x close

ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต 2557


 ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต 2557
ภาพจาก Bule Sky Studio / shutterstock.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           จังหวัดภูเก็ตขอเชิญร่วมงานประเพณี "ถือศีลกินผัก" จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2557 โดยในปีนี้จะจัดขึ้นด้วยกัน 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 ตรงกับวันที่ 24 กันยายน-2 ตุลาคม 2557 และรอบที่ 2 ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2557 ณ ศาลเจ้าทั่วจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในจังหวัด อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์ประเพณีอันยิ่งใหญ่ที่มีมานับร้อยปีของจังหวัดภูเก็ต

           เดิมประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) ที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า "เจี๊ยะฉ่าย" นั้น เป็นลัทธิเต๋าซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษ เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน คำว่า "เจี๊ยะฉ่าย" (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีนของทุก ๆ ปี ปัจจุบันประเพณีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ของชาวภูเก็ตได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปีนับเวลาได้หลายร้อยปีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวภูเก็ต ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องถือศีลอย่างเคร่งครัดจำนวน 10 ข้อ ในระหว่างประเพณีถือศีลกินผักในแต่ละศาลเจ้าจะมีพิธีซึ่งจัดขึ้น เพื่อบูชาและอัญเชิญองค์เทพลงมาเป็นประธานในงานถือศีลกินผัก

ช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก สำหรับผู้ถือศีลกินผักมีข้อปฏิบัติ 10 ประการ ดังนี้

           1. ห้ามฆ่าและบริโภคเนื้อสัตว์

           2. ห้ามกล่าวเท็จ

           3. ห้ามเล่นการพนัน

           4. ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา

           5. ห้ามลักขโมย

           6. ห้ามมีเพศสัมพันธ์

           7. ห้ามสวมใส่เครื่องประดับและเครื่องหนัง

           8. อยู่ระหว่างไว้ทุกข์, หญิงมีครรภ์ และหญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใด ๆ

           9. ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกเครื่องใช้คนละส่วนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก

           10. ควรสวมชุดขาว

 ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต 2557
ภาพจาก MosayMay / shutterstock.com

 พิธีกรรมในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต


           พิธีป้างกุ้น (พิธีเชิญทหารเพื่อรักษาปริมณฑลงาน) พิธีกรรมเชิญทหารมารักษาบริเวณงานกินผัก มี 5 ทิศ ได้แก่ หล่ำเอี๋ย คือ ทิศใต้ ธงสีแดงเป็นสัญลักษณ์ มีทหารจำนวน 88,000 คน ปักเอี๋ย คือ ทิศเหนือ ธงสีดำเป็นสัญลักษณ์ มีทหารจำนวน 55,000 คน ตั่งเอี๋ย คือ ทิศตะวันออก ธงสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ มีทหารจำนวน 99,000 คน ไซ้เอี๋ย คือ ทิศตะวันตก ธงสีขาวเป็นสัญลักษณ์ มีทหารจำนวน 66,000 คน ตงเอี๋ย คือ ทัพหลวง ธงสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ มีทหารจำนวน 33,000 คน

           พิธีโข้กุ้น (พิธีเลี้ยงอาหารทหารที่รักษาบริเวณปริมณฑล) พิธีการเลี้ยงทหาร ซึ่งจะทำพิธี 3 ค่ำ  6 ค่ำ และ 9 ค่ำ ของงานประเพณี ประมาณ 15.00 น. จึงเริ่มพิธีจะมีการเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงทหาร และมีหญ้าหรือพวกถั่วเพื่อเป็นอาหารของม้า

           พิธีส่งเก๊ง การสวดมนต์ โดยจะเริ่มทำการสวดมนต์ตั้งแต่เมื่อองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ เข้าประทับในอ๊าม (ศาลเจ้า) ทำพิธีสวดวันละ 2 ครั้ง เป็นลักษณะการสวดมนต์เช้าและสวดมนต์เย็น โดยเฉพาะกลางคืนหลังจากสวดมนต์ซึ่งใช้บทสวด คือ ปักเต้าเก็ง ก็จะมีการถากส่อ คือ การอ่านรายชื่อของผู้ที่เข้าร่วมกินผักต่อหน้าแท่นบูชาองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่

           พิธีป่ายชิดแช (พิธีบูชาดาว) มักจะทำในคืนก่อนพิธีอิ้วเก้ง เป็นพิธีขอพลังจากดาวเพื่ออวยพรให้คุ้มครอง ในพิธีนี้จะมีการแจกฮู๋ (ผ้ายันต์)

           การเล่นประทัด การเล่นประทัดเพื่อต้อนรับขบวนแห่ ควรจุดประทัดและวางบนพื้นก่อนขบวนแห่มาถึง และจุดประทัดโยนใส่ไท่เปี่ย (เสลียงเล็ก) ได้แต่ห้ามจุดประทัดใส่หนิวสั่ว (ร่มฉัตรจีน)

           พิธีอิ้วเก้ง เป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ เพื่ออวยพรให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า ต่อด้วยเสลี่ยงเล็ก (ไท่เปี๋ย) จากนั้นเป็นขบวนของหนิ่วสั่ว (ร่มฉัตรจีน) ตามด้วยตั่วเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่) ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ประชาชนควรคุกเข่าและอยู่ในอาการสงบนิ่งเพื่อรับพรจากองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไปชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน

           พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ) พิธีกรรมเพื่อชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์

           พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์) ทำหลังจากพิธีลุยไฟ พิธีกรรมนี้ทำที่อ๊าม โดยผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ตัดกระดาษเป็นรูปแทนตัวเอง พร้อมเงินตามศรัทธาและต้นกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น เดินข้ามสะพาน ให้ผู้ประทับทรงประทับตราด้านหลังของเสื้อที่สวม เรียกว่า "ต๊ะอิ่น" หมายถึงผู้ที่ผ่านการสะเดาะเคราะห์แล้ว

           พิธีส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของงานกินผัก ตอนกลางคืนจะมีการส่งองค์หยกฮ๋องซ่งเต่ ซึ่งมักส่งกันที่หน้าเสาโกเต้งก่อนห้าทุ่มกลับสวรรค์ หลังจากนั้นก็มีการส่งองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ หลายอ๊ามจะส่งที่ชายทะเลสะพานหิน เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ๊าม (ศาลเจ้า) ต้องดับสนิทและปิดประตูใหญ่วันรุ่งขึ้นทุกอ๊าม (ศาลเจ้า) จะพิธีลงเสาโกเต้ง และสิ้วกุ้น (เชิญทหารกลับกรมกอง)

           ปัจจุบันประเพณีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ของชาวภูเก็ตมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในทุก ๆ ปี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวได้ในจำนวนมาก นักท่องเที่ยวจะได้ชมการทรงเจ้าเข้าทรงที่หาดูได้ยาก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอลังการและสีสันของเทศกาลงานประเพณีของไทยที่สะท้อนภาพวิถีวัฒนธรรมอันเป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย ดังนั้นเทศกาลถือศีลกินเจในปีนี้หาโอกาสมาร่วมงานกันให้ได้นะคะ

           ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต โทรศัพท์ 0 7621 1036 , 0 7621 2213, หรือ TAT CALL CENTER โทร. 1672





ขอบคุณข้อมูลจาก
phuket, phuketculture และ phuketindex



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต 2557 อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2567 เวลา 18:27:30 4,183 อ่าน
TOP