกาศให้เป็นตลาด 100 ปี ในเชิงอนุรักษ์ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ผมมาเที่ยวตลาดสามชุกครั้งล่าสุดตอนสิ้นปี พ.ศ. 2557 รอบนี้เลยขอเดินเล่นชิล ๆ หาซื้อของฝากกลับบ้านดีกว่าครับ
ที่ว่าการอำเภอสามชุกหลังเก่าครับ
ร้านรวงต่าง ๆ มีให้เลือกช็อป เลือกชิมมากมาย
มาสามชุกอย่าลืมมาทานข้าวห่อใบบัว ของขึ้นชื่อของที่นี่นะครับ ไม่ได้ทานเหมือนมาไม่ถึงสามชุกนะ นอกจากข้าวห่อใบบัวแล้วยังมีเตี๋ยวยำบกและห่อหมกปลาช่อน อร่อย ๆ ด้วยครับ
ท้องก็อิ่มแล้ว ของฝากก็ได้มาแล้ว ถือว่าปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้น คงต้องมุ่งหน้ากลับกันแล้วครับ ผมใช้เส้นทางเดียวกับขามา โดยใช้เส้นทางนางบวช-ไหสี่หู-สิงห์บุรี-ลพบุรีครับ เมื่อมาถึงแยกไหสี่หูเห็นป้ายบอกทางไปเตาเผาแม่น้ำน้อย ดูจากเวลาแล้วก็ยังไม่เย็นสักเท่าไร เลยขอแวบออกนอกเส้นทางสักนิดหน่อยครับ
เตาเผาแม่น้ำน้อยตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาครับ เมื่อเข้ามาจะเจออาคารหลังนี้ เป็นที่จัดแสดงตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ที่ขุดได้บริเวณแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยครับ
ส่วนอาคารหลังนี้สร้างคลุมเตาเผาขนาดใหญ่ครับ
เตาเผาขนาดใหญ่ด้านในอาคาร ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” ตัวเตาเผามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว 2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า และกระเบื้องปูพื้นครับ
ลองดูขนาดของเตาเผาเทียบกับภาชนะดินเผาซึ่งวางเรียงอยู่ด้านขวามือของภาพสิครับ แล้วจะรู้ว่าเตาเผาใหญ่ขนาดไหน
มีเศษซากตัวอย่างของภาชนะดินเผาที่แตกเสียหายวางอยู่บนเตาเผาด้วยครับ
แบบจำลองเตาประทุนครับ
ด้านข้างของอาคารจัดแสดงยังมีเตาเผาที่มีขนาดเล็กกว่าในอาคารจัดแสดงอีก 2 เตาครับ
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิกอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วยครับ
การไปเที่ยวราชบุรีในครั้งนี้ทำให้ผมรู้เลยว่า ราชบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจเยอะมากครับ ด้วยเวลาเพียง 2 วัน 1 คืน หากจะเที่ยวให้ครบทุกรสชาติคงไม่พอแน่ ๆ ผมไม่อยากให้ใครมองราชบุรีเป็นแค่เมืองผ่าน ลองมาใช้เวลาที่ราชบุรีแบบผมดูนะครับแล้วจะรู้ว่า “ราชบุรี” มีอะไรดี ๆ มากกว่าที่คิด จริง ๆ ครับ
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ครับ
คุณลุงเสื้อเขียว สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม