x close

แจ้ซ้อน-เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

แจ้ซ้อน-เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252 (อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร..เรื่อง 
ปณต คูณสมบัติ...ภาพ

          บางคราวเราอาจพบว่ากาลเวลาผลักหมุนชีวิตของใครสักคนให้คล้ายวงกลม ขีดร่างไถถางหนทางชีวิต ลากผ่านโค้งคดของการดำรงตนในท่ามกลางห้วงเวลาแปลกเปลี่ยว ขณะบางคราวก็ชักพาทั้งทุกข์และสุขมาประดับประดาหนทางที่ชีวิตเคลื่อนผ่าน ระหว่างถนนสายเล็กที่หายลับขึ้นไปบนขุนเขารอยต่อของลำปาง-เชียงใหม่ กลางฝนปลายฤดูที่ห่มให้ผืนป่า พืชพรรณ รวมไปถึงผู้คนแห่งภูเขาเต็มไปด้วยความชุ่มเย็น ผมค่อย ๆ นึกถึงใครหลายคนที่เคยพานพบในซอกมุมแห่งป่าดอยข้างบนนั้น

           รอยยิ้มและคำห่วงใยของบางคนยังอบอุ่นเหมือนที่เคยสัมผัส หยาดเหงื่อในสวนกลางหุบเขานั่นเสียอีก ที่แตกดอกออกมาเป็นพืชผลอันแสนสมบูรณ์ ขณะบางนาทีที่ได้รับรู้ถึงการจากไปของใครสักคนก็นำพาความรู้สึกประเภทย่อหน้าขึ้นต้นให้หมุนวนทบซ้อน เหล่านี้เรียงรายและชุดซ่อนตัวตนอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1252 เส้นทางสายสั้นกว่าเต็มไปด้วยคดโค้งชันดิ่งของขุนเขา และอย่างถึงที่สุด มันล้วนเหนี่ยวนำให้เราพาตัวเองมาสู่มันครั้งแล้วครั้งเล่าหากใฝ่ฝันถึงภาพเหล่านั้น

1. ยามเช้าเย็นตาด้วยไอหมอกขาวตามแอ่งที่ราบกลางขุนเขา ที่บรรจุเต็มด้วยนาข้าวราวพรมผืนสีเขียวแผ่ไพศาล 

          พื้นที่เล็ก ๆ แห่งอำเภอเมืองปานอย่างตำบลแจ้ซ้อน เคลื่อนขยับตัวเองไปอย่างที่มันเคยเป็นมา ราวกับกาลเวลาทวนย้อน เราพบตัวองอยู่ในตลาดสดประจำตำบลผู้คนแห่งเมืองเก่าแห่งขุนเขา ยังคงฉายภาพที่เรียกว่าสุขสงบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาเยือน สำเนียงภาษาเมืองล่องลอยอยู่เงียบ ๆ สื่อความหมายออกมาได้ถึงการไถ่ถามทุกข์สุข กลมกลืนไปอย่างไร้ความจอแจประเภทนักท่องเที่ยวแบกกล้องดิจิทัลจมจ่อมตื่นเต้นกับบ้านไม้เก่าหรือผู้เฒ่าในชีวิตสตัฟฟ์ 

          ผักพืชผลและแมลงตามฤดูกาลแทรกตัวอยู่ท้ายตลาด ดอกฮังลาวกำลังบาน แม่ค้าเด็ดมันมาวางขายทั้งดอกและหน่อ เธอว่าลวกกินกับน้ำพริกอร่อยนัก มันสดใหม่เช่นเดียวกับปลาในห้วยแม่มอญที่ไหลรินเคียงข้างพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนที่นี่มาอย่างยาวนาน

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          ตลาดแจ้ซ้อนติดตัวเองไปในเช้าหนาวเย็นและความเป็นไปประจำวันของคนที่นี่ เมื่อพระสงฆ์รูปท้าย ๆ เดินกลับจากบิณฑบาตรอบหมู่บ้าน แม่อุ๊ยหลายคนละจากแผงชั่วคราว บรรจงใส่บาตรอาหารประดามี และรับพรจากตุ๊เจ้า หนึ่งในสิ่งที่เคียงคู่ชุมชนโบราณกลางหุบเขาแห่งนี้มาเนิ่นนาน คือศรัทธาอันเหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา ก่อนตลาดจะวายพร้อมแดดสายฉายอาบ ภาพเบื้องหน้าชัดเจนความเรียบง่าย ยืนยันถึงโลกที่สงบเย็น อบอุ่น และแสนงดงาม

2. กล่าวถึงพระพุทธศาสนา ใครบางคนชักพาเราข้ามไปสู่ความเก่าแก่ของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน 

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          ทันทีที่พ้นแนวเขตกำแพงวัดโลกอีกใบของคนที่นี่ก็ปรากฏ มันเริ่มจากพ่ออุ๊ยและแม่อุ๊ยที่กำลังง่วนอยู่กับงานกฐินที่ใกล้เข้ามาถึงในไม่กี่วันข้างหน้า เสื่อสาดและเครื่องสังฆภัณฑ์ถูกปัดกวาดเช็ดฝุ่น ขันเงินขันทองเงาวับวาวอยู่ในมือของแม่เฒ่า เธอปักปิ่นและเสียบดอกไม้หลายชนิดไว้ด้วยกัน มันไม่ใช่แค่ความงาม หากแต่เชื่อมโยงด้วยความเชื่ออันเหนียวแน่นเกี่ยวกับเรื่องขวัญ

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          "บนหัวเรามีขวัญหลวง ต้องบูชาด้วยดอกไม้เพื่อเป็นมงคล" แม่ว่าถึงความเชื่อของคนล้านนา

          แดดสายระบายจับโบสถ์เก่าคร่ำ มันชัดเจนทุกความงามอย่างอ่อนช้อย แม้จะผ่านเลยนับพันปีจากปีก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 1215 แต่คล้ายทุกอย่างยังคงหยุดนิ่ง ตรึงตรา หลังคาไม้ซ้อนกันถึง 4 ชั้น ประดับประดาด้วยเครื่องไม้แกะสลัก งานปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์รวมถึงทวยเทพยดานั้น เรียบง่ายตามศิลปะท้องถิ่น

         "บ้านเรามีสล่าดั้งเดิมเยอะ สั่งสอนสืบทอดกันมา ตรงไหนพังตรงไหนทรุด ก็ทำตามอย่างเดิมไม่เปลี่ยน" เฒ่าชราว่าถึงโบสถ์ของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่ละอ่อน มันคือความเก่าแก่กว่า 1,342 ปี ที่ฉายชัดอยู่ตรงหน้า

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252 

          ภาพที่วัดโบราณยังคงเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะหันหน้าเข้าทะนุบำรุง ตราบเท่าที่ลมหายใจยังถ่ายเทให้ชีวิตวิ่งเต้น ภาพที่นำคำว่าศรัทธาของมวลมนุษย์มาบอกเล่าอย่างละมุนละไมในเช้าอบอุ่นของเมืองเล็ก ๆ กลางหุบเขาแห่งหนึ่ง

3. แอ่งที่ราบกลางหุบเขาของตำบลแจ้ซ้อน รวมไปถึงพื้นที่รายรอบล้วนมีตัวตนอยู่ในบทบันทึกทางประวัติศาสตร์

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          พื้นที่ภายในเขตของอำเภอเมืองปานอันแสนสุขสงบแห่งนี้ คือชุมชนทางทิศเหนือของเขลางค์นคร ที่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า "ทุ่งสามหมวก" หรือ "ทุ่งสามโค้ง" อุดมไปด้วยป่าไม้ สายน้ำ และความสมบูรณ์ยิ่งแห่งทรัพยากร มันกลายเป็นเป้าหมายของเมืองใหญ่อื่น ๆ อย่างพม่าและเงี้ยว ที่หวังเข้ามายืดที่นี่ให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเสบียงอาหาร

          ตำนานโบราณเล่าถึงนายบ้านผู้หนึ่งที่นำพาผู้คนรบพุ่งป้องกันเมืองเล็กกลางขุนเขา ว่ากันว่าเขาทำเครื่องส่งสัญญาณแจ้งเหตุจากทองคำหลอม เรียกว่า "ปาน" มีลักษณะคล้ายฆ้องใหญ่ ชาวบ้านในอดีตพากันเรียกว่า "ปานคำ" และพากันขนานนามผู้นำท่านนั้นว่า "เจ้าขุนจะปาน" จากนั้นชื่อบ้านนามเมืองจึงถูกเรียกกันจนกร่อนเหลือเพียง "เมืองปาน"

          หลับตานึกถึงเมืองเล็กแห่งนี้ กลางสายลมหนาวแรก ๆ ที่ผ่านมาเยือนต้นฤดู ภาพขุนเขาอันห้อมล้อมก็ปรากฏ บ้านแจ้ซ้อนขับเคลื่อนคืนวันอยู่ด้วยโลกแห่งเกษตรกรรมอันแสนเก่าแก่ ที่ราบตามหุบเขาคือผืนนาที่เปลี่ยนสีสันไปตามฤดูกาล ทั้งเขียวชอุ่มและอร่ามเหลือง

          ผละออกจากหย่อมเมืองเล็ก ๆ แห่งนั้นไม่เกิน 500 เมตร ท้องนารายรอบเต็มไปด้วยผู้คนที่หยอดตัวเองเป็นสีสันประดับวันเกี่ยวข้าวสายน้ำแม่มอญ ที่มีต้นธารจากน้ำตกแจ้ซ้อนในป่าเขาเย็นชุ่ม เต็มไปด้วยเด็กน้อยที่พร้อมจะเติบโตไปในแผ่นดินอันอบอุ่น

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          ข้าวผูกพันกับคนที่นี่มาอย่างแยกกันไม่ออก ไม่ต่างนักกับเมืองเกษตรกรรมในท้องถิ่นอื่น ตรงหักโค้งก่อนถึงวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน บ้านสุทธิพรมณีวัฒน์ตกทอดเชื้อสายเจ้าเมืองปานมาถึงรุ่นที่ 4 ฉางข้าวโบราณวางตัวตนสีน้ำตาลขรึม อายุกว่าร้อยปี ลงเคียงข้างผู้สืบทอดเป็นเจ้าของ มันเป็น “ห้องข้าว” ที่ร้อยโยงทั้งความเป็นอยู่และความคิดความเชื่อไว้อย่างเหนียวแน่น

          "หากเป็นข้าวที่รีบกิน ต้องแยกส่วนไว้ทำพิธีบูชา" ไม่เจอกันหลายปี แต่แววตาของ แม่ศรีวัย สุทธิพรมณีวัฒน์ ยังคงอบอุ่น เปล่งประกายสดใสเธอยังคงถ่ายทอดความเชื่อเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลายอย่างพิธี "ตานข้าวใหม่" อย่างน่าฟัง "แม้ว่าข้าวจะเพิ่งสีมาใหม่ ๆ ก็ต้องให้ตุ๊เจ้าท่านฉันก่อน"

          เช่นนั้นเองที่ราบแห่งหนึ่งจึงไม่ได้มีแต่นาข้าวแผ่ผืนอาบคุมหมอกขาว หากแต่เต็มไปด้วยชีวิต ความคิดความเชื่อ และการสืบทอดส่งต่อของผู้คนที่หายใจอยู่เคียงข้างมัน ซึ่งพร้อมจะขับเคลื่อนโลกใบเก่าไปเคียงข้างเข็มนาฬิกาของวันพรุ่ง

4. ถนนสายเล็กพาใครสักคนผ่านพ้นเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ทางชันเรียงรายด้วยขี้เหล็กเทศสีเหลืองสดใส เลี้ยวดอกขาวผละใบรอวันแตกดอกบริสุทธิ์ประดับวันหนาว 

          16 กิโลเมตร จากที่ราบกลางทุ่ง บ้านป่าเหมี้ยงวางตัวอยู่อย่างสมถะเหนือความสูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง หมู่บ้านเงียบเชียบสะอาดสะอ้าน ไล่ระดับไปบนเนินเขาและป่าฉ่ำขึ้น ธารน้ำสายหลักไหลรินอยู่เบื้องล่าง มันส่งเสียงพึมพำไปเคียงคู่ผู้คนบนดอยสูง ในหมู่บ้านเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ สวนเมี่ยงที่กระจายกันตามป่าเขาดึงดูดให้คนที่เป็นเรี่ยวแรงหลักของแต่ละครอบครัวจะหายอยู่กับมันได้ทั้งวัน

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          "คนที่นี่เติบโตมาด้วยเมี่ยง ว่าอย่างนั้นเลยก็ได้" บุญทรัพย์ กำลังกล้า ยังคงยืนยันเช่นเดิม เราเคยพบกันที่โรงเมี่ยงกลางหุบเขาแห่งนี้ใบเมี่ยงปั้นเป็นก้อนกลม รัดตอกไผ่ มันเรียงรายทั้งแบบนึ่งสด หรือแบบดอง นุ่มแฉะและหอมหวนเป็นเอกลักษณ์ ส่วนเรื่องรสชาติ แสงเดือน กำลังกล้า ผู้เป็นคู่ชีวิตว่ามันแตกต่างกันในแต่ละถิ่นปลูก ด้วยเรื่องของความชื้นและความสมบูรณ์ของพื้นที่

          "เมี่ยงเคี้ยวใช้กินสด ถ้าเป็นเมี่ยงดองเก็บได้เป็นเดือน ๆ บางคนเขาก็เอาไปทำกับข้าว เราไม่ได้ปลูกข้าว คนเฒ่าคนแก่แต่เดิมก็เอาเมี่ยงเอาชาลงไปชายไปแลกมา"

          หมู่บ้านเก่าแก่เช่นนี้ดำรงตนมาคล้ายคืนวันการก่อตั้งอย่างไม่แตกต่าง ที่ชาวบ้านมักปล่อยให้บ้านมักปล่อยให้บ้านเรือนไม้แสนสวยเหลือเพียงเด็กและคนแก่ และการปลูก เก็บ ตลอดจนเรื่องราวการนำพามันลงไปสู่เบื้องล่างนั้นชัดเจนอยู่ชีวิตและทุกอณูแห่งป่าเขาเช่นในอดีต

          "มันดีว่าเดี๋ยวนี้ไม่ต้องต่างม้า ต่างลา ลงไปเป็นวันเป็นคืน ทำอย่างอื่นได้อีกมากละ" แม่ทองรัตน์ แพทย์รักษา นั่งกอบใบเมี่ยงที่อบจนแห้ง ส่งกลิ่นหอมเบา ๆ ค่อยบรรจงยัดเป็นไส้หมอนในผืนผ้าทอแสนสวย เมื่อแรกเริ่มทำหมอนใบชา คล้ายผู้หญิงของบ้านป่าเหมี้ยงค้นพบอีกทางเดนิในการต่อยอดหากิน

          "ยังจำได้ แม่ขายหมอนใบแรก 200 บาท ให้คนมาแอ่วบ้านเรา ตอนนั้นคนยังมาไม่นัก บางคนเขาว่ากลิ่นหอมของมันนี่ละ ช่วยรักษาโรคหวัด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี" ใบเมี่ยงในผืนป่าดั้งเดิมแต่รุ่นปู่ย่า ผ่านการตกทอดและเติบโตพร้อม ๆ กับผู้คนที่ไม่เคยมองมันว่าเป็นพืชพรรณอันเปลืองเปล่า

           กลางขุนเขาอันยิ่งใหญ่โอบล้อม ผู้คนและหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน สิ่งใดจะเปี่ยมค่าไปกว่าการได้เห็นชีวิตอีกหลายรุ่นแตกยอดเติบโต...เติบโตละหล่อหลอมอยู่ด้วยใบไม้ใบเล็ก ๆ ที่แผ่กระจายขึ้นห่มคลุมผืนภูเขา

5. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1252 ยกตัวจากที่ราบในตำบลแจ้ซ้อน มันพารถคันเล็กหายลับไปในคดโค้งของขุนเขาหนาวเย็น

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          ผืนนากลายเป็นจุดเล็ก ๆ และลับตาไปตามความสูงที่เพิ่มระดับคืนวันคล้ายทวนย้อนเมื่อเราขึ้นไปถึงบ้านแม่แจ๋ม อากาศสดสะอาดอย่างที่มันเคยเป็น สองมือของผู้คนบนนั้นยังเต็มไปด้วยร่องรอยของการงานเพาะปลูกพืชเมืองหนาว รอยยิ้มของพวกเขาเปี่ยมชีวิตชีวา

          ในความฉ่ำชื่นรื่นเย็น ที่นั่นราวอาณาจักรของพืชเมืองหนาวแมกคาเดเมีย กาแฟ และผลไม้นานากระจายลัดหลั่นกันไปในสวนที่แทรกอยู่ในภูเขา นาทีนี้ต่างจากหลายปีก่อน พ่อสุวรรณ มูลคำดี ว่าคนที่นี่เริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รีได้เป็นที่แรก ๆ ของลำปาง

          "โครงการหลวงทั้งตีนตกและป่าเมี่ยงนั่นล่ะ เขามาส่งเสริมให้ปลูก แต่ก่อนบนนี้ก็มีแต่เมี่ยง" บ้านเรือนแดนดอยที่แต่เดิมฝากความหวังไว้กับยามหมดฝน เพื่อเดินเท้าบรรทุกเมี่ยงลงไปทั้งฝั่งลำปางและเชียงใหม่ในยามนี้เต็มไปด้วยสวนกาแฟอะราบิกา ที่แผ่ขยายคลุมภูเขาเป็นสีเขียวเข้มมันถูกคลุมอีกชั้นด้วยไม้บังร่มอย่างแมกคาเดเมีย เสาวรส ตามเทคนิคเชิงเกษตรที่เดินทางมาสู่พวกเขาด้วยทางหลวงหมายเลข 1252

          ว่ากันถึงพืชราคาลิบลิ่วอย่างแมกคาเดเมีย พ่อสุวรรณว่าเมล็ดพันธุ์แสนอร่อยที่ราคาขายข้างบนดอยนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 1,200 บาท นั้นมันเต็มไปด้วยเรี่ยวแรงและการดูแลประคบประหงม

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          "เราเริ่มกันมานานกว่าจะออกผล แมกคาเดเมียต้องโตถึง 8 ปี ไหนจะแรงงานขนจากป่า กะเทาะเปลือก คั่วอีก" เช่นนั้นเอง ผลิตผลแห่งขุนเขาชนิดนี้จึงเต็มไปด้วยชาวบ้านที่เฝ้ารอฤดูเก็บเกี่ยวและส่งขายของมันอย่างเต็มความมุ่งหวัง 

          เป็นเช่นทุกครั้งสำหรับคนที่เลือกบ้านแม่แจ๋มเป็นจุดหมายยามขึ้นสู่ภูเขา ที่โลกแห่งการเพาะปลูก รวมไปถึงรอยยิ้มในท่ามกลางผลิตผลนานา จะเติมเต็มทั้งกลิ่นและรสชาติอันแสนรื่นรมย์ อาจเป็นกาแฟร้อนกรุ่นหอม เป็นความสดชื่นในน้ำสาวรสอมเปรี้ยวอมหวาน หรือกรอบมันด้วยคำเคี้ยวในแมกคาเดเมียสักเม็ด 

          และโดยแท้ มันล้วนหลอมรวมอยู่ด้วยกลิ่นและรสของขุนเขา ผู้คนซึ่งต่างก็หล่อหลอมพืชพันธุ์สองสามชนิดนี้ขึ้นมาบนทางเดินชีวิต

6. หนทางสายสวยยังคงทอดยาวไกลไปในหุบดอย พื้นที่เพาะปลูกและป่าเขาจากลำปางลัดเลาะสู่เขตแดนของอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          ทางแยกกลางขุนเขาร้างไร้สัญจร มันเป็นเพียงหนทางที่พลีตนลงรับการเดินทางและขนถ่ายผลิตผลทางเกษตร นาน ๆ ทีถึงจะได้มีโอกาสสัมผัสกับรอยล้อของรถทะเบียนต่างจังหวัด

          ตำบลเทพเสด็จคลี่เผยชีวิตตามป่าดอยอันเต็มไปด้วยรายละเอียด และการเติบโตท่ามกลางคืนวัน ราวกับเรื่องเล่าชั้นดีที่อัดแน่นอยู่ด้วยนิยามขุนเขาและการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนที่อยู่กับมัน 

          เหนือสันดอยที่ต้องสวนความสูงขึ้นกว่า 1,500 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ท่ามกลางอากาศสดสะอาดของบ้านป่าป่าน เราผ่านแนวนางพญาเสือโคร่งรอวันผลิดอกตรงทางชันชิดทางหลวง ไต่สันดอยขึ้นไปมองดอยลังกาหลวงเสียดยอดอยู่ในม่านเมฆ มันราวจุดชมวิวอันแสนพิเศษ ว่ากันว่าความสูงของหมู่บ้านนี้ล้วนลักดันให้กาแฟของคนบ้านป่าป่านมีความพิเศษ รสชาติดี

          ใครสักคนเคยพาเราขึ้นมาข้างบนนี้ มาเพื่อพบบ้านบนต้นไม้เหนือความสูงกว่า 30 เมตรของเขา มาสัมผัสกับถ้อยคำอันเปี่ยมไปด้วย มิตรภาพของคนบ้านป่าป่าน ทุกวันนี้ที่นี่เติบโตและไม่เคยห่วงหายผู้มาเยือน เรือนป่าสมบูรณ์อันเป็นบ้านของพวกเขาเติบโตไปในคืนวันและการเปลี่ยนผ่าน จากหมู่บ้านเกษตรกรรมกลายเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมโหนสลิงด้วยความยาวร่วมกิโลเมตร

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          "เพาะปลูกมันอยู่กับเราตลอด แต่ไอ้เรื่องการท่องเที่ยวนี่มันเป็นเรื่องแปลกใหม่" ผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าป่านบอกเราในบ่ายหลังฝน เขาว่ากว่าจะเกิดการยินยอมให้ก่อสร้างการท่องเที่ยวชนิดนี้ ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ เปรียบเทียบผลได้ผลเสียกันเนิ่นนาน

          "อย่างน้อยที่สุดคนหมู่บ้านนี้มีทางทำกินกันมากขึ้น ผู้หญิงขายอาหาร หนุ่ม ๆ เป็นสตาฟฟ์ ที่สำคัญมันเป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้คนมาเห็นบ้านเราชัดขึ้น" เราคุยเรื่องการโยงสลิงตามเรือนยอดต่าง ๆ ที่พวกเขาสร้างกันอย่างแสนน่าทึ่ง

          เรานั่งมองภาพนักท่องเที่ยวตัวเล็ก ๆ เคลื่อนไหวไปตามสายสลิงเหนือความสูงร่วมกับรับรู้ถึงทิศทางการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน มันเต็มไปด้วยความหวังชนิดใหม่ในผืนป่าโบราณ และไม่ต่างกันในนามของแดนดินขุนเขาแห่งเทือกดอยสะเก็ด เมื่อพื้นที่ของบ้านปางบงที่เราลงไปถึงนั้นราวกับโลกที่เชื่อมโยงระหว่างพืชพรรณและผู้คนเข้าด้วยกัน

          อาคารเล็ก ๆ เหนือเนินดอยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงเรียงรายอยู่ด้วยโรงเรือนและการศึกษาเรียนรู้ หมู่บ้านเล็ก ๆ นับสิบหมู่ด้านลางดอยนั่นก็อีก ที่ล้วนเชื่อมโยง เติบโต ร่วมกันไปในนามของคำว่าผืนแผ่นดินถิ่นเกิด

          "การมาถึงของศูนย์ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เพียงเพื่อจะส่งเสริมให้คนข้างบนนี้มีทางเลือกในการทำกินครับ เราเป็นผู้ดูแลและต่อยอด" หัวหน้าอภิสิทธิ์ อุ่นพินิจ เล่าสบาย ๆ กลางงานหนักที่ราวกับไม่มีวันสิ้นสุด งานที่วนเวียนอยู่กับพืชผลและชีวิตการอยู่กินของชาวบ้านบนเทือกดอยสะเก็ด พื้นที่ป่าเขาราว 22,000 ไร่ ของตำบลเทพเสด็จขาดหายซึ่งที่ราบเช่นนั้น พืชประเภทผักและข้าวจึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนที่นี่

แจ้ซ้อน เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252

          "เราเริ่มจากกาแฟครับ ต่อจากนั้นจึงเป็นเห็ดหอม เห็ดนางรมดอย ต่อยอดมาถึงกล้วยไม้และดอกไม้เมืองหนาว เราเน้นให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ให้น้อย แต่ให้เกิดรายได้สูงจากผลิตผล"

          ภายใต้โรงอบเห็ดที่รับเห็ดหอมมาจากโรงเห็ดของชาวบ้าน ณ นาทีนี้ภาพการร้อยต่อระหว่างผู้ส่งเสริมและผู้เพาะปลูกกำลังฉายชัดงดงาม

          เราเวียนแวะไปในหลากหลายหมู่บ้านของตำบลเทพเสด็จ ที่บ้านกิ่วต่ำ กาแฟสารกองพูนอยู่ที่เพิงเล็ก ๆ หลังบ้าน พิสมัย ซ้อมหา นั่งแยกเมล็ดที่ไม่ได้ขนาดของมันด้วยมือและตาเปล่า

          "ดีกว่าเดิมเยอะค่ะ แรก ๆ เราไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน" เธอว่าหลังจากได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ซึ่งก่อนนั้นคล้ายเธอและพี่น้องบนนี้ต้องตัดสินใจลงเรือลำใหม่ที่ไม่รู้จุดหมาย

          ขณะที่ พ่อสุนทร คำรินทร์ ยิ้มหัวยามดูลูกหลานคัดกล้ากาแฟลงในถุงปุ๋ย มันเรียงรายอยู่ริมทางคล้ายไม้ประดับ เฝ้ารอผู้ซื้อจากต่างถิ่นที่บากบั่นขึ้นมาถึงข้างบนนี้ ใครสักคนได้เข้าใจในฉายา "ลุงมอด" ของพ่อสุนทร ก็ต่อเมื่อเรายืนมองสารกาแฟที่ก่ายเกยอยู่ด้านในบ้าน

          มอดคือตัวเจาะและทำลายเมล็ดกาแฟให้ด้อยคุณภาพ ถึงแม้จะคัดเจอ โยนทิ้ง ทว่าปัญหาในระยะหนึ่งที่คนคอยสะเก็ดพบก็วนเวียนกลับสู่ผลิตผลของพวกเขามาหลายฤดูกาล ห้วงยามนั้นพ่อสุนทรเลือกที่จะต้มเมล็ดกาแฟที่มอดเจาะเข้าไปทำรังก่อนในน้ำเดือดจัดแล้วค่อยทิ้ง

          "ไม่ต้ม ทิ้งไปไข่มันก็ฟักอีก ตอนแรกก็นึกไม่ถึง" เรื่องง่าย ๆ ที่หลายคนมองข้ามและต้องเผชิญปัญหานับแรมปีถูกชายชรากระตุกปมและคลี่คลาย

          ทุกหมู่บ้านของภูเขาก่อนฤดูหนาวจะย่างเยือนต้อนรับการขึ้นมาถึงของคนแปลกหน้าคลับคล้ายกัน มันเรียงร้อยอยู่ด้วยการงานที่คำตอบอาจไม่ได้ตั้งเป้าอยู่ที่ทรัพย์สินเสมอไป บางนาทีหนึ่งวันของพวกเขาอาจยาวนานไปกว่าคนข้างล่าง หากเพราะมันเต็มไปด้วยการทำความรู้จักชีวิตได้ไม่สิ้นสุด

          วันทั้งวันของผู้คนกลางขุนเขาจึงเป็นเช่นนั้น เฝ้าวนเวียนอยู่กับป่ากับดอย และกอดเกี่ยวกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างชีวิตกับพืชพรรณอันรายล้อม

          ทางหลวงสายเดิมที่นำพาเรามาจากลำปางยังคงตวัดโค้งไปตามไหล่ดอยของเชียงใหม่ บางนาทีก็คล้ายเราเดินทางอยู่ในวังวนป่าเขาที่ไร้จุดจบ พบเจอสิ่งใดแปลกใหม่ก็เป็นเพียงเหตุผลของคนที่ไม่รู้จักมันเท่าใดนัก หากแต่สำหรับผู้คนข้างบนนี้ ทุกสิ่งอย่างอาจเป็นเรื่องเฉพาะตัว เปลี่ยนเวียนฉากผ่านใด ๆ ก็เพียงแค่สิ่งที่เรียกว่าโลกภายนอก หรือในระหว่างที่ฤดูกาลหมุนวนจนชีวิตคล้ายเป็นเส้นวงกลมใครสักคนอาจพบตัวตนภายในที่ผสมกลมกลืนกับขุนเขามาแล้วเนิ่นนาน
 
ขอขอบคุณ

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง คุณอภิสิทธิ์ อุ่นพินิจ สำหรับข้อมูลและการต้อนรับอันแสนอบอุ่น

          คุณสุวรรณและคุณผัด มูลคำดี รวมถึงทุกคนที่บ้านแม่แจ๋ม สำหรับพืชพรรณและความเอ็นดูที่แสนมีค่า

คู่มือนักเดินทาง

          ขับรถท่องเที่ยวบนทางหลวงหมายเลข 1252 ถือเป็นเส้นทางสั้น ๆ ที่เต็มไปด้วยความงดงามทั้งวิวป่าเขาสวย ๆ วิถีชีวิตผู้คน และการเพาะปลูกอันน่าเรียนรู้ รวมไปถึงพักแรมและเที่ยวชมสวนเกษตรที่เต็มไปด้วยพืชผักผลไม้รสชาติดีมีระยะทางไม่ยาวนัก ราว 50 กิโลเมตร แต่เป็นเส้นทางภูเขา ควรใช้รถที่มีกำลังเครื่องสมบูรณ์

การเดินทาง

          เริ่มจากอำเภอเมืองปาน ตำบลแจ้ซ้อน เที่ยววัดศรีหลวงแจ้ซ้อนอันเก่าแก่ต่อออกไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ขึ้นดอยไปเที่ยวบ้านป่าเหมี้ยง ชมการปลูกเก็บและแปรรูปใบเมี่ยงอันหลากหลาย จากนั้นย้อนกลับมาตั้งต้นใหม่ที่อุทยานฯ แจ้ซ้อนขึ้นไปเที่ยวบ้านแม่แจ๋มตามทางหลวงหมายเลข 1252 ชิมกาแฟ แมกคาเดเมีย เสาวรส รวมไปถึงพักค้างโฮมสเตย์บรรยากาศดี

          จากบ้านแม่แจ๋มต่อไปเที่ยวในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่ตำบลเทพเสด็จ เที่ยวบ้านป่าป่านบนความสูงกว่า 1,500 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ชมวิวดอยลังกาหลวงกว้างไกลจิบกาแฟ หรือเล่นโหนสลิงเหนือผืนป่ากับกิจกรรมสกายแอดเวนเจอร์

          ต่อไปเที่ยวบ้านปางบง บ้านกิ่วต่ำ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ชมและชิมกาแฟเลือกซื้อเห็ดหอม ดอกไม้เมืองหนาว ก่อนเข้าสู่เขตอำเภอดอยสะเก็ดและตัวเมืองเชียงใหม่ได้อีกไม่ไกล

ค้างคืนรื่นรมย์

          ไร่หญ้าแจ้ซ้อนรีสอร์ท รีสอร์ทสวย บรรยากาศดี ติดลำน้ำแม่มอญ โทรศัพท์ 0 5426 3048 เว็บไซต์ www.raiyachaesonresort.com

          โฮมสเตย์บ้านป่าเหมี้ยง โทรศัพท์ 08 9852 7092

          สุวรรณาการ์เด้น & โฮมสเตย์ พักค้างคืนที่บ้านแม่แจ๋ม โทรศัพท์ 08 5867 5118

          ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง โทรศัพท์ 0 5331 833 และ 08 1783 1208






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 55 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2557



 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แจ้ซ้อน-เทพเสด็จ ชีวิตหมุนวนบนหนทาง 1252 อัปเดตล่าสุด 29 ธันวาคม 2557 เวลา 17:45:01 5,241 อ่าน
TOP