x close

ดูหลายชีวิต ที่ กาดงัวทุ่งฟ้าบด



ดูหลายชีวิต ที่ "กาดงัวทุ่งฟ้าบด" (ข่าวสด)


         "กาดงัวทุ่งฟ้าบด" ถ้านั่งรถจากประตูท่าแพ เชียงใหม่ ไปเพียง 15 บาท ด้วยระยะทาง 22 กิโลเมตร ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด จะอยู่ใน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

         "กาดงัว" เป็นสำเนียงล้านนา หมายถึง "ตลาดวัว" ที่ซื้อขายวัว-ควายของชาวไร่ชาวนาในอดีต ที่นายสม ลอมศรี ชาวบ้านแถบนั้นเป็นคนริเริ่ม ใช้ประโยชน์จากที่นาว่างเปล่ามาทำเป็นตลาด ให้เพื่อนบ้านนำวัวควายมาซื้อขายแลกเปลี่ยน

         ให้ชาวบ้านจากอำเภอต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งหางดง สารภี จอมทอง ป่าซาง บ้านโฮ่ง ฯลฯ มาจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวของ ไม่ต้องเดิน ทางเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ ที่เมื่อตอนปี 2502 การคมนาคมแสนยากลำบาก

         แต่นายสมทำได้เพียง 3 ปีเป็นอันต้องล้มเลิกไป เพราะถูกตำรวจจับวัวควายที่ไม่มีหลักฐานแสดงการตรวจโรค หรือไม่มีใบขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์

         กระทั่งปี 2504 นายสมเสียชีวิตจึงไม่มีใครดูแล ต่อมาปี 2507 นายอินสอน ลอมศรี ลูกชาย จึงฟื้นกาดงัวอีกครั้งและเปิดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเพื่อนบ้านที่มีที่ดินติดกันเข้าร่วมด้วย ทำให้กาดงัวทุ่งฟ้าบดขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันกว่า 20 ไร่



         กาดงัวเปิดตั้งแต่ตีสี่ไปจนถึงช่วงสายๆ ก่อนจะวายราวสิบโมงเช้า แต่ปัจจุบันยืดเวลาออกไปตามแต่ลูกค้า ที่คึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีวันเสาร์เพียงวันเดียว ทำให้มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้ากันคับคั่งมากขึ้น

         เพราะปัจจุบันที่กาดงัวแห่งนี้ไม่ได้ซื้อขายกันเฉพาะวัว-ควาย ที่มีจำนวนมากถึงสัปดาห์ละ 300-500 ตัวเท่านั้น เมื่อผู้คนมากขึ้น ตั้งแต่เจ้าของวัวควาย คนซื้อ ลูกเมียที่ติดตามมาด้วย ทำให้มีสินค้ามากมายเข้ามาขาย เพื่อตอบสนองความต้องการ ซึ่งในอดีตเริ่มแรกมีเพียงหมาก พลู เมี่ยง หอม กระเทียม น้ำมันก๊าด

         ต่อมาพัฒนามาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับวัวควาย จำพวกกระดึงผูกคอ เชือก มีดเหน็บทุกขนาดและรูปแบบ หนังสติ๊กที่ใช้ยิงไล่ต้อนฝูง ฯลฯ ก่อนจะมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่มาจากในเมืองเชียงใหม่ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ขนม เครื่องใช้ในครัวเรือน ถ้วยชามรามไห เครื่องจักสาน อาหารพื้นเมือง ไปจน ถึงอาหารสำเร็จรูป ฯลฯ

         เมื่อเงินในตลาดสะพัดมากขึ้น ประกอบกับความเจริญที่เข้ามา มีถนนหนทาง การคมนาคมค่อนข้างสะดวก วัวควายถูกขายออกไป โดยมีรถจักรยานและจักรยานยนต์มาแทนที่ กาดแห่งนี้จึงมีพ่อค้าขายยานพาหนะทั้งสองชนิดเกิดขึ้น



         ว่ากันว่าปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์มาขายสัปดาห์ละ 1,300-1,500 คัน ส่วนจักรยานมีประมาณ 180-200 คัน ในขณะที่รถไถนาก็เข้ามาแทนที่แรงงานวัวควาย ซึ่งมีพ่อค้ามุสลิม จากตัวเมืองเชียงใหม่ เข้ามาซื้อไปชำแหละขายในตลาดเชียงใหม่ แทนที่จะเป็นเกษตรกรเหมือนเมื่ออดีต

         ลุงแก้ว ศรีจันตา อายุ 78 ปี เจ้าของร้านขายเชือกใช้สำหรับคล้องวัวควาย เล่าว่า "ขายเชือกฝ?™นมาตั้งแต่สมัยเริ่มเปิดตลาดใหม่เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว เมื่อก่อนขายดีมาก เพราะคนจะมาซื้อไปไว้คล้องวัวควายในกาดงัวนี้ แต่ปัจจุบันนี้ขายได้น้อยลง ร้านค้าก็เปลี่ยนไปเป็นร้านขายเสื้อผ้าของใช้ตามกระแสนิยม แต่สำหรับลุงแม้ว่าตลาดจะเปลี่ยนไปแต่ก็ยังยืนยันที่จะขายเชือกต่อไป"

         แม้วันนี้การซื้อขายวัวควายจะลดน้อยลง แต่เสน่ห์ของกาดงัวที่ "ตลาดทุ่งฟ้าบด" ไม่แตกต่างไปจากเมื่อ 50 ปีก่อน มิหนำซ้ำยังคึกคักมากขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูหลายชีวิต ที่ กาดงัวทุ่งฟ้าบด อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2552 เวลา 17:42:42 4,291 อ่าน
TOP